เวบบอร์ดสำหรับผู้ชื่นชอบระบบการฉายภาพเคลื่อนไหว
ภาพยนตร์ของเรา...การฉายภาพด้วยแผ่นฟิล์ม => ชุมทางหนังไทยในอดีต โดย มนัส กิ่งจันทร์ => ข้อความที่เริ่มโดย: มนัส กิ่งจันทร์ ที่ 29 กรกฎาคม 2022, 14:17:27
-
สมัยผมเป็นเด็กๆ งานเขียนหนังสือ ถ้าถูกนำไปตีพิมพ์เป็นนิตยสาร เป็นเล่มก็เหมือนกับเราเริ่มประสบความสำเร็จไปแล้วเปราะหนึ่ง ถ้าหนังสือเราขายดี นั่นก็ยิ่งกว่าเราประสบความสำเร็จนะครับ
ผมเองนั้น ไม่ค่อยชอบการเขียนหนังสือ ชอบพูด ชอบคุยกันในหมู่เพื่อนๆ มากกว่าเพราะรู้สึกว่า พูดแล้ว มันจะได้อะไรกว้างขวางยิ่งกว่าการเขียน ยิ่งถ้าคู่สนทนาของเรา คุยสนุกด้วย เราก็จะยิ่งสนุกมากขึ้น
ช่วงที่สนุกที่สุด ก็ต้องเป็นช่วงที่พวกเราจับกลุ่มคุยกันกับคนรักหนังไทยเก่าๆ ที่ตลาดคลองถมและร้านเคเอฟซีทุกๆ วันเสาร์นั่นแหละครับ.. เราคุยกันจนเขาลือว่า คนพวกนี้บ้าหนังไทยเก่าๆ.. แล้วจากนั้นก็มีคนที่เขียนหนังสือ CINEMAG มาหา มาถามข้อมูลหนังไทยเก่าๆ จากผมบ่อยๆ..จนในที่สุด เขาก็นำผมไปหากองบรรณาธิการเพื่อจะบอกว่า ให้พี่เขาเขียนแทนผมเถอะ.. ผมจะไปทำงานอย่างอื่น.. นั่นแหละครับ ผมถึงตกกะไดพลอยโจนได้เป็นนักเขียนจำเป็นตั้งแต่เดือนกันยายน 2544 เรื่อยมา
นั่นเป็นการเขียนบทความ ลงในนิตยสารครั้งแรกๆ ของผม แต่ที่ผมชอบเขียนมากที่สุด ก็ตอนที่มีเว็บไซด์ไทยฟิล์มของ มูลนิธิหนังไทย เปิดให้เขียน ผมเริ่มเข้าไปเขียนกระทู้ "ชุมทางหนังไทยในอดีต" ครั้งแรกเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2548 สมัยนั้นเขาต้องใช้นามแฝง ผมก็ใช้ว่า มนัส138 และก็เขียนเรื่อยมาจนกระทั่งเกิดระบบ facebook ขึ้นมา ผมถึงย้ายมาเขียนต่อใน facebok จนถึงปัจจุบันนี้
อย่างหนึ่งที่ผมเริ่มรู้สึกตอนเขียนถึงหนังไทยเก่าๆ ก็คือ คนรุ่นใหม่ๆ จะอ่านบทความน้อยกว่าคนรุ่นเก่า ซึ่งเป็นเรื่องที่ผมวิตกมากๆ เพราะใจจริงที่อยากจะเขียนถึงหนังไทยเก่าๆ นั้น ก็เพื่อจะไม่ให้หนังไทยเก่าๆ ถูกลืม ผมก็เลยพยายามเขียนติดต่อกันเรื่อยมา เรียกว่า เขียนตั้งแต่มีแค่ภาพนิ่งประกอบ กระทั่งมาทำช่องยูทูป ชุมทางหนังไทย ที่ใส่ภาพเคลื่อนไหวเข้าไปด้วย จึงรู้ว่า ถ้าเราเล่าเรื่องหนังไทยเก่าๆ และใส่ภาพจากหนังเข้าไป คนจะคลิกดูมากกว่าการเขียนเป็นบทความ.. และก็ยังได้กลุ่มเป้าหมายเป็นคนรุ่นใหม่ๆ เข้ามาดูอีกด้วย ณ วันนี้ ผมก็เลยต้องใช้สองวิธีนี้ควบคู่กันไปคือ เขียนประกอบภาพนิ่งที่ facebook นี้และก็เล่าเรื่องประกอบหนังที่ช่องยูทูปนะครับ
(ภาพประกอบ ผมเขียนถึง พระเอกมิตร ชัยบัญชา ลงหนังสือ CINEMAG เล่มที่ 170 ประจำเดือนตุลาคม 2544 ตอนนั้น 31 ปีมิตร ชัยบัญชา แต่ว่าตอนนี้ 52 ปีมิตร ชัยบัญชา แล้วครับ)