ผู้เขียน หัวข้อ: ด้วยความสงสัยกระเป๋าใส่ฟิล์มหนังมิตร ชัยบัญชา เรื่อง อีแตน ถึงมีฟิล์มอยู่ 7 ม้วน  (อ่าน 23 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ มนัส กิ่งจันทร์

  • มนัส กิ่งจันทร์ ภาคสอง ชุมทางหนังไทยในอดีต
  • Moderator
  • พี่น้อง thaicine Gold member
  • ***
  • กระทู้: 2809
  • พลังใจที่มี 35
  • เพศ: ชาย
    • มนัส ชุมทางหนังไทยในอดีต
        ผมกับพี่แต๋ว จงบุญ คงอ่อน ไปฉายภาพยนตร์เพื่อการเรียนรู้ มิตรศึกษา ในงานลอยกระทง ของ เทศบาลเมืองอรัญญิก จังหวัดพิษณุโลก ครั้งนี้ ก็ฉายได้แต่รอบกลางคืน พอตอนกลางวัน อยู่ว่างๆ ที่ พิพิธภัณฑ์มิตร ชัยบัญชา ก็สงสัยมานานแล้วว่า ทำไม กระเป๋าใส่ฟิล์มหนังมิตร ชัยบัญชา เรื่อง อีแตน ปี 2511 มิตร-อรัญญา ที่คุณบัญชา วาจาสุวรรณ นำตั้งโชว์ไว้ในพิพิธภัณฑ์ฯ ถึงมีฟิล์มอยู่ 7 ม้วน หนังเรื่องนี้อย่างมากก็ไม่เกิน 5 ม้วนเพราะหนังอีแตน นั้นยาว 3 ชั่วโมงพอดี

        เคยถามพี่บัญชาไว้นานแล้ว ท่านก็บอกว่า ตอนซื้อฟิล์มมา ก็มีฟิล์มอยู่ 7 ม้วนแบบนี้แหละ พอเห็นว่า เป็นกระเป๋าฟิล์มรุ่นเก่าๆ ดั้งเดิมและข้างกระเป๋าก็มีชื่อหนังเขียนไว้ว่า อีแตน ด้วย ก็เลยซื้อมา แต่ไม่รู้ว่า ฟิล์มหนังนั้น จะใช่เรื่อง อีแตน หรือไม่ คนขายก็บอกว่า ฟิล์มมันเสียหายแล้ว มันลอกๆ แต่พี่บัญชา ก็ซื้อมา ตั้งใจว่า จะเอามาตั้งโชว์เพราะถือว่า เป็นของเก่า หาดูได้ยาก

        บางท่านอาจจะสงสัยว่า อีแตน เป็นหนัง 35 มม.สโคป พากย์เสียงในฟิล์ม แต่ฟิล์มในกระเป๋านี้ ทำไมเป็นฟิล์ม 16 มม. คือ อย่างนี้นะครับ หนังไทยสมัยก่อน จะนิยมฉายกันด้วยฟิล์ม 16 มม. พากย์สดๆ ก็เริ่มนิยมขึ้นมาราวๆ ปี 2492 และก็ฉายเรื่อยมาจนถึงปลายปี 2515 จึงหมดยุคการสร้างหนัง 16 มม.พากย์สดๆ ในเมืองไทย
ดังนั้น หนังไทยที่สร้างออกฉายในช่วงปี พ.ศ. 2492-2515 แม้หนังตัวเองจะสร้างเป็นหนัง 35 มม.พากย์เสียงในฟิล์ม แต่ถ้าอยากจะให้หนังตัวเองสามารถฉายได้ทุกท้องที่ในจังหวัด ก็จะต้องพิมพ์ฟิล์มย่อขนาดลง ให้เป็นฟิล์ม 16 มม. ด้วย จึงจะสามารถฉายได้ทั่วประเทศเพราะส่วนใหญ่โรงหนังหรือหนังกลางแปลงสมัยนั้น จะมีแต่เครื่องฉาย 16 มม.ครับ

        กลับมาเรื่องฟิล์ม อีแตน.. วันนั้น ว่างๆ ได้โอกาส ผมก็เลยนั่งกรอฟิล์ม 16 มม. ทั้ง 7 ม้วน ออกดู... ดูที่ละม้วน ก็ลุ้นไปว่า จะเป็นหนังเรื่องอะไรบ้าง.. แต่ก็พบว่า เป็นฟิล์มเรื่อง อีแตน ปี 2511 อยู่ 5 ม้วนจบจริง.. ส่วนอีก 2 ม้วนนั้น เป็นหนังฝรั่ง ครับ.. ส่วนสภาพฟิล์มนั้น ก็เป็นอย่างที่คนขายเขาบอกนั่นแหละครับคือ มีภาพลอกๆ อยู่เป็นแห่งๆ ตลอดม้วน

        นี่ ถ้าหนังเรื่อง อีแตน ไม่มีฟิล์มต้นฉบับ (เนกาตีฟ) เก็บอยู่ที่หอภาพยนตร์ฯ หรือไม่มีการทำวีดีโอ ดีวีดี ออกมาจำหน่ายก่อนหน้านี้ กากฟิล์มหนังเรื่อง อีแตน ชุดนี้ ก็จะกลายเป็นฟิล์มสำคัญที่เหลืออยู่เป็นชุดสุดท้ายจริงๆ แล้วนะครับ

        พอพี่บัญชารู้ว่า เป็นฟิล์มหนังเรื่อง อีแตน จริงๆ ก็ดีใจ บอกว่า จะได้เอาไว้ในคนมาเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ฯ ได้ดูแบบจับต้องได้.. ผมก็เลยกรอหาฉากมิตร ชัยบัญชา ในเพลง ระบำไก่ ออกมาไว้ให้คนหยิบดูครับ

        ก่อนหน้านี้ ผมก็เคยพบกากฟิล์มหนัง 35 มม. ของละโว้ภาพยนตร์ ที่พิมพ์เป็นฟิล์ม 16 มม. สโคป อยู่ 2 เรื่องแล้วครับ คือ เงิน เงิน เงิน กับ เกาะสวาทหาดสวรรค์..

        ส่วน ฟิล์ม 16 มม. ม้วนตามภาพล่างนี้ ผมก็สงสัยอีกแหละครับ.. เห็นพี่บัญชา โชว์ไว้ในพิพิธภัณฑ์ฯ สภาพฟิล์มยังดีๆ ก็เลยนำมา กรอ ออกดูภาพ.. ก็เห็นว่า เป็นหนังถ่ายที่ทำกันเอง (ภาษาหนังเรียกว่า หนังบ้าน) แต่เป็นการถ่ายงานกฐินพระราชทาน ทอด ณ วัดพระศรีรัตนมหาธาตุฯ หรือวัดใหญ่ จังหวัดพิษณุโลก เห็นริ้วขบวนเดินแห่ในย่านชุมชน.. มีทั้งฟิล์มขาวดำและฟิล์มสีธรรมชาติ ปะปนกัน ก็ค่อนข้างเก่าครับ เอาไว้ผมฉายทำไฟล์ภาพดิจิทัลเสร็จก่อน จึงค่อยมาดูรายละเอียดและหาข้อมูลเพิ่มเติมว่า เป็นงานกฐินพระราชทานในปีไหนนะครับ

นี่แหละ ยามว่างๆ ในพิพิธภัณฑ์มิตร ชัยบัญชา ครับ..


"มนัส กิ่งจันทร์ ภาคสอง ชุมทางหนังไทยในอดีต" โดยเติมคำว่า "ภาคสอง" คั่นกลางไว้..
อดีตจากฟิล์มภาพยนตร์ ไม่มีวันตาย..