ผู้เขียน หัวข้อ: บทที่ 697 ชุมทางหนังไทยในอดีต เสนอ 9 สิงหา..อย่าด่วนลา ลืม ยอดรัก สลักใจ  (อ่าน 621 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ มนัส กิ่งจันทร์

  • มนัส กิ่งจันทร์ ภาคสอง ชุมทางหนังไทยในอดีต
  • Moderator
  • พี่น้อง thaicine Gold member
  • ***
  • กระทู้: 2814
  • พลังใจที่มี 35
  • เพศ: ชาย
    • มนัส ชุมทางหนังไทยในอดีต

บทที่ 697
ชุมทางหนังไทยในอดีต เสนอ
9 สิงหา..อย่าด่วนลา ลืม ยอดรัก สลักใจ
โดย มนัส กิ่งจันทร์

(facebook 9 สิงหาคม 2558)


        9 สิงหาคมนี้ ก็จะเป็นเวลา 7 ปีแล้วที่ ยอดรัก สลักใจ นักร้องลูกทุ่งชื่อดังเสียชีวิต แต่ในความรู้สึกของผมเหมือนกับว่า ยังได้เห็น ยังได้ยินเสียงเพลงของยอดรักอยู่ตลอดเวลา.. ผมได้ยินเสียงเพลงของยอดรัก สลักใจ หลังจากที่สายัณห์ สัญญา โด่งดังมาแล้ว จากนั้นจึงมี ยอดรัก สลักใจ ไล่ตามมาติดๆ ซึ่งว่ากันตามจริงแล้ว ทั้งสายัณห์และยอดรักต่างก็มีแนวทางการร้องเพลงที่แตกต่างกัน ยอดรักจะถนัดร้องเพลงทำนองสนุกสนาน ส่วนสายัณห์นั้นมักจะออกไปในแนวเศร้าๆ ประเภทคนอกหัก ฟังแล้ว เป็นอันโดนทุกเพลง

        ในด้านการแสดงภาพยนตร์นั้น ปี 2522 ยอดรัก สลักใจ แสดงหนังเป็นครั้งแรกในเรื่อง เรือเพลง คู่กับนางเอกครูบ้านนอก วาสนา สิทธิเวช แต่วิธีการนำเสนอและบทหนังไม่ค่อยจะถูกใจแฟนเพลงมากนัก ยอดรักจึงหันกลับไปเป็นนักร้องอาชีพเช่นเดิม แต่พอย่างเข้าปี 2526 ยอดรักก็ถูกทาบทามจาก ฉลอง ภักดีวิจิตร ผู้กำกับมือทองให้มาแสดงหนังเรื่อง สงครามเพลง คู่กับ พุ่มพวง ดวงจันทร์ เมื่อหนังออกฉาย ก็ไม่ทำให้ยอดรักผิดหวังเพราะสงครามเพลง สร้างชื่อเสียงให้กับยอดรัก สลักใจ เป็นอย่างมาก นอกจากจะมีเพลง รักเลี่ยมทอง ห่มฟางต่างผ้า.. แล้วบทภาพยนตร์ก็ยังช่วยส่งให้ยอดรัก สลักใจโดดเด่นขึ้นมาในการแสดงเป็นพระเอกอีกด้วย..

        ชื่อของยอดรักกับการแสดงหนังจึงเริ่มขายได้อีกครั้ง ทำให้บรรดาผู้สร้างต่างก็ติดต่อยอดรักให้แสดงหนังเพิ่มมากขึ้น เช่นเรื่อง เสน่ห์นักร้อง (2526) ซึ่งเป็นการพบกันครั้งแรกครั้งเดียวกับ สายัณห์ สัญญา นักร้องรุ่นพี่โดยมีพุ่มพวง ดวงจันทร์และเนาวรัตน์ ยุกตะนันท์ เป็นนางเอกของเรื่อง.. จากนั้นก็มีผลงานออกฉายอีกหลายเรื่องเช่น สาวนาสั่งแฟน (2527 ยอดรัก-พุ่มพวง) ไอ้หนุ่มรถอีแต๋น (2527 ยอดรัก-ปิยะมาศ) อีแต๋นไอเลิฟยู (2527 ยอดรัก-พุ่มพวง) ทหารเกณฑ์เจอผี (2527) สาลิกาลิ้นทอง (2527 ยอดรัก-อภิรดี) นักร้องพ่อลูกอ่อน (2528 ยอดรัก-จารุณี) เพลงรักเพลงปืน (2530 ยอดรัก-พุ่มพวง) อยู่กับยาย (2531 ยอดรัก-ศิรินทรา) อ้อนรักแฟนเพลง (2532 ยอดรัก-ศิรินทรา) สงครามเพลง แผน 2 (2533 ยอดรัก-สุนารี) ซึ่งหลังจากปี 2533 แล้ว ยอดรักก็กลับมาปรากฏตัวบนแผ่นฟิล์มอีกไม่กี่ครั้ง เช่น เสือโจรพันธุ์เสือ (2541) มนต์เพลงลูกทุ่ง เอฟเอ็ม (2545) อีส้มสมหวัง (2550) เป็นต้น

        พูดถึงลีลาการแสดงหนังของยอดรัก สลักใจแล้ว ก็เรียกว่า ไม่แพ้ดาราอาชีพนะครับ เล่นได้เก่ง ยิ่งถ้าให้เล่นเป็นนักร้อง ได้ร้องเพลงด้วย จะดีมากๆ เวลาเรานั่งดูหนัง ก็เหมือนนั่งดูหน้าเวทีดนตรี เพียงแต่ว่า หนังนั้นเราจะดูภาพได้ละเอียดกว่า จะเห็นสีหน้า แววตาที่ยอดรักสื่อออกมาพร้อมการแสดง สมัยที่ผมเรียนมัธยมปลาย ก็เคยอาศัยเวลาว่างๆ ไปฉายหนังกลางแปลง ก่อนจะฉายหนัง เขาจะต้องมีการเปิดเพลงเรียกคนดู เพลงของยอดรัก เพลงของสายัณห์ นี่แหละครับที่ชาวบ้านนิยมขอฟัง..แต่เพลงสายัณห์มักจะเป็นเพลงเศร้าๆ จึงไม่เหมาะกับการเปิดงานกลางแปลงต่างกับเพลงยอดรัก มักจะมีจังหวะสนุกๆ เปิดได้ตลอดครับ ยิ่งเปิดเสียงดังๆ ก็ยิ่งคึกคัก ชาวบ้านเขาจะชอบนะครับ แต่ถ้าเป็นเพลงช้าๆ ของยอดรักที่ผมชอบเปิดก็มีเพลงนี้ครับ..

        เพลงภาพถ่ายลายเซ็น ผมชอบคำกลอนที่ยอดรักพูดก่อนที่จะเข้าเนื้อร้องเพลง ฟังแล้วบอกได้เลยว่า ยังไง ก็ไม่เคยลืม ยอดรัก สลักใจ

แม้ไม่สวย ไม่งาม ก็ตามเถิด
แต่ก็เกิด จากใจ ใช่มุสา
จึงได้มอบ ตอบแทน ให้แฟนมา
อย่าด่วนลา ลืม ยอดรัก สลักใจ..



9 สิงหา..อย่าด่วนลา ลืม ยอดรัก สลักใจ (2558)


---------------------------------------------------------------


          แม้จะเป็นเรื่องของเพลงเรื่องของนักร้อง แต่ปีที่ผ่านมากับปีนี้ คนหนังอย่างพวกผมและเพื่อนก็ภาคภูมิใจอย่างยิ่งที่พวกเราอุตส่าห์ตามหากากฟิล์มหนังที่ ยอดรัก สลักใจ แสดงไว้กลับมาฉายได้อีกถึง 4 เรื่องคือ สงครามเพลง (ยอดรัก-พุ่มพวง-ดาวใต้) อีแต๋นไอเลิฟยู (ยอดรัก-พุ่มพวง) เสน่ห์นักร้อง (สายัณห์-ยอดรัก-พุ่มพวง) และนักร้องพ่อลูกอ่อน (ยอดรัก-จารุณี) จึงทำให้เราเห็นภาพดารา-นักร้องที่เราชอบชัดเจนยิ่งขึ้นแม้ฟิล์มจะเป็นเส้นฝนบ้าง แต่มันก็คือ สิ่งสุดท้ายที่เราค้นพบ.. ขาดแต่เรื่องแรกคือ เรือเพลง ที่ตามหาเท่าไหร่ก็ยังไม่มีวี่แววครับ.. แม้แต่เจ้าของหนังก็ยังคอยความหวังใจพวกเราด้วย...


จารุณี ใจแก้ว ตอนเด็ก ๆเป็นอะไรไม่รู้ชอบพกหนังสือเพลง หลาย ๆเล่มที่ได้มา ตอนนั้นยังไม่เข้าใจ ว่าทำไมจากหนังสือต่างสำนักจึงมีเพลงเหมือน ๆกันเต็มไปหมด เก็บตังค์ไว้ซื้อหนังสือก็อยากได้เพลงที่หลากหลาย นี่เปิดมามีแต่เพลงสายัณห์ ยอดรัก สุรชัย เพิ่งมาเข้าใจในภายหลังเมื่อโตขึ้นว่า หนังสือเพลงก็คงออกตามเทปที่ออกมาดังในช่วงเวลานั้น ๆ ตอนเป็นเด็ก จึงร้องเพลงได้เนื้อเป๊ะ ๆไม่มีผิดเพี้ยน หยิบเล่มใด แม้ไม่มีปัญญาซื้อเทปฟัง ก็อาศัยฟังตามวิทยุ ก็ร้องตามได้เลย ทั้งพี่เป้าพี่แอ๊วจึงรู้สึกคุ้นเคยมาก แม้จะหนักไปทางพี่เป้าเยอะไปหน่อย แต่เสียงร้อง และบทเพลงของพี่แอ๊วก็เข้ามาอยู่กลางใจโดยไม่รู้ตัวเหมือนเผลอใจรัก ก็รักในตัวตนของทั้งสองท่าน จากกันแต่เพียงร่างกายแต่ความทรงจำที่เคยดื่มด่ำในทุกบทเพลง เพราะอยู่กับยาย ยายเลี้ยงดูมาตั้งแต่เด็ก จึงฟังเพลงนี้ได้อย่างโดนใจมาก ๆค่ะ อยู่กับยาย
พี่แอ๊วพี่เป้าจะยังคงอยู่คู่มิตรรักแฟนเพลงไปตราบนิรันดร์

ด้วยรักและอาลัยยิ่งค่ะพี่แอ๊ว
ขอบคุณมากค่ะคุณมนัส




สลักใจสลักไว้ในดวงจิต...ตราบนิรันดร์...


"มนัส กิ่งจันทร์ ภาคสอง ชุมทางหนังไทยในอดีต" โดยเติมคำว่า "ภาคสอง" คั่นกลางไว้..
อดีตจากฟิล์มภาพยนตร์ ไม่มีวันตาย..