ผู้เขียน หัวข้อ: ม็อคค่าปาท่องโก๋ : “โรงหนังภูธร” ในยุคเปลี่ยนผ่าน (ตอนแรก)  (อ่าน 211 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ Sutham

  • Thaicine Movie Team
  • พี่น้อง thaicine Gold member
  • *
  • กระทู้: 1357
  • พลังใจที่มี 132
  • เพศ: ชาย
  • หยุด เท่ากับความสำเร็จ จริงๆนะ
สวัสดีครับ

      ขออนุญาต นำคอลัมน์ "ม็อกค่าปาท่องโก๋" ที่ผมเขียนประจำในเนชั่นสุดสัปดาห์นั้น มาเผยแพร่ให้ได้อ่านกัน เพื่อขอคำแนะนำ คำติชม เพื่อปรับปรุงงานเขียนต่อไปในอนาคตเรื่อยๆครับ ขอบคุณครับ
 
เนชั่นสุดสัปดาห์ เล่มที่ 1108

“โรงหนังภูธร” ในยุคเปลี่ยนผ่าน (ตอนแรก)
 
        จากยุคหนังฟิล์ม 16 มม.มาสู่ระบบ 35 มม.และระบบ Digital ในปัจจุบัน ที่มาพร้อมกับระบบ 3D และ 4DX
 
        จากเวลาทองของโรงหนัง Stand Alone มาสู่ช่วงรุ่งเรืองของโรงหนัง Multiplex และการเกิดขึ้นของห้างสรรพสินค้า Community Mall
 
        ธุรกิจสายหนังต่างจังหวัด และโรงหนังภูธร ต่างก็ยืนหยัดและเดินหน้ามาได้เรื่อยๆ ไม่ว่าสภาพสังคมจะเปลี่ยนไปเช่นใด
 
        เมื่อมาถึงยุคเปลี่ยนผ่าน ทั้งธุรกิจก็ผลัดรุ่นผู้บริหารเป็นรุ่นลูกขึ้นมาสืบทอดกิจการ มีโมเดลน่าสนใจของโรงหนังภูธรแห่งหนึ่ง ซึ่งว่ากันว่ากำลังเป็นที่จับตามองของสายหนังภาคอีสาน
 
     ม็อคค่า ปาท่องโก๋ ได้รับเกียรติจากผู้บริหารโรงภาพยนตร์เครือเนวาด้า ซึ่งสยายปีกครอบคลุม 4 จังหวัดสำคัญของภาคอีสาน (อุบล-อุดร-สกล-ร้อยเอ็ด) “หนุ่ม-ณัฐพล พันธ์นิกุล” ทายาทเนวาด้าแห่งอุบลราชธานี
 
Mr. Coffee : ช่วงเล่าประวัติความเป็นมาของ “เนวาด้า”
 คุณหนุ่ม : เนวาด้า ก่อตั้งเมื่อ พ.ศ.2518 โดยเกิดจากความต้องการทำธุรกิจโรงภาพยนตร์ ในจังหวัดอุบลราชธานีของคุณพ่อของผม ซึ่งในขณะนั้นก็มีโรงภาพยนตร์อยู่แล้วหลายแห่ง โดยไม่ได้มีพื้นฐานทางด้านธุรกิจภาพยนตร์มาก่อนแต่อย่างใด ก็เริ่มจากการติดต่อหาหนังมาฉาย ยุคแรกๆ จะเป็นหนังแขก หนังอินเดีย สมัยนั้นคนดูหนังแขกเยอะ ซึ่งเมื่อก่อน หนังที่มาฉายจะเป็นเครือใคร โรงใคร ก็จะฉายหนังที่ตนเองได้ติดต่อมา ไม่ซ้ำกัน หนังโรงนี้ก็จะฉายของค่ายนี้
 
Mr. Coffee : สมัยนั้นเป็นโรง Stand Alone
 คุณหนุ่ม : ใช่ครับ สมัยนั้นยังเป็นโรงภาพยนตร์ขนาดใหญ่โรงเดียว และจากหนังอินเดีย ก็เริ่มมีฉายหนังจีน หนังฝรั่ง หนังไทย เพิ่มขึ้นมา ราคาตั๋วเริ่มแรกก็อยู่ที่ประมาณที่นั่งละไม่ถึง 10 บาท หลังจากนั้นธุรกิจโรงหนังซบเซาลง จากการเข้ามาของโทรทัศน์ วิดีโอ มีผลกระทบทำให้โรงภาพยนตร์หลายๆ แห่งในจังหวัด มีปัญหา จากที่เคยมีถึง 5 โรง ก็ทยอยปิดตัวลงจนเหลือแต่เนวาด้าแห่งเดียว ประมาณช่วงปี พ.ศ. 2533-2534
 
Mr. Coffee : เนวาด้าผ่านช่วงซบเซานั้นไปได้อย่างไร
 คุณหนุ่ม : จากการที่เหลือที่เดียว ทำให้มีปริมาณหนังที่จะฉายมากกว่าจำนวนโรง คุณพ่อของผม ก็เลยตัดสินใจสร้างโรงภาพยนตร์ โรงที่ 2-3-4 ประมาณ พ.ศ. 2534-2535 โดยปรับปรุงพื้นที่เดิมทั้งหมด เปลี่ยนชื่อโรงเป็น  A-B-C-D-E และสร้างต่อไปเรื่อยๆจนปัจจุบันมีทั้งหมด 7 โรง A ถึง G จึงกลายเป็น เนวาด้ามัลติเพล็กซ์ และเป็นมัลติเพล็กซ์ แห่งแรกๆ ในประเทศไทย
 
Mr. Coffee : หลังจากนั้นมีการปรับปรุงอะไรเพิ่มเติมบ้าง
 คุณหนุ่ม : ก็มีในเรื่องของระบบเสียง โดยปรับปรุงเป็นระบบเสียงรอบทิศทาง เป็นแห่งแรกในโรงภาพยนตร์ในส่วนภูมิภาค เรื่องที่ฉายเป็นระบบเสียงรอบทิศทางเรื่องแรกน่าจะเป็นเรื่อง Apollo 13 ปัจจุบันที่เนวาด้าจะเป็นระบบเสียงรอบทิศทาง 7.1 ทั้งหมด
 
Mr. Coffee : จำได้ว่าโฆษณาในหนังสือพิมพ์สมัยก่อน เนวาด้าจะเป็นโรงภูมิภาคมีรอบฉายที่ฉายพร้อมกับโรงภาพยนตร์ในเขตกรุงเทพฯ
คุณหนุ่ม : ใช่ครับ ตรงนี้ถือว่าเราทำได้ดี ต้องขอย้อนกลับไปที่สมัยที่ยังไม่มีการพากย์เสียงไทยลงไปในฟิล์ม (สำหรับโรงต่างจังหวัดที่นิยมดูหนังพากย์ไทย) ดังนั้นจะต้องมีการพากย์และอัดเสียงพากย์ลงเทปเพื่อนำไปเปิดพร้อมกับหนังที่ฉาย ตอนนั้นโรงเนวาด้าได้รับการยอมรับว่าเป็นโรงที่มีห้องอัดเสียงพากย์ที่ดีมาก นักพากย์ส่วนใหญ่จะชอบมาพากย์ที่นี่ ทำให้โรงเนวาด้าจะได้ฉายหนังเร็วกว่าโรงต่างจังหวัดอื่นๆ เพราะจะต้องมาพากย์อัดเสียงไทยที่นี่แล้วจึงส่งต่อให้จังหวัดอื่นต่อไป แม้ภายหลังจะมีการพากย์เสียงไทยลงบนฟิล์มแล้ว แต่โรงเนวาด้าอุบลราชธานีก็ยังคงได้ฉายหนังพร้อมกรุงเทพฯ อยู่เหมือนเดิมครับ
 
Mr. Coffee : เคยมีปรากฏการณ์ที่เกี่ยวกับหนังไทยอะไรเกิดขึ้นที่นี่บ้าง
 คุณหนุ่ม : หนังไทยมีทั้งช่วงที่ดี และช่วงที่ซบเซา ยุคหนึ่งหนังไทยวัยรุ่นก็ทำรายได้ได้ดี แต่ถ้าระดับปรากฏการณ์น่าจะเป็น เรื่อง บางระจัน กับสุริโยไท สุริโยไทเป็นหนังที่มีหน่วยราชการเหมาโรงค่อนข้างเยอะ นักเรียนก็มาดู ฟิล์ม 1 ชุด ทำรอบฉายได้เกือบ 30 รอบต่อวัน หลังจากช่วงนั้น หนังไทยก็เริ่มดีขึ้น
 
Mr. Coffee : แล้วก่อนจะมาถึง พี่มาก...พระโขนง มีหนังไทยที่น่าสนใจอีกหรือไม่
 คุณหนุ่ม : หลังจากยุค บางระจัน กับสุริโยทัย หนังไทยจากค่าย GTH ก็ได้รับความนิยมและทำเงินมากกว่าค่ายอื่นๆ และในหนังไทยสัปดาห์นี้ ก็ถือว่าเป็นปรากฏการณ์เช่นกันกับ แหยมยโสธร 3 คนดูแน่นกว่าพี่มาก...พระโขนง ในช่วงวันแรกๆด้วยซ้ำ
 
Mr. Coffee : ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับทางเนวาด้าจากการที่ค่ายภาพยนตร์ยักษ์ใหญ่เข้ามาเปิดสาขาในจังหวัดอุบลราชธานี
 คุณหนุ่ม : ประมาณปี 2548 ทางเครือ Major ก็เข้ามาเปิดโรงภาพยนตร์ในอุบลราชธานี แน่นอนว่าทางเนวาด้าก็เสียส่วนแบ่งไปให้กับทาง Major พอสมควร แต่ตลาดหนังโดยรวมในจังหวัดก็โตขึ้นด้วย ทางเนวาด้าก็ยืนราคาเดิม เพราะทาง Major ก็มีราคาค่าตั๋วที่แพงกว่าทางเรา ทั่วไปๆ ก็จะแพงกว่าทางเราประมาณที่นั่งละ 10-20 บาท แต่ราคาขนมขบเคี้ยวก็จะแตกต่างกันเยอะพอสมควร ของทางเนวาด้า ป็อบคอร์น ราคาก็ประมาณ 25-30 บาท รวมน้ำดื่มแล้วก็ไม่เกินค่าตั๋วหนัง
 
Mr. Coffee : มีปรับตัวและการวางแผนธุรกิจอย่างไรบ้าง
 คุณหนุ่ม : ที่จริงตั้งแต่ประมาณช่วงปี 2547 ทางเนวาด้าก็ได้มีการขยายสาขาโรงภาพยนตร์ไปที่จังหวัดสกลนคร และปี 2548 ขยายไปที่จังหวัดร้อยเอ็ด ซึ่งใน 2 จังหวัดที่กล่าวมาขณะนั้น ก็จะมีแต่โรงภาพยนตร์ขนาดเล็ก ยังไม่มีเครือใหญ่เข้าไป แต่ ณ ปัจจุบัน ทาง Major ก็เริ่มขยายไปจังหวัดร้อยเอ็ดและสกลนครแล้วเช่นกัน
 
Mr. Coffee : การขยายสาขาของทั้งเนวาด้าและ Major มีผลอย่างไร ทำให้เกิดการแข่งขันมากขึ้นหรือไม่ ทำให้คนหันมาดูหนังมากขึ้นหรือไม่
คุณหนุ่ม : ก็ทั้ง 2 ทาง แน่นอนว่าเราก็กระทบกระเทือนเหมือนทุกครั้งที่มีเครือใหญ่เข้ามา แต่ก็ขึ้นอยู่กับที่ผู้บริโภคจะเลือก ลูกค้าของทางผมก็ค่อนข้างจะเหนียวแน่น แรกๆที่อุบลราชธานี ทาง Major ก็มีจุดเดียว หลังจากนั้นทางค่าย SF ก็เข้ามา และหลังจากมีเซ็นทรัลมาเปิด Major ก็เข้ามาเพิ่มอีก
 
Mr. Coffee : สรุปแล้วปัจจุบัน ที่อุบลราชธานี มีโรงภาพยนตร์ทั้งหมดกี่แห่ง
 คุณหนุ่ม : มีทั้งหมด 4 แห่ง เนวาด้ามี 7 จอ Major แห่งแรกมี 5 จอ SF มี 7 จอ และ Major แห่งใหม่ที่เซ็นทรัล มี 8 จอ รวมแล้วทั้งหมดก็ 27 จอ น่าจะเยอะที่สุดแล้วในจังหวัดที่ไม่ใช่กรุงเทพฯ
 
Mr. Coffee : การที่มีจำนวนโรงมากขนาดนี้ เราปรับตัวอย่างไร มีการวาง Positioning ของตัวเองไว้อย่างไร
 คุณหนุ่ม : ตลาด Premium ก็คงปล่อยให้เจ้าอื่นๆไป ของผมเป็นระดับกลางๆ
 
Mr. Coffee : ราคาตั๋วภาพยนตร์ของเนวาด้าเป็นอย่างไร
 คุณหนุ่ม : ถ้าวันพุธ Movie day ก็ราคา 50 บาท วันอื่นก็เริ่มต้นที่ 70 บาท วันสุดสัปดาห์ก็เริ่มต้นที่ 80 บาท ของผมเน้นให้กลุ่มผู้ชมดูหนังได้ไม่ลำบากมากเกินไปนัก
 
Mr. Coffee : ต้นทุนของโรงภาพยนตร์ในการฉายหนัง 1 รอบ ต้องมีคนดูกี่คนถึงจะไม่ขาดทุน
 คุณหนุ่ม : ตรงนี้ตอบยาก แต่ทางผมไม่มีนโยบายงดการฉาย ถึงแม้จะมีคนดูแค่คนเดียว จะงดก็ต่อเมื่อมีไม่เลย แต่ถึงจะไม่มีเลย ก็จะฉายไปประมาณ 10 นาทีเผื่อมีคนเข้ามาดู เหตุการณ์นี้มีในกรณีหนังที่ไม่ได้รับความนิยม และฉายเป็นวันท้ายๆใกล้จะออกจากโปรแกรม แต่ถ้าตัวเลขประมาณคร่าวจริงๆ ก็ต้องมีต่อ 1 รอบประมาณ 10 ที่นั่ง ถ้า มีแค่ 5-6 ที่นั่ง ไม่พอแน่นอน




5/223 หมู่23
หมู่บ้านอิงลดา ถนนบางพลี-ตำหรุ
ตำบลบางพลีใหญ่
อำเภอบางพลี
จังหวัดสมุทรปราการ
10540
โทร 087-0750099

suthum07@gmail.com

หมายเลขบัญชี 450-2-16040-6
ออมทรัพย์
ธนาคาร กสิกรไทย สาขา ถนนบางนาตราด  กม.18

Thawatchai

  • บุคคลทั่วไป
ดีครับ  ;D ขอบคุณที่นำมาให้อ่านกัน ;D