เวบบอร์ดสำหรับผู้ชื่นชอบระบบการฉายภาพเคลื่อนไหว
ภาพยนตร์ของเรา...การฉายภาพด้วยแผ่นฟิล์ม => ชุมทางหนังไทยในอดีต โดย มนัส กิ่งจันทร์ => ข้อความที่เริ่มโดย: มนัส กิ่งจันทร์ ที่ 24 สิงหาคม 2022, 17:30:59
-
กากฟิล์มหนัง 16 มม.ปี 2507 เรื่อง ชายชาตรี นำแสดงโดย มิตร-พิศมัย ผลงานของคุณแท้ ประกาศวุฒิสาร ศิลปินแห่งชาติ ที่คุณนุ ประเดิม สืบเสาะจนค้นหาฟิล์มพบ 3 ม้วนจบนั้น เมื่อเราฉายทำไฟล์ภาพดิจิทัลเสร็จแล้ว ผมก็มานั่งฉายย้อนดูเนื้อหาของหนังก่อน.. สิ่งแรกที่ผมพบก็คือ ตัวเนื้อฟิล์มจะมีฟิล์มอยู่ 2 ชุด ตัดต่อสลับกันไปมา ฟิล์มชุดหนึ่งจะเป็นฟิล์ม outtake ส่วนฟิล์มอีกชุดหนึ่งจะเป็นกากฟิล์มที่ผ่านการฉายมาตั้งแต่ปี 2507
เข้าใจว่า การตัดต่อฟิล์มหนัง 2 ชุดสลับกันนี้ น่าจะเกิดขึ้นหลังจากการเสียชีวิตของพระเอกมิตร ชัยบัญชา ในปี 2513 และคงจะมีใคร อยากจะฉายหนังมิตร ชัยบัญชา เรื่องนี้ ก็เลยทำให้ผู้ที่เกี่ยวข้องกับหนัง ต้องไปตามหากากฟิล์มหนังกลับมาและก็โชคดีที่ยังพบชุดหนึ่ง แต่เนื่องจากเห็นว่า กากฟิล์มที่พบนั้นเสียหายมากอยู่เหมือนกัน เขาก็เลยต้องนำฟิล์ม outtake ที่ครั้งแรกๆ ไม่ถูกเลือกใช้ฉายในปี 2507 มาเป็นภาพตัวยืนหลักในการตัดต่อฉายครั้งหลังนี้ ซึ่งเมื่อดูหนังประกอบกับบทพากย์แล้ว ก็จะเห็นว่า หนังกระโดดหายไปหลายฉากมาก กากฟิล์มที่เหลือมานี้ ก็กลายเป็นหนังพูดน้อย ต่อยหนัก..และด้วยเหตุนี้เอง ผมก็จะต้องมีงานเกลาบทพากย์หรือสร้างบทพากย์ใหม่ตามมาอีก
เมื่อวานนี้ ผมเริ่มลงมือตัดต่อภาพหรือจะเรียกว่าสไลด์เลื่อนดูภาพไปทีละเฟรม ทีละเฟรมก็ได้ ดูเพื่อจะหาร่องรอยเส้นดำๆ ตรงรอยต่อของฟิล์มและก็ตัดมันออกไปเพื่อไม่ให้รำคาญลูกนัยน์ตา..และก็ดูเพื่อจะกลับข้างภาพให้ตรงกับความเป็นจริง ถ้ามีตัวหนังสือบนจอ เราก็ต้องอ่านตัวหนังสือออกเพราะบางครั้งเด็กฉายหนังเขาอาจจะตัดต่อฟิล์มสลับข้างกัน ขั้นตอนนี้ก็ต้องใช้เวลานานเป็นอาทิตย์
เมื่อตัดต่อจนจบเรื่องแล้ว ก็ต้องเขียนเป็นไฟล์ดิจิทัลชุดใหม่ขึ้นมา..จากนั้นก็ค่อยนำไฟล์ชุดใหม่นี้มาเรียงลำดับภาพ ลำดับฉากให้ถูกต้อง หากจะปรับแก้สีที่เพี้ยนๆ ไปตามอายุขัยของฟิล์ม ก็จะทำอยู่ในขั้นตอนนี้ไปพร้อมๆ กันและก็ต้องเขียนไฟล์ดิจิทัลใหม่อีกครั้งเป็นชุดสุดท้าย จากนั้นก็ถึงจะถึงขั้นตอนที่ผมจะต้องพากย์เสียงไกด์ลงไปในหนังก่อน..ระหว่างพากย์เสียงไกด์นั้น ก็จะต้องเกลาบทพากย์ไปพร้อมๆ กัน เมื่อพากย์เสียงไกด์เสร็จแล้ว ก็จะวางเสียงเอฟเฟค วางเพลงแบ็กกราวน์ประกอบหนังให้สมบูรณ์ก่อน.. แล้วก็ค่อยนัดสามป้าวัยหวานวันวาน มาพากย์อัดเสียงใหม่อีกครั้งที่ห้องพากย์คุณนุ ประเดิม นี่แหละครับ งานที่พวกเราจะต้องทำเพื่อฟื้นชีวิตให้หนังมิตร ชัยบัญชา เรื่อง ชายชาตรี กันครับ..
-
แบบนี้แหละครับที่ตัดทิ้ง คราบดำๆ ตรงรอยต่อฟิล์มครับ
-
นี่คือ สีของเนื้อภาพจากฟิล์มที่เป็นฟิล์ม outtake แต่ก็ผ่านการฉายมาอย่างหนัก เริ่มเห็นร่องรอยความเสียหายแล้ว ฉากนี้ มิตร-ปรียา ปรียากำลังมาส่งมิตรที่ไร่
-
ส่วนนี้ ก็คือ กากฟิล์มก๊อบปี้ ภาษาคนฉายหนังจะเรียกว่า ก๊อบปี้ B สีสันก็จะต่างกับฟิล์มต้นฉบับ outtake มากๆ ครับ.. ฟิล์ม 3 ม้วนนี้ ก็จะมีภาพแบบนี้ตัดสลับกันไปมานะครับ.. ฉากนี้ มิตร-ปรียา ฉากต่อเนื่องจากข้างบนครับ
-
รอยต่อของฟิล์มหนัง ก็เป็นเรื่องปกติครับ.. แต่ทุกครั้งที่มีรอยต่อฟิล์ม ก็จะมีเส้นดำๆ หรือคราบดำๆ สกปรก แบบนี้แหละครับ ถ้าอยากให้ดูหนังบนจอใหญ่ๆ สบายตา เราก็ต้องตัดส่วนนี้ออกไปครับ.. ลุงสุคนธ์ คิ้วเหลี่ยม คนเฝ้าไร่ของพระเอก มิตร ชัยบัญชา ครับ
-
มีคราบสกปรกตรงรอยต่อฟิล์ม..
-
บางท่าน อาจสงสัยว่า ทำไมต้องมีรอยต่อของฟิล์ม.. ก็เนื่องจากฟิล์มช่วงนั้นๆ รูหนามเตยแตกเสียหาย ถ้าฉายไป ภาพจะเต้นๆ และอาจเกิดรอยแตกเพิ่มขึ้นอีกได้ เด็กหนังเขาก็ต้องตัดฟิล์มช่วงที่เสียหายออกไป และก็ต่อฟิล์มใหม่ครับ ส่วนภาพนี้ เขาคงเสียดายฟิล์มที่ฉีกขาด แต่รูหนามเตยไม่เสียหาย ก็เลยปิดเทปใสลงไว้แทนเพื่อให้ฉายต่อได้ครับ...
-
มีโฆษณา น้ำมะเน็ด มิรินดา รสชาติเป็นยังไงน่า... น้ำมะเน็ดเป็นน้ำอัดลมชนิดหนึ่งที่คนไทยเรียกเพี้ยนมาจากน้ำ Lemonade ของฝรั่ง คำว่า “Lemonade” แปลว่าน้ำมะนาวก็จริง แต่น้ำมะเน็ดไม่ใช่น้ำมะนาวเปรี้ยวแท้ ๆ แต่เป็นน้ำมะนาวปลอม ๆ ที่มีการแต่งรสแต่งสีแล้ว ถ้าเปรียบเทียบกับน้ำอัดลม ในยุคปัจจุบันคงใกล้เคียงกับน้ำสไปรท์
-
วันแล้ว.. วันนี้ ก็เพิ่งมาถึงฉากที่เคยเห็นภาพวาดในใบปิดโฆษณาหนัง ภาพนี้นะครับ พันคำกับพิศมัย.. พ่อลูกกัน ยิ่งเห็นเนื้อหนังมากขึ้น ก็ยิ่งรู้ว่า กากฟิล์มหนังในแต่ละฉากนั้น ขาดรายละเอียดไปเยอะมาก เยอะจนคิดว่า จะไล่งับปากพากย์ไม่ทันแน่ๆ เพราะบางฉากเหลือภาพไม่ถึง 30 วินาทีก็มี แต่ก็ยังต้องเก็บภาพนั้นไว้ก่อน เอาไว้ตอนที่มาลองพากย์ไกด์เสียง แล้วจึงค่อยคิดว่า จะแก้ปัญหายังไงเพื่อให้คนดูหนัง ดูรู้เรื่อง..
อย่างฉากปรียา รุ่งเรือง อาบน้ำตก (ภาพขวาบน ใกล้ๆ พันคำ) ก็เหลือฟิล์มมาไม่ถึงหนึ่งนาที ภาพที่เหลือจะเห็นปรียาจะกอดมิตร มิตรก็ดิ้นหนีและขึ้นจากน้ำตกวิ่งไป ปรียาก็กะฟัดกะเพียดจนตัวเองเกือบจมน้ำตก ก็เรียกว่า ภาพเหลือน้อยจริงๆ วันนี้ เล่าให้ฟังแค่นี้ก่อนนะครับ..
-
เมื่อวานนี้.. นั่งตัดต่อไฟล์หนัง 16 มม. ปี 2507 เรื่อง ชายชาตรี นำแสดงโดย มิตร-พิศมัย ผลงานของคุณแท้ ประกาศวุฒิสาร ศิลปินแห่งชาติ.. ผมก็ค่อยๆ ทำไปทีละนิดทีละหน่อย.. ปัญหาที่พบมากที่สุดก็คือ แทบทุกรอยต่อของฟิล์มหนัง ฟิล์มจะสลับข้างกันตลอด ก็ทำให้สงสัยว่า แล้วแบบนี้ คนดูหนังกลางแปลงสมัยนั้น เขาไม่บ่นเอาหรือครับ เพราะจะมองเห็นตัวละครยืนอยู่ทางซ้ายที ขวาที สลับกันไปทั้งเรื่อง
ผมเดาๆ ว่า ที่ฟิล์มสลับข้างกันแบบนี้ก็เพราะว่า รูหนามเตยของกากฟิล์มแตกหรือชำรุดครับ เขาก็เลยกลับข้างเพื่อเอารูหนามเตยของอีกฝั่งมาฉายแทน ภาพก็เลยสลับข้างนะครับ นี่แหละครับปัญหาใหญ่ของการที่จะฉายหนังด้วยกากฟิล์มบนจอกลางแปลงเพราะแม้จะตัดต่อและซ่อมรูหนามเตยได้ แต่ภาพก็จะไม่นิ่งเหมือนเดิมแล้วครับ
สำหรับพวกเราที่ฉายหนังจากไฟล์ดิจิทัล ก็จะไม่มีปัญหา ภาพมันสลับข้างมา ผมก็สลับกลับไปให้ถูกตามเดิมได้ไม่ยุ่งยากอะไร อย่างไรก็ตาม การสลับกลับข้างนั้น ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ นะครับ ถ้าฉากนั้นมีตัวหนังสือ ตัวเลขบนจอก็ไม่ยาก แต่ถ้ามีแต่ตัวละครนี่แหละครับยาก ผมก็ต้องคอยสังเกตดูว่า ทรงผมดาราหวีไปทางไหน ดูกระเป๋าเสื้อ ดูการใช้มือขวา-มือซ้าย สังเกตดูนาฬิกาหรือแหวนที่ดาราใส่ว่าใส่แขนหรือนิ้วมือข้างไหน แล้วก็ต้องจดไว้ด้วยไม่งั้นก็จะลืม
ส่วนภาพที่ผมนำมาให้ดูวันนี้ ก็จะเป็นฉากที่ ปรียา รุ่งเรือง ปั่นจักรยานไปหาพระเอก มิตร ชัยบัญชา ตอนแรกๆ ที่ผมนั่งตัดต่อ ผมก็ตัดๆ เล็มๆ เอาแต่คราบดำๆ ตรงรอยต่อฟิล์มออกไปเท่านั้น ภาพที่เห็นก็จะเป็น ปรียาปั่นจักรยานมา เจอคนเดินสวนทาง ก็เลยเสียหลัก หักจักรยานหลบ พุ่งไปชนเล้าเป็ด จักรยานล้มในเล้าเป็ด.. จะเป็นภาพต่อเนื่องกันครับ แต่พอฉากต่อมา ผมก็เห็นมิตรทำท่าตกใจ ยกพัดขึ้นปิดหน้า ทำท่าเหมือนไม่อยากมอง แล้วก็ค่อยๆ เอาพัดลง ทำท่าตกใจ จากนั้นมิตรก็พรวดพราดลุกจากเตียงผ้าใบออกไปช่วยปรียา ก็เป็นภาพต่อเนื่องกันอีกครับ
แต่ฟิล์มทั้งสองฉากนี้ เป็นฟิล์ม outtake ครับ ผมก็เลยคิดว่า มันผิดปกติของหนัง.. เพราะภาพมันฟ้องว่า เสียงของปรียาดังมาพร้อมจักรยาน..มิตรซึ่งกำลังนอนเล่นๆ ที่เตียงผ้าใบอยู่หน้ากระท่อมตัวเอง ก็หันไปตามเสียง..ผมก็เลยตัดลำดับภาพฉากนี้ใหม่ ให้ภาพเรียงตาม 1 2 3 4 5 6 ตามรูปที่โพสต์นี้ครับ ภาพก็จะเห็นว่า.. พอมิตรหันไปมอง ก็เผอิญเห็นจักรยานปรียา เสียหลักพุ่งชนเล้าเป็ด มิตรจึงเอาพัดปิดหน้า ภาพก็จะตัดสลับไปที่จักรยานปรียาล้มลง เสียงปรียาร้อง มิตรค่อยๆ เอาพัดลง.. แล้วจึงออกไปช่วยปรียา ครับ
-
ผมก็เลยตัดลำดับภาพฉากนี้ใหม่ ให้ภาพเรียงตาม 1 2 3 4 5 6 ตามรูปที่โพสต์นี้ครับ
-
ข่าวความคืบหน้าของหนัง 16 มม. มิตร ชัยบัญชา ปี 2507 เรื่อง ชายชาตรี.. คลิกดูวีดีโอนี้ได้เลยครับ
https://www.youtube.com/watch?v=089wvI6870s (https://www.youtube.com/watch?v=089wvI6870s)
เตรียมพากย์หนัง 16 มม.มิตร ชัยบัญชา "ชายชาตรี" ปี 2507
-
ข่าวความคืบหน้าของหนัง 16 มม. มิตร ชัยบัญชา ปี 2507 เรื่อง ชายชาตรี.. คลิกดูวีดีโอนี้ได้เลยครับ
https://youtu.be/089wvI6870s
เตรียมพากย์หนัง 16 มม.มิตร ชัยบัญชา "ชายชาตรี" ปี 2507
-
"ชายชาตรี" หนังมิตร ชัยบัญชา ปี 2507 ฉากนี้จะมีบทพากย์ บทพูดอยู่ 2 หน้ากระดาษ.. ตัวละครมี 3 คน พูดโต้ตอบกัน.. แก่นใจ มีนะกนิษฐ์ (ซ้าย) แสดงเป็น "พักตร์พริ้ง" น้องคนที่สาม.. วิไลวรรณ วัฒนพานิช (กลาง) แสดงเป็น "พวงเพ็ญ" พี่ใหญ่ในบ้านไร่เวียงทอง.. พิศมัย วิไลศักดิ์ (ขวา) แสดงเป็น "พัชรา" น้องคนที่สี่ของบ้าน.. แต่คนละแม่กัน..
ฉากนี้ แก่นใจ ไปรับตัว พิศมัย จากไร่ของ ชาย ชาตรี กลับมาเยี่ยมพ่อ (พันคำ) ซึ่งป่วย แต่ วิไลวรรณ ไม่อยากให้เข้าเยี่ยมเพราะไม่ชอบหน้าพิศมัย จึงเกิดการปะทะคารมกัน.. แก่นใจถือข้างพิศมัย.. แต่ว่าฟิล์มส่วนนี้หายไปเกือบหมด แทบจะไม่มีปากให้พูดได้เลย.. ผมอ่านบทพากย์จนจบ 2 หน้าในฉากนี้แล้ว ก็มานั่งดูภาพจากฟิล์มที่เหลือสั้นๆ ไม่ถึงหนึ่งนาที.. ก็คิดว่า คนดูหนังต้องเข้าใจแน่ๆ เพราะบทบาทการแสดงของวิไลวรรณ แม้ไม่พูด แต่อากัปกิริยาและอารมณ์ที่แสดงออกมานั้น ช่วยหนังในฉากนี้ได้มากจริงๆ ครับ.. ก็เลยมาเล่าสู่กันฟังครับ...
-
และแล้ว ผมก็เจอ แผ่นสเลทคัท ของหนัง 16 มม. ปี 2507 เรื่อง ชายชาตรี นำแสดงโดย มิตร-พิศมัย ผลงานของคุณแท้ ประกาศวุฒิสาร หลงอยู่ในกากฟิล์ม 3 ม้วนที่เหลืออยู่จริงๆ.. และก็เหลืออยู่แค่เฟรมเดียวเท่านั้น (โดยหลัก ไม่ควรจะเหลือ) หลังจากที่ผมตั้งข้อสงสัยว่า กากฟิล์ม 3 ม้วนนี้น่าจะมีการนำกากฟิล์มที่ฉายกันตามปกติกับฟิล์ม outtake ที่ไม่ถูกเลือกใช้ในปี 2507 กลับมาตัดต่อรวมกันเพื่อจัดฉายใหม่ หลังจากพระเอก มิตร ชัยบัญชา เสียชีวิตแล้วในวันที่ 8 ตุลาคม 2513 แต่น่าจะเป็นการจัดฉายในจอหนังกลางแปลงเพราะหนังตกรุ่นไปนานแล้วครับ.. ดูจากสภาพกากฟิล์มที่เป็น outtake แล้ว ก็คาดว่า จะมีการฉายนานหลายปีเพราะฟิล์มมีร่องรอยเสียหายมากเช่นกัน..
-
รำลึกพระเอก มิตร ชัยบัญชา วันที่ 8 ตุลาคม 2565 นี้ หอภาพยนตร์ฯ ศาลายา นครปฐม ฉายหนัง 16 มม. ปี 2507 เรื่อง ชายชาตรี นำแสดงโดย มิตร-พิศมัย ผลงานการสร้างและกำกับของ คุณแท้ ประกาศวุฒิสาร ภาพจาก.. จดหมายข่าวหอภาพยนตร์ ฉบับล่าสุด ประจำเดือน ก.ย.-ต.ค.2565 ครับ..
-
วันนี้ พี่เทพหรือป้าเทพ Ponthep Kaewmarung ก็เป็นคนแรกที่เข้าไปพากย์บันทึกเสียงหนัง 16 มม. มิตร ชัยบัญชา ปี 2507 เรื่อง ชายชาตรี ซึ่งมีกำหนดจะฉายงานรำลึก มิตร ชัยบัญชา ในวันเสาร์ที่ 8 ตุลาคม 2565 ที่หอภาพยนตร์ฯ ศาลายา นครปฐม.. พี่เทพก็พากย์เสียง ประจวบ ฤกษ์ยามดี-ชุมพร เทพพิทักษ์-ดอกดิน กัญญามาลย์-หม่อมชั้น พวงวันและก็ตัวล้อมๆ อีกหลายตัวครับผม..
-
ภาพเก่าเล่าอดีต : มิตร ชัยบัญชา กำลังจะกลับมา.. วันเสาร์ที่ 8 ตุลาคม 2565 นี้ พบกันนะครับ..
-
มิตร ชัยบัญชา แสดงภาพยนตร์ในช่วงปี 2501 ถึงปี 2513 (เสียชีวิต 8 ตุลาคม 2513) นับเฉพาะที่สร้างเสร็จและได้นำออกฉายในโรงภาพยนตร์ มีจำนวน 266 เรื่อง ซึ่งในจำนวนนี้เป็นหนัง 16 ม.ม. พากย์สดๆ จำนวน 250 เรื่อง ที่เหลืออีก 16 เรื่อง เป็นหนัง 35 ม.ม. พากย์เสียงพากย์ในฟิล์ม.. มิตร ชัยบัญชา จึงนับเป็นพระเอกหนังไทยที่แสดงหนัง 16 มม. ไว้มากที่สุดและแสดงคู่กับนางเอก เพชรา เชาวราษฎร์ ถึง 172 เรื่อง จนผู้คนเรียกชื่อติดปากว่า มิตร-เพชรา..
-
มิตร ชัยบัญชา เกิดปี 2477 แสดงหนังเรื่องแรก "ชาติเสือ" ออกฉายปี 2501 ต่อมา มิตร ชัยบัญชา เสียชีวิตขณะถ่ายทำหนังเรื่อง "อินทรีทอง" เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2513 ขณะมีอายุเพียง 36 ปี.. ปีนี้ 52 ปีแล้วที่พระเอกท่านนี้จากไป.. คอยพบกับงานรำลึก 52 ปี มิตร ชัยบัญชา 8 ตุลาคม 2565 ที่หอภาพยนตร์ฯ ศาลายา นครปฐม..
-
หนังมิตร ชัยบัญชา นั้นหาดูได้ยากจริงๆ ครับ.. ขนาดผมอายุ 60 ปีแล้ว ก็ยังหาดูหนังมิตร ชัยบัญชา ได้ไม่ครบเลย.. หนังมิตร ชัยบัญชา นั้นจะออกฉายในช่วงปี 2501-2513 นี่หมายถึงในโรงหนังนะครับ แต่หนังในระบบหนังกลางแปลง หนังขายยา หนังขอข้าวหรือแลกข้าวนั้น เท่าที่ตรวจพบ ก็จะฉายอยู่ถึงราวๆ ปี 2520 กว่าๆ จากนั้นก็หมดความนิยมลง แต่ที่ว่า หมดความนิยมนั้น ไม่ใช่คนไม่อยากดูจะหนังมิตร ชัยบัญชา นะครับ แต่เป็นเพราะว่า ระบบการฉายหนังในเมืองไทยเปลี่ยนกลับไปสู่ระบบ 35 มม. จอกว้างกันหมด ทำให้หนังมิตร ชัยบัญชา ซึ่งเกือบทั้งหมดเป็นหนังฟิล์ม 16 มม.พากย์สดๆ ก็ต้องเป็นอันต้องยุติการฉายไปโดยปริยาย.. สมัยนั้นไม่มีใครอยากจะดูหนัง 16 มม.จอเล็กๆ กันอีกแล้ว เขาจะดูแต่หนังจอใหญ่ๆ ฉายจากเตาอ๊าคกันทั้งนั้น ซึ่งก็รวมทั้งผมด้วย.. (วัฒนธรรมใหม่ฆ่าวัฒนธรรมเก่า)
ส่วนการโหยหาอดีต ก็น่าจะเริ่มขึ้นเมื่อระบบโทรทัศน์ในเมืองไทยแพร่หลายมากขึ้น.. ทีวีก็เริ่มนำหนังไทยเก่าๆ มาฉาย แต่ส่วนใหญ่ก็จะฉายหนัง 35 มม.พากย์เสียงในฟิล์มเพราะสะดวกดี แค่หาฟิล์มหนังมาใส่เครื่องฉายหนัง ก็ฉายได้แล้ว ซึ่งจะต่างกับหนัง 16 มม.ที่หากคิดจะฉาย ก็จะต้องหานักพากย์มาพากย์ หาคนทำเสียงเอฟเฟค ทำเสียงแบ็กกราวน์ ก็จะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น จะไม่คุ้มกับค่าโฆษณาที่จะได้รับจากสปอนเซอร์.. พวกโฆษณาก็มักจะไม่นิยมลงโฆษณากับการฉายหนังไทยเก่าๆ ด้วย ก็เลยทำให้คนที่จะคิดนำหนังไทย 16 มม.พากย์สดๆ มาฉายในยุคที่หนัง 35 มม.กำลังได้รับความนิยม ต้องคิดหนัก (ฉายแล้ว ไม่มี โฆษณา มีแต่ขาดทุน จะฉายทำไม?)
พอมาถึงยุคที่ม้วนวีดีโอเทปให้เช่าได้รับความนิยมมากๆ หนังไทยที่ออกมาเป็นเทปให้เช่าดู ก็จะมีแต่หนัง 35 มม. เหตุผลก็เหมือนๆ กับการฉายในทีวีคือ สะดวกดี..ไม่อยากลงทุนกับสิ่งที่ไม่คุ้มค่าในทางธุรกิจ.. เหตุนี้เองก็ทำให้คนที่เกิดไม่ทันยุคหนัง 16 มม.พากย์สดๆ ก็จะไม่รู้จักหนัง 16 มม.พากย์สดๆ และเมื่อไม่มีความพยายามจะทำให้หนัง 16 มม.ฟื้นชีพในระบบม้วนวีดีโอเทป ก็ยิ่งเท่ากับทำให้คนรุ่นหลังๆ ไม่รู้จักหนัง 16 มม.มากขึ้นเรื่อยๆ อีก
โชคดีหน่อยตรงที่พอมาถึงยุคของแผ่นวีซีดี ก็มีกรุหนัง 16 มม.อยู่กรุหนึ่งซึ่งคนลงทุนทำมาสเตอร์เทปเป็นผู้ที่อยู่ในวงการโรงหนัง หนังกลางแปลงมานาน เป็นผู้เหมาซื้อฟิล์ม 16 มม. เหล่านั้นไว้ แล้วก็ลงทุนทำเป็นเทปยูเมติก ลงทุนจ้างนักพากย์หนังในอดีตมาพากย์อัดเสียง วางเอฟเฟค วางเสียงแบ็กกราวน์กันไว้.. แล้วก็ปล่อยจำหน่ายหนังชุดนั้นออกมาให้ผู้ผลิตวีซีดีรายหนึ่งทำออกจำหน่าย เราจึงได้เห็นหนัง 16 มม.ส่วนหนึ่งกลับมาฟื้นชีวิต.. (แต่ก็มีแค่ชุดนั้น ชุดเดียว ไม่ทำอีก).. ต่อมาคุณโต๊ะ พันธมิตร ก็ต้องเป็นผู้ตามหากากฟิล์มหนัง 16 มม. มาพากย์ มาทำจำหน่ายต่ออีก.. แต่ก็ทำไม่ได้นานเพราะไม่คุ้มกับค่ากับการลงทุน ก็เลยต้องยุติไปอีกรายหนึ่ง.. และเมื่อไม่มีผู้ผลิตรายใดหาหนัง 16 มม. มาทำจำหน่ายแล้ว นั่นแหละ พวกเราจึงต้องดิ้นรนออกไปหาฟิล์มหนังกันเอง.. กระทั่งสุดท้ายก็ต้องมาหัดพากย์หนังกันเองครับ..
ส่วนภาพประกอบนี้ ผมเคยเห็นภาพที่ 1 ตอนที่จัดทำนิทรรศการภาพถ่ายมิตร ชัยบัญชา ก็ไม่รู้ว่าเป็นภาพจากหนังเรื่องอะไร..(หนังมิตร ชัยบัญชา 266 เรื่อง) ก็ได้แต่สงสัย.. กระทั่งเมื่อคุณนุ ประเดิม พบกากฟิล์มเรื่อง ชายชาตรี จึงรู้ว่าเป็นเรื่องนี้.. ฉากนี้ จะเป็นฉากต่อจากที่มิตร ชัยบัญชา ถูกมือปืนลอบยิงในไร่ ขณะโต้เถียงกับพิศมัย.. และรู้ว่า มือปืนที่ลอบยิงเป็นคนของใคร มิตรจึงจะไปตามเอาคืนที่ร้านเหล้าเถ้าแก่หยง.. ปรียาก็ห้ามไว้ มิตรจึงส่งปืนให้ปรียาถือ จากนั้นก็ดวลหมัดกับดาวร้าย พีระพล ปิยะวรรณ.. สนใจดูหนัง 16 มม. เรื่องนี้ ก็ไปชมได้ฟรีๆ ที่หอภาพยนตร์ฯ ศาลายา วันเสาร์ที่ 8 ตุลาคม 2565 นะครับ
-
สมัยนั้น.. มิตร ชัยบัญชา จะแสดงหนังคู่กับ เพชรา เชาวราษฎร์ มากที่สุด.. ก็ทำให้คนพูดติดปากว่า มิตร-เพชรา.. จนบางคนเข้าใจว่า มิตร นามสกุล เพชรา.. มิตร ชัยบัญชา กำลังจะกลับมา.. วันเสาร์ที่ 8 ตุลาคม 2565 นี้ พบกันที่หอภาพยนตร์ฯ ศาลายา นะครับ..
-
เมื่อวานนี้ 10 กันยายน.. ก็เป็นคิวของเลขาแตง มัทธิมา สายจันดา ที่เข้าไปพากย์หนัง 16 มม. ปี 2507 เรื่อง ชายชาตรี (มิตร-พิศมัย) ซึ่งมีกำหนดฉายวันเสาร์ที่ 8 ตุลาคม 2565 ที่หอภาพยนตร์ฯ ศาลายา.. พอพากย์หนังเสร็จ มีเวลาว่างๆ เราสามคน (ผม-คุณนุ-เลขาแตง) ก็เลยย้อนอดีตนั่งรถไปเดินตลาดคลองถม.. แต่เดินได้แป๊บเดียว ฝนทำท่าจะตก ก็เลยรีบขึ้นไปนั่งที่ร้านเคเอฟซี ก็ไปย้อนอดีตที่สมัยก่อน สมัยที่ยังไม่มีการเล่นเฟซบุ๊ก..
ทุกๆ เย็นวันเสาร์พวกเราจะชอบไปนั่งพูดคุยกันที่นั่น.. ส่วนข้างนอก ฝนก็ตกหนัก.. กินไก่.. คุยกันไป.. พอฝนซา ก็แยกย้ายกันกลับ แต่ก็เจอฝนระหว่างทางตลอด ผมมาถึงบ้านก็เกือบสองทุ่ม.. ส่วนเลขาแตง บ้านไกลกว่า ก็ถึงช้ากว่านี้อีกนิดหน่อยครับ..
-
เมื่อวานนี้ (12 ก.ย.2565) "ป้าสุ" Patita Piyakosit ก็เป็นคนท้ายสุด ที่มาพากย์ปิดท้ายหนัง 16 มม. ปี 2507 เรื่อง ชายชาตรี นำแสดงโดย มิตร-พิศมัย ผลงานการสร้างของคุณแท้ ประกาศวุฒิสาร ซึ่งมีกำหนดจะฉายในวันเสาร์ที่ 8 ตุลาคม 2565 งานรำลึกการจากไปของพระเอก มิตร ชัยบัญชา ที่โรงหนังของหอภาพยนตร์ฯ ศาลายา นครปฐม..
ขณะนี้ หนัง "ชายชาตรี" ผมก็วางเสียงเอฟเฟค เสียงเพลงแบ็กกราวน์เสร็จหมดแล้ว ก็รอวันจะจัดฉาย วันเดียว รอบเดียว เท่านั้น.. สำหรับกลุ่มวัยหวานวันวานของพวกเรานั้น กิจกรรมรำลึกมิตร ชัยบัญชาปีนี้ วันที่ 8 ตุลาคม 2565 ช่วงเช้าๆ ก็จะไปร่วมทำบุญมิตร ชัยบัญชา ที่วัดแค นางเลิ้ง.. จากนั้นภาคบ่าย ก็จะไปร่วมกิจกรรมดูหนังที่หอภาพยนตร์ฯ ศาลายา นะครับ..
ส่วนวันอาทิตย์ที่ 9 ตุลาคม 2565 นั้น จริงๆ แล้ว ก็อยากจะหาที่ฉายหนังมิตร ชัยบัญชา อีกสักแห่งหนึ่ง แต่ก็ยังไม่รู้ว่า จะมีที่ไหน จะจัดงานรำลึกมิตร ชัยบัญชา แบบนี้บ้างนะครับ.. ถ้าไม่มีพวกเราก็จะเดินทางไปทำบุญในต่างจังหวัดแทนนะครับ..
สำหรับ หนูสุหรือป้าสุ นักพากย์จำเป็นของเรานั้น ถ้าเป็นแฟนๆ หนังของกลุ่มวัยหวานวันวาน ก็คงจะเดาออกนะครับว่า เธอจะพากย์เสียงใคร.. เรื่องนี้มีดาราผู้หญิง เช่น พิศมัย วิไลศักดิ์-แก่นใจ มีนะกนิษฐ์-ปรียา รุ่งเรือง-วิไลวรรณ วัฒนพานิช-อุษา อัจฉรานิมิต-หม่อมชั้น พวงวัน.. คิดว่า หนูสุจะพากย์เสียงใครกันครับ..
-
มิตร ชัยบัญชา เกิดปี 2477.. "ชาติเสือ" หนังเรื่องแรกที่มิตรแสดง ออกฉายครั้งแรกวันที่ 18 มิถุนายน 2501.. มิตร ชัยบัญชา เสียชีวิตขณะถ่ายทำหนังเรื่อง "อินทรีทอง" เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2513.. นับถึงปีนี้ก็เป็นเวลา 52 ปีแล้วที่พระเอกมิตร ชัยบัญชา เสียชีวิตไป..
ทุกๆ วันที่ 8 ตุลาคมของทุกปี ก็มีผู้คนที่รักและคิดถึงมิตร ชัยบัญชา จัดงานรำลึกถึงพระเอกมิตร ชัยบัญชา.. อยากจะถามว่า ครั้งแรกๆ ที่ท่านได้ไปร่วมงานรำลึกมิตร ชัยบัญชา นั้น ท่านไปที่ไหน..เมื่อปี พ.ศ.อะไร..และเขาฉายหนังมิตร ชัยบัญชา เรื่องอะไรให้ดูครับ..
-
ฟังเพลงไตเติ้ลหนัง "ชายชาตรี" ปี 2507 ผลงานของ ครูเนรมิต#ฟิล์มเก่าเล่าอดีต.. ชายชาตรี จะฉายในวันเสาร์ที่ 8 ตุลาคม 2565 งานรำลึกการจากไปของพระเอก มิตร ชัยบัญชา ที่โรงหนังของหอภาพยนตร์ฯ ศาลายา นครปฐม..
https://www.youtube.com/watch?v=_mXr70Ri9T0 (https://www.youtube.com/watch?v=_mXr70Ri9T0)
ฟังเพลงไตเติ้ลหนัง "ชายชาตรี" ปี 2507 ผลงานของ ครูเนรมิต
-
:GreenScarf (16): :GreenScarf (16):
-
เมื่อวานนี้ มีสามท่านคือ หลวงพี่เอ็ม Engkasak Kethom พี่อ๊อด Surapong Aod และพี่แต๋ว จงบุญ คงอ่อน ที่ตอบคำถามและก็เขียนเล่าถึงเรื่องการจัดงานรำลึกมิตร ชัยบัญชา ครั้งแรกๆ ที่มีขึ้นในปี 2526 ที่ศูนย์สังคีตศิลป์ ผ่านฟ้า กทม. (ตรงข้ามโรงหนังเฉลิมไทย) ซึ่งเป็นเวลา 13 ปีหลังจากที่พระเอกมิตร ชัยบัญชา เสียชีวิตไปแล้ว.. ผมอ่านที่สามท่านเขียนถึงแล้ว รู้สึกดีมากๆ เลยครับ
สำหรับผมเองแล้วคิดว่า งานรำลึกพระเอกมิตร ชัยบัญชา ก็ควรจะมีการฉายหนังของมิตร ชัยบัญชา ด้วย จึงจะสมบูรณ์ แต่สำหรับเมืองไทยเรานั้น ในเชิงการค้า ถ้ามีการฉายหนังไทยเก่าๆ แม้จะเป็นการพิมพ์ฟิล์มขึ้นมาใหม่ ก็มักจะไม่ค่อยได้รับความนิยมหรือพูดตรงๆ ว่า งานนั้นขาดทุนร้อยเปอร์เซ็นต์ จึงทำให้เราไม่ค่อยจะได้เห็นการฉายหนังไทยเก่าๆ ในโรงหนังอีกเลย
สมัยก่อนนั้น หนังต้องฉายจากฟิล์มหนัง จึงทำให้เกิดความยุ่งยากในการจะฉายหนังไทยเก่าๆ เพราะเขากลัวไม่คุ้มทุน.. แต่พอเกิดยุคของม้วนวีดีโอเทป แรกๆ ก็ทำให้มีความหวังว่า เราจะได้ดูหนังไทยเก่าๆ ผ่านม้วนวีดีโอเทปกันบ้าง แต่ก็ผิดหวังเพราะแทบจะไม่มีหนัง 16 มม.ยุคมิตร-เพชรา ออกมาเป็นม้วนวีดีโอเทปให้เช่าเลย ผมเองเห็นเครื่องเล่นวีดีโอเทปตั้งแต่ผมอยู่ที่จังหวัดสุรินทร์ ราวๆ ปี 2523 ตอนนั้นเครื่องเล่นวีดีโอเทปราคาแพงมากๆ คนรวยๆ เท่านั้นจึงจะมีเงินซื้อมาเล่นได้
ที่พูดมานี้ก็เพราะ ผมก็อยากจะถามว่า หนังมิตร ชัยบัญชา เรื่องแรกที่ออกให้เช่าเป็นม้วนวีดีโอเทปชื่อเรื่องอะไร..ออกปี พ.ศ.ใดและเป็นม้วนวีดีโอของบริษัทอะไรครับ..
-
สมัยนั้น.. มิตร ชัยบัญชา จะแสดงหนังคู่กับ เพชรา เชาวราษฎร์ มากที่สุด.. ก็ทำให้คนพูดติดปากว่า มิตร-เพชรา.. จนบางคนเข้าใจว่า มิตร นามสกุล เพชรา.. มิตร ชัยบัญชา กำลังจะกลับมา.. วันเสาร์ที่ 8 ตุลาคม 2565 นี้ พบกันที่หอภาพยนตร์ฯ ศาลายา นะครับ..
-
• รำลึก “มิตร ชัยบัญชา” กับ “ชายชาตรี” วันเสาร์ที่ 8 ตุลาคม 2565 ณ หอภาพยนตร์
เนื่องในวันครบรอบ 52 ปี แห่งการจากไป ของตำนานพระเอกผู้ยิ่งใหญ่ “มิตร ชัยบัญชา” หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) ร่วมกับ กลุ่มวัยหวานวันวาน ขอเชิญแฟนหนังไทยมาร่วมชม “ชายชาตรี” ผลงานภาพยนตร์เรื่องล่าสุดของ มิตร ชัยบัญชา ที่เพิ่งได้รับการค้นพบ
• “ชายชาตรี” เป็นผลงานภาพยนตร์ปี 2507 ที่ มิตร ชัยบัญชา นำแสดง สร้างโดย แท้ ประกาศวุฒิสาร ศิลปินแห่งชาติและคนทำหนังไทยคนสำคัญ กำกับโดยครูเนรมิตร สร้างจากนวนิยายของ ส. เนาวราช เล่าเรื่องราวของชายหนุ่มทายาทตระกูลอภิรักษ์ภูมินทร์ ที่ตกอยู่ท่ามกลางความขัดแย้งระหว่างเจ้าของไร่สองไร่ที่ปราจีนบุรี นอกจาก มิตร ชัยบัญชา ภาพยนตร์ยังร่วมแสดงด้วยดาราคนสำคัญมากมายเช่น พิศมัย วิไลศักดิ์, พันคำ, ประจวบ ฤกษ์ยามดี, อดุลย์ ดุลยรัตน์, วิไลวรรณ วัฒนพานิช, ปรียา รุ่งเรือง, แก่นใจ มีนะกนิษฐ์, ชุมพร เทพพิทักษ์ ฯลฯ
• “ชายชาตรี” ฉบับนี้ได้รับการค้นพบโดยกลุ่มคนรักหนังไทยในนาม “วัยหวานวันวาน” ซึ่งได้ติดต่อแลกรับฟิล์ม 16 ม.ม. จำนวน 3 ม้วน มาจากนักสะสมผู้ไม่ประสงค์ออกนามรายหนึ่ง เมื่อนำมาตรวจสอบดูแล้วพบว่าเป็นฟิล์มภาพยนตร์เรื่อง “ชายชาตรี” ส่วนหนึ่งเป็นฟิล์ม outtake ที่ถูกตัดออกมาจากฉบับฉายจริง กับอีกส่วนคือ กากฟิล์มที่ได้รับการออกฉายจริง ทั้งสองส่วนนี้ถูกตัดต่อรวมกันตามลำดับ แม้จะมีรายละเอียดขาดหายไปพอสมควร จนเหลือความยาวเพียงแค่ 65 นาที แต่ก็สามารถเล่าเรื่องได้ตั้งแต่ต้นจนจบ และเนื่องจากภาพยนตร์ไม่มีเสียงในฟิล์ม จึงได้นำมาพากย์เสียงใหม่ จากบทพากย์ที่หอภาพยนตร์ได้อนุรักษ์ไว้
• กำหนดการกิจกรรม
14.00 น. สนทนากับตัวแทนกลุ่มวัยหวานวันวาน
14.20 น. ชมตัวอย่างผลงานของ มิตร ชัยบัญชา
14.40 น. ชม "ชายชาตรี" (2507) ฉบับคงเหลือ
15.45 น. วางดอกไม้รำลึกบนรอยมือ มิตร ชัยบัญชา
• จัดฉาย ณ โรงภาพยนตร์ศาลาศีนิมา หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) สำรองที่นั่งได้ที่ https://www.fapot.or.th/main/cinema/view/1617 (https://www.fapot.or.th/main/cinema/view/1617)
-
เปิดจองตั๋วดูหนังแล้ว คลิกเข้าไปตามลิงค์นี้นะครับ... โรงภาพยนตร์ศาลาศีนิมา หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) สำรองที่นั่งได้ที่ https://www.fapot.or.th/main/cinema/view/1617 (https://www.fapot.or.th/main/cinema/view/1617)
รำลึก “มิตร ชัยบัญชา” กับ “ชายชาตรี” วันเสาร์ที่ 8 ตุลาคม 2565 ณ หอภาพยนตร์
เนื่องในวันครบรอบ 52 ปี แห่งการจากไป ของตำนานพระเอกผู้ยิ่งใหญ่ “มิตร ชัยบัญชา” หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) ร่วมกับ กลุ่มวัยหวานวันวาน ขอเชิญแฟนหนังไทยมาร่วมชม “ชายชาตรี” ผลงานภาพยนตร์เรื่องล่าสุดของ มิตร ชัยบัญชา ที่เพิ่งได้รับการค้นพบ
-
วันนี้ วันที่ 4 แล้วครับ.. อีกไม่กี่วันก็จะถึงวันที่ 8 ตุลา.. นึกถึงสมัยก่อน สมัยที่เคยไปร่วมงานรำลึกมิตร ชัยบัญชา.. วันนั้นจะไม่เฉพาะแค่แฟนหนังมิตรที่จะไปร่วมงานนะครับ แต่จะเป็นวันที่มีแฟนหนังไทยเก่าๆ อายุแตกต่างรุ่นกัน ไปรวมตัว ไปเจอะเจอ ไปเล่าความหลังเกี่ยวกับหนังไทยเก่าๆ วันมิตร ชัยบัญชา จึงทำให้เราได้รู้จัก ได้เพื่อนใหม่ๆ เพิ่มมากขึ้น..
แต่ตอนนี้ บางคนก็มาไม่ได้แล้ว บางคนก็ไม่อยู่แล้ว ก็ไม่รู้ว่า เราจะเห็นงานมิตรได้อีกแค่ไหน.. กาลเวลาย่อมจะกลืนกินสรรพสิ่ง..กิจกรรมรำลึกถึงดารารุ่นเก่าๆ ก็ค่อยๆ หายไป หมดไป.. ใครยังมีแรงมาดูได้ ก็มาเถอะครับ
ส่วนภาพนิ่งชุดนี้ ก็มาจากฟิล์มหนัง 16 มม. ปี 2507 เรื่อง ชายชาตรี นำแสดงโดย มิตร-พิศมัย ผลงานการสร้างของ คุณแท้ ประกาศวุฒิสาร.. กำกับการแสดงโดย ครูเนรมิต.. ซึ่งมีกำหนดจะฉายรอบบ่ายสองโมง ที่หอภาพยนตร์ฯ ศาลายา ในวันเสาร์ที่ 8 ตุลาคม 2565 ในงานรำลึก 52 ปีมิตร ชัยบัญชา
หนังเรื่องนี้ ก่อนที่จะลงมือพากย์เสียงนั้น ผมนั่งตัดต่อ ลำดับภาพ แล้วก็อ่านบทพากย์หนังที่มีความยาวเป็นร้อยหน้ากระดาษ.. อ่านจนเข้าใจเนื้อเรื่องของหนัง ยิ่งอ่าน ก็ยิ่งสนุก จนรู้สึกเสียดายที่กากฟิล์มเหลือมาเพียงแค่ 1 ชั่วโมง 10 นาที
อย่างไรก็ตาม แม้ตอนแรกๆ จะรู้สึกเสียดายที่กากฟิล์มขาดหายไปมาก.. แต่เมื่อเริ่มพากย์เสียง ก็พบว่า บางช่วงบางตอนของหนังที่เหลือนั้น เราสามารถจะพากย์เติมถ้อยคำที่เป็นสาระสำคัญของบทภาพยนตร์ได้ตลอดเวลา เมื่อพากย์เสร็จแล้ว มานั่งดูภาพรวมๆ ก็เห็นว่าเรื่องใกล้เคียงกับตัวหนังจริงๆ ที่เคยออกฉายในปี 2507 เหมือนกัน เพียงแต่ ชายชาตรี ฉบับนี้ จะสั้น กระชับและเดินเรื่องอย่างรวดเร็ว..
ส่วนดาราที่เห็นในภาพนี้ ก็มี มิตร-พิศมัย-ประจวบ-แก่นใจ-ดอกดิน-สุคนธ์ ครับ ...
วันที่ 8 ตุลาคม 2565 "วันมิตร ชัยบัญชา" ไปดูหนังมิตร ชัยบัญชา ฟรีๆ รอบบ่าย ที่โรงหนัง หอภาพยนตร์ฯ ส่วนรอบค่ำ ไปดูหนังกลางแปลง ที่วัดท่ากระเทียม เพชรบุรี บ้านเกิดมิตร ชัยบัญชา กันครับ..
กิจกรรมรำลึก 52 ปีมิตร ชัยบัญชา ปีนี้ตรงกับวันเสาร์ที่ 8 ตุลาคม 2565 ช่วงเช้าที่วัดแค นางเลิ้ง กรุงเทพฯ วัดก็จะมีงานทำบุญมิตร ชัยบัญชา เช่นเดิม (และมีงานวัดด้วย) พวกเราก็จะไปร่วมทำบุญมิตร ชัยบัญชา ที่วัดแค กันเป็นแห่งแรก
หลังจากทำบุญที่วัดแคเสร็จแล้ว พวกเราก็จะเดินทางไปร่วมกิจกรรมรำลึกมิตร ชัยบัญชา ที่หอภาพยนตร์ฯ ศาลายา นครปฐม ปีนี้ หอฯ จะเริ่มงานในภาคบ่าย เริ่มเวลาบ่ายสองโมง ด้วยการฉายหนัง 16 มม. มิตร ชัยบัญชา ปี 2507 เรื่อง ชายชาตรี นำแสดงโดย มิตร-พิศมัย.. เมื่อหนังจบแล้ว ก็จะมีพิธีวางดอกไม้ที่รอยพิมพ์มือมิตร ชัยบัญชา ณ ลานดารา เมื่อวางดอกไม้เสร็จแล้ว พวกเราก็จะเดินทางไปวัดท่ากระเทียม อ.ท่ายาง จ.เพชรบุรี เพื่อจัดกิจกรรม “กลางแปลง มิตร ชัยบัญชา” ฉายหนังมิตร ชัยบัญชา 3 เรื่องควบ
ปัจจุบัน หนังมิตร ชัยบัญชา เป็นหนังที่หาดูได้ยาก เนื่องจากไม่ค่อยจะมีฟิล์มหลงเหลืออยู่ แต่พวกเรากลุ่มวัยหวานวันวาน ก็พยายามช่วยกันออกตามหากากฟิล์มหนังมิตร ชัยบัญชา มาบูรณะ มาซ่อมแซมและพากย์บันทึกเสียง เพื่อหวังจะช่วยฟื้นชีวิตให้หนังมิตร ชัยบัญชา ได้กลับมาฉายขึ้นจอหนังอีกครั้ง ถ้าเป็นจอหนังโรงนอกจากฉายที่หอภาพยนตร์ฯ แล้ว ก็คงจะยากที่จะฉายที่โรงอื่นๆ เพราะจะต้องมีค่าใช้จ่าย ขณะนี้ก็เหลือเพียงทางเดียวคือ ฉายให้ดูฟรีๆ ในจอหนังกลางแปลง แต่จะต้องมีเจ้าภาพในแต่ละท้องถิ่นที่อยากจะเห็นหนังมิตร ชัยบัญชา ฉายขึ้นจอหนังกลางแปลงอีกครั้งมาช่วยสนับสนุนเรานะครับ
อย่างงานหนัง "กลางแปลง มิตร ชัยบัญชา" ที่วัดท่ากระเทียม เพชรบุรี คืนวันที่ 8 ตุลาคม 2565 ที่กำลังจะเกิดขึ้นนี้ เราก็ได้แรงสนับสนุนจากคนรักมิตร ชัยบัญชา ทั่วประเทศช่วยกันทำให้เกิดขึ้นที่บ้านเกิดของมิตร ชัยบัญชา ส่วนจะมีโอกาสเกิดงานแบบนี้ขึ้นในท้องที่อื่นๆ หรือไม่นั้น ผมว่าไม่ยากครับ.. เพียงแต่มีเจ้าภาพในท้องที่อื่นๆ สนับสนุน เราก็จะนำหนังมิตร ชัยบัญชา ไปฉายให้ครับ..
-
รอบบ่าย 2 โมง ฉายที่โรงหนังหอภาพยนตร์ฯ ศาลายา นครปฐม.. พอรอบค่ำๆ ก็จะฉายหนังกลางแปลง ที่วัดท่ากระเทียม ท่ายาง เพชรบุรี.. นี่ ถ้าเป็นสมัยก่อน ก็ต้องเรียกว่า เป็นหนังวิ่ง.. แต่วิ่งแปลกหน่อย ตรงที่ วิ่งจากหนังโรงไปฉายหนังกลางแปลง..แต่ว่าฉายเพิ่มเป็น 3 เรื่องควบ.. แหละนี่ก็คือ "กลางแปลง มิตร ชัยบัญชา" ครั้งแรกที่บ้านเกิดของพระเอก มิตร ชัยบัญชา ที่คนหลายๆ จังหวัดช่วยกันสมทบทุนให้เกิดขึ้น..
ส่วนภาพนิ่งชุดนี้ มาจากฟิล์มหนัง 16 มม. ปี 2507 เรื่อง ชายชาตรี นำแสดงโดย มิตร-พิศมัย ผลงานการสร้างของ คุณแท้ ประกาศวุฒิสาร.. กำกับการแสดงโดย ครูเนรมิต..
ส่วนดาราที่เห็นๆ ในภาพนี้ ก็มี มิตร-พิศมัย-ประจวบ-แก่นใจ-ชุมพร-อดุลย์-เชาว์ นะครับ ...
วันที่ 8 ตุลาคม 2565 "วันมิตร ชัยบัญชา" ไปดูหนังมิตร ชัยบัญชา ฟรีๆ รอบบ่าย ที่โรงหนัง หอภาพยนตร์ฯ ส่วนรอบค่ำ ไปดูหนังกลางแปลง ที่วัดท่ากระเทียม เพชรบุรี บ้านเกิดมิตร ชัยบัญชา กันครับ..
กิจกรรมรำลึก 52 ปีมิตร ชัยบัญชา ปีนี้ตรงกับวันเสาร์ที่ 8 ตุลาคม 2565 ช่วงเช้าที่วัดแค นางเลิ้ง กรุงเทพฯ วัดก็จะมีงานทำบุญมิตร ชัยบัญชา เช่นเดิม (และมีงานวัดด้วย) พวกเราก็จะไปร่วมทำบุญมิตร ชัยบัญชา ที่วัดแค กันเป็นแห่งแรก
หลังจากทำบุญที่วัดแคเสร็จแล้ว พวกเราก็จะเดินทางไปร่วมกิจกรรมรำลึกมิตร ชัยบัญชา ที่หอภาพยนตร์ฯ ศาลายา นครปฐม ปีนี้ หอฯ จะเริ่มงานในภาคบ่าย เริ่มเวลาบ่ายสองโมง ด้วยการฉายหนัง 16 มม. มิตร ชัยบัญชา ปี 2507 เรื่อง ชายชาตรี นำแสดงโดย มิตร-พิศมัย.. เมื่อหนังจบแล้ว ก็จะมีพิธีวางดอกไม้ที่รอยพิมพ์มือมิตร ชัยบัญชา ณ ลานดารา เมื่อวางดอกไม้เสร็จแล้ว พวกเราก็จะเดินทางไปวัดท่ากระเทียม อ.ท่ายาง จ.เพชรบุรี เพื่อจัดกิจกรรม “กลางแปลง มิตร ชัยบัญชา” ฉายหนังมิตร ชัยบัญชา 3 เรื่องควบ
ปัจจุบัน หนังมิตร ชัยบัญชา เป็นหนังที่หาดูได้ยาก เนื่องจากไม่ค่อยจะมีฟิล์มหลงเหลืออยู่ แต่พวกเรากลุ่มวัยหวานวันวาน ก็พยายามช่วยกันออกตามหากากฟิล์มหนังมิตร ชัยบัญชา มาบูรณะ มาซ่อมแซมและพากย์บันทึกเสียง เพื่อหวังจะช่วยฟื้นชีวิตให้หนังมิตร ชัยบัญชา ได้กลับมาฉายขึ้นจอหนังอีกครั้ง ถ้าเป็นจอหนังโรงนอกจากฉายที่หอภาพยนตร์ฯ แล้ว ก็คงจะยากที่จะฉายที่โรงอื่นๆ เพราะจะต้องมีค่าใช้จ่าย ขณะนี้ก็เหลือเพียงทางเดียวคือ ฉายให้ดูฟรีๆ ในจอหนังกลางแปลง แต่จะต้องมีเจ้าภาพในแต่ละท้องถิ่นที่อยากจะเห็นหนังมิตร ชัยบัญชา ฉายขึ้นจอหนังกลางแปลงอีกครั้งมาช่วยสนับสนุนเรานะครับ
อย่างงานหนัง "กลางแปลง มิตร ชัยบัญชา" ที่วัดท่ากระเทียม เพชรบุรี คืนวันที่ 8 ตุลาคม 2565 ที่กำลังจะเกิดขึ้นนี้ เราก็ได้แรงสนับสนุนจากคนรักมิตร ชัยบัญชา ทั่วประเทศช่วยกันทำให้เกิดขึ้นที่บ้านเกิดของมิตร ชัยบัญชา ส่วนจะมีโอกาสเกิดงานแบบนี้ขึ้นในท้องที่อื่นๆ หรือไม่นั้น ผมว่าไม่ยากครับ.. เพียงแต่มีเจ้าภาพในท้องที่อื่นๆ สนับสนุน เราก็จะนำหนังมิตร ชัยบัญชา ไปฉายให้ครับ..
-
ภาพนิ่งจากฟิล์มหนัง 16 มม. ปี 2507 เรื่อง ชายชาตรี นำแสดงโดย มิตร-พิศมัย ผลงานการสร้างของ คุณแท้ ประกาศวุฒิสาร.. กำกับการแสดงโดย ครูเนรมิต.. ซึ่งมีกำหนดฉายรอบบ่ายสองโมง ที่หอภาพยนตร์ฯ ศาลายา ในวันเสาร์ที่ 8 ตุลาคม 2565 งานรำลึก 52 ปีมิตร ชัยบัญชา.. เป็นหนังมิตร ชัยบัญชา เรื่องล่าสุดที่หากากฟิล์มมาได้และช่วยกันพากย์เสียง.. ขณะนี้ หอภาพยนตร์ฯ เปิดให้สำรองที่นั่งผ่านเว็บไซด์หอภาพยนตร์ฯ ได้แล้ว แต่ถ้าไม่ถนัดจะจอง ก็ต้องรีบไปก่อนเวลาหนังฉายสักครึ่งชั่วโมง เพื่อออกตั๋วหนังก่อนนะครับ..
...
วันที่ 8 ตุลาคม 2565 "วันมิตร ชัยบัญชา" ไปดูหนังมิตร ชัยบัญชา ฟรีๆ รอบบ่าย ที่โรงหนัง หอภาพยนตร์ฯ ส่วนรอบค่ำ ไปดูหนังกลางแปลง ที่วัดท่ากระเทียม เพชรบุรี บ้านเกิดมิตร ชัยบัญชา กันครับ..
กิจกรรมรำลึก 52 ปีมิตร ชัยบัญชา ปีนี้ตรงกับวันเสาร์ที่ 8 ตุลาคม 2565 ช่วงเช้าที่วัดแค นางเลิ้ง กรุงเทพฯ วัดก็จะมีงานทำบุญมิตร ชัยบัญชา เช่นเดิม (และมีงานวัดด้วย) พวกเราก็จะไปร่วมทำบุญมิตร ชัยบัญชา ที่วัดแค กันเป็นแห่งแรก
หลังจากทำบุญที่วัดแคเสร็จแล้ว พวกเราก็จะเดินทางไปร่วมกิจกรรมรำลึกมิตร ชัยบัญชา ที่หอภาพยนตร์ฯ ศาลายา นครปฐม ปีนี้ หอฯ จะเริ่มงานในภาคบ่าย เริ่มเวลาบ่ายสองโมง ด้วยการฉายหนัง 16 มม. มิตร ชัยบัญชา ปี 2507 เรื่อง ชายชาตรี นำแสดงโดย มิตร-พิศมัย.. เมื่อหนังจบแล้ว ก็จะมีพิธีวางดอกไม้ที่รอยพิมพ์มือมิตร ชัยบัญชา ณ ลานดารา เมื่อวางดอกไม้เสร็จแล้ว พวกเราก็จะเดินทางไปวัดท่ากระเทียม อ.ท่ายาง จ.เพชรบุรี เพื่อจัดกิจกรรม “กลางแปลง มิตร ชัยบัญชา” ฉายหนังมิตร ชัยบัญชา 3 เรื่องควบ
ปัจจุบัน หนังมิตร ชัยบัญชา เป็นหนังที่หาดูได้ยาก เนื่องจากไม่ค่อยจะมีฟิล์มหลงเหลืออยู่ แต่พวกเรากลุ่มวัยหวานวันวาน ก็พยายามช่วยกันออกตามหากากฟิล์มหนังมิตร ชัยบัญชา มาบูรณะ มาซ่อมแซมและพากย์บันทึกเสียง เพื่อหวังจะช่วยฟื้นชีวิตให้หนังมิตร ชัยบัญชา ได้กลับมาฉายขึ้นจอหนังอีกครั้ง ถ้าเป็นจอหนังโรงนอกจากฉายที่หอภาพยนตร์ฯ แล้ว ก็คงจะยากที่จะฉายที่โรงอื่นๆ เพราะจะต้องมีค่าใช้จ่าย ขณะนี้ก็เหลือเพียงทางเดียวคือ ฉายให้ดูฟรีๆ ในจอหนังกลางแปลง แต่จะต้องมีเจ้าภาพในแต่ละท้องถิ่นที่อยากจะเห็นหนังมิตร ชัยบัญชา ฉายขึ้นจอหนังกลางแปลงอีกครั้งมาช่วยสนับสนุนเรานะครับ
อย่างงานหนัง "กลางแปลง มิตร ชัยบัญชา" ที่วัดท่ากระเทียม เพชรบุรี คืนวันที่ 8 ตุลาคม 2565 ที่กำลังจะเกิดขึ้นนี้ เราก็ได้แรงสนับสนุนจากคนรักมิตร ชัยบัญชา ทั่วประเทศช่วยกันทำให้เกิดขึ้นที่บ้านเกิดของมิตร ชัยบัญชา ส่วนจะมีโอกาสเกิดงานแบบนี้ขึ้นในท้องที่อื่นๆ หรือไม่นั้น ผมว่าไม่ยากครับ.. เพียงแต่มีเจ้าภาพในท้องที่อื่นๆ สนับสนุน เราก็จะนำหนังมิตร ชัยบัญชา ไปฉายให้ครับ..
-
ในวันมิตร ชัยบัญชา วันที่ 8 ตุลาคม 2565 นี้ นอกจากเราจะมีกิจกรรมรำลึก 52 ปีมิตร ชัยบัญชา ร่วมกับ หอภาพยนตร์ฯ ศาลายา แล้ว.. วันนั้น คุณนุ ประเดิม สง่าแสงและกลุ่มวัยหวานวันวาน ก็จะส่งมอบฟิล์มหนังเรื่อง ชายชาตรี จำนวน 3 ม้วนและไฟล์หนัง ชายชาตรี ที่พากย์เสียงเรียบร้อยแล้ว โดยกลุ่มวัยหวานวันวาน ให้แก่หอภาพยนตร์ฯ ด้วยครับ
ฟิล์มหนัง 16 มม. เรื่อง ชายชาตรี ชุดนี้ คุณนุ ประเดิม สง่าแสง เป็นผู้ที่ติดต่อ ประสานงาน จนได้ฟิล์มหนังเรื่องนี้กลับมา แม้รายละเอียดของหนังจะขาดหายไปพอสมควร แต่เมื่อหอภาพยนตร์ฯ ให้สำเนาบทพากย์ มาพากย์บันทึกเสียง ก็ทำให้หนังดูรู้เรื่องมากขึ้นครับ
-
โพสต์จาก หอภาพยนตร์ THAI FILM ARCHIVE
"วงการหนังไทยเปลี่ยนไปพอสมควร แต่เดิมนักแสดงหญิงหรือนางเอก เคยเป็นแม่เหล็กสำคัญดึงคนดู ผู้สร้างต้องเลือกดาราหญิงนำหน้าก่อน ก็เปลี่ยนมาเป็นยุคที่ดาราชาย หรือพระเอกสำคัญกว่า และยุคนั้นในบรรดาพระเอกด้วยกันก็ไม่มีใครเกิน มิตร ชัยบัญชา"
แท้ ประกาศวุฒิสาร ผู้สร้างภาพยนตร์คนสำคัญ เคยเขียนถึงเหตุผลที่เลือก มิตร ชัยบัญชา มาแสดงนำภาพยนตร์เรื่อง ชายชาตรี (2507) ไว้ในหนังสือ “สุภาพบุรุษเสือแท้”
หลังจากความสำเร็จในการสร้าง “สุภาพบุรุษเสือไทย” เมื่อ พ.ศ. 2492 จนเกิดกระแสการสร้างหนังด้วยฟิล์ม 16 ม.ม. ในเมืองไทย และกลายเป็นยุคสำคัญในเวลาต่อมา แท้ ประกาศวุฒิสาร ได้มีผลงานสร้างภาพยนตร์ไทยอย่างต่อเนื่อง จนถึงปี 2503 ก่อนจะหยุดพักงานภาพยนตร์ไปประมาณ 4 ปี และกลับมาในช่วงที่ มิตร ชัยบัญชา ขึ้นแท่นเป็นพระเอกอันดับหนึ่งของวงการ เขาจึงติดต่อให้มิตรมาแสดงนำ และให้ “เนรมิตร” คนทำหนังชั้นครูผู้เชี่ยวชาญด้านหนังบู๊มารับหน้าที่กำกับ
แท้ยังเขียนเล่าไว้ด้วยว่า ช่วงที่ “ชายชาตรี” เข้าฉายในปี 2507 นั้น มิตร ชัยบัญชา ได้หาเวลาก่อนไปเข้าฉากแสดงหนังเรื่องอื่น ๆ แวะมาดูเรื่อง “ชายชาตรี” ที่ห้องฉายของโรงหนังอยู่หลายครั้ง ทำให้เขาได้มีโอกาสคุยกับมิตรมากขึ้น จึงเกิดความคิดจะนำ มิตร ชัยบัญชา ซึ่งเคยเป็นทหารอากาศและนักบินมาก่อน รวมทั้งรักการเป็นทหารอากาศมาก มาแสดงหนังเรื่อง “จอมเวหาศานิต” ซึ่งจะสร้างจากวีรกรรมของ ศานิต นวลมณี ในช่วงสงครามไทย-อินโดจีนฝรั่งเศส โดยให้ครูเนรมิตรกำกับเช่นเดิม แต่ไม่ทันจะเริ่มสร้าง มิตร ชัยบัญชา ก็มาเสียชีวิตอย่างกะทันหันในวันที่ 8 ตุลาคม 2513
ฟิล์มภาพยนตร์ 16 มม. เรื่อง “ชายชาตรี” นั้นหายสาบสูญไปนาน จนกระทั่งราวเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา กลุ่มคนรักหนังไทยในนาม “วัยหวานวันวาน” นำโดย ประเดิม สง่าแสง ได้ติดต่อแลกรับฟิล์ม 16 ม.ม. จำนวน 3 ม้วน มาจากนักสะสมผู้ไม่ประสงค์ออกนามรายหนึ่ง เมื่อนำมาตรวจสอบดูแล้วพบว่า ส่วนหนึ่งเป็นฟิล์ม outtake ของ ชายชาตรี ที่ถูกตัดออกมาจากฉบับฉายจริง กับอีกส่วนคือกากฟิล์มที่ได้รับการฉายจริง ทั้งสองส่วนนี้ถูกตัดต่อรวมกันตามลำดับจนเล่าเรื่องได้ตั้งแต่ต้นจนจบ แต่มีรายละเอียดขาดหายไปพอสมควรเมื่อเทียบกับบทพากย์ที่หอภาพยนตร์อนุรักษ์ไว้ จนเหลือความยาวเพียงแค่ 65 นาที โดยสันนิษฐานว่า เป็นฉบับที่มีผู้นำมาดัดแปลงใหม่หลังจากการเสียชีวิตของ มิตร ชัยบัญชา เพื่อให้ออกฉายได้อีกครั้ง
วันเสาร์ที่ 8 ตุลาคม 2565 เนื่องในวันครบรอบโศกนาฏกรรมการเสียชีวิตอันสั่นสะเทือนประเทศไทยของ มิตร ชัยบัญชา หอภาพยนตร์และกลุ่มวัยหวานวันวานจะนำ “ชายชาตรี” ผลงานสร้างของ แท้ ประกาศวุฒิสาร ฉบับที่เพิ่งได้รับการค้นพบและพากย์เสียงใหม่ มาจัดฉายขึ้นจอใหญ่ เป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมรำลึก มิตร ชัยบัญชา ตั้งแต่เวลา 14.00 น. เป็นต้นไป ณ โรงภาพยนตร์ศาลาศีนิมา หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) ไม่เสียค่าใช้จ่ายในการเข้าชมแต่อย่างใด
กำหนดการ
14.00 น. สนทนากับตัวแทนกลุ่มวัยหวานวันวาน
14.20 น. ชมตัวอย่างผลงานของ มิตร ชัยบัญชา
14.40 น. ชม "ชายชาตรี" (2507) ฉบับคงเหลือ
15.45 น. วางดอกไม้รำลึกบนรอยมือ มิตร ชัยบัญชา
.
สำรองที่นั่งได้ที่ https://fapot.or.th/main/cinema/view/1617
-
เฟซบุ๊ก คุณมานัสศักดิ์ ดอกไม้ โพสต์ภาพตัวเองเทียบกับป้ายโฆษณาฉายหนัง ชายชาตรี..ที่จะฉายที่หอภาพยนตร์ฯ ศาลายา ในวันที่ 8 ตุลาคม 2565.. ทำให้นึกถึงสมัยก่อน เวลาหนังใหม่ๆ จะเข้าโปรแกรมฉายที่โรงไหน เขาก็จะต้องวาดป้ายคัดเอ๊าท์ใหญ่ๆ ตามแต่หน้าหนังไว้ที่หน้าโรงหนัง.. แต่วันนี้ โลกเปลี่ยนไปเยอะแล้ว...