ผู้เขียน หัวข้อ: ทำไม..ถึงจะไปดู "โทน" อีกครั้ง  (อ่าน 37 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ มนัส กิ่งจันทร์

  • มนัส กิ่งจันทร์ ภาคสอง ชุมทางหนังไทยในอดีต
  • Moderator
  • พี่น้อง thaicine Gold member
  • ***
  • กระทู้: 2814
  • พลังใจที่มี 35
  • เพศ: ชาย
    • มนัส ชุมทางหนังไทยในอดีต
ทำไม..ถึงจะไปดู "โทน" อีกครั้ง
« เมื่อ: 05 มีนาคม 2023, 16:35:55 »
          โทน เป็นหนังที่ออกฉายครั้งแรกเมื่อปี 2513 หลังจากเรื่อง มนต์รักลูกทุ่ง มิตร-เพชรา ไม่กี่เดือน.. สมัยนั้นกว่าผมจะได้ดูจากจอหนังกลางแปลงก็ปาเข้าไป 2-3 ปีแล้วครับ.. สิ่งที่ผมจำได้จากหนังเรื่องโทน ก็คือ จำ สังข์ทอง สีใส ร้องเพลง โทน.. และอีกฉากก็คือ สังข์ทองถูกคนร้ายยิงตกเขา แค่นั้นจริง ๆ สำหรับวัยเด็กของผม ต่อมาเวลาได้ยินวิทยุเขาเปิดเพลง โทน ก็นึกถึงหนังเรื่องนี้และอยากจะดูมาก ๆ แต่ก็ไม่เคยมีโอกาสได้ดูเพราะหนังกลางแปลงไม่นิยมฉายหนังเก่าๆ
ในยุคที่วีดีโอเทปให้เช่าได้รับความนิยม หนังเรื่อง โทน ก็ไม่เคยออกมาเป็นเทปวีดีโอให้เช่า ผมมีโอกาสได้ดู โทน ครั้งที่ 2 ก็ที่โรงหนังอลังการ หอภาพยนตร์ฯ เดิม ที่ถนนเจ้าฟ้า ใกล้ ๆ สนามหลวง น่าจะปี 2540 หอภาพยนตร์ฯ มีการนำหนังไทยเก่าๆ ฉายให้ดูจากฟิล์ม โรงหนังเป็นโรงเล็ก ๆ ยังไม่ทันฉาย คนดูก็เต็มโรงหนังแล้วครับ ผมต้องยืนดู ดูสักพักก็เดินออกมาฟังคนที่ไปดูหนังและเข้าโรงหนังไม่ได้ เขายืนจับกลุ่มคุยกัน ผมชอบฟังคนคุยถึงเรื่องหนังไทยเก่า ๆ ครับ ก็อันว่า ครั้งที่ 2 ที่ดูหนังเรื่องนี้ ก็ดูไม่รู้เรื่องอีกครับเพราะสถานที่และเวลาไม่อำนวย

          ผมมาได้ดู โทน อย่างจริง ๆ จัง ๆ ก็เดือนตุลาคม ปี 2545 ที่คุณโต๊ะ พันธมิตร ทำแผ่นวีซีดีออกมาจำหน่าย ก็คิดว่า คนที่เป็นแฟนหนังไทยเก่า ๆ คงจะได้ดูกันแล้วนะครับ แต่วันนี้ ที่นึกอยากจะดู โทน อีกครั้งก็เพราะหอภาพยนตร์ฯ เขานำฟิล์มหนังเรื่องนี้มาสแกนฟิล์มใหม่ เป็นไฟล์ชัด ๆ ขนาด 4K ฉายกันเต็มจอยักษ์เลยครับ วันก่อนผมไปดูเรื่อง แก้ว ทูน-ลินดา มาแล้ว ก็ยอดเยี่ยมเลยครับ นอกจากหนังชัด ๆ แล้ว ก็ยังได้บรรยากาศโรงหนังในอดีตที่ฉายหนังกันเต็มจอใหญ่ ๆ
แหละนี่ก็คือ บทความบางส่วนที่ผมเขียนถึงเรื่อง โทน เมื่อเดือนสิงหาคม ปี 2546 นำมาให้อ่านอีกครั้งนะครับ

          ถ้าย้อนกลับไปเมื่อ 33 ปีที่แล้ว โทน เป็นหนังเรื่องแรกที่สร้างโดยกลุ่มผู้ทำนิตยสารดาราภาพ(Starpics) ซึ่งต้องการสร้างหนังในระบบ 35 มม.สโคป เสียงในฟิล์ม เพื่อเปิดทางเลือกใหม่ให้คนดูหนังไม่ต้องจำเจอยู่กับหนัง 16 มม.พากย์สด ๆ คนกลุ่มนั้นใช้ชื่อว่า สุวรรณฟิล์ม มีคุณชวนไชย เตชศรีสุธี เป็นผู้อำนวยการสร้าง แต่คนที่รับหน้าที่หนักที่สุดก็คือ เปี๊ยกโปสเตอร์ (สมบูรณ์สุข นิยมศิริ) ที่ต้องทำหน้าที่ผู้กำกับการแสดง ทั้ง ๆ ที่ยังไม่มีประสบการณ์ เปี๊ยกจึงต้องไปศึกษาดูงานเกี่ยวกับการสร้างหนังที่โรงถ่ายหนังไดเอะประเทศญี่ปุ่นก่อนและเปี๊ยกยังเป็นผู้เขียนเรื่องโทน เขียนบทหนังเองโดยเปี๊ยกอาศัยความถนัดด้านการวาดภาพมาประยุกต์ใช้ในการเขียนภาพประกอบบทหนังทุกคัดทุกตอน นอกจากนี้ เปี๊ยกยังเป็นผู้คัดเลือกดารานำแสดงต่าง ๆ ด้วยตนเอง แม้จะถูกติงเกี่ยวกับการเลือก ไชยา สุริยัน พระเอกสามตุ๊กตาทอง ซึ่งคนมองว่า ขณะนั้นตกกระแสไปแล้วให้กลับมาเป็นพระเอกอีกครั้ง แต่เปี๊ยกก็มั่นใจว่าไชยาเป็นผู้ที่เหมาะสมที่สุดที่จะรับบทเป็นโทน พระเอกของเรื่อง

          เมื่อโทนเป็นหนังที่สร้างและกำกับโดยกลุ่มคนหน้าใหม่ ทั้งยังไม่เลือกใช้ดาราแม่เหล็กเหมือนอย่างที่ผู้สร้างอื่น ๆ นิยมทำตามใจสายหนัง จึงทำให้โทนเป็นหนังนอกสายตาไป แต่สุวรรณฟิล์มก็ฝ่าฟันอุปสรรคต่าง ๆ จนโทนสร้างเสร็จและเริ่มนำออกฉายในวันที่ 1 สิงหาคม 2513 ที่โรงภาพยนตร์เฉลิมไทย กระแสที่บอกกันปากต่อปาก ก็ทำให้มาคนมาดูหนังเพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ จนสามารถทำรายได้สูงถึง 6 ล้านบาท เป็นอันดับ 2 รองจากหนังของรังสี ทัศนพยัคฆ์ เรื่อง มนต์รักลูกทุ่ง

ถ้าถามว่า โทน ดีอย่างไร ทำไมคนในสมัยนั้นถึงได้ชอบและยังกล่าวถึงทุกวันนี้ เหตุผลที่บอกถึงความสำเร็จของหนังเรื่องนี้ ก็มักจะอยู่ที่

1. เป็นหนัง 35 มม.สโคป เสียงในฟิล์ม ถ้าเป็นสมัยนี้ก็คงไม่น่าตื่นเต้นอะไรเพราะเห็นกันจนชินตาแล้ว แต่สมัยก่อนถือว่า เป็นอะไรที่แปลก น่าทึ่งมาก ๆ แต่ถึงกระนั้น กว่าที่ผู้สร้างหนัง 35 มม.จะทลายกำแพงหนัง 16 มม. ที่ฝังรากลึกยาวนานเพื่อให้คนหันมาดูหนัง 35 มม. ตามมาตรฐานโลกได้สำเร็จ ก็ต้องเรียกว่า ยากเต็มทีเพราะผู้สร้างบางคนต้องการประหยัดต้นทุนในการทำหนัง จึงสร้างแต่หนัง 16 มม. สุวรรณฟิล์มจึงถือว่า เป็นคนรุ่นใหม่ที่กล้าประกาศสร้างและนำเสนอหนังแบบมาตรฐานโลก แม้ว่าจะต้องลงทุนมากกว่าหนัง 16 มม.อีกหลายเท่าตัวก็ตาม เมื่อโทนออกฉาย เราจึงได้เห็นความแปลกใหม่ของการถ่ายภาพที่มีมุมมองได้กว้างมากกว่าเดิม ยิ่งเมื่อมีการนำเสียงพากย์ไปบันทึกลงในฟิล์มหนังด้วย ก็ทำให้ได้เสียงพากย์เป็นแบบเดียวกันทั้งเรื่องทุกรอบที่เข้าดู ต่างจากหนัง 16 มม.ที่ใช้การพากย์และวางเสียงแบ็คกราวน์ประกอบสด ๆ กันทุกรอบ ซึ่งอาจมีการผิดเพี้ยนไปได้

2. มีเพลงประกอบหนังที่ไพเราะ หนังไทยในอดีตแม้ไม่ใช่หนังเพลง แต่ก็มักจะมีเพลงประกอบแทบทุกเรื่อง อย่างน้อยก็ต้องมีเพลงนำเรื่อง ซึ่งมีส่วนช่วยให้คนดูจดจำชื่อหนังได้โดยปริยาย แม้โทนจะไม่ใช่หนังเพลง แต่เพลงประกอบหนังทั้ง 7 เพลง ก็เป็นที่ชื่นชอบของคนดูเรียกได้ว่า เพลงมีส่วนสนับสนุนเนื้อหาของหนังให้ดูดีขึ้น เหตุที่เปี๊ยกนำเพลงมาประกอบหนังก็เพราะว่าเปี๊ยกเป็นคนที่ชอบฟังเพลงอยู่แล้ว นอกจากนี้ ยังนำนักร้องลูกทุ่ง สังข์ทอง สีใส ให้รับมาบทเป็นเพื่อนคู่หูของโทนและโชว์ลีลาร้องเพลง โทน กับ อย่าบอน จนเป็นที่ถูกอกถูกใจคอเพลงลูกทุ่งมาแล้วและยังได้เห็นการปรากฏตัวของวงดนตรี THE IMPOSSIBLES (เศรษฐา-วินัย-พิชัย-อนุสรณ์-สิทธิพร-ปราจีน) ซึ่งนำเพลง ชื่นรัก เริงรถไฟ ปิดเทอม มาร่วมขับร้อง ก่อนที่จะไปเปิดตัวแบบเต็มรูปแบบในปี 2515 จากหนังเรื่อง ระเริงชล ของ ฉลอง ภักดีวิจิตร

3. เป็นหนังที่เปี๊ยกเขียนเรื่องได้อย่างสมเหตุสมผล แม้จะเป็นหนังชีวิตธรรมดา แต่เปี๊ยกก็กล้าที่จะฉีกธรรมเนียมหนังไทยสมัยนั้นให้นางเอกของเรื่องคือ อรัญญา นามวงศ์ ถูกดาวร้ายอย่าง สอาด เปี่ยมพงษ์สานต์ ข่มขืนได้สำเร็จตอนหนังใกล้จบ (หลังจากครั้งแรกพระเอกมาช่วยได้ทัน) แต่เปี๊ยกก็ไม่ได้ทำภาพให้โจ่งแจ้งเหมือนหนังสมัยนี้เพราะเกรงจะเป็นการทำลายจิตใจคนดูมากเกินไป ฉากดังกล่าวเปี๊ยกเริ่มจากให้นางเอกวิ่งหนีดาวร้ายเข้าไปในป่า ขณะที่พระเอกถูกจับมัดติดกับต้นไม้ ตามไปช่วยไม่ได้ ส่วนดาวร้ายก็วิ่งตามนางเอกไป ภาพจะแช่อยู่ที่พระเอก สักพักก็มีแต่เสียงร้องขอความช่วยเหลือจากนางเอกแล้วเงียบไป ภาพตัดกลับมาเห็นดาวร้ายเดินติดกระดุมเสื้อออกจากป่า ตรงมาหาพระเอกที่ทำท่าคอตก แต่ตอนนั้นคนดูก็ยังไม่แน่ใจว่านางเอกจะถูกข่มขืนหรือไม่ จนเมื่อมีฉากพระเอกต่อสู้กับดาวร้าย นางเอกซึ่งในสภาพอิดโรย (แต่เสื้อผ้ายังเหมือนเดิม) ก็คลานเข้ามาหยิบปืนขึ้นยิงใส่ดาวร้ายทั้งน้ำตาด้วยความเคียดแค้น แล้วภาพก็ไปจบที่เตียงคนไข้ในโรงพยาบาลซึ่งพระเอกนอนเจ็บอยู่และมีนางเอกเฝ้าไข้ น้ำตาซึม ตอนนี้เองหนังจึงเฉลยด้วยคำพูดปลอบใจของพระเอกที่ให้นางเอกลืมทุกสิ่งทุกอย่างและเริ่มต้นชีวิตใหม่ด้วยกัน คนดูจึงรู้ว่า นางเอกเสียความบริสุทธิ์ให้ดาวร้ายไปแล้ว ซึ่งเห็นว่าเปี๊ยกเลือกที่จะใช้กิริยาท่าทางแวดล้อมตลอดจนใช้คำพูดสื่อความหมายบอกให้คนดูเข้าใจแทนโดยไม่จำเป็นต้องมีการแสดงภาพประกอบแบบท่าทางเหมือนจริงอย่างที่หนังสมัยนี้นิยมทำ


"มนัส กิ่งจันทร์ ภาคสอง ชุมทางหนังไทยในอดีต" โดยเติมคำว่า "ภาคสอง" คั่นกลางไว้..
อดีตจากฟิล์มภาพยนตร์ ไม่มีวันตาย..