ผู้เขียน หัวข้อ: บทที่ 190 ชุมทางหนังไทยในอดีต เสนอ 34 ปี มิตร ชัยบัญชา ใครฆ่า ? มิตร ชัยบัญชา  (อ่าน 1020 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ ฉัตรชัยฟิล์มshop

  • Thaicine Movie Team
  • Moderator
  • พี่น้อง thaicine Gold member
  • ***
  • กระทู้: 11655
  • พลังใจที่มี 441
  • เพศ: ชาย
  • รักการฉายด้วยฟิล์ม

บทที่ 190
ชุมทางหนังไทยในอดีต เสนอ
34 ปี มิตร ชัยบัญชา
ใครฆ่า ? มิตร ชัยบัญชา
โดย มนัส กิ่งจันทร์

(facebook 27 พฤษภาคม 2556)


               บทความนี้ ผมเขียนนลงพิมพ์ในหนังสือ film and stars ฉบับเดือนตุลาคม 2547 ดังนี้...

               วันที่ 8 ตุลาคม 2513 เป็นวันที่  มิตร ชัยบัญชา พระเอกหนังไทยเสียชีวิตในขณะแสดงหนังเรื่อง อินทรีทอง ข้อมูลที่ได้จากข่าวก็คือ หนังเรื่อง อินทรีทอง นั้น มิตร ชัยบัญชา ในฐานะผู้กำกับการแสดงได้สั่งการให้มิตร ชัยบัญชา ในฐานะดารานักแสดงเข้าไปแสดงฉากโหนบันไดเชือกของเฮลิคอปเตอร์ แต่ในขณะที่เฮลิคอปเตอร์บินอยู่บนท้องฟ้า มือของมิตร ชัยบัญชาก็หลุดจากบันไดเชือก ร่างล่วงลงสู่พื้นดิน ถึงแก่ความตายทันที


               บทสรุปในเบื้องต้น ผู้ที่ควรจะต้องรับผิดฐานกระทำการโดยประมาทเป็นเหตุผู้อื่นถึงแก่ความตายก็คือ ผู้กำกับการแสดงหนัง ซึ่งในที่นี้ก็คือ ตัวมิตร ชัยบัญชา เอง แต่ตามกฏหมายแล้ว เมื่อผู้กระทำผิดได้ถึงแก่ความตาย สิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปด้วย ดังนั้น คดีการตายของมิตร ชัยบัญชา จึงถูกปิดสำนวนตั้งแต่นั้นมา แต่เรื่องราวและสาเหตุการตายของมิตร ชัยบัญชา ก็ยังคงมีการพูดต่อ ๆ กันไปต่าง ๆ นานา เช่น

บ้างก็ว่า มิตรรับเล่นหนังไว้มากเกินไป จึงอดหลับอดนอนจนไม่มีแรงพอที่จะโหนบันไดเชือกของเฮลิคอปเตอร์ ก็เลยตกมาตาย…
บ้างก็ว่า เป็นเพราะแรงสาบานที่มิตรเคยสาบานไว้ว่า จะไม่เล่นหนังให้กับใครคนหนึ่ง แล้วภายหลังมาผิดคำสาบาน…
บ้างก็ว่า เป็นเพราะมิตรยังไม่ได้เหยียบบันไดเชือกขั้นสุดท้าย แต่เฮลิคอปเตอร์ก็บินขึ้นไปก่อนและยังบินสูงเกินไปอีกด้วย…
บ้างก็ว่า มิตรเป็นคนดื้อ ไม่ยอมฟังใคร ไม่ยอมใช้สแตนอินทั้ง ๆ ที่มีการเตรียมไว้แล้ว…
บ้างก็ว่า เป็นเพราะมิตรไปรื้อบทหนังและคิดฉากจบขึ้นมาใหม่ ก็เลยเกิดเหตุขึ้นมา ฯลฯ


               แม้ปีนี้ จะครบ 34 ปี ที่มิตร ชัยบัญชา เสียชีวิตไป แต่มีคนคนหนึ่งที่ทนเก็บความข้องใจในการตายของมิตร ชัยบัญชา ไว้ลึก ๆ อยู่เพียงคนเดียว แม้เขาจะไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์ขณะมิตร ชัยบัญชา เสียชีวิต แต่เพราะเขาเป็นคนที่รักและชื่นชอบมิตร ชัยบัญชา อย่างมาก เคยเขียนหนังสือเรื่องราวเกี่ยวกับ มิตร ชัยบัญชา อยู่บ่อย ๆ ซึ่งทีแรกเขาก็ฟังข่าวและเชื่อเหมือนกับคนอื่น ๆ แต่ด้วยความอยากรู้อยากเห็นเกี่ยวกับเหตุการณ์ขณะถ่ายทำหนังเรื่อง อินทรีทอง เขาจึงเริ่มแสวงหาข้อมูลจากหนังสือพิมพ์เก่า ๆ หรือบทความต่าง ๆ ที่ตีพิมพ์ข่าวเกี่ยวกับการตายของมิตร ชัยบัญชา ไว้ไปอ่าน อ่านไปคิดไป ก็ชักสงสัยกับข่าวที่ได้มา จึงออกตามหาบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการถ่ายทำหนังเรื่องอินทรีทอง เข้าไปพบ ไปพูดคุย สอบถามเก็บข้อมูลต่าง ๆ แล้วนำมาพินิจพิเคราะห์กับพยานหลักฐานที่หามาได้จากแหล่งอื่นจนค่อนข้างมั่นใจว่า มีข้อมูลข่าวบางอย่างถูกปกปิดไว้

               จากนั้นเขาก็นำความเห็นดังกล่าวมาตั้งเป็นประเด็นเพื่อให้บุคคลที่เคยเกี่ยวข้องกับมิตร ชัยบัญชา ช่วยกันคิด ช่วยกันหาเหตุผล แล้วในที่สุดเขาก็ฟันธงว่า มีคนทำให้มิตร ชัยบัญชา ตาย… ซึ่งเขาจะนำเรื่องทั้งหมดนี้ไปเปิดเผยในเช้า วันจันทร์ที่ 4 ตุลาคม 2547 ที่วัดแค นางเลิ้ง วัดที่เคยตั้งศพมิตร ชัยบัญชาเมื่อ 34 ปีก่อน นี่เป็นเพียงเรื่องราวย่อ ๆ ที่ คุณเอ็ม เฉลิมกรุง ผู้ซึ่งออกสืบหาข้อมูลต่าง ๆ เล่าให้ฟัง ใครที่อยากรู้เพิ่มเติม ก็ลองแวะไปสอบถามได้ เชื่อว่า เมื่อได้ฟังแล้วจะต้องตกตะลึงแน่ ๆ เพราะข้อมูลจะไม่เหมือนกับข่าวที่เราเคยได้ยินได้ฟังมา แต่บอกก่อนว่า เจตนาของคุณเอ็มที่ใช้เวลาเป็นสิบ ๆ ปีค้นเรื่องดังกล่าวนั้น มิใช่ทำขึ้นเพื่อต้องการให้ผู้หนึ่งผู้ใดลุกขึ้นมาแสดงความรับผิดชอบในการตายของมิตร ชัยบัญชา เพียงแต่อยากให้ใช้บทเรียนนี้เป็นกรณีศึกษาถึงความปลอดภัยในการถ่ายทำหนังเรื่องอื่น ๆ อีก ข้อสำคัญก็คือ เขาต้องการจะปลดปล่อยพันธนาการคำกล่าวหาต่าง ๆ ที่คนหลายคนโยนบาปเหตุการณ์ครั้งนี้ให้กับดวงวิญญาณของมิตร ชัยบัญชา เขาต้องการลบล้างคำพูดที่ว่า คนตายพูดไม่ได้ คนตายจึงต้องเป็นคนผิด...

               อย่างไรก็ตาม การตายของมิตร ชัยบัญชา ยังสอดคล้องกับคำกล่าวที่ว่า ตัวตาย แต่ชี่อยัง เพราะได้ทิ้งผลงานการแสดงหนังไว้เป็นร้อยเรื่อง แม้ในปัจจุบันจะมีให้ดูน้อยเกินไปเมื่อเทียบกับจำนวนหนังที่ออกฉายมาทั้งหมด 266 เรื่อง แต่จะทำอย่างไรได้ ในเมื่อหนังรุ่นมิตรส่วนใหญ่จะถ่ายทำด้วยฟิล์ม 16 มม.ซึ่งเป็นระบบที่ไม่มีฟิล์มต้นฉบับ (เนกาตีฟ) ดังนั้น การได้หนังมิตรเรื่องหนึ่งเรื่องใดกลับคืนมา แม้ฟิล์มจะเสียหายหรือเป็นเส้นฝนบ้าง แต่แฟนหนังมิตรก็ไม่เคยบ่น ไม่เคยต่อว่า หากแต่จะถือว่าเป็นบุญแล้วที่ยังอุตส่าห์เหลือกลับมาได้ ใบปิดโปสเตอร์หนังมิตร ชัยบัญชา ที่นำมาตีพิมพ์ในฉบับนี้ทุกเรื่อง ล้วนแต่เป็นหนังที่มีการค้นพบฟิล์มแล้วทั้งสิ้น บางเรื่องก็หาเจอมาเป็นสิบ ๆ ปี แต่สงสัยไหมครับว่า ทำไมจนป่านนี้ เราจึงยังไม่ได้ดูหนังเรื่องนั้น ๆ (ยกเว้น คนเหนือคน ที่จะฉายในปีนี้)

               นี่แหละคือ ประเด็นที่ผมจะกล่าวต่อไป ถ้าถือกันว่า ดาราหนังเป็นคนของประชาชนแล้ว หนังก็ย่อมต้องเป็นของประชาชนด้วยเช่นกัน แม้ว่าหนังแต่ละเรื่องจะเป็นงานลิขสิทธิ์ของผู้สร้าง แต่หนังก็เป็นงานศิลปะอย่างหนึ่งที่ผู้สร้างสร้างขึ้นเพื่อให้ความบันเทิงแก่ประชาชนโดยอาศัยฐานแห่งความชื่นชอบของประชาชนเป็นที่ตั้ง หนังจึงเป็นเสมือนงานสาธารณะอย่างหนึ่งที่ประชาชนทุกคนควรมีสิทธิที่จะได้ดูเมื่อต้องการจะดู จึงไม่สมควรอย่างยิ่งที่จะมีใครคนใดคนหนึ่งมากระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดอันเป็นการปิดกั้นสิทธิการดูหนังเช่นว่านี้ ผมจะไม่พูดถึงผู้ถือลิขสิทธิ์หนังที่มิตรแสดงไว้เพราะเท่าที่ทราบส่วนใหญ่จะถือไว้แต่เพียงสิทธิเท่านั้น ส่วนตัวทรัพย์ซึ่งจะก่อให้เกิดภาพคือฟิล์มหนังนั้น แทบจะไม่มีใครได้ถือไว้เลยเนื่องจากว่ายุคนั้นฟิล์มหนังจะมีการเปลี่ยนมือฉายกันเป็นทอด ๆ ไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะหาที่ฉายไม่ได้และสุดท้ายก็จะไปอยู่กับบริการหนังเร่ตามต่างจังหวัด ซึ่งบางเจ้าก็เก็บไว้ บางเจ้าพอหมดยุคหนัง 16 มม.ก็ทิ้งไปหรือถ้าเห็นว่าเป็นหนังที่เคยทำเงินให้มาก่อนก็เอาฟิล์มขึ้นหิ้งบูชาเป็นที่ระลึกก็มี

               ส่วนที่ว่า ถ้าได้ฟิล์มหนังมาก็ไม่มีโรงฉายนั้น ไม่เป็นปัญหาเพราะทุกวันนี้ เราสามารถดูหนังอยู่ที่บ้านผ่านทางเครื่องเล่น VCD หรืออุปกรณ์อย่างอื่นได้แล้ว ปัญหาใหญ่จะอยู่ที่ว่า ทำอย่างไรเราจะหาฟิล์มหนังมิตรให้ได้ต่างหากเพราะหนังรุ่นนั้นจะพิมพ์ฟิล์มก๊อบปี้ไว้ไม่กี่ชุด แล้วยังต้องนำออกฉายไปทั่วประเทศ ฟิล์มจึงเสียหายไปตามกาลเวลา แต่ถ้าจะเสียหายด้วยเหตุนี้จริง ๆ ก็ถือเป็นเรื่องธรรมดาเพราะฟิล์มหนังเขามีไว้ให้ฉาย ไม่ได้มีไว้ให้เก็บและการที่หนังมิตรเรื่องหนึ่งเรื่องใดได้ออกฉายมาก ๆ จนถึงขั้นฟิล์มผุพัง คนรักมิตรก็ควรจะดีใจเพราะเป็นเหตุเป็นผลอยู่ในตัวแล้วว่า คนในสมัยนั้นให้การต้อนรับหนังมิตร ชัยบัญชามากแค่ไหน มีคนชอบพูดว่า ทำไมเจ้าของหนังจึงไม่เก็บฟิล์มไว้ เรื่องนี้อย่าไปว่าเจ้าของหนังเลยครับเพราะเขาสร้างหนังมา

               เขาลงทุนพิมพ์ฟิล์มก๊อบปี้ขึ้นมาชุดหนึ่งก็เพื่อที่จะเอามาฉายให้คนดูและโดยเฉพาะยุคที่หนังมิตรออกฉายนั้น ก็ยังไม่มีใครรู้ล่วงหน้าด้วยว่าจะมี VDO-VCD เกิดขึ้นในอนาคต ดังนั้น คงไม่มีใครบ้าพอที่จะลงทุนพิมพ์ฟิล์มก๊อบปี้มาเก็บไว้เฉย ๆ หรอกครับ เมื่อฟิล์มยังฉายได้ก็ฉายไปเรื่อย ๆ ผมถึงไม่อยากโทษเจ้าของหนัง แต่ผมอยากเข้าไปหาไปถามว่า หนังเรื่องนั้น ๆ มีฟิล์มกี่ก๊อบปี้และจำหน่ายไปที่ใดบ้าง เผื่อวันหน้าวันหลังจะได้เอาลายแทงนี้ออกไปตามหาหนังมิตรมาดูกัน ณ วันนี้ ใครที่ครอบครองฟิล์มหนังมิตร ชัยบัญชา อยู่ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอันใด แต่เชื่อว่าอย่างน้อย ๆ ก็คงมีใจรักมิตรจึงคิดครอบครองฟิล์มหนังนั้นไว้ ผมว่า ถึงเวลาแล้วที่จะต้องเปลี่ยนความคิดเก่า ๆ นั้นเสียที เคยได้ยินคำว่า รักแท้ต้องเสียสละไหมครับ

               ทุกวันนี้เรื่องราวของ มิตร ชัยบัญชา ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์หนังไทยไปแล้วและยังมีคนรุ่นใหม่ ๆ อีกมากที่ปัจจุบันได้เห็นเพียงแค่ใบปิดโปสเตอร์หนังมิตร แต่ยังหาหนังดูไม่ได้ ดังนั้น หนังมิตร ชัยบัญชา จึงไม่ควรเป็นสมบัติส่วนตัวของใครคนใดคนหนึ่งอีกต่อไปแล้ว หากแต่ต้องกลับมาเป็นสมบัติของประชาชน อย่าลืมนะครับว่าคนที่รักมิตร เขาก็อยากจะดูหนังมิตรเหมือนกับคุณ ในฐานะคนหัวอกเดียวกันก็ควรเห็นใจกันบ้าง ปล่อยเถอะครับ..ปล่อยฟิล์มหนังมิตรออกมาให้คนที่เขามีความชำนาญด้านนี้เอาไปทำเป็น VCD มาแบ่งกันดูดีกว่า โปรดอย่าให้ความรักความชอบที่คุณมีต่อมิตร ชัยบัญชา มาเป็นเครื่องทำลายหนังมิตร ชัยบัญชา อย่างที่คุณคาดไม่ถึงเลยครับ

               ผมยังไม่อยากบอกว่า ฟิล์มหนังมิตรเหล่านั้น ตอนนี้มีใครเก็บไว้บ้าง กลัวคนรักมิตรเขารู้เข้า เขาจะเหมาเอาว่า คุณนี่แหละ..เป็นคนฆ่าหนังมิตร ชัยบัญชา สำหรับงานรำลึก 34 ปีแห่งการจากไปของมิตร ชัยบัญชา ในปีนี้จะจัดที่ โรงหนังศาลาเฉลิมกรุง โดย พันธมิตรฟิล์ม เจ้าของ VCD โครงการคิดถึงหนังไทย จะนำหนัง 35 ม.ม.เสียงในฟิล์มเรื่อง คนเหนือคน มาฉาย เริ่มจาก วันที่ 8-10 ตุลาคม 2547 คนเหนือคน เป็นหนังเรื่องสุดท้าย (ในจำนวน 4 เรื่อง) ที่มิตรกับสมบัติ เมทะนี แสดงคู่กัน สร้างโดย สหการภาพยนตร์ไทย ของ ปริญญา ทัศนียกุล ซึ่งเคยสร้าง เพชรตัดเพชร (2509 มิตร-ลือชัย-เพชรา) มาแล้ว

               แต่ครั้งนี้ เปลี่ยนให้มิตรมาประกบกับ สมบัติ โดยมีโสภา สถาพรและมิสออเดรย์ชิง จากฮ่องกงเป็นนางเอก เป็นหนังบู๊สไตล์สากล แนวรักชาติบ้านเมือง โดยวางเรื่องให้มิตร ชัยบัญชา ซึ่งเป็นนายตำรวจเข้าไปสืบหาข่าวในองค์การก่อการร้ายที่มีเกชา เปลี่ยนวิถี เป็นหัวหน้า แล้วต่อมามิตรถูกจับตัวไว้ ทางการจึงต้องส่งนายตำรวจภูธรหน้าใหม่ซึ่งแสดงโดยสมบัติ เมทะนี รับบทเป็นน้องชายมิตรเข้าไปช่วยพี่ จากนั้นก็มีการรวมพลเข้ากวาดล้างองค์การก่อการร้ายแห่งนี้ คนเหนือคน เคยฉายครั้งแรกเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2510 ที่โรงหนังเฉลิมเขตร์ เป็นหนังที่ลงทุนสร้างอย่างยิ่งใหญ่ กำกับแสดงโดย วิจิตร คุณาวุฒิ คนที่พูดเสมอว่า ไม่ชอบทำหนังบู๊ แต่เมื่อทำทีไร ก็ยิ่งใหญ่ทุกที

               นอกจากนี้การตั้งชื่อตัวละครในหนัง ก็เป็นเรื่องแปลกเพราะตัวละครแทบทุกคนต่างถูกเรียกชื่อตามชื่อจริงชื่อเล่นของดาราคนนั้น ๆ เลยเช่น มิตร ชัยบัญชา ก็เรียกตามชื่อจริงว่า พิเชษฐ์ สมบัติ เมทะนี ก็เรียกว่า สมบัติ ชุมพร เทพพิทักษ์ ก็เรียกตามชื่อเล่นว่า เดียร์ โสภา สถาพร ก็เรียกว่า โสภา อมรา อัศวนนท์ ก็เรียกว่า อมรา แมน ธีระพล ก็เรียกว่า แมน ฯลฯ เป็นต้น ใครที่ไม่รู้ชื่อดาราหนังรุ่นเก่า ๆ ถ้าไปดูหนังเรื่องนี้ก็จะรู้เองว่าดาราคนที่แสดงอยู่นั้นมีชื่อจริงหรือชื่อเล่นว่าอะไร การนำหนังมิตร ชัยบัญชา กลับมาฉายในโรงภาพยนตร์ไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ และไม่แน่ว่าปีต่อ ๆ ไปจะมีหนังมิตรมาฉายอีกหรือไม่เพราะนับวันฟิล์มหนังมิตร ชัยบัญชา ก็ยิ่งหายากขึ้นเรื่อย ๆ ….


หมายเหตุ : เขียนไว้เมื่อปี 2547 ข้อมูลบางอย่างจึงอาจเปลี่ยนแปลงไป..
 
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 16 มีนาคม 2014, 05:10:17 โดย นายเค »


ฉัตรชัย สุวรรณโสภา 
88/1 ม.4 ต.บางโตนด อ.โพธาราม จ.ราชบุรี 70120   
E-mail chatchai_suw@hotmail.com    โทร 081-7636195 
ต่อพงศ์ภาพยนต์ ระบบ 35 ม.ม.  ฉัตรชัยภาพยนตร์ กลางแปลงย้อนยุค 16 ม.ม.
ธ.ไทยพาณิชย์  สาขาบิ๊กซีราชบุรี ชื่อบัญชี ฉัตรชัย สุวรรณโสภา  หมายเลขบัญชี  940-202235-1