รวบรวมข้อมูลความเป็นมาของระบบภาพยนตร์ > ครั้งแรกกับภาพยนตร์ในสยามประเทศ

กำเนิดโรงภาพยนตร์ในสยาม

(1/1)

นายเค:
   
         นับจากปี ๒๔๔๐ เป็นต้นมา ได้มีคณะฉายภาพยนตร์เร่จากต่างประเทศเดินทางเข้ามาจัดฉายภาพยนตร์เก็บค่าดูจากสาธารณชนในสยามทีละรายสองรายเรื่อยมาโดยจัดฉายตามโรงละครบ้าง ตามโรงแรมบ้าง

         จนกระทั่งปี ๒๔๔๗ มีคณะฉายภาพยนตร์เร่จากญี่ปุ่นเดินทางเข้ามาจัดฉายภาพยนตร์ซึ่งส่วนใหญ่เกี่ยวกับเหตุการณ์สู้รบระหว่างญี่ปุ่นกับรัสเซีย ซึ่งกำลังกระทำต่อกันอยู่ขณะนั้นโดยการกระโจมผ้าใบเป็นโรงฉายชั่วคราว ใบบริเวณลานว่างหรือเวิ้งของวัดชนะสงคราม (วัดตึก) กรุงเทพฯ

         ชะรอยคณะญี่ปุ่นคงเห็นว่า สยามในขณะนั้นยังไม่มีใครตั้งโรงภาพยนตร์ฉายกันเป็นการประจำถาวร ทั้งๆ ที่ชาวสยามให้ความสนใจนิยมดูภาพยนตร์ ดังนั้นเมื่อคณะญี่ปุ่นกลับไปแล้ว ในปีต่อมาพวกเขาได้เดินทางกลับเข้ามาอีก คราวนี้เข้ามาจัดตั้งโรงฉายภาพยนตร์เป็นการถาวรขึ้นในบริเวณเวิ้งวัดตึกนั้นเองจัดฉายภาพยนตร์เป็นประจำทุกวัน จนชาวสยามเรียนภาพยนตร์ติดปากว่าหนังญี่ปุ่น และเรียกโรงภาพยนตร์นี้ว่าโรงหนังญี่ปุ่นนับว่ากิจการรุ่งเรืองมาก เป็นเหตุให้นักธุรกิจชาวสยามคิดจัดตั้งโรงภาพยนตร์ขึ้นบ้างที่ละโรงสองโรง เช่น โรงกรุงเทพซินีมาโตกราฟ หรือ บริษัทรูปยนตร์กรุงเทพ หรือโรงหนังวังเจ้าปรีดา (เปิด ๒๔๕๐) โรงหนังสามแยก (เปิด ๒๔๕๑) โรงหนังรัตนปีระกา (เปิด ๒๔๕๒) โรงหนังพัฒนากรหรือบริษัทพยนตร์พัฒนากร (เปิด ๒๔๕๓)

         โรงภาพยนตร์ต่างๆ เหล่านี้ต่างก็แข่งขันกันอย่างเต็มที่ในการจัดรายการฉายภาพยนตร์ ซึ่งในเวลานั้นยังเป็นภาพยนตร์เบ็ดเตล็ดม้วนสั้นๆ ม้วนหนึ่งกินเวลาฉายไม่กี่นาที เป็นภาพยนตร์บันทึกเหตุการณ์สำคัญๆ หรือสถานที่ที่น่าสนใจอย่างภาพยนตร์ข่าวสาร สารคดี และภาพยนตร์ที่จัดฉากแสดงอย่างละครหรือนิยายสั้นๆ

     
         การแข่งขันระหว่างโรงภาพยนตร์ต่างๆ ในกรุงเทพฯได้เข้มข้นมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะระหว่างสองบริษัทใหญ่คือ บริษัทรูปยนตร์กรุงเทพ และ บริษัทยนตร์พัฒนากร ซึ่งนับจากปี ๒๔๕๖ ในสมัยรัชกาลที่ ๖ ต่างก็แข่งกันสร้างโรงภาพยนตร์ในเครือของตนขึ้นตามตำบลสำคัญๆ ทั่วกรุงเทพฯ โรงภาพยนตร์ของบริษัทรูปยนตร์กรุงเทพได้แก่ โรงปีนัง โรงสิงคโปร์ โรงชะวา โรงสาธร ส่วนโรงภาพยนตร์ของบริษัทพยนต์พัฒนากร ได้แก่ โรงพัฒนากร โรงพัฒนาลัย โรงพัฒนารมย์ โรงบางรัก โรงบางลำพู โรงนางเลิ้ง

         แต่มาถึงปี ๒๔๖๒ ทั้งสองบริษัทตกลงรวมตัวกันเป็นบริษัทเดียวกัน คือ สยามภาพยนตร์บริษัท กลายเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่เกือบจะผูกขาดกิจการค้าภาพยนตร์และกิจการโรงภาพยนตร์ ซึ่งบริษัทใหม่นี้ได้ขยับขยายกิจการโรงภาพยนตร์ออกไปจัดตั้งขึ้นตามจังหวัดต่างๆทั่วประเทศ

         เมื่อกิจการโรงภาพยนตร์แพร่หลายอย่างกว้างขวางและมีบทบาทเป็นสื่อมวลชนที่มีอิทธิพลสูง เพราะสามารถเข้าถึงผู้ชมทุกชนชั้น ทุกเพศวัย แม้แต่ผู้ที่ไม่รู้หนังสือ จึงเกิดความจำเป็นที่ทางราชการจะต้องป้องกันมิให้ภาพยนตร์ที่อาจมีพิษภัยต่อสังคมและบ้านเมืองถูกนำออกมาฉาย ดังนั้นในปี ๒๔๗๓ รัฐบาลสยามในรัชกาลที่ ๗ จึงออกกฏหมายให้อำนาจเจ้าพนักงานตรวจพิจารณาภาพยนตร์ทุกเรื่อง ก่อนที่จะอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้นำออกฉายเผยแพร่สู่สาธรณชน เรียกว่าพระราชบัญญัติภาพยนตร์ พุทธศักราช ๒๔๗๓ ซึ่งยังคงบังคับใช้จนทุกวันนี้
 

        กิจการของสยามภาพยนตร์บริษัทเริ่มตกต่ำลงในต้นรัชกาลที่ ๗ เนื่องจากวิกฤตเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลก และต่อมาเมื่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ โปรดฯ ให้สร้างโรงภาพยนตร์ศาลาเฉลิมกรุง ซึ่งเป็นโรงภาพยนตร์เสียงที่ใหญ่โตและทันสมัย เพื่อเป็นถาวรวัตถุที่ระลึกและเป็นศรีสง่าแก่พระนครในโอกาสฉลองพระนคร ๑๕๐ ปี เมื่อปี ๒๔๗๕ พร้อมทั้งโปรดฯ ให้จัดตั้งบริษัทสหศีนิมาจำกัด เป็นบริษัทค้าภาพยนตร์ขึ้นในสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ สยามภาพยนตร์บริษัทก็ขายกิจการของตนให้บริษัทสหศีนิมา ซึ่งกลายเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่รายใหม่ เกือบจะผูกขาดกิจการค้าภาพยนตร์ทั่วประเทศ จนกระทั่งหลังสงครามโลกครั้งที่สอง สถานการณ์จึงเปลี่ยนไปเมื่อบริษัทสร้างภาพยนตร์จากต่างประเทศ โดยเฉพาะจากฮอลีวู้ด ได้เข้ามาจัดตั้งสาขาขึ้นในประเทศไทยโดยตรง

Froscooolz:
สยามก็มีดีครับ

สถิตย์ บุตรน้อย:
อดีต ปัจจุบัน อนาคต..........
ทําวันนี้ให้ดี...ขอบคุณสําหรับข้อมูลครับท่านเค

ominightz:
เป็นประวัติข้อมูลที่ดีมากเลยครับ

Anannta:
ข้อมูลดีมากครับ ดีจังมากที่ได้อ่านประวัติกำเนิดโรงภาพยนต์ในสยามความรู้ใหม่อีกแล้วครับ

นำร่อง

[0] ดัชนีข้อความ

Go to full version