เวบบอร์ดสำหรับผู้ชื่นชอบระบบการฉายภาพเคลื่อนไหว

ภาพยนตร์ของเรา...การฉายภาพด้วยแผ่นฟิล์ม => ภาพยนตร์ระบบฟิล์ม 35 มม. => ถาม-ตอบ และอื่นๆ ของระบบภาพยนตร์ 35 มม. => ข้อความที่เริ่มโดย: นายเค ที่ 10 พฤษภาคม 2012, 15:22:29

หัวข้อ: ย้อนเวลาหาอดีต...หนังอินเดียในไทย
เริ่มหัวข้อโดย: นายเค ที่ 10 พฤษภาคม 2012, 15:22:29
คนไทยสมัยก่อนช่วงปี 2500 กว่า ๆ คุ้นเคยกับหนังอินเดียตั้งแต่สมัยหนัง 16 มม ขาวดำ
       ความบันเทิงเท่าที่หาได้ในยุคนั้นในกรุงหลัก ๆ ก็โรงหนัง ส่วนชนบท หนัง ลิเก สังเกตุได้ว่าคนไทยต่างจังหวัดชอบดูหนังอินเดียตามโรงหนังบ้านนอกและหนังกลางแปลง

      นางเอกยอดฮิตยุคนั้นคือ นีรูปารอย  มีนากุมารี พระเอกก็ ราช การ์ปู / ราช กุมาร / เมห์มูด ดาราตลก นางระบำยอดฮิตคือ เฮเลน ส่วนใหญ่จะเป็นหนังแนวเทพเจ้า ชีวิตเศร้าเคล้าน้ำตา

      โรงหนังใน กรุงเทพฯที่ฉายหนังอินเดียเป็นหลักคือ โรงหนังเท็กซัส  ( อยู่ถนนระหว่างเยาวราช เชื่อม เจริญกรุง ) สมัยนั้น หนังอินเดีย ได้รับความนิยมอย่างสูง ส่วนหนังจีนยังมีน้อย ผู้จัดจำหน่ายหนังอินเดียมีอาทิ อินเดียฟิล์ม ดีวันจันทร์ ซึ่งนายห้างปักหลักอยู่หลังเฉลิมกรุง ยุคนั้นมีหนังอินเดียเป็นโกดัง

       ต่อมาหนังอินเดียมีการพัฒนาจากหนังขาวดำ มาเป็นหนังสีบางฉากบางตอน เช่น ฉากเพลง และ สีสวยตลอดทั้งเรื่อง หนังอินเดียที่สะกดอารมน์และบีบน้ำตาผู้ชมไดมากที่สุด คงไม่มีเรื่องใดเกิน “ธรณีกรรแสง” ( Mother India )
หัวข้อ: Re: ย้อนเวลาหาอดีต...หนังอินเดียในไทย
เริ่มหัวข้อโดย: นายเค ที่ 10 พฤษภาคม 2012, 15:25:17
       จนกระทั้งก้าวสูยุคหนัง 35 มม หนังอินเดียก็พัฒนาขึ้น ดาราดัง ๆ ยุคต่อมาที่แฟนชาวไทยนิยมชมชอบอาทิ ราเยส คานนา มุมตัส เฮมามาลินี เรียกว่าฮิตพอ ๆ กับ ดาราไทย มิตร เพชรา เลยทีเดียว หนังเรื่องไหนดาราคู่นี้แสดง คนดูไม่ต้องดูอย่างอื่น ควักสตังค์ตีตั๋วดูทันที       

       หนังอินเดียที่สร้างประวัติการณ์การฉายยาวนาน และทำรายได้ทั้งในกรุงเทพฯ และ ต่างจังหวัดมหาศาลคือ ช้างเพื่อนแก้ว  ทำลายสถิติทุกแห่งที่ฉาย พระเอกเรื่องนี้คือ ราเยส คานนา นางเอกคือ ทานูจา  แต่ที่เด่นมากคือบรรดาช้างแสนรู้ หนังเรื่องนี้ทำให้นักพากย์ฝีปากเอก ทิวา – ราตรี เจ้าของหนัง กลายเป็นมหาเศรษฐี

       หนังอินเดียยุต 35 มม ปักหลักฉายที่โรงหนังควีนส์ วังบูรพา และ โรงหนัง บางกอก ย่านราชปรารภ หนังอินเดียดัง ๆ นั้น ถ้าออกเดินสายสามารถเก็บเงินได้เป็นกอบเป็นกำ บางเรื่องก็นำเพลงอินเดียมาใส่เนื้อร้องไทย ที่ฮิตไปทั่วก็ ธรณีชีวิต ที่ได้นักร้องดังอย่าง ชาตรี ศรีชล และยุพิน แพรทอง มาร้องคู่กัน ได้ครูพงษ์ศักดิ์ จันทรุกขา เขียนเนื้อร้องไทย กลายเป็นเพลงอมตะ หรืออย่างเรื่อง รอยมลทิน ขายชีวิต ที่มุมตัส แสดงก็ให้ไพรวัลย์ ลูกเพชร ร้องเนื้อไทยกำหัวใจคนดูคนฟัง

      เมื่อสังคมเศรษฐกิจแปรเปลี่ยน โรงฉายหนังแบบสแตนอโลน  ( คือตั้งอยู่โดด ๆ ไม่อยู่ตามศูนย์การค้า ) ทะยอยปิดตัว ปรับตัว โรงหนังที่ฉายหนังอินเดียอย่าง เท็กซัส ควีนส์ ก็ต้องหยุดกิจการ .......



หัวข้อ: Re: ย้อนเวลาหาอดีต...หนังอินเดียในไทย
เริ่มหัวข้อโดย: นายเค ที่ 10 พฤษภาคม 2012, 15:27:32
      ครั้นถึงยุคโลกาภิวัตน์ หนังอินเดียพัฒนาไปมากทั้งเทคนิคการสร้าง การถ่ายทำ โปรดักชั่นที่มีมาตรฐาน จนกระทั้ง บอมเบย์ ฐานผลิตหนังอินเดียที่ใหญ่ที่สุด ได้ชื่อว่า BOLLYWOOD สามารถเปิดตลาดไปทั่วโลก ผู้สร้าง ผู้กำกับ ดารา ก้าวสู่ระดับอินเตอร์ หนังอินเดียบางเรื่องพูดภาษาอังกฤษ และคว้ารางวัลจากการประกวดระดับนานาชาติ

     แต่...แต่....ทำไมหนังอินเดียที่เคยเป็นขวัญใจผู้ชมชาวไทย จึงลดน้อยไปจากตลาดไทย จนแทบไม่มีหนังอินเดียฉายตามโรงในรอบปกติ

        ทว่า ...... หนังจีน หนังฝรั่ง พาเหรดเข้ายึดครองโรงหนังทั้งในกรุงและต่างจังหวัด รวมทั้งทีวีทุกช่อง  ประเด็นที่ถือว่าเป็น ”จุดเปลี่ยน” ของตลาดหนังอินเดียในเมืองไทย คือเงื่อนไขเรื่อง “โรงฉาย”   ไม่ว่าหนังชาติใด ในประเทศใด “ โรงฉาย “  ถือเป็นปัจจัยหลัก หนังจะดี จะทุ่มทุนสร้างขนาดไหน ถ้าไม่มีโรงฉายก็ไม่มีทางออก ยิ่งในยุคนั้นยังไม่มี ทีวีดาวเทียม เคเบิ้ลทีวี ยิ่งอินเตอร์เน็ต ไม่ต้องพูดถึงเลย แค่คิดก็ยังคิดไม่ถึง



หัวข้อ: Re: ย้อนเวลาหาอดีต...หนังอินเดียในไทย
เริ่มหัวข้อโดย: นายเค ที่ 10 พฤษภาคม 2012, 15:35:14
     “โรงหนัง”  จึงเป็นปัจจัยหลักที่จะทำให้หนังต่าง ๆ ออกมาสู่สายตาผู้ชม  รองลงมาคือ “ผู้จัดจำหน่าย“ และ “สายหนัง“ ผู้จัดจำหน่าย ก็คือ ผู้ที่ได้ลิขสิทธิ์ หนังเรื่องนั้น ๆ ในประเทศนั้น ๆ เช่น หนังฝรั่ง หนังจีน หนังญี่ปุ่น หนังอินเดียในเมืองไทย ใครจะได้ลิขสิทธิ์

     ในช่วงปี 2510 เป็นต้นมา หนังจีนจากฮ่องกงค่ายชอว์บราเดอร์ เริ่มได้รับความนิยม ผู้ได้ลิขสิทธิ์ในเมืองไทยคือ ยูเนี่ยนโอเดียน มีออฟฟิชอยู่ที่โรงหนังนิวโอเดียน ปัจจุบันก็คือตรงวงเวียนโอเดียนที่มีประตูศิลปะจีนหัวถนนย่านเยาวราช โรงฉายหลักก็นิวโอเดียน

     ส่วนหนังฝรั่งก็มีตัวแทนจากเมืองนอกมาจัดจำหน่าย ออฟฟิซอยู่ย่านสีลมที่เรียกว่า ”หนังตึก” กระจายหนังฉายหลายโรง อาทิ พาราเมาท์ เมโทร ย่านประตูน้ำ คิงส์ แกรนด์ ย่านวังบูรพา
หัวข้อ: Re: ย้อนเวลาหาอดีต...หนังอินเดียในไทย
เริ่มหัวข้อโดย: นายเค ที่ 10 พฤษภาคม 2012, 15:38:34
      หนังญี่ปุ่น ปักหลักฉายที่โรงหนังแคปปิตอล ผู้จัดจำหน่ายรายใหญ่คือ แคปปิตอลฟิล์ม ดาราญี่ปุ่นยุคนั้นที่ดัง ๆ อาทิ โตชิโร มิฟูเน่ ( คู่บุญของยอดผู้กำกับ คูโรซาว่า แห่งเจ็ดเซียนซามูไร ) ดาราที่คอหนังชอบในลีลาการแสดงแบบยียวนกวนบาทาก็ต้องโย ชิชิโด / ถ้าแบบหล่อเนี๊ยบ ๆ ก็ต้อง อาคีระ โคบายาชิ  ส่วนหนังไทยก็ฉายอยู่ เฉลิมกรุง เฉลิมบุรี เฉลิมไทย เฉลิมเขตต์ เอ็มไพร์     
     
      ต่อมามีโรงหนังใหม่เกิดขึ้นยุคโรงหนังสแตนอโลนเฟื่องฟู เช่น เพชรรามา ( ประตูน้ำ ) เอเธนส์ ( ราชเทวี ) โคลีเซี่ยม ( ยมราช ) และต่อมาย่านสยามสแควร์ โรงหนังขนาดใหญ่เกิดขึ้นโดยค่ายสยามมหรสพ คือ สยาม ลิโด สกาล่า ที่ฉายหนังคัดเกรด ทั้งที่ซื้อเองละหนังจากค่ายฝรั่ง และต่อมาได้ผนวกกิจการโรงหนังกับโรงค่ายฮอลลี้วู้ด โคลีเซี่ยม พาราเมาท์เป็นเครือพีรามิด ทำให้มีศักยภาพด้านการตลาดและอำนาจต่อรองมากขึ้น  โรงหนัง ชานเมือง ส่วนใหญ่เป็นของค่าย พูนวรลักษณ์ เจ้าของโรง เพชรรามา แมคเคนน่า ( เชิงสะพานหัวช้าง ) และโรงที่ขึ้นต้นด้วยคำว่า ”เพชร” อาทิ เพชรรามา เพชรเอ็มไพร์ แม้กระทั่ง เพชรพรานนก

หัวข้อ: Re: ย้อนเวลาหาอดีต...หนังอินเดียในไทย
เริ่มหัวข้อโดย: นายเค ที่ 10 พฤษภาคม 2012, 15:41:20
      โรงชานเมือง หรือที่เรียกว่าโรงหนังชั้นสองที่ดัง ๆ ในยุคนั้นอาทิ มงคลราม่า พหลโยธินรามา เฉลิมสิน ( ย่านสะพานควาย)  โรงหนังชานเมืองดัง ๆ ในยุคนั้น ถือเป็น ”รายได้หลัก” ของหนังโรงรองลงมาจากโรงใหญ่ ถือเป็นเส้นเลือดที่หล่อเลี้ยงที่สำคัญเช่นกัน

      ที่ยกเรื่องโรงหนังชั้นหนึ่ง และโรงหนังชั้นสอง มากล่าวก็เพื่อให้เห็นภาพรวมของ ”ธุรกิจ” โรงหนังในกรุงเทพฯ ว่าอยู่ในวงจำกัดของไม่กี่ตระกูล และค่อย ๆ ผนวกรวมกันเหลือเพียงไม่กี่เจ้า

      “ผู้จัดจำหน่าย” หนังชาติต่าง ๆ มีการแข่งขันและพัฒนาด้านการตลาดอย่างต่อเนื่อง ยกเว้นหนังอินเดียที่อยู่ในวงแคบและมักเป็นธุรกิจของชาวอินเดียและคนในวงในเช่น เคยพากย์หนังอินเดียมาก่อน รูปแบบธุรกิจก็แบบสไตล์นายห้างอินเดีย

      ส่วน ”สายหนัง” ที่ทำด้านซื้อหนังออกฉายต่างจังหวัด ในยุคที่หนังอินเดียเฟื่องฟูก็พอไปได้ แต่ก็ต้องรับภาระด้านค่าพากย์ที่ต้องใช้ชายจริง หญิงแท้ เนื่องจากหนังอินเดียมีบทเจรจาของผู้หญิงมาก ผิดกับหนังฝรั่งใช้นักพากย์ชายเป็นหลัก ถ้าเป็นโรงใหญ่จึงจะใช้ชายจริง หญิงแท้ แต่ถ้าโรงหนังบ้านนอกนักพากย์ชายคนเดียวพากทั้งพระเอก นางเอก เพื่อนพระเอก เพื่อนนางเอก นางอิจฉา ยันพ่อตาแม่ยาย…



หัวข้อ: Re: ย้อนเวลาหาอดีต...หนังอินเดียในไทย
เริ่มหัวข้อโดย: นายเค ที่ 10 พฤษภาคม 2012, 15:45:51
       เมื่อหนังอินเดียบูมสุด ๆ ตอนช้างเพื่อนแก้ว (หนังอินเดีย) สายหนังก็ได้แต่มองตาปริบ ๆ เพราะเรื่องนี้ทีแรกสายหนังไม่ได้ซื้อ พอหนังเข้าฉายทำรายได้ถล่มทลาย ทางผู้เป็นเจ้าของจึงนำออกเดินสายเอง

       สายหนังต่างจังหวัดรายใหญ่สมัยก่อน จะซื้อหนังไทยเป็นหลัก ส่วนหนังอินเดีย จะมีสายหนังรายย่อยที่น้อยพาวเวอร์รับไป เมื่อออกเร่ฉายก็ไม่มีอำนาจต่อรองเรื่องโรงฉาย วันฉาย รวมทั้งส่วนแบ่งรายได้

      เมื่อการตลาด การโปรโมทโดยภาพรวมหนังอินเดีย ขาดช่วงขาดงบขาดการกระตุ้นการสนับสนุนจึงทำให้ไม่เวิร์ค ตลาดโดยรวมทั้งในกรุงและต่างจังหวัดที่ไม่มีการพัฒนา จึงค่อย ๆ ละลายไปจนแทบไม่เหลือ

       ในขณะที่โรงหนังที่เคยฉายหนังอินเดียเป็นหลักเช่น เท็กซัส ต้องปิดกิจการ ควีนส์ ย่านวังบูรพา และโรงหนังบางกอก ( แถวมักกะสัน ) ที่เคยฉายหนังอินเดียเป็นประจำก็ต้องแปรเปลี่ยนเป็นโรงฉายหนัง 2 เรื่องควบ และโรยราในที่สุด

หัวข้อ: Re: ย้อนเวลาหาอดีต...หนังอินเดียในไทย
เริ่มหัวข้อโดย: นายเค ที่ 10 พฤษภาคม 2012, 15:57:28
      โรงฉายหนังอินเดียแทบไม่มี นาน ๆ ทีจึงจะมีหนังอินเดียเข้าฉายซึ่งต้องเป็นหนังใหญ่จริง ๆ เช่น โชเล่ย์ / KHUDA GAWHA รักข้าเหนือชีวิต  ที่เข้าฉายโรงหนังแอมบาสเดอร์ สะพานขาว

     เมื่อยุคโรงหนังแบบตั้งเดี่ยวหรือสแตนอโลนถดถอยลง โรงหนังในย่านศูนย์การค้าผุดขึ้นค่ายใหญ่วางเครือข่ายโรงหนังครอบคลุมไปทั่วกรุงและชานเมือง เทรนด์ใหม่ของโรงหนังคือเน้นไปที่ตลาดวัยรุ่น คนเดินห้างช้อปปิ้ง นักเรียนนักศึกษา คนหนุ่มสาว

      กระแสความนิยมตะวันตก ทำให้เด็กไทยรู้จักนักฟุตบอลอังกฤษดีกว่านักบอลไทย เช่นเดียวกับฟาสต์ฟูดที่แพร่หลายไปตามห้างสรรพสินค้า ในขณะเดียวกับที่ข้าวแกงยังขายริมถนน โรตีต้องเข็นรถขายตามซอย ตามตลาดชุมชน

      “การตลาด สมัยใหม่” ยุคสมัยที่เทคโนโลยีก้าวหน้า สื่อสารมวลชนเข้ามามีบทบาท การสร้างภาพลักษณ์ สร้าง ”แบรนด์” เป็นสูตรสำคัญของการผลักดันสินค้า แนวฝรั่งพี่ไทยก็เดินตามแฟชั่นเขาเรียบร้อยไปแล้ว ต่อมาญี่ปุ่นจะไปทางไหน วัยรุ่นไทยก็ไปด้วย แถมเกาหลี จีนทั้งไต้หวัน เอฟ4 ละอ่อนไทยรับได้หมด โทรศัพท์มือถือกลายเป็นส่วนหนึ่งของอวัยวะร่างการที่ต้องพกติดตัวตลอดเวลา แต่การตลาดหนังอินเดียในไทยไม่กระเตื้อง

      ทางออกของหนังอินเดียในเมืองไทย เท่าที่ปรากฏคือ ออกฉายทางทีวีทั้งซีรี่ส์และหนังเรื่อง แต่ก็กระปริบกระปอย ซึ่งเมื่อเทียบอัตราส่วนกับหนังจีน หนังญี่ปุ่น เกาหลีแล้ว ผิดกันลิบลับ ทั้ง ๆ ที่อินเดียผลิตหนังต่อปีมากที่สุดในโลก และวัฒนธรรมดั้งเดิมของไทยก็มีรากมาจากอินเดีย    :D  :D  :D



หัวข้อ: Re: ย้อนเวลาหาอดีต...หนังอินเดียในไทย
เริ่มหัวข้อโดย: นายเค ที่ 10 พฤษภาคม 2012, 16:02:39
      มองด้านการตลาดก็พอเห็นแล้วว่า “ภาพลักษณ์“ หนังอินเดียในไทย ไม่ค่อยได้พัฒนา คนส่วนใหญ่ขาดข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับเรื่องราวความเคลื่อนไหวหนังอินเดียที่อัพเดท ทำให้ยังคงมีภาพหนังอินเดียปีมะโว้ค้างคาใจอยู่

      เช่นพอเอ่ยถึงหนังอินเดียก็มักจะนึกถึงหนังโบราณ นาร๊ายนาราย หรือไม่ก็ พระเอกนางเอกร้องเพลงวิ่งข้ามเขา 3 – 4 ลูก ฉากบู๊ก็ต่อยกันเฉียดไปเฉียดมาเป็นงั้นไป ทั้ง ๆ ที่หนังอินเดียยุคใหม่ก้าวไปไกล พัฒนาทั้งเนื้อหา รูปแบบ การลงทุน การถ่ายทำ การแสดง โพสต์โปรดั๊กชั่น โปรโมชั่น ฯลฯ Weddind สามารถฉายได้ทั่วโลก

      หนังอินเดียในไทยปัจจุบัน ถ้าหากเป็นหนังโรงในกรุงเทพฯ จะมีมาฉายเฉพาะกิจเฉพาะกาล เช่น ตามงานเทศกาลหนังนานาชาติ เทศกาลหนังอินเดีย หรือ หนังอินเดียรอบพิเศษ (ส่วนใหญ่เป็น รอบเช้าเสาร์ – อาทิตย์ ) ก็มีคนนำมาฉายเหมือนกัน อย่างเช่นเรื่อง BLACK / KISNA / Kaal แต่ก็ฉายเพียง รอบ สองรอบ เสียงภาษาฮินดี และอยู่ในแวดวงจำกัดของชาวอินเดียในกรุงเทพฯ   ตลาดหนังอินเดียในไทยยุคนี้จึงไม่ได้อยู่ที่ ”หนังโรงหรือทีวี” แต่อยู่ที่ ”หนังแผ่น”   วีซีดี ดีวีดี ทั้งหนังอินเดียพากย์ไทย หนังอินเดียเสียงในฟิล์ม  ตลาดหนัง ”หนังแผ่นอินเดีย” ยุคนี้…..ไม่ธรรมดา



หัวข้อ: Re: ย้อนเวลาหาอดีต...หนังอินเดียในไทย
เริ่มหัวข้อโดย: นายเค ที่ 10 พฤษภาคม 2012, 16:10:02
สำหรับตลาดหนังอินเดีย ประเภท วีซีดี ดีวีดี ที่นำมาทำพาย์ไทยแล้วจัดจำหน่าย  เท่าที่ติดตามสำรวจตลาดหนังอินเดียที่ทำเป็น วีซีดี ( ดีวีดี ยังมีน้อย )   มีข้อสังเกตุดังนี้

1  ผู้ชมผู้ซื้อกลุ่มลูกค้า     
     1.1  กลุ่มผู้ชม ส่วนใหญ่ เป็นสุภาพสตรี   ส่วนสุภาพบุรุษก็พอมี  แต่เมื่อเทียบสัดส่วนยังน้อยกว่าสุภาพสตรี
     1.2  ผู้ซื้อผู้ชม ยังขาดข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับหนังอินเดีย  ทั้งเรื่องที่วางตลาด  และที่น่าสนใจ
     1.3  ผู้ซื้อ มักจะตัดสินใจเลือกซื้อจากการพิจารณา
           - ดารานำแสดง ( แน่นอนว่า หนังSRK มาอันดับหนึ่ง) 
           - จากนั้นจะพิจารณาสไตล์หนัง  ซึ่งหนังแนวรัก ชีวิต จะได้รับความนิยมมากกว่าประเภทบู๊   
           - แพคเกจรูปลักษณ์ หน้าปก ถ้าสวยก็ชวนซื้อ   ยิ่งเป็นชุดสามแผ่นใส่กล่องก็ยิ่งน่าสนใจแฟนขาประจำก็ตัดสินใจซื้อไม่ยากเ พราะเข้าใจ (ว่าหนังไม่โดนหั่นออก)
     1.4  ผู้ซื้อส่วนใหญ่ยังเขิน ๆ อยู่บ้างในการเลือกซื้อหนังอินเดีย  อาจเพราะเกรงว่าจะถูกมองหาว่าว่า ”เชย” (ทั้ง ๆ ที่ความจริง หนังอินเดีย โกอินเตอร์นานแล้ว  ของไทยเพิ่งจะโกจริง ๆ จากองค์บาก ) 
     1.5 ผู้ซื้อผู้ชมไม่ค่อยมั่นใจในหนัง   ทั้งนี่อาจเนื่องจากเคยเจอหนังแผ่นที่ทำออกมาแบบลดต้นทุน  ทั้งเนื้อหนัง  การพากย์  ตัดทอนสั้นลงจนบางเรื่องดูแล้วขาดอรรถรสไปเยอะ  บางเรื่องก็เป็นหนังเก่า หนังต้นทุนต่ำ  หนังลดราคาขายตามตลาดนัด  ตลาดล่าง   เรื่องละ 19 บาท  29 บาท  หรือ 4 เรื่อง 100 ทำให้ผู้ชมบางส่วนคิดว่าหนังอินเดีย ”มีแค่เนี๊ยะ” 
หัวข้อ: Re: ย้อนเวลาหาอดีต...หนังอินเดียในไทย
เริ่มหัวข้อโดย: นายเค ที่ 10 พฤษภาคม 2012, 16:15:39
      กลับมาดูตลาดหนังแผ่นอินเดียในไทย (เฉพาะที่พากย์ไทย)    ในเมื่อหนังอินเดียในไทย  แทบไม่ได้ฉายตามโรง (จะมีบางเรื่องที่นำเข้ามาฉายเพียงรอบ สองรอบ)  โฆษณาทางหน้าหนังสือพิมพ์จึงไม่มี  ทางทีวีหรือสื่ออื่นก็ไม่มี

      เมื่อมีการนำหนังอินเดียมาทำเป็นหนังแผ่น พากย์ไทย  ไม่ค่อยมีการโฆษณาประชาสัมพันธ์   หรือถ้ามีก็นิดหน่อย หรือเล็ก ๆ (แทบต้องเอาแว่นขยายส่องดู)

      อาจเพราะว่างบประมาณการโฆษณาจำกัด  หรือยังไม่พร้อมที่จะ ”ทุ่มเพื่อสร้างตลาด”  หรืออาจเนื่องจากนโยบาย  “การตลาดซึมลึกแบบน้ำซึมบ่อทราย”  ที่ค่อย ๆ  ขาย  ไม่ต้องทุ่มอะไรมาก  เพราะมีฐานลูกค้าเดิมอยู่แล้ว
บางรายอาจเห็นว่า “ไม่น่าเสี่ยง” ที่จะโปรโมท  เพราะจุดคุ้มทุนสูง ต้นทุนการผลิตหนัง มีตั้งแต่ค่าลิขสิทธ์   ค่าทำบท ค่าพากย์  ค่ามาสเตอรริ่ง เฉพาะค่าปั๊มแผ่นวีซีดี  หนังอินเดียมาตรฐาน  อย่างต่ำต้อง  3  แผ่นต่อเรื่อง ซึ่งสิ้นเปลืองกว่าหนังทั่วไปที่เฉลี่ยเป็น วีซีดี 2 แผ่น หนังแผ่นอินเดีย เมื่อรวมกับค่าแพ๊ค ค่ากล่อง  ค่าปก  ก็ย่อมสูงไปด้วย   แต่หนังแผ่นอินเดียวีซีดี  ราคาขายปลีกเฉลี่ยก็ไม่สูง ประมาณเจ็ดสิบ แปดสิบบาท  จนถึงถึงร้อยเศษ ๆ ลูกค้าทั่วไปพอมีกำลังซื้อได้    :D  :D  :D

      ปัจจุบันหากจะประมวลจากปัจจัยส่งเสริมคือการพัฒนาคุณภาพของหนังอินเดียดีขึ้น  การค้าระหว่างไทยกับอินเดียขยายตัวขึ้น  อินเดียเองก็ปรับทิศทางการลงทุนการตลาดระดับนานาชาติ  อนาคตการตลาดหนังอินเดียในระดับนานาชาติจึงมีโอกาสก้าวหน้าไปมาก  โดยมีฐานผู้ชมจากชาวอินเดียเป็นพื้น  ต่อยอดด้วยผู้ชอบความเป็นตะวันออก  และกลิ่นอายแห่งอารยะธรรมภารตะ 
กอปรกับ “จุดขาย“ หนังอินเดียที่มีดาราระดับ ”แม่เหล็ก” อาทิ ซาฮ์ รุข ข่าน, อมิตาป  บาจาห์น, อิสวารายา  ไร, ปรีตี้ ซินต้า,  จอห์น  อับบราฮัม ฯลฯ เป็นตัวชูโรง  มีการถ่ายทำในต่างประเทศ  ร่วมทุนกับต่างชาติ  หรือแม้กระทั่งนำนักร้องจากต่างชาติเข้าไปร้องเพลงประกอบภาพยนตร์ (DHOOM) ที่น่าจับตาคือ “ระบบโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม“ มีช่องหนังอินเดีย  มิวสิควีดีโออินเดีย  แพร่ภาพกว้างไกลไปทั่วโลก   ย่อมส่งผลให้การตลาดหนังอินเดียขยายไปทั่วโลก    ;)  ;)  ;)
หัวข้อ: Re: ย้อนเวลาหาอดีต...หนังอินเดียในไทย
เริ่มหัวข้อโดย: นายเค ที่ 10 พฤษภาคม 2012, 16:21:15
      สำหรับรอบ ๆ เมืองไทยเรา ในมาเลย์เซีย  สิงคโปร์ นั้น  หนังอินเดียได้รับความนิยมไม่น้อยหน้าใคร   ยิ่งดีวีดีหนังอินเดียบางเรื่องนอกจากมีซับภาษาอังกฤษแล้วยังมีภาษามาเลย์ อีกด้วย   

      สำหรับในไทยก็ดูทีท่าว่าน่าจะไปได้แต่ทั้งนี้ต้องมีการนำเสนอข้อมุลข่าวสา รอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ  ผู้ค้า ผู้ผลิต  ครีเอทีฟ  ก้อปปี้ไรเต้อร์และสื่อมวลชนต้อง ”ทำการบ้าน”   มากขึ้น ที่จริงข้อมูลหนังบอลลีวู๊ดทางอินเตอร์เน็ตนั้นก็มีท่วมท้น  อัพเดทกันตลอด  หรือแมกกาซีนหนังอินเดีย(อาทิฟิล์มแฟร์)  ก็มาตรฐานสูง ดังนั้นการโปรโมทหนังอินเดียคงไม่เป็นเรื่องเหนือบ่ากว่าแรงที่จะทำได้

      ชื่อหนังก็ตั้งให้เข้าท่าเข้าทางหน่อย  ประเภทอ่านชื่อหนังแล้วอยากวิ่งเอาหัวกระแทกฝาให้รู้แล้วรู้รอดไปเลย เช่น  โรตี...วิ่งสู้ฟัด น่ะ ขอบิณฑบาตเถอะ   ดีไมดีเขานึกว่า หนังสองเรื่องควบ  หนังอินเดียเรื่อง  หนังจีนเรื่อง  เฮ้อ......  และควรใส่ชื่อเดิมเอาไว้เพื่อให้คนซื้อเขารู้ว่ามาจากหนังเรื่องไหน ส่วนหนังแผ่นอินเดียที่ทำเป็นดีวีดีนั้นจัดว่าอยู่ในระดับอินเตอร์แล้ว    ชาวอินเดียมีอยู่ทั่วทุกทวีป แฟนหนังอินเดียมีอยู่ทั่วโลก  สถิติผู้ชมหนังอินเดียทั่วโลกนั้นฮอลลีวู้ดยังชะเงื้อมอง

     ส่วนในประเทศไทยเรา  ตอนนี้มีบางเรื่องทำเป็น ดีวีดี และ  อีซี่ดีวีดี (แผ่นเดียว)  ราคาใกล้กับวีซีดี ก็ได้รับการตอบรับดีพอสมควรตรงนี้น่าจะเป็นทางออกในการลดต้นทุนได้   ในเมื่อปัจจุบันเครื่องเล่น ดีวีดี ราคาถูกลง (บางรุ่นไม่ถึงสองพัน)  ตลาดดีวีดีกำลังขยาย  ดีวีดีหนังหลายเรื่องทำเป็นสองเวอร์ชั่น  แบบธรรมดา กับแบบพิเศษ (เพิ่มฟีเจอร์ หรือระบบเสียง  หรือเป็นดีวีดี 9 )


 :)  :)  :) ผมนำบทความมาให้อ่าน หวังว่าจะมีประโยชน์ ไม่มากก็น้อยนะครับ ท่านใดมีข้อมูลข่าวสารเพิ่มเติม  หรือมีข้อแนะนำ เชิญส่งมาได้ครับ...
หัวข้อ: Re: ย้อนเวลาหาอดีต...หนังอินเดียในไทย
เริ่มหัวข้อโดย: นกขมิ้น ที่ 10 พฤษภาคม 2012, 16:56:00
ขอแถมท้ายด้วย Mother India เต็มเรื่อง ...

http://www.youtube.com/watch?v=-q_8vu6j4jo
หัวข้อ: Re: ย้อนเวลาหาอดีต...หนังอินเดียในไทย
เริ่มหัวข้อโดย: ฉัตรชัยฟิล์มshop ที่ 10 พฤษภาคม 2012, 17:23:01
ขอบคุณสำหรับข้อมูล... และหนังอินเดีย.. ;D
หัวข้อ: Re: ย้อนเวลาหาอดีต...หนังอินเดียในไทย
เริ่มหัวข้อโดย: ickilas ที่ 02 สิงหาคม 2012, 06:02:24
เพราะหนังอินเดีย  เน้นการนำเสนอแบบมิวสิคคัล  แทบทุกเรื่อง   ไม่รับกับรสนิยมคนดูหนังรุ่นใหม่ๆในบ้านเราครับ   ยกเว้นหนังใหม่ๆ
หัวข้อ: Re: ย้อนเวลาหาอดีต...หนังอินเดียในไทย
เริ่มหัวข้อโดย: Thawatchai ที่ 09 สิงหาคม 2012, 12:58:58
หนังอินเดียเนี่ย ผมชอบมาก คือหนังจะแสดงให้เห็นสถานภาพทางสังคม แง่คิดทางศีลธรรม และมีความละเมียดละไมทางดนตรี ผมดูและประทับใจอยู่ 4 เรื่องที่จำได้ มีโชเล่ย์  ธรณีกรรแสง ช้างเพื่อนแก้ว และองคุลีมาล

และหนังอื่นๆ ที่เกี่ยวกับเทพเจ้า และเรื่องรามเกียรติ์ ผมว่าคนดูหนังยังมีอีกมากแต่ไม่รู้จะหาดูได้ที่ไหนมากกว่า

Yeh Dosti จาก โชเล่ย์ ถ้าสังเกตุจะเห็นว่าลิเกเอาเพลงนี้ไปร้อง ตอนออกแขก กับนางเอกเต้นโชว์
http://www.youtube.com/watch?v=4CSYwTE1kr0

Duniya Mein Hum Aaye Hain จาก ธรณีกรรแสง หนังทำออกมาดีสุดๆ คือพื้นฐานทุกคนรักแม่อยู่แล้ว เรื่องราวที่เราได้ดู ทำให้น้ำตามันไหลออกมาเอง
http://www.youtube.com/watch?v=RjYhUk6M0iM

Chal chal mere saathi o mere haathi จาก ช้างเพื่อนแก้ว นำแสดงโดย ราเยส คานนา เพิ่งเสียชีวิตไป
http://www.youtube.com/watch?v=kLzWzAYpwU0

องคุลีมาล เต็มเรื่องมีใน Youtube ผมคุ้นกับเสียงพากษ์เสียงไทยมากๆ ปัจจุบันไม่ค่อยได้ยินแล้ว
http://www.youtube.com/watch?v=MEilNbHygtA
หัวข้อ: Re: ย้อนเวลาหาอดีต...หนังอินเดียในไทย
เริ่มหัวข้อโดย: Thawatchai ที่ 10 มิถุนายน 2013, 22:15:40
เพลงใน ธรณีกรรแสง
Nagri Nagri Dware Dware

http://www.youtube.com/watch?v=O48Q7_ZJSF0

หัวข้อ: Re: ย้อนเวลาหาอดีต...หนังอินเดียในไทย
เริ่มหัวข้อโดย: Thawatchai ที่ 10 มิถุนายน 2013, 22:18:14
เพลงใน ธรณีกรรแสง
Duniya Mein Hum Aaye Hain

http://www.youtube.com/watch?v=RjYhUk6M0iM
หัวข้อ: Re: ย้อนเวลาหาอดีต...หนังอินเดียในไทย
เริ่มหัวข้อโดย: Thawatchai ที่ 10 มิถุนายน 2013, 22:20:48
เพลงใน ธรณีกรรแสง
Dukh Bhare Din Beete Re

http://www.youtube.com/watch?v=SmPzpWQ5v_E


หัวข้อ: Re: ย้อนเวลาหาอดีต...หนังอินเดียในไทย
เริ่มหัวข้อโดย: tuminter ที่ 17 ธันวาคม 2013, 17:42:18
ขอบคุณครับ
หัวข้อ: Re: ย้อนเวลาหาอดีต...หนังอินเดียในไทย
เริ่มหัวข้อโดย: เจ ที่ 11 มิถุนายน 2014, 15:23:18
ข้อมููลเนื้อๆ ขอบคุณครับ
หัวข้อ: Re: ย้อนเวลาหาอดีต...หนังอินเดียในไทย
เริ่มหัวข้อโดย: filmmakker ที่ 13 มิถุนายน 2014, 14:45:15
ขอบคุณสำหรับข้อมูลครับ สุดยอดเลยครับ
หัวข้อ: Re: ย้อนเวลาหาอดีต...หนังอินเดียในไทย
เริ่มหัวข้อโดย: รักษ์ ไทยซีเนเด้อ ที่ 13 มิถุนายน 2014, 22:13:42
อยากดูระบบฟิล์มจัง