สำหรับแฟนหนังรุ่นเก๋าคงไม่มีใครลืมภาพยนตร์ดราม่าเข้มข้นเมื่อปี 2527 เรื่อง “น้ำพุ” และภาพของหนุ่ย อำพล ในเรื่องราวชีวิตของเด็กหลงผิดติดยา ที่สร้างมาจากวรรณกรรม “พระจันทร์สีน้ำเงิน” ลงไปได้ ซึ่งวรรณกรรมนี้คุณสุวรรณี สุคนธา ได้เขียนขึ้นจากชีวิตจริงของตัวเองและบุตรชายสุดที่รักคนเดียวชื่อ น้ำพุ เด็กหนุ่มที่เสียชีวิตก่อนวัยอันควรด้วยพิษยาเสพย์ติด ถือเป็นหนึ่งในหนังที่คนไทยล้วนจดจำ
ด้วยเหตุนี้ ทางไฟว์สตาร์จึงได้ทำการ Remaster ปรับภาพแสงสี แปลงจากแผ่นฟิล์มสู่ระบบดิจิตอลคมชัดระดับ HD จุดประสงค์มิใช่เพียงเพื่อให้คนไทยในยุคใหม่ ได้ร่วมชมหนังคุณภาพดีในอดีต มีปรัชญาและแง่คิดสอนใจเท่านั้น แต่ยังช่วยอนุรักษ์และเผยแพร่หนังไทยในใจทุกคนนี้ต่อๆไปอีกด้วย นอกจาก “น่้ำพุ” แล้ว ยังมีหนังลาสิคอีกหลายเรื่องที่ถูกปลุกชีพให้มีสีสันชีวิตชีวาขึ้นอีกครั้ง เช่น เงินปากผี คู่กรรม ไปจนถึง เงินเงินเงิน ซึ่งตัวอย่างหนัง “น้ำพุ” ในรูปแบบ Remaster ได้ปล่อยออกมาให้ชมกันแล้ว และสำหรับแฟนหนังรุ่นใหม่ เรามาทำความรุ้จัก น้ำพุ กัน
http://www.youtube.com/watch?v=3-TWNRocvP4
ตัวอย่างภาพยนตร์ “น้ำพุ” ฉบับ Remaster
วงศ์เมือง นันทขว้าง หรือที่เราคุ้นเคยกันในชื่อของ “น้ำพุ” บุตรชายของ คุณสุวรรณี สุคนธา เกิดเมื่อวันที่ 13 มี.ค. พ.ศ. 2499 ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 28 พ.ค. 2517 หลังจากลูกชายเสียชีวิต คุณสุวรรณีได้นำเรื่องราวของของบุตรชายสุดที่รักของเธอเพียงคนเดียว มาเขียนเป็นวรรณกรรม ชื่อ “พระจันทร์สีน้ำเงิน” นวนิยายความผูกพันของแม่ลูกและชีวิตของครอบครัว ด้วยเจตจำนงของคุณสุวรรณี ประกาศไว้ตั้งแต่เมื่อคราวที่น้ำพุเพิ่งจากไปว่า แม้ว่าการสิ้นชีวิตด้วยยาเสพติดจะไม่ใช่เรื่องที่ดี แต่เธอก็ปรารถนาจะให้สิ่งที่เกิดขึ้นกับลูกชายของเธอได้รับการเผยแพร่ออกไป ทั้งนี้ก็เพราะไม่อยากให้ลูกของคนอื่นๆต้องจบชีวิตด้วยสาเหตุเดียวกัน กระทั่งในเวลาต่อมา หนังสือ “เรื่องของน้ำพุ” ได้กลายเป็นหนังสืออ่านนอกเวลาสำหรับนักเรียนมัธยม
(http://movie.mthai.com/wp-content/uploads/2014/06/page.jpg)
ภาพยนตร์เรื่องนี้สร้างโดย บริษัท ไฟว์สตาร์ โปรดักชั่น จำกัด ได้ผู้กำกับแถวหน้าอย่างคุณยุทธนา มุกดาสนิท และออกฉายเมื่อวันพฤหัสที่ 7 มิถุนายน 2527 ณ โรงหนังเอเธนส์ โดยใช้วรรณกรรมดั้งเดิมคุณสุวรรณี เป็นกรอบหลักในการเล่าเรื่อง แต่ความพิเศษอยู่ตรงที่การบอกเล่าเรื่องราว ทั้งงานด้านภาพ, เสียง, การตัดต่อ, เพลงประกอบ, ฯลฯ และการตีความบางแง่มุมตามทัศนะของตัวคนทำหนัง ดังนั้นหนังจึงไม่มีความจำเป็นต้องปิดบังจุดจบที่รู้ๆกันว่ามันต้องเป็นความตายของตัวละคร
(http://movie.mthai.com/wp-content/uploads/2014/06/THE-STORY-OF-NAMPU-HD-1080p09548215-59-09-600x337.jpg)
แม้เรื่องราวจริงๆของน้ำพุจะเกิดขึ้นในช่วงก่อนเขาเสียชีวิต แต่หนังก็เลือกที่จะตัดทอนองค์ประกอบทางยุคสมัยทิ้ง และนำเสนอเนื้อหาในฐานะที่เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน นอกจากนั้นยังมีตัวละครแม่ ที่ไม่ได้เป็นตัวละครที่เป็นสีขาวหรือสีดำ หากเป็นปุถุชนที่มีข้อบกพร่องอยู่ไม่มากก็น้อย ถึงแม้ว่าโฟกัสของเรื่องจะเน้นหนักที่น้ำพุเป็นสำคัญ แต่ผู้ชมตระหนักได้ถึงบทบาทของของแม่ และการอุทิศทุ่มเทของเธอ ซึ่งถูกนำเสนอในทำนองว่ามันเป็นการมุ่งไปผิดทาง ก็ไม่ใช่เพื่อใครเลยนอกจากครอบครัวของเธอเอง
(http://movie.mthai.com/wp-content/uploads/2014/06/THE-STORY-OF-NAMPU-HD-1080p09608913-49-53-600x337.jpg)
เกร็ดหนังดีในดวงใจ “น้ำพุ”
• ตอนประกาศรับสมัครนักแสดงผู้รับบทเป็นน้ำพุ เมื่อปี 2526 มีผู้สมัครมาเกินกว่าพันคน ฝ่ายคัดเลือกตัวแสดง สกรีนแล้วส่งมาให้ทางผู้กำกับได้ดูประมาณ 30 คน นัดมาทดสอบแล้วเลือกมาเป็นบทเพื่อนๆ ได้ 4-5 คน ในกลุ่มนั้นมี เอ็ม สุรศักดิ์ รวมอยู่ด้วย แต่ก็ยังไม่มีใครเหมาะ
• จนกระทั่งผู้ช่วยของพี่หง่าว ยุทธนา มุกดาสนิท ที่เคยเป็นผู้ช่วยคุณเปี๊ยก โปสเตอร์ ในหนังเรื่อง วัยระเริง ที่หนุ่ยเล่นเรื่องแรก ได้นัด หนุ่ย อำพล มาให้พูดคุยกัน ผู้กำกับสังเกตเห็นว่า หนุ่ยชอบเหม่อลอย และหลบตาบ่อย ๆ มีบุคลิกเหมือนคนติดยา จึงคิดว่าคนนี้น่าจะเหมาะ เลยนัดเข้าไปทดสอบกับบทที่ ไฟว์สตาร์ฯ และได้ประกาศว่าได้ อำพล ลำพูน จากวัยระเริง มารับบท น้ำพุ
• ตอนเขียนบทเรื่องนี้ ผู้กำกับได้ไปดูก๊วนเล่นยาที่สะพานเหล็ก เพราะอยากเห็นวิธีการโดยละเอียด แต่ยังรู้สึกไม่เข้าถึงอารมณ์ความเสี้ยนยาและทำไมเขาถึงชอบมัน จึงทำการฉีดยาเข้าเส้นจริงๆ โดยอยู่ในความดูแลของแพทย์ และเตรียมกระดาษปากกาไว้จดความรู้สึก แต่พอฉีดเข้าไปก็แทบจะรู้สึกทันที เหมือนตัวเองกลายเป็นบุรุษที่ 3 ไปอยู่ที่อีกมุมหนึ่งของห้องทันที มือที่พยายามจดก็เขียนอะไรเป็นวงๆไปเรื่อย ไม่มีความหมายอะไร ใครจะคุยจะถามอะไรก็ยิ้มอารมณ์ดีมีความสุข เพราะตัวเราเองไม่ใช่ตัวเราอีกต่อไป เมื่อสร่างแล้วจึงเข้าใจว่าทำให้เราหลุดจากปัญหาได้ชั่วคราว จึงเข้าใจและเขียนบทไปได้ (ลงทุนมาก!)
• น้ำพุ เป็นภาพยนตร์ที่ถ่ายทำด้วยระบบเสียงในฟิล์มเรื่องแรกของไฟว์สตาร์ฯ ในขณะที่หนังในยุคนั้นส่วนใหญ่เป็นหนังพากย์
• น้ำพุ ได้รางวัลมากมายทั้ง รางวัลตุ๊กตาทอง สาขาดารานำชายยอดเยี่ยม ประจำปี 2527 รางวัลตุ๊กตาทอง สาขาบทภาพยนตร์ดัดแปลงยอดเยี่ยม ประจำปี 2527 รางวัลดารานำชายดีเด่น งานมหกรรมภาพยนตร์เอเชียแปซิฟิก และเป็นภาพยนตร์ไทยเรื่องแรก ที่ได้คัดเลือกให้เป็นตัวแทนประเทศในการไปประกวดรางวัลภาพยนตร์สาขาต่างประเทศยอดเยี่ยม ในเวทีออสการ์
• ในปี พ.ศ. 2545 สร้างเป็นละครโทรทัศน์ทาง สถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7 กำกับการแสดงโดย ศรัณยู วงษ์กระจ่าง นำแสดงโดย สินจัย เปล่งพานิช, จิรายุส วรรธนะสิน, ตะวัน จารุจินดา และเฌอมาลย์ บุญยศักดิ์ โดยออกอากาศระหว่างวันที่ 10 กุมภาพันธ์ – 8 พฤษภาคม 2545
“น้ำพุ” หนังสะท้อนปัญหาสังคมยอดเยี่ยมประจำปี 2527 กำกับโดย ยุทธนา มุกดาสนิท นักแสดงนำ อำพล ลำพูน,วรรษมน วัฒโรดม,ภัทราวดี มีชูธน และ เรวัต พุทธินันทน์
———————–