ผู้เขียน หัวข้อ: บทที่ 189 ชุมทางหนังไทยในอดีต เสนอ 33 ปี มิตร ชัยบัญชา พระเอกขวัญใจชาวไทยตลอดกาล  (อ่าน 231 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ ฉัตรชัยฟิล์มshop

  • Thaicine Movie Team
  • Moderator
  • พี่น้อง thaicine Gold member
  • ***
  • กระทู้: 11655
  • พลังใจที่มี 441
  • เพศ: ชาย
  • รักการฉายด้วยฟิล์ม

บทที่ 189
ชุมทางหนังไทยในอดีต เสนอ
33 ปี มิตร ชัยบัญชา
ราชาหนังไทย พระเอกขวัญใจชาวไทยตลอดกาล
โดย มนัส กิ่งจันทร์

(facebook 27 พฤษภาคม 2556)


              นี่ก็เป็นอีกบทความหนึ่งซึ่งผมเขียนในหนังสือฟิล์มแอนด์สตาร์ส ปี 2546.. ผมเขียนไว้แบบนี้ครับ....ชื่อนี้  ผมไม่ได้เองตั้งหรอกครับ แต่เอามาจากชื่อ งานรำลึกถึงมิตร ชัยบัญชา ที่โรงภาพยนตร์ศาลาเฉลิมกรุง กำหนดไว้เป็นชื่องานในปีนี้ ลำพังผมคนเดียวแม้จะชอบมิตรเป็นการส่วนตัวอย่างไร ก็ไม่อาจกล่าวชี้นำได้ ประเดี๋ยวท่านที่ไม่รู้จักมิตร ชัยบัญชาหรือท่านที่มีพระเอกอื่นอยู่ในหัวใจจะหาว่า เวอร์เกินไปหน่อยที่ตั้งชื่อเรื่องแบบนี้ ดีไม่ดี จะพาลโกรธเอาง่าย ๆ

              มิตร ชัยบัญชา เกิดปี พ.ศ. 2477 ที่ตำบลท่ายาง อำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี เข้าสู่วงการโดยได้แสดงหนังเรื่อง ชาติเสือ (2501 มิตร-เรวดี) เป็นครั้งแรก ก็ประสบความสำเร็จเกิดคาดเพราะหนังทำรายได้ดีกว่าที่คิด มิตรเริ่มเป็นที่รู้จักมากขึ้นเมื่อแสดงหนังตระกูลหน้ากากอินทรีแดงและทุกครั้งที่มิตรได้จับคู่กับ เพชรา เชาวราษฎร์ ก็จะยิ่งถูกใจคนสมัยนั้นมากจนเรียกชื่อติดปากว่า มิตร-เพชรา.. มิตรได้รับพระราชทานรางวัลดาราทอง และได้รับโล่พระราชทานในฐานะดาราคู่ขวัญมิตร-เพชรา จากหนังทำเงินสูงสุดเรื่อง เงิน เงิน เงิน (2508 มิตร-เพชรา) และเมื่อ มนต์รักลูกทุ่ง (2513 มิตร-เพชรา) ออกฉาย ก็ทำให้มิตร-เพชราโด่งดังมากยิ่งขึ้น แต่มิตรก็มาเสียชีวิตก่อนเมื่ออายุได้เพียง 36 ปีขณะทำหน้าที่เป็นผู้แสดงและผู้กำกับหนังเรื่อง อินทรีทอง (2513 มิตร-เพชรา)

              ในช่วงเวลา 13 ปี ที่มิตร ชัยบัญชา โลดแล่นอยู่แผ่นฟิล์ม บรรดาผู้สร้างแทบไม่กล้าแหวกตลาดไปหาดาราท่านอื่น ๆ มาเป็นพระเอกแทนมิตร ชัยบัญชา ถึงขนาดบางคนพูดว่า ถ้ามิตรไม่ตาย............. ก็คงไม่ได้เกิด ซึ่งแม้จะเปรียบเทียบหนักไปหน่อย แต่ก็ทำให้เรามองเห็นถึงความรู้สึกลึก ๆ ว่า คนที่พูดนั้นชอบมิตรมากขนาดไหน มิตรแสดงหนังไว้กว่า 300 เรื่อง (แต่เฉพาะที่ออกฉายในโรงภาพยนตร์มี 266 เรื่อง) ส่วนใหญ่เป็นหนัง 16 มม. พากย์สด ๆ ที่เป็นหนัง 35 มม.เสียงในฟิล์มมีเพียง 16 เรื่อง โดยแสดงคู่กับนางเอกมากกว่า 29 คน ในจำนวนนี้ เพชรา เชาวราษฎร์ เป็นนางเอกที่แสดงคู่กันมากที่สุดถึง 172 เรื่อง

              มิตร-เพชรา เป็นพระเอกนางเอกผูกขาดวงการหนังไทยยุค 16 มม.ที่คนสมัยนั้นไม่เคยลืม การเสียชีวิตอย่างกะทันหันของมิตรในวันที่ 8 ตุลาคม 2513 จึงกลายเป็นข่าวช็อคไปทั้งประเทศ ภาพคลื่นมหาชนในวันรดน้ำศพมิตร ชัยบัญชา ที่วัดแค นางเลิ้งและภาพประวัติศาสตร์ของผู้คนที่ไปร่วมพิธีพระราชทานเพลิงศพ มิตร ชัยบัญชา ในวันที่ 21 มกราคม 2514 ที่วัดเทพศิรินทราวาส ย่อมเป็นที่ประจักษ์แก่คนทั่วไปแล้วว่า คนไทยรักมิตร ชัยบัญชา มากแค่ไหน ซึ่งจุดนี้เองเป็นที่มาของคำกล่าวที่ว่า มิตร ชัยบัญชา พระเอกขวัญใจชาวไทย ส่วนจะตลอดกาล หรือไม่ คงไม่ใช่เรื่องที่จะด่วนสรุปเอาง่าย ๆ เพราะยังต้องอาศัยเวลาเป็นส่วนประกอบ แต่เวลาก็ทำให้เกิดคำว่า อีกไม่นานคงลืมเหมือนกับดาราท่านอื่น ๆ ที่ตายไป ไม่นานก็ถูกลืม แต่มิตรยังเจอกับการเปลี่ยนยุคจากหนัง 16 มม. มาเป็นหนัง 35 มม. เป็นตัวช่วยเร่งให้มิตรมีสิทธิถูกลืมง่ายเข้าไปอีกเพราะเมื่อไม่มีการฉายหนัง 16 มม. ก็เท่ากับเป็นการปิดตำนานหนังมิตรไปโดยปริยาย

              เรื่องราวของมิตรจึงเงียบหายไปพักหนึ่ง แต่อย่างว่า อะไรที่ถูกเก็บกดไว้นาน ๆ สักวันก็ต้องระเบิด ต่อมาหลังมิตรเสียชีวิตไป 17 ปี หอภาพยนตร์ฯ ก็นำหนัง 16 มม.เรื่อง แสนรัก (2510 มิตร-เพชรา) กลับมาฉายอีกในงานรำลึกถึงมิตร ชัยบัญชา ที่โรงละครแห่งชาติเมื่อคืนวันที่ 8 ตุลาคม 2530 ซึ่งได้ผลทันทีเพราะผู้คนจากทั่วทุกสารทิศก็หลั่งไหลไปดูหนัง ขนาดว่าตั๋วเต็มหมดแล้ว บางคนก็ยังขอไปนั่งกับพื้นเพื่อจะดูหนังให้ได้ ส่วนคนที่เข้าดูไม่ได้ ก็ยังไม่ยอมกลับ ยังคงจับกลุ่มนั่งพูดคุยกันถึงเรื่องราวของมิตร ชัยบัญชา ทั้ง ๆ ที่พวกเขาเพิ่งรู้จักกันในคืนนั้นเอง

              ชนะ บุนนาค (ตากล้องที่ถ่ายภาพมิตรและข่าวงานศพมิตร) น้อย เกตุงาม (สแตนอินของมิตร) เศก ดุสิต (เจ้าของบทประพันธ์อินทรีทอง ) และ ส.อาสนจินดา (ผู้กำกับ) ต่างเคยให้สัมภาษณ์กล่าวถึงมิตรทำนองเดียวกันว่า มิตรเป็นนักแสดงที่ดี มีน้ำใจ รู้จักรับผิดชอบต่อหน้าที่และยังดีใจที่คนไทยไม่เคยลืมมิตร ชัยบัญชา อยากให้มีการจัดงานอย่างนี้ทุก ๆ ปี จากปรากฏการณ์ในคืนนั้น จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ก่อให้เกิดงานรำลึกถึงมิตร ชัยบัญชา อย่างเป็นรูปธรรมขึ้นมาและต่อมามีกลุ่มคนรักมิตรมาช่วยสานต่อจัดงานให้ติดต่อกันทุก ๆ ปี จนกระทั่งถึงปัจจุบัน แค่นี้ ก็คงจะเพียงพอแล้วที่จะใช้คำว่า มิตร ชัยบัญชา พระเอกขวัญใจชาวไทยตลอดกาล ใช่ไหมครับ

              สำหรับงานในปีนี้ ก็ยังคงจัดที่โรงภาพยนตร์ศาลาเฉลิมกรุง โดยมีคุณนฤมล ล้อมทอง ผู้อำนวยการโรงภาพยนตร์ศาลาเฉลิมกรุง เป็นหัวเรือใหญ่อีกเช่นเดิมและพันธมิตรฟิล์ม เจ้าของโครงการคิดถึงหนังไทย ซึ่งเป็นผู้หาฟิล์มหนังมิตรมาฉายให้ดูหลายครั้งแล้ว ปีนี้ไปได้สุดยอดหนังดังเรื่อง เพชรตัดเพชร มา รูปแบบงานจึงจัดให้ยิ่งใหญ่กว่าทุกปี ทั้งนี้ เพื่อให้สมศักดิ์ศรีพระเอกผู้ยิ่งใหญ่กับสุดยอดหนังดังที่ทุกคนรอคอยมานานถึง 37 ปี กิจกรรมอย่างแรกจะเริ่มในเวลา 14.00 นาฬิกา ของวันอาทิตย์ที่ 5 ตุลาคม 2546 เป็นรายการ เพลงดังหนังมิตร โดยจะนำเพลงลูกกรุง-ลูกทุ่งดัง ๆ ที่อยู่ในหนังมิตร ชัยบัญชา เช่นเรื่อง จุฬาตรีคูณ 16 ปีแห่งความหลัง มนต์รักลูกทุ่ง เพชรตัดเพชร ฯลฯ มาให้ดาราและนักร้อง ไม่ว่าจะเป็น สมบัติ เมทะนี ธานินทร์ อินทรเทพ สันติ ดวงสว่าง ฯลฯ เป็นผู้ขับร้องพร้อมกับมีการแสดงอื่น ๆ ประกอบด้วย

              จากนั้นในวันที่ 8 ตุลาคม 2546 เวลาประมาณ 10.00 นาฬิกา กลุ่มคนรักมิตร ชัยบัญชา นำโดยคุณนฤมล ล้อมทอง ก็จะไปร่วมพิธีทำบุญเลี้ยงพระเพล ที่วัดแค นางเลิ้ง พอตกเย็นเวลา 18.00 นาฬิกา จะเริ่มงานรอบปฐมทัศน์ที่โรงภาพยนตร์ศาลาเฉลิมกรุง ในงานจะมีการจัดประกวดหาคนที่คิดว่า เขาเหมือนมิตรมากที่สุด ประกวดแบบง่าย ๆ เป็นกันเอง ส่วนรอบ ๆ บริเวณงานจะมีนิทรรศการแสดงประวัติ ผลงาน ภาพถ่ายของมิตร ชัยบัญชา ที่หาดูได้ยากเช่น มิตรกับบรรดานางเอกสวย ๆ มิตรกับเหล่าเพื่อนดารานักแสดง มีการนำใบปิดโปสเตอร์หนังมิตรเกือบทุกเรื่องออกมาแสดงให้ดู จะมีการพูดคุยกับผู้กำกับหนังมิตร ชัยบัญชาและจะเป็นการชุมนุมดารานักแสดงตัวประกอบที่ร่วมงานกับมิตร ชัยบัญชา อย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน นอกจากนี้มีการจำหน่ายของสะสม ของที่ระลึก หนังสือต่าง ๆ ที่เขียนถึงมิตรและวีซีดีหนังมิตร ชัยบัญชา ของโครงการคิดถึงหนังไทยด้วย

              พอถึงเวลา 19.30 นาฬิกา ก็จะฉายหนังเรื่อง เพชรตัดเพชร ให้ชมเป็นรอบแรก ส่วนรอบต่อไปจะเริ่มตั้งแต่ วันที่ 9 –12 ตุลาคม 2546 วันละ 4 รอบ เวลา 12.00 -14.30 -17.00 -19.30 นาฬิกา ซื้อตั๋วหนังก่อนมีสิทธิได้รับหนังสือ ทำไม ?ใคร ๆ ก็คิดถึงมิตร ชัยบัญชา ไว้เป็นที่ระลึก ของมีจำนวนจำกัดนะครับ งานปีนี้จึงจัดเพื่อคนที่รักและคิดถึงมิตร แต่ก็เหมาะสำหรับคนรุ่นใหม่ที่จะเข้าไปศึกษาเรื่องราวของพระเอกผู้ยิ่งใหญ่ท่านนี้ด้วย...

              เพชรตัดเพชร เป็นบทประพันธ์ของ เศก ดุสิต และ ส.เนาวราช สร้างโดย ปริญญา ทัศนียกุล แห่งบริษัทสหการภาพยนตร์ไทยจำกัดในระบบ 35 มม. ซีเนมาสโคป สีอิสต์แมน เสียงในฟิล์มตามแบบมาตรฐานโลก ใช้ผู้กำกับการแสดงถึง 3 ท่านคือ วิจิตร คุณาวุฒิ เจ้าของฉายาเศรษฐีตุ๊กตาทอง พร้อมสิน สีบุญเรือง (พันคำ) และประกอบ แก้วประเสริฐ ออกฉายครั้งแรกในวันที่ 5 เมษายน 2509


              จุดขายอย่างหนึ่งที่ทำให้หนังประสบความสำเร็จก็คือ การนำมิตร ชัยบัญชา มาประกบกับการกลับมาของพระเอกเก่า ลือชัย นฤนาท ให้นางเอกคู่ขวัญ เพชรา เชาวราษฎร์ ประชันความงามความสามารถกับ เรจิน่า ไป่ปิง ดาราสาวจากฮ่องกง นอกจากนี้ยังมี เกชา เปลี่ยนวิถี อดุลย์ ดุลยรัตน์ วิไลวรรณ วัฒนพานิช พร้อมดาราอีกมากร่วมแสดง ส่วนจุดเด่นที่ทำให้สมัยนั้นเป็นหนังโด่งดังมากก็คือ การทำถ่ายด้วยฟิล์ม 35 มม.แล้วมาบันทึกเสียงพากย์ เสียงแบ็คกราวน์ลงในฟิล์ม ทำให้มีความสมจริงในเรื่องคุณภาพเสียงซึ่งต่างจากหนัง 16 มม.ที่ใช้การพากย์สด ๆ ฉากวิวทิวทัศน์ของเกาะฮ่องกง ก็เป็นที่ตื่นตาตื่นใจมาก บทบู๊ก็เล่นได้มันสะใจโดยเฉพาะฉากที่มิตรต่อยกับลือชัยแบบถึงพริกถึงขิง ไม่มีใครแพ้ใครชนะ มีฉากที่มิตรขับรถยนต์หนีตำรวจ พอรถวิ่งลงน้ำก็แล่นไปได้เหมือนเรือ

              ฉากที่มิตรทิ้งขวด PEPSI เกลื่อนถนนเพื่อสกัดกั้นการติดตามและที่ทุกคนจดจำได้แม่นก็คือมีเพลง เพชรตัดเพชร และ ดวงใจ ในหนังซึ่งโด่งดังมาถึงทุกวันนี้ ถ้าเป็นแฟนหนังไทยรุ่นเก่า แค่เอ่ยชื่อ เพชรตัดเพชร จะต้องรู้จักกันเป็นอย่างดีว่า เป็นหนังดังและยอดเยี่ยมขนาดไหน แต่สำหรับคนรุ่นใหม่ที่ยังไม่เคยรู้เรื่องมิตร ไม่เคยดูหนังมิตรมาก่อน ก็ลองมางานนี้ซิครับ รับรองไม่ผิดหวัง..


หมายเหตุ : เขียนไว้เมื่อเดือนตุลาคม 2546 ข้อเท็จจริงอาจเปลี่ยนแปลงไปบ้าง

 
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 16 มีนาคม 2014, 04:51:51 โดย นายเค »


ฉัตรชัย สุวรรณโสภา 
88/1 ม.4 ต.บางโตนด อ.โพธาราม จ.ราชบุรี 70120   
E-mail chatchai_suw@hotmail.com    โทร 081-7636195 
ต่อพงศ์ภาพยนต์ ระบบ 35 ม.ม.  ฉัตรชัยภาพยนตร์ กลางแปลงย้อนยุค 16 ม.ม.
ธ.ไทยพาณิชย์  สาขาบิ๊กซีราชบุรี ชื่อบัญชี ฉัตรชัย สุวรรณโสภา  หมายเลขบัญชี  940-202235-1