ผู้เขียน หัวข้อ: ‘เทริด’ เล่าเรื่องอย่างคนใต้แท้ๆ แบบ เอกชัย ศรีวิชัย  (อ่าน 305 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ เซียวเหล่งนึ่งฯ

  • Administrator
  • พี่น้อง thaicine Gold member
  • *****
  • กระทู้: 1499
  • พลังใจที่มี 3

โดยกองบรรณาธิการ BIOSCOPE

หลังจากประกาศยุบวงดนตรีลูกทุ่ง “ศรีวิชัยโชว์” ที่ทำมายาวนานไปเมื่อ 2 ปีก่อน เอกชัย ศรีวิชัย ศิลปิน-นักแสดงชื่อดัง ก็หันมาจับงานกำกับภาพยนตร์เป็นครั้งแรกที่ชื่อว่า ‘เทริด’ (อ่านว่า เซิด เครื่องสวมหัวมโนราห์ที่เป็นสัญลักษณ์ในเชิงบูชาวิญญาณของบรรพบุรุษผู้เป็นครูโนราห์) ที่เล่าเรื่องความขัดแย้งของลูกผู้ไม่ต้องการสืบสานศิลปะมโนราห์โรงครูต่อจากผู้เป็นพ่อ โดยเอกชัยหวังให้หนังเรื่องนี้ เป็นดังบันทึกที่เกี่ยวกับประเพณีมโนราห์ไว้บนจอภาพยนตร์ที่สามารถส่งต่อไปสู่คนรุ่นต่อๆ ไป

แม้การทำหนังจะดูไกลตัวเอกชัยในสายตาของคนทั่วไป แต่หากย้อนไปที่จุดเริ่มต้น เอกชัย ศรีวิชัย เข้าสู่วงการบันเทิงด้วยการแสดงละครแนวจักรๆ วงศ์ๆ ของดาราวิดีโอ ไปจนถึงได้แสดงในหนังสายของ พันนา ฤทธิไกร หลายๆ เรื่อง ควบคู่ไปกับการเป็นนักร้องคาเฟ่ ก่อนจะมาโด่งดังเป็นนักร้องลูกทุ่งอาชีพในภายหลัง

การมาทำหนังเรืองแรกที่ว่าด้วย “มโนราห์” ของเอกชัย นอกจากเป็นการกลับสู่รากเหง้าของศิลปะวัฒนธรรมที่เขาต้องการอนุรักษ์แล้ว ยังอาจรวมไปถึงรวบรวมประสบการณ์ในวงการบันเทิงที่หยิบจับงานมาอย่างหลากหลายรูปแบบตลอดชีวิต มาใช้ในการเล่าเรื่องชีวิตของ “คนใต้” จากมุมมองของคนใต้แท้ๆ อีกด้วย




BIOSCOPE : พี่เอกชัยตั้งใจเลิกวงดนตรีลูกทุ่งเพื่อมาอนุรักษ์ “มโนราห์” โดยเฉพาะ

เอกชัย : สำหรับเรากับวงคนตรีลูกทุ่งมันพอแล้วสำหรับ 20 ปี น่าจะปล่อยให้เรื่องนี้เป็นหน้าที่ของคนรุ่นใหม่ต่อไป ส่วนเราก็มาทำงานด้านอนุรักษ์ศิลปะวัฒนธรรมท้องถิ่นดีกว่า ทีนี่เมื่อลงมาทำมโนราห์ สิ่งที่มีแน่ๆ คือคณะมโนราห์ แล้วเราจะทำยังไงให้มโนราห์มันแมสส์ ทำยังให้ทุกคนรู้สึกว่ามโนราห์น่าจับต้อง น่าค้นหา ให้มันไปพร้อมๆ กับคณะมโนราห์ เราจึงมาทำภาพยนตร์

ซึ่งภาพยนตร์เองก็ต้องตอบโจทย์คนดูที่เป็นกลุ่มวัยรุ่น และตอบโจทย์เราซึ่งเป็นผู้ใหญ่ที่อยากสื่อสารเรื่องวัฒนธรรมกับพวกเขา สิ่งที่พวกเขาคิดว่ามันล้าหลัง มันแย่ มันเชย มันโบราณ ความรู้สึกเหล่านั้นเราจะนำมาใส่เอาไว้ในตัวละคร สิงห์ เพื่อเป็นตัวแทนของพวกเขา ที่มีความขัดแย้งกับ ศรัทธา พ่อของเขา ซึ่งก็เป็นตัวแทนของคนอีกกลุ่ม เพื่อให้คนดูเข้าใจทั้งสองฝ่าย ไปจนถึงเราเองก็เก็บเกี่ยวเอาความรู้สึกที่คนทั่วไปมีต่อมัน คำพูดดูถูกเหยียดหยามต่างๆ เราเก็บมาใส่หมด แล้วมันก็จะมีการโต้ตอบแก้ต่างตลอด มันคือการถาม-ตอบสิ่งต่างๆ เกี่ยวกับมโนราห์ ไปจนถึงสะท้อนภาพชีวิตของรุ่นใหม่ กับคนรุ่นเก่าที่พยายามรักษาวัฒนธรรม ที่เมื่อทั้งสองกลุ่มต้องมาเจอกันเพราะอะไร

ท้ายที่สุดคนเราไม่ว่าจะทำอะไรก็ตามเมื่อถึงที่สุด เขาจะนึกถึง “รากเหง้า” ของตัวเอง เราหนีบ้านเรามาทำไม เราหนีตัวเรามาทำไม


BIOSCOPE : วัฒนธรรมมโนราห์ที่เราอยากเล่าคืออะไร

เอกชัย : มันมีพิธีกรรมหลายอย่าง คือมโนราห์มันมี 2 แบบ แบบแรกคือมโนราห์ที่เป็นการแสดงโชว์ มีการร้องมีการรำ ส่วนอีกแบบคือมโนราห์พิธีกรรม ที่เป็นการรำตามพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ ของชาวภาคใต้ที่ระบุไว้ว่าคุณต้องมีการรำมโนราห์พิธีกรรมถึงจะสัมฤทธิ์ผลได้ เช่นการเหยียบเสน การคล้องหงส์ การแทงเข้ เป็นต้น อีกหนึ่งแขนงที่มีคือ การเชื้อครู  หมายถึงการเชื้อเชิญวิญญาณบรรพบุรุษเพื่อถามเรื่องราวต่างๆ ว่าลูกหลานทำอะไรผิดมาไหม หรือต้องแก้ไขอย่างไร เหล่านี้มันก็เป็นพิธีกรรมพื้นบ้านที่เราพยายามแทรกเข้ามาในหนังด้วย

BIOSCOPE : อะไรคือแรงบันดาลใจที่เราอยากทำหนังเกี่ยวกับ “มโนราห์”

เอกชัย : จริงๆ มันมาจากคำที่ในหลวงเคยดำรัสไว้กับมโนราห์เมื่อครั้งรำถวายท่านจากหนังสือของ โนราขุนอุปถัมภ์นรากร (พุ่มเทวา) ที่ว่า “เวลาสวมเทริด ท่านไม่ต้องไหว้เรา” คือมันเป็นเรื่องที่เราอยากขยายว่า ในช่วงวัย 30 พระชันษาของท่าน อีกทั้งไม่เคยเสด็จลงมาภาคใต้เลย พระองค์ถึงรู้ประเพณีมโนราห์ได้อย่างไร ถ้าพระองค์ไม่ทรงศึกษามาก่อน เราเลยรู้สึกว่า แล้วคนไทยต้องรู้ไหม นั้นคือสิ่งที่เราอยากขยายให้มาเป็นหนังเรื่องนี้ มันคือการขยายความภาคภูมิของพวกเราด้วย


BIOSCOPE : วิธีการทำงานในหนังเรื่องนี้เป็นอย่างไร

เอกชัย : เราได้พี่เพื่อน – ภาคภูมิ วงษ์จินดา มาเป็นโปรดิวเซอร์ให้และดูด้านโปรดักชั่น เรื่องมุมกล้องเรื่องแสง ที่เราต้องการคำปรึกษาของเขาว่าการเชื่อมต่อเรื่องราวในแต่ละซีนมันจะเรียงร้อยยังไง ส่วนเราก็ไปดูเรื่องการแสดง ถามว่าเราทำเองได้ไหมก็ได้ แต่เราต้องการความมั่นใจ (เอกชัยเคยแสดงนำในผลงานกำกับเรื่องแรกของภาคภูมิ ‘ฟอร์มาลีนแมน รักเธอเท่าฟ้า’ ในปี พ.ศ. 2547)

คือเราเป็นคนเขียนทรีตเม็นต์เอง แล้วถึงให้คนเขียนบทมาให้เราดูอีกที ซึ่งความเป็นมโนราห์มันไม่สามารถตัดขาดจากเราได้อยู่แล้ว คือเราหลับตาก็บอกได้ ว่าโรงครูเสามันต้องเป็นแบบนี้ พานพุ่มมันต้องวางตรงนี้ พิธีกรรมมันต้องเริ่มจากไหนถึงไหน แต่เรารู้ว่าด้วยการเล่าแบบภาพยนตร์มันไม่สามารถใส่ทุกสิ่งทุกอย่างเกี่ยวกับมโนราห์ลงไปได้ แต่อย่างน้องเราต้องทำให้คนดูเข้าใจได้ว่าภาพที่เห็นมันคืออะไร เราก็ต้องมาคิดโครงสร้างก่อนว่า เรื่องจริงๆ ที่เล่ามันคืออะไร แล้วเราสามารถใส่เนื้อหาเกี่ยวกับมโนราห์ไปตรงไหนได้บ้าง ตัวอย่างเช่น ฉากที่พระเอกทะเลาะกับพ่อจนเทริดตกลงมายอดหักแล้วหนีออกจากบ้าน ซีนต่อมามันก็ควรจะเป็นซีนพิธีกรรมเชื้อครูเพื่อสอบถามเกี่ยวกับความผิดของตัวลูก หรือฉากที่พระเอกนางเอกกำลังวิ่งหนีการจับตัว ซีนที่น่าจะเล่าไปด้วยกันก็ควรจะเป็นพิธีคล้องหงส์ที่เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับการจับตัวนาง เป็นต้น


BIOSCOPE : ตอนตัดสินใจทำ ‘เทริด’ เรารู้ไหมว่าวงการหนังตอนนี้อาจไม่ง่ายสำหรับคนทำหนังอิสระหน้าใหม่

เอกชัย : เรารู้ตัวตั้งแต่ก่อนสร้างแล้วว่าตอนนี้วงการหนังมันเป็นยังไง มันอาจจะไม่ประสบความสำเร็จด้านรายได้ แต่ในแง่ภาพยนตร์เรายังเชื่อมั่นมันอยู่ เพราะว่าถ้าคนได้ดูไม่ว่าจะเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ จะคนใต้หรือคนภาคไหน ถ้าเขารับรู้สิ่งที่เราต้องการจะสื่อสารออกไปได้ก็ถือว่าสำเร็จแล้ว เพราะการที่เราจะมานั่งบอกด้วยปากเปล่ามา “เทริด” มันคืออะไร โนราห์คืออะไร มันช้าแล้วทุกอย่างก็จะหายไป แต่ถ้าเรานำมาใส่ในภาพยนตร์ มันคือมาสเตอร์พีชของศาสตร์แขนงมโนราห์ละ ซึ่งเราตั้งใจว่าหลังจากนี้ เราก็จะมอบหนังให้เป็นสมบัติของกระทรวงวัฒนธรรม ให้เป็นสมบัติของชาติต่อไป


BIOSCOPE : จากภาพรอบปฐมทัศน์ ซึ่งจัดที่จังหวัดพัทลุง เห็นคนเยอะมาก หรือแม้แต่ได้ยินว่ากระแสทางภาคใต้ก็ดีมาก

เอกชัย : มันน่าตกใจมาก คือคนดูตื่นตัวกับหนังมากๆ ไปจนถึงคนที่อยู่ในแขนงศิลปวัฒนธรรมของภาคใต้ก็ตื่นเต้นกับหนัง จนเรารู้สึกว่า เขาไม่ได้สนใจแล้วว่าหนังมันจะดีหรือไม่ดี แต่เขาต้องเข้ามาเสพความภูมิใจของภาคใต้ มันกลายเป็นสำนึกรักบ้านเกิดไปแล้ว ทั้งที่ตอนแรกเรากลัวมาก ถึงกับปรึกษากับพี่เพื่อนเลยว่า เราจะทำหน้าหนังหลอกนะ ให้คนดูรู้สึกว่ามันคือหนังวัยรุ่น มีความดราม่า เพื่อซ่อนเรื่องของมโนราห์ไว้ มันเกิดจากแรงเสียดทานที่เราเจอมาตลอดชีวิต เราพยายามสู้เพื่อโนราห์ เพื่อวัฒนธรรมภาคใต้ด้วยตัวคนเดียว ไม่เคยพึ่งภาครัฐเลย แม้แต่การให้ทุนเด็กๆ ที่เรียนมโนราห์ ก็เป็นเงินของเราเอง อย่างน้อยอะไรที่ทำให้มันยังหล่อเลี้ยงวัฒนธรรมภาคใต้ให้คงอยู่ได้ด้วยตนเอง เราก็จะทำ

ก่อนหน้านี้อาจมีหนังที่เล่าเรื่องภาคใต้ แต่มันก็ถูกเล่าผ่านมุมมองของคนจากที่อื่น ซึ่ง “เทริด” มันคือหนังภาคใต้ที่เล่าโดยคนใต้แท้ๆ เราคิดว่าปัญหาที่คนภาคอื่นไม่สามารถเข้าถึงแก่นของความเป็นภาคใต้ได้ คือภาษา สำเนียงใต้มันมีความอร่อยในตัวของมันเอง มันเหมือนการกินแกงไตปลา จะอร่อยก็ต้องฝีมือคนใต้ เช่นในตัวอย่างหนัง มันจะมีการใช้ภาษาใต้หลายสำเนียงมาก ตามแต่ที่มาของตัวละคร เช่นนางเอกในเรื่องเป็นคนสงขลา เขาก็จะมีสำเนียงใต้แบบสงขลา (จริงๆ คือคนกรุงเทพฯ ที่หัดพูดสำเนียงภาคใต้) ส่วนพระเอกในเรื่องเป็นคนพัทลุง แต่ตัวจริงเป็นคนสงขลา ก็ต้องมาหัดพูดสำเนียบใต้แบบพัทลุง เพราะเอาเข้าจริง สำเนียงทั้งสองแบบนี้มันต่างกันมาก ซึ่งคนท้องถิ่นจะรู้ดี ว่าสำเนียงแบบใต้นี้คนที่ไหน (เอกชัยพูดสำเนียงใต้แบบต่างๆ ให้ฟัง) ในหนังเราทำไว้ชัดมาก มันเป็นรายละเอียดที่เราไม่ยอมให้ผ่านไป


BIOSCOPE : ในแง่การหยิบเอา “มโนราห์” มาทำเป็นหนัง มันคือการปรับตัวเพื่อความอยู่รอดของศิลปะแขนงนี้หรือเปล่า

เอกชัย : คือศิลปวัฒนธรรม บางครั้งมันต้องเปลี่ยนรูป คือทองคำมันจะขึ้นเป็นรูปแบบไหนก็ได้ แต่มันก็ยังเป็นทองอยู่ ซึ่งรูปแบบมันขึ้นกับสมัยนิยม เช่นเดียวกับการดัดแปลงศิลปะพื้นบ้านกับความเป็นปัจจุบันมันก็คือสิ่งที่เราทำมาตลอดกับงานแขนงต่างๆ ในภาคใต้และมันก็ประสบความสำเร็จมาด้วยดีโดยตลอด

คือวัฒนธรรมมันจะอยู่ได้มันต้องเปลี่ยน ยกตัวอย่างการรำมโนราห์สมัยก่อน เขาจะต้องร้องกลอนหลังฉากก่อนรำ เราเลยบอกลูกศิษย์ว่า ถ้ามึงเสียงไม่ดีร้องไม่ได้ อย่าร้อง ให้ออกรำเลย เพราะร้องไปก็สะกดคนดูไม่ได้ หรือการโหมดนตรีแบบยาวๆ ก่อนการแสดงแล้วปล่อยให้เวทีว่างๆ ไว้เป็นเวลานาน เราก็เลิกทำ ขึ้นเครื่อง (แต่งกาย) มาแล้วก็ควรจะออกรำเลย

เช่นเดียวกับในหนัง เราพยายามสนองมุมมองของคนทั้งสองกลุ่ม ว่าอะไรใช่ หรือไม่ใช่ เราพยายามที่จะให้เนื้อหามันแฟร์ทั้งในมุมเด็กและมุมผู้ใหญ่ที่มีต่อมโนราห์มากที่สุด จะไม่พยายามยัดเยียดให้เขารู้สึกว่า เราต้องมาอนุรักษ์มโนราห์นะ เราไม่ทำอย่างนั้น
*** ‘เทริด’ เข้าฉาย 19 พฤษภาคม นี้


ตัวอย่าง เทริด (Trailer) ฉาย 19 พฤษภาคม 2559


เซียวเหล่งนึ่งฯ  นายพนมกร คำวัง (ตู่)
โทร 094-3619414, 086-4025293
อีเมล์: tuu414@scryptmail.com
Line: Touu-panomkornsmfjusthost@gmail.com
ชื่อบัญชี : นายพนมกร คำวัง
ธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาบิ๊กซีนครปฐม ออมทรัพย์ เลขบัญชี : 830-209795-5   
ธนาคารกรุงเทพ สาขาโลตัสนครปฐม ออมทรัพย์ เลขบัญชี : 637-001757-