ผู้เขียน หัวข้อ: บทที่ 686 ชุมทางหนังไทยในอดีต เสนอ โรงหนังกวงเฮง โรงหนังชุมพลภาพยนตร์ ศรีสะเกษ  (อ่าน 1502 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ มนัส กิ่งจันทร์

  • มนัส กิ่งจันทร์ ภาคสอง ชุมทางหนังไทยในอดีต
  • Moderator
  • พี่น้อง thaicine Gold member
  • ***
  • กระทู้: 2814
  • พลังใจที่มี 35
  • เพศ: ชาย
    • มนัส ชุมทางหนังไทยในอดีต

บทที่ 686
ชุมทางหนังไทยในอดีต เสนอ
โรงหนังกวงเฮง โรงหนังชุมพลภาพยนตร์ ศรีสะเกษ ของ นายชื่น เกษชุมพล
โดย มนัส กิ่งจันทร์

(facebook 1 กรกฎาคม 2558)



โรงหนังกวงเฮง โรงหนังชุมพลภาพยนตร์ ศรีสะเกษ ของ นายชื่น เกษชุมพล

       สวัสดีครับทุกท่าน.. เมื่อวันที่ 27-28 มิถุนายน 2558 ที่ผ่านมา.. ผมมีเหตุต้องเดินทางไปจังหวัดศรีสะเกษซึ่งอยู่ห่างจากจังหวัดสุรินทร์บ้านเกิดผมไปอีกประมาณ 100 กิโลเมตร.. ที่ศรีสะเกษนั้น พี่สาวกับพี่เขยผม เขาไปตั้งหลักปักฐานอยู่ตั้งแต่ปี พ.ศ.2517 แล้ว ผมก็เลยแวะเข้าไปหาพี่เขยผมด้วย นอกจากไปเยี่ยมแล้ว ก็ตั้งใจว่า จะเข้าไปเอารูปถ่ายขาวดำที่พี่เขยผมเคยถ่ายที่สุรินทร์ แล้วเผอิญแบ็กกราวน์จะติดภาพโรงหนังกรุงชัยรามาด้วย แต่ค้นหาเท่าไร ก็หารูปนี้ไม่พบ.. พี่เขยบอกว่า ได้แยกเก็บรูปถ่ายนี้ไว้ให้ผมตั้งนานแล้ว แต่วันนั้นกลับหาไปพบ..ระหว่างนั้นก็คุยกันเกี่ยวกับเรื่องโรงหนังเก่าๆ ในศรีสะเกษว่า มีชื่อโรงอะไรบ้าง.. ก็เผอิญเพื่อนของพี่เขยที่ชื่อ พี่ละเอียด อินทา เขาเป็นคนศรีสะเกษ เขารู้จักพวกลูกๆ เจ้าของโรงหนังเก่าแก่ ก็เลยพาผมไปหา.. และต่อจากนี้ไปก็คือ เรื่องราวของโรงหนังที่เก่าที่สุดของจังหวัดศรีสะเกษที่ผมไปพบมาครับ..

       นายตง เกษชุมพล เล่าให้ฟังว่า.. นายตง เป็นลูกชายคนที่ 8 ในจำนวน 13 คนของ นายชื่น เกษชุมพล กับ นางกมลทิพย์ เกษชุมพล.. โดยนายชื่นกับนางกลมทิพย์ พ่อแม่นั้นเป็นคนโคราช ได้อพยพย้ายถิ่นฐานจากเมืองโคราชโดยทางเกวียนมายังเมืองขุขันธ์ (หรือศรีสะเกษในเวลานี้) ตั้งแต่ยังไม่มีเส้นทางรถไฟ การเดินทางมาใช้เวลาเป็นอาทิตย์กว่าจะถึง แล้วก็มาตั้งบ้านเรือนทำการค้าขาย (หน้าสถานีรถไฟศรีสะเกษในปัจจุบัน) ตั้งชื่อร้านค้าว่า ร้านกวงเฮง มีการสร้างทาง สร้างถนน ตั้งชื่อถนนว่า ถนนกวงเฮง.. ละแวกนั้นจะเป็นบ้านไม้ห้องแถว มีการค้าขายโชห่วยหลายอย่าง นับเป็นย่านการค้าที่เจริญแห่งแรกๆ ของศรีสะเกษ


ภาพนี้คือ นายสมพงษ์ เกษชุมพล ผู้จัดการโรงหนังฯ

       ต่อมา นายชื่น เกษชุมพล ผู้เป็นพ่อก็สร้างโรงหนังขึ้นมาตั้งชื่อว่า โรงหนังกวงเฮง เป็นโรงแรกของศรีสะเกษ สมัยนั้นยังสร้างด้วยไม้ เก้าอี้ก็เป็นม้านั่งยาว มีผนักพิงหลัง หนังจะฉายแต่รอบกลางคืน.. นายตงก็ไม่ทราบว่า โรงหนังกวงเฮงนี้สร้างขึ้นมาเมื่อใดเพราะตั้งแต่นายตงเกิดมานั้น (พ.ศ.2480) ก็เห็นว่า พ่อมีโรงหนังกวงเฮงอยู่แล้ว ต่อมาราวๆ ปี พ.ศ.2500 พ่อกับพี่ชายคือ นายสมพงษ์ เกษชุมพล ผู้จัดการโรงหนัง (ลูกคนที่ 6) ก็พัฒนาโรงหนังกวงเฮงให้ดีขึ้น มีการเปลี่ยนเก้าอี้เป็นไม้แบบลุกขึ้น แล้วไม้กระดกได้..มีการกรุผนังโรงหนังให้ทึบแสงเพื่อฉายหนังในตอนกลางวันและก็มีการเปลี่ยนชื่อโรงหนังจาก กวงเฮง มาเป็น โรงหนังชุมพลภาพยนตร์ โดยนำส่วนหนึ่งของนามสกุลคือ ชุมพล (ซึ่งหมายถึง ประตูชุมพลที่โคราช) มาตั้งเป็นชื่อโรงหนัง..


        แรกๆ โรงหนังชุมพลภาพยนตร์ ก็จะฉายแต่หนัง 16 มม. ต่อมาก็เปลี่ยนไปฉายหนัง 35 มม. ซึ่งช่วงนี้เอง นายตงก็จะช่วยงานเป็นคนฉายหนัง ส่วนภริยาคือ นางเจียมจิตร เกษชุมพล จะเป็นคนเก็บตั๋วหนัง.. กิจการก็เจริญก้าวหน้าดีมีการรับหนังจากสายอีสานภาพยนตร์ กรุงเทพฯ เข้ามาฉาย บางครั้งก็มีดนตรีมาแสดงด้วย..

       ต่อมาปี พ.ศ.2509 นายชื่น เกษชุมพล ผู้เป็นพ่อก็เสียชีวิต ลูกๆ ก็ยังคงทำกิจการโรงหนังชุมพลภาพยนตร์และพัฒนาโรงหนังเรื่อยมา.. ถึงตอนนี้ พอถามถึงว่า พอจะมีภาพถ่ายอะไรเกี่ยวกับโรงหนังหรือไม่.. นายตงก็บอกว่า ไม่มีแล้วเพราะโรงหนังถูกไฟไหม้หมดและย่านการค้าของพ่อที่เคยสร้างไว้แถวถนนกวงเฮงก็ถูกไฟไหม้เช่นกัน เป็นไฟไหม้ใหญ่ที่สุดของศรีสะเกษในเวลานั้น


เคยเป็นสถานที่ตั้งโรงหนังกวงเฮง-โรงหนังชุมพลภาพยนตร์ ศรีสะเกษ

       นายตงเล่าให้ฟังต่ออีกว่า พอคืนวันที่ 19 สิงหาคม 2520 หลังจากที่โรงหนังชุมพลภาพยนตร์ ฉายหนังฝรั่งเรื่อง เต่าเหาะ จบแล้ว.. ก็แยกย้ายกันเข้านอนตามปกติ ราวๆ ตีสองก็ได้ยินเสียงตะโกนว่า ไฟไหม้ ๆ ก็ลุกขึ้นมาดู พบว่ามีไฟไหม้จากย่านการค้าที่อยู่ฝั่งตรงข้ามโรงหนัง แล้วก็ลุกลามมายังโรงหนัง.. ตอนนั้นเรียกว่า สิ้นเนื้อประดาตัว ญาติๆ ก็แยกย้ายกันไปสร้างอาชีพใหม่ๆ.. พอถามว่า ทำไม ไม่คิดจะมาทำโรงหนังอีก.. ก็ได้ความว่า เคยคิดจะกลับมาทำโรงหนังอีก แต่ตอนนั้นก็เริ่มเห็นแล้วว่า โทรทัศน์กำลังเข้ามาตีตลาด คนจะดูหนังน้อยลง โรงหนังที่มีอยู่ตอนนั้นก็ชักจะลุ่มๆ ดอนๆ กันแล้ว ก็เลยตัดใจไม่สร้างโรงหนังอีก..


(ภาพนี้คือ โรงหนังเฉลิมเกษ)

       ส่วนโรงหนังอื่นๆ ของศรีสะเกษนั้น นายตงเล่าให้ฟังว่า พอมีโรงหนังชุมพลภาพยนตร์แล้ว ก็มีคนอื่นๆ สร้างโรงหนังตามมาอีก 3 โรงคือ โรงหนังเฉลิมเกษ ของเจ๊เซี้ยม ตั้งอยู่แถววัดพระโต รับหนังจากสายเฉลิมวัฒนามาฉาย...  โรงหนังศรีเกษม ของเฮียหมง ตั้งอยู่ถนนซุ่นเฮง.. และโรงสุดท้ายก็คือ ศรีสะเกษรามา.. ซึ่งขณะนี้ก็มีเพียงโรงศรีสะเกษรามาเท่านั้นที่ยังคงมีซากโรงหนังคงเดิมให้เห็น.. เอาล่ะครับ ตอนนี้ ก็คลิกดูเทปสัมภาษณ์ได้แล้วครับ..



โรงหนังศรีสะเกษรามา ณ วันนี้








ด้านข้างโรงหนังศรีสะเกษรามา




โรงหนังศรีสะเกษรามา..

คลิกดูเทปสัมภาษณ์  โรงหนังกวงเฮง โรงหนังชุมพลภาพยนตร์ ศรีสะเกษ ของ นายชื่น เกษชุมพล


--------------------------------


Maxkie Mitt ขอบคุณครับพี่มนัส..หลักฐานต่างๆสิ้นสลายไปหมดเพราะถูกไฟไหม้..แต่ก็ยังดีที่เป็นป้ายชือโรงหนัง...ศรีสะเกษรามา..ยังเหลืออยู่ประกอบกับคำบอกเล่าจากทายาทเจ้าของโรงหนัง....เลยทำให้เราได้ทราบประวัติของโรงหนังโรงนี้ครับ

       โรงหนังกวงเฮง โรงหนังชุมพลภาพยนตร์ นั้น ไม่เหลือภาพอะไรไว้เป็นหลักฐานเลยเพราะไฟไหม้หมดเมื่อ 20 สิงหาคม 2520..ครับ ส่วนโรงหนังศรีสะเกษรามา ยังมีสภาพอยู่ตามภาพที่เห็นๆ นี้ แต่วันนั้น ผมมีเวลาน้อยก็เลยถ่ายรูปมาให้ดูไว้ก่อน เผื่อว่า อาจจะมีคนอื่นๆ ไปตามสัมภาษณ์ในภายหลัง.. กวงเฮง เป็นโรงหนังโรงแรกของศรีสะเกษ.. แต่ ศรีสะเกษรามา เป็นโรงหนังโรงสุดท้ายของศรีสะเกษ ครับ..

       มีบางท่านสงสัยว่า ทำไมช่วงไตเติ้ลของเทปนี้จึงสั้นกว่าปกติ.. คำตอบก็คือ ผมกับพี่เขยและเพื่อนพี่เขยก็ไม่แน่ใจว่า เขาจะยอมให้สัมภาษณ์หรือไม่เพราะก่อนไปนั้น เรารู้แล้วโรงหนังเขาถูกไฟไหม้หมดตั้งนานแล้ว ญาติๆ ก็แยกย้ายกันไปทำอาชีพอื่นๆ กันหมด เจ้าของโรงหนังซึ่งเป็นพ่อกับแม่ก็เสียชีวิตแล้ว..พี่ชายที่เป็นผู้จัดการโรงหนังก็เสียชีวิตแล้ว คงเหลือแต่นายตงซึ่งตอนนั้นพวกเราไม่ทราบว่า เขาเกี่ยวข้องอะไรกับโรงหนังบ้าง ก็เลยดุ่มๆ ไปหาโดยไม่คิดว่า จะได้สัมภาษณ์อะไร ก็เลยไม่ได้เตรียมการถ่ายทำเส้นทางเข้าบ้านไว้..

       ขนาดไปถึงบ้านเขา ผมก็ยังไม่กล้าหยิบกล้องขึ้นมาถ่ายบริเวณบ้าน ต้องให้เพื่อนพี่เขยเขาไปทักทาย ไปแนะนำตัวจนจำกันได้เพราะลูกสาวของพี่เขยเป็นอาจารย์สอนอยู่ที่ศรีสะเกษด้วย เมื่อลำดับความสัมพันธ์กันได้แล้ว ก็เลยแจ้งความประสงค์จะขอสัมภาษณ์ถึงเรื่องโรงหนัง..โชคดีที่นายตงคนนี้เคยเป็นคนฉายหนังของโรงหนังด้วย ก็เลยได้ข้อมูลค่อนข้างดีและยังได้ถามถึงโรงหนังข้างเคียงยุคเดียวกันด้วย.ผมมีเวลาอยู่ที่ศรีสะเกษเพียงชั่วโมงเดียว จะต้องรีบกลับ ทุกอย่างก็ดูเร่งรีบ ภาพที่เห็นนี้ถ่ายตอนสัมภาษณ์เสร็จนะครับ..

       อ้อ..เกือบลืมไป ผมไม่ลืมจะถามถึงเรื่อง มิตร ชัยบัญชา นะครับ.. อยากรู้ไหมว่า ตอนหนังเรื่อง อินทรีทอง มาฉายที่โรงหนังนี้ เขาเซ่นไหว้วิญญานมิตร ชัยบัญชา ด้วยอะไร.. ลองเปิดเทปสัมภาษณ์ดูนะครับ...


        วันเวลาผ่านไปรวดเร็วจริงๆ ครับ.. ถ้าถึงวันที่ 5 กรกฎาคม 2558 นี้ คำว่า "ชุมทางหนังไทยในอดีต" ที่ผมใช้มาตั้งแต่เริ่มเขียนเล่าเรื่องราวในอินเตอร์เน็ตก็จะมีอายุครบ 10 ปีบริบูรณ์.. และก็จะเป็นการก้าวเข้าสู่ปีที่ 11 แล้วครับ..กำลังคิดๆ ว่า จะทำคลิปพิเศษอะไรมาฝากเพื่อนดีครับ..หรือว่าจะมีการนัดพบกันดีไหมครับ...

Regis Madec ขอบคุณครับคุณ มนัส กิ่งจันทร์ ชุมทางหนังไทยในอดีต ที่ได้เขียนประวัติศาสตร์ของ โรงหนังกวงเฮง โรงหนังชุมพลภาพยนตร์ ศรีสะเกษ ของ นายชื่น เกษชุมพลครับ. Video YouTube น่าสนใจครับ. เสียดายที่ไม่มีฟิล์มที่เหลือครับ. แต่โชคดีที่ตึกยังอยู่ครับ.

        คุณ Regis Madec ครับ โรงหนังกวงเฮง หรือ โรงหนังชุมพลภาพยนตร์ นั้น ไม่มีอะไรเหลือแล้วครับเพราะถูกไฟไหม้ไปหมดเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2520 และทายาทลูกหลานไม่คิดจะทำโรงหนังอีกต่อไปแล้วครับ.. ส่วนตัวตึกที่ยังอยู่นั้นเป็นการสร้างทับที่ที่ถูกไฟไหม้นะครับ ไม่ใช่อาคารเดิมครับ..
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 05 กรกฎาคม 2015, 03:13:38 โดย มนัส กิ่งจันทร์ »


"มนัส กิ่งจันทร์ ภาคสอง ชุมทางหนังไทยในอดีต" โดยเติมคำว่า "ภาคสอง" คั่นกลางไว้..
อดีตจากฟิล์มภาพยนตร์ ไม่มีวันตาย..