ผู้เขียน หัวข้อ: บทที่ 5 ชุมทางหนังไทยในอดีต เสนอฉาย รวมหนังถ่ายทำที่จังหวัดสุรินทร์ 11 เรื่อง  (อ่าน 3294 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ ฉัตรชัยฟิล์มshop

  • Thaicine Movie Team
  • Moderator
  • พี่น้อง thaicine Gold member
  • ***
  • กระทู้: 11595
  • พลังใจที่มี 441
  • เพศ: ชาย
  • รักการฉายด้วยฟิล์ม

บทที่ 5
ชุมทางหนังไทยในอดีต เสนอฉาย
รวมหนังถ่ายทำที่จังหวัดสุรินทร์ 11 เรื่อง
โดย มนัส กิ่งจันทร์

(facebook 19 เมษายน 2556)

          สวัสดีครับทุกท่าน วันนี้ จะไปรู้จักว่า มีหนังไทยเรื่องอะไรบ้างที่ไปถ่ายทำที่สุรินทร์บ้านเกิดผม..ผมเองเกิดที่สุรินทร์ เรียนหนังสือชั้นประถม-มัธยมปลาย ที่นั่น.. แล้วปี 2524 ก็ต้องเข้ามาเรียนต่อที่กรุงเทพฯ.. เมืองสุรินทร์เมื่อก่อนปี 2524 นั้นจะมีโรงหนังประจำจังหวัดอยู่ 4 โรงคือ โรงคาเธ่ย์ (ชื่อเดิม กรุงชัยราม่า) อยู่ใกล้บ้านผมที่สุด ตั้งอยู่ตรงคิวรถตลาดสดสุรินทร์-ปราสาท-ลำชี..



          ต่อมาก็เป็น โรงศรีสยาม อยู่เลยวงเวียนน้ำพุออกไปทางวัดหนองบัว..ถัดจากโรงศรีสยาม ก็เดินอ้อมไปหลังโรงอีกหน่อย ก็จะเป็นโรงหนังเพชรเกษม และข้างๆ โรงหนังเพชรเกษม จะเป็นโรงหนังศรีสุรินทร์.. แต่ถ้ามาจากสถานีรถไฟสุรินทร์ จะเห็นทางเข้าโรงหนังศรีสุรินทร์อยู่ซ้ายมือเลยถนนชุมชนคนจีนที่สมัยนั้นเรียกว่า ฮวยโล..ไปนิดหน่อย...แต่ก่อน 4 โรงนี้จะเกิด ยังมีอีกโรงหนึ่งแต่เลิกไปแล้ว รู้สึกว่าจะชื่อ โรงหนังเฉลิมเกียรติ ตั้งอยู่ตรงที่ทำการเทศบาลดับเพลิงในปัจจุบันนี้...

          พูดถึงโรงหนังแล้ว ก็ต้องพูดถึงบริการหนังกลางแปลงก่อนปี 2524 ด้วย.. เจ้าแรก ๆ ที่จำได้คือ สหมิตรภาพยนตร์ ซึ่งฉายมาแต่ยุคหนัง 16 มม. แล้วก็หยุดไปพักหนึ่งและก็กลับมาฉายต่ออีกครั้งตอนเป็นหนัง 35 มม. ที่ทำการจะอยู่ริมคูเมืองทางไปวัดจุมพลฯ ตรงข้ามสวนรัก..แต่บริการหนังที่ผมดูบ่อยๆ ตอนเป็นเด็กๆ ก็คือ บริการเหรียญชัยภาพยนตร์ ของ นายสุเมธ เจนครองธรรม..ตั้งอยู่ถนนจิตรบำรุง เลยปั๊มน้ำมันเอสโซ แถวสามเหลี่ยมศูนย์เยาวชนไปทางวัดหนองบัว นิดหน่อย...ใกล้ ๆ กันจะมีบริการเอกชัยภาพยนตร์อยู่ในซอยถัดไปด้วย...

          แต่ที่ห้องแถวคนจีนย่านฮวยโลนั้น มีบริการหนังอยู่หลายเจ้า เช่น บริการวิมานพรภาพยนตร์..บริการสมศักดิ์ภาพยนตร์ บริการเมทะนีภาพยนตร์ บริการโกญจนาทภาพยนตร์ แล้วเลยออกไปทางรางรถไฟตัดผ่าน มีตึกแถวด้านขวามือ จะเป็นบริการเสียงชัยภาพยนตร์อยู่ตรงนั้น...พอข้ามรางรถไฟ จะไปทางอำเภอท่าตูม สักกิโลมั่งด้านขวามือ จะมีบริการบุญติดภาพยนตร์ ของนายบุญติด สุระประพจน์ ที่ตอนหลังมาเป็นผู้แทนราษฎร..

          ทีนี้กลับมาแถวใกล้ศาลหลักเมืองสุรินทร์ จะมีบริการโพธิ์ทองภาพยนตร์ อยู่ก่อนจะถึงบาร์ซีซ่าไนท์คลับ... แต่ถ้าเลยบาร์ไปถึงสี่แยกแล้วเดินไปทางวัดพรหมสุรินทร์ ด้านขวามือก่อนจะถึงบ้านคนทรงเจ้า เจ้าแม่จันทน์หอม ก็จะมีบริการรัตนาภาพยนตร์ อยู่อีกแห่งเจ้านี้ฉายแต่หนัง 16 มม. แต่ถ้าตรงตลาดน้อยวัดประทุมเมฆ ก็จะมีบริการสกุณีภาพยนตร์ อยู่ใกล้ๆ ตลาด.. แล้วถ้าจากตลาดสดเข้ามาในซอยตาดอก จะมีบริการสมยศภาพยนตร์ แต่ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นบริการอิสานฟิล์มที่ผมเคยไปฉายหนังสมัยเป็นนักเรียนมัธยมนั่นแหละ...

          นอกจากนี้ที่สถานีรถ บขส.สุรินทร์ จะเป็นศูนย์รวมบริการหนังหลายเจ้าเช่น บริการนันทวันภาพยนตร์ บริการอิสานฟิล์ม ต่อมาก็มีบริการสัจจาภาพยนตร์...แต่ถ้าเลยเข้าทางหมู่บ้านดองกะเม็ด จะมีบริการยุทธพงษ์ภาพยนตร์..ถ้าไปทางสนามแสดงช้าง ก็จะมีบริการสยามรัตน์ภาพยนตร์ของครูทศ ศรีไทย.. แต่พอหลังจากปี 2524 แล้ว ก็มีบริการหนังกลางแปลงเกิดใหม่ที่สุรินทร์อีกหลายเจ้า บางเจ้าก็ย้ายฐานมาจากจังหวัดใกล้เคียง..แต่ว่า ช่วงนั้นผมไปอยู่กรุงเทพฯแล้วครับ

          สิ่งที่มีชื่อเสียงที่สุดของสุรินทร์ ก็คือ “ช้าง” และ “งานช้างสุรินทร์” นี่เอง ที่ดึงนักท่องเที่ยวให้มารู้จักจังหวัดสุรินทร์ ยิ่งตอนที่ อ.ส.ท.หรือองค์การส่งเสริมการท่องเที่ยว สนับสนุนการจัดงานช้างด้วย ก็มีผู้คนแห่แหนกันมาเที่ยวงานช้างสุรินทร์เพิ่มขึ้น ตั้งแต่จำความได้ ก็เห็นงานช้างสุรินทร์จัดที่สนามกีฬาจังหวัดแล้ว จะเป็นวันเสาร์-อาทิตย์กลางเดือนพฤศจิกายนของทุกปี จะมีการแสดงต่างๆ ของช้าง มีการแสดงงานบุญประเพณีท้องถิ่นผสมเข้าไปด้วย.. เนื่องจากมีงานเป็นประจำทุกปี ก็เลยมีการจัดงานช้างแฟร์ด้วย ซึ่งจะเป็นการออกร้านของหน่วยงานต่างๆ ในสุรินทร์และใกล้เคียง มีการเปิดร้านขายสินค้าจากพ่อค้าต่างจังหวัด มีมหรสพการแสดงละเล่นต่างๆ มากมาย สมัยนั้นจะเป็นเทศกาลการจับจ่ายใช้สอยของคนสุรินทร์เลยล่ะครับ..

          งานช้างสุรินทร์จึงเป็นงานที่คนสุรินทร์ที่ไปอยู่จังหวัดอื่นๆ กลับมาพบญาติกัน..งานช้างแฟร์นั้นใช้สถานที่จัดงานที่โรงเรียนสุรวิทยาคาร โรงเรียนการช่าง โรงเรียนเมืองสุรินทร์...แต่ตรงกลางสนามหญ้าโรงเรียนสุรวิทยาคาร จะเว้นไปเพื่อแสดงการแจ้งของโรงเรียนต่าง ๆ ในตอนกลางคืน ผมเองก็เคยถูกเกณฑ์ไปแสดงเหมือนกัน..ช่วงงานช้างนั้นอากาศจะหนาวเย็นแล้ว จะได้ยินเสียงลมหนาวพัดลู่กิ่งสนของโรงเรียน จนผู้ใหญ่บางคนบอกว่า นี่แหละสวนสนของคนสุรินทร์..



          ก็เพราะมีงานช้างนี่แหละ ก็เลยมีนักสร้างหนังยกกองมาถ่ายทำหนังที่จังหวัดสุรินทร์..และเรื่องที่ผมค้นเจอและเก่าที่สุดก็คือ บริษัทหนังจีนกำลังภายในของจางเชอะร่วมกับคนไทยสร้างขึ้นในปี 2514 ชื่อเรื่องว่า "หมัดสังหาร" .. นำแสดงโดย นาท ภูวนัย-ภาวนา ชนะจิต-ม้งเฟ่ย-มิสหลินหลิน-กูราดะ-แพน สร้างโดย เซาท์อีสเอเชียฟิล์ม โดย สมชาย อัตตานุรักษ์ เป็นผู้อำนวยการสร้าง และกำกับการแสดงโดย จังเชอะ เข้าฉายครั้งแรกเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2515 ที่โรงหนังศาลาเฉลิมกรุง พูดไทย-ส่วนที่โรงหนังเฉลิมบุรี พูดจีน... ก็เป็นหนังจีนกำลังภายใน แต่เนื้อหาไม่เกี่ยวกับจังหวัดสุรินทร์เลยครับ เพียงแต่ว่า หัวหนังและไตเติ้ลมีภาพงานช้างสุรินทร์ ลักษณะเหมือนกับนางเอกพาพระเอกจีนไปเที่ยวชมสถานที่ต่างๆ แต่ว่ามุมกล้องเก็บภาพไว้ค่อนข้างละเอียดและยาวเกือบ 8 นาที เรียกว่า ดูคุ้มเลยครับสำหรับคนไม่เคยมาเที่ยวงานช้างสุรินทร์...

          หนังที่ถ่ายทำที่สุรินทร์ ที่ผมค้นได้มีประมาณ 10 เรื่อง.. ส่วนเรื่องที่ 2 ในชุดนี้ ขอนำเรื่อง "สวรรค์บ้านนา" นำแสดงโดย ปิยะ ตระกูลราษฎร์-แสงเดือน ดารา-แสงดาว-ตะวัน-ดู๋-ดี๋-แอ๊ด-สุชาติ-สนธิ-อุดม-ชวลิต-ทองมี มาลัย.. สร้างโดย รุ่งกิจฟิล์มโปรดักชั่น โดย กิตตภัทฒ์ รุ่งธนเกียรติ เป็นผู้อำนวยการสร้าง และกำกับการแสดงโดย สุรสีห์ ผาธรรม เข้าฉายครั้งแรกเมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2526 ที่โรงหนังเพชรรามา-เพชรเอ็มไพร์-สามย่าน-เจ้าพระยา.. แต่ครั้งนี้ จะเพิ่มให้เห็นโฆษกคนดังของสถานีวิทยุ กวส.1 สุรินทร์คือ คุณสัจจา พัทราสกุล..คนใส่เสื้อยืดคอกลมสีขาวที่ประกาศในงานแข่งบั้งไฟนั่นแหละครับ ซึ่งภายหลังก็มาเล่นการเมืองคู่กับโฆษกอีกคนคือ คุณอุทัย บุญศิริ. ต่อมาคุณสัจจาก็เปิดบริการหนังกลางแปลงชื่อ บริการสัจจาภาพยนตร์..จากนั้นก็จะให้เห็น สถานีวิทยุแห่งประเทศไทย เอฟเอ็ม.สุรินทร์ กับ สถานีรถ บ.ข.ส.สุรินทร์กันแบบเต็มๆ เลยนะครับ อ้อ..ยังมีร้านฮั่วฮวดเฮง-วงเวียนน้ำพุและห้วยเสนงอยู่ด้วยนะครับ..



          หนังเมืองสุรินทร์ถัดมา จะมี 3 เรื่อง..เริ่มจากเรื่อง "ไผ่กำเพลิง" ..บทประพันธ์ของ ศักดิ์สุริยา นำแสดงโดย สมบัติ-อรัญญา-ยอดชาย-นัยนา-มยุรฉัตร-ครรชิต-ดามพ์-คมน์-สายัณห์-ชุมพร-แป้น-พิภพ-แพน..สร้างโดย โคลีเซี่ยมฟิล์ม โดย พรพิมล มั่นฤทัย เป็นผู้อำนวยการสร้าง และกำกับการแสดงโดย คมน์ อรรฆเดช เข้าฉายครั้งแรกเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2519 ที่โรงหนังเพชรรามา..เป็นหนังสร้างชื่อเสียงให้กับ คมน์ อรรฆเดช อย่างมากและเริ่มจากเรื่องนี้เอง ที่ทำให้คมน์เปลี่ยนโลโก้บริษัทมาเป็นรูปช้าง..ส่วน ศักดิ์ สุริยา ผู้เขียนเรื่องก็เป็นคนสุรินทร์ด้วย.. "ไผ่กำเพลิง"..เป็นนิยายแนวบู๊ ตัวละครจะอยู่ในเมืองสุรินทร์ โดยมีช้างเป็นจุดขายของเรื่อง..และคงเพราะเป็นหนังเกี่ยวกับช้างนี่เอง ที่ทำให้คมน์เลือกใช้งานช้างสุรินทร์เป็นส่วนหนึ่งของการถ่ายทำด้วย..

          เปิดเรื่องให้เห็นป้ายบอกทางเข้าเมืองสุรินทร์ 29 กม.นั้น ป้ายจะอยู่ที่สี่แยกอำเภอปราสาท สุรินทร์ แล้วผมก็ตัดเข้ามาในงานแสดงช้างที่สนามกีฬา..จะเห็นคมน์นอนให้ช้างเดินข้ามเรียกว่า การแสดงช้างข้ามคน..เห็น สายัณห์ จันทรวิบูลย์ ร่วมรำหน้าขบวนบ้องไฟ ซึ่งก็จะคล้ายๆ กับเรื่อง หมัดสังหาร ที่ดูในชุดที่ 1 แต่หมัดสังหารถ่ายในปี 2514 พอถึงปีที่คมน์มาถ่ายหนังนี้ การแสดงช้างก็เลยเพิ่มรายการช้างเตะฟุตบอลเข้าไปอีก.. ช่วงที่คมน์ไปถ่ายหนังที่สุรินทร์ มีคนพูดถึงกันมาก ต่างคนก็ต่างคอยดูหนังเรื่องนี้ เขาจะโฆษณาว่า เป็นหนังที่ถ่ายทำที่สุรินทร์ เช่น ที่บ้านกระโพ อำเภอท่าตูม ซึ่งผมตัดมาให้ดูนิดหน่อยตอนท้าย ๆ แม้เนื้อเรื่องจะเกี่ยวกับจังหวัดสุรินทร์และช้าง แต่ว่าส่วนใหญ่จะถ่ายอยู่แถว ๆ สระบุรีและปางช้างที่อื่นครับ..หนังเรื่องนี้ยังไม่มีแพร่หลายในเมืองไทยนะครับ ผมได้จากเพื่อนชาวต่างประเทศส่งมาให้ครับ..



          ถัดมาก็เรื่อง "อีหนูภูธร" นำแสดงโดย บิณฑ์-จุฑามาศ โถทอง-แสงแข พิมเนศว์-ศรีไพร ข่มอารมณ์-พรทิพย์ โสระเวช-เผ่าไท พรพิสิฐ..สร้างโดย เจริญการช่างภาพยนตร์ ใช้ชื่อ อึ่งและอ่าง เป็นผู้อำนวยการสร้าง และกำกับการแสดงโดย ศักดิ์มรกต เข้าฉายครั้งแรกเมื่อวันที่ 22 มกราคม 2536 ที่โรงหนังเฉลิมสิน-เฉลิมเกียรติ-กรุงธนรามา.. เป็นหนังบู๊ภูธร ถ่ายทำที่สุรินทร์ทั้งเรื่อง..เปิดด้วยการแข่งเรือที่สระน้ำวัดจุมพลหรือต่อมาเรียกว่า คลองคูเมือง ข้าง ๆ คลองจะเป็นสวนสาธารณะเรียกว่า สวนรัก..จะเห็นกองเชียร์มีป้ายชุมชนเกาะลอย ซึ่งเป็นชุมชนเก่าแก่อยู่หน้าสถานีรถไฟสุรินทร์..จากนั้นก็ตัดให้เห็นบริเวณหลังสถานีรถไฟสุรินทร์..มีฉากการไล่ยิงกัน..แล้วเห็นรถยนต์วิ่งเข้าไปบริเวณที่ดินรถไฟ ที่สมัยก่อนจะเรียกว่า หนองดุมหรือหนองดม เป็นหนองน้ำขนาดใหญ่ มีต้นไม้รกครึ้ม ตอนเป็นเด็ก ๆ ผมเคยไปกระโดดต้นก้ามปูอาบน้ำด้วย แต่ว่าปลิงเยอะ หลังๆ ก็เลยไม่ได้อาบ แต่ไปตกปลาแทน ต่อมาหนองดุมก็ถูกถมดิน สร้างเป็นตึก เป็นห้างสุรินทร์พลาซา..

          เห็นโรงแรมธารินทร์ โรงแรมที่สูงที่สุด..ตัดกลับมาที่ถนนหน้าสวนรักอีกครั้ง..แล้วก็เข้าไปเดินในห้างสุรินทร์พลาซา..มีฉากไล่ยิงกันสนั่นห้าง..แล้วก็มาฉากจบเรื่องที่มีการไล่ล่ากันในบริเวณงานช้างแฟร์ที่หน้าศาลากลางจังหวัดสุรินทร์และที่ว่าการอำเภอเมืองสุรินทร์..จะเห็นการออกร้าน การขายของ เครื่องเล่นต่าง ๆ ที่มีในงานช้างแฟร์ มีฉากหนึ่งจะสู้กันใกล้ ๆ ตู้ลำโพงสีดำๆ มีชื่อไว้ว่า IS อีสานภาพยนตร์ ของเพื่อนที่ผมเคยไปฉายหนังตอนเรียมมัธยมด้วย แต่ว่าในงานนี้เขาก็เปลี่ยนมาเปิดเธคกลางแจ้งแทนการฉายหนังแล้วและก็เห็นจอหนังขนาดใหญ่ของบริษัทหมากหอมเยาวราชที่มาฉายหนังฟรีๆ ในงานช้างแทบทุกปี..



          ส่วนเรื่องต่อมาก็คือ "มนต์เพลงสั่งนาง" นำแสดงโดย ดาร์กี้ กันตรึมร็อค-พนิดา อริยะทัศน์-เอก วงศาโรจน์-ฉัตรฤดี ยกล้วน สร้างโดย เอสพี กรุ๊ป..ออกฉายปี 2539 เรื่องนี้จะมี 2 ชื่อครับ อีกชื่อตั้งว่า เพลงรัก เพลงคิดถึง..แต่ว่าหนังไปถ่ายทำแถว ๆ เขาใหญ่ โคราช ครับ.. ผมเอาฝากให้ดู ดาร์กี้ กันตรึมร็อค นักร้องเมืองสุรินทร์ที่เสียชีวิตไปแล้ว เขาร้องเพลงกันตรึมแบบประยุกต์ได้น่าฟังครับ...คราวนี้ก็มาถึงเรื่อง "ลำเพลินเพลงรัก" นำแสดงโดย บิณฑ์ บันลือฤทธิ์-เฉลิมพล มาลาคำ-ศรีสุดา รุ่งรัศมี-สมหมายน้อย ดวงเจริญ-วิชุดา รัตนากร-ดาร์กี้ กันตรึมร็อค-แรมโบ้ สร้างโดย เจริญการช่างภาพยนตร์ กำกับการแสดงโดย ศักดิ์มรกต เข้าฉายครั้งแรกเมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2536 ที่โรงหนังเฉลิมสิน-ราชเทวีรามา-เฉลิมเกียรติ-ศรีพรสวรรค์..

          หนังเรื่องนี้ถ่ายทำที่สุรินทร์เกือบทั้งเรื่อง เช่น ที่อำเภอศีขรภูมิ อ่างเก็บน้ำห้วยเสนง อ่างเก็บน้ำเกาะแก้วอำเภอสำโรงทาบ..และก็ยังเป็นหนังที่นำนักร้องภาคอีสานและเพลงดังในยุคนั้นมาใส่ไว้หลายเพลง.. เปิดฉากด้วย เฉลิมพล มาลาคำ ร้องเพลงจีบสาว..แล้วก็ต่อด้วยฉากที่บิณฑ์ บันลือฤทธิ์ ขับรถกระบะเก่าๆ วิ่งเข้าไปบริเวณอ่างเก็บน้ำห้วยเสนง สุรินทร์... ต่อด้วยฟัง ดาร์กี้ กันตรึมร็อค ร้องเพลงจีบสาว ในฉากนี้จะมีคนแคระชื่อ แรมโบ้ ซึ่งเป็นเพื่อนรุ่นน้องผมร่วมแสดงอยู่ด้วย ฉากนี้ถ่ายทำที่วิทยาลัยเกษตรสุรินทร์ ซึ่งอยู่ติดกับวิทยาลัยครูสุรินทร์ ตรงบริเวณที่ถ่ายหนังนั้น จะเป็นสวนธารณะเหมือนเกาะลอย ซึ่งสมัยก่อน ณ ที่แห่งนี้จะเป็นที่นิยมของวัยรุ่นหนุ่มสาวชอบพาแฟนไปเที่ยว ไปจีบกันแถวนั้นแหละครับ..แล้วก็มีฉากนักร้องหมอลำ สมหมายน้อย ดวงเจริญ ร้องเพลงจีบสาวคนเดียวกันอีกและตามด้วย เฉลิมพล มาลาคำ ร้องอีกเพลงหนึ่ง จากนั้นก็มาฉากจบเรื่องด้วยขบวนขันหมากแต่งงานน่ะครับ..


          ส่วนเรื่องต่อมา ก็ถ่ายทำที่สุรินทร์เกือบทั้งเรื่องอีกเช่นกัน แต่ว่าไม่มีการถ่ายไปติดสถานที่สำคัญอะไรนัก ส่วนใหญ่จะเป็นบ้านธรรมดา ผมก็เลยไม่รู้จะตัดท่อนไหนมาให้ดู ก็ตัดแต่เพลง 2 เพลงมาให้ฟังก็แล้วกัน เพลงแรกเป็นเพลงร้องเปิดไตเติ้ลหนัง จะเห็น เฉลิมพล มาลาคำ นักร้องหมอลำ ร้องเพลงเป็นภาษาเขมรสุรินทร์ แล้วก็ตัดเข้าไปในตลาดสดแห่งหนึ่ง จะเป็นฉากที่ ดาร์กี้ กันตรึมร็อค และ ดวงใจ เมืองสุรินทร์หรือเพชรสุรินทร์ กันตรึมหนุ่ม-สาวชาวสุรินทร์ ร้องเพลงจีบกันกลางตลาด... ทั้งหมดนี้ ก็มาจากหนังเรื่อง "นักร้องนักเลง 2" นำแสดงโดย บิณฑ์ บันลือฤทธิ์-เฉลิมพล มาลาคำ-วิภาวี รพีพันธ์-จงรักษ์ พิศสุวรรณ-ดวงใจ เมืองสุรินทร์-ดาร์กี้ กันตรึมร็อค-ชัยณรงค์ มาลาคำ..สร้างโดย เจริญการช่างภาพยนตร์ กำกับการแสดงโดย ศักดิ์มรกต เข้าฉายครั้งแรกเมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2536 ที่โรงหนังคลองเตยรามา-กรุงธนรามา-กรุงเทพรามา-ลาดพร้าวรามา-ทวีผลรามา-บางแครามา-ราชเทวีรามา..

          และนี่ก็เป็นหนังเมืองสุรินทร์ อีก 4 เรื่องสุดท้ายนะครับ..จะเริ่มด้วยเรื่อง "หมอบ้านนอก"..นำแสดงโดย ปิยะ ตระกูลราษฎร์-จารุณี สุขสวัสดิ์-แสงเดือน ดารา-ดู๋ ดอกกระโดน-ตะวัน บรรเจิด-อุดม พลเสน-ต้น โตมร สร้างโดย สุรสีห์ ผาธรรม..กำกับการแสดงโดย สุพงษ์ ผาธรรม เข้าฉายครั้งแรกเมื่อวันที่ 13 เมษายน 2528 ที่โรงหนังเพชรรามา-เพชรเอ็มไพร์-พาราไดซ์-ฮอลิเดย์.. เรื่องนี้ โรงแรมเพชรเกษมสุรินทร์ เป็นผู้ออกทุนด้วย บางส่วนของหนังจึงได้ถ่ายทำที่อำเภอท่าตูม สุรินทร์ มีกันตรึมพื้นเมืองสุรินทร์ จากบ้านดงมัน ร่วมแสดงด้วย..ที่ตัดมาให้ดูนั้น หนังจะเปิดฉากที่สถานีอนามัยอำเภอศรีขรภูมิ สุรินทร์ เป็นฉากที่จารุณีเดินทางมาเป็นหมอประจำอยู่ที่นั้น..แล้วก็ตัดฉากที่มีการบายศรีสู่ขวัญให้จารุณี หนังจะปล่อยสำเนียงเสียงภาษาเขมรสุรินทร์ออกมาให้ได้ยินด้วยครับ..


          ต่อมาก็เรื่อง "มนต์รักนักเพลง"..นำแสดงโดย เฉลิมพล มาลาคำ-ไอรดา ชารีมา-ไวท์-ชุมพร-เพชร-โอดา-ฉกาจ..สร้างโดย เออาร์ โปรโมชั่น กำกับการแสดงโดย จรินทร์ พรหมรังสี เข้าฉายครั้งแรกเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2534 ที่โรงหนังเฉลิมสิน-กรุงธนรามา-คลองเตยรามา-ทวีผลราม-บางแครามา-เฉลิมเกียรติ.. หนังเรื่องนี้ก็ถ่ายที่สุรินทร์เกือบทั้งเรื่อง ผมเลือกตัดมาเฉพาะฉากเด่นๆ เห็นเมืองสุรินทร์ชัด ๆ นะครับ เริ่มจากเสียงเพลงร้องโดย เฉลิมพล มาลาคำ ร้องเพลงบนรถวิ่งเที่ยวชมเมือง รถจะวิ่งผ่านไปเห็นอนุสาวรีย์พระยาสุรินทร์ภักดีศรีณรงค์จางวาง แถวๆ วัดจุมพลฯ แล้วรถก็วิ่งไปเรื่อยๆ บนรถจะเห็น แรมโบ้ คนแคระเพื่อนรุ่นน้องผมอีกแล้วในฉากนี้...แล้วก็พากันไปเที่ยวห้างสุรินทร์พลาซ่ากันต่อ..

          ถัดมาก็เรื่อง "หนุ่มนาข้าว สาวลำน้ำมูล"..นำแสดงโดย สรพงศ์ ชาตรี-สันติ ดวงสว่าง-ยิ่งยง ยอดบัวบาน-ก้องฟ้า วัฒนา-สรัญญา สัมพันธ์สุวรรณ-วิมลมาส-ลุงเชย สร้างโดย เจริญการช่างภาพยนตร์และศรัญญูภาพยนตร์ กำกับการแสดงโดย ศักดิ์มรกต เข้าฉายครั้งแรกเมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2538 ที่โรงหนังศรีย่าน 2-เฉลิมสิน-เฉลิมเกียรติ-กรุงธนรามา.. หนังเรื่องนี้เป็นหนัง 3 จังหวัดคือ สุรินทร์-บุรีรัมย์-ศรีสะเกษ..แต่ว่าดูๆไป หนังจะเน้นไปที่บุรีรัมย์มากกว่าเพราะนายทุนใหญ่อยู่ที่นั่น..

          หนังเปิดด้วยฉากแข่งเรือที่อำเภอสตึก บุรีรัมย์ จะเห็นตอนท้าย ๆ มีช้างว่ายน้ำด้วย ซึ่งอำเภอสตึกเคยจัดงานช้างว่ายน้ำมาด้วย..แล้วก็พาไปเที่ยวปราสาทหิน.. จะมี สันติ ดวงสว่าง ร้องเพลงประกอบ ผมเห็นว่า เนื้อร้องเกี่ยวข้องกับเมืองสุรินทร์ ก็เลยตัดมาให้ดู ส่วนที่เหลือก็จะเป็นพากันไปเที่ยวเขาพนมรุ้งบ้าง ไปเที่ยวเขาพระวิหารบ้าง แต่ไม่ได้ตัดมาให้ดูครับ...

          และก็เรื่องสุดท้ายชื่อ.. "หนุ่มกลองยาว สาวลำซิ่ง"..นำแสดงโดย สรพงศ์ ชาตรี-พยัคฆ์ รามวาทิน-ทิพย์สุดา โสภาพันธุ์-เตือนใจ จรูญกุล-โสภณ-พงษ์ไพร-บิลลี่หงัด-เป้า สร้างโดย ไทเกอร์โปร โปรดักชั่น โดย พยัคฆ์ รามวาทิน เป็นผู้อำนวยการสร้าง..กำกับการแสดงโดย สุวิชา มีแสงเงิน เข้าฉายครั้งแรกเมื่อวันที่ 16 เมษายน 2539 ที่โรงหนังเฉลิมเกียรติ...ซึ่งหนังเรื่องนี้จะเกี่ยวกับสุรินทร์ก็ตรงสถานที่ถ่ายทำเท่านั้นเพราะมีฉากสำคัญถ่ายอยู่ที่บริเวณโรงแรมธารินทร์ มี เสี่ยสมบูรณ์ เรืองกาญจนเศรษฐ สนับสนุนด้วย.. ส่วนหนุ่มกลองยาว ดูแล้วน่าจะมาจากจังหวัดอื่นเช่นเดียวกับสาวลำซิ่งก็เป็นคนที่อื่น..ก็เลยหยิบมาดูนิดเดียวเท่านั้นครับ..

          เมื่อทราบรายละเอียดหมดแล้ว ก็คลิกดูหนังที่ถ่ายทำในจังหวัดสุรินทร์ได้เลยครับ หนังยาว 72 นาที ตามลิงค์นี้... รวมหนังถ่ายทำที่จังหวัดสุรินทร์ 11 เรื่อง (หมัดสังหาร-สวรรค์บ้านนา-ไผ่กำเพลิง-อีหนูภูธร-มนต์เพลงสั่งนาง-ลำเพลินเพลงรัก-นักร้องนักเลง 2-หมอบ้านนอก-มนต์รักนักเพลง-หนุ่มนาข้าวสาวลำน้ำมูล-หนุ่มกลองยาว สาวลำซิ่ง)..

คลิ๊กที่นี่...

ชุมทางหนังไทยในอดีต เสนอฉาย รวมหนังถ่ายทำที่จังหวัดสุรินทร์ 11 เรื่อง

<iframe width="560" height="315" src="//www.youtube.com/embed/Y2TkiBmDjjU?fs=1&start=" frameborder="0" allowfullscreen></iframe>
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 14 กุมภาพันธ์ 2014, 02:51:46 โดย นายเค »


ฉัตรชัย สุวรรณโสภา 
88/1 ม.4 ต.บางโตนด อ.โพธาราม จ.ราชบุรี 70120   
E-mail chatchai_suw@hotmail.com    โทร 081-7636195 
ต่อพงศ์ภาพยนต์ ระบบ 35 ม.ม.  ฉัตรชัยภาพยนตร์ กลางแปลงย้อนยุค 16 ม.ม.
ธ.ไทยพาณิชย์  สาขาบิ๊กซีราชบุรี ชื่อบัญชี ฉัตรชัย สุวรรณโสภา  หมายเลขบัญชี  940-202235-1