ผู้เขียน หัวข้อ: ความเป็นมาของ "หนังกลางแปลงอัมพวา"  (อ่าน 197 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ มนัส กิ่งจันทร์

  • มนัส กิ่งจันทร์ ภาคสอง ชุมทางหนังไทยในอดีต
  • Moderator
  • พี่น้อง thaicine Gold member
  • ***
  • กระทู้: 2814
  • พลังใจที่มี 35
  • เพศ: ชาย
    • มนัส ชุมทางหนังไทยในอดีต
ความเป็นมาของ "หนังกลางแปลงอัมพวา"
« เมื่อ: 16 มิถุนายน 2018, 18:22:21 »
ความเป็นมาของ "หนังกลางแปลงอัมพวา" โดย Nai Waitch
เขียนไว้ที่ เพจหอจดหมายเหตุสมุทรสงคราม ผมแชร์มา.. ลองอ่านดูนะครับ ละเอียดมากๆ

        การใช้ชีวิตของคนรุ่นใหม่ที่อยู่กับโซเซียลมีเดีย ส่วนมากคงไม่รู้จักหนังกลางแปลงและไม่เคยได้ดูหนังกลางแปลงกันอย่างแน่นอน เนื่องจากมีสิ่งบันเทิงมากมายที่สืบค้นได้จากอินเตอร์เน๊ตที่ให้ความสนุกเพลิดเพลิน แค่มือคลิ๊กเม้าท์ ไม่ต้องพึ่งพาความบันเทิงจากหนังกลางแปลงอย่างคนรุ่นเก่า

        ในอดีตเมื่อ 40-50 ปีก่อน มหรสพที่ได้รับความนิยมจากชาวบ้านอย่างมาก หนีไม่พ้นหนังกลางแปลง ไม่ว่าจะจัดงานอะไร ต้องมีหนังกลางแปลงไว้ก่อน หนังกลางแปลงยืนหยัดอยู่คู่สังคมไทยเป็นเวลานานก่อนที่วีดีโอ,ซีดี,ดีวีดี,โฮมเธียร์เตอร์ จะเข้ามายึดพื้นที่สิ่งที่ให้ความบันเทิงในอดีตจนเกือบหมด จากนั้นโรงภาพยนตร์, หนังกลางแปลง ก็ค่อยๆเสื่อมความนิยมลงไป

        เมื่อก่อน ชาวชนบทอยู่ห่างไกลและยากจน โอกาสที่จะมีหนังกลางแปลงมาฉายสักครั้งไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะได้ดูกันบ่อยๆ หนังเร่และหนังขายยาคือ ความหวังที่รอคอยกันเป็นแรมปี เมื่อมีหนังขายยา,หนังเร่มาฉายจึงสร้างความตื่นเต้น ดีใจที่จะได้พบกับความบันเทิงสักครั้ง การฉายหนังกลางแปลงมักใช้บริเวณลานกว้างของหมู่บ้าน,สนามโรงเรียน,ลานวัดหรือกลางทุ่งนาใกล้หมู่บ้าน หลังจากเก็บเกี่ยวข้าวแล้ว แต่ก็เลือกไม่ได้กับในแหล่งชุมชนที่ไม่มีพื้นที่ดังกล่าวให้ตั้งจอหนัง หากสถานที่บังคับให้เลือกตั้งจอหนัง เช่น ริมแม่น้ำริมคลองหรือกลางคลอง ก็ต้องตั้งจอหนังตามสถานการณ์นั้นๆ เป็นหนังกลางคลองไป

        เจ้าของหนังกลางแปลงที่อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม มีหนังกลางแปลงที่รู้จักกันดีก็คือ ศรีเพ็ชร์ภาพยนตร์ บ้านอยู่คานเรือสี่แยกตลาดอัมพวา มีบ้านติดริมแม่น้ำแม่กลอง ที่ชื่อ ศรีเพ็ชร์ภาพยนตร์ ก็เพราะเจ้าของหนัง นายห้างเฮงไล้เป็นชาวจังหวัดเพชรบุรี เป็นคนดังคนหนึ่ง เมื่อย้ายมาอยู่ที่อัมพวา จึงตั้งชื่อหนังว่า ศรีเพ็ชร์ นายห้างเฮงไล้มีที่ทางในตลาดอัมพวามากและมีตึกอาคารพาณิชย์,บ้านพักหลายหลังทั้งในตลาดหลังโรงพักให้เช่า พวกตำรวจเช่าบ้านพักอยู่หลังโรงพักกันหลายหลัง นายห้างได้ซื้อเครื่องอาร์คฉายหนังมาแทนเครื่องหลอดที่ใช้หลอด RCA หรือใช้หลอดฮาโลเจน ซึ่งฉายได้เฉพาะแต่หนัง 16 มิลลิเมตร แสงไม่ค่อยสว่าง จึงใช้จอเล็ก

        เมื่อศรีเพ็ชร์ภาพยนตร์ใช้เครื่องอาร์คฉายได้เปลี่ยนชื่อเป็น ศรีเพ็ชร์อาร์คภาพยนตร์ ประมาณปี พ.ศ.2506 หรือปี พ.ศ.2507 (โดยการประมาณ) นายห้างเฮงไล้เสียชีวิตจากการผ่าตัดไส้ติ่ง ยายโป๋ อัศเวศน์ จึงเข้ามาสืบทอดกิจการแทน ศรีเพ็ชร์ อาร์คภาพยนตร์ใช้เครื่องอาร์คฉายจึงได้รับความนิยมจากเจ้าภาพ ต่างจ้างศรีเพ็ชร์ อาร์คภาพยนตร์ไปฉายหนังกลางแปลง เรียกว่า ในอัมพวา ไม่มีหนังกลางแปลงเจ้าไหนโด่งดังและได้รับความนิยมมากเท่าศรีเพ็ชร์ อาร์คภาพยนตร์

        หนังจะฉายได้ ต่อเมื่อยายโป๋เดินทางมาถึง ยายโป๋หิ้วกระเป๋าหนังเป็น กล่องสี่เหลี่ยมสีดำมาให้คนฉายหนังเพื่อเอาเลนซ์ใส่เครื่องฉายเนื่องจากเลนซ์มีราคาแพง แกจึงหิ้วกระเป๋าเลนซ์มาเอง ในการประชันหนัง ถ้าศรีเพ็ชร์ประกาศว่า คืนนี้มี รุจิรา-มารศรี จากรุงเทพฯ มาพากย์คนดูต่างแห่กันมาดูแต่หนังของศรีเพ็ชร์ ยายโป๋ยังเป็นคนเก็บค่าเช่าตามบ้านพัก

        จิตติ เป็นนักพากย์ผูกขาดอยู่กับศรีเพ็ชร์ อาร์คภาพยนตร์และหนังเจ้าอื่นที่แม่กลอง จิตติ เจ้าของตำนานนักพากย์หนังเมืองสมุทรสงครามมีลูกศิษย์ลูกหาอยู่ทั้งจังหวัด จิตติ มีชื่อจริงว่า นายเล็ก ปิยะจิตติ เริ่มจากเป็นช่างตัดจอหนังส่งทั่วประเทศก่อนมาพากย์หนัง แกเป็นคนตัวเล็กค่อนข้างผอมสูงบาง แต่แกร่ง ศีรษะบางไม่ถึงกับล้านหมดศีรษะ เมื่อเริ่มการพากย์ แกแนะนำตัวด้วยการสะกดที่ละพยางค์ว่า “จอ. สระอิ.. ตอ .. ตอสระอิ. จิตติ พากย์” จนกลายเป็นสโลแกนประจำตัวของแกทุกครั้งที่เริ่มพากย์หนัง เวลาพากย์หนัง แกชอบสวมหมวกได้ฉายาว่า เป็นนักพากย์ร้อยเสียง สามารถพากย์ได้ทุกเสียง เสียงของแกขึ้นจมูก เนื่องจากแกมีจมูกโด่ง เสียงจึงกังวานไพเราะ นุ่มหู

        จิตติ มีบ้านอยู่แม่กลอง เมื่อหมดงานพากย์หนัง แกจึงกลับมาตัดจอหนังขาย จิตติเสียชีวิตไปเมื่อวันที่16 เมษายน พ.ศ.2557 อายุได้ 93 ปีปิดฉากตำนานนักพากย์ดังแห่งเมืองสมุทรสงคราม หลังจากสิ้นยายโป๋แล้ว ไม่มีใครมาสืบทอดศรีเพ็ชร์ อาร์คภาพยนตร์ เจ้าของตำนานหนังกลางแปลงแห่งอัมพวา

        เจ้าของหนังที่เป็นคู่แข่งประชันกับศรีเพ็ชร์ อาร์คภาพยนตร์ บ่อยที่สุดก็คือ ส.ประดิษฐ์ ของลุงสังเวียน ดวงมรกต เดิมมีบ้านอยู่ริมแม่น้ำแม่กลองก่อนถึงวัดบางจาก อำเภออัมพวา ก่อนย้ายไปอยู่ที่ปากวน (ปาก-วน) ประมาณปี พ.ศ.2512 ริมคลองประชาชื่น ตำบลปลายโพงพาง อำเภออัมพวา ติดกับโรงเรียนชนะวิทยา ใกล้สะพานข้ามคลองประชาชื่น ถนนแม่กลอง-ปากท่อ (จังหวัดราชบุรี) มีนายสุพจน์ ดวงมรกต ลูกชายคนโตเป็นคนพากย์หนัง

        ที่ตั้งชื่อ ส.ประดิษฐ์ ก็เพราะลุงสังเวียน แกชอบประดิษฐ์ สร้างอุปกรณ์ต่างๆ เกี่ยวกับไฟฟ้าขึ้นมาเอง มีชื่อเสียงในด้านการประดับไฟฟ้า ไฟกระพริบ ไฟวิ่ง รูปแบบต่างๆ งานที่ใช้ไฟฟ้าประดับ จึงมีแต่ ส.ประดิษฐ์ ส่วนเครื่องอาร์คฉายหนังนั้น ลุงสังเวียนสร้างขึ้นมาเอง รูปทรงจึงไม่ค่อยเหมือนเครื่องอาร์คจากต่างประเทศ แสงสว่างไม่ค่อยสม่ำเสมอสู้เครื่องอาร์คจากต่างประเทศไม่ได้ เมื่อประชันกัน คนแห่กันมาดูศรีเพ็ชร์ มากกว่า หลังจากลุงสังเวียนและลูกชายเสียชีวิต ก็เป็นการปิดตำนาน ส.ประดิษฐ์ภาพยนตร์

        เจ้าของหนังศรีพิทักษ์ภาพยนตร์ ของเฮียขาไล้ (วีระศักดิ์ กมลาศพิทักษ์) แกเป็นเจ้าของร้านขายข้าวสาร ของชำต่างๆ ร้านอยู่ริมคลองอัมพวา เยื้องๆ กับบ้านขุนนิกรนรารักษ์ฝั่งตรงข้าม แกเป็นเป็นมีฐานะคนหนึ่ง แต่ชอบหนัง จึงมีทุนมากพอ ซื้อเครื่องฉายหนังและอุปกรณ์มาทำหนังกลางแปลงกับเขาบ้าง มีเฮียฮั้ว (กฤษณะ อัศวินรุ่งโรจน์) เป็นผู้ดูแลกิจการทั้งหมดให้ นักพากย์อัมพวาหลายคน หมุนเวียนมาพากย์ให้ศรีพิทักษ์ บางทีขาดนักพากย์ เฮียฮั้วก็พากย์หนังแทน เฮียฮั้วได้ฝึกปรือการพากย์มาจากจิตติ ศรีพิทักษ์ภาพยนตร์ ได้รับความนิยมจากชาวตลาดอัมพวาพอๆ กับศรีเพ็ชร์ ศรีพิทักษ์ภาพยนตร์เลิกลาจากวงการไปนานพร้อมกับการจากไปของเฮียขาไล้

        เจ้าของหนังมงคลซาวนด์ เป็นของเฮียหมง (มงคล จิระสัจจานุกูล) ร้านอยู่ตรงข้ามกับเทศบาลตำบลอัมพวา เดิมเป็นร้านขายผักโดยเฉพาะผักดอง เช่น ผักกาดดอง, มะนาวดอง คนชอบมาซื้อผักกาดดอง, มะนาวดองที่ร้านนี้เพราะแม่เฮียหมงแกทำเอง แต่ก่อนนั้นเฮียหมงอยู่กับศรีเพ็ชร์ภาพยนตร์ เฮียหมงเก่งเรื่องเครื่องเสียงมาก สามารถประกอบเครื่องขยายเสียงได้เอง คุณภาพเสียงดีมาก เจ้าของหนังต่างมาจ้างแกให้ประกอบเครื่องเสียง เมื่อมาเป็นเจ้าของหนังเองจึงใช้ชื่อว่า มงคลซาวนด์ ได้รับความนิยมอย่างมากในตลาดอัมพวา มีนักพากย์หลายคนที่มาพากย์ ส่วนใหญ่เป็น ดอกรัก (ขจรศักดิ์ พงษ์สุวรรณ ชื่อเล่น นิด) นักพากย์ระดับตำนานอีกคน

        ดอกรัก ชื่นชอบการพากย์หนังตั้งแต่อยู่ในวัยเรียน ในวัยหนุ่มได้หัดพากย์เล่นกับการฉายหนังที่ใช้มือหมุนเหมือนกับเครื่องฉายเด็กเล่น โดยเฮียหมง ตลาดอัมพวาเป็นผู้ฉาย เป็นฟิล์มขนาด 35 มิลลิเมตร ม้วนเล็ก เส้นผ่าศูนย์กลาง 5 นิ้ว ฉายได้ระยะใกล้จอนิดเดียว เป็นการเริ่มต้นหัดพากย์ ได้พากย์หนังครั้งแรกที่วัดจุฬามณี ตำบลบางช้าง อำเภออัมพวาเพราะนักพากย์จากกรุงเทพฯ มากินหอยทอด แล้วท้องเสียอย่างหนักพากย์ไม่ได้ เมื่อไม่มีนักพากย์ เฮียหมงจึงบอกให้พากย์แทนเป็นการบรรยายเสียมากกว่า พากย์เรื่อง “สิงห์บ่อน้ำมัน” เป็นหนังคาวบอย จากนั้นดอกรักก็ได้พากย์หนังเรื่อยมา ตะลอนๆ ไปกับการพากย์หนังกลางแปลงต่างที่ต่างๆ ได้ติดตาม “จุ่มจิ๋ม” นักพากย์ร่างใหญ่จากคลองแควอ้อม เข้ากรุงเทพฯ เพื่อนของจุ่มจิ๋มจึงตั้งชื่อให้ว่า “ดอกรัก” ชีวิตการเป็นนักพากย์หนัง ได้มีโอกาสปะทะฝีปากกับนักพากย์ระดับครูทั้งฝั่งพระนครและฝั่งกรุงธรบุรีหลายคน

        การพากย์โรงในกรุงเทพฯ นักพากย์รุ่นพี่ได้แนะนำให้เปลี่ยนชื่อใหม่เป็น”พรพิรุณ” เมื่อกลับไปพากย์ต่างจังหวัด คงใช้ชื่อว่า”ดอกรัก” ผูกขาดพากย์หนังกลางแปลงให้กับเฮียหมง ปัจจุบันที่ตั้งร้านมงคล ซาวนด์ เปลี่ยนเป็นร้านขายอาหารให้นักท่องเที่ยวตลาดน้ำอัมพวา แต่ยังรับฉายหนังอยู่บ้างโดยลูกชายชื่อ นายคา เป็นผู้สืบทอด

        เจ้าของหนัง ล.บุบผาภาพยนตร์ ของเฮียอำนาจ ลิ้มสมบัติอนันต์ มีบ้านอยู่คลองอัมพวา ตรงข้ามคลองเยื้องๆ กับบ้านของขุนนิกรนรารักษ์ เลยร้านของเฮียขาไล้ เฮียอำนาจเดิมเป็นคนบางน้อย อำเภอบางคนที ได้ภรรยาที่อัมพวา เริ่มต้นจากการรับจ้างบริการเครื่องปั่นไฟฟ้า ติดตั้งแสงสว่างก่อนผันตัวเองมาเป็นเจ้าของหนัง เป็นเจ้าของหนังหลังศรีเพ็ชร์, ส.ประดิษฐ์, ศรีพิทักษ์และมงคล ซาวนด์

        หนังของ ล.บุบผาภาพยนตร์ ได้รับความนิยมพอสมควร มีจอหนังที่ใหญ่ยาว 24 เมตร โชคชัย เป็นนักพากย์ประจำ ล.บุบผาภาพยนตร์เลิกกิจการไปนานพร้อมกับการจากไปของเฮียอำนาจ ลิ้มสมบัติอนันต์เจ้าของหนัง ปัจจุบันเมื่อตลาดน้ำอัมพวาได้รับความนิยมอย่างมาก บ้าน ล.บุบผาภาพยนตร์จึงเปลี่ยนเป็นร้านขายอาหารให้กับนักท่องเที่ยว

        นอกจากนี้มี พรพจน์ฟิล์ม ของนายพรพจน์ กัลปักษ์ มีบ้านภรรยาอยู่ท้ายตลาดอัมพวา เป็นหนังเฉพาะกิจ รับงานแล้วจะเช่าเครื่องฉาย,จอจากเจ้าของหนังอื่น ทำอยู่ไม่นานก็เลิกไป ,ภมรภาพยนตร์ คลองอัมพวาของครูภมร ทำหนังไม่นาน ก็เลิก,ปากน้ำภาพยนตร์ อยู่วัดปากน้ำ อัมพวาของนายบุญสืบ งามบรรจง มี จุ่มจิ๋มเป็นนักพากย์ประจำ,สุพรรษาภาพยนตร์ อยู่บางจาก อัมพวา, ที่แม่กลองมี ศรีเนรมิตภาพยนตร์ ของกำนันสมาน อยู่คลองตะเคียน ,แสงมณีภาพยนตร์ อยู่แม่กลอง มี รุจิราเป็นนักพากย์ประจำ, ศรีสมุทรภาพยนตร์ ตลาดแม่กลอง มีรุจิโรจน์ เป็นนักพากย์ประจำ, ดุษฎีภาพยนตร์, แสงเทียนภาพยนตร์, สนธยาเธียร์เตอร์ภาพยนตร์และรุ่งนิรันดร์ภาพยนตร์

        ที่อำเภอบางคนที มี ศรีสุวรรณภาพยนตร์ อยู่บางน้อย ของวิชัย เล็กเครือสุวรรณ ตำนานหนังกลางแปลงเก่าแก่กว่า 50 ปี ไล่หลังศรีเพ็ชร์ คุณวิชัย เล็กเครือสุวรรณอายุ 86 ปี (มีนาคม 2559) ยังคงรับจ้างฉายหนังอยู่ โดยให้คนอื่นดำเนินกิจการ

        โชคพรชัยภาพยนตร์ อยู่บางพลับ, ธงไทยภาพยนตร์ อยู่ตำบลจอมปลวก ธงชัยภาพยนตร์ อยู่บางน้อยใน โดยมี พรจุฬา เป็นนักพากย์ประจำ เนื่องจาก พรจุฬา มีบ้านอยู่แถววัดจุฬามณี อำเภออัมพวา จึงใช้ชื่อว่า พรจุฬา สังเกตบุคลิกได้ง่ายเพราะแขนข้างซ้ายเหนือข้อศอกด้วนและยังพากย์ให้กับวัชรินทร์ภาพยนตร์ อำเภอปากท่อ ราชบุรี

        มีคนอัมพวาอยู่คนหนึ่ง ที่ยังทำกิจการเกี่ยวกับหนังกลางแปลงถึงวันนี้ ชื่อ เปี๊ยก (ธนยศ จันทิมา) บ้านเปี๊ยกอยู่แถวหน้าวัง ทางไปโรงเจอัมพวา (ทางเก่าเดินเลาะตามร้านค้าริมคลองอัมพวา) ในอดีตอัมพวาเคยมีวังเจ้านาย เมื่อก่อน (ประมาณ 50-60 ปีที่แล้ว) ถ้าพูดถึงหน้าวังเป็นที่เข้าใจกันว่า อยู่ที่ไหน เป็นวังของสมเด็จเจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์กรมพระนครสวรรค์วรพินิต เรียกว่า “ตำหนักอัมพวา” ปลูกติดริมคลองอัมพวา อยู่ช่วงเชื่อมต่อระหว่างปากคลองบางจากและปากคลองดาวดึงษ์ ชาวบ้านเรียกว่า วังทูลกระหม่อม ตำหนักหลังนี้ได้รื้อถอนออกไปไว้ที่วังสวนผักกาดนานแล้ว

        เปี๊ยกใช้ชีวิตอยู่กับหนังกลางแปลงตั้งแต่อายุได้ 11- 12 ขวบ เริ่มจากเด็กขนเครื่องมาจนเป็นคนฉายหนัง หากถามถึงเปี๊ยก คนฉายหนังที่อัมพวามีอยู่ 2 เปี๊ยก อายุไล่เลี่ยกัน (67ปี) คือ เปี๊ยกหน้าวัง กับ เปี๊ยกเติม (เป็นลูก จ.ส.ต.เติม เปรมวงศ์) เปี๊ยกเติม เป็นคนฉายหนังให้กับศรีเพชร์และมงคล ซาวนด์ ส่วนเปี๊ยกหน้าวัง อยู่กับศรีพิทักษ์ ได้ค่าจ้างเริ่มแรกคืนละ 1.50 บาทสำหรับเด็กขนของตั้งจอ ส่วนคนฉายหนังได้คืนละ 3 บาท ตอนนั้นฉายหนัง 16 มิลลิเมตรหัวเครื่องฉายใช้กับหนัง 16 มิลลิเมตร แต่ใช้เตาเป็นเครื่องอาร์ค แสงจึงสว่างกว่าเครื่องหลอด

        อัมพวายุคนั้น คลั่งใคร่หนังกันมาก มีหนังกลางแปลงให้ดูกันแทบทุกสัปดาห์ บางสัปดาห์มีพร้อมกัน 2-3 งาน บ้านเปี๊ยก (ธนยศ จันทิมา) หน้าวัง ยังอยู่ที่เดิม เปิดเป็นร้านรับจ้าง เปลี่ยนเครื่องฉายหนังที่เป็นเครื่องอาร์คที่ใช้แท่งถ่าน มาเป็นใช้หลอดซีนอลแสงสว่างกว่าสามารถฉายกลางวันในตอนเย็นได้ ส่วนเปี๊ยกจ่าเติม เปิดร้านอาหารชื่อ ต้อย เป็นอาหารตามสั่งที่ตลาดอัมพวาข้างๆ ธนาคารออมสิน

        ร้านถ่ายรูป ร้านหนึ่งในตลาดอัมพวา อยู่ติดคลองอัมพวาชื่อร้านนิยมศิลป์ เรียกเจ้าของร้านว่า โก-ลก (นายกุ้ยลก แซ่จึง เสียชีวิตไปเมื่อ 20 กว่าปีที่แล้ว ตอนอายุ 69 ปี) แกชอบถ่ายหนัง 8 มิลลิเมตร ถ้าบอกว่าเป็นหนัง 8 มิลลิเมตร พวกหนุ่มๆ ในยุคนั้น เข้าใจตรงกันว่าหมายถึง หนังโป๊ แกถ่ายหนังในงานต่างๆ ถ่ายเองล้างเอง เป็นหนังขาวดำ ส่วนใหญ่ถ่ายให้กับงานคนจีน,งานสมาคมของชาวจีน (อยู่ใกล้โครงการอัมพวา ชัยพัฒนานุรักษ์ มูลนิธิชัยพัฒนา) และงานกินเจ ที่โรงเจอัมพวา เมื่อล้างฟิล์มเสร็จ จึงเอามาฉาย โดยตั้งจอขนาดเล็กที่หน้าร้านแกให้ชาวตลาดชม ใครมีภาพตนเองปรากฏอยู่ในหนัง ก็เป็นที่ฮือฮา ยิ้มกันหน้าบาน

        เมื่อถึงการเปลี่ยนแปลง ถนนรถยนต์ตัดผ่านไปทั่วพื้นที่ การคมนาคมทางบกได้รับความนิยมอย่างมาก การคมนาคมทางน้ำเดินทางด้วยเรือของชาวสมุทรสงคราม จึงเกือบจะหมดไปสิ้น เช่นเดียวกับการเดินทางไปฉายหนังด้วยเรือ ไม่มีความจำเป็นอีกต่อไป หนังกลางแปลงค่อยๆเสื่อมความนิยมตามกาลเวลา ที่อัมพวา หาดูหนังกลางแปลงได้ยากขึ้น นอกจากที่วัดบางพรม อัมพวา ยังพอมีฉาย เจ้าของหนังกลางแปลงส่วนใหญ่เสียชีวิต ไร้ผู้สืบทอด จึงปิดตำนานหนังกลางแปลงแห่งอัมพวากันเป็นส่วนมาก...
----------------------------------------------


"มนัส กิ่งจันทร์ ภาคสอง ชุมทางหนังไทยในอดีต" โดยเติมคำว่า "ภาคสอง" คั่นกลางไว้..
อดีตจากฟิล์มภาพยนตร์ ไม่มีวันตาย..