เวบบอร์ดสำหรับผู้ชื่นชอบระบบการฉายภาพเคลื่อนไหว

*** โฆษณาผู้สนับสนุนหลักเวบไทยซีเน *** => ข่าวคราวหนังไทย หนังฝรั่ง หนังจีนสากล ยุค 80-90 => ข้อความที่เริ่มโดย: shawsbrothers ที่ 20 มิถุนายน 2025, 21:06:29

หัวข้อ: สามทหารเสือหนังฮ่องกงลุยฮอลลีวูด
เริ่มหัวข้อโดย: shawsbrothers ที่ 20 มิถุนายน 2025, 21:06:29
สามทหารเสือหนังฮ่องกงลุยฮอลลีวูด

(https://uppic.cloud/ib/ezGMmNe5xGrNsE2_1750859087.jpg)

          เรื่องนี้ต้องเริ่มจากบรรยากาศปลายทศวรรษ 80 ต่อเนื่องถึงต้นยุค 90 ตอนนั้นฮ่องกงคือมหานครภาพยนตร์แอ็กชั่นอันดับหนึ่งของเอเชีย วงการคึกคักถึงขีดสุด จอห์น วู, ฉีเคอะ, ริงโก้ แลม สามผู้กำกับมือฉมังต่างสร้างผลงานจนวงการฮอลลีวูดตะวันตกหันมาจับตา จอห์น วูยิงสนั่นจอด้วย โหด เลว ดี , โหดตัดโหด The Killer ฉีเคอะสร้างจินตนาการแปลกใหม่ด้วย Zu Warriors of the Magic Mountain , Peking Opera Blues ส่วน Ringo Lam ส่งหนังตระกูล on Fire อย่าง Prison on fire และ City on Fire(แรงบันดาลใจให้ Reservoir Dogs ของแควนติน ตารานติโน่)

          วันหนึ่ง ฌอง คลอด แวนแดมหรือ “เฮียจาง  (ชื่อเล่นที่คนทำหนังฮ่องกงตั้งให้ฌอง คลอด แวนแดม เพราะรู้สึกว่าจางพ้องเสียงกับฌอง และมาจากชื่อในบทที่เขาเล่นใน Double Impact แล้วมีฉากในฮ่องกง)” ซุปเปอร์สตาร์แอ็กชั่นเกรดบีแห่งยุค หลังประสบความสำเร็จจาก Kickboxer, Bloodsport ก็เดินไปคุยกับค่ายหนัง

          “ผมอยากได้แอ็กชั่นฮ่องกง ไปดึงผู้กำกับพวกนี้มาให้หน่อยได้ไหม (I want Hong Kong action! Get me these guys”) คำพูดนั้นสะเทือนไปถึงค่ายโซนี่ โคลัมเบีย และมิราแมกซ์ ทุกค่ายเริ่มหาทางเจรจาทาบทามวู ฉีเคอะ และแลม เพราะคิดว่าถ้าได้หนึ่งในสามมาทำงานกับแวน แดม คงได้หนังแอ็กชั่นชนิดหักคอคู่แข่ง ปรากฏว่าคนแรกที่ข้ามน้ำไปฮอลลีวูดได้ก่อนคือจอห์น วู เขาเซ็นสัญญากับ Universal ทำ Hard Target เป็นที่กล่าวขานว่ายิงกันระห่ำในจอ แต่นอกจอก็ระห่ำวุ่นวายไม่แพ้กัน  แม้จอห์น วูเองจะบ่นกับเพื่อนๆ ว่า “พวกเขาจ้างผมมาเพราะสไตล์ของผม แต่พอถ่ายจริงกลับจะให้เปลี่ยนหมด (They hired me for my style, but asked me to change it.) แต่หนังออกมาประสบความสำเร็จ  และแวน แดมพอใจมาก
 
          ขณะเดียวกันฝั่งโซนีโดยโคลัมเบียก็ล็อคตัวฉีเคอะให้ทำ Double Team คู่แวน แดม และนักกีฬาเดนนิส รอดแนม   แม้จะยังโกรธกันอยู่ แต่จอห์น วูก็พอรู้ ว่าฉีเคอะจะเจออะไร  ก็มองด้วยความเป็นห่วง บอกฉีเคอะว่า “ระวังนะ อย่าให้ค่ายครอบงำจนหมดตัว (Be careful not to let the studio control everything.)  ฉีเคอะเองก็ยังมั่นใจ บอกว่า “คราวนี้จะเอาสไตล์บู๊แบบหนังจีนเข้าไปใส่ในฮอลลีวูด (I will bring wuxia style into Hollywood.)"  แต่พอถ่ายจริงกลับเจอคุมจนคิดอะไรนอกบทหนังไม่ได้เลย ผู้กำกับแอ็กชั่นที่แกลากไปจากฮ่องกงคือ หว่องเหมิงซิง( Wong Ming-Sing) อดีตทีมสตันท์ของเฉินหลงก็ทำอะไรไม่ได้มาก เพราะตอนนั้น สมาคม stuntman ฮอลลีวูดกับยุโรป ค่อนข้างเข้มแข็ง พวกเขากลัว“ทีมจีน”มายึดงาน เลยล็อบบี้ให้โคลัมเบียเซ็นเงื่อนไขว่า  หว่องเหมิงซิงจะคุมได้เฉพาะคิวบู๊ hand-to-hand กับไม่ให้แตะฉากใหญ่ที่มีระเบิด ฉากไล่ล่า ซึ่งจะต้องให้ทีมสตันท์ฝรั่งทำ

          ซ้ำร้ายพอฉีเคอะถ่ายหนังเสร็จโคลัมเบียส่งคนมาตัดต่อหนังทั้งเรื่องเอง ในตอนที่ฉีเคอะปิดกล้องกลับมาผ่อนคลายสมองที่ฮ่องกง และจะบินกลับไปตัดต่อ  พอฉีเคอะกลับไปก็พบว่าหนังทำเกือบเสร็จแล้ว เพลงก็หามาใส่แล้ว และไม่ได้เป็นแบบที่แกเลือกเลย แกโมโหมาก  โปรดักชั่นหนังเรื่องนี้แทบจะเอาผู้กำกับกับโปรดิวเซอร์อเมริกันฆ่ากันตายกลางกองถ่าย ฉีเคอะได้แก้ตอนตัดต่อนิดเดียว เพราะโคลัมเบียบอกไม่ต้องทำอะไรแล้วหนังวางคิวฉายแน่นอนแล้ว  หนังออกมาแบบลูกผสมที่ฉีเคอะเองไม่ค่อยภูมิใจนัก ตอนหลังโคลัมเบียมาจีบฉีเคอะให้ไปทำหนัง Double Team อีก 2 ตอนให้เป็นไตรภาค แต่แกก็บอกศาลาขาดฮอลลีวูด

          ตอนฉีเคอะกลับมาฮ่องกงเจอเพื่อนอย่างโจวเหวินฟะ หลี่เหลียนเจี๋ย ที่ไปทำหนังฮอลลีวูดมาก่อนหน้าก็พูดติดตลก “คราวหน้า ถ้าไม่ได้ทำแบบของตัวเอง จะไม่ทำเลย (Next time, if I can’t do it my way, I won’t do it at all.”)

           ฝั่งริงโก้ แลม แกไม่ได้ตั้งใจจะไปอเมริกาเลย แต่จังหวะนั้นฌอง คลอด แวนแดม กำลังหาใครมารับช่วงโปรเจกต์ Maximum Risk ซึ่งเดิมทีวางให้จอห์น วูกำกับ และจอห์น วูก็เขียนทรีตเมนต์สำหรับถ่ายทำเอาไว้แล้ว  แต่ก็ต้องบอกลาไปทำ Broken Arrow เสียก่อน  ทีแรกคาดว่ารอจอห์น วูทำ Broken Arrow เสร็จแล้วค่อยมาลุยต่อ แต่แวนแดมได้ติดต่อริงโก แลมด้วยตัวเอง บอกว่าอยากได้ผู้กำกับที่เก่งจริงๆ แลมที่โด่งดังจาก City on Fire เลยรับคำชวนอย่างไม่ลังเล แต่พอไปถึงกองถ่ายฮอลลีวูดก็พบกับความจริงว่าแลมถูกคุมเข้มในกองถ่าย มีโปรดิวเซอร์มาดูทุกวัน คุมให้ถ่ายตามบท ผ้ามแก้ไข

          ในกองถ่าย Maximum Risk ถ่ายๆ ไป  ริงโก้ แลมรู้สึกอึดอัดมาก  เพราะโปรดิวเซอร์เข้ามาแทรกแซงทุกฉาก จนหนังออกมาจืดกว่าที่ตั้งใจไว้เดิม ไม่ดิบอย่างที่ตั้งใจ แลมบอกกับเพื่อนๆ ว่า “ผมไม่รู้มาก่อนด้วยซ้ำว่า จอห์น วูเป็นคนเขียนโครงเรื่องไว้ (I never knew Woo wrote a version.)   ตอนนั้นสื่อที่ฮ่องกงรายงายใส่สีกันสนุกปากว่าริงโก้ แลมฉกงานจอห์น วูจนจอห์น วู โกรธแลมมาก ภายหลังก็มีข่าวการเคลียร์ใจกัน  แต่เรื่องจริงคือจอห์น วูไม่ได้โกรธอะไรเพราะทั้งคู่รู้จักกันมานาน และวูเลือกที่จะปฏิเสธหนังเรื่องนี้เอง เนื่องจากเพราะต้องการลองทำงานกับนักแสดงฮอลลีวูดระดับ A อย่างจอห์น ทราโวลตร้า และขยายสไตล์ของตัวเอง จอห์น วู เคยให้สัมภาษณ์หลังริงโก้ แลมเสียชีวิตว่าเขาเป็นเพื่อนและคู่แข่งขันที่เคารพกัน

          Maximum Risk ได้กั๊วะจุยมาช่วยริงโก้ แลมออกแบบท่าทางการต่อสู้ และถึงแม้จอห์น วูจะไม่ได้กำกับ แต่ Maximum Risk มีสไตล์แอ็กชันแบบฮ่องกงที่ได้รับอิทธิพลจากงานของเขา เช่น ฉากยิงกันแบบโอเวอร์เดอะท็อป (แบบ The Killer หรือ Hard Boiled) ซึ่งน่าจะมาจากทรีตเมนต์ที่วูเขียนเอาไว้

            หลังจากนั้น ริงโก้ แลมยังได้กำกับ Replicant และ In Hell ให้กับ Van Damme เพราะแวนแดมชื่นชอบสไตล์เขามาก   ริงโก้ แลมเกือบได้ทำโปรเจกต์ใหม่กับนิโคลัส เคจ แต่สุดท้ายก็ปฏิเสธไปเพราะไม่อยากเจอระบบเดิมที่น่าอึดอัดของฮอลลีวูด  เขาบอกกับทีมว่า “ผมอยากถ่ายแบบที่เคยทำใน City on Fire แต่ที่นี่มันเป็นไปไม่ได้(I want to shoot like I did in City on Fire. That’s not possible here.) เลยขอกลับฮ่องกงดีกว่า

          ตอนนั้นในวงการฮ่องกงมีคำแซวว่า “เฮียจางเป็นหนี้ผู้กำกับฮ่องกงสามคน (Van Damme owes Hong Kong three directors.) เพราะพาพวกเขาไปเจอระบบฮอลลีวูดจนเกือบเลิกวงการ สุดท้ายจอห์น วู เป็นคนเดียวที่รอดเพราะ Face/Off ประสบความสำเร็จจนจอห์น วูสามารถทำ final cut ของตัวเอง ส่วนฉีเคอะ กับ ริงโก้ แลมต่างกลับบ้านเกิดพร้อมบทเรียนว่า “ฮอลลีวูดไม่ใช่ถิ่นของเรา” ภายหลังมีข่าวลือว่าสามคนยังเคยคุยกันเล่นๆ ว่าจะทำหนังร่วมกันแบบ “สามผู้กำกับ” แต่สุดท้ายก็ล่มเพราะต่างคนต่างติดภารกิจ น่าจะเป็นข่าวปลอมมากกว่า

          เวลามีใครถามว่า ฮอลลีวูดเป็นอย่างไร  จอห์น วูจะตอบติดตลกว่า “เหมือนออกไปรบที่ไม่มีวันชนะ (It’s like fighting a war you can’t win.)"  ฉีเคอะพูดว่า “คราวหน้า ถ้าจะไป จะพากองทัพของตัวเองไป (Next time, I’ll bring my own army.) ส่วนริงโก้ แลมผู้ล่วงลับบอกว่า “คราวหน้าเหรอ  ไม่มีคราวหน้าแล้วล่ะจ้า(Next time? No next time.)

          นี่แหละคือเรื่องราวของสามทหารเสือแห่งหนังฮ่องกงในวันที่ยกพลไปลุยฮอลลีวูด เรื่องที่วันนี้ยังเล่าขานกันไม่รู้จบในวงการแฟนหนังแอ็กชั่นฮ่องกง  ส่วนอีกคนที่ตามไปทีหลังอย่างหว่องคาไวก็จะเป็นหนังคนละกลุ่มไปแล้ว

          ในสามเรื่องของ 3 ผู้กำกับนี้ผมชอบทุกเรื่อง ไล่จาก 1. Hard Target 2.Double Team 3.Maximum Risk

          (เรื่องนี้ผมเอาข้อมูลมาจากหลายที่ ยำรวมกัน ที่วงเล็บคำพูดภาษาอังกฤษไว้ ผมว่าด้วยศัพท์มันได้อารมณ์สนุกดี ตอนต่อไปในซีรีส์สามเกลอหัวแข็งหรือสามทหารเสือจะเขียนถึงจอห์น วู กับฉีเคอะ เคลียร์ใจกัน)