เวบบอร์ดสำหรับผู้ชื่นชอบระบบการฉายภาพเคลื่อนไหว

ภาพยนตร์ของเรา...การฉายภาพด้วยแผ่นฟิล์ม => ชุมทางหนังไทยในอดีต โดย มนัส กิ่งจันทร์ => ข้อความที่เริ่มโดย: มนัส กิ่งจันทร์ ที่ 04 มกราคม 2023, 12:23:59

หัวข้อ: หอภาพยนตร์ฯ ศาลายา รำลึกหนัง ดารารุ่นเก่าที่เรายังไม่ลืม
เริ่มหัวข้อโดย: มนัส กิ่งจันทร์ ที่ 04 มกราคม 2023, 12:23:59
         หอภาพยนตร์ฯ ศาลายา สแกนฟิล์มใหม่ เป็นไฟล์ DCP รำลึกหนัง ไชยา สุริยัน-สมบัติ เมทะนี-สรพงศ์ ชาตรี-ปิยะ ตระกูลราษฎร์.. รอบฉายประจำเดือนมกราคม 2566-กุมภาพันธ์ 2566 นี้..

         บางเรื่อง ท่านอาจจะเคยดูผ่านม้วนวีดีโอเทป-วีซีดีหรือดีวีดี.. แต่นี่เป็นการสแกนฟิล์มใหม่ ภาพชัดๆ ฉายบนจอใหญ่ๆ น่าดูมากๆ  ชมฟรี ที่โรงหนังของหอภาพยนตร์ฯ ศาลายา ถนนพุทธมณฑล สาย 5 นครปฐม ตามรอบวันเวลาฉายครับ
หัวข้อ: Re: หอภาพยนตร์ฯ ศาลายา รำลึกหนัง ดารารุ่นเก่าที่เรายังไม่ลืม
เริ่มหัวข้อโดย: มนัส กิ่งจันทร์ ที่ 04 มกราคม 2023, 12:26:14
   แหวนทองเหลือง ปี 2516 สแกนฟิล์มใหม่ ไฟล์ DCP ความยาว 3 ชั่วโมง 46 นาที จะฉายวันพุธที่ 4 มกราคม 2566 และวันพฤหัสบดีที่ 19 มกราคม 2566 เวลา 13.00 นาฬิกา ที่หอภาพยนตร์ฯ ศาลายา
 
    แหวนทองเหลือง.. นั้น ผมได้ดูตั้งแต่ยังเป็นเด็กๆ ภาพที่จำได้ ก็คือ เห็นรถไฟลอดเข้าถ้ำขุนตาน (รู้ชื่อในภายหลัง) เห็น นัยนา ชีวานันท์ นางเอกสวมเสื้อผ้าขาดกะรุ่งกะริ่ง เดินไปตามรางรถไฟ เก็บขนมที่คนโยนทิ้งจากหน้าต่างรถไฟ มากิน..แล้วเธอก็เป็นลมและมีรถค้ำถ่อมาช่วย.. ผมได้ดูหนังอีกครั้งจากทีวีสี ช่อง 7 นำมาฉาย แต่เนื้อหายังไม่ครบสมบูรณ์ ครั้งนี้เข้าใจหนังมากขึ้นโดยเฉพาะประเด็นเรื่องความรัก

    นางเอก “แต่ข้าเจ้าไม่มีอะไรให้คุณกฤษฎาไว้เป็นพยาน นอกจากแหวน ข้าเจ้ามีแหวนทองเหลือง วงนี้วงเดียว มันเป็นของไม่มีราคาค่างวด เหมือน เหมือนตัวข้าเจ้าเอง”
    พระเอก “แต่มันมีค่ายิ่งกว่าเพชร กว่าทองสำหรับฉัน ฉันจะสวมมันไว้โดยไม่ถอดออกเลยจนถึงวันตาย”

    นางเอกคือ นัยนา ชีวานันท์ แสดงเป็นสาวบ้านนอก อยู่ที่ ดอยติ จังหวัดลำพูน มีชื่อว่า “ดวงใจ คุ้มเกิด” ส่วนพระเอกคือ ไชยา สุริยัน แสดงเป็นชื่อ “กฤษฎา ดำรงค์พร” กฤษฎา (ไชยา) กับญาติๆ เดินทางไปเที่ยวดอยติ โดยมีกำนันพ่อของ ดวงใจ (นัยนา) เป็นคนต้อนรับขับสู้..และแล้วความรักของกฤษฎากับดวงใจ ก็เกิดขึ้นที่ดอยติ..ถึงขั้นได้เสียกัน..กฤษฎาสัญญาว่า จะไปขอดวงใจกับพ่อกำนัน แต่พอวันรุ่งขึ้น กฤษฎาก็ได้รับโทรเลขด่วนให้กลับกรุงเทพฯ...พลัดพรากจากกัน-สงคราม-วิบากกรรม ฯลฯ 
 
    ท้ายๆ เรื่อง พระเอก-นางเอกได้พบกัน ฉากที่ผมชอบก็คือ ฉากที่นางเอกเชิญพระเอกไปรับประทานอาหารที่บ้าน.. ดวงใจในชุดสาวชาวเหนือแห่งดอยติ คอยต้อนรับกฤษฎาที่เดินเข้ามาอย่างงงๆ ในห้องถูกตกแต่งให้มีบรรยากาศแบบชาวเหนือ.. ดวงใจปรนนิบัติทุกอย่าง เหมือนที่เคยทำไว้เมื่อตอนพบรักกันใหม่ ๆ ฝ่ายกฤษฎาก็เหมือนต้องมนต์..งงๆ..

    เสียงเพลงทางเหนือที่ขับกล่อม อาหารเมืองเหนือที่ดวงใจป้อนถึงปากและคอยปรนนิบัติรับใกล้ๆ จนทำให้กฤษฎาเคลิบเคลิ้ม อุทานออกมาเบาๆ ว่า.. เหมือนเคยได้เห็นภาพแบบนี้มาก่อน..ที่ไหนน่ะ... เสียงเพลง แหวนทองเหลือง ที่แต่งเข้ากับชีวิตรักของสองคนที่ผ่านมา ถูกใส่เข้ามาในฉากนี้อย่างพอดี ภาพแห่งความหลังก็ผุดขึ้นมา...จนกระทั่งดวงใจรู้แล้วว่า เธอยังคงอยู่ในหัวใจของกฤษฎาตลอดเวลา.. เขายังรักฉันอยู่..เขารักยังดวงใจอยู่...เป็นเสียงที่ดวงใจบอกกับเสาวรศ.. แล้วเธอจะบอกเขาไหมว่า เธอคือ ดวงใจ...ไม่.. ไม่.. ดวงใจบอกพร้อมกับว่า ไม่อยากให้เขารู้ว่า ดวงใจของเขาไม่บริสุทธิ์สำหรับเขาแล้ว...แล้วเธอจะทำอย่างไร...ดวงใจไม่ตอบ ได้แต่วิ่งออกจากบ้านไป.. แล้วหนังก็ตัดไปให้เห็นว่า ดวงใจนั่งรถเก๋งคันโตออกไป...ภาพหยุดนิ่ง พร้อมกับมีตัวหนังสือขึ้นมาว่า หนังจบ... แต่จริงๆ กลับไม่จบ.. ผมชอบเพลงเอกของเรื่องมากๆ ดนตรีและเสียงร้องได้อารมณ์จริง ๆ ส่วนไชยานั้นก็แสดงได้สมบทบาทมาก นัยนาก็เล่นแบบสุดๆไปเลย.. ดูไป ก็ได้แต่คิดว่า ถ้าผมเป็นไชยา ผมจะทำอย่างไรกับความรักที่ต้องพลัดพรากและต้องมาเจอกันอย่างนี้ ทีแรกก็เอะใจว่า ทำไมไชยาจึงจำเมียรักของตนเองไม่ได้ ก็หาคำตอบได้ว่า เพราะไชยาเชื่อว่า เมียตนเองตายไปแล้ว ประกอบกับหญิงที่ตนเองพบนั้น สวยและสูงศักดิ์เหลือเกิน เกินหญิงชาวบ้าน แถมเวลาผ่านไปเป็น 20 ปีแล้ว ก็เลยจำเมียไม่ได้..

    แต่มาคิดในมุมกลับ หากผมลองเป็นนัยนาดูบ้าง.. ผมจะตัดสินใจจากไปหรือไม่.. สิ่งหนึ่งที่ทำให้คิดหนักก็คือ แหวนทองเหลือง ที่เห็นไชยาสวมไว้ตอนถูกรถเชี่ยวชน แค่นั่นก็รู้ได้ว่า ชายผู้นั้นยังมีเราอยู่ในหัวใจ..ยังตามหาเรา..แต่เพราะชีวิตเรามันช่างสกปรกสิ้นดี..จึงดูไร้ค่าและเห็นแก่ตัวเกินไปที่จะเหนี่ยวรั้งกฤษฎาไว้กับเรา สู้ปล่อยให้กฤษฎาไปรักกับเด็กสาวรุ่นๆ จะดีกว่า เข้าทำนอง รักแท้ต้องเสียสละ..

    แต่ถ้าคิดว่า เหตุที่ชีวิตของดวงใจต้องตกระกำลำบาก ต้องไปเป็นขอทาน ไปเป็นหญิงโสเภณี ไปเป็นเมียเช่า ก็เพราะการออกตามหากฤษฎาคนรักมิใช่หรือ..แล้วทำไม ต้องให้ดวงใจถึงได้รับกรรมถึงเพียงนี้ สู้ให้เธอสมหวังไม่ได้หรือ...อย่างน้อยๆ ก็ดูจะยุติธรรมสำหรับเธอบ้าง...ว่าแต่ท่านละครับ คิดอย่างไร

    และสุดท้ายที่ชอบมากๆ ก็คือ เสียงนักพากย์ที่พากย์หนังเรื่องนี้ครับ ฉากท้ายเรื่องพากย์ ไชยา-นัยนา ได้ดีจริงๆ ครับ
หัวข้อ: Re: หอภาพยนตร์ฯ ศาลายา รำลึกหนัง ดารารุ่นเก่าที่เรายังไม่ลืม
เริ่มหัวข้อโดย: มนัส กิ่งจันทร์ ที่ 04 มกราคม 2023, 12:27:15
หมอบ้านนอก ปี 2528 (บทความนี้ ผมเขียนไว้ เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2554 ก็ 12 ปีมาแล้วครับ)

    ก่อนหน้านี้ สวรรค์บ้านนา (2526 ปิยะ-แสงเดือน)  ของ รุ่งกิจฟิล์ม ที่ คุณกิตติภัทฒ์ รุ่งธนเกียรติ เป็นผู้อำนวยการสร้างนั้น ผมเคยยกให้เป็นหนังประจำจังหวัดสุรินทร์ บ้านผมไปแล้ว.. แต่ความเป็นสายเลือดอีสานของ สุรสีห์ ผาธรรม ก็พยายามสร้างสรรค์หนังที่ถ่ายทอดถึงวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของคนชนบท คนอีสานอีก

    ครั้งหนึ่ง สุรสีห์ ผาธรรม ก็เคยทำให้เรื่องราวของครูอีสานโด่งดังไปทั่วโลก ในเรื่อง ครูบ้านนอก (2521 ปิยะ-วาสนา) ครั้งนี้ สุรสีห์จึงนำเสนอวิถีชีวิตของคนอีสานในอีกแง่มุมหนึ่ง ที่ต้องเผชิญกับความเป็นอยู่อย่างทุกข์ยาก ยูกยาหาลำบาก ต้องกินยาชุด ยาซอง พึ่งหมอตี่ สุรสีห์จับเรื่องนี้มาประเด็นสร้างเป็นหนังสะท้อนปัญหาสังคมแบบเจ็บๆ คันๆ ชื่อเรื่อง หมอบ้านนอก

    ก่อนหน้านี้ สุรสีห์จะรับหน้าที่เป็นผู้กำกับการแสดง แต่ครั้งนี้ สุรสีห์เดินเครื่องสร้างเอง แต่ก็ไม่วายที่จะต้องหาผู้อุปการะหรือภาษาชาวบ้านเรียกว่า หาทุนสร้างนั่นแหละครับ ซึ่งพระเอกของเรื่อง ก็ไม่ต้องห่วงเพราะยังไงก็ได้ ปิยะ ตระกูลราษฎร์ เด็กปั้นของสุรสีห์ยืนแป้นรออยู่แล้ว.. ว่าแต่นางเอกจะให้ใครล่ะครับ ที่จะช่วยหนังให้ขายได้ทั้งประเทศ..

    สุรสีห์ได้รับความร่วมมือจาก สีบุญเรืองฟิล์ม ให้ จารุณี สุขสวัสดิ์ มาเป็นนางเอก ซึ่งจะต้องรับบทเป็น แพทย์ปริญญาจากกรุงเทพฯ ส่วนดาราร่วมแสดงคนอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น แสงเดือน ดารา-ดู๋ ดอกกระโดน-ตะวัน บรรเจิด-อุดม พลเสน-ต้น โตมร-คม ท่าข้าม.. ก็ล้วนแล้วแต่เป็นดาราก้นกุฏิสุรสีห์ทั้งนั้น และผู้อุปการคุณอีกคนหนึ่งที่มีส่วนทำให้หนังเรื่องนี้สำเร็จได้ ก็คือ รักษ์ หล่อเกษมสานต์ โรงแรมแรมเพชรเกษม สุรินทร์..ซึ่งคนสุรินทร์รู้จักกันดีครับ แต่อาจเป็นเพราะสุรสีห์ต้องไปทำงานด้านการสร้าง การหาทุนหรืออาจจะต้องการผลักดันผู้กำกับหน้าใหม่ขึ้นมา ครั้งนี้ สุรสีห์ ผาธรรม จึงให้ สุพงษ์ ผาธรรม ขึ้นมาเป็นผู้กำกับการแสดงแทน แต่แฟนประจำหนังสุรสีห์ก็ยังเชื่อว่า นี่แหละคือ แบบฉบับหนังสุรสีห์ ผาธรรม..
    หมอบ้านนอก เข้าฉายครั้งแรกเมื่อวันที่ 13 เมษายน 2528 ที่โรงหนังเพชรรามา-เพชรเอ็มไพร์-พาราไดซ์-ฮอลิเดย์

    หมอบ้านนอก.. ถ่ายทำที่จังหวัดสุรินทร์เกือบทั้งเรื่อง ถ่ายที่หมู่บ้านช้าง ตำบลกระโพ อำเภอท่าตูม ซึ่งปัจจุบันกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญไปแล้ว ในฉากเราก็เลยได้เห็นช้างตัวใหญ่ๆ เดินผ่านหน้ากล้องไปมา คนที่ไม่เคยไปหมู่บ้านนี้ ก็อาจคิดว่า เป็นการเซ็ทฉากขึ้นมา แต่ความจริง ช้างกับคนในหมู่บ้านนี้นั้นได้ใช้ชีวิตร่วมกันแบบนี้มานานแล้วครับ..
ได้เห็น แม่น้ำมูล เห็นปราสาทหินเก่าแก่ ซึ่งผมไม่แน่ใจว่า ไปถ่ายที่ไหนบ้างเพราะเมืองสุรินทร์มีปราสาทหลายแห่ง และก็ไปถ่ายปราสาทหินเขาพนมรุ้ง มีการถ่ายฉากหนึ่ง ซึ่งเป็นการถ่ายทอดศิลปวัฒนธรรมประเพณีเก่าแก่ของเมืองสุรินทร์ นั่นคือ การรำกระโหนบติงตอง มี จารุณี-ปิยะ เข้าฉากร่วมแสดงด้วย ซึ่งแต่ก่อนนั้น ประเพณีนี้จะหาดูได้เฉพาะแต่ในงานช้างสุรินทร์เท่านั้น สมัยผมเป็นเด็กนักเรียนมัธยม ก็เคยถูกเกณฑ์ไปรำแบบนี้มาแล้วครับ..อ้อ ลืมแปลไป รำที่ว่านี้ หากเรียกชื่อภาษาไทยๆ ก็จะเรียกว่า รำตั๊กแตนตำข้าว ครับ ส่วนเสียงร้องก็จะเป็นภาษาเขมรพื้นเมืองสุรินทร์ ผู้แสดง เครื่องดนตรี ก็เป็นดนตรีพื้นเมืองของเมืองสุรินทร์ คณะกันตรึมก็จาก บ้านดงมัน มาเข้าฉากแสดง

    เมื่อประมวลทั้งเรื่องราวของหนัง ผู้สร้าง ผู้อุปการคุณ สถานที่ถ่ายทำตลอดจนหนังได้สอดแทรกขนบธรรมเนียมประเพณี เพลงพื้นเมืองประจำถิ่นและวิถีชีวิตของชาวสุรินทร์ไว้ในหนังเยอะมาก.. ผมก็เลยยกให้ หมอบ้านนอก เป็นหนังประจำจังหวัดสุรินทร์ไปอีกเรื่องครับ

    ณ บัดนี้ ก็ได้เวลาแล้วครับ ขอเชิญทุกท่านร่วมสัมผัสกับเรื่องราวของ "คุณธรรมที่ฝ่าฝืนกฎหมาย" ผลงานคุณภาพอีกเรื่องหนึ่งของ สุรสีห์ ผาธรรม หมอบ้านนอก โดยหอภาพยนตร์ฯ นำฟิล์มเนกาตีฟมาสแกนเป็นไฟล์ชัดๆ ไฟล์ DCP โดยมีกำหนดฉายวันศุกร์ที่ 6 มกราคม 2566 เวลา 15.30 น. และวันเสาร์ที่ 21 มกราคม 2566 เวลา 13.00 น.ครับ