ผู้เขียน หัวข้อ: บทที่ 9 ชุมทางหนังไทยในอดีต เสนอฉาย หนังขายยา อีกหนึ่งความบันเทิงของไทย  (อ่าน 815 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ ฉัตรชัยฟิล์มshop

  • Thaicine Movie Team
  • Moderator
  • พี่น้อง thaicine Gold member
  • ***
  • กระทู้: 11610
  • พลังใจที่มี 441
  • เพศ: ชาย
  • รักการฉายด้วยฟิล์ม

บทที่ 9
ชุมทางหนังไทยในอดีต เสนอฉาย
หนังขายยา อีกหนึ่งความบันเทิงของไทย
โดย มนัส กิ่งจันทร์

(facebook 19 เมษายน 2556)


          การฉายหนังในประเทศไทยเรานั้น มีมานานแล้วและมีการพัฒนาการฉายมาเรื่อยๆ จนถึงปัจจุบันนี้ การฉายหนังนั้นจะมีอุปกรณ์สำคัญอย่างน้อย 3 อย่างก็คือ เครื่องฉายหนัง จอหนัง แล้วก็ฟิล์มหนัง (แต่ต่อมามีการเพิ่มอุปกรณ์ต่างๆ มากขึ้นอีก) การฉายหนังเป็นความบันเทิงที่ต้องเก็บสตางค์จากคนดู หนังในยุคแรกๆ จึงต้องมี โรงฉายหนังหรือโรงหนัง ซึ่งจะเป็นโรงที่ทำด้วยไม้ โรงคอนกรีต จะติดแอร์หรือติดพัดลมก็ตาม โรงหนังจะเก็บสตางค์จากคนมาดูจากการตีตั๋วหนัง... แล้วโรงหนังก็ต้องมีหนังมาเปลี่ยนโปรแกรมฉายหนังไปเรื่อยๆ บางเรื่องอาจจะฉายเพียง 2-3 วัน บางเดือนก็ฉายเป็นเดือน จากนั้นก็มีการนำไปฉายต่อในโรงอื่น ๆ อีกต่อไป

          หนังขายยา ก็เกิดขึ้นมาจากการมีโรงหนังนี่แหละครับ เพราะเมื่อหนังเรื่องๆ ผ่านการฉายจากโรงมาแล้ว จะต้องมีการระบายฟิล์มหนังออกไปฉายในรูปแบบอื่น ๆ ต่อไป ซึ่งนี่เองที่ทำให้เกิด การฉายหนังกลางแปลงและหนังขายยาตามมา ถ้าเป็นหนังกลางแปลงที่เก็บสตางค์จากคนมาดู ก็จะเรียกว่า หนังเร่หรือหนังปิดวิก ซึ่งวิธีการฉายของเขาจะมีการกั้นอาณาเขตทำเป็นโรงหนังกลางแจ้ง (ฉายกลางคืน) เพื่อเก็บสตางค์จากคนดู ก็คล้าย ๆ การยกโรงหนังมาฉายใกล้ ๆ บ้านนั่นแหละครับ แต่ถ้าเป็นหนังกลางแปลงที่ฉายให้ดูฟรีๆ นั้น ส่วนใหญ่เขาจะมีเจ้าภาพว่าจ้างให้มาฉายในงานบุญงานพิธีต่างๆ เช่น ฉายในงานศพ งานทำบุญตามประเพณีต่างๆ งานศาลเจ้า ฯลฯ ส่วนการกำเนิดของหนังขายยานั้น ยังไม่มีข้อสรุปที่แน่นอนว่า เกิดขึ้นเพราะต้องการจะขายยา (รักษาโรค) ก่อน จึงมีการใช้การฉายหนังเป็นเครื่องมือ หรือว่าเกิดจากการต้องการจะฉายหนังเก็บสตางค์จากคนดูก่อน แต่ใช้วิธีเอาสตางค์ผ่านการขายยารักษาโรคซึ่งเป็นปัจจัย 4 สำคัญในสมัยก่อน แต่ที่แน่ๆ ก็คือ จะต้องมีการฉายหนังและจะมีการหยุดฉายหนังเพื่อขายยา ซึ่งวิธีการฉายและหยุดนั้น ก็ขึ้นอยู่กับว่า จะนำเสนออย่างไรไม่ให้ชาวบ้านเกิดความไม่พอใจ

          ถ้าถามว่า หนังขายยาเริ่มมีมาแต่เมื่อไร ก็อาจตอบแบบกำปั้นทุบดินว่า ก็มีมาพร้อม ๆ กับการเข้ามาของหนังในประเทศไทยนั่นแหละครับ แต่ส่วนใหญ่หนังขายยา เขามักจะออกไปฉายแถบชานเมืองหรือที่ไกล ๆ ซึ่งเป็นชนบทที่จะหาซื้อยาแบบนั้นได้ยาก หนังขายยาจึงต้องเร่เข้าไปตามตำบลหรือหมู่บ้านที่ไม่ค่อยจะมีสินค้าประเภทนั้นขายอยู่ นาน ๆ จึงจะเห็นหนังขายยาปักจอฉายกันในตัวเมืองสักครั้ง การไปฉายหนังขายยาโดยส่วนใหญ่มักจะใช้รถยนต์เป็นพาหนะ แต่ก็มีบางแห่งที่ใช้เรือหรือใช้เกวียน แต่ส่วนใหญ่ถ้าใช้รถยนต์ก็จะมีการตกแต่งรถยนต์โดยใช้สินค้าของตัวเองเขียนหรือวาดติดกับตัวรถเสมอ แบบว่า พอวิ่งผ่านไปที่ไหน ก็จะเห็นโฆษณาสินค้าบนตัวรถทันที ส่วนบนของหลังคารถก็มักจะมีลำโพงกระจายเสียง ซึ่งถ้าเป็นยุคเก่า ๆ จะเป็นลำโพงฮอร์น ซึ่งอย่างน้อยก็ต้องมี 4 ตัวเพื่อให้กระจายเสียงได้ครบ 4 ทิศ ในตัวรถก็จะมีการจัดวางให้มีที่ตั้งเครื่องฉายหนัง เครื่องขยายเสียง ส่วนจอหนังของหนังขายยานั้น จะไม่ค่อยยุ่งยากอะไร อาจเป็นจอผ้าหรือจอที่ทำด้วยพลาสติกสีขาว ขอบจอก็นิยมใช้สีน้ำเงินเข้ม แล้วที่ขอบนั้นก็เขียนชื่อบริษัทขายยาบ้าง ชื่อสินค้าบ้างติดไว้…


          ลีลาและวิธีการนำเสนอของหนังขายยาแต่ละบริษัทจะแตกต่าง ๆ ไป ซึ่งการเดินทางออกไปฉายหนังขายยามีอย่างน้อย 2 คนก็ทำงานได้แล้ว โดยคนหนึ่งอาจเป็นทั้งคนขับรถ คนพากย์หนังหรือโฆษก อีกคนหนึ่งเป็นคนฉายหนังและช่วยขายยา.. แต่การจะออกไปขายยาในท้องที่ใดนั้น ก็จะต้องสุ่มหรือถามจากคนละแวกนั้นก่อนว่า ก่อนหน้านั้นสักเดือนหรือครึ่งเดือน มีใครเคยมาฉายหนังขายยาก่อนหรือไม่ ถ้าได้จังหวะเหมาะว่า เห็นว่า ฉายแล้วไม่ขาดทุนแน่ ๆ ก็เริ่มกระบวนการเตรียมฉายหนังขายยาเลย อย่างแรกก็ต้องถามให้ได้ความจากคนในพื้นที่ก่อนว่า ตรงไหนหรือบริเวณไหนที่เคยมีการฉายหนังขายยามาก่อน ก็ฉายกันมันตรงนั้นแหละครับเพราะคนดูจะคุ้นเคยกับชื่อสถานที่

          จากนั้นก็ขออนุญาตเจ้าของที่ก่อน ซึ่งส่วนใหญ่ก็ไม่ค่อยมีปัญหาหรอกครับเพราะสมัยนั้น ใครๆ ก็อยากดูหนังทั้งนั้น บางแห่งก็ให้ฉายฟรี ๆ ไม่เก็บค่าเช่าที่ แต่ถ้าเก็บ ก็ไม่ค่อยแพงหรอกครับ บางครั้งก็ 10-50 บาทเท่านั้น จากนั้นก็ไปบอกผู้ใหญ่บ้าน หรือกำนัน หรือตำรวจท้องที่เพื่อขอใช้เครื่องขยายเสียง ซึ่งก็ไม่ค่อยมีปัญหาเช่นกัน

          เมื่อทุกอย่างติดต่อเสร็จสรรพลงตัว ซึ่งต้องทำเสร็จก่อนเที่ยงวันก็จะยิ่งดี เพราะจะได้มีเวลาออกรถวิ่งรอบหมู่บ้านเพื่อโฆษณาให้คนดูทราบล่วงหน้าแต่เนิ่น ๆ จะได้มีเวลาเตรียมเนื้อ เตรียมตัว พ่อค้าแม่ขายต่าง ๆ ก็จะได้จัดเตรียมขนมนมเนยต่าง ๆ มาขายด้วย หนุ่ม ๆ สาว ๆ ก็จะได้รีบนัดแนะ จัดเตรียมเสื้อผ้าสวย ๆ ไว้มาใส่เวลามาดูหนัง ถ้าเป็นชาวไร่ ชาวนาหรือเด็กเลี้ยงควาย คนเลี้ยงเป็ด ก็จะได้รีบทำงานให้เสร็จเร็ว ๆ รีบอาบน้ำให้ควายแต่หัววัน เอาเป็ดเข้าเล้าแต่เนิ่น ๆ เพราะการจะมีหนังขายยาเข้ามาฉายในหมู่บ้าน ไม่ใช่จะมีได้บ่อย ๆ อาจเป็นเดือน ๆ หรือบางทีก็เป็นครึ่งปีถึงจะเวียนมาสักครั้งหนึ่ง ไอ้ครั้นจะเข้าไปดูในตัวเมือง ก็อยู่ไกล ค่ารถค่าราก็แพง แถมยังวิ่งเป็นเวลาอีก บางหมู่บ้านจะมีรถวิ่งเข้าตัวเมืองเพียงรอบเดียว ไปส่งตอนเช้าตรู่ สาย ๆ ก็รับกลับ จะหาโอกาสไปดูหนังโรงตอนบ่าย ๆ ยังไม่มีโอกาสเลย

          ฉะนั้น พอมีหนังขายยามาฉายสักครั้ง จึงเป็นอะไรที่น่าตื่นเต้นอย่างมากของคนในชนบทเวลาที่รถหนังขายยา เขาวิ่งประกาศโฆษณาไปตามถนนและท้องทุ่ง โฆษกซึ่งส่วนใหญ่ก็จะเป็นนักพากย์หนังด้วย เขาก็จะพูดจาออดอ้อนให้ผู้คนไปดูหนังกันเยอะ ๆ เช่นว่า “..สวัสดีครับ พ่อแม่ พี่น้อง คุณลุง คุณป้า คุณน้า คุณอา คุณตา คุณยาย คุณหนู คุณน้อง ที่ได้ยินโฆษณาประชาสัมพันธ์ของเรา เราเป็นหน่วยฉายหนังขายยามาจากบริษัท......... ซึ่งค่ำคืนนี้ เรามีหนังดี ๆ มาให้ดูกันฟรี ๆ กันที่ลานวัดแจ้ง ก็ที่เก่าที่เคยฉายนั่นแหละครับ สำหรับค่ำคืนนี้ เราเสนอฉายหนังฝรั่ง ที่บู๊ ดุเดือด ต่อสู้กันเข้มข้น ประเภทขี่ปืนยิงม้า เอ้ย..ขี่ม้ายิงปืน พากย์โดยชายจริง หญิงกระเทย ฉะนั้นแล้ว เมื่อได้ยินเสียงโฆษณานี้ ก็รีบไปแต่หัววันนะครับ ไปก่อนก็ได้ฟังเพลงเพราะๆ ก่อน ไปถึงทีหลัง ระวังต้องยืนดูหนังนะครับ เสร็จภารกิจการงานแล้ว อาบน้ำ อาบท่า จูงมือบุตร ฉุดมือหลาน ประสานมือแฟน เกี่ยวแขนพ่อตาแม่ยาย มากันให้หมดบ้านเลยนะครับ ที่ลานวัดแจ้ง ค่ำคืนนี้ มีหนังให้ดูกันฟรี ๆ ครับ...”

          ระหว่างทางที่รถหนังขายยาวิ่งโฆษณาไป ก็มักจะมีเด็ก ๆ วิ่งตามรถ คอยห้อยโหนรถหนังขายยากันตลอดทาง จากนั้นก็เอารถหนังขายยาเข้าไปจอดที่ลานวัด พอได้เวลาแดดล่มลมตก ก็เริ่มกางจอหนัง ขึ้นจอที่ลานวัด แล้วเริ่มเปิดเครื่องเสียง เปิดเพลงเพราะ ๆ เพลงดัง ๆ ให้ฟังก่อนเพื่อเรียกคนดู....พอค่ำหน่อยก็เริ่มลองเครื่องฉายหนัง ตั้งระยะฉายให้เหมาะกับจอ ตอนที่ลองฉายนี้ ก็จะเริ่มมีคนมาดูแล้ว เพราะบางครั้งหนังที่ฉายลองเครื่อง เขาจะเอาหนังแปลก ๆ มาฉายให้ดู ซึ่งจะไม่มีการฉายจริง ๆ ในคืนนั้น มีการจัดโต๊ะไว้สำหรับตั้งสินค้าขาย มีการทำโคมไฟไว้เปิดเวลาต้องการขายยา เมื่อถึงเวลาฉายหนัง เขาก็จะฉายหนังไปก่อน ก็กะว่าพอฉายได้พักหนึ่ง เห็นคนดูมาเยอะแล้ว ก็มักจะเลือกหยุดฉายตรงจังหวะที่หนังกำลังดี ๆ เรียกว่า กำลังมัน กำลังเข้าด้ายเข้าเข็ม ไฟที่รถฉายก็สว่างขึ้นทันที...

          โฆษกหรือนักพากย์ก็จะบอกว่า “...เอาล่ะครับ หนังหยุดสะดุดหัวตอ ขอเวลาให้กับพนักงานฉายของเรา ได้แก้ไขสักนิด ตอนนี้ก็มาถึงเรื่องที่กระผมเป็นห่วงพ่อแม่พี่น้องทั้งหลาย ก็จะเรื่องอะไรล่ะครับ สุขภาพยังไงล่ะ คนเรา เกิด แก่ เจ็บ ตาย เป็นของธรรมดาก็จริง แต่ว่าสมัยนี้ โลกเรามันพัฒนากันแล้ว ยูกยาเขาก็มีเอาให้กิน เอาไว้ให้รักษา อย่างยาที่กระผมจะนำมาแนะนำให้พ่อแม่พี่น้องในค่ำคืนนี้ ให้รู้จักกัน ก็คือ ยา..... ยังครับ ยังไม่ขายครับ แต่กระผมขอถามพ่อแม่พี่น้องก่อนว่า เมื่อกลางวันไปดำนา ไปทำไร่ ไปเลี้ยงควาย ไปเลี้ยงเป็ด เสร็จสรรพกลับมาถึงบ้านถึงเรือน รู้สึกมันเหมือนกับ มันปวดมันเมื่อยหรือเปล่าครับ...อ้าว ถ้าปวดหรือถ้าเมื่อย ก็แสดงว่า ร่างกายของเราเริ่มหย่อนยาน มันก็คล้าย ๆ กับรถยนต์ที่วิ่งไปแล้ว เครื่องมันก็ร้อนนั่นแหละครับ พ่อแม่พี่น้องอาจจะบอกผมว่า ไม่เป็นไร นอนพักสักแป๊บหนึ่ง เดี๋ยวมันก็หายไป ใช่ครับ กระผมไม่เถียงท่านหรอ แต่ว่า ท่านปวดเมื่อยทุกวันหรือเปล่าล่ะ ถ้าเปล่าก็ไม่ต้องกินยา แต่ถ้ารู้สึกว่า มันปวดมันเมื่อยทุกวัน แบบนี้ เราก็ต้องช่วยร่างกายของเราแล้ว เราจะต้องบำรุงรักษามันซะหน่อย ยาที่กระผมจะแนะนำนี้ ก็คือยา........” อะไรก็ว่ากันไปตามเรื่อง

          สักพักก็เริ่มขายยา.... ขายสักพักก็ฉายหนังอีกนิดหน่อย แล้วก็ขายยาอีก คือเขาจะตั้งเกณฑ์ไว้ว่า คืนนี้จะต้องขายยาได้เงินเท่าไร จึงจะคุ้มทุนที่ฉายหนัง ก็จะพยายามหาทางขายยาไปจนคุ้มทุน ซึ่งถ้าขายได้หมดก่อน เขาก็จะฉายหนังให้ดูรวดเดียวเลยครับ...

          ส่วนลีลาการพากย์ของนักขายยานั้น ก็จะแตกต่างกันไป หนังขายยาในยุคแรก ๆ จะเป็นหนัง 16 ม.ม. จึงต้องมีการพากย์สด ๆ วางเสียงแบ๊คกราวน์สด ๆ เช่นกันซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นหนังยุคมิตร-เพชรา แต่พอมีการฉายหนังระบบ 35 ม.ม.แล้ว หนังขายยาก็เปลี่ยนมาฉายเป็น 35 ม.ม. (เหมือนตามโรงในปัจจุบัน) ยุคหลังนี้ ส่วนใหญ่จะมีเสียงในฟิล์ม แต่ถ้าเป็นหนังต่างประเทศ ก็ยังต้องพากย์เสียงไทยอีก เรื่องราวของ เสน่ห์นักพากย์ จึงกลายเป็นอีกตำนานหนึ่งที่เป็นแรงดึงดูดให้คนมาดูหนังมากขึ้นด้วย ถามว่า หนังขายยา นั้น ขายยาอย่างเดียวหรือไม่ แล้วทำไมเรียกว่า หนังขายยา ก็ต้องบอกว่า แรก ๆ ที่เรียกว่า เป็นหนังขายยา ก็เพราะในสมัยแรก ๆ ที่มีการฉายหนังแบบนี้ เขานิยมขายยารักษาโรคเป็นหลัก คนก็เลยเรียกติดปากตลอดมาว่า หนังขายยา

          ครั้นต่อมาเมื่อมีการนำสินค้าอื่น ๆ มาขายด้วย คนก็ยังเรียกว่า เป็นหนังขายยาเช่นเดิมอีก จนกลายเป็นชื่อสามัญของการฉายหนังประเภทนี้ไปแล้วครับ ก็เหมือน ๆ กับคนสมัยก่อนที่รู้จักผงซักฟอกยี่ห้อแฟ๊บ ก่อน ก็จะเรียกแต่ผงซักฟอกว่า แฟ๊บ ครั้นต่อมามียี่ห้ออื่น ๆ อย่างยี่ห้อปรีส เปาปุ้นจิ้น ทำออกมาขายบ้าง แต่คนก็ยังบอกลูกว่า ...ไอ้หนูไปซื้อแฟ๊บ ยี่ห้อปรีสให้แม่หน่อยลูก.. แล้วหนังขายยาหมดความนิยมหรือเลิกไปเมื่อไร....

          หนังขายยายืนระยะการฉายการให้บริการแก่คนดูมาอย่างยาวนานมาก ๆ พอ ๆ กับหนังกลางแปลง แต่มีเหตุให้ต้องเลิกไปก่อนหนังกลางแปลง ก็เพราะมีกฎหมายออกมาควบคุมการขายยา ผมก็จำวันแน่นอนไม่ได้ แต่สรุปได้ว่า รัฐฯ เขาห้ามฉายหนังแล้วมีการขายยาครับ ซึ่งน่าจะอยู่ช่วงประมาณหลังปี 2519 เป็นต้นมา ผมเห็นหนังขายยาครั้งสุดท้ายประมาณสัก 2-3 ปีก่อนจะเข้ามาเรียนต่อในกรุงเทพฯ ผมเข้ากรุงเทพฯ มาช่วงปี 2524 ครับ ขนาดเข้ากรุงเทพฯ มาแล้ว ตอนงาน 5 ธันวามหาราช ก็ยังเคยเห็นรถหนังขายยาของกระทิงแดง มาฉายในงานที่สนามหลวงเลยครับ แต่เขาไม่ได้ฉายยาหรือขายกระทิงแดงแล้วครับ แต่ที่แน่ ๆ ที่ทำให้วัฒนธรรมการดูหนังขายยาเสื่อมความนิยมลงก็คือ สื่อทางทีวีครับ เพราะพอคนเริ่มมีทีวีที่บ้านตัวเอง ก็ไม่ค่อยออกไปดูหนังขายยาหรือหนังกลางแปลงกันแล้วครับ ยิ่งช่วงที่มีวีดีโอเทปอีก ก็ยิ่งแล้วครับ เรียกว่า หนังกลางแปลงปิดประตูตายเลยครับ... แต่อย่างไร หนังขายยา ก็เคยเป็นอีกหนึ่งของความบันเทิงไทยเรา ที่ทำให้คนยุคหนึ่งสมัยหนึ่ง ไม่เคยลืม...

          สมัยที่ผมเป็นเด็ก ๆจะชอบดูหนังมาก ๆ โดยเฉพาะหนังดูฟรีอย่างหนังขายยาและหนังกลางแปลง เท่าที่จำได้ผมเคย ถ้าเป็นหนังขายยานั้น ผมดูมาหลายบริษัทแล้ว....เอาเท่าที่นึกชื่อออกตอนนี้ ก็แล้วกันนะครับ...เช่น หนังขายยาสบู่หอมตรานกแก้ว ตอนนั้นเป็นยุคหนัง 16 ม.ม เคยดูหนังเรื่อง นกแก้ว (มิตร-เพชรา), ยาประสระนอแรด เป็นยาแก้ปวด, แป้งน้ำหอมคลีโอพัฒนา ตอนนั้นเป็นการดูหนังจอกว้าง 35 ม.ม. เขาฉายหนังฝรั่งเรื่อง คลีโอพัฒนา, ยาถ่ายพยาธิตัวตืดเฮ็กซิน อันนี้ดูหนังไปดูพยาธิที่โชว์ในขวดไป, ถ่ายไฟฉายตรา 5 แพะ เจ้านี้เขาทำรถฉายได้ดีมาก จะเป็นรถแลนด์โรเวอร์แล้วสร้างเป็นรูปถ่านไฟฉายไว้ที่ท้ายรถ, ถ่านไฟฉายตรากบ, ยาหม่องถ้วยทอง, ยาทัมใจ, ยาบวดหาย, โอวัลติน ก็ทำเป็นกระป๋องโอวัลตินใหญ่ ๆ ไว้ท้ายรถ, ยากะษัยตราเด็กในพานทอง, เครื่องดื่มชูกำลัง ซิบต้า บึมส์, เครื่องดื่มชูกำลัง กระทิงแดง..นึกได้แค่นี้แหละครับ....

          อีกอย่าง ตอนผมอยู่ต่างจังหวัดจะเป็นคนในเมืองใกล้ตลาด ซึ่งความเจริญจะมีมากแล้ว หนังขายยาที่เข้ามาในตัวเมือง ก็แค่เข้ามาจอดรถนอนที่โรงแรมใกล้ตลาด แต่เขาจะออกไปฉายตามตำบลหรืออำเภอไกล ๆ ครับ รถหนังขายยาบ้างคัน เวลาจอดนอนที่โรงแรม ผมยังเคยเห็นเขาเช็คฟิล์ม กรอฟิล์มหนัง ยังเคยไปเก็บฟิล์มหนังมาฉายสไลด์เล่น ๆ เลยครับ ก็เคยถามเขาเหมือนกันว่า ทำไมไม่ฉายในเมืองที่คิวรถบ้าง เขาบอกว่า ฉายก็ขายยาไม่ได้แล้ว เพราะร้านยาในตลาดมีตลอดเวลาครับ...แหละนี่เป็นตัวอย่างหนึ่งของ

คลิีกที่นี่...

หนังขายยา อีกหนึ่งความบันเทิงของไทย
 
<iframe width="560" height="315" src="//www.youtube.com/embed/n0lp0Fr807c?fs=1&start=" frameborder="0" allowfullscreen></iframe>


 :D :D :D :D :D :D :D :D :D

             ผมเขียนเรื่อง หนังขายยา ใน facebook มานานแล้วและพอ facebook ตัวเก่าถูกปิดไป ก็เลยนำกลับมาโพสใหม่อีกเมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2556 ครับ..แต่วันนี้เพิ่งทราบข่าวว่า คุณโอ เทพมงคล (หจก. ส. ธรรมสุจริต) หรือฟิล์มหนังยังเหลืออยู่คู่โลกใบนี้ ได้ซื้อรถหนังขายยา ยาหม่องตราถ้วยทอง กลับมาย้อนอดีต ผมก็เลยนำกระทู้บทนี้กลับมาร่วมความยินดีครับ..และก็ถือโอกาสนำภาพนิ่งต่างๆ ที่เกี่ยวกับรถหนังขายยาที่เคยมีหลายๆ ท่านเคยโพสไว้ในอินเตอร์เน็ตกลับมาให้รำลึกความหลัง หนังขายยากันอีกครั้งนะครับ...


ภาพนี้ รถหนังขายยาตราถ้วยทองครับ เป็นรถฉายหนังรุ่นฟิล์ม 35 มม.เป็นรถหน่วยฉายคันที่เท่าไร ก็ดูจากหมายเลขขวามือที่หัวรถนะครับ..

             ภาพเก่าๆต่อไปที่มีการเผยแพร่ในเว็บอีก ก็คือ การชุมนุมรถหนังขายยา รุ่นหนัง 16 มม.น่าจะเป็นจังหวัดเชียงรายนะครับ มีกันหลายคัน บนหลังคาจะมีลำโพงฮอนเพื่อใช้กระจายเสียง..



งานเดียวกันครับ แต่ถ่ายเจาะใกล้ๆ ภาพรถหนังขายยาในรุ่นเก่าๆ นะครับ

              นี่ก็ถ่ายเจาะให้เข้ามาใกล้ๆ อีก..ภาพแบบนี้หรือเหตุการณ์แบบนี้หาได้ยากครับเพราะตามปกติ หนังขายยาเขาจะฉายกันเพียงจอเดียว เว้นแต่งานสำคัญหรือเป็นการนัดมาเพื่อฉายเ็ป็นงานพิเศษครับ..ภาพเหล่านี้หาดูได้ยาก นี่ถ้าสมัยนั้น ไม่มีใครถ่ายภาพไว้ เราก็คงนึกภาพไม่ออกหรอกครับ..


              ที่ผมบอกว่าเป็นเชียงราย ก็เพราะเห็นภาพนี้ครับเหมือนพ่อขุนเม็งรายนะครับ แต่ถ้าผิดพลาด ก็ขออภัยนะครับ ให้สังเกตรถหนังขายยาคันกลาง จะนำใบปิดโปสเตอร์หนังมาติดไว้หน้ารถเรียกคนดูด้วยครับ แสดงว่า ต้องเป็นหนังดังแน่ๆ ครับ


              ตอนนี้ เขาตั้งจอหนัง 16 มม.เสร็จสรรพแล้วครับ หนังขายยาตราถ้วยทอง ซึ่งถ้าใครทันเห็นภาพนี้ ก็ต้องร้องอ๋อ..จอหนังตั้งด้วยลำไม้ไผ่หรือไม่ก็ท่อแป๊บน้ำเพียง 2 เสา.. ขึงจอไม่ตึงนัก..ระบบเสียง น่าจะเป็นเครื่องขยายหลอด มีลำโพงฮอนติดอยู่บนหลังคารถหนังขายยา 4 ทิศ ทิศละ 1 ตัว ส่วนโต๊ะที่ตั้งอยู่นั้น เอาไว้วางสินค้าที่จะขาย จะเห็นลังไม้เล็กๆ อยู่ข้างล่าง เอาไว้ให้โฆษกหนังขายยาขึ้นไปยืนพูดครับ..


              ภาพนี้ โฆษกหนังขายยาซึ่งบางครั้งก็คือ ตัวนักพากย์หนังเองนั่นแหละครับ กำลังพูดขายยาครับ ตอนเป็นเด็กๆ ผมก็จะไปยืนดูอยู่ในกลุ่มแบบนี้แหละครับ ฟังแล้วเพลินดี ไม่รู้สรรหาอะไรมาพูดได้ตลอด..



อีกมุมหนึ่งของภาพเดียวกับข้างบนครับ..



สมัยแต่ก่อน มีแต่รถแบบนี้ครับ หนังขายยายุค 16 มม.


เห็นหนังขายยาคันนี้ ชักไม่แน่ใจว่า จะเป็นรุ่นหนัง 35 มม.หรือเปล่า คันนี้ขายยาฮีโร่มัยซิน..


ภาพนี้สงสัยจะเป็นบริเวณที่จะตั้งจอฉายหนังขายยานะครับ..

          ภาพนี้เป็นสิ่งที่ตื่นตาตื่นใจเด็กๆ อย่างพวกเรามากๆ เพราะก่อนจะถึงเวลาฉายหนัง รถหนังขายยาจะต้องมีการแห่รถออกประกาศโฆษณาให้คนมาดูหนัง ถ้ามาคันเดียวก็แห่คันเดียว แต่นี้มาเยอะ ก็เลยแห่กันเยอะ..วิ่งๆ ช้าๆ เพราะต้องมีโฆษกพูดไปตลอดทาง เด็กๆ อย่างเราก็วิ่งตามรถไปด้วยครับ..




คันนี้ หนังขายยา แต่ว่าเป็น ถ่านไฟฉายตรากบ ครับ


รถหนังขายยา ลูกอมโอเล่ ที่จังหวัดสกลนคร


รถหนังขายยา หมากหอมเยาวราช


หนังขายยา.. นี่เป็นสินค้าต่างๆ ที่ตั้งวางไว้เตรียมขายกันครับ


กำลังขายยาครับ..


หนังขายยา ตั้งจอ เปิดไฟ รอฉายหนัง..


ชาวบ้านมาดูหนังขายยาครับ..


หนังขายยาจอเล็กๆ แต่มันใหญ่มากสำหรับคนดูหนังในยุคนั้นเพราะมันคือ ความบันเทิงอย่างเดียวที่ทันสมัยที่สุดในยุคนั้น..


ใครไม่รู้ ถ่ายรูปใกล้ๆ รถหนังขายยา..


เหมือนจะเป็นรถหนังขายยานะครับ..แต่มองไม่เห็นลำโพงฮอน



รถหนังขายยาตราห่านคู่..


นี่ก็ หนังขายยาในยุค 16 มม.


รถหนังขายยา รุ่น 35 มม.แล้วครับ


            ครับ..ภาพนี้จะเป็นภาพท้ายสุดแล้วที่ผมหามาได้จากเว็บไซด์ต่างๆ ที่เขียนถึงพูดถึงอดีตของหนังขายยา ก็เลยถือโอกาสนำภาพเหล่านี้มาโพสไว้รวมๆ กับกระทู้นี้..  บางภาพก็มีชื่อเว็บไซด์และคนโพสด้วยนะครับ บางภาพก็ไม่มี..แต่ทั้งหมดนี้ก็เพื่อให้คนที่เกิดไม่ทัน ได้รู้ ได้เห็นถึงอดีตของหนังขายยาที่สมัยก่อนเป็นอีกหนึ่งในความบันเทิงของไทยเรา บอกตรงๆ ว่า ทุกวันนี้ หาดูบรรยากาศเก่าๆ แบบนี้ไม่ไ้ด้แล้วครับ..












« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 27 มีนาคม 2014, 18:17:41 โดย นายเค »


ฉัตรชัย สุวรรณโสภา 
88/1 ม.4 ต.บางโตนด อ.โพธาราม จ.ราชบุรี 70120   
E-mail chatchai_suw@hotmail.com    โทร 081-7636195 
ต่อพงศ์ภาพยนต์ ระบบ 35 ม.ม.  ฉัตรชัยภาพยนตร์ กลางแปลงย้อนยุค 16 ม.ม.
ธ.ไทยพาณิชย์  สาขาบิ๊กซีราชบุรี ชื่อบัญชี ฉัตรชัย สุวรรณโสภา  หมายเลขบัญชี  940-202235-1