ผู้เขียน หัวข้อ: บทที่ 277 ชุมทางหนังไทยในอดีต เสนอฉาย ชุมทางหาดใหญ่ (2509 มิตร-เพชรา-ไอดาหลิน)  (อ่าน 970 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ ฉัตรชัยฟิล์มshop

  • Thaicine Movie Team
  • Moderator
  • พี่น้อง thaicine Gold member
  • ***
  • กระทู้: 11590
  • พลังใจที่มี 441
  • เพศ: ชาย
  • รักการฉายด้วยฟิล์ม

บทที่ 277
ชุมทางหนังไทยในอดีต เสนอฉาย
หนึ่งในโครงการภาพยนตร์ไทยคงเหลือ
ชุมทางหาดใหญ่ (2509 มิตร-เพชรา-ไอดาหลิน)
โดย มนัส กิ่งจันทร์

(facebook 20 มิถุนายน 2556)


หนังไทยคงเหลือ ชุมทางหาดใหญ่ 2509 มิตร


            สวัสดีครับ.. วันนี้ โครงการภาพยนตร์คงเหลือ ขอเสนอฉายหนัง 16 มม. พากย์สดๆ จากกรุฟิล์มวัดบ้านดง ตำบลพญาแมน อำเภอพิชัย จังหวัดอุตรดิตถ์ ซึ่งพวกเราเพื่อนๆ ใน facebook ร่วมแรงร่วมใจเดินทางไกลไปขออนุญาตหลวงพ่อเจ้าอาวาสวัดฯ ขอฉายหนังและถ่ายวีดีโอไว้เมื่อวันที่ 8-9 มิถุนายน 2556 ที่ผ่านมา นอกจากนี้ ยังถือโอกาสร่วมทำบุญ ทำสังฆทานอุทิศส่วนกุศลให้ มิตร ชัยบัญชา อีกด้วย ซึ่งภาพเหตุการณ์ทั้งหมดนั้น ผมนำมาฉายให้เพื่อนๆ ได้ชมกันแล้ว ส่วนหนังที่พวกเราช่วยมาได้ครั้งนี้มี 4 เรื่อง ผมฉายไปแล้ว 3 เรื่อง วันนี้ ก็จะเป็นเรื่องที่ 4 เรื่องสุดท้ายแล้วครับ ตอนนั้น พวกเราคิดว่าจะไปช่วยหนังมิตรเรื่อง “พิมพิลาไล” แต่ปรากฏว่า ฟิล์มที่อยู่ในกระเป๋าหนังพิมพิลาไล กลับเป็นเรื่อง เพลงสวรรค์นางไพร (สมบัติ-ภาวนา).. แทน โดยไม่ทราบว่า ฟิล์มพิมพิลาไล นั้นมีอยู่จริงหรือไม่

            ครั้งแรกก็คิดว่า พวกเราจะไม่ได้หนังมิตร ชัยบัญชา กลับมา แต่เหมือนโชคช่วยเพราะยังมีฟิล์มอีกหลายม้วนที่หลวงพ่อเจ้าอาวาสเก็บไว้ในห้องในตู้โชว์นั้น หลวงพ่อก็หยิบๆ มาให้พวกเราดู ผมก็พยายามเลือกฟิล์มยี่ห้อเดียวกัน แยกออกมาก่อน จากนั้นก็เริ่มฉายฟิล์มที่คิดว่า ฉายง่ายที่สุดก่อน..แล้วก็ไม่น่าเชื่อว่า ฟิล์มม้วนแรกที่พวกเราหยิบมาฉาย กลายเป็นหนังตระกูล “หนึ่งต่อเจ็ด” ของ ป๋า ส.อาสนจินดา สมัยที่ มิตร ชัยบัญชา แสดงเป็นพระเอก นั่นคือเรื่อง ชุมทางหาดใหญ่ เราได้ฟิล์มมา 3 ม้วนสั้นๆ แต่ว่าจบเรื่อง เป็นหนังที่สร้างและกำกับโดย ป๋า ส.อาสนจินดา เรียกว่า เป็นหนังฟอร์มใหญ่ในยุคนั้น ดาราที่ร่วมแสดงก็มี เพชรา-ไอดาหลิน-ปรียา-ทักษิณ-รุจน์-อดุลย์-สมควร-ฑัต-สาหัส-สมพล-สุคนธ์.. ฉายครั้งแรกเมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2509 ที่โรงหนังควีนส์.. เมื่อฉายจบแล้ววัดความยาวหนังได้ 1.08 ชั่วโมง..

            เป็นหนังไม่มีเสียงพากย์ สียังสวยสด แม้จะมีเรื่องย่อ แต่ก็ย่อมาแบบไม่จบเรื่อง ผมใส่เสียงบรรยายไว้แล้ว ส่วนเพลงที่เปิดประกอบก็ได้มาจาก น้องเจ ธนภัทร บัวเบา..  ความที่เป็นหนังที่ถ่ายทำที่ หาดใหญ่ สงขลา เมื่อปี 2508 พอมาถึงวันนี้ ภาพจากฟิล์มหนังก็กลายเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์อย่างหนึ่งของหาดใหญ่ สงขลา ไปแล้วครับ

แหละนี่ก็คือ หนึ่งในโครงการภาพยนตร์ไทยคงเหลือ ชุมทางหาดใหญ่ ปี 2509



คลิ๊กดูได้เลยครับ...

 
<iframe width="560" height="315" src="//www.youtube.com/embed/_VkVx1Gcbys?fs=1&start=" frameborder="0" allowfullscreen></iframe>
...........


             สำหรับรายละเอียดเมืองสงขลาเพิ่มเติมแบบละเอียดยิบ..ส่วนเรื่องการเทเลซีนฟิล์มหนังนั้น สมัยก่อนที่คุณโต๊ะพันธมิตรทำนั้น ใช้บริการของบริษัทโซโหเอเชียจำกัด แถวๆ สุขุมวิท สมัยนั้นเริ่มจากราคาชั่วโมงละ 15,000 บาท แล้วพอเป็นลูกค้าที่ดีเรื่อยๆ ก็เลยลดมาเหลือชั่วโมงละ 9 พันบาท บริษัทนี้บริการดีมากๆ จะปล่อยให้เราเขาไปดูการเทเลซีนด้วย มีข้าวปลาอาหารเลี้ยงดู หากเราเห็นภาพหนังตรงไหนไม่ดี ไม่สวย ก็ถอยหลังกลับมาซ่อมแซมได้ทันที.. หนังเรื่องหนึ่งยาว 2 ชั่วโมง ก็เทเลซีนใช้เวลา 2 ชั่วโมงเสร็จ บางทีช้าหน่อยตรงแต่งสี ปรับความคมชัด ก็จะช้ามาเป็น 2 ชั่วโมงครึ่งกว่าๆ เขาก็คิดราคาจริงๆ ตั้งแต่เข้าไปในห้องเทเลซีนครับ..

             เสร็จแล้วก็นั่งรอรับมาสเตอร์เทปเบต้าได้เลย ไม่เกินครึ่งชั่วโมง เราก็จ่ายเงินเสร็จ ก็กลับบ้านได้... แต่ที่พูดมานี้ ตอนนี้บริษัทนี้เขาเลิกกิจการแ้ล้วครับ..ตอนนี้ ถ้าจะเทเลซีนก็เหลือไม่กี่บริษัทฯ แต่ว่าราคาจะแพงกว่าเพราะเขาบอกว่า เป็นการสแกนฟิล์มแล้ว ตกนาทีละ 3 พันบาทครับ.. ลองคิดดูว่า เรื่องหนึ่งมีกี่นาที..แต่ที่ยุ่งยากก็เพราะเราไม่อาจนั่งรอได้เหมือนเดิม เขาไม่ให้กรรมวิธีทำงานแล้วครับคือ ต้องเอาฟิล์มไปทิ้งที่เขา แล้วอีกประมาณหนึ่งเดือนค่อยไปรับมาสเตอร์เทปและฟิล์มกลับมา.. จึงเป็นปัญหามากๆ สำหรับการยืมฟิล์มจากคนอื่นๆ มาอยู่ในมือเราเป็นเดือนๆ ครับ..

             การทำดีวีดีหนังไทยเก่าๆ จำหน่ายด้วยการรีมาสเตอร์นั้น..ค่าใช้จ่ายอย่างแรกก็คือ ค่าลิขสิทธิ์หนัง ซึ่งเริ่มตั้งแต่ราคาหมื่นต้นๆ ไปจนถึงหลักแสนบาท.. จากนั้นก็เป็นค่าซื้อฟิล์มหรือเช่าฟิล์มซึ่งอยู่ประมาณ 6-7 พันบาทต่อเรื่อง บางเรื่องก็เล่นกันเป็นหมื่นๆ..แต่ก่อนเทเลซีนจะต้องมีการซ่อมและทำความสะอาดฟิล์มก่อน ไม่งั้นพอเข้าเครื่อง เครื่องจะสั่นไหว ต้องหยุดทำความสะอาดเครื่อง ก็จะเสียเวลามากขึ้นอีก ค่าทำความสะอาด ก็จะอยู่อีกประมาณ 3-5 พันบาทต่อเรื่อง..  จากนั้นจึงนำฟิล์มไปเทเลซีนตามราคาที่บอกไว้ข้างต้น พอได้มาสเตอร์เทปมา ก็ต้องเอาเทปไปเข้าคอมฯ แปลงสัญญาณเป็นไฟล์ดีวีดี ตัดต่อ กลับข้างฟิล์มให้ถูกทิศทาง..จากนั้นถ้าไม่มีบทพากย์หนัง ก็ต้องจ้างแกะบทพากย์อีก.. แล้วจึงจ้างทีมพากย์ ซึ่งราคาก็อยู่กับราคาแต่ละทีมพากย์ว่าสูงหรือไม่.. พอได้เสียงพากย์มา ก็ต้องไปซิงค์เสียงกับตัวหนังก่อน..

             จากนั้นก็เริ่มวางแบ็กกราวน์เสียงบรรเลงประกอบ เสียงเอฟเฟ๊กซ์..จากนั้นรวมเป็นไฟล์ดีวีดี.. ส่งไปเขียนแผ่นต้นฉบับสำหรับปั๊มแผ่น... จ้างออกแบบปกดีวีดี.. เขียนข้อมูลหนัง.. จ้างโรงพิมพ์พิมพ์ปก..จ้างโรงพิมพ์ผลิตแผ่นดีวีดี..บรรจุลงกล่อง..รับของเตรียมมาไว้ออกจำหน่าย..หาร้านจำหน่าย..ถ้ามีเงินหน่อยก็ทำประชาสัมพันธ์..รอฟังยอดการขายและรอเก็บเงินจากร้านขายทุกๆ 6 เดือน.. แต่ทุกวันนี้ ค่าใ้ช้จ่ายหนักๆ จะอยู่ทีการสแกนฟิล์ม..ก็สแกนทีละเฟรม ทำเป็นไฟล์ภาพนิ่งใหญ่ๆไว้ จากนั้นก็จะนำำไฟล์ภาพนิ่งมาต่อรวมกันเพื่อผลิตเป็นภาพเคลื่อนไหว หลักการเดียวกันกันการถ่ายทำการ์ตูนของอาจารย์ปยุต เงากระจ่าง นั่นแหละครับ.. 

อย่างฟิล์มที่ผมนำมาให้ดูเป็นตัวอย่างนี้ ก็เป็นฟิล์ม 16 มม. เรื่อง อวสานอินทรีแดง ปี 2506 จะเห็นว่ามีภาพอยู่ 4 เฟรม เขาก็ต้องสแกนทีละเฟรมแบบนี้แหละครับ ถึงได้แพงๆๆๆ...



             ทุกวันนี้ นับวันการทำหนัง 16 มม.หรือหนัง 35 มม.ให้ชัดให้สวยนั้น เป็นอะไรที่แพงมากๆ กว่าจะได้มาสเตอร์เทป..ยิ่งตอนนี้ผู้ผลิตวีซีดีหรือดีวีดีหนังไทยเก่าๆ ต่างถอดใจไปหมดแล้ว ก็เลยยิ่งทำให้การหาดูหนังไทยเก่าๆ (ตัวใหม่ๆ ที่ยังไม่เคยออกมานะครับ) หาดูได้ยากขึ้นอีก..ที่เห็นๆ ออกมา ก็เลยต่างพากันประหยัดต้นทุนด้วยการใช้มาสเตอร์จากเทปยูเมติกที่เก็บไว้ หรือบางเจ้าก็ใช้ม้วนวีดีโออย่างเราๆ มีนี่แหละทำออกมาขาย..คนก็เลยคิดว่า หนังไทยเก่าๆ ไม่ชัด..ทำไงได้ในเมื่อตลาดคนไทย ไม่ต้องดูหนังไทยเก่านี่ครับ ก็เลยไม่มีใครลงทุนมากกว่านี้..

             ส่วนเรื่องการตลาดนั้น ไม่ใช่ปัญหาใหญ่หรอกครับ ขนาดผู้ผลิตใหญ่ๆ ที่ลองหันมาทำวีซีดีหรือดีวีดีหนังไทยเก่าๆ ต่างก็เคยเป็นนักการตลาดมาแล้ว อย่างค่าย ร.. ค่าย อป.. ค่าย มป..หรือแม้แต่สายส่งหนังที่มีเครือข่ายทั่วประเทศอย่าง ค่าย บค...หรือล่าสุดค่ายใหญ่ของเสี่ยคนหนึ่ง..เอง ต่างก็พากันงงๆ ว่า ทำไมหนังไทยเก่าๆ ขายยากจัง ตัดใจลดราคาดีวีดี 3 เรื่องร้อยแล้วเลิกทำเลย..สำหรับผมแล้วคิดว่า ปัีญหาทั้งหมดอยู่ที่การช่วยกันส่งเสริมหรือสนับสนุนให้คนไทยรู้จักประวัติศาสตร์หนังไทยมากกว่า กล่าวง่ายๆ ก็คือ คนไทยไม่มีหยดเลือดหนังไทยอยู่ในตัวเลย..ยังคงมองหนังไทยเป็น สินค้า อย่างหนึ่งเท่านั้น..ครับ

             ต้องบอกว่า.. จากหนัง ไปสู่หนัง.. ผมพูดแบบนี้ก็เพราะวันนี้ตอนเย็นๆ ผมได้รับโทรศัพท์จากชายท่านหนึ่ง ท่านบอกว่า ท่านชื่อ อาจารย์จรัส จันทร์พรหมรัตน์ ท่านพูดถึงหนังมิตรเรื่อง ชุมทางหาดใหญ่ ที่พวกเราไปช่วยมาได้ ท่านบอกว่า ยอดเยี่ยมมากที่ได้เห็นหนังเรื่องนี้อีกครั้งและบอกว่า จะขอนำหนังเรื่องนี้ไปฉายโชว์ให้คนสงขลาดูในการสนทนาวันอาทิตย์ที่ 30 มิถุนายน 2556 นี้ (ตามป้ายภาพข้างบน) ผมก็ได้แต่บอกว่า ครับๆๆ เพราะเป็นการฉายเพื่อการศึกษา การเล่าประวัติเมืองสงขลาให้ผู้คนได้ฟังกัน..

             ผมสนับสนุนอยู่แล้ว แรกๆ ก็ไม่นึกว่า จะมีอะไรมากกว่านี้ แต่พออาจารย์จรัสบอกว่า ท่านมีฟิล์มหนังอยู่หลายม้วน เป็นหนัง 16 มม.บ้าง หนัง 35 มม.บ้าง ซึ่งฟิล์มหนังเหล่านี้ ท่านได้มาจากบริการหนังกลางแปลงแห่งหนึ่งที่เลิกกิจการไปนานแล้ว ท่านก็ขอเขาเก็บฟิล์มหนัง เก็บบทพากย์ เก็บแผ่นโชว์การ์ดไว้และพอเห็นพวกเราช่วยกันหาฟิล์มหนังมาจนได้ฟิล์มหนังเรื่อง ชุมทางหาดใหญ่ ท่านก็บอกว่า ยินดีจะให้ผมยืมฟิล์มหนังมาทำภาพเก็บไว้เผยแพร่แบบนี้.. พอผมถามว่า มีเรื่องอะไรบ้าง ท่านก็บอกว่า บางม้วนยังไม่รู้ว่า เป็นหนังเรื่องอะไร แต่บางม้วนก็รู้แล้วครับว่า เป็นหนังมิตร ชัยบัญชา ท่านพูดชื่อพร้อมกับบอกว่า คงเคยเห็นหนังกันแล้วเพราะมีแผ่นดีวีดี แต่ผมก็บอกว่า ไม่เป็นไร ผมขอดูหนังมิตรจากกากฟิล์มบ้าง มันมีเส้นฝน มันขลังดี... ท่านก็บอกว่ายินดี..

             ส่วนหนังเรื่องอื่นๆ ท่านบอกว่า จะเช็คให้อีกทีว่า มีชื่อเรื่องอะไรบ้าง พอถามว่า จะให้ผมทำอย่างไร ท่านก็บอกว่า ถ้าเข้ากรุงเทพฯ จะหิ้วติดมือมาให้ด้วย.. นี่แหละครับที่ผมบอกว่า จากหนังไปสู่หนัง.. เพราะ ชุมทางหาดใหญ่ แท้ๆ จึงทำให้พวกเราได้เพื่อนๆ ที่เป็นชาวสงขลาเพิ่มขึ้น..และหนังของพวกเราก็ได้มีโอกาสช่วยให้การตามหาประวัติศาสตร์เมืองสงขลาของกลุ่มอาจารย์ฯ ดังกล่าวสนุกยิ่งขึ้นอย่างที่เห็นๆ เขาเล่ากันเป็นฉากๆ ในบทนี้...ตอนนี้ ก็ได้แต่รอว่า แล้วฟิล์มม้วนอื่นๆ จะเป็นเรื่องอะไรบ้าง จะเป็นฟิล์มสำคัญของจังหวัดใดอีกหนอ...

 :) :) ป.ล. อ.จรัส บอกว่า ยังไม่ได้เล่นเฟสบุ๊ก แต่ว่ารู้จักกับ  คุณVudhichai Phetsuwan คุณพุทธพร ส่องศรี และแตง โปสเตอร์ ด้วยครับ


            ที่ว่า จะมี ชุมทางหาดใหญ่ ไปฉายนั้น เท่าที่ฟังจาก อ.จรัส แล้ว เข้าใจว่าจะเป็นการเปิดคลิปหนังเรื่องนี้แล้วบรรยายประกอบแบบภาพนี้นะครับ..  ส่วนภาพข้างล่างนี้จะมีใครบ้าง ขอให้ อ.ก้อย Vudhichai Phetsuwan อธิบายประกอบหน่อยครับ มีใครบ้าง แล้วก็กำลังดูอะไรกันครับ..




คุณเอก วิริยะ ซ้ายมือสุดครับ ในงานสงขลาแต่แรกปี 53


โปสเตอร์หลักของงานครับ
https://fbcdn-sphotos-c-a.akamaihd.net/hphotos-ak-prn1/p480x480/1016115_666593256687652_1905101454_n.jpg


ระหว่างรอฟังความคืบหน้า..ขอนำป้ายที่คุณ Vudhichai Phetsuwand เคยโพสต์ไว้ กลับมาให้ดูอีกครั้ง..

          คุณVudhichai Phetsuwan โพสต์ภาพบรรยากาศงานนี้แล้ว เชิญทุกท่านตามไปคอมเม้นท์ในภาพเหล่านั้นได้เลยนะครับ ส่วนผมเองก็ขอนำภาพเหล่านั้นมาแปะไว้ตรงนี้ด้วยนะครับ

 
 

 

พุทธพร ส่องศรี  เขียน ภาพบรรยากาศงาน ในคืน วันที่ 30 มิ.ย. 56 ครับ

              งานนี้ ผมได้มีโอกาสร่วมงานเฉพาะคืนวันเสาร์ที่ 29 มิ.ย.56 เพียงคืนเดียวครับ ซึ่งเป็นหัวข้อเสวนา "สงขลายามสงคราม" โดย อ.ก้อย Vudhichai Phetsuwan เป็นผู้ดำเนินรายการ และคุณลุงมาซาโอะ เซโตะ ผู้เคยอยู่ในเหตุการณ์จริงสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 มาเล่าให้ฟังครับ

              ส่วนคืนวันอาทิตย์ที่ 30 มิ.ย. 56 ซึ่งเป็นเสวนาหัวข้อ "บันเทิงสถาน ความสำราญแต่แรก" นั้น ผมไม่สามารถร่วมรับชมรับฟังได้ครับ ต้องรีบกลับมาปฏิบัติภารกิจที่กำแพงแสน นครปฐม แต่พี่ชายและพี่สะใภ้ผมได้ไปร่วมงานและเก็บภาพบรรยากาศมาให้ชมกัน (พี่ชายผมเคยชมหนังเรื่อง ชุมทางหาดใหญ่ ในรูปแบบหนังกลางแปลง ด้วยครับ)


ขอนำบรรยากาศงานที่พี่ชายผมเล่ามาให้ฟังทางอีเมล์ มาลงโดยไม่ตัดทอนดังนี้ครับ

----
              พี่กับพี่หยกไปถึงศาลเจ้ากวนอูเวลาประมาณ 2 ทุ่ม บนจอกำลังฉายเรื่องชุมทางหาดใหญ่ตอนที่ทักษิณ แจ่มผล พูดวิทยุที่รางรถไฟ และคุณมนัสกำลังพากย์ว่า ใส่ฟิล์มกลับด้าน บนเวทีได้นำเครื่องฉายภาพยนตร์ 16 มม. พร้อมฟิล์ม ด้านข้างซ้ายขวามี show card หนังไทยหลายเรื่อง เช่น ชุมทางหาดใหญ่ พล นิกร กิมหงวน วังไพร นกแก้ว ลำพู พร้อมทั้งป้ายบอกชื่อ อานนท์ เธียร์เตอร์ มีผู้ชมจำนวนมากนั่งกระจายเต็มพื้นที่เต็นท์ ต่างสนใจชมชุมทางหาดใหญ่กันมาก

              ทางผู้จัดปล่อยเสียงคุณมนัสตลอด ถ้าถึงตอนที่มีการระบุสถานที่ ผู้เสวนาบนเวทีก็จะบอกให้ทราบ เช่นฉากนี้คือบริเวณตำบลน้ำน้อย ร้านนี้ชื่อ คลังวิทยุ เป็นต้น ฉายจนจบเรื่องก็เปลี่ยนเป็นเปิดหนังจีนจากดีวีดี เพื่อให้เข้ากับงานเจ้าพ่อหลักเมือง เป็นหนังเพลงจีน เช่นเรื่อง เพลงรักชาวเรือ
และเรื่องอื่น ๆ ฉายเรื่องละประมาณสองสามนาที แล้วก็เปลี่ยนเป็นการรำลึกนักพากษ์หนังในอดีตโดยการเปิดดีวีดีหนังเรื่องต่าง ๆ เรื่องละประมาณห้านาทีทั้งหนังจีน หนังอินเดีย หนังฝรั่ง ที่พากย์โดยนักพากย์หลายคน ซึ่งบางคนได้ล่วงลับไปแล้ว


              จนถึงเวลาประมาณสามทุ่ม เสียงฟ้าร้อง ฟ้าแลบ ส่อเค้าว่าฝนกำลังจะตก ผู้จัดจึงปิดเวที รีบช่่วยกันขนเครื่องฉาย ฟิล์ม แผ่นหนังต่าง ๆ เข้าในเต็นท์ งานนี้พี่ณัฏฐ์ อ.จรัส และทีมงาน ต้องเร่งขนของแข่งกับเวลา พี่กับพี่หยกก็รีบเดินกลับบ้าน ถึงบ้านประมาณสามทุ่มสิบห้านาที ฝนลงเม็ดนิดเดียว ไม่ถึงกับเปียก

หมายเหตุ
1. อ.จรัส พูดบนเวทีว่า ราวเดือนตุลาคมปีนี้ อาจจะจัดเทศกาลหนังมิตร ชัยบัญชา

2.คนที่นั่งติดกับ อ.จรัส เมื่อคืนก่อนที่น้องอยู่ชมด้วย คืนนี้ขึ้นบนเวที นั่งอยู่ขวาสุดในภาพ เป็นผู้ดำเนินรายการตลอด น่าจะเป็นเจ้าของอานนท์ เธียร์เตอร์

3.พี่หยกเป็นคนบันทึกภาพ เสียดายที่กล้องแฟลชเสีย ต้องถ่ายในโหมด night เปิดหน้ากล้องกว้างเพื่อรับแสง และ สปีดชัตเตอร์ต่ำ ทำให้เก็บภาพไม่สมบูรณ์ ถ้ามีขาตั้งกล้องคงแก้ปัญหาภาพสั่นไหวไปได้มาก

4.พี่ไปถึงงานช้า จึงไม่รู้ว่า ก่อนหน้านี้เครื่องฉายหนัง และฟิล์ม ต่าง ๆ ที่ผู้จัดนำมา ได้เดินเครื่องฉายหนังจริง ๆ ขึ้นจอให้ชมหรือเปล่า แต่ชุมทางหาดใหญ่ฉายจากโน้ตบุ๊ค และหนังเรื่องอื่น ๆ ฉายจากเครื่อง DVD

5.งานนี้พี่ไปทันหนังไทยเรื่องเดียวคือชุมทางหาดใหญ่ ไม่ทราบว่าก่อนนั้นจะฉายหนังไทยเรื่องใดบ้างหรือไม่ เพราะหลังจากนั้นเป็นหนังจีน อินเดีย ฝรั่ง ไม่มีหนังไทยอีกเลย



แผ่นป้ายประชาสัมพันธ์ของอานนท์ เธียร์เตอร์


show card มีเรื่องชุมทางหาดใหญ่ด้วยครับ

ขอบคุณ ที่เพิ่มเติมรายละเอียดนะครับ





พุทธพร ส่องศรี เขียน  ภาพโชว์การ์ดหนังชุมทางหาดใหญ่ ประกอบเพลงชุมทางหาดใหญ่ครับ


           คุณ Paemit  โพสต์รูปเกี่ยวกับหนังเรื่องชุมทางหาดใหญ่และแท็กมาให้ผม..ผมก็เลยนำมาไว้ที่เดียวกันนะครับ ท่านดูหนังแล้วคงจำได้นะครับ.. ภาพที่ 1

นี่อีกรูปครับ อยู่ในเรื่องชุมทางหาดใหญ่..


นี่ก็ด้วยครับ สถานทีถ่ายทำหนัง ชุมทางหาดใหญ่..


กลัวไม่ชัดครับ คุณPaemitฯ ก็เลยเทียบรูปให้ด้วยครับ..มิตร ชัยบัญชา กำลังถือปืนกลยิงในเรื่อง ชุมทางหาดใหญ่..สงสัยตอนนั้นปิดเมืองถ่ายหนังเลยครับ..


            พุทธพร ส่องศรี มีภาพถ่ายจากเครื่องบินในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ภาพหนึ่งครับ ปัจจุบันเก็บรักษาอยู่ที่พิพิธภัณฑ์อนุสรณ์สงครามออสเตรเลีย ถ่ายเมื่อวันที่ 17 ก.ค. 2488 จากทะเลสาบสงขลาเข้ามายังเมืองสงขลา เห็นควันที่เกิดจากการทิ้งระเบิด ซึ่งภาพนี้มีปริศนาอยู่ว่าบริเวณพื้นน้ำที่เห็นตรงกลางภาพคือหนองน้ำหรืออะไร เพราะในปัจจุบันไม่ปรากฏว่ามีหนองน้ำอยู่บริเวณนี้


แล้วปริศนาก็ไขได้ด้วยฉากหนึ่งจากภาพยนตร์ชุมทางหาดใหญ่ครับ เพราะเห็นที่ลุ่มน้ำขังตรงบริเวณเดียวกันกับภาพนี้พอดีครับ ปัจจุบันบริเวณนี้โดนถมสร้างบ้านเรือนหมดแล้ว ไม่เห็นหนองน้ำแล้วครับ


            ครับ ถ้ามีโอกาสแบบนี้ ก็ต้องทำนะครับเพราะเป็นการแก้ไขความบกพร่องที่อยู่ในวิสัยที่พอจะทำได้..ตอนนี้ กำลังรอฟังเพื่อนๆ ที่จะร่วมทางไปด้วยกันนะครับ... ครั้งนี้ คิดว่า คงมีเวลามากกว่าครั้งที่แล้วนะครับ..คืออยู่วัดตั้งแต่เช้าครับ..
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 03 เมษายน 2014, 15:01:32 โดย นายเค »


ฉัตรชัย สุวรรณโสภา 
88/1 ม.4 ต.บางโตนด อ.โพธาราม จ.ราชบุรี 70120   
E-mail chatchai_suw@hotmail.com    โทร 081-7636195 
ต่อพงศ์ภาพยนต์ ระบบ 35 ม.ม.  ฉัตรชัยภาพยนตร์ กลางแปลงย้อนยุค 16 ม.ม.
ธ.ไทยพาณิชย์  สาขาบิ๊กซีราชบุรี ชื่อบัญชี ฉัตรชัย สุวรรณโสภา  หมายเลขบัญชี  940-202235-1