ร่วมเติมเต็มเรื่องราวความรักอมตะ ที่สัญญาว่าจะไม่มีสิ่งใดมาพรากของไอ้ขวัญและอีเรียม ในภาพยนตร์เรื่อง แผลเก่า ผลการที่ผ่านการตีความโดยผู้กำกับชั้นครู หม่อมน้อย-ม.ล.พันธุ์เทวนพ เทวกุล ที่จะพาคุณผู้ชมไปร่วมดื่มด่ำกับวิถีชีวิตความเป็นไทย ที่กำลังจะถูกลืมเลือน โดยในครั้งนี้ หม่อมน้อย ได้ให้สัมภาษณ์แบบเจาะลึก ถึงผลงานเรื่องล่าสุดแบบเต็มๆ
(http://movie.mthai.com/wp-content/uploads/2014/08/001_resize.jpg)
“แผลเก่า“ เวอร์ชั่นนี้ มีที่มาที่ไป และแรงบันดาลใจมาจากอะไรครับ?
“คือโครงการนี้มันเกิดจากการที่คุณเจียง (สมศักดิ์ เตชะรัตนประเสริฐ) กับเราคุยกัน คุณเจียงมีความปรารถนาอยากที่จะเห็น แผลเก่า ในเวอร์ชั่นใหม่ คือลำพังตัวคุณเจียงเองก็ชื่นชมและประทับใจภาพยนตร์เรื่อง แผลเก่า ของคุณเชิด ทรงศรีมาก แกอยากเห็น แผลเก่า แบบหนังร่วมสมัย เป็นหนังที่ทำให้คนรุ่นใหม่ดู แต่ว่ารักษาอรรถรส รักษาเนื้อหาสาระของเดิมไว้ทั้งหมด ก็เลยมาปรึกษากัน แล้วก็คิดว่ามันต้องมีการปรับปรุง อาจจะมีการปฏิรูปแผลเก่าจากวรรณกรรมเรื่องเดิมมาเป็นภาพยนตร์ในยุคใหม่ ซึ่งอันนี้ต้องมีการศึกษามาก มีการค้นคว้ามาก แน่นอนที่สุดวรรณกรรมเรื่องนี้เขียนมาตั้งแต่ พ.ศ.2479 แล้วก็ถูกทำเป็นภาพยนตร์หลายครั้งมาก รู้สึกว่าครั้งนี้จะเป็นครั้งที่ 5 ถูกทำเป็นละครเวทีและละครโทรทัศน์มากมาย ตัวเราเองก็ดูหลายครั้ง ทั้งอ่านวรรณกรรมหลายเที่ยวตั้งแต่เด็ก”
“แล้วก็อันที่ประทับใจที่สุดคือแผลเก่าที่เป็นละครโทรทัศน์โดยช่อง 4 บางขุนพรหม จำได้ว่ากำธร สุวรรณปิยะศิริและนันทวัน เมฆใหญ่เล่นเป็นขวัญกับเรียมแล้วมันเป็นภาพที่ติดตามากๆ สมัยนั้นยังเป็นทีวีขาวดำอยู่เลย ก็ประทับใจจำได้ไม่ลืมเลือน ทีนี้พอยุคที่เราเรียนหนังสืออยู่ เรียนมหา’ลัยก็มีหนังคุณเชิดเมื่อปี 2520 ก็ได้ดูแล้วก็ประทับใจไปอีกแบบหนึ่ง แล้วก็ไม่เคยคิดเลยว่าวันหนึ่งจะได้ทำ อยากดูที่คนอื่นทำมากกว่า ถ้าถามความรู้สึกของตัวเองนะครับ จะพูดไปก็เป็นความปรารถนาของคุณเจียงที่บอกว่าอยากเห็นแผลเก่าฝีมือหม่อมน้อยทำ”
(http://movie.mthai.com/wp-content/uploads/2014/08/122.jpg)
“แผลเก่า” เวอร์ชั่นนี้จะออกมาในลักษณะไหนครับ?
“ก็ทำให้เป็นหนังวัยรุ่นย้อนยุค จริงๆ แล้วตามบทประพันธ์ของ ไม้ เมืองเดิม (ก้าน พึ่งบุญ ณ อยุธยา) ก็เป็นวัยรุ่นย้อนยุคอยู่แล้ว ถ้าคนอ่านหนังสือจะทราบว่าขวัญกับเรียมอายุ 18-19 เอง ทีนี้พอมองไปเวอร์ชั่นที่ดังที่สุด เวอร์ชั่นที่ยิ่งใหญ่ที่สุด ประทับใจที่สุดจะเป็นของคุณสรพงษ์ ชาตรี กับ คุณนันทนา เงากระจ่าง ซึ่งจริงๆ แล้วทั้งสองท่านอายุมากแล้วในตอนนั้น ภาพนั้นจะติดตาคนดู แต่โดยแท้แล้วเมื่อกลับมาอ่านอีกครั้งหนึ่ง ตอนที่ยังไม่ได้รับปากคุณเจียงด้วยซ้ำ บอกว่าขอมาอ่านก่อนอีกครั้งหนึ่ง ขอดูแง่มุมที่จะสามารถดัดแปลงเป็นภาพยนตร์สำหรับยุคใหม่ร่วมสมัย มันจะได้มั้ย ก็มาอ่านอีกครั้งหนึ่ง ก็เก็บรายละเอียดมาก แล้วก็เห็นคุณค่าในวรรณกรรมชิ้นนี้มาก จริงๆ แล้วเป็นเรื่องง่ายๆ มันไม่ใช่เรื่องยากเลย เป็นความรักของขวัญกับเรียมซึ่งสองครอบครัวพ่อแม่ไม่ถูกกัน เกลียดกัน แล้วก็เป็นรักต้องห้าม โดยมีคลองแสนแสบขวางกั้นอยู่ จะพูดไปก็มีความเป็นโรมิโอ-จูเลียตของเช็กสเปียร์อยู่มาก แต่ว่าในหนังสือความเด่นของท่านคือการใช้ภาษาของท่าน ซึ่งบรรยายทุ่งนาได้สวยงามเหลือเกิน แล้วก็บรรยายชนบทพื้นบ้านไทยในยุคนั้นได้อย่างงดงาม”
“แล้วก็ตัวละครของท่านคือขวัญกับเรียมเป็นมนุษย์ มันน่าอัศจรรย์ใจมากที่นักเขียนในยุคนั้นมักจะเขียนพระเอกก็คือพระเอก นางเอกก็ดี ผู้ร้ายก็ร้าย แต่ว่าใน แผลเก่า ท่านสร้างตัวละครขวัญกับเรียมได้เป็นมนุษย์มาก เป็นมนุษย์ธรรมดาที่มีทั้งส่วนดีและส่วนไม่ดี มีทุกอย่าง มีเลือดมีเนื้อ มีจิตใจ มีวิญญาณ มีความคิดลบ มีความคิดบวก ซึ่งน่าอัศจรรย์ใจมาก”
(http://movie.mthai.com/wp-content/uploads/2014/08/072.jpg)
เรื่องราวใน “แผลเก่า” เป็นแบบไหนครับ?
“ทีนี้เราก็ไปจับได้ว่าความรักต้องห้ามของหนุ่มสาวสองคน อายุ 18-19 เอง แล้วเพิ่งจะรักกัน มันน่าจะเป็นหนังวัยรุ่นยุคนั้นได้ วัยรุ่นที่ย้อนยุคไป ซึ่งการกระทำของทั้งสองคนมันก็เหมือนวัยรุ่นในยุคปัจจุบันมาก เหมือนวัยรุ่นทุกยุคมาก คืออะไรห้ามมักจะทำ พ่อแม่ห้ามเราจะสนุกเหลือเกินที่จะฝ่าฝืนกฎ ฝ่าฝืนพ่อแม่ มันเป็นเรื่องธรรมดา มันเป็น Psychology ธรรมดาของมนุษย์วัยรุ่นที่อะดรีนาลีนกำลังพลุ่งพล่านมาก แล้วก็ยังแยกไม่ออกระหว่างความรักกับความหลง แล้วขวัญเองก็เป็นหนุ่มหล่ออยู่ฝั่งหนึ่ง เรียมเองก็เป็นผู้หญิงที่สวยที่สุดในหมู่บ้าน ถึงแม้ว่าจะโดนห้ามคบกันตั้งแต่เด็ก มีคลองขวางกั้น แต่มันเห็นกันทุกวัน หมู่บ้านสมัยนั้น 2479 มันเล็กนิดเดียว มันก็รู้จักกันหมดนั่นแหละ แต่ว่าไม่พูดกัน โดนห้ามคบกัน เพราะฉะนั้นมันเป็นเรื่องธรรมดาที่คนที่เริ่มจะสู่วัยหนุ่มวัยสาวมันจะสนใจกัน แล้วยิ่งห้ามยิ่งยุมันเป็นเรื่องธรรมดา เพราะฉะนั้นอันนี้เราเลยจับได้ว่าด้วยจิตวิทยาง่ายๆ ของวัยรุ่น เราเลยเชื่อว่าประเด็นนี้มันจะเป็นประเด็นที่คนดูวัยรุ่นยุคปัจจุบันตั้งแต่ 14-19 จะดูอย่างเข้าใจ เพราะมันเป็นเรื่องที่สามารถรู้สึกได้”
(http://movie.mthai.com/wp-content/uploads/2014/08/042-600x465.jpg)
ตำนานรัก “แผลเก่า” ครั้งนี้ จะมีตัวละครตัวใดบ้างครับ?
“สิ่งที่สำคัญที่สุดคือคุณไม้ เมืองเดิมท่านสร้างตัวละครเป็นธรรมชาติมาก เป็นวัยรุ่นทุกยุคทุกสมัย อ่านแล้วก็จะเข้าใจความรู้สึกของขวัญ (ชัยพล จูเลี่ยน พูพาร์ต) กับเรียม (ดาวิกา โฮร์เน่) เพราะฉะนั้นการที่ทั้งสองคนฝ่าฟันอุปสรรคขวางกั้น ไม่ว่าจะเป็นคลองแสนแสบ ไม่ว่าจะเป็นพ่อแม่ ครอบครัว แล้วมาแอบรักกัน แล้วโดนจับได้ กลางๆ เรื่องเรียมก็จะถูกจับแยกกับขวัญไปขายที่กรุงเทพฯ แต่ว่าบังเอิญเรียมไปหน้าตาเหมือนลูกสาวที่ตายไปแล้วของคุณหญิงทองคำเปลว (สินจัย เปล่งพานิช) คุณหญิงก็เลยเลี้ยงตัวเองให้เป็นลูก แล้วก็ไปอยู่ในสังคมชั้นสูงมาก เพราะฉะนั้นเราก็ดัดแปลงมากมาย แต่เดิมอยู่ในกรุงเทพฯ เท่านั้น แต่ว่าในยุคปัจจุบันเราดัดแปลงให้คุณหญิงพาไปเมืองนอก 3 ปีแล้วก็กลับมากลายเป็นไฮโซในยุคนั้น เพื่อแสดงให้เห็นความแตกต่างของสภาพสังคมระหว่างชนบทกับพระนคร เพื่อจะสร้างอุปสรรคให้กับขวัญและเรียมมากขึ้น เพราะฉะนั้นคุณหญิงเองก็หมายมั่นปั้นมือที่จะให้เรียมแต่งงานกับคุณสมชาย (ณัฏฐ์ เทพหัสดิน ณ อยุธยา) ซึ่งเป็นนักการเมืองหนุ่ม นักเรียนนอก ลูกพระยา ผู้ลากมากดี หน้าตาหล่อ มีการวางไว้ซึ่งคุณสมชายเองก็เป็นคู่หมั้นกับคุณโฉมยงซึ่งเป็นลูกสาวที่ตายไปตั้งแต่เด็ก เพราะฉะนั้นเค้าก็หมายมั่นปั้นมือที่จะให้แต่งงานกัน คุณหญิงเองจริงๆแล้วจะพูดไปก็เป็นเจ้าของที่นาแถวทุ่งบางกะปินั่นเอง โดยมีหลานชายชื่อจ้อย (พงศ์สิรี บรรลือวงศ์) ซึ่งดูแลผลประโยชน์ให้ จ้อยเค้าเป็นเศรษฐีเมืองมีน แล้วจ้อยก็มาเกาะแกะกับเรียมในตอนต้น แล้วก็สร้างปัญหาให้เกิดขึ้นระหว่างขวัญกับเรียม ทีนี้ขวัญเองเมื่อรู้ว่าเรียมไปอยู่บ้านคุณหญิงก็เข้ามากรุงเทพฯ แต่ก็คลาดกัน ขวัญก็กลับมาแก้แค้นจ้อย เพราะฉะนั้นปมแบบนี้ก็จะเป็นปมต่อกันมาจนถึงตอนจบของเรื่อง”
(http://movie.mthai.com/wp-content/uploads/2014/08/161.jpg)
ภาพยนตร์เวอร์ชั่นนี้ ได้ผ่านการตีความในลักษณะใดบ้างครับ?
“แน่นอนที่สุดสิ่งที่เราต้องตระหนักอยู่ตลอดเวลาในช่วงเตรียมงานว่าเราทำภาพยนตร์เรื่องนี้ให้คนรุ่นใหม่ดู เป็นแผลเก่าสำหรับคนรุ่นใหม่ อันนี้มันต้องทำความเข้าใจกันก่อน แน่นอนที่สุดการรีเมกหรือทำภาพยนตร์ที่เคยทำมาแล้ว เราไม่ได้ก๊อปปี้ มันเป็นไปไม่ได้ที่จะก๊อปปี้ของเก่า เพราะของเก่าที่ดีของคุณเชิดก็ 30 กว่าปีมาแล้ว มันไม่ใช่ยุคสำหรับคนปัจจุบัน ดูแล้วก็จะเบื่อๆ เพราะฉะนั้นเราพยายามดึงส่วนที่ดีจากหนังสือ ส่วนที่ดีจากภาพยนตร์ของคุณเชิดซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นแรงบันดาลใจในการสร้างภาพยนตร์เรื่องนี้ เราอุทิศให้แก่ คุณไม้ เมืองเดิม และ คุณเชิด ทรงศรี ซึ่งเป็นแรงบันดาลใจให้มีการดัดแปลงวรรณกรรมและภาพยนตร์ออกมาเป็นภาพยนตร์แผลเก่าสำหรับคนรุ่นใหม่จริงๆ เพราะฉะนั้นคนที่ติดกับเรื่องเก่า อาจจะดูหนังเรื่องนี้ไม่สนุก เพราะว่าเป็นการมองมุมใหม่ในเรื่องแผลเก่า เป็นมุมที่แตกต่างจากที่คุณเชิดมอง อย่างตอนที่แผลเก่าเดิมคุณเชิดทำเหมือนจริงมากนะ แต่คราวนี้เรามองเป็นหนังโรแมนติก เป็นหนังรัก เพราะฉะนั้นมันจะไม่จริงจังขนาดนั้น แต่มันจะสะท้อนความรักที่สวยสดงดงาม”
(http://movie.mthai.com/wp-content/uploads/2014/08/023.jpg)
“แผลเก่า” ฉบับโรแมนติก นี่จะออกมาเป็นแบบไหนครับ?
“คือภาพยนตร์แนวโรแมนติกเป็นภาพยนตร์ที่พูดถึงอุดมคติ อุดมคติของตัวละคร อุดมคติที่จะทำแต่ความดี ตัวละครในเรื่องนี้โดยเฉพาะขวัญเป็นคนรักเดียวใจเดียวเท่านั้น ยอมตายเพื่อผู้หญิงคนนี้ ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นขอรักกันทุกชาติไป ซึ่งสิ่งนี้เป็นสิ่งที่โลกปัจจุบันไม่มี หรือเรียมเองเมื่อขวัญถูกยิงตายในตอนจบ ตัวเองก็ฆ่าตัวตายตามขวัญซึ่งคนในโลกปัจจุบันอาจจะเห็นว่ามันเป็นการกระทำโง่ๆ แต่ว่าสิ่งนี้เองมันเป็นสิ่งที่สะท้อนในภาพยนตร์เรื่องนี้ให้คนรุ่นใหม่ดูว่าการตายของขวัญกับเรียมเป็นสิ่งที่สวยงามและสูงส่งมาก เป็นสิ่งที่บริสุทธิ์มาก ความรักของขวัญกับเรียมมันไม่ใช่ความรักที่มีตัณหาเจือปนเลย เพราะฉะนั้นภาพยนตร์เรื่องนี้จะต่างจาก จันดารา มาก จันดารามันเป็นมุมมืดของมนุษย์ที่พูดถึงตัณหาราคะ แต่เรื่องนี้มันพูดถึงความรักที่แสนบริสุทธิ์ และมนุษย์ที่แสนบริสุทธิ์ จิตใจที่แสนจะบริสุทธิ์ของคนซึ่งในยุคปัจจุบันหาได้ยาก มันไม่มีใครยอมตายแทนใครหรอก แต่ว่าอยากให้มาดูว่าเหตุผลที่ตัวละครสองตัวนี้เค้าตายแทนกันได้ว่ามันยิ่งใหญ่ขนาดไหน มันน่ารักขนาดไหน”
(http://movie.mthai.com/wp-content/uploads/2014/08/DSC_0114.jpg)
ดูเหมือนว่า “แผลเก่า” จะเป็นการถ่ายทอดแง่มุมโลกพระนคร VS โลกชนบท หรือเปล่าครับ?
“ที่สำคัญคือเรามองว่าโลกของทุ่งบางกะปิ โลกของชนบท โลกของความเป็นไทย ในยุค 70-80 ปีที่แล้วมาเป็นโลกที่บริสุทธิ์และซื่อ วิญญาณของคนไทยเป็นคนซื่อ เป็นคนจริงใจ เป็นคนไม่คิดถึงผลประโยชน์ แต่ในขณะเดียวกันโลกของพวกพระนคร ตัวละครฝ่ายกรุงเทพฯ ในเรื่อง มีคุณหญิงทองคำเปลว มีคุณสมชายกับพรรคพวก พวกนี้ก็จะเป็นคนที่รับเอาวัฒนธรรมตะวันตกมามาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งคุณสมชายซึ่งเป็นนักการเมืองในยุคที่เพิ่งเปลี่ยนแปลงการปกครองไม่กี่ปี เพราะฉะนั้นอิทธิพลทางการเมืองก็จะมีผลกับตัวละครเหล่านี้มาก คือทำอะไรก็ตามมันจะเต็มไปด้วยผลประโยชน์ การที่สมชายยอมหมั้นกับเรียมซึ่งเป็นลูกเลี้ยงคุณหญิง ไม่ใช่เรื่องธรรมดา เป็นลูกชาวนาอีกต่างหาก เหตุผลอะไร มันก็เพื่อผลประโยชน์ทางการเมืองนั่นเอง เค้าหมั้นกับเรียมแต่งงานกับเรียมก็เท่ากับเค้าหมั้นกับทุ่งบางกะปิ เพราะเรียมเป็นลูกสาวกำนันเรือง เค้าเอาชนะใจคนในพื้นที่ได้ เพราะฉะนั้นสิ่งที่สมชายทำ สมชายพยายามจะสร้างฐานอำนาจทางการเมืองที่ทุ่งบางกะปิ การที่เค้ามีเมียเป็นลูกสาวชาวนาที่เป็นนักเรียนนอกแล้วสวยขนาดนี้ แน่นอนที่สุดเค้าก็จะเอาชนะใจคนทั้งประเทศได้ง่ายๆ เพราะฉะนั้นตัวละครฝ่ายกรุงเทพฯ กับฝ่ายทุ่งบางกะปิจึงต่างกันมาก”
“และนั่นคือความเป็นคนไทยจริงๆ พวกเราซะอีกที่เป็นคนเมือง เรารับอิทธิพลตะวันตกมากมาย เราเอาระบบทุนนิยม ระบบมาร์เก็ตติ้งต่างๆ มาใช้กับชีวิตของพวกเรา ทำอะไรก็เพื่อเงิน เพื่อผลประโยชน์ ซึ่งนั้นก็ไม่ใช่เรื่องผิด เพราะโลกทั้งโลกก็เป็นแบบนี้ ทีนี้เราพยายามแสดงให้เห็นในภาพยนตร์เรื่องนี้ว่ามันเป็นโลกสองโลกซึ่งมาเจอกัน โลกของจิตใจกับโลกของวัตถุ แต่โลกของวัตถุมีความต้องการมาก เพราะเป็นคนมีความรู้เป็นคนฉลาด เป็นนักเรียนนอก เพราะฉะนั้นก็จะมีวิธีการเอาเปรียบคนที่ซื่อได้ง่ายกว่า และท้ายที่สุดก็ใช้อำนาจ มีการเสียเลือดเสียเนื้อ”
“การที่เรียมกลับมาที่ทุ่งบางกะปิอีกครั้งตอนที่แม่ป่วยแล้วตายไป เรียมได้ตระหนักว่าเธอต้องการอยู่ที่ทุ่งบางกะปิ เพราะวิญญาณของเธออยู่ที่ทุ่งบางกะปิ เป็นของคลองแสนแสบ และเธอรักขวัญจริงๆ เพราะฉะนั้นโลกในกรุงเทพฯ สำหรับเรียมเป็นโลกมายา เป็นโลกไม่จริง เป็นโลกแห่งผลประโยชน์ เพราะว่าเธอได้รู้ว่าการที่เธอได้เป็นไฮโซหรูหรา มันก็คือเป็นหุ่นของคุณโฉมยงนั่นเอง ไม่ใช่ตัวเค้าเลย”
(http://movie.mthai.com/wp-content/uploads/2014/08/IMG_1240_resize.jpg)
นอกจากทางสังคมแล้ว “แผลเก่า” เวอร์ชั่นนี้ ตั้งใจให้เป็นเสมือนกระจก สะท้อนความรักหลากหลายระดับด้วยหรือเปล่าครับ?
“ภาพยนตร์เรื่องนี้สอนอีกอย่างหนึ่ง นอกจากเป็นภาพยนตร์ที่พูดถึงความรักของหนุ่มสาวแล้ว เรายังพูดถึงความรักในหลายๆ ระดับ มีความรักของพ่อแม่ที่มีต่อลูก เพื่อนที่มีต่อเพื่อน บ่าวที่มีต่อนาย และที่สำคัญที่สุดคือรักถิ่นกำเนิดของตัวเอง รักรากเหง้าของตัวเองซึ่งสะท้อนออกมาในตัวละครของขวัญและเรียม ขวัญรักเรียม รักเท่าข้าวในนา เท่าปลาในน้ำ รักเท่าทุ่งบางกะปิ รักเท่าคลองแสนแสบ นั่นคือชีวิตของเค้า เค้ารักเรียมเท่าชีวิตของเค้า เรียมเองในภาพยนตร์เรื่องนี้เดินทางไปต่างประเทศเห็นความสวยหรูมากมายไปหมด มีชีวิตราวกับเจ้าหญิงแต่นั่นคือเปลือกนอกทั้งนั้นเลย เป็นวัตถุทั้งนั้น แต่ลึกลงไปในตัวเรียมเธอมีความรู้สึกว่าเธอเป็นเจ้าหญิงแห่งทุ่งนา เป็นเจ้าหญิงแห่งทุ่งบางกะปิ และตอนจบของเรื่องไม่มีอะไรมีความหมายต่อชีวิตของเธอหรือมีคุณค่ากับชีวิตของเธอเท่ากับทุ่งบางกะปิ คลองแสนแสบและขวัญ”
“ภาพยนตร์เรื่องนี้สอนในหลายๆ อย่าง เป็นโรแมนติกที่สอนความรักหลายๆ แบบ คุณจะได้เข้าใจความรักหลายๆ แบบ แม้กระทั่งความรักตัวเองของพวกกรุงเทพฯ ความรักคืออะไรมันพูดได้จากภาพยนตร์เรื่องนี้ ความรักคือการให้ ความรักคือการที่อยากเห็นคนที่ตัวเองรักมีความสุข นั่นคือความรักไม่ใช่เอาแต่ได้ ทีนี้คนที่ต้องการให้คนรักอยู่กับตัวเอง มันคืออะไร รักตัวเองใช่มั้ย รักให้ตัวเองมีความสุข”
“ภาพยนตร์เรื่องนี้พูดถึงความรักในหลายระดับมากๆ เป็นภาพยนตร์รักจริงๆ แม้แต่เรื่องทุกคนคงทราบอยู่แล้วว่าในตอนจบพระเอกนางเอกตาย แล้วก็อาจจะมีเกร็ดของความเป็นจริงอยู่สูง เพราะว่ามีศาลขวัญเรียมจริงๆ อยู่ถึงปัจจุบัน ทุกคนก็กราบไหว้ เราก็ไปกราบไหว้ ก็จะได้ยินว่าส่วนใหญ่ไปขอเรื่องความรักกันแล้วก็สมหวังด้วย เพราะฉะนั้นวิญญาณรักอมตะของขวัญเรียมมีจริง ถ้าคนจะเชื่อว่ามีจริงก็มีจริง เพราะฉะนั้นเค้าเป็นอมตะมาก วรรณกรรมเรื่องนี้ถึงได้ถูกสร้างเป็นภาพยนตร์หลายต่อหลายครั้งมาก และดูจะเป็นวรรณกรรมที่ถูกสร้างเป็นภาพยนตร์มากที่สุดในประเทศไทยด้วยซ้ำ”
(http://movie.mthai.com/wp-content/uploads/2014/08/111.jpg)
แสดงว่า “แผลเก่า” ก็ยังคงเป็นโศกนาฏกรรมความรักใช่ไหมครับ?
“ถึงแม้ว่ามันจะดูจบแบบโรมิโอ-จูเลียต เป็นโศกนาฏกรรม แต่ว่าภาพยนตร์เรื่องนี้ไม่ใช่ภาพยนตร์โศกนาฏกรรมแน่ เราไม่ได้อะไรแบบนั้น โศกนาฏกรรมทำมาแล้วสองครั้งไม่ว่าจะเป็น ชั่วฟ้าดินสลาย หรือ “จันดารา ไม่ใช่อย่างนั้นแน่ มันเป็นภาพยนตร์รักจริงๆ ภาพยนตร์ที่แสดงให้เห็นถึงคุณค่าของความรักจริงๆ ความรักแท้เป็นเช่นไรก็จะเห็นในเรื่องนี้ แม้กระทั่งตอนจบก็ไม่ใช่ว่าดูแล้วเครียดเป็นโศกนาฏกรรมมากมาย แต่ว่าดูแล้วจะเข้าใจ เป็นอะไรที่ดูสบายๆ พระเอกหล่อ นางเอกสวย วิวสวย เพลงเพราะมาก บทเพลงก็ใช้เพลงเก่าหมดเลย จริงๆ แล้วเราก็รักษาโครงของภาพยนตร์ของคุณเชิด ทรงศรีเอาไว้ซึ่งมันสมบูรณ์มากอยู่แล้ว บทเพลงที่ใช้ดำเนินเรื่องก็บทเพลงของครูพรานบูรพ์ซึ่งไพเราะเหลือเกินเป็นอมตะเหลือเกิน ซึ่งร้องโดยนักร้องใหม่ก็คือ กัน เดอะสตาร์ (นภัทร อินทร์ใจเอื้อ) กับ แก้ม เดอะสตาร์ (วิชญาณี เปียกลิ่น) ซึ่งเค้าร้องถ่ายทอดได้ไพเราะมาก มันเป็นภาพของ แผลเก่า ในแบบใหม่
(http://movie.mthai.com/wp-content/uploads/2014/08/151.jpg)
(http://movie.mthai.com/wp-content/uploads/2014/08/024.jpg)
มีคำกล่าว่า การทำนาคืองานศิลปะ หม่อมน้อยคิดว่ายังไงครับ?
“สำหรับเราเอง เราเห็นว่าการทำนาไม่ใช่ใครทำก็ได้ มันเป็นงานศิลปะขั้นสูงมากนะ ให้เราไปเรียนวันสองวันก็ทำไม่ได้ มันเป็นงานศิลปะพื้นบ้านจริงๆ มันอาร์ตเวิร์กจริงๆ ไม่ใช่ใช้ Skill อย่างเดียว ไม่ใช่คนชั้นกรรมาชีพเลย และที่สำคัญคือต้องมีความรู้มาก ต้องรู้ธรรมชาติของดินฟ้าอากาศ ต้องรู้ธรรมชาติของเมล็ดพืช แล้วก็ Sensitive กับน้ำขึ้นน้ำลง ความชื้นอากาศ ซึ่งโอ้โหจริงๆ แล้วเค้าควรเป็นด็อกเตอร์ทางฟาร์มมิ่งกันนะ เพราะว่าเค้ารู้จริงๆ แล้วยิ่งไปกว่านั้นไม่นับหยาดเหงื่อแรงงานที่ต้องตรากตรำอยู่กลางแดดอีก เพราะฉะนั้นนักแสดงในเรื่องนี้จะได้รู้ซึ้งถึงบุญคุณของชาวนา เพราะว่าตัวเองต้องถ่ายกลางแดดจริงๆ ไม่ใช่มาถ่ายแค่แป๊บๆ ชั่วโมงสองชั่วโมง มันไม่ใช่อย่างนั้นเพราะโลเกชั่นถ่ายทำที่สุพรรณบุรี ซึ่งต้องเข้าไปลึกมากเพื่อหนีเสาไฟฟ้าหรืออะไรที่เป็นสมัยใหม่ แล้วรถยนต์ก็เข้าไปไม่ได้ ต้องเดินเข้าไป นั่งซาเล้งเข้าไป แล้วต้นไม้ก็ไม่มีสักต้นเดียว ห้องแอร์ไม่มีอย่าไปฝัน เพราะว่าต่อให้มีเงินเช่ารถแอร์เข้าไป ก็เข้าไปไม่ได้ ก็คือได้รู้ว่าทุกอย่างชาวนาเค้าเหนื่อยยากขนาดไหน เพราะฉะนั้นทุกคนซึ้งถึงบุญคุณของชาวนา แล้วรู้ว่าข้าวแต่เมล็ดไม่ได้ได้มาง่ายๆ เพราะฉะนั้นหลายคนนะที่ตอนนี้รับประทานอาหารก็รับประทานให้หมดไม่ใช่รับประทานทิ้งๆ ขว้างๆ จริงๆ นะพวกที่มาเล่นเรื่องนี้คือจากนิสัยที่กินทิ้งๆ ขว้างๆ กลายเป็นทานให้หมด ตักแต่น้อยอะไรอย่างนี้ ซึ่งนั่นเป็นสิ่งที่ดีงามมากแล้ว เราว่าแค่ตรงนี้มันก็เป็นสิ่งที่มีคุณค่ามากแล้วสำหรับการทำภาพยนตร์เรื่องนี้”
(http://movie.mthai.com/wp-content/uploads/2014/08/121.jpg)
โดยสรุปแล้วอาจกล่าวได้ว่า คุณค่าของภาพยนตร์ แผลเก่า คือการสะท้อนผ่านแง่มุมวิถีชีวิต วัฒนธรรมพื้นบ้านและการเมือง นี่คือสิ่งที่ หม่อมน้อย ตั้งใจะนำเสนอใช่ไหมครับ
“ยิ่งไปกว่านั้นถ้าจะพูดไป ภาพยนตร์เรื่องนี้ก็เป็นพิพิธภัณฑ์การทำนาของประเทศนี้เลย คือการทำนาทุกขั้นตอนในอดีต โดยที่รักษาทุกอย่างไว้อย่างเหมือนจริงที่สุดซึ่งมันก็ไม่มีอีกแล้ว คือไม่ใช่เพื่อคนรุ่นหน้านะ เพราะแค่คนรุ่นนี้ก็ไม่มีให้เห็นอีกแล้ว เราเองก็ไม่เคยเห็น ถ้าไม่ได้ทำหนังเรื่องนี้ก็จะไม่รู้ เพราะเราเองไม่มีความรู้ในเรื่องนี้ นี่คือคุณค่าของหนัง และที่สำคัญคือเรารักษาความเป็นไทยเอาไว้ที่สุด คือวิญญาณของคนไทยที่อยู่ในตัวละคร บรรยากาศของความเป็นไทยแท้ๆ ที่อยู่ในท้องน้ำหรือลำน้ำ ไม่นับบรรยากาศงานวัด ไม่นับวิถีชีวิตที่บ้าน ทัศนะที่มีต่อกันของพ่อแม่ลูก ขนบธรรมเนียมประเพณีของชาวนาพื้นบ้าน เค้าเป็นยังไง เค้าคิดอะไร เค้าทำอะไรกันบ้าง เค้ามีวิถีชีวิตอย่างไรในยุคนั้นนะครับไม่ใช่ยุคปัจจุบัน ยุคปัจจุบันก็ไม่เหมือนแล้ว ตกกลางคืนก็รวยหมด มีจานดาวเทียม ชาวนาเดี๋ยวนี้ไม่ได้จนแล้ว นอนห้องมุ้งลวดอะไรอย่างนี้ บางบ้านก็มีแอร์ด้วยซ้ำไป เราคิดว่าสิ่งที่มีคุณค่าในเรื่องนี้มีเยอะมาก”
“แม้กระทั่งทางการเมืองก็ตาม มันมีการสะท้อนประชาธิปไตยในเรื่องนี้ด้วย ว่าประชาธิปไตยคืออะไร เพราะเรื่องมันเริ่มต้นในปี 2479 หลังจากการเปลี่ยนแปลงการปกครองได้ไม่กี่ปีเท่านั้น เพราะฉะนั้นเรื่องดำเนินไปในการเปลี่ยนแปลงของประเทศ มีพัฒนาการของกระบวนการทางการเมือง แล้วก็ทัศนะที่นักการเมืองมาเอาเปรียบชาวไร่ชาวนา ซึ่งจริงๆ แล้วมันไม่ได้เขียนเพื่อจะมาเหน็บแนมใครหรืออะไร หรือสะท้อนภาพในปัจจุบัน เพราะว่าบทเขียนตั้งแต่ปีที่แล้วก่อนที่จะมีความขัดแย้งทางการเมืองเกิดขึ้น”
“แล้วความขัดแย้งที่เกิดขึ้นแม้กระทั่งในทุ่งบางกะปิเองก็ตาม ความขัดแย้งระหว่างสองบ้านคือบ้านขวัญคือผู้ใหญ่เขียนกับบ้านเรียมคือกำนันเรือง สองบ้านก็จะแตกต่างกันตรงที่บ้านหนึ่งเป็นสมถะชีวิตพอเพียงก็คือบ้านขวัญ ส่วนบ้านเรียมกำนันเรืองเป็นลูกน้องของพวกทุนนิยม เป็นลูกน้องของคุณหญิงทองคำเปลวพวกนายทุนทั้งหลาย ทำอะไรก็จะเป็นวัตถุเป็นเงินเป็นทอง เพราะฉะนั้นความขัดแย้งมันจะชัดเจนมากระหว่างฝ่ายสมถะกับฝ่ายที่เป็นทุนนิยม เรียมก็เป็นลูกสาวของกำนันเรืองซึ่งเป็นพวกนายทุน แต่เธอมีวิญญาณที่เป็นกบฏและเป็นตัวของตัวเองมากเพราะเป็นลูกสาวกำนัน เป็นคนที่ไม่กลัวใคร เชื่อมั่นในตัวเอง ส่วนขวัญก็จะเป็นลูกของผู้ใหญ่เขียน เป็นฝ่ายธรรมะล่ะมั้ง มีชีวิตพอเพียง มีชีวิตอย่างสมถะมาก บังเอิญลูกสองบ้านมารักกัน แล้วแต่ละฝ่ายก็ Extreme นะ แต่ละฝ่ายก็ยึดถือความถูกของเค้า ผู้ใหญ่เขียนถึงแม้เป็นคนสมถะ แต่ก็ไม่ใช่คนปล่อยวาง ก็เป็นคนยึดในความคิดของตัวว่าคิดแบบฉันถูก กำนันเรืองก็บอกคิดแบบฉันก็ถูก เพราะฉะนั้นสองฝ่ายมันก็เป็นศัตรูกันแล้วก็ไม่มีวันจบวันสิ้น ท้ายสุดมันก็ต้องเสียเลือดเสียเนื้อถึงปรองดองกันได้ ภาพยนตร์เรื่องนี้จะพูดแบบนี้”
(http://movie.mthai.com/wp-content/uploads/2014/08/IMG_1313_resize.jpg)
สุดท้ายนี้ อะไรคือความบันเทิงในแบบ “แผลเก่า” ครับ?
“สิ่งต่างๆ ที่พูดไปมันจะฉากหลังของตัวละคร แต่เรื่องมันจะดำเนินไปด้วยความรักของคนสองคน จะพูดไป ถ้าจะดูภาพยนตร์เรื่องนี้ก็ดูได้หลายระดับนะ ถ้าคิดตามคุณก็จะได้อะไร ถ้าไม่คิดดูเอาความบันเทิงก็เตรียมผ้าเช็ดหน้าไปเช็ดน้ำตากัน มันก็เป็นอย่างนั้น แต่ว่าเช็ดน้ำตาคราวนี้มันไม่ใช่เช็ดน้ำตาแบบเครียด มันจะเช็ดน้ำตาด้วยความประทับใจมากกว่า ก็อย่างที่บอกว่าจุดเริ่มต้นของภาพยนตร์เรื่องนี้เรากับเสี่ยเจียงมองเป็นจุดเดียวกัน คือทำภาพยนตร์ แผลเก่า ให้คนรุ่นใหม่ดู เป็นแผลเก่าสำหรับคนรุ่นใหม่จริงๆ”
ร่วมพิสูจน์ภาพยนตร์ความรักอมตะ ที่ทั้งทรงคุณค่า และช่วยรักษาวัฒนธรรมไทยไปกับ “แผลเก่า” ได้แล้ววันนี้ ทุกโรงภาพยนตร์
(http://movie.mthai.com/wp-content/uploads/2014/08/10367746_10152550023069214_8396336975736592315_n3-358x600.jpg)
———————————