ผู้เขียน หัวข้อ: บทที่ 650 ชุมทางหนังไทยในอดีต เสนอ ดุ่ย ณ บางน้อย คุยโขมงฯ เรื่อง ขุนแผน นักพากย  (อ่าน 1165 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ นายเค

  • Thaicine Movie Team
  • Moderator
  • พี่น้อง thaicine Gold member
  • ***
  • กระทู้: 3814
  • พลังใจที่มี 616
  • เพศ: ชาย

บทที่ 650
ชุมทางหนังไทยในอดีต เสนอ
ดุ่ย ณ บางน้อย คุยโขมงฯ เรื่อง ขุนแผน นักพากย์หนัง
โดย มนัส กิ่งจันทร์

(facebook 19 กุมภาพันธ์ 2558)


ดุ่ย ณ บางน้อย คุยโขมงฯ เรื่อง ขุนแผน นักพากย์หนัง


         สวัสดีครับทุกท่าน..  เมื่อวันเสาร์ที่ 14 กุมภาพันธ์ 2558 ที่ผ่าน ผมกับเพื่อนและน้องเจ ธนภัทร มีโอกาสเข้าไปพบและพูดคุยกับ “ขุนแผน” นักพากย์ชื่อดังในอดีต..  งานนี้ สำเร็จลงได้ก็ต้องขอบใจน้องเจ ธนภัทร ที่พอรู้ว่าผมต้องการพบพูดคุยกับนักพากย์หนังเก่าๆ ก็รีบจัดแจงติดต่อประสานงานให้..ทีแรก ผมก็ไม่นึกหรอกว่า จะได้พบกับขุนแผนเพราะได้ยินว่า ท่านปิดตัว ไม่ค่อยจะยอมพูดถึงเรื่องการพากย์หนัง.. แต่เผอิญว่า น้องเจมีสายสัมพันธ์ที่ดีกับคุณเสกสรร สอนอิ่มสาตร์ ซึ่งเป็นน้องชายของขุนแผน ก็เลยทำให้มีโอกาสได้พบกับขุนแผนง่ายขึ้น..


         พูดถึง นักพากย์ ขุนแผน ก็ต้องมีคู่พากย์อีกคนคือ ดารณี สมัยนั้นร่วมกันพากย์ในชื่อ ขุนแผน-ดารณี แต่คุณดารณีเสียชีวิตไปก่อนนานแล้ว วันนี้ ก็เลยมีเพียง ขุนแผน ท่านเดียวที่จะเล่าความหลังให้ฟัง.. ชื่อขุนแผนนักพากย์นั้นหายไปจากวงการตั้งแต่ราวๆ ปี 2516..ก็เรียกว่า นานเอาการ นานจนคนลืม.. แต่ชื่อคนยังจดจำได้แม่นก็คือ ดุ่ย ณ บางน้อย กับรายการวิทยุคุยโขมงหกโมงเช้า.. 2 ท่านนี้เป็นคนๆ เดียวกันครับ

         วันนั้น ขุนแผน เล่าความหลังเมื่อครั้งเป็นนักพากย์ให้ฟัง.. เหตุการณ์จะเป็นอย่าง ก็ต้องดูจากเทปวีดีโอนะครับ..ณ ที่นี้ ก็จะเขียนไว้คร่าวๆ เท่านั้น.. ขุนแผน มีชื่อเดิมว่า “ชูศรี” ต่อมาถูกรัฐบังคับให้เปลี่ยนชื่อ ก็เลยเปลี่ยนเป็น “อำนาจ” สอนอิ่มสาตร์ เกิดที่ฝั่งธนบุรีเมื่อปี 2476 ปัจจุบันอายุ 82 ปี เรียนจบแผนกช่างวิทยุเมื่อปี 2497 จากโรงเรียนอาชีวะ (สะพานเหลือง) ถนนบรรทัดทอง กรุงเทพฯ

         แต่ชีวิตการเป็นนักพากย์เริ่มต้นขึ้นขณะกำลังเรียนหนังสือเพราะระหว่างนั้นได้ร่วมกับเพื่อนๆ รับงานติดตั้งเครื่องกระจายเสียงให้งานมหรสพต่างๆ ซึ่งแสดงในงานพิธีสำคัญ ณ ท้องสนามหลวงเช่น งานปีใหม่ งานสงกรานต์ ฯลฯ ทำให้เห็นการแสดง การละเล่นต่างๆ ของเหล่าศิลปิน ได้อยู่ใกล้ๆ นักพากย์หนัง ได้เห็นวิธีการวางมุมปากจ่อกับไมโครโฟนเพื่อเปลี่ยนเสียง แอบจำคำพูดจากละครย่อยหรือร้องลำตัดบ่อยๆ และเคยพากย์หนังแทนนักพากย์หนังขายยาในต่างจังหวัดบ้าง

         ระหว่างเรียนปีสุดท้าย ก็ได้เข้าทำงานที่แผนกแสงเสียงของบริษัทกรุงไทยภาพยนตร์ ถนนหลานหลวง โดยเป็นช่างแก้เครื่องขยายเสียง นอกจากนี้ยังร่วมกับเพื่อนนักเรียนรับซ่อมเครื่องขยายเสียงหนังขายยาที่ส่งมาจากต่างจังหวัดอีกทางหนึ่งด้วย ต่อมาเมื่อบริษัทกรุงไทยฯ เตรียมทำโฆษณาหนังไทย 16 มม. เรื่อง สิงห์ทมิฬ ที่จะเข้าฉายโรงหนังศรีอยุธยา สี่ก๊กพระยาศรี อำนาจก็ต้องฉายหนังให้นักพากย์ซ้อมพากย์หนัง ระหว่างนั้นก็เกิดเผลอปากพูดกับเพื่อนๆ ทำนองว่า ตัวเองก็พากย์หนังเป็น ดูแล้วไม่ยาก ผู้อำนวยการบริษัทได้ยินก็เรียกอำนาจเข้าพบและให้ทดลองพากย์หนังให้ดู ตอนนั้นคิดว่า ตัวเองจะตกงาน แต่กลับกลายเป็นว่า อำนาจได้เป็นผู้ช่วยนักพากย์คือ สุรพล แสงเอก และ สุรางค์ เชยเกษ นักพากย์ชื่อดังในขณะนั้นพากย์เรื่อง สิงห์ทมิฬ ต่อมาเมื่อครูสุรพล แสงแอก ต้องไปควบคุมวงดนตรีอัศวินการละคร บริษัทจึงให้อำนาจพากย์กับสุรางค์แทน


         อำนาจพากย์หนังเรื่อง สิงห์ทมิฬ ตามโรงหนังชั้นสองในกรุงเทพฯ หลายแห่ง เช่น โรงหนังศรีบางลำพู โรงหนังบางกระบือเธียเตอร์ โรงหนังเฉลิมเวียง กระทั่งหนังมาฉายที่โรงหนังเวิ้งนาครเขษม พอถึงวันสุดท้าย คุณประสาน ตันสกุล ผู้บริหารโรงหนังเวิ้งนาครเขษมก็ชวนทั้งคู่มาพากย์ประจำที่โรงนี้ เรื่องแรกที่พากย์เป็นหนังฝรั่งเรื่อง ตระเวนปารีส นำแสดงโดย ยีน เคลลี่-เลสลี คารอง..ตอนนั้นก็ยังใช้ชื่อพากย์ตามเดิมคือ สุรางค์กับอำนาจ แต่พอปลายปี 2497 คุณประสานไม่สามารถต่อสัญญาเช่าโรงหนังได้ อำนาจก็ต้องหยุดพากย์หนัง แต่ไปรับแสดงละครวิทยุกับสุรางค์ เชยเกษ แทนเป็นครั้งคราว

         อำนาจเข้าไปทำงานเป็นช่างแสงช่างไฟฟ้าที่โรงถ่ายหนัง ส.อาสนจินดา ย่านสะพานปลา ถนนเจริญนคร ขณะนั้น ส.อาสนจินดา กำลังสร้างหนังเรื่อง จันทโครพ นำแสดงโดย สวลี ผกาพันธ์-สมควร กระจ่างศาสตร์ ระหว่างนั้นเอง อำนาจก็มีโอกาสกลับมาพากย์หนังอีก เป็นหนังไทย 16 มม.ขาวดำเรื่อง ยอดนักเบ่ง ต่อมาเมื่อ ชลอ ไตรตรองศร เกิดเบื่อการพากย์หนังเรื่องนี้ที่จำเจ อำนาจจึงได้พากย์หนังคู่กับ อัมพร ประทีปเสน แทน ต่อมาก็ได้พากย์หนังเรื่องนี้กับ วงจันทร์ ไพโรจน์ นักร้องชื่อดังเพราะนางเอกของเรื่องต้องร้องเพลงได้ แต่เมื่อพากย์จบที่โรงหนังควีนส์ เชียงใหม่ เจ้าของหนังยอดนักเบ่งได้ขายหนังให้สายอื่นไป


         อำนาจจึงกลับมาช่วย ส.อาสนจินดา ตัดต่อและวางแผ่นเสียงประกอบหนังเรื่อง จันทโครพ ซึ่งเข้าฉายที่โรงหนังศาลาเฉลิมไทย-เฉลิมบุรี เมื่อหนังออกโรงแล้ว ส.อาสนจินดา ก็ให้สำนักงานวชิราภาพยนตร์ ของลุงเปี่ยม ทองปรีชาและคุณนายสวาท เสถียร สี่แยกหลานหลวงเป็นผู้จัดจำหน่ายตามโรงหนังชั้นสองและโรงต่างจังหวัด เมื่อมีผู้มาเช่าหนังจากสำนักงานเปี่ยม ลุงเปี่ยมก็จะแนะนำเขาให้จ้างอำนาจไปเป็นนักพากย์ อำนาจจึงได้สัมผัสชีวิตการพากย์หนังกลางแปลงตามงานวัดและงานกลางแปลงทั่วไป

         ต่อมาเมื่อลุงเปี่ยมซื้อหนัง 16 มม. ขาวดำ เรื่อง หนูจ๋า (2497) จากหม่อมหลวงรุจิรามาฉายต่อก็มอบให้อำนาจเป็นผู้พากย์หนังเรื่องนี้และที่มาของชื่อนักพากย์ “ขุนแผน” ก็เกิดจากจุดนี้เองกล่าวคือ เมื่อจะมีคนนำหนังไปฉาย ก็ถามลุงเปี่ยมว่า ใครจะพากย์หนูจ๋า ลุงเปี่ยมก็ตอบว่า..  ไอ้ ขุนแผน ไง.. เพราะก่อนหน้านี้มักจะมีแฟนหนังสาวๆ มาถามหาอำนาจอยู่เสมอ นัยว่า เสน่ห์แรง สาวๆ ติดกันเกรียวก็เลยโดนลุงเปี่ยมล้อว่าเป็น ขุนแผน..




ขุนแผนหรือดุ่ย ณ บางน้อย กับวงดนตรี บุปผา สายชล..

         อำนาจเองก็ไม่ค่อยจะปลื้มกับชื่อขุนแผนเท่าไหร่ แต่เพราะผู้มีพระคุณตั้งให้ ก็เลยใช้ชื่อ ขุนแผน เรื่อยมา ขุนแผน ตระเวนพากย์หนังกลางแปลงแถวจังหวัดนครปฐม ราชบุรี สุพรรณบุรี กาญจนบุรี สมุทรสาคร สมุทรสงคราม กระทั่งกลางเดือนเมษายน 2497 ก็กลับกรุงเทพฯ มาเกณฑ์ทหาร จับสลากติดทหารเกณฑ์ผลัดหกซึ่งจะต้องรายงานตัววันที่ 2 ตุลาคม 2497 ระหว่างที่รอนั้น ขุนแผนก็กลับเข้าไปทำงานเป็นช่างแสงช่างไฟฟ้าที่โรงถ่าย ส.อาสนจินดา ซอยทองหล่อ ถนนสุขุมวิท ระหว่างที่เป็นช่างไฟฟ้านั้น ก็มีเพื่อนแนะนำให้ขุนแผนรู้จักคุณทวีสุข โปตะวาณิช เจ้าของโรงหนังเฉลิมราช ชลบุรีและยังเป็นผู้จัดหาหนังและจัดหานักพากย์ไปฉายที่โรงหนังเฉลิมวัฒนา ลำปาง โรงหนังชุมพรภาพยนตร์ ชุมพร ซึ่งสมัยนั้นจะเรียกว่า โรงหนังสายเตี่ยเม่งอู๋

         ขุนแผนได้พากย์หนังในสังกัดของเตี่ยเม่งอู๋ โดยเริ่มพากย์หนังฝรั่งเรื่อง สาวน้อยเลือดโรมัน ที่โรงหนังเฉลิมวัฒนา ลำปาง โรงหนังเฉลิมชล ชลบุรี ต่อมาเมื่อเข้าเป็นทหารเกณฑ์อยู่กองพลทหารม้า สนามเป้า ก็ยังลามาพากย์หนังโรงชานกรุงด้วย หลังปลดประจำการ ขุนแผนก็ยังเดินหน้าพากย์หนังโรงไปเรื่อยๆ บางครั้งก็ร่วมสร้างหนังกับเขาด้วย กระทั่งวันหนึ่งพบสัจจะธรรมแห่งชีวิตที่ว่า คลื่นลูกใหม่ ไล่คลื่นลูกเก่าเข้าฝั่ง แล้วฝังไว้ที่ชายหาด..

         ขุนแผนจึงไม่ยอมที่จะตกอยู่ในวังวนเช่นนั้น เริ่มคิดจะวางไมค์พากย์หนัง โดยอาศัยความรู้ที่เรียนมาร่วมกับน้องชายเปิดห้องอัดเสียงคิงส์ซาวด์ เมื่อ 1 ตุลาคม 2507 รับจ้างทำแผ่นเสียงโฆษณาทางวิทยุกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ ทำแผ่นสปอตโฆษณาหนังไทย ต่อมาวันที่ 1 ตุลาคม 2509 อำนาจในนาม ดุ่ย ณ บางน้อย ก็เริ่มจัดรายการวิทยุ คุยโขมงหกโมงเช้า ที่ สถานีวิทยุ ปตอ. AM 600 Hz สี่แยกเกียกกาย ระหว่างนั้นก็ยังรับพากย์หนังไปด้วย


         งานอัดเสียงของห้องอัดเสียงคิงส์ซาวด์ที่อำนาจภาคภูมิใจที่สุดก็คือ การที่ได้พากย์หนังและอัดเสียงหนังเรื่อง มนต์รักลูกทุ่ง ของ รังสี ทัศนพยัคฆ์ เมื่อปลายปี 2512 โดยขุนแผนพากย์เสียงมิตร ชัยบัญชาและล้อต๊อก หลังจากทำห้องอัดเสียงหนังเต็มตัวแล้ว ขุนแผนก็จะพากย์หนังให้กับคนที่เกรงอกเกรงใจกันเท่านั้น จะให้เวลากับการบริหารห้องอัดเสียงและจัดรายการวิทยุมากกว่ากระทั่งปี 2516 จึงยุติการพากย์อัดเสียงให้กับหนังไทย









หนังมิตร ชัยบัญชา ที่ขุนแผนและน้องชายร่วมกันสร้าง..รายละเอียดดูจากเทปสัมภาษณ์ครับ


หนังเรื่อง แสนรัก ที่ ขุนแผน เคยพากย์ไว้



คลิกดูเทปสัมภาษณ์ ดุ่ย ณ บางน้อย คุยโขมงฯ เรื่อง ขุนแผน นักพากย์หนัง ยาว 93 นาที

--------------------















----------------------

Tuu-sRi Five-aNgels เมื่อก่อนฟังบ่อยมากๆคับ ตอนเช้าตรู่ ฟังคลอๆไปเรื่อยๆ สบายใจมากๆคับ เสียงท่านใส เพราะ แระเสียงหล่อมากๆ เสียงท่านฟังแร้ว สบายใจ ผ่อนคลายจิงๆคับผม ท่านชอบเอาข่าว การเมือง ข่าวอาชญากรรม ข่าวชาวบ้านต่างๆ มาเล่า มาพุดให้ฟัง การจัดรายการของท่าน แหวกแนวมากๆ จะคล้ายว่า แซวๆ ข่าวนิดเนิง คับผม เสียงของการจัดรายการของท่านจะมี ออกซาวด์แอ๊คโค่ นิดๆคับ เงียบๆ นิดๆ บอกไม่ถูก เปนเอกลักษณ์ดีนะคับ ผมชอบ แระชื่นชม คับผม!! ^^*

ป.เป๊ะ ถิ่นดงตาล เมื่อก่อนฟังทุกเช้าคุยโขมงหกโมงเช้าเพิ่งเคยเห็นภาพท่านวันนี้..ไม่ทราบว่าตอนนี้ยังจัดรายการวิทยุอยู่หรือปล่าว..หาคลื่นไม่เจอหลายปีแล้วตอนวิทยุชุมชนระบาดคลื่นหลักหายไปเลยก็เลยอดฟังท่านนับแต่นั้นมา

       ขุนแผน หรือ ดุ่ย ณ บางน้อย นั้นประกาศแขวนไมโครโฟนการจัดรายการวิทยุไปแล้วตั้งแต่ปี 2556 ครับ แต่วันที่ไปสัมภาษณ์ท่านนั้น เห็นท่านพูดว่า มีคนติดต่อให้พูดในรายการแนวเดียวกันอีกครับ แต่ไม่ทราบว่า ช่วงไหน สถานีไหนครับ.. สมัยก่อนเวลาผมดูรายการทีวีเขาสัมภาษณ์คนดังหรือดาราหนัง ก็เบื่อที่เขาถามเพียงสั้นๆ เอาแค่พอหมดเวลาในเบรกนั้น..บางครั้งเราอยากรู้อยากฟังมากกว่าที่รู้ๆ มา แต่ก็ลำบากครับ รายการทีวีเขามีเวลาจำกัดนะครับ พอมีระบบยูทูป ผมได้สัมภาษณ์ใคร ก็จะปล่อยยาวๆ แบบนี้แหละครับ ตัดเฉพาะเสียงคำถามของผมนะครับ..ขอบคุณน้องเจ ธนภัทร เมืองไทย ภัทรถาวงศ์ ที่ช่วยติดต่อ ประสานงาน หาข้อมูลและภาพมาประกอบเทปชุดนี้ด้วยนะครับ ไม่มีน้องเจ ก็คงไม่มีเทปสัมภาษณ์ชุดนี้หรอกครับ..

         วันนั้น ตอนจะจบการสัมภาษณ์เรื่องนักพากย์แล้ว คุณดุ่ยฯ หยิบรูปที่ถ่ายกับมิตร ชัยบัญชา มาให้ดูและก็บอกว่า คบกันลึกๆ กับมิตร ชัยบัญชา ด้วยครับ สังเกตตอนท้ายๆ วีดีโอจะได้ยินคำพูดนี้นะครัับ..


Sayun Rojpiyakran ดีใจนะครับที่มีคนอย่างคุณมนัส ที่เข้าใจถึงความรู้สึกของคนที่สนใจใคร่รู้ ประวัติของบุคคลซึ่งเคยคุ้นหูกันในวันเวลาที่ผ่านเลย ทำให้ความทรงจำดีๆได้ย้อนคืน หลายๆท่านที่สร้างสรรเอกลักษณ์ในการนำเสนอ ที่ยังทำให้แฟนรายการไม่ลืมเลือน ยากจะหาใครมาแทนได้ในความรู้สึก ขอบคุณอีกครั้งสำหรับเรื่องราวดีๆครับ

          ช่วงนี้ ผมและเพื่อนๆ ก็พยายามจะตามเก็บเรื่องราวในอดีตของคนเคยมีชื่อเสียงโด่งดังมาไว้ในรูปแบบ เทปสัมภาษณ์ผ่านยูทูปนะครับ.. แต่ก็ไม่รู้ว่าจะตามได้ถึงขนาดไหนเพราะบางครั้งก็ยุ่งยากในการติดต่อและขอ สัมภาษณ์ บางท่านคิดว่า ตนเองตกยุค หมดสมัยไปแล้ว ก็เลยไม่ยินดีให้สัมภาษณ์ก็มีนะครับ.. เมื่อกลางวันนี้ น้องเจ ธนภัทร โทรมาบอกว่า รู้จักกับหลานๆ ของคุณสุรางค์ เชยเกษ ที่เป็นนักพากย์ผู้หญิง ที่พากย์คู่กับ ครูสุรพล แสงเอก ... ถ้าดูเทปสัมภาษณ์ขุนแผนหรือดุ่ย ณ บางน้อย ก็จะจำได้นะครับ คนที่คุณดุ่ยบอกว่า ต้องดูเวลาเขาซ้อมพากย์หนังนั่นแหละครับ..เห็นว่า ตอนนี้อายุ 90 กว่าๆ แล้ว.. น้องเจชวนผมไปสัมภาษณ์อีกนะครับ กำลังหาาจังหวะเหมาะ ๆ นะครับ..
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 25 กุมภาพันธ์ 2015, 07:34:29 โดย นายเค »


สรพงษ์ ลิ้มทองคำ
5 หมู่ 7 ต.คลองตาคต อ.โพธาราม ราชบุรี 70120    E-Mail soraphol@hotmail.com
ธ.กรุงเทพ ออมทรัพย์ สาขา อาคารยาคูลท์ สนามเป้า   หมายเลขบัญชี  210-036236-3
ธ.ไทยพาณิชย์  ออมทรัพย์ สาขา บางเขน   หมายเลขบัญชี  041-273435-0
ติดต่อ 0909040355

ชมรมรักหนังกางแปลง โพธาราม ราชบุรี เรามาคุยกันได