ผู้เขียน หัวข้อ: ก้าวแรกของ นันทวันภาพยนตร์ สุรินทร์  (อ่าน 6112 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ มนัส กิ่งจันทร์

  • มนัส กิ่งจันทร์ ภาคสอง ชุมทางหนังไทยในอดีต
  • Moderator
  • พี่น้อง thaicine Gold member
  • ***
  • กระทู้: 2814
  • พลังใจที่มี 35
  • เพศ: ชาย
    • มนัส ชุมทางหนังไทยในอดีต
สืบเนื่องจาก ผมเขียนถึง หนังกลางแปลงเมืองสุรินทร์ ไว้ใน บทที่ 278 มนัส กับหนังกลางแปลงเมืองสุรินทร์ (2512-2524)
https://www.facebook.com/photo.php?fbid=281863858624925&set=o.156185157894883&type=3&theater

ต่อมา นันทวันภาพยนตร์ สุรินทร์ ก็แชร์ลิงค์ดังกล่าวไปให้แฟนๆ ได้อ่านต่อและมีการแสดงความคิดเห็นด้วย ตามลิงค์นี้
https://www.facebook.com/photo.php?fbid=582050888519938&set=a.414858185239210.95641.414831495241879&type=1&theater

แล้วต่อมาแอดมินของเพจ นันทวันภาพยนตร์ ก็ขอให้ผมเขียนถึง บริการนันทวันภาพยนตร์ ในยุคแรกๆ ผมก็เลยเขียนตามคำขอนะครับ

ก้าวแรกของ นันทวันภาพยนตร์ สุรินทร์
โดย มนัส กิ่งจันทร์
(6 กันยายน 2556)

ตามคำขอของแอดมินนะครับ.. “อยากให้ช่วยแสดงความคิดเห็นในยุคแรกๆ ของนันทวันให้หน่อยครับพี่ ในสายตาผู้ชมสมัยนั้น นันทวันมีความพิเศษหรือแตกต่างจากจ้าวอื่นยังไง ทำไม ยังคงเป็นเจ้าเดียวที่ยืนหยัดมาได้จนถึงทุกวันนี้ครับเพราะแอดมินเองก็โตมาพร้อม ๆ จำความได้ก็ได้ยินชื่อ นันทวัน เลยครับ ในเรื่อง ความคมชัด หนังใหม่ ฉายไม่มีม้วนขาด เครื่องเสียงใหญ่ เสียงดี”

อย่างที่ผมเคยเขียนไว้ในบทความ “หนังกลางแปลงเมืองสุรินทร์ ปี 2512-2524” คิดว่า คงอ่านกันแล้วนะครับ..หากย้อนกลับไปยังเมืองสุรินทร์ สมัยปี 2512 เป็นต้นมา บริการหนังกลางแปลงที่มีชื่อเสียงเป็นที่เลื่องลือก็คือ บริการเหรียญชัยภาพยนตร์ ของ นายสุเมธ เจนครองธรรม สมัยนั้นจะเป็นแค่จอผ้า 2 เสา 2 ลำโพงฮอน เครื่องขยายหลอดประมาณ 250 วัตต์..มีนักพากย์ประจำก็คือ นายสุเมธ  เจ้าของเอง ใช้ชื่อพากย์ว่า “นายเทวดา” แม้ในปี 2512 จะยังอยู่ในยุคของหนัง 16 มม.พากย์สดๆ ผมเองก็เคยเห็นใบปิดหนัง 16 มม.ปิดโชว์ไว้ที่บริการเหรียญชัยภาพยนตร์เหมือนกัน แต่ก็ไม่เคยได้ดูหนัง16 มม.จากบริการเหรียญชัยภาพยนตร์เลยครับ.. ส่วนบริการหนัง 16 มม.ที่มีในยุคนั้นก็คือ บริการรัตนาภาพยนตร์ ของตาเจิ๊ด กับ บริการโพธิ์ทองภาพยนตร์ ถนนหลักเมืองแยกซอยตาดอก..

ความนิยมดูหนัง 16 มม.พากย์สดๆ ในตัวเมืองสุรินทร์ หมดยุคเร็วมากๆ คงมีแต่หนังขายยาซึ่งมาจอดรถนอนพักที่โรงแรมกรุงศรีโฮเต็ล ใกล้ตลาดสดเท่านั้น ที่ยังแวะเวียนมาฉายหนังขายยาอยู่เรื่อยๆ แต่รสนิยมคนสุรินทร์ ก็ชอบดูหนัง 35 มม.จอกว้าง จอใหญ่ ฉายเตาอ๊าคมากกว่า ผมเองก็ชอบด้วยเพราะดูชัดกว่าฉายเครื่องหลอด 16 มม. ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้หน่วยฉายหนังเริ่มพัฒนาตัวเองขึ้น บริการหนังที่เคยฉายหนัง 16 มม.ก็พากันแปลงเครื่องฉาย 16 มม. มาเป็น 16 เตาอ๊าคเพื่อให้สว่างขึ้น เช่น บริการสหมิตรภาพยนตร์ (ตั้งอยู่ริมสระน้ำวัดจุมพลฯ) แต่ต่อมาก็เปลี่ยนมาฉายเครื่อง 35 มม.เต็มตัว..

แม้ว่า ตอนต้นๆ บริการเหรียญชัยภาพยนตร์ ซึ่งมีหน่วยฉายจอเดียว จะเป็นจ้าวยุทธจักรหนังกลางแปลงเมืองสุรินทร์ ผมจำได้ครั้งหนึ่ง มีการปิดถนนธนสารฉายใกล้ๆ ซอยทางขึ้นไปซอยวัดบูรพาราม ตอนนั้นฉายหนังจีน จอ 2 เสา 2 ลำโพงฮอนแค่นั้น แต่เด็กๆ อย่างเรา ดูแล้ว ยิ่งใหญ่มากๆ นักพากย์ก็พากย์เล่นกับคนดู..พระเอกบาดเจ็บ นางเอกจะไปหายามารักษาให้ พระเอกก็บอกนางเอกว่า ..ให้ไปซื้อยาที่ร้านขายยาไต้อันตึ้ง ซึ่งก็ตั้งอยู่ใกล้ๆ จอหนังนั่นแหละครับ เล่นเอาเรียกเสียงฮาจากคนดูมากๆ..

ในความรู้สึกผม บริการหนังที่มาล้มบริการเหรียญชัยภาพยนตร์ได้ ก็คือ บริการวิมานพรภาพยนตร์ ซึ่งน่าจะเป็นปี 2519 ผมทราบภายหลังว่า เป็นการร่วมหุ้นกันตั้งขึ้นของพ่อค้าเชื้อสายจีน มีสำนักงานอยู่ย่านห้องแถวห่วยโหล่ว ใกล้สถานีรถไฟสุรินทร์ ตอนนั้นบริการวิมานพรภาพยนตร์ เป็นจอพลาสติก 3 เสาและมีตู้ลำโพงผอมสูงๆ ข้างละตัว มีฮอน 2 ตัว เครื่องขยายเสียงหลอด 500 วัตต์ มีนักพากย์คนอ้วนๆ พากย์ประจำชื่อ “เทวราช” เวลาพากย์หนังจะชอบขับมอเตอร์ไซด์คันเล็กๆ ไม่สมกับตัวมาที่จอหนัง.. การที่เริ่มมีตู้ลำโพงที่ขับเสียงเบสดังตึมๆ มีเครื่องเสียงที่ดังกล่าว มีหนังที่สีสวยกว่า ไม่ค่อยมีเส้นฝนนี่เอง ที่ทำให้บริการวิมานพร เริ่มแซงหน้าบริการเหรียญชัยภาพยนตร์ไป.. สมัยนั้น มหรสพที่คนนิยมที่สุดของเมืองสุรินทร์ก็คือ หนังกลางแปลง ลำพังจอหนังจอเดียว ไม่เพียงพอกับการว่าจ้างของเจ้าภาพแล้วครับ.. มีเมื่อบริการวิมานพร กล้าลุกขึ้นมาแข่งกับบริการเหรียญชัยได้.. ต่อมาก็เริ่มมีบริการหนังของคนอื่นๆ เริ่มเปิดแข่งกับบริการวิมานพรภาพยนตร์เช่นกัน รวมทั้งที่ข้ามถิ่นมาจากจังหวัดบุรีรัมย์ด้วย คือ บริการสมศักดิ์ภาพยนตร์.. บริการไทยสงวนภาพยนตร์.. ช่วงนั้น เมืองสุรินทร์เต็มไปด้วยบริการหนังกลางแปลง แรกๆ ก็จะมาตั้งสำนักงานย่านห่วยโหล่วและก็ขยายไปที่คิวรถ บขส. (ที่อยู่ปัจจุบันของนันทวันภาพยนตร์)...

การมาของ บริการสมศักดิ์ภาพยนตร์.. บริการไทยสงวนภาพยนตร์..มาพร้อมกับความแปลกใหม่คือ มีไฟกะพริบวิ่งรอบจอหนัง มีตู้ลำโพงที่อ้วนขึ้น บางครั้งก็จอหนึ่งก็มี 4 ตู้ลำโพง สร้างความแปลกใหม่ให้หนังกลางแปลงยุคนั้น..การแข่งขันจึงเริ่มขยายตัวมากขึ้น เริ่มมีการตั้งบริการหนังมากขึ้น บางบริการก็เพิ่มหน่วยฉายเป็น 2 จอ 3 จอขึ้นมา..รวมทั้งบริการสมยศภาพยนตร์ ของตาเจ ที่อยู่ในซอยตาดอก ที่ผมเคยไปหัดฉายหนังกลางแปลง ก็เกิดขึ้นมาในช่วงนี้ด้วย..จุดเด่นจุดขายของหนังกลางแปลงในยุคนั้น จะเน้นกันที่หนังใหม่ๆ..ส่วนเรื่องจอ เรื่องเครื่องขยายเสียง ก็เห็นเหมือนๆ กัน ยังเป็นเครื่องขยายหลอด หากจะแข่งจริงๆ ก็มักจะมีการยุบ 2 หน่วยมารวมกัน..สมัยนั้น ผมดูหนังกลางแปลงแทบทุกคืน บางคืนในตัวเมืองจะมีหลายจอ หลายที่ ผมก็จะวิ่งไปดูจอที่ฉายหนังใหม่ๆ กระทั่งคืนหนึ่ง น่าจะเป็นปี 2523 แล้วล่ะครับ ผมจึงได้เห็นบริการหนังน้องใหม่อีกบริการหนึ่ง.. คืนนั้น เขาตั้งจอฉายที่ถนนก่อนถึงหน้าเทศบาลเมืองสุรินทร์ เลยสี่แยกห้างทองย่งล้งไปนิดหน่อย.. เป็นจอเสาแป๊บเหล็กเหมือนจอบริการอื่นๆ แต่มีการทำไฟแบล็คไลท์ส่องชื่อบริการหนังที่เขียนด้วยสีสะท้อนแสงติดอยู่บนจอ มีการติดธง.. คืนนั้น ผมได้เห็นชื่อบริการ “ เล้งฟิล์ม เสนอ นันทวันภาพยนตร์ ” เป็นครั้งแรก..

ค่ำคืนนั้น ผมยืนดูผู้ชาย 2 คน กำลังเปิดเครื่องขยายเสียง..ทดสอบไมโครโฟน..เปิดเพลงเรียกคน..คนที่ลองไมค์ เข้าใจว่าจะเป็น นันทวันน้อย..เพราะมีการลองพากย์ ลองพูดชื่อหนังจีนว่า.. มังกรหยก ด้วย..อีกคนไม่รู้จัก แต่ถ้าจะให้เดาๆ ตอนนี้ ก็น่าจะเป็น เฮียเล้ง นะครับ..นั่น เป็นครั้งแรกที่ผมได้ดูผลงานของบริการนันทวันภาพยนตร์.. พบกันครั้งแรก ก็ประทับใจ การเปิดเพลงที่ฟังสบายๆ ไม่หนวกหูจนเกินไป เสียงนุ่มนวล เป็นการเปิดจากเครื่องเล่นแผ่นเสียง ใช้เครื่องขยายระบบสเตริโอ ไม่ใช่โมโนอย่างที่เคยเห็นๆ มา..มีการทดสอบเปิดลำโพงซ้ายที ขวาทีด้วย..การฉายหนังก็ชัด ก็สว่างดี ข้อสำคัญ เขามีแต่หนังใหม่ๆ.. หลังจากคืนนั้น ชื่อเสียงของบริการนันทวันภาพยนตร์ ก็เริ่มถูกพูดถึงมากขึ้น ถ้ามีหนังกลางแปลงและเป็นบริการนันทวันภาพยนตร์แล้ว เป็นอันเสร็จผมทุกครั้ง.. น่าเสียดายที่ผมมีโอกาสได้ดูผลงานของนันทวันภาพยนตร์ถึงเพียงปลายปี 2524 เพราะต้องเข้าไปเรียนต่อที่กรุงเทพฯ

ในช่วงก่อนปลายปี 2524 นั้น บริการนันทวันภาพยนตร์เรียกว่า แรงสุดๆ ในเมืองสุรินทร์.. เจ้าภาพใกล้ไกลไหนๆ ก็อยากแต่จะจ้างบริการนันทวันภาพยนตร์ไปฉาย ขนาดคนแก่ๆ แถวบ้านผมที่ได้ดูหนังนันทวันแล้ว ยังพูดเล่นๆ ว่า “ถ้ากูตาย ให้เอาหนังนันทวันมาฉายนะ..”  ผมดูหนังบริการนันทวันมาตลอด แต่ก็ไม่ได้สังเกตว่า นักพากย์ “นันทวันน้อย” หายไปจากนันทวันตั้งแต่เมื่อไร..อาจจะเป็นเพราะผมได้หลงใหลในตัวนักพากย์คนใหม่ของนันทวันที่ชื่อ “ลมโชย” แล้วก็ได้..ช่วงนั้น ลมโชย เหมือนเป็น เสน่ห์ของบริการนันทวันเพราะลีลาการพากย์ตลกๆ พากย์สนุก จนเป็นแรงดึงให้เจ้าภาพที่ชอบบริการนันทวันเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ชอบบริการนันทวันเพิ่มมากขึ้นอีก..ขณะนั้น ก็ยังเป็นจอเหล็กแป๊บ น่าจะ 4 เสา ตู้ลำโพงอ้วนๆ ตั้งเรียงข้างละ 2 ตัว..เครื่องขยายเสียงหลอด ไม่แน่ใจว่าจะเป็นยี่ห้อ ประดิษฐ์เจริญ หรือเปล่า  ตัวผมเองติดตามดูบริการนันทวันบ่อยๆ ก็เพราะ ลมโชย นี่แหละครับ..เข้าใจว่า พอบริการนันทวันดังขึ้นเรื่อยๆ หน่วยฉายไม่พอรองรับเจ้าภาพที่มาแย่งกันมาจ้าง ก็เลยต้องเปิดหน่วยฉายใหม่อีกและมีนักพากย์ที่ชื่อ “ดอกรัก” ประจำหน่วย แต่ว่าก็ว่าเถอะ เจ้าภาพชอบ ลมโชย มากกว่า.. มีครั้งหนึ่ง เจ้าภาพคือ บ้านทวีสุข อยู่แถวถนนเทศบาล 3 ใกล้คิวรถตลาดสด จะจ้างบริการนันทวัน แต่หน่วยฉายไม่ว่าง ก็เลยมาจ้างบริการสมยศภาพยนตร์ ของพ่อเพื่อนแทน แต่มีเงื่อนไขว่า ต้องให้ ลมโชย  มาพากย์หนังจีนด้วย..ซึ่งพ่อเพื่อนก็จัดให้ (เขียนไว้แล้วในบทความที่อ้างถึง)

สมัยนั้น หนังกลางแปลง เวลาได้หนังมาใหม่ๆ ก็มักจะมีการนำไปฉายล้อมผ้าเก็บสตางค์ก่อน แถวๆ บ้านผมที่นิยม ก็มักจะล้อมผ้าฉายที่บริเวณสี่แยกต้นโพธิ์ทางไปลำชี..ครั้งหนึ่ง ผมเคยไปลอดผ้าดูหนังบริการนันทวันเหมือนกัน เขาฉายกัน 2 เรื่องควบ มีหนังจีนเรื่องหนึ่ง หนังไทยเรื่องหนึ่ง เวลาลอด พวกเราก็จะลอดกันตอนเขาฉายข่าววรฯ เพราะคนดูจะยืนขึ้นเคารพในหลวง เราก็ลอดผ้ากันตอนนั้นแหละครับ.. มีครั้งหนึ่งที่ดูบริการนันทวันฉายหนังเรื่อง มนต์รักขนมครก (เด่น-อัจฉรา) ช่วงไตเติ้ลเรื่องจะมีเพลง กรุงเทพฯราตรี..แม้จะเป็นหนังมีเสียงพากย์แล้ว แต่ ลมโชย ก็ยังหยิบไมค์มาพากย์เล่นๆ แซวฉากที่ตำรวจจราจรจะรีดไถรถสิบล้อ...เล่นเอาคนดู นี่ฮามากๆ .. 

บทสรุปในปี 2524 ว่า ทำไม บริการนันทวันภาพยนตร์ จึงวิ่งแซงหน้าบริการหนังเจ้าอื่นๆ ในเมืองสุรินทร์ ผมว่า อยู่ที่คุณภาพที่คงเส้นคงวา ไม่ว่าจะเป็นจอหนัง เครื่องขยายเสียง การเปิดเพลง การมีนักพากย์ที่คนดูชอบ..และสิ่งสำคัญในยุคนั้นก็คือ การซื้อหนังใหม่ ๆ มาไว้บริการ..แต่ถ้าหากถามว่า แล้วพอมีบริการอื่นๆ ทำแบบนันทวันบ้าง..อะไรที่ทำให้นันทวันไม่ตก..คำตอบก็อยู่ที่ว่า คุณภาพที่คงเส้นคงวานั้น นันทวันก็ไมได้หยุดอยู่นิ่งเพราะยังคงพัฒนาตัวเองตลอดเวลา..พยายามสรรหาสิ่งแปลกๆ ใหม่ๆ เข้ามาเสริมหน่วยฉาย ปรับปรุงจอ เครื่องเสียง เครื่องฉายตลอด.. มีอยู่ช่วงหนึ่งที่ กระแสหนังกลางแปลงตกไป บางบริการก็เลิกฉายหนัง เปลี่ยนหน่วยฉายเป็นดิสโก้เธคกลางทุ่ง..แต่นันทวันกลับประสานสองสิ่งให้มาอยู่รวมกัน.. 
..............




"มนัส กิ่งจันทร์ ภาคสอง ชุมทางหนังไทยในอดีต" โดยเติมคำว่า "ภาคสอง" คั่นกลางไว้..
อดีตจากฟิล์มภาพยนตร์ ไม่มีวันตาย..