ผู้เขียน หัวข้อ: “สายหนัง” อีกหนึ่งตัวละครสำคัญในวงการธุรกิจภาพยนตร์ของไทย  (อ่าน 674 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ นายเค

  • Thaicine Movie Team
  • Moderator
  • พี่น้อง thaicine Gold member
  • ***
  • กระทู้: 3814
  • พลังใจที่มี 616
  • เพศ: ชาย
ทำความรู้จักกับ “สายหนัง” อีกหนึ่งตัวละครสำคัญในวงการธุรกิจภาพยนตร์ของไทย


        ในขณะที่ “พี่มาก.. พระโขนง” กำลังทำเงินมาแรงแซงทางโค้งไปเรื่อยๆ ล่าสุดก็ผ่านหลัก 500 ล้านไปแล้ว กลายเป็นภาพยนตร์ไทยที่ทำเงินสูงสุดเป็นประวัติการณ์ แต่ท่ามกลางตัวเลขที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ นี่เอง ก็คงทำให้หลายคนอดสงสัยไม่ได้ว่า ทำไมตัวเลขที่รายงานจึงต้องมีหมายเหตุว่า “เฉพาะในเขตกรุงเทพมหานคร ปริมณฑล และเชียงใหม่” เท่านั้น แล้วตัวเลขรายได้ในต่างจังหวัดละ และนี่ไม่ใช่แค่พี่มากเท่านั้น ภาพยนตร์เรื่องอื่นๆ ก็มักรายงานเฉพาะตัวเลขใน กทม. ปริมณฑล และเชียงใหม่เช่นกัน ที่เป็นแบบนี้ก็เพราะในการดำเนินธุรกิจภาพยนตร์ในไทยไม่ได้เป็นเพียงเรื่องของผู้ผลิตและโรงภาพยนตร์เท่านั้น แต่ยังมีผู้จัดจำหน่ายหรือที่เราเรียกกันว่า “สายหนัง” เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย
 
สายหนังคืออะไร

        สายหนัง ถ้าเรียกอย่างเป็นทางการก็คือ “ผู้จัดจำหน่ายภาพยนตร์” ถ้าเทียบง่ายๆ สายหนังก็ไม่ต่างจากยี่ปั๊วหรือพ่อค้าคนกลางที่รับสินค้าจากผู้ผลิตมาขายต่อให้ร้านค้าอีกทีหนึ่ง โดยสายหนังถือเป็นหนึ่งตัวละครสำคัญของอุตสาหกรรมภาพยนตร์ซึ่งประกอบด้วย

  • ผู้ผลิต
  • ผู้จัดจำหน่าย
  • โรงภาพยนตร์
ทั้งนี้ ผู้ผลิตอาจทำหน้าที่เป็นผู้จัดจำหน่ายเองก็ได้ ตัดบทบาทของพ่อค้าคนกลางไป ซึ่งจะส่งผลให้ผู้ผลิตได้รายได้เต็มเม็ดเต็มหน่วยมากกว่า ลักษณะนี้ในไทยจะใช้กับในเขต กทม. เป็นหลัก โดยผู้ผลิตจะดีลกับโรงภาพยนตร์โดยตรง และตกลงแบ่งรายได้กันเป็นสัดส่วนที่แน่นอน (ส่วนใหญ่ก็ 50-50) คำนวณจากตั๋วที่ขายได้ ตัวเลขรายได้ก็จะสะท้อนความสำเร็จของภาพยนตร์ได้อย่างแท้จริง แต่ปัญหาคือการดีลโดยตรงก็เป็นการเพิ่มภาระให้กับผู้ผลิตเช่นกัน เพราะนอกจากจะต้องเป็นผู้ติดต่อเอง ผู้ผลิตยังต้องส่ง Checker ไปตรวจสอบที่โรงภาพยนตร์ว่าขายตั๋วได้ตามจำนวนที่แจ้งมาจริงๆ หรือไม่ ซึ่งผู้ผลิตภาพยนตร์ในไทยเองก็ไม่ได้ทุนสูงขนาดนั้น จึงใช้ระบบดีลโดยตรงกันแค่ในเขต กทม. (และเชียงใหม่ที่เป็นเมืองใหญ่) เท่านั้น

        ตรงนี้ทำให้สายหนังเข้ามามีบทบาท เพราะจะเป็นผู้รับหน้าที่นำภาพยนตร์จากผู้ผลิตไปขายต่อเองในต่างจังหวัด ลดภาระผู้ผลิตลงไป สำหรับเหตุที่เรียกว่าสายหนัง ก็เพราะผู้จัดจำหน่ายในต่างจังหวัดไม่ได้มีเพียงเจ้าเดียว แต่แบ่งออกไปตามภูมิภาคต่างๆ เป็นสายๆ ไป สายหนังแต่ละเจ้าจะมีเขตของตน ห้ามขายหนังข้ามเขตกัน ระบบสายหนังนี้มีมานานแล้ว (น่าจะตั้งแต่เริ่มมีการฉายภาพยนตร์ในเชิงพาณิชย์) ความที่อยู่มานานทำให้ระบบสายหนังมีลักษณะคล้ายสัมปทานและกึ่งผูกขาดไม่น้อย แถมยังมีอิทธิพลเยอะไม่น้อย โดยเฉพาะสมัยก่อนที่สายหนังบางเจ้ามีอำนาจในการกำหนดทิศทางภาพยนตร์ไทยไ์ด้ การตั้งชื่อภายพนตร์ก็ต้องตั้งให้ถูกใจสายหนัง หรือบางเรื่องถึงขนาดมีตอนจบที่ต่างจากการฉายใน กทม. เพื่อจูงใจให้สายหนังซื้อไปฉายให้ได้

สายหนังในไทยมีกี่สาย

สายหนังในไทยมีอยู่ทั้งสิ้น 6 สาย ประกอบด้วย

  • สายแปดจังหวัด ได้รับสิทธิจำหน่ายในพื้นที่ 8 จังหวัดรอบเขต กทม. ได้แก่ นครปฐม สุพรรณบุรี กาญจนบุรี ราชบุรี เพชรบุรี สมุทรปราการ สมุทรสาคร และสมุทรสงคราม
  • สายภาคกลาง-เหนือ ได้รับสิทธิจำหน่ายในพื้นที่ภาคกลางทั้งหมด ตั้งแต่พระนครศรีอยุธยาขึ้นไป ยกเว้นสระบุรี และภาคเหนือทั้งหมด สายนี้อยู่ภายใต้การดูแลของ “ธนารุ่งโรจน์” จึงเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “สายธนา” และยังเป็นเจ้าของโรงภาพยนตร์หลายแห่งในเขตนี้ภายใต้ชื่อ “ธนาซีนีเพล็กซ์” ในช่วงปี 2540 เป็นต้นมา สายธนาได้ขยายธุรกิจของตัวเอง มาเป็นผู้ผลิตภาพยนตร์ด้วย ภายใต้ชื่อ “พระนครฟิลม์” แต่ตอนนี้รู้สึกจะเลิกผลิตภาพยนตร์ไปแล้วมั้ง สายอีสาน ได้รับสิทธิจำหน่ายในจังหวัดภาคอีสานทั้งหมด รวมถึงสระบุรี สายนี้มีสายหนังอยู่หลายเจ้า หลักๆ คือ
      สายสหมงคล (เครือเดียวกับค่ายสหมงคลฟิล์มนั่นแหละ) ได้สิทธิในแถบอีสานเหนือ ส่วนใหญ่จะเป็นภาพยนตร์ของสหมงคลฟิล์มเอง
    • สาย Nevada ได้สิทธิในแถบอีสานใต้ (แบ่งเขตกับสายสหมงคล) ส่วนใหญ่จะเป็นภาพยนตร์ของสหมงคลฟิล์ม Nevada ยังมีโรงภาพยนตร์ของตัวเองภายใต้ชื่อ “Nevada” ด้วย
    • สายไฟว์สตาร์ (เครือเดียวกับค่ายไฟว์สตาร์) จำหน่ายทั่วทั้งอีสาน มีทั้งภาพยนตร์ของค่ายไฟว์สตาร์เอง รวมถึงภาพยนตร์ต่างประเทศส่วนใหญ่ก็จะเป็นของสายนี้
  • สายตะวันออก ได้รับสิทธจำหน่ายในภาคตะวันออกทั้งหมด สายนี้อยู่ภายใต้การดูแลของ “สมานฟิล์ม” ซึ่งนอกจากจะทำธุรกิจสายหนังแล้ว ยังเป็นเจ้าของโรงภาพยนตร์หลายแห่งในเขตภาคตะวันออก และต่อมายังได้รุกตลาดโรงภาพยนตร์ Multiplex ใน กทม. และทั่วประเทศ ภายใต้ชื่อ “เครือ SF Cinema” ตัวย่อ SF ก็คือย่อมาจากสมานฟิล์มนั่นเอง
  • สายใต้ ได้รับสิทธิจำหน่ายในพื้นที่ 14 จังหวัดภาคใต้ทั้งหมด รวมถึงประจวบคีรีขันธ์ โดยอยู่ภายใต้การดูแลของ “Coliseum” ที่ก่อตั้งโดยคุณ คมน์ อรรฆเดช หนึ่งในบุคคลสำคัญของวงการภาพยนตร์ไทย Coliseum ยังมีโรงภาพยนตร์ของตัวเองภายใต้ชื่อ Coliseum Multiplex อีกด้วย
  • สายชานเมือง ได้รับสิทธิจำหน่ายในพื้นที่นนทบุรี และโรงภาพยนตร์ชั้น 2 ใน กทม. โดยสายนี้ส่วนใหญ่จะรับฟิล์มจากโรงภาพยนตร์ Multiplex ใน กทม. ที่หมดโปรแกรมแล้ว มาฉาย แต่ก็มีบางเรื่องที่ฉายชนกับโรงใหญ่ก็มี

    ลักษณะการทำธุรกิจของสายหนัง

            เมื่อภาพยนตร์จัดทำเป็นที่เสร็จสมบูรณ์ ก็จะเข้าสู่ขั้นตอนการจัดจำหน่าย ถ้าเป็นโรงภาพยนตร์ Multiplex ใน กทม. ปริมณฑล และเชียงใหม่ ก็ใช้ระบบดีลโดยตรง แต่ถ้าในส่วนของสายหนังจะใช้วิธีประมูลซื้อภาพยนตร์จากผู้ผลิต (ก็ไม่เชิงประมูลหรอก เพราะสายหนังแต่ละเจ้าก็ผูกขาดพื้นที่ในเขตตัวเองอยู่แล้ว) การซื้อขายหนังของผู้ผลิตกับสายหนังจะเป็นไปในลักษณะ “ซื้อขาด” โดยราคาจะขึ้นอยู่กับตัวภาพยนตร์ แนวโน้มการทำเงิน และจำนวนก๊อปปี้ที่ซื้อไป เมื่อซื้อขายขาดแล้ว รายได้ของผู้ผลิตก็คือเงินที่ได้จากการซื้อขายนั้น ขณะที่รายได้จากการขายตั๋ว ก็จะตกเป็นของสายหนังไป โดยจะแบ่งกันตามสัดส่วนที่ตกลงกับโรงภาพยนตร์ที่สายหนังเอาไปขายให้

            ลักษณะเช่นนี้ มองในแง่ดี ผู้ผลิตสามารถลดต้นในการจ้าง Checker ไปตรวจจำนวนตั๋วที่ขายได้ตามโรงต่างๆ และลดต้นทุนในการเข้าถึงพื้นที่ต่างจังหวัด ขณะเดียวกันก็สามารถประกันความเสี่ยงในกรณีเกิดหนังเจ๊งขึ้นมาได้ เพราะผู้รับภาระก็คือสายหนัง แต่ข้อเสียก็คือ ในกรณีหนังทำเงิน คนที่ได้กำไรคือสายหนัง ไม่ใช่ผู้ผลิต ตัวอย่างเช่น พี่มาก.. พระโขนง สายหนังภาคใต้ซื้อขาดไปในราคา 2 ล้านบาท แต่ทำเงินจริงแต่เฉพาะในภูเก็ตก็ได้ถึง 10 ล้านบาท (ยังไม่รวมทั่วภาคใต้) นอกจากนี้ ระบบสายหนังยังเป็นสาเหตุที่ทำให้โรงภาพยนตร์ต่างจังหวัดมักไม่มีแบบ Soundtrack รวมถึงภาพยนตร์นอกกระแส ไม่ดัง หรือคาดว่าจะไม่ทำเงิน ก็จะไม่เข้าฉายด้วย เพราะสายหนังมักมองว่าภาพยนตร์เหล่านี้ โอกาสทำเงินในต่างจังหวัดน้อย เลยไม่ซื้อไปฉาย

            ระบบสายหนังยังเกี่ยวข้องกับ “หนังกลางแปลง” ด้วย เพราะหากอยากจัดฉายหนังกลางแปลงก็ต้องติดต่อซื้อฟิล์มจากจากสายหนังในเขตของตน ไม่ใช่ติดต่อผู้ผลิต โดยฟิล์มที่สายหนังเอามาขาย ก็คือฟิล์มหนังที่หมดโปรแกรมฉายแล้วนั่นเอง (แต่ก็มีบางเรื่องชนโรงเหมือนกัน) ทั้งนี้ สิทธิในตัวฟิล์มจะขึ้นอยู่กับการตกลงระหว่างผู้ผลิตกับสายหนัง ภาพยนตร์ไทยส่วนใหญ่ มักไม่มีข้อกำหนดว่าต้องส่งคืนฟิล์ม เมื่อภาพยนตร์หมดโปรแกรมฉาย สายหนังเลยสามารถเอาไปขายต่อให้หนังกลางแปลง โรงภาพยนตร์เล็กๆ หรือผู้ที่สนใจได้ แต่สำหรับภาพยนตร์ต่างประเทศที่เคร่งเรื่องลิขสิทธิ์ ก็จะมีการกำหนดให้ส่งคืนฟิล์มเพื่อนำไปทำลายก็มี แต่บางทีสายหนังก็แอบลักไก่ไม่คืน หรือแอบก๊อปปี้ไว้ขายต่อเองก็มีนะ
     
    Major และ SF ในต่างจังหวัด ใช้ระบบอะไร


            ปัจจุบัน Major และ SF คือธุรกิจโรงภาพยนตร์ที่มีขนาดใหญ่และกินส่วนแบ่งการตลาดได้มากที่สุดในประเทศ รวมถึงมีการขยายสาขาไปต่างจังหวัดมากขึ้นเรื่อยๆ แต่ที่เป็นข้อสงสัยของหลายๆ คนก็คือ ในเมื่อเป็นสาขาของ Major และ SF ระบบคอมพิวเตอร์ข้อมูลก็น่าจะเชื่อมโยงกัน แต่ทำไมถึงไม่สามารถรายงานรายได้เหมือนในเขต กทม. ปริมณฑล และเชียงใหม่ ทั้งนี้เป็นเพราะโรงภาพยนตร์สาขาของ Major และ SF ในต่างจังหวัด ก็ยังคงใช้ระบบสายหนังนั่นเอง ทำให้แม้จะมีการเก็บข้อมูลว่าขายตั๋วได้เท่าไหร่ แต่ก็ไม่สามารถเอาไปรวมกันรายได้ส่วนกลางได้ เพราะเงินไม่ได้เข้าค่ายหนัง แต่เป็นการแบ่งกันโดยตรงระหว่างสาขาในต่างจังหวัดกับสายหนัง (สัดส่วนก็ประมาณ 50-50 เช่นเดียวกับส่วนกลาง)

            เหตุที่ Major และ SF ในต่างจังหวัดยังเลือกใช้ระบบสายหนัง มีอยู่หลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็นอิทธิพลของสายหนังในพื้นที่ยังมีอยู่เยอะ ความไม่พร้อมของค่ายหนังเองที่จะดีลโดยตรงกับสาขาในต่างจังหวัด เพราะนั่นหมายถึงต้นทุนในการตรวจสอบรายได้ที่สูงขึ้น และการตั้งสาขาในต่างจังหวัด บางทีก็ไม่ใช่ทุนของ Major หรือ SF อย่างเดียว แต่เป็นการร่วมทุนกับนักธุรกิจท้องถิ่น โรงภาพยนตร์ท้องถิ่น หรือแม้แต่หุ้นกับสายหนังเอง พวกนี้ยังมีสายสัมพันธ์ที่ดีกับสายหนัง จึงยังเลือกใช้ระบบเดิมต่อไป อย่าง SF เองก็เติบโตมาจากสายหนังก็น่าจะยังสนับสนุนระบบเดิมอยู่ แต่ Major นี่ เคยมีข่าวว่าตั้งใจจะดีลกับค่ายหนังเองให้หมด แต่ด้วยปัจจัยหลายๆ อย่างทำให้ยังใช้ระบบนี้ แต่อนาคตไม่แน่… (เสี่ยเจียง แห่งสหมงคลฯ เคยประกาศแบน Major เพราะกลัวจะมายกเลิกสายหนัง แต่ก็แบนได้แค่เดือนเดียว ก็ตกลงกันได้)
     



    อนาคตของสายหนัง

            อย่างที่บอกไปว่าสมัยก่อนสายหนังมีอิทธิพลมาก สามารถกำหนดทิศทางภาพยนตร์ (ไทย) ได้เลยทีเดียว ปัจจุบันระบบสายหนังก็ยังใช้อยู่ในต่างจังหวัด แต่โดยความเห็นส่วนตัว อิทธิพลของสายหนังกำลังลดลงเรื่อยๆ และไม่แน่ว่าในอนาคตอันใกล้ อาจถึงขั้นยกเลิกระบบสายหนังกันเลยทีเดียว ทั้งนี้ก็เพราะ 2 ปัจจัยสำคัญ คือ

    • การขยายตัวของ Major และ SF…ในรอบ 1-2 ปีที่ผ่านมา เห็นได้ชัดว่า Major และ SF ได้ขยายสาขาไปต่างจังหวัดมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะ Major ที่ตอนนี้มีสาขาในต่างจังหวัดกว่า 40 สาขา ไม่นับรวมแบรนด์ EGV ที่อยู่ภายใต้ Major อีก สาขาเหล่านี้ได้เข้าไปแทนที่และแย่งความนิยมจากโรงภาพยนตร์ท้องถิ่นที่อยู่ในการดูแลของสายหนังได้จำนวนมาก แม้ปัจจุบัน Major และ SF ในต่างจังหวัด จะใช้ระบบสายหนัง แต่ด้วยอิทธิพลที่เพิ่มขึ้น ระบบคอมพิวเตอร์ที่เชื่อมโยงกัน และความต้องการให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน คงจะส่งผลให้สายหนังลดบทบาทลงไปพอควร การเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิตอล…เป็นที่แน่นอนแล้วว่าระบบการถ่ายทำและฉายภาพยนตร์กำลังเปลี่ยนผ่านจากฟิล์มไปสู่ดิจิตอล ใน Hollywood เห็นได้ชัดว่าสัดส่วนภาพยนตร์ที่ถ่ายด้วยฟิล์มลดน้อยลงเรื่อยๆ และโรงภาพยนตร์ส่วนใหญ่ในโลกก็กำลังเปลี่ยนเป็นโรงดิจิตอล เพราะนอกจากจะให้สอดคล้องกับระบบการถ่ายแล้ว ยังเป็นโอกาสในการขายตั๋วได้แพงขึ้น ปัญหาคือ การเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิตอลต้องใช้ทุนสูงไม่น้อย เครือ Major กับ SF ที่มีทุนมากอยู่แล้ว อาจไม่มีปัญหาในการเปลี่ยนผ่านมากนัก แต่กับโรงภาพยนตร์ของสายหนัง ไม่ว่าจะ ธนาซีนีเพล็กซ์, Coliseum Multiplex, Nevada Cineplex รวมไปถึงโรงภาพยนตร์ชั้นสอง แทบทั้งหมดยังใช้ระบบฟิล์ม และไม่น่าจะทุนพอกับการเปลี่ยนผ่านครั้งนี้ ประกอบกับสายหนังยังพลาดที่ไม่พัฒนาคุณภาพโรงภาพยนตร์ให้ดีเท่าที่ควร ดังนั้น ในอนาคตโรงเหล่านี้อาจประสบภาวะขาดทุนและต้องปิดตัวลง ซึ่งจะส่งผลให้อำนาจการต่อรองของสายหนังน้อยลงไปอีก[/color]

       

      อ้างอิง

      กิติมา สุรสนธิ. ความรู้ทางการสื่อสาร. กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2548.
      อุษา ไวยเจริญ. การควบรวมกิจการในธุรกิจโรงภาพยนตร์. วิทยานิพนธ์เศรษฐศาสตร์มหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2550.
      film หนังไปไหน…..

      http://2g.pantip.com/cafe/chalermthai/topic/A8499814/A8499814.html
      ‘พี่มาก..พระโขนง’ โกย 407 ล้าน เชียงใหม่ 17 ล้าน-ภูเก็ต 10 ล้านhttp://www.thairath.co.th/content/ent/339558
      เว็บคนรักหนังกลางแปลง
      http://www.thaicine.com
      “เสี่ยเจียง” บอยคอต “เมเจอร์” เปิดศึกวัดบารมีราชาโรงหนัง
      http://www.osknetwork.com/modules.php?name=News&file=article&sid=350


สรพงษ์ ลิ้มทองคำ
5 หมู่ 7 ต.คลองตาคต อ.โพธาราม ราชบุรี 70120    E-Mail soraphol@hotmail.com
ธ.กรุงเทพ ออมทรัพย์ สาขา อาคารยาคูลท์ สนามเป้า   หมายเลขบัญชี  210-036236-3
ธ.ไทยพาณิชย์  ออมทรัพย์ สาขา บางเขน   หมายเลขบัญชี  041-273435-0
ติดต่อ 0909040355

ชมรมรักหนังกางแปลง โพธาราม ราชบุรี เรามาคุยกันได