ผู้เขียน หัวข้อ: ให้เสียงภาษาลาวโดย:เปิดตัวตนคนพากย์ชาร์ลี แชปลินเวอร์ชั่นอีสาน“นิคม สุนทรพิทักษ์  (อ่าน 728 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ นายเค

  • Thaicine Movie Team
  • Moderator
  • พี่น้อง thaicine Gold member
  • ***
  • กระทู้: 3814
  • พลังใจที่มี 616
  • เพศ: ชาย
        “อะไรวะ ชาร์ลีพากย์ลาว?”


       ถ้าเป็นเมื่อราวๆ สามสี่สิบปีก่อน เราท่านก็คงอุทานออกมาแบบเดียวกับเจ้าของร้านวิดีโอสมัยก่อน ที่ทำหน้างุนงงสงสัย หลังจากถูกชายผู้หนึ่งเสนอขายผลงานของตน

       แต่ถึงสมัยนี้ คงไม่มีนักดูหนังคนไหนที่ไม่เคยได้ยินกิตติศัพท์ “ชาร์ลีพากย์ลาว” หรือเว้าให้ระคายหูน้อยลงหน่อยก็คือ “ชาร์ลี แชปลิน เวอร์ชั่นพากย์อีสาน” ต่อให้ไม่เคยชมดูอย่างจริงจัง ด้วยข้อจำกัดด้านภาษา หรือเพราะมองด้วยสายตาแบบผู้มีภูมิรู้ว่าไม่คู่ควรที่จะทำเช่นนั้น แต่ถึงอย่างไร ก็ย่อมจะพอรู้ว่า ในโลกนี้ มีหนังของชาร์ลี แชปลิน ที่พากย์เป็นภาษาอีสาน


ตัวอย่างบางตอน จากเรื่อง The Great Dictator

        มันเป็นความสำเริงสำราญ และเป็นตำนานอีกหนึ่งหน้าอย่างปฏิเสธได้ยาก
       อย่างไรก็ดี แม้จะเคยดูหนังเวอร์ชั่นนั้นกันมานักต่อนัก แต่หลายคนอาจไม่เคยรู้จักว่า “ผู้ได๋” หรือ “ไผ” (ใคร) กันหนอ ที่ช่างจ้อภาษาอีสานได้ม่วนซื่นแซบคักถึงปานนั้น ทั้งๆ ที่หนังของชาร์ลี แชปลิน ก็ไม่มีบทพูดอะไรเลย แต่คนเอามาพากย์ กลับพูดพากย์ได้เป็นวรรคเป็นเวร และไหลลื่นครื้นเครง
       
       ...การออกเดินทางตามหาชายผู้เป็นเจ้าของเสียงดังกล่าว ไม่ยากเย็นเช่นที่คิด เพราะบุคคลที่สร้างตำนานระดับนี้ไว้ ถามไถ่ในวงการ ก็ล้วนแต่ขานรับว่ารู้จัก
 
       “เฒ่าคม-นิคม สุนทรพิทักษ์” ผู้มีเอกลักษณ์คือฟันหลอทั้งปากตั้งแต่ยังหนุ่มๆ จนได้รับการขนานนามด้วยฉายาว่า “คมหลอ” มาจนปัจจุบัน
 


        เรื่องราวของเฒ่าคม ถูกพากย์ออกมาเป็นฉากๆ ในยามบ่ายวันหนึ่ง ที่ห้องบันทึกเสียงของละครวิทยุคณะเกศทิพย์ ย่านสะพานควาย ที่ซึ่งท่านผู้เฒ่าใช้สำหรับปักหลักในการพากย์หนังชุดล่าสุดที่จะส่งออกไปฉายทางเคเบิลทีวีที่เวียงจันทน์ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว
       
       เรื่องราวของเฒ่าคม ติดตรึงขึงคู่อยู่กับประวัติศาสตร์สังคมวัฒนธรรมบ้านเราในช่วงเวลากว่าสี่ห้าสิบปีที่ผ่านมา อย่างน้อยที่สุด นอกเหนือจากภาพแห่งวันวาน กลิ่นอายแห่งความหลัง จะหวนคืนมาอีกครั้งสำหรับใครหลายคนที่โตทันยุคดังกล่าว เรื่องราวของเฒ่าคม ยังเป็นเสมือนประจักษ์พยานสำคัญอีกชิ้นหนึ่งซึ่งยืนยันถึงรากเหง้าบางส่วนของเราเอง
       
       **หมายเหตุ : คำว่า “ลาว” ทั้งหมดในบทสัมภาษณ์นี้ ไม่ได้มีนัยแห่งการดูหมิ่นใดๆ ทั้งสิ้น แต่เพื่อให้เป็นที่เข้าใจง่ายถึงปรากฏการณ์อันโด่งดังของหนัง “ชาร์ลี พากย์ลาว” ที่กล่าวอย่างรู้กัน**
 


       ภาค 1
       กำเนิดนักพากย์ ป.3 ครึ่ง
       
       คนบางคนอาจเริ่มต้นบนความฝัน รู้ว่าตนเองชอบทำอะไร ก็มุ่งไปยังทางสายนั้น บางคนอาศัยร่องรอยที่บรรพบุรุษได้ปูไว้ แล้วก้าวไปตามนั้น แต่ก็มีจำนวนไม่น้อยเช่นกันที่เหมือนฟ้าเบื้องบนดลมา โชคชะตาจับพลัดจับผลู แล้วก้าวสู่เส้นทางบางสายอย่างไม่เคยคาดคิดว่าชีวิตจะไปยังจุดนั้น

       เรื่องราวการเดินทางแห่งชีวิตของชายชราวัยกว่าเจ็ดสิบ นามว่า “นิคม สุนทรพิทักษ์” ก็คงจะมาในอีหรอบนั้น เพราะอย่าว่าแต่จะเป็นความมุ่งมั่นฝันใฝ่อะไรเลย แม้แต่คำว่า “นักพากย์หนัง” ก็ดูจะไม่เคยตกถึงหูมาก่อนเสียด้วยซ้ำ
       
       “ผมได้มาพากย์หนัง เพราะผมเป็นคนดื้อ” คำเว้าซื่อๆ จากชายผู้ผ่านโลกมาหกสิบแปดปี และไม่มีความจำเป็นอันใดต้องปิดบังสร้างภาพฉาบเปลือกให้ดูดีเกินความเป็นจริง
       “แต่เดิม ครอบครัวของเราอยู่อำเภอเดชอุดม จังหวัดอุบลราชธานี แต่เพราะหน้าที่การงานของพ่อแม่ซึ่งเป็นผู้พิพากษาอยู่จังหวัดขอนแก่น ท่านจึงย้ายครอบครัวมาอยู่ที่นั่น ตอนนั้นที่ทำงานของพ่อยังเป็นศาลไม้อยู่เลย คือปลูกสร้างที่ทำการด้วยไม้ทั้งหลัง ส่วนบ้านของเราก็อยู่ใกล้ๆ โรงฆ่าสัตว์จังหวัดขอนแก่น เกือบจะถึงเมืองเก่า ผมก็โตมาตรงนั้นแหละ”
       
       ชายชราเล่าย้อนความหลังอย่างรวบรัด ก่อนประหวัดเข้าสู่ช่วงเวลาที่ผละจากการศึกษา เพราะความดื้อเกเร
       “พอเราเข้าเรียน ผมก็เป็นพวกที่ไม่ค่อยตั้งใจเรียนน่ะ พออายุประมาณสิบเก้าปี ก็ออกจากโรงเรียน ไปทำงานอยู่ซิลเวอร์สตาร์ไนท์คลับ ขอนแก่น ของคุณอาคม เชื้อชมกุล ตอนแรกไปเป็นเด็กรับรถ ทีนี้ พอเขาเห็นว่าเรามีความคล่องแคล่วในการทำงาน เขาก็เลยย้ายเรามาเป็นดอร์แมน ฟังดูเท่นะ แต่จริงๆ ก็คือพนักงานเปิดประตูต้อนรับคนมาเที่ยวนั่นแหละ (หัวเราะ) ต่อจากนั้น พอเขาเห็นว่าเรานอบน้อม ต้อนรับดี เขาเลยให้เราไปเป็นบ๋อย พอเป็นบ๋อย ดันคล่องอีก มีเทคนิคในการบริการดี เขาก็เลื่อนให้เราเป็นกัปตัน พอเป็นกัปตันได้สักปีสองปี เขาหมั่นไส้หรือยังไงก็ไม่รู้ เขาก็เลยให้เราไปเป็นหัวหน้าผู้หญิงพาร์ตเนอร์”
       
       เจ้าของฉายา “คมหลอ” หัวร่อคั่นเบาๆ ขณะเล่าอย่างอารมณ์ดี เหมือนที่คนเขาพูดกันว่า การมองวันเวลาที่ผ่านเลย ต่อให้สุขสันต์หรือหมองหม่น เรามักจะมีรอยยิ้มให้มันเสมอๆ
       “คือสมัยนั้น ไนต์คลับมันจะมีการเรียกพาร์ตเนอร์มาเป็นคู่เต้นรำของลูกค้า เบอร์นั้นมานั่งโต๊ะนี้โต๊ะนั้นแล้วไปแจ้งเคาน์เตอร์ ผมก็รับหน้าที่ตรงนั้นได้สักพัก คุณอาคมที่เป็นเจ้าของ เขาไม่ค่อยมีเวลาว่าง เขาก็เลยยกหน้าที่ให้ผมเป็นผู้จัดการไปเลย สั่งการดูแลแทนเขาทั้งหมด อายุตอนนั้นก็ยี่สิบต้นๆ กำลังคึกคะนองเลย”



        นั่นคือช่วงปีราวๆ สองพันห้าร้อยยี่สิบนิดๆ จังหวัดขอนแก่นมีโรงฉายภาพยนตร์ผุดขึ้นหลายแห่ง เช่นเดียวกับนักพากย์หนังทั้งหลายที่เดินกันขวักไขว่ในยุคนั้น และหลังเสร็จการเสร็จงาน คนเหล่านั้นก็มักจะใช้สถานบันเทิงอย่างไนต์คลับเป็นที่ผ่อนคลายความตึงเครียด
       
       “นักพากย์หนังทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็น “ฉลองชัย”, “โกญจนาท”, “ดาราพร-นันทวรรณ” พวกนี้เขาก็มาเที่ยวไนต์คลับ มาดื่มมากินมาเต้นรำ แล้วอัธยาศัยของเรานี่ก็แบบว่าเป็นคนหน้าใหญ่ มีเหล้าที่ลูกค้าเคยให้ไว้ เรากินไม่เป็นก็เก็บไว้ ก็เอาเหล้าเหล่านั้นไปให้นักพากย์ที่เขามานั่งดื่ม”
       และนั่นก็จึงเหมือนเป็นจุดเริ่มต้นดีๆ ของความรู้สึกดีๆ ที่มีต่อกัน ระหว่างผู้จัดการไนต์คลับกับเหล่านักพากย์ ถึงขั้นเอ่ยปากชวน
       
       “เอ๊ย กลางวันไปดูหนังสิ เขาชวนเราไป เราก็พาลูกน้องของเราสองสามคนไปดูหนังฟรี ที่โรงขอนแก่นซีเนม่าบ้าง โรงบันเทิงจิตบ้าง โรงรามาบ้าง ในขอนแก่นนั่นแหละ ก็แล้วแต่ว่านักพากย์คนไหนจะพากย์อยู่โรงไหน เขาเรียกว่าสาย สายใครสายมัน แล้วเราก็ไปดู แต่เรานี่ก็แบบทะลึ่ง ไม่นั่งดูในห้องคนดูเหมือนผู้ชมคนอื่นๆ เราไปนั่งดูในห้องคนพากย์หนังเลย เห็นเขาพากย์อย่างงั้นอย่างงี้ พูดเสียงนั้นเสียงนี้ พอกลับบ้านมา เราก็พูดเล่นของเราไป ไปทำงานที่ไนต์คลับ ก็พูดเสียงเหมือนในหนังเล่นๆ บ้าง “เอาอะไรบ้างครับ” (เก๊กเสียงเหมือนกำลังพากย์หนัง) “อ้า เอาผู้หญิงมาเต้นรำหน่อย” “ดื่มอะไรดีครับ” อย่างนี้ เราก็พูดเล่นมาเรื่อยๆ จนเข้าเนื้อ”
       
       จากความสนุกสนานที่คล้ายวิญญาณนักพากย์จะเข้าสิงอย่างไม่รู้ตัว เล่นให้คนอื่นได้ยิ้มหัวไปตามกัน จนกระทั่งวันหนึ่ง...
       “มีนักพากย์คนหนึ่ง ชื่อ “ชัยฉลอง” แกบอกว่า “เอ๊ย คม มาหัดพากย์หนังสิ” ผมก็ตอบแกไปว่า “โฮ้ ผมพากย์ไม่เป็นหรอกพี่” แต่ขนาดนั้น แกก็ยังยืนยันอีกว่า “เป็นสิ” เราก็ไม่ได้ใส่ใจ แล้วก็ผ่านเลยไป และก็มีคนต่อมา “ดาราพร” มาพูดกับเราอีก “เอ๊ย คม มาพากย์หนังสิ” อย่างงั้นอย่างงี้ เราก็ยังไม่ตกลงอีก”
       
       หลีกอะไร ก็คงหลีกได้ แต่จะหลีกเลี่ยงเบี่ยงบ่ายลิขิตแห่งฟ้า นั้นหาได้ไม่ สุดท้าย ความไม่มั่นใจของชายหนุ่มรุ่นกระทง ก็ถูกเคาะอีกครั้งด้วยคำเชิญชวนของนักพากย์ชื่อดังนามว่า “โกญจนาท”
       “คนคนนี้เป็นนักพากย์ชื่อดังมากในภาคอีสาน เขาบอก “พากย์สิวะ” เราก็เลย “เอ้า ลองดูก็ได้” และพอดี เจ้าของไนต์คลับที่ผมทำงานอยู่ เป็นพี่เขยของคุณป่า-จำรัส เสียงไพรพรรณ เจ้าของบริการหนังกลางแปลงแห่งเมืองขอนแก่น ชื่อ “มิตรผดุงภาพยนตร์” เราก็เลยลาออกจากไนต์คลับไปอยู่ที่นั่น”
       
       อย่างไม่รู้สึกเสียดายในตำแหน่งการงาน ซึ่งจะว่ากันจริงๆ ณ ตอนนั้น ด้วยสถานะผู้จัดการไนต์คลับก็พอที่จะทำเงินได้เป็นกอบเป็นกำและสร้างเนื้อสร้างตัวได้ แต่เมื่อเส้นทางข้างหน้ากวักมือเรียก เด็กหนุ่มผู้อยู่ในวัยแสวงหา ก็อ่อนใจให้แก่เสียงเรียกนั้น
       “มันเป็นเพราะความคึกคะนองของเราด้วยล่ะ ชอบแสวงหาในสิ่งแปลกๆ อีกอย่างหนึ่ง เราไม่ได้เรียนหนังสือ ไม่ค่อยมีความคิดอะไร มีแต่ว่ามีงานมีเงิน เท่านั้นแหละ ใช้ได้แล้ว”



        งานแรกเริ่มต้นด้วยการเป็นคนขับรถฉายหนัง ตระเวนฉายตามชนบทบ้านนอก เรื่องการพากย์นั้นยังดูเหมือนเป็นสิ่งที่เอื้อมไม่ถึง แต่เชื่อเถิดว่า คนมันจะเกิด ต่อให้ฟ้าไม่เปิด มันก็จะเกิดจนได้ล่ะน่า

       “...วันหนึ่ง คนพากย์หนังที่ชื่อ “ช่าง ชิดน้อย” เขาถามเราว่า เอ้า เคยได้ยินว่าไปทำสุ้มทำเสียงเล่นไม่ใช่เหรอ เราบอก ใช่ เขาก็กระตุ้น เอ้า พากย์หนังสิ เราก็ยังบอก โอ๊ย ไม่ไหวหรอก ก็ผ่านไป แต่แล้วบังเอิ๊ญ...มีอยู่วันหนึ่ง คนพากย์หนังที่ชื่อ “เอกภพ สุนทรทิพย์” เขาไม่ไป คือเขาให้เราขับรถไปที่บ้านทุ่ม (ขอนแก่น) เราก็ไปขึ้นจอไว้รอเลย แต่ทุ่มสองทุ่มเขาก็ยังไม่มา เด็กฉายหนังก็ถามเราว่า เอาไงดีพี่ ถ้าไม่เริ่มฉาย เขาพังจอแน่ (หัวเราะ) เราก็...เอาไงดีวะ
       เหมือนผีถึงป่าช้า ยังไงก็ต้องเผา ตกลงเป็นไงก็เป็นกัน วันนั้น เด็กหนุ่มผู้เคยแต่ทำสุ้มเสียงเลียนแบบนักพากย์ ก็ต้องขึ้นพากย์อย่างไม่ทันตั้งตัวเตรียมใจ
       
       “เอ๊ะ หนังเรื่องนี้ก็ได้ดูเขาพากย์มาหลายครั้งแล้วนี่นา” ลุงนิคมเล่าถึงคืนอันแสนระทึกคืนนั้น เหงื่อกาฬของคนหนุ่มซึมซ่านผ่านผิวกายในความตื่นเต้น แต่ก็พยายามสงบระงับเท่าที่จะเป็นได้

       “เราก็พากย์เลย ชื่อเรื่อง “เทพบุตรปืนทอง” มิตร ชัยบัญชา เป็นพระเอก แล้วไม่ใช่แค่พากย์เรื่องเดียว แต่ยังมีอีกเรื่องคือ “พันดง” ทีนี้ เรื่องของเรื่องก็คือว่า...” ลุงนิคมเว้นวรรคเล็กน้อยและยิ้มบางๆ ราวกับระลึกได้อะไรบางอย่างในภาพอันเลือนรางของความทรงจำจากวันวาน
       “หนังจบแล้ว แต่เราไม่จบ คือหนังจบไปแล้ว แต่เรายังอ่านบทไม่จบ (หัวเราะ) แต่คนเขาก็ไม่โห่ไม่อะไร แต่มีหัวเราะ”
       
       ประสบการณ์คืนนั้น หลังเสร็จสิ้นงาน กลับบ้านมานอนคิด... “เอ๊ ทำไม คนอื่นเขาทำได้ แต่เราทำไม่ได้ ทำไมเขาถึงพากย์ได้ เราก็คนนี่นา ทำไมเราทำไม่ได้ วันที่สองเราก็รับปากกับเถ้าแก่เลยว่า มา ผมจะไปพากย์ที่เขาสวนกวางเอง” ก็เอาหน่วยงานไปฉายที่เขาสวนกวาง พากย์เรื่อง “คฤหาสน์รัก” มิตร ชัยบัญชา เล่น เป็นหนังผี ตลกเฮฮา คนดูฮาขี้แตกขี้แตนเลย เจ้าภาพที่เขาสวนกวาง ก็ตามมาที่บริษัท มาหางานต่อ แล้วบอกว่าต้องเอาคนนี้พากย์เท่านั้นนะ ไม่ได้ไม่เอา มันก็เลยกลายเป็นว่าทำให้เรากระเตื้องขึ้นเรื่อยๆ แต่ว่าความสามารถของเราก็ไม่เชิงว่าเก่งหรอก ถือว่าเป็นพรสวรรค์ และเป็นเพราะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ท่านผลักดันให้เรามาใช้ชีวิตแบบนี้”

       เล่าถึงตรงนี้ ชายชราหยุดพักเรื่องเล่าไว้ครู่หนึ่ง เหมือนใช้เวลาคิดคำนึงถึงวันเก่าก่อน และอย่างไม่รีบร้อน ลุงนิคมค่อยๆ ขับต้อนเรื่องราวเหล่านั้นให้ย้อนทวนหวนมาอีกคราครั้ง...
       
       หลังแจ้งเกิดจากตรงนั้นแล้ว ชีวิตการเป็นนักพากย์ไปยังไงต่อครับ
       
       ผมก็พากย์หนังเร่อยู่อย่างนั้นประมาณสามปี เขามาจ้างเราก็ไป หรือไม่ก็เร่ไปฉายเอง ตามงานวัดงานวา ถัดจากนั้น คุณณรงค์ทิพย์-เพียงพิศ เขาพากย์หนังอินเดียอยู่ เขาก็มาถามเราว่า “คม ไปเข้าสายไหม” เราก็สงสัยว่า เอ๊ สายคืออะไร เขาก็เล่าให้เราฟังว่ามันเป็นอย่างนี้ๆ สายหนังที่อีสานมันจะมีสายเจ้าพระยา มีสายสหอีสาน มีสายเฉลิมวัฒนา ส่วนสายใหม่ก็คือสายไกรลาศ เราก็ว่า ไปก็ไป งานแรกเขาก็ให้เราขึ้นไปพากย์หนังจีนชีวิต เรื่อง “ฉันรักซาซา” ผมจำชื่อต้นฉบับไม่ได้ เพราะไม่ได้ใส่ใจอะไร แม้แต่ชื่อดารายังจำไม่ได้เลย แต่ในวงการนักพากย์สมัยนั้นจะพูดกันว่าเป็น “หนังตกรถ” คือฉายโรงไหนไม่ค่อยได้ตังค์หรอก ค่าพากย์ก็แทบจะไม่ได้ (หัวเราะ) ก็ตกรถอยู่เรื่อย



        หลังจากเรื่องนั้น เขาก็ให้เราไปพากย์หนังอินเดีย พากย์คนเดียว ก็มีฟีดแบ็กกลับมาจากเจ้าของโรงหนังบันเทิงจิตซึ่งเป็นเจ้าของสายไกรลาศ เขาโทร.มาบอกว่าให้ “สุนทรชัย” (ฉายาตอนนั้น) พากย์หนังอินเดียอีกนะ เพราะคนชอบ แล้วเขาก็ส่งเราไปพากย์ที่อุดร ที่อุบล เราก็เริ่มเกิดมีชื่อเสียงขึ้นมาเรื่อยๆ ในการพากย์หนังอินเดีย พากย์คนเดียว หลังจากนั้นอีกไม่นาน บุ๊กเกอร์ (คนจัดคิวนักพากย์) ซึ่งคือคุณเฉลียว เขาย้ายไปอยู่ที่อื่น คุณอิ๊ว เจริญพรรณ ซึ่งเป็นนักพากย์เก่าก็ขึ้นมาเป็นบุ๊กเกอร์แทน เขาก็ให้เราไปพากย์หนังฝรั่งเรื่อง “อัศวินมอเตอร์ไซค์” (ชื่อหนังต้นฉบับ คือ Viva Knievel อีวัล คะนีวัล แสดงเป็นตัวเอง เขาคือนักขี่มอเตอร์ไซค์ผาดโผนระดับตำนาน ซึ่งสร้างประวัติศาสตร์โลกด้วยการขี่ข้ามภูเขาแกรนด์แคนยอนเป็นคนแรก)
       
       ตอนนั้นเรามีความคิดยังไงก็ไม่รู้ รู้แต่ว่าอยากดัดแปลง เราก็โทร.ไปบอกเขาว่า “คุณ เตรียมมอเตอร์ไซค์ไว้คันหนึ่ง ใหม่ๆ เอี่ยมๆ เลย ผูกผ้าเหมือนรถแห่” คือสมัยก่อน รถแห่โฆษณาหนังตามต่างจังหวัดต้องมีสี่ห้าคัน เจ็ดคัน อย่างโกญจนาทที่ดังๆ นี่ ก็มีถึงสิบสองคัน แต่ของเรามีสี่คัน ก็ถือว่าหรูแล้ว ชื่อหนังคันหนึ่ง ชื่อนักพากย์คันหนึ่ง ชื่อดาราคันหนึ่ง แล้วก็ชื่อโรงหนังคันหนึ่ง ก็แห่ไปตามถนนเพื่อให้คนรู้ว่าหนังเรื่องนี้ฉายที่นั่นวันนั้นๆ เราก็ไปให้พวกขี่มอเตอร์ไซค์ซิ่งขับไปโฆษณา ก็ฮือฮากันมาก ขี่มอเตอร์ไซค์แห่หนัง ผมจำได้ว่า หนังเรื่องนี้ บริษัทไกรลาศเขาซื้อลิขสิทธิ์มาไม่เท่าไหร่ แต่เขาทำกำไรได้ถึงสิบห้าเท่าตัว เถ้าแก่เขาเลยเรียกผมไปกินหัวปลา (หัวเราะ)
       
       นอกจากได้กินหัวปลา ฟังมาว่าค่าตัวในการพากย์ก็เพิ่มขึ้นด้วย
       
       เมื่อก่อนนั้นกินค่าพากย์ร้อยยี่สิบห้า ตอนหลังมาได้สามร้อยห้าสิบต่อวัน พากย์ทั้งวัน บางวันก็มีรอบเที่ยง รอบบ่าย รอบค่ำ ถ้าเป็นเสาร์อาทิตย์ ก็มีรอบเช้า รอบบ่าย รอบเที่ยง รอบดึก ห้ารอบต่อวัน เหมาไปเลย พากย์สดทุกรอบ
       
       พากย์สดทุกรอบ นี่เหมือนกันทุกรอบไหม
       
       ไม่เหมือนหรอก (หัวเราะ) เพราะว่าบางครั้ง เราแบบคล่องหนังไง สคริปต์ก็ยึดไว้เป็นโครง แต่สุดท้ายแล้ว ก็สุดแท้แต่เราจะพูดยังไง คนดูไม่มีสิทธิ์เถียง (ยิ้ม) รอด่าเราแค่นั้นเอง (หัวเราะ) คือพากย์ดีก็หัวเราะ พากย์ไม่ดีก็ด่าเรา ก็มีแค่นั้น
       
       เรื่องค่าตัวในการพากย์ ได้เท่าไหร่นะครับ
       
       ตอนเริ่มพากย์ใหม่ๆ ได้ค่าแรงร้อยยี่สิบห้าบาทต่อวัน ปีกว่าๆ ได้สามร้อยห้าสิบ พอไปพากย์หนังเรื่องอัศวินมอเตอร์ไซค์ ก็ขยับขึ้นมาเป็นสี่ร้อยเจ็ดสิบห้า เถ้าแก่ขึ้นให้ แต่เราก็ไม่ได้บอกให้ใครรู้หรอกว่าเราได้อะไรเท่าไหร่ แต่ก็มีรถเก๋งขี่เป็นคนแรกในบรรดานักพากย์เล็กๆ อย่างเรา ถือว่าโก้พอได้ (ยิ้ม) แต่ก็อย่างว่า นิสัยเราจะแบบรักเพื่อนฝูงน่ะ บางที ออกจากขอนแก่น จะไปหนองคาย เพื่อนจะไปลงตรงนั้นตรงนี้ก็ไปด้วยกัน เอาหนังใส่ไปด้วยจนแทบไม่มีที่ใส่ เพราะรถมันเล็ก แอ่นไปเลย แต่เราก็ไม่ได้เรียกร้องอะไร ค่ารถค่ารา น้ำมงน้ำมันก็ไม่ต้องมาเติม เผลอๆ เลี้ยงข้าวเพื่อนด้วย ทุกวันนี้ สำหรับคนที่ยังมีชีวิตอยู่ก็ยังคบกันเป็นเพื่อนเป็นฝูง ไปเยี่ยมยามถามข่าวกัน ตามประสา บางคนเลิกพากย์หนังไปแล้ว ตายไปแล้วก็หลายคน
       
       หลังจากเรื่อง “อัศวินมอเตอร์ไซค์” แล้วยังไงต่อครับ
       
       ก็พากย์มาเรื่อย เถ้าแก่ก็ส่งหนังอินเดียให้พากย์ประจำ ทางอีสานก็มีนักพากย์หนังอินเดียอีกคนชื่อ “เบญจชัย” พากย์คนเดียว คนนั้นพากย์ไทยแต่สำเนียงออกมาเป็นคนอินเดียเลย เหมือนมากๆ แล้วอีกคนอยู่สายไกรลาศ คือ เบญจวรรณ นี่ก็มาพากย์อินเดียเดี่ยว แข่งกับผม เพราะอยู่บริษัทเดียวกัน แต่ก็ไม่ได้แข่งอะไรกันหรอก แข่งกันที่ผลงาน หนังเขาก็ส่งให้เองว่าใครจะได้เรื่องอะไร ก็พากย์หนังอินเดียมาเรื่อยๆ กระทั่งช่วงหลังๆ เขาเริ่มมีการบันทึกเสียงหรืออัดเทป หนังเรื่องนี้รับมา เราพากย์เสียงอัดใส่ ก็เอาเทปนั้นไปเปิดตามโรงหนังต่างๆ บางทีเดือนหนึ่ง เราได้พากย์สามเรื่อง อัดเทปสามเรื่อง ก็ได้หมื่นกว่าบาทต่อเดือน สมัยนั้นก็ไม่ใช่น้อยนะเงินเท่านั้น ทองก็บาทละสี่ห้าร้อยบาทเอง มันก็อยู่ได้ ก็ได้เล่นไพ่น่ะ (หัวเราะ)



        ประสบการณ์ในช่วงนั้น เป็นอย่างไรบ้าง เพราะถือว่าก็ค่อนข้างจะโด่งดังมีชื่อเสียงแล้ว
       
       มันก็ธรรมดานะ สมัยนั้นทีวีก็ยังไม่ดังเหมือนทุกวันนี้ ดีวีดีก็ยังไม่มี มีแต่วิดีโอ แล้วราคาวิดีโอม้วนหนึ่งก็สี่ห้าร้อย แต่คนไปดูหนังนี่ เสียสิบห้ายี่สิบบาท อย่างมากสุดก็สามสิบบาท มีชั้นหนึ่ง ชั้นสอง ชั้นสาม ชั้นหนึ่งนี่อยู่บนสุด ติดห้องพากย์ ชั้นสองข้างล่าง ชั้นสามติดหน้าจอ แต่ละโรง อัตราค่าชมไม่เหมือนกัน แต่ไม่เกินราคานี้ คนก็เลยสนใจไปดูหนังโรงกัน เราก็คล้ายๆ ว่ามีจุดเด่นจากคำว่านักพากย์ เด็กนักศึกษาหรือสาวๆ ตามต่างจังหวัด เขาเจอเราเขาก็สนใจ (ยิ้ม) ใครได้เดินคู่กับนักพากย์ก็จะแบบว่า “ข้านะ แฟนนักพากย์” อะไรอย่างนั้น (หัวเราะ) ก็เหมือนกับเวลาที่ดาราเขาไปปรากฏตัวแล้วมีคนมารุมล้อม แต่นักพากย์ก็ไม่ได้มีคนไปรุมล้อมขนาดนั้นหรอก มีคนสองคนเท่านั้นแหละที่รู้จัก (ยิ้ม) แต่ทั้งหมดก็คือวัตถุดิบที่ผ่านเข้ามาในชีวิต คบกันเป็นเพื่อนฝูงบ้าง กินข้าวกินปลาเฮฮา หัวเราะกันไปตามเรื่อง ก็แค่นั้น ไม่มีอะไร
       
       ตอนนั้น บอกตัวเองได้หรือยังว่าหลงรักการพากย์หนัง
       
       พูดตรงๆ มันก็ไม่ได้ถึงขั้นว่าหลงใหลอะไรนะ แต่เป็นเพราะไม่มีความรู้ แล้วการพากย์หนังมันก็ทำให้เรามีเงินใช้ ผมเรียนจบแค่ ป.3 ครึ่ง ป.4 ผมยังไม่ได้สอบเลย จะให้ไปทำอะไรอย่างอื่นก็คงไม่ได้ จะไปเป็นข้าราชการ เป็นเสมียน วุฒิเราไม่มี เขาเอาวุฒิแค่ ม.1 เรายังไม่มีปัญญาให้เขาเลย ก็เลยยึดอาชีพการพากย์หนังมาตลอด
 
       
_______________________________


สรพงษ์ ลิ้มทองคำ
5 หมู่ 7 ต.คลองตาคต อ.โพธาราม ราชบุรี 70120    E-Mail soraphol@hotmail.com
ธ.กรุงเทพ ออมทรัพย์ สาขา อาคารยาคูลท์ สนามเป้า   หมายเลขบัญชี  210-036236-3
ธ.ไทยพาณิชย์  ออมทรัพย์ สาขา บางเขน   หมายเลขบัญชี  041-273435-0
ติดต่อ 0909040355

ชมรมรักหนังกางแปลง โพธาราม ราชบุรี เรามาคุยกันได

ออฟไลน์ นายเค

  • Thaicine Movie Team
  • Moderator
  • พี่น้อง thaicine Gold member
  • ***
  • กระทู้: 3814
  • พลังใจที่มี 616
  • เพศ: ชาย
       ภาค 2
       กำเนิด “ชาร์ลี พากย์ลาว”
       
       จำเนียรกาลผ่านไป...หลังจากแยกทางกับภรรยาคนแรก...ลีโอ ตอลสตอย นักเขียนชาวรัสเซีย ได้เขียนประโยคแรกของนวนิยายอันลือลั่นเรื่อง “อันนา คาเรนินา” ไว้ว่า “ครอบครัวที่มีความสุข ก็มีความสุขเหมือนๆ กัน แต่ครอบครัวที่มีความทุกข์ จะมีทุกข์แตกต่างกันไป”...ด้วยเหตุนี้ ลุงนิคมจึงขอละไว้ในฐานที่เข้าใจถึงเหตุปัจจัยแห่งการแยกทาง

       แต่การสิ้นสุดปลายทางหนึ่ง ก็มักจะมีจุดเริ่มต้นใหม่ให้ออกสตาร์ท ชีวิตที่ผาดโผนโจนทะยานอยู่ในแผ่นดินถิ่นอีสาน พลันบ่ายหน้าสู่เมืองหลวง นับแต่วันนั้น...

       “ผมเดินทางเข้ากรุงเทพฯ พากย์หนังกลางแปลงอยู่หลังศาลาเฉลิมกรุง และทำให้ได้พบกับคุณชูชาติ อินทร ซึ่งเป็นคนพากย์เสียงพระเอกอยู่ทีมอินทรี เขาก็ชวนไปพากย์ด้วยกัน ผมก็ไป”
       
       ขณะที่ชีวิตการทำงานได้รับการเปิดรับจากโอกาส ชีวิตด้านความรักก็ทอถักขึ้นมาอีกครั้ง กับคุณครูสาวท่านหนึ่ง และอยู่กินกันกระทั่งมีลูกสามคน ประสบการณ์แบบเก่าก็ย้อนกลับมาอีกหน ปัญหาครอบครัวรุมเร้า นำสู่การเลิกรา..
       “แต่มีอยู่เรื่องหนึ่งซึ่งผมอยากจะเรียนทุกท่านให้ได้ทราบก็คือว่า...” ชายชราเว้นวรรคน้อยหนึ่ง เป็นการดึงความสนใจอยู่ในที
       “...ตรงนี้แหละที่เป็นต้นกำเนิดของชาร์ลี แชปลิน พากย์ลาว หรือพากย์ภาษาอีสาน” นัยน์ตาของชายชราดูเหมือนจะมีประกายขึ้นมา คล้ายคนที่นึกได้ถึงประสบการณ์บางอย่างที่งดงามในความทรงจำ

       
       “ก่อนจะเลิกกับภรรยาคนที่สอง ลูกของผมสามคนก็โตพอสมควรแล้วล่ะครับ ทีนี้เขาชอบดูหนัง เราก็เอาหนังชาร์ลี แชปลิน ที่เป็นม้วนวิดีโอมาเปิดให้ลูกดู แต่เพราะหนังมันไม่มีเสียงพูดอะไร เราก็เลยพากย์ไปด้วย พูดเล่นพูดหัวเป็นภาษาอีสานนี่แหละ เพราะผมเป็นคนอีสาน ผมไม่ได้อายใคร ผมก็พากย์อยู่ในบ้าน แล้วแถวบ้านที่บางขุนเทียนตอนนั้น มันมีโรงงานเยอะ เด็กอีสานก็มาก พอได้ยินเสียงเราพูดใส่ไมค์ ออกลำโพงเล็กๆ เขาก็พากันมามุงดูตามประตูหน้าต่าง หัวเราะเฮฮากัน เราก็ เอ๊ะ ลูกเราเด็กกรุงเทพแท้ๆ ยังหัวเราะ เด็กพวกนั้นยังหัวเราะ เอ้อ มันก็น่าจะเป็นภาษาที่ชวนขำ
       
       “ผมก็เลยไปซื้อวิดีโอหนังชาร์ลี แชปลิน เรื่อง “ละครสัตว์” (The Circus) "ซิตี้ ไลท์" (City Lights) และ "เดอะ โกลด์ รัช" (The Gold Rush) มา แล้วก็ขอร้องให้โกญจนาท นักพากย์ชื่อดังสายอีสาน พากย์หนังเรื่อง “สารวัตรปืนโหด” พากย์เป็นภาษาภาคกลาง แต่เราพากย์ชาร์ลี แชปลิน เป็นภาษาอีสาน ชาร์ลี แชปลิน ไม่ได้ซื้อลิขสิทธิ์มานะ สมัยนั้น วิดีโอยังไม่มีลิขสิทธิ์ เราก็ไปซื้อมาจากร้านขายทั่วไปนั่นแหละ ได้มาเราก็พากย์ๆๆ แล้วหนังชาร์ลี แชปลิน บางเรื่องนี่ เขาไม่ค่อยอ้าปาก ไม่ค่อยพูด ฉะนั้น สคริปต์อย่าได้ถามถึง ไม่มีหรอก
       
       “แต่เทคนิคของเราก็คือ เราเปิดดูก่อนรอบหนึ่ง แล้วพอถึงตอนจะพากย์ ก็พากย์ตามภาพ ภาพมันไปยังไง เราก็ว่าไปยังงั้น ตัวละครเดินไปข้างหน้า คุณจะบอกว่าเดินกลับหลังก็ไม่ได้ (หัวเราะ)
       “พอพากย์เสร็จ ก็เอาไปขายที่สายอีสาน ทั้งหมดสี่เรื่อง ชาร์ลีสามเรื่อง สารวัตรปืนโหดอีกเรื่อง ปรากฏว่า ทั่วทั้งภาคอีสาน ขายได้ 28 ม้วน (ยิ้ม) ก็กลับมาด้วยความชอกช้ำ ไม่พอค่าเหล้าเพื่อน (พูดกลั้วหัวเราะ)

       
       “จริงๆ ทำไปก็ไม่กี่ตังค์หรอก หนังก็ซื้อมาสามสี่ร้อยบาท ค่าน้ำมันรถนี่แพงกว่าด้วยซ้ำ เอารถไปตระเวนขายตามต่างจังหวัด ที่ไหนมีร้านวิดีโอ เราเอาไปเสนอขาย ขายตรงเลย เขาก็ไม่กล้าซื้อ เพราะ...“อะไรวะ พากย์ลาว” (ยิ้ม) จากนั้นก็กลับมาบ้าน ไม่มีคนเข้าใจ อย่างแฟนผมเขาก็บอกว่า โอ๊ย เธออย่าไปบ้าเลย จะไปทำอะไรแบบนั้น พากย์แบบเดิมอยู่กรุงเทพฯ ก็ดีแล้ว พากย์กลางแปลงบ้าง หนังในแล็บบ้างอะไรบ้าง เอาเหอะ ได้เท่าไหร่ก็เท่านั้น เราก็หยุดเลย ไม่ทำต่อ”
       
       ขณะที่ความฝันดูเหมือนจะฝ่อ สิ่งที่น่าจะเป็น กลับไม่เป็นเช่นที่คิด หวนสู่ชีวิตปกติ ไม่เจ็บตัวมาก แต่ก็ไม่อยากจะก้าวต่อ
       แต่ก็อย่างว่า ต่อให้ฟ้าไม่เปิด คนมันจะเกิด ยังไงก็ต้องเกิด...




        เท่าๆ ที่ฟังมา ดูเหมือนว่าชาร์ลี พากย์ลาว จะไม่มีโอกาสดังเลย เพราะขายก็ได้แค่ 28 ม้วนในตอนนั้น แล้วมันดังขึ้นมาได้อย่างไรครับ
       
       คือจากนั้นให้หลัง ราวๆ หนึ่งเดือน มีโทรศัพท์จากร้านแห่งหนึ่งในจังหวัดร้อยเอ็ดซึ่งซื้องานเราไว้ เขาว่า “พี่คม พี่คม หนังชาร์ลี แชปลิน ของพี่ ทำไมไม่ออกอีก มันหมดแล้วเหรอ” เราก็ “ฮ้า ฉันทำไปสามเรื่อง ฉันยังเจ๊งเลย แล้วจะทำอีกทำไม” เขาก็บอกว่า “เอางี้พี่คม พี่พากย์ แล้วผมออกทุนให้พี่ พี่ทำมา ผมซื้อพี่ แล้วก็ขาย พี่ขายได้เท่าไหร่ พอที่จะคืนผมได้เท่าไหร่ ก็คืน ไม่พอก็ไม่เป็นไร ผมเอาหนังของพี่ฟรี ผมอัดเรื่องเก่าๆ ของพี่จนเครื่องผมพังหมดแล้วนี่”
       
       สมัยนั้น อัดวิดีโอแต่ละครั้ง มันออกร้อยแผ่นน่ะ มาสเตอร์ก็พัง ขายไม่ทัน แล้วหลังจากนั้น ก็เกิดกระแสฮือฮาในหลายๆ จังหวัด คนดูเกิดชอบ ก็มาถามซื้อ สั่งกันไปดู แม้กระทั่งทางภาคใต้ พวกคนอีสานไปทำงานตังเก ออกเรือทีสามเดือนสี่เดือน มีทีวี มีวิดีโอ แต่ไม่ค่อยมีหนังที่ดูแล้วได้หัวเราะแบบนี้ พอเจอก็ซื้อ ก็อัดขายกันจนมาสเตอร์พังอีกแหละ (หัวเราะ) ก็โทร.มาถามว่ามาสเตอร์มีไหมครับ ขายให้ผมเถอะ ผมขายมาสเตอร์สามเรื่อง รู้สึกจะขายไปห้าพัน ห้าพันก็เยอะแล้วตอนนั้น ทีนี้ พอทางร้อยเอ็ดเขาจะให้ทุนทำ เราก็ไปกว้านซื้อวิดีโอชาร์ลี แชปลิน มาได้ประมาณห้าสิบม้วน ก็เริ่มทำ
       
       แต่แล้ว รุ่งเช้าของวันแรกที่ทำเลย หนังสือพิมพ์ลงข่าวว่า “วิดีโอไม่มีแสตมป์ ไม่มีสติกเกอร์ข้างกล่อง ห้ามวางขาย ถูกจับ เพราะไม่มีลิขสิทธิ์” ดวงเฮงมาก (หัวเราะ) ก็เลยโทร.ไปบอกทางโน้นว่าคงทำไม่ได้แล้ว ก็เลยหยุด เพราะมีกฎหมายวิดีโอเกิดขึ้น
       
       จากจุดนั้น ก็ยังถือว่า ชาร์ลี แชปลิน พากย์ลาว ยังไม่ได้เกิดเต็มตัว
       
       ใช่ กระทั่งหลังจากนั้นมาอีกประมาณ 3-4 เดือน เฮียเอี่ยม เจ้าของเอสทีวิดีโอ เขาโทร.มา ผมยังอยู่อินทรีอยู่ตอนนั้น เขาก็โทร.คุยกับชูชาติ อินทร ว่า เอ๊ย รู้จักคนพากย์ลาวชาร์ลี แชปลิน ไหม พี่ชาติเขาก็รู้ว่าเราเป็นคนทำแล้วเจ๊ง (หัวเราะ) เขาก็มาบอกกับเราต่อ เอ๊ย มีงานมาให้ทำ ก็มีมาห้าเรื่อง
       
       เรื่องแรกก็พากย์กับม็อก (นักพากย์เสียงนางเอกของทีมอินทรีเก่าและเสียงนางเอกเก่าช่องสาม) พอเรื่องสองเรื่องสามเป็นต้นไป ม็อกไม่ได้พากย์ ผมพากย์คนเดียว เรียบร้อยก็ส่งไปให้เขา แล้วรู้สึกว่าปีนั้นจะเป็นปีฟุตบอลโลกด้วย ในวันแข่งตัดเชือก เขาไปได้เวลาทีวีมาอย่างไรไม่รู้ ก่อนฟุตบอลโลกจะเตะตัดเชือกครึ่งชั่วโมง เขาให้ผมไปออกทีวี โดยมีคุณตั้ว-ศรัณยู วงษ์กระจ่าง เป็นคนสัมภาษณ์ออกทีวี คุยกันไปคุยกันมา สลับกับการพากย์หนังชาร์ลี แชปลิน ไปด้วย คนที่นั่งรอดูฟุตบอล ก็เลยไม่ได้ดูโฆษณา ดูแต่ชาร์ลี แชปลิน
       
       แล้วรายการสัมภาษณ์นี้ ก็ไม่ใช่สัมภาษณ์สดนะ เราอัดรายการไว้ล่วงหน้าหลายวัน ช่วงเวลาของวันที่ออกอากาศ ผมก็กำลังนั่งกินข้าวต้มอยู่พัทยา ก็นั่งดูอยู่ แต่ไม่มีใครรู้นะว่าเราเป็นคนพากย์ บางคนก็พูดออกมาว่า “ไอ้เฮี้ยยย... หนังอะไรวะ ขำชิบหายเลย แม่งพากย์ดีเว้ย” คือมีแต่ด่าเราอย่างเดียวเลย (หัวเราะ) เอ้อ พากย์ดีก็ด่า
       
       ผ่านไปอีกเดือนสองเดือน เขาก็โทร.มาอีก เราก็นึกว่าจะให้พากย์หนังอีก เปล่าหรอก พาไปกินข้าวแล้วให้รางวัล เขาถามเราว่า รู้หรือเปล่าว่าหนังขายได้เท่าไหร่ เราบอกไม่รู้ เขาบอก เยอะนะ แต่ไม่เปิดเผยยอดที่แท้จริง เพราะอุบไว้ แต่ว่าเยอะ




        นอกจากพากย์ชาร์ลี แชปลิน แล้ว เห็นว่าลุงยังได้พากย์หนังเรื่องอื่นๆ อีก ในเวอร์ชั่นอีสาน
       
       ต้องเล่าก่อนว่า หลังจากนั้นอีกประมาณปีกว่าๆ เฮียยี่หงา เจ้าของบริษัทจีเอ็มวิดีโอ โทร.มาเรียกให้ไปพากย์ชาร์ลี แชปลิน อีกเกือบสี่ห้าสิบตอน เสร็จแล้วเขาก็บอกว่ามีหนังที่อยากให้พากย์ลาวอีกหน่อย คือเรื่องมิสเตอร์บีน เราก็พากย์ให้เขา จากนั้นเขาก็ถามอีกว่าพากย์การ์ตูนได้มั้ย เราก็บอกว่าได้ ก็เลยไปพากย์เรื่อง “ทอม แอนด์ เจอร์รี่” ประมาณสี่ห้าสิบตอนนี่แหละ ตรงนี้ก็เลยกลายเป็นลายเซ็นของเราไปโดยปริยาย แต่จริงๆ คนนิยมเราในการพากย์ภาษาอีสานน่าจะเริ่มมาตั้งแต่ยุคเฮียเอี่ยม เพราะเวลานั่งรถหรือแม้กระทั่งนั่งเครื่องบิน เราก็เห็นเขาเปิดชาร์ลี แชปลิน ให้ผู้โดยสารดู คนก็หัวเราะกันทั้งขบวน แต่เขาไม่รู้หรอกว่าเราเป็นคนพากย์ บางคนก็ว่า “ไอ้ฮ้าาา...นี่พากย์ดี ต้องไปหาซื้อมาดู” ก็เลยรู้สึกว่ามันค่อนข้างดัง ฮิตมาก แต่เราก็ไม่ได้ว่าตัวเองยิ่งใหญ่อย่างงั้นอย่างงี้นะ ไม่ได้เดินแบบแอ็กอาร์ตอะไร เราก็เฉยๆ
       
       ความดังของหนังชาร์ลี พากย์ลาว ถึงกับมีคนพยายามเลียนแบบก็มี
       
       คือการพากย์ชาร์ลี แชปลิน มันไม่มีสคริปต์ เราจะพูดอะไรก็พูดไป ไม่มีบท แต่มีคนอื่นเอาการพากย์ของเราไปแกะคำพูดแล้วพากย์ตาม แต่ทำออกมาแล้วมันก็ไม่ได้ใกล้เคียง เพราะต่างสำเนียง ต่างฟีลลิ่งลีลา ผมก็ไม่ได้ว่าอะไรนะ มีบางคนไปออกทีวี คนคนนั้นเคยขอคำแนะนำจากเราไป อย่าว่าเป็นลูกศิษย์เลย ขอคำแนะนำจากเราไป เขาก็ยังไปบอกว่าเขาพากย์ชาร์ลี แชปลิน เป็นคนแรกในประเทศไทย ทั้งที่เขาไม่เคยพากย์ให้บริษัทไหนเลย แต่เขาก็ยังกล้าพูดคำนี้ เราก็ไม่เคยไปต่อว่าต่อขานเขานะ ก็เฉยๆ ไป เป็นเรื่องของเขา แต่คนฟังฟังแล้วก็คงรู้เอง เราไม่ต้องไปโวยวายอะไร
       
       เพราะผลงานและตัวตนของ ชาร์ลี แชปลิน ถือว่าเป็นเพชรเม็ดงามของโลกชิ้นหนึ่ง การที่ลุงเอามาพากย์มาทำแบบนี้ มีกระแสต่อว่าอย่างไรไหมจากบรรดาผู้รู้กูรูนักปราชญ์
       
       ผมไม่ได้ไปใส่ใจตรงนั้นนะ คือไม่ได้ไปติดตามว่าจะมีใครว่าอะไรเราหรือเปล่า เพราะเราถือว่าเราได้บอกไปในไตเติลการพากย์แต่ละเรื่องแล้วว่า เป็นการพูดภาษาพื้นเมือง คือถ้าคุณเป็นคนอีสาน คุณฟังออก คุณก็อาจจะหัวเราะ แต่ถ้าคุณเป็นคนถิ่นอื่น คุณฟังไม่เข้าใจ คุณอาจจะเห็นว่าเป็นคำหยาบ ผมก็ไม่รู้จะทำอย่างไร ฉะนั้น คนที่ชมภาพยนตร์เรื่องนี้ จงอย่าเอาเยี่ยงอย่าง เด็กๆ ไม่ควรจะเอาไปเลียนแบบ เราก็บอกไว้แล้ว แต่เด็กเขาไปเลียนแบบ เราก็ไม่รู้จะทำอย่างไร แต่ถึงจะหยาบ ก็หยาบแบบตลกๆ ฮาๆ น่ะ อย่างเช่นคำว่า “บักห่า” มันก็เป็นคำพูดพื้นเมืองภาษาอีสานบ้านเราที่พูดกันเล่นๆ ขำๆ ไม่ใช่ว่าจะไปด่าทอกันจริงๆ และในการพากย์ เราก็ไม่ได้ไปเน้นที่จิตหยาบๆ หรืออยากด่าคนอะไรแบบนั้น แต่มันเป็นเรื่องเล่นๆ เป็นคำประกอบอิริยาบถ
       
       ในฐานะที่โด่งดังจากการพากย์หนังชาร์ลี แชปลิน อยากให้ลุงพูดถึงคนคนนี้ และงานของคนคนนี้หน่อยครับว่าเป็นอย่างไรในความคิดของลุ
       
       ชาร์ลี แชปลิน เขาเป็นคนที่สามารถสื่อสารด้วยภาพโดยไม่ต้องพูดแล้วให้คนเข้าใจและหัวเราะหรือร้องไห้ไปกับเขาได้ เขาเป็นบุคคลที่เยี่ยมมาก เพราะฉะนั้น จะว่าผมพากย์ดีเหรอ ไม่ใช่ แต่เป็นเพราะเขาทำมาดีแล้ว ในส่วนของผม ผมเพียงแค่ให้คนดูได้มีส่วนเสริมในเรื่องคำพูด แต่ก็มีบ้างที่เราฝืนท่าทางของเขา คือถ้าชาร์ลี แชปลินเขาอยู่ เขาอาจจะด่าเราก็ได้ เช่น บางฉากที่เขากำลังโอ๋เด็ก เราอาจจะพูดว่า “โอ๊ยยย คือเป็นตาซังแท้หนอ เตะซะบ้อนี่” (โอ๊ย น่ารักน่าชังจริงจริ๊ง เตะซะเลยดีมั้ยนี่) คือมุกตลกที่มันตรงข้ามกับความเป็นจริง อย่างเมื่อก่อน พากย์หนังกลางแปลง ฉากนางเอกกำลังร้องไห้ซิกๆ เบาๆ แต่เราก็ใส่แบบจัดเต็ม ร้องไห้โฮฮิ้วๆๆ เลย มันก็เลยกลายเป็นฮา ทำให้คนรู้สึกว่า “ไอ้หง่า นางเอกอะไรวะ ร้องไห้ดังขนาดนั้น” คนเขาก็จะขำไปด้วย (หัวเราะ)


ภาพจาก iheartinspiration.com


        พูดถึงเนื้อหาสาระในหนังชาร์ลี แชปลิน ขึ้นต้นเขาปูเรื่องให้คนคิดตาม พอกลางเรื่อง เขาจะทำให้คนเข้าใจในการกระทำ แล้วตอนท้าย เขาก็จะให้คนได้รู้ว่า มันสำเร็จหรือไม่สำเร็จ เขาให้เป็นข้อมูล เป็นคติ อย่างเรื่อง “ละครสัตว์” (The Circus) ตัวละครยากจน ไม่มีกิน กระทั่งไปเป็นดาราโด่งดังแล้วมีความรัก แต่ไม่สมหวังในความรัก เขาก็ต้องเดินจากไปคนเดียว จากโลกตรงนั้นไป แต่เขาก็ไม่ย่อท้อ เขายังเดินต่อไปข้างหน้า เพื่อจะสร้างฐานะของเขาให้มันดีขึ้น
       
       หรืออีกเรื่องหนึ่ง “ซิตี้ ไลท์” นางเอกตาบอดขายดอกไม้ เขายากจน แต่ก็อยากให้นางเอกรู้ว่าเขามีเงิน รู้ว่าเขารวย ก็ทำทีทำท่าเป็นเปิดปิดประตูรถเสียงดังกึกกัก หลอกผู้หญิง แต่ถึงอย่างนั้น เขาก็ยังอยากให้เธอตาดี มองเห็น ก็ไปชกมวยหาเงิน แต่ก่อนจะไป นางเอกเคยจับใบหน้าของเขา เธอก็จำได้ในการสัมผัสของคนตาบอด ทีนี้ พอได้เงินมารักษาตาให้นางเอกหายแล้ว นางเอกเห็นชาร์ลี แชปลิน หน้าตาประหลาดมาก ก็ไม่อยากเชื่อว่านี่คือเศรษฐีหรือร่ำรวยอะไร และไม่น่าจะใช่คนที่ช่วยเหลือเธอ แต่พอมือของเธอได้ไปสัมผัสโดนผิวหน้าของชาร์ลีเท่านั้นแหละ “เดี๋ยวๆๆ เอ๊ะ มันใช่นี่ ถูกต้องนี่ คุณคนนี้แหละที่ช่วยฉัน”
       
       ฉากนี้ก็มีน้ำตาซึมเหมือนกันนะ มันหักมุมได้อย่างมีคุณค่าจริงๆ แต่อย่างไรก็ตาม พอผู้หญิงรู้อย่างนั้นแล้ว เขาจะอยู่กับผู้หญิงก็ไม่นะ คือผมทำให้คุณตาดีแล้ว ทำมาค้าขายได้แล้ว คุณสามารถแต่งงานกับคนดีๆ มีเงินมีทองได้ ผมคนจน ผมก็ไปตามยถากรรมของผม แล้วเขาก็เดินจากไป นั่นเพราะเขาไม่ได้หวังอะไรตอบแทน มันไม่ได้หมายความว่า โอ๊ย ผมทำให้คุณมองเห็นแล้ว คุณต้องเป็นของผม หรือผมต้องได้เป็นสามีของคุณ คนดูก็ซึ้งในน้ำใจของเขา ขนาดเขาเป็นคนจน เขายังมีคติที่ดีในการสอนเรา
       
       แล้วในหนังของเขา ยังมีการสะท้อนสังคมในหลายๆ แง่มุม อย่างเรื่องโมเดิร์นไทม์ ก็มีเรื่องความไม่เข้าใจของผู้ปฏิบัติหน้าที่ไม่เห็นจริงตั้งแต่เริ่มต้น มันก็เกิดการสะเพร่าได้ จับคนไม่ผิดไป แต่คนผิดจริงๆ กลับไม่จับ อะไรอย่างนี้เป็นต้น ผมว่ามันมีสาระดีนะ ผมชอบมากทุกเรื่องเลย เพราะมันมีความหลากหลายด้วย ไม่เหมือนบ้านเรา ที่พอมีบ้านผีปอบออกมา มันก็มีผีแนวใกล้ๆ กันออกมา มีผีหยอกหย๋อยอะไรอีกเยอะแยะ เป็นทำนองเดียวกัน บอกความสนุกอันเดียวกัน แต่หนังของชาร์ลี แชปลิน คนทำคนเดียวกัน แต่เรื่องไม่เหมือนกัน ประเด็นไม่เหมือนกัน นี่คือความยอดเยี่ยมอัจริยะของบุคคลคนนี้
สรพงษ์ ลิ้มทองคำ
5 หมู่ 7 ต.คลองตาคต อ.โพธาราม ราชบุรี 70120    E-Mail soraphol@hotmail.com
ธ.กรุงเทพ ออมทรัพย์ สาขา อาคารยาคูลท์ สนามเป้า   หมายเลขบัญชี  210-036236-3
ธ.ไทยพาณิชย์  ออมทรัพย์ สาขา บางเขน   หมายเลขบัญชี  041-273435-0
ติดต่อ 0909040355

ชมรมรักหนังกางแปลง โพธาราม ราชบุรี เรามาคุยกันได

ออฟไลน์ นายเค

  • Thaicine Movie Team
  • Moderator
  • พี่น้อง thaicine Gold member
  • ***
  • กระทู้: 3814
  • พลังใจที่มี 616
  • เพศ: ชาย
       



       ภาค 3
       โลกของ “คมหลอ คนเก่า”  กับมายาดาวของนักพากย์
       
       
       ตลอดระยะเวลามากกว่าสี่สิบปี บนวิถีนักพากย์หนัง ชายชราวัยกว่าเจ็ดสิบ จดจำไม่ได้แล้วว่าตนเองพากย์หนังไปกี่เรื่อง แน่นอน มันมากกว่าร้อยสองร้อย บางทีอาจนับเป็นพันๆ แต่ที่รู้กันคือเรื่องของ “ฉายานาม” ที่ใช้ในการพากย์ หากเอ่ยชื่อ “สุนทรชัย”, “พัน บางกอก”, “เฒ่าคม”, “คม ชาร์ลี” หรือแม้กระทั่ง “คมหลอ” ก็ไม่ใช่ใครที่ไหนอื่น หากแต่เป็นคนคนนี้ “นิคม” หรือ “คมสันต์” ชื่อเดิม
       
       “พัน บางกอก เป็นชื่อที่ผมใช้พากย์หนังมิดไนต์หรือหนังติดเรต เวลาพากย์หนังพวกนี้ เราก็ไม่ได้พากย์เพื่อกระตุ้นคนดูให้รู้สึกหื่นหรืออยากไปข่มขืนใคร เราพากย์ให้เขาหัวเราะ เฮฮา แม้กระทั่งคนดูอยู่ชั้นสามคนหนึ่งจะลุกไปเข้าห้องน้ำ ผมยังพากย์ใส่เลยว่า “บุรุษหนึ่งกำลังยืนขึ้น และจะเดินไปเข้าห้องน้ำ ปฏิบัติการตัวเอง” แต่จริงๆ เขาปวดฉี่เต็มทีแล้ว แต่ไม่กล้าไป ต้องนั่งลงคืนน่ะ (หัวเราะ) พอหนังเลิก เขาก็มายืนต่อว่าผม “โอ๊ย อ้ายพัน บางกอก เจ้าว่าข้อยคนเยี่ยวแตก” (หัวเราะ) นี่ล่ะครับ เราเน้นความตลก สนุกเฮฮา ไม่ใช่ว่าดูแล้วต้องคึก ต้องไปงั้นงี้”
       
       ที่มาของ “พัน บางกอก” ว่าหวือหวา แต่ที่มาของ “คมหลอ” กลับเป็นประวัติศาสตร์ชีวิต...
       
       “สมัยหนุ่มๆ คะนองมาก ผมไปชกมวยมา แล้วฟันของเรามันไปกินสบู่เลือด ก็ทำให้หลุดออกทีละซี่ๆ ตอนเราพากย์หนังหรือเวลาไอแรงๆ ตะโกนพากย์หนังแรงๆ ฟันก็หลุด หลุดไปเรื่อยๆ จนหมดปาก พอฟันหมดปาก ผมได้ไปพากย์ที่สายไกรลาศ ฉายาของเราคำแรกก็จึงเป็น “ไอ้หลอ” หรือ “คมหลอ” แต่ก็เป็นการโชคดีอีกนั่นแหละ หรืออาจจะเป็นเพราะว่าฟ้าเบื้องบน สิ่งศักดิ์สิทธิ์ท่านเมตตาสงสาร คนฟันหลอ 3-4 ซี่ นี่พูดไม่ชัดนะ แต่ผมหลอทั้งปาก ผมพูดชัด ตั้งแต่อายุ 31 ใส่ฟันปลอมก็พูดไม่ได้ กินข้าวก็ไปติดอยู่ใต้เพดาน ก็เลยถอดทิ้ง พากย์หนังทั้งฟันหลอๆ อย่างนี้แหละ” เฒ่าคม หรือคมหลอ อ้าปากหัวร่อ เผยให้เห็นฟันหลอตามว่า
       
       “ขนาดตอนเราพากย์หนังฉายโรงยุคหลังๆ อย่างเรื่องกังฟูแพนด้า เราก็ไปแคสต์เสียง ส่งไปอเมริกา เขาก็โอเค ให้พากย์ (เป็นอาจารย์เต่า) แต่พอเขามาคุมพากย์ เราใส่ฟันปลอมไปพากย์ เขาก็ว่าไม่ใช่คนนี้นี่ ไม่เอา ไม่ใช่ๆ คนเป็นหัวหน้าก็บอกเรา พี่คมถอดฟันปลอม เราก็ถอดแล้วพากย์ ฝรั่งก็ว่า โอเค คนนี้ๆๆ โอ้โฮ...มันก็คนคนเดียวกันนั่นแหละ ฝรั่งก็งง อะไรวะ ใส่ฟันปลอมแล้วเป็นอีกสำเนียง (หัวเราะ)
       
       ส่วนที่มาของ “คม ชาร์ลี” ก็อย่างที่คาดเดา เพราะ “เฒ่าคม” โด่งดังจากการพากย์หนังชาร์ลี แชปลิน บรรดานักพากย์จึงขนานนามให้ด้วยใจนับถือ อีกทั้งยังเป็นที่จดจำง่าย

       “แต่ไม่มี “คม บีน” หรือ “คม ทอม แอนด์ เจอร์รี่” นะ (หัวเราะ) มิสเตอร์บีน นักพากย์บางคนยังไม่เคยได้ดูเลยก็มี แต่ชาร์ลี แชปลิน นี่ ใครๆ ก็ได้ดู ก็เลยเรียกฉายานี้กันมาตลอด

       “แต่ส่วนตัวผมเองไม่เคยไปยึดติดหรอกว่าพากย์หนังดัง มีชื่อเสียง แล้วผมจะต้องดัง ต้องยิ่งใหญ่ ถามว่า ผมพากย์ชาร์ลี มีคนนิยมทั่วประเทศ ใช่ มีชื่อเสียง แล้วผมเอาคำว่า คม ชาร์ลี ไปแลกก๋วยเตี๋ยวใครกินได้ไหม ก็ไม่ได้ แต่ถามว่าเขาชอบมั้ย เขาชอบ รู้จักผม เขาดีใจมั้ย ดีใจ อยากรู้จักมั้ย อยากรู้จัก แต่ถามว่า ป้า รู้จักผมแล้ว ให้ผมกินก๋วยเตี๋ยวฟรีสักชามได้มั้ย เขาก็ไม่ให้หรอก (หัวเราะ)
       
       “ฉะนั้น เราอย่าไปยึดติดว่า คุณมีตรงนี้ขึ้นมา คุณจะยิ่งใหญ่ ไม่ใช่หรอก สมัยผมอยู่สายหนังอินเดียเข้าโรงไหน ผมก็ไปพากย์เสริมโรงนั้น ก็แค่เสริม แค่คนพูดถึงว่า โอ๊ย สุนทรชัยมาพากย์เสริม ดี หัวเราะ ร้องไห้ แต่หลังจากนั้นสามสี่วัน เขาดูเรื่องอื่น เขาก็ลืมเรื่องนี้แล้ว คุณจะไปยึดติดอะไร คุณพากย์เรื่องหนึ่งแล้วดังระเบิดเถิดเทิงตลอด มันไม่ใช่หรอก มันหมดวาระไปแล้วก็คือหมดไป อย่าไปยึดติด ไม่ใช่ว่า โอ๊ย ผมพากย์ชาร์ลีดังนะ ผมพากย์หนังอินเดียดังนะ ต้องได้ค่าพากย์เท่านั้นเท่านี้ มันไม่ใช่”
 


        ในทีเล่นทีจริง เราโยนยิงคำถามทำนองว่า พากย์หนังมาก็นานจนป่านนี้ มีชื่อเสียงก็ปานนั้น ฐานะที่บ้านคงร่ำรวยใช่ย่อย ทว่าสีหน้าของชายชรากลับดูสงบละห้อยลงไปเมื่อนึกถึงชีวิตในมุมนี้ ที่ยอกย้อนวกวน พอๆ กับละครหรือภาพยนตร์เรื่องหนึ่ง

       ชีวิตนักพากย์ จะว่าไปก็มีแสงสีเย้ายวนกวนใจคล้ายกับ “มายาดาว” ชั่วครู่คราว เงินทองที่หามาได้โดยง่าย ก็ถูกจับจ่ายออกไปโดยง่ายเช่นเดียวกัน สำหรับ “คมหลอ” ผู้หลงใหลชอบพอรสชาติแห่งความรื่นเริงบันเทิงโลก...

       
       “เราประมาทชีวิต” เฒ่าคม ออกปากยอมรับ
       “ใครได้ยินชีวิตผมแล้ว อย่าเอาไปเป็นตัวอย่าง สมัยหนุ่มแน่น ผมทำงานได้เงินมาก แต่ได้มาเท่าไหร่ก็ใช้หมด สมัยก่อน นักพากย์หลายคนก็ติดการพนันนะ ว่างเป็นไม่ได้ เล่นไพ่ ไฮโล เวลาบุ๊กเกอร์แต่ละสายจัดคิวนักพากย์ ก็จะจัดพวกชอบเล่น ให้ไปพากย์โรงใกล้ๆ กัน พากย์จบก็มาเจอกัน สังสรรค์กัน บางทีเล่นและเที่ยวถึงขนาดไม่มีเงินส่งบริษัทก็มี เพราะเอาเงินบริษัทไปเล่น”
       
       ช่วงเวลายากๆ เหล่านั้น ผ่านมาได้เพราะช่วยเหลือเกื้อกูลระหว่างนักพากย์ด้วยกัน ช่วยกันหมุนช่วยกันเคลียร์ อันนำไปสู่มิตรภาพที่แน่นแฟ้นระหว่างกัน แต่อีกด้านของชีวิต ก็เหมือนเอาตนเองไปแขวนไว้บนความไม่แน่นอน
       
       “เราก็เล่นกับชีวิตมาอย่างนั้น แม้แต่ตอนเข้ากรุงเทพฯ ก็ขะมักเขม้น กอบโกยเงินมากมาย แต่ก็ไม่เหลือ เพราะคิดว่า “ฮัลโหลแล้วได้ตังค์ ฮัลโหลแล้วได้เงินตลอด” หมายถึง พากย์แล้วได้ค่าจ้าง ไม่คิดว่าชีวิตในวงการจะผกผัน คิดแต่ว่ามันน่าจะมีแบบนั้นไปเรื่อยๆ แต่มันไม่ใช่ เราไม่เคยเก็บ มันก็เหมือนน้ำขึ้นน่ะ ผู้หลักผู้ใหญ่เขาก็สอนนะว่าน้ำขึ้นให้รีบตัก แต่เราก็ไม่ได้ตัก พอน้ำขึ้น เราก็แค่ว่ายเล่นสนุก พอน้ำลด แห้งขอด มันก็อด ก็เป็นอยู่อย่างนี้มาโดยตลอด
       
       “เราค่อนข้างชาชินกับชีวิตแบบนี้แล้วล่ะ ตอนนี้ก็ 68-69 แล้ว มันก็เลย เฮ้ย พอมีอยู่มีกินก็พอ อย่าไปหวังมีนู่นมีนี่อะไรกับเขาเลย สำหรับตัวเองนะ แต่คนอื่น ผมคิดว่าอย่าเอาเป็นเยี่ยงอย่างเลย ชีวิตที่ไม่เอาไหนอย่างผม”



        คงคล้ายๆ กับนิยายชีวิตของใครต่อใครที่เล่าให้ลูกหลานฟังในยามที่ฝั่งใกล้เข้ามา ความสำเร็จ ความผิดพลาด คือบทเรียน คือประวัติศาสตร์ให้คนรุ่นหลังได้เก็บเกี่ยวเรียนรู้

       ชีวิตที่เคยรุ่งโรจน์ของ “คมหลอ” จึงยังมีความหลอที่อยู่คู่ร่าง ส่วนสิ่งต่างๆ กลับคล้ายมลายหายไป ไม่เหลือหลอ...
       
       รู้สึกเสียดายหรือเสียใจไหมกับคืนวันที่ผ่านมา เพราะดูเหมือนว่า ถ้าเราไม่เป็นอย่างนั้น เราก็น่าจะรวยหรือพอมีฐานะอะไรแบบนั้นน่ะครับ
       
       อืม...ผมไม่ไปยี่หระอะไรกับมันแล้ว ถามว่าเมื่อก่อนมีเลสเพชรมั้ย มี มีแหวนเพชรมั้ย มี มีสร้อยทองมั้ย มี มีพระเลี่ยมทองทุกองค์ เดี๋ยวนี้ไม่มี ต้องวอรี่มั้ย ต้องไปนั่งคิดถึงมั้ย ไม่ต้อง ไม่ต้องไปคิดถึง เพราะคุณได้มาแล้วคุณก็ทำมันเสียไปด้วยตัวของคุณเอง ไม่มีใครมาทำให้ ไม่มีใครมาปล้นคุณ คุณทำมันหายด้วยตัวของคุณเอง ฉะนั้น อย่าไปคิดอะไรมาก จงคิดซะว่า เมื่อเขามา เราเก็บเขาไม่เป็น เขาก็ไป อยากได้ใหม่ ก็ดิ้นรนสิ เมื่อได้มา คุณไม่เก็บ เขาก็ไปอีก มันก็แค่นั้น อีกไม่กี่วัน คุณก็ตายแล้ว ใช่ไหม
       
       ผมไม่ค่อยยึดติดกับอะไรทั้งนั้น ถ้าผมเป็นคนรู้จักเก็บหอมรอมริบเหมือนคนอื่นเขา ผมว่าผมก็รวยไม่แพ้เขา แต่ว่าเราไม่เอาไหนเอง เรากลับทำชีวิตเราเอง ทำตัวเราเอง เราอย่าไปโทษคนอื่นหรืออะไร เราทำของเรา ฉะนั้น เราจงพอใจในสิ่งที่เรามี และไม่มี (หัวเราะ) จงพอใจซะ อย่าไปยึดติดหรือคิดอะไรให้เป็นทุกข์ แต่ถ้าจะยึดติดเพื่อวิชาชีพของตัวเอง พอได้ เพื่องานของตัวเอง ก็ยึดติดไปเถอะ แต่ถ้ายึดติดเพื่อไปเหยียบย่ำหรือข่มขู่คนอื่น ผมว่าอย่าเลย มันไม่จีรังยั่งยืนหรอก คุณตายไปแล้ว เขาก็ไม่ได้ทำอนุสาวรีย์ให้คุณหรอก เพราะคุณเด่นอยู่แค่นี้ ดีแค่ที่วิชาชีพ คุณไม่ได้เป็นคนของประชาชนทั่วโลกที่เขาจะสร้างอนุสาวรีย์ให้กับคุณ อย่างเก่งคุณก็แค่อยู่ในความทรงจำของเพื่อนฝูง ของคนรู้จัก
       
       เราควรทำใจให้สบายๆ อันนี้ในแบบของผมนะ ยึดมั่นไว้ในใจว่าอย่าเอาเปรียบคนอื่น อย่าคดโกงคนอื่น มีกินแค่นี้ก็จงอิ่มแค่นี้ ไม่ใช่ว่าเรากินส้มตำ แต่เห็นคนอื่นเขากินสเต๊ก ก็อยากกินเหมือนเขา ทั้งที่เราไม่มี ก็ไม่ใช่ แต่ถ้าเรามีแล้วไปกิน ใครก็ว่าเราไม่ได้ กินไปเถอะ อยากกินสเต๊กจานละแปดร้อยก็กินไปเถอะ เพราะคุณหาได้น่ะ แต่ถ้าคุณหาไม่ได้ คุณก็ต้องกินส้มตำ กินปลาร้าบองของคุณต่อไป (หัวเราะ)
       
       ฉะนั้น พอผมมีตังค์ ผมก็อยากให้คนรักหรือคนรู้จักได้กินดีๆ อันไหนที่เขาชอบ อันไหนที่เขาอร่อย ผมก็ซื้อให้เขากิน เขามีความสุข เราก็สุขด้วย เราไม่ได้คิดหวังผลตอบแทนว่า เราเลี้ยงเพื่อนคนนี้ แล้วเขาจะต้องให้อะไรเราตอบแทน ไม่เอา อย่าไปคิด คิดแค่ว่าเขามีความสุขในตอนนั้น เขากินของที่ชอบแล้วเขาอารมณ์ดียิ้มแย้มแจ่มใส เท่านั้นพอใจ เรามีความสุขแล้ว เวลาเราไม่มี เราก็ไม่ต้องไปขอเขากิน ไม่ไปเรียกร้องคืนว่า “เพื่อน วันนั้นเราเลี้ยงเพื่อน วันนี้เพื่อนเลี้ยงเราหน่อยสิ” อย่าไปพูด อยากกินก็หาสิ ได้มาแล้วคุณอยากกิน คุณไม่เรียกเขากินก็ได้ถ้าคุณได้มาน้อย แต่ถ้าได้มามากก็เรียกเขากินด้วย เขามีความสุข เราก็มีความสุขด้วย นี่ผมคิดเท่านี้
       
       ากเด็กวัยรุ่นที่เรียนจบ ป.3 ครึ่ง มาจนถึงทุกวันนี้ ลุงมองชีวิตตัวเองอย่างไรบ้าง
       
       ผมว่าคุ้มนะ เครื่องบินก็เคยนั่ง เมืองนอกก็เคยไปหลายประเทศ สมเด็จพระเทพฯ ก็เคยเสด็จทอดพระเนตรการพากย์ชาร์ลี แชปลิน ของเรา ได้สนทนากับพระองค์ท่านที่เซ็นทรัล ชิดลม ในหลวงผมก็เคยเข้าเฝ้าฯ ที่สนามเสือป่า ที่จัดงานเลี้ยงประจำปี วันที่ 5 ธันวาคม ได้พากย์หนังรางวัลอย่างเรื่องลูกอีสาน (กำกับโดยคุณาวุฒิ) ก็พากย์มาแล้ว รวยก็เคยรวยมาแล้ว รถก็ได้ใช้ถึงขั้นว่ารถยุโรป บีเอ็มดับบลิว เบนซ์ก็มีมาแล้ว ไม่มีรถก็เคยมาแล้ว อะไรอย่างนี้ มีเงินฝากแบงก์ มีแหวนเพชร เลสเพชร สร้อยคอทองคำ อะไรต่ออะไร มีมาแล้ว อาหารตรงไหนที่เขาว่าดีว่าอร่อย ก็ขับรถไปกินมาจนทั่วแล้ว กุ้งใหญ่ที่แม่กลอง อร่อย ก็ไปมาแล้ว จนทุกวันนี้ กินได้แค่หน้าตึกที่พัก สุกี้กุ้งตัวเล็กๆ (หัวเราะ) ก็มีความสุขในแต่ละช่วง แต่ละจังหวะ ก็เลยคิดว่า ชีวิตนี้มันน่าจะคุ้มแล้วล่ะ แม้นตายก็ไม่เสียดายชีวิต
       
       ชีวิตและตัวตนผลงานของชาร์ลี แชปลิน มีคนกล่าวขวัญถึงเขาด้วยคำว่า “หัวเราะร่า น้ำตาริน” ถ้าเป็นสำหรับลุง ลุงอยากให้คำขวัญของตัวเองเป็นยังไงครับ
       
       (นิ่งคิดราวครึ่งนาที) สุขเกินพอ จนเกินพอ จงอยู่อย่างพอเพียง คิดว่านะ (หัวเราะ)




เรื่อง : อภินันท์ บุญเรืองพะเนา
ภาพ : ปัญญพัฒน์ เข็มราช
ที่มา : ASTVผู้จัดการออนไลน์
สรพงษ์ ลิ้มทองคำ
5 หมู่ 7 ต.คลองตาคต อ.โพธาราม ราชบุรี 70120    E-Mail soraphol@hotmail.com
ธ.กรุงเทพ ออมทรัพย์ สาขา อาคารยาคูลท์ สนามเป้า   หมายเลขบัญชี  210-036236-3
ธ.ไทยพาณิชย์  ออมทรัพย์ สาขา บางเขน   หมายเลขบัญชี  041-273435-0
ติดต่อ 0909040355

ชมรมรักหนังกางแปลง โพธาราม ราชบุรี เรามาคุยกันได

ออฟไลน์ บิ๊กโทนภาพยนตร์

  • พี่น้อง thaicine Gold member
  • *
  • กระทู้: 797
  • พลังใจที่มี 29
  • หนังกลางแปลงจงเจริญ.....ขอให้ทุก ๆ คนรักกันคับ
    • gootonewa @hotmail.co.th
 :yoyocici07: :yoyocici07: :yoyocici07:หนังพากย์ลาว มีเสน่ห์อีกแบบคะ....สนุก คะ
บิ๊กโทนภาพยนตร์ 243 ม.4 ถนนจันทวงค์ ตำบลนาแก อำเภอนาแก จังหวัดนครพนม 48130  โทร.0821036518,0868570748