ภาพยนตร์ของเรา...การฉายภาพด้วยแผ่นฟิล์ม > ถาม-ตอบ และอื่นๆ ของระบบภาพยนตร์ 35 มม.

ย้อนเวลาหาอดีต...หนังอินเดียในไทย

(1/5) > >>

นายเค:
คนไทยสมัยก่อนช่วงปี 2500 กว่า ๆ คุ้นเคยกับหนังอินเดียตั้งแต่สมัยหนัง 16 มม ขาวดำ
       ความบันเทิงเท่าที่หาได้ในยุคนั้นในกรุงหลัก ๆ ก็โรงหนัง ส่วนชนบท หนัง ลิเก สังเกตุได้ว่าคนไทยต่างจังหวัดชอบดูหนังอินเดียตามโรงหนังบ้านนอกและหนังกลางแปลง

      นางเอกยอดฮิตยุคนั้นคือ นีรูปารอย  มีนากุมารี พระเอกก็ ราช การ์ปู / ราช กุมาร / เมห์มูด ดาราตลก นางระบำยอดฮิตคือ เฮเลน ส่วนใหญ่จะเป็นหนังแนวเทพเจ้า ชีวิตเศร้าเคล้าน้ำตา

      โรงหนังใน กรุงเทพฯที่ฉายหนังอินเดียเป็นหลักคือ โรงหนังเท็กซัส ( อยู่ถนนระหว่างเยาวราช เชื่อม เจริญกรุง ) สมัยนั้น หนังอินเดีย ได้รับความนิยมอย่างสูง ส่วนหนังจีนยังมีน้อย ผู้จัดจำหน่ายหนังอินเดียมีอาทิ อินเดียฟิล์ม ดีวันจันทร์ ซึ่งนายห้างปักหลักอยู่หลังเฉลิมกรุง ยุคนั้นมีหนังอินเดียเป็นโกดัง

       ต่อมาหนังอินเดียมีการพัฒนาจากหนังขาวดำ มาเป็นหนังสีบางฉากบางตอน เช่น ฉากเพลง และ สีสวยตลอดทั้งเรื่อง หนังอินเดียที่สะกดอารมน์และบีบน้ำตาผู้ชมไดมากที่สุด คงไม่มีเรื่องใดเกิน “ธรณีกรรแสง” ( Mother India )

นายเค:
       จนกระทั้งก้าวสูยุคหนัง 35 มม หนังอินเดียก็พัฒนาขึ้น ดาราดัง ๆ ยุคต่อมาที่แฟนชาวไทยนิยมชมชอบอาทิ ราเยส คานนา มุมตัส เฮมามาลินี เรียกว่าฮิตพอ ๆ กับ ดาราไทย มิตร เพชรา เลยทีเดียว หนังเรื่องไหนดาราคู่นี้แสดง คนดูไม่ต้องดูอย่างอื่น ควักสตังค์ตีตั๋วดูทันที       

       หนังอินเดียที่สร้างประวัติการณ์การฉายยาวนาน และทำรายได้ทั้งในกรุงเทพฯ และ ต่างจังหวัดมหาศาลคือ ช้างเพื่อนแก้ว ทำลายสถิติทุกแห่งที่ฉาย พระเอกเรื่องนี้คือ ราเยส คานนา นางเอกคือ ทานูจา แต่ที่เด่นมากคือบรรดาช้างแสนรู้ หนังเรื่องนี้ทำให้นักพากย์ฝีปากเอก ทิวา – ราตรี เจ้าของหนัง กลายเป็นมหาเศรษฐี

       หนังอินเดียยุต 35 มม ปักหลักฉายที่โรงหนังควีนส์ วังบูรพา และ โรงหนัง บางกอก ย่านราชปรารภ หนังอินเดียดัง ๆ นั้น ถ้าออกเดินสายสามารถเก็บเงินได้เป็นกอบเป็นกำ บางเรื่องก็นำเพลงอินเดียมาใส่เนื้อร้องไทย ที่ฮิตไปทั่วก็ ธรณีชีวิต ที่ได้นักร้องดังอย่าง ชาตรี ศรีชล และยุพิน แพรทอง มาร้องคู่กัน ได้ครูพงษ์ศักดิ์ จันทรุกขา เขียนเนื้อร้องไทย กลายเป็นเพลงอมตะ หรืออย่างเรื่อง รอยมลทิน ขายชีวิต ที่มุมตัส แสดงก็ให้ไพรวัลย์ ลูกเพชร ร้องเนื้อไทยกำหัวใจคนดูคนฟัง

      เมื่อสังคมเศรษฐกิจแปรเปลี่ยน โรงฉายหนังแบบสแตนอโลน ( คือตั้งอยู่โดด ๆ ไม่อยู่ตามศูนย์การค้า ) ทะยอยปิดตัว ปรับตัว โรงหนังที่ฉายหนังอินเดียอย่าง เท็กซัส ควีนส์ ก็ต้องหยุดกิจการ .......



นายเค:
      ครั้นถึงยุคโลกาภิวัตน์ หนังอินเดียพัฒนาไปมากทั้งเทคนิคการสร้าง การถ่ายทำ โปรดักชั่นที่มีมาตรฐาน จนกระทั้ง บอมเบย์ ฐานผลิตหนังอินเดียที่ใหญ่ที่สุด ได้ชื่อว่า BOLLYWOOD สามารถเปิดตลาดไปทั่วโลก ผู้สร้าง ผู้กำกับ ดารา ก้าวสู่ระดับอินเตอร์ หนังอินเดียบางเรื่องพูดภาษาอังกฤษ และคว้ารางวัลจากการประกวดระดับนานาชาติ

     แต่...แต่....ทำไมหนังอินเดียที่เคยเป็นขวัญใจผู้ชมชาวไทย จึงลดน้อยไปจากตลาดไทย จนแทบไม่มีหนังอินเดียฉายตามโรงในรอบปกติ

        ทว่า ...... หนังจีน หนังฝรั่ง พาเหรดเข้ายึดครองโรงหนังทั้งในกรุงและต่างจังหวัด รวมทั้งทีวีทุกช่อง  ประเด็นที่ถือว่าเป็น ”จุดเปลี่ยน” ของตลาดหนังอินเดียในเมืองไทย คือเงื่อนไขเรื่อง “โรงฉาย” ไม่ว่าหนังชาติใด ในประเทศใด “ โรงฉาย “ ถือเป็นปัจจัยหลัก หนังจะดี จะทุ่มทุนสร้างขนาดไหน ถ้าไม่มีโรงฉายก็ไม่มีทางออก ยิ่งในยุคนั้นยังไม่มี ทีวีดาวเทียม เคเบิ้ลทีวี ยิ่งอินเตอร์เน็ต ไม่ต้องพูดถึงเลย แค่คิดก็ยังคิดไม่ถึง



นายเค:
     “โรงหนัง” จึงเป็นปัจจัยหลักที่จะทำให้หนังต่าง ๆ ออกมาสู่สายตาผู้ชม  รองลงมาคือ “ผู้จัดจำหน่าย“ และ “สายหนัง“ ผู้จัดจำหน่าย ก็คือ ผู้ที่ได้ลิขสิทธิ์ หนังเรื่องนั้น ๆ ในประเทศนั้น ๆ เช่น หนังฝรั่ง หนังจีน หนังญี่ปุ่น หนังอินเดียในเมืองไทย ใครจะได้ลิขสิทธิ์

     ในช่วงปี 2510 เป็นต้นมา หนังจีนจากฮ่องกงค่ายชอว์บราเดอร์ เริ่มได้รับความนิยม ผู้ได้ลิขสิทธิ์ในเมืองไทยคือ ยูเนี่ยนโอเดียน มีออฟฟิชอยู่ที่โรงหนังนิวโอเดียน ปัจจุบันก็คือตรงวงเวียนโอเดียนที่มีประตูศิลปะจีนหัวถนนย่านเยาวราช โรงฉายหลักก็นิวโอเดียน

     ส่วนหนังฝรั่งก็มีตัวแทนจากเมืองนอกมาจัดจำหน่าย ออฟฟิซอยู่ย่านสีลมที่เรียกว่า ”หนังตึก” กระจายหนังฉายหลายโรง อาทิ พาราเมาท์ เมโทร ย่านประตูน้ำ คิงส์ แกรนด์ ย่านวังบูรพา

นายเค:
      หนังญี่ปุ่น ปักหลักฉายที่โรงหนังแคปปิตอล ผู้จัดจำหน่ายรายใหญ่คือ แคปปิตอลฟิล์ม ดาราญี่ปุ่นยุคนั้นที่ดัง ๆ อาทิ โตชิโร มิฟูเน่ ( คู่บุญของยอดผู้กำกับ คูโรซาว่า แห่งเจ็ดเซียนซามูไร ) ดาราที่คอหนังชอบในลีลาการแสดงแบบยียวนกวนบาทาก็ต้องโย ชิชิโด / ถ้าแบบหล่อเนี๊ยบ ๆ ก็ต้อง อาคีระ โคบายาชิ  ส่วนหนังไทยก็ฉายอยู่ เฉลิมกรุง เฉลิมบุรี เฉลิมไทย เฉลิมเขตต์ เอ็มไพร์     
     
      ต่อมามีโรงหนังใหม่เกิดขึ้นยุคโรงหนังสแตนอโลนเฟื่องฟู เช่น เพชรรามา ( ประตูน้ำ ) เอเธนส์ ( ราชเทวี ) โคลีเซี่ยม ( ยมราช ) และต่อมาย่านสยามสแควร์ โรงหนังขนาดใหญ่เกิดขึ้นโดยค่ายสยามมหรสพ คือ สยาม ลิโด สกาล่า ที่ฉายหนังคัดเกรด ทั้งที่ซื้อเองละหนังจากค่ายฝรั่ง และต่อมาได้ผนวกกิจการโรงหนังกับโรงค่ายฮอลลี้วู้ด โคลีเซี่ยม พาราเมาท์เป็นเครือพีรามิด ทำให้มีศักยภาพด้านการตลาดและอำนาจต่อรองมากขึ้น  โรงหนัง ชานเมือง ส่วนใหญ่เป็นของค่าย พูนวรลักษณ์ เจ้าของโรง เพชรรามา แมคเคนน่า ( เชิงสะพานหัวช้าง ) และโรงที่ขึ้นต้นด้วยคำว่า ”เพชร” อาทิ เพชรรามา เพชรเอ็มไพร์ แม้กระทั่ง เพชรพรานนก

นำร่อง

[0] ดัชนีข้อความ

[#] หน้าถัดไป

Go to full version