กระทู้เมื่อเร็วๆ นี้

หน้า: 1 2 3 [4] 5 6 ... 10
31
          ความพยายามของ รัน รัน ชอว์ พี่เบิ้มแห่งชอว์ บราเดอร์ ผู้เป็นยักษ์ใหญ่แห่งเอเชียนั้น เป็นที่รู้กันว่าน่าทึ่ง และน่าประทับใจยิ่งนัก

          ชอว์เป็นคนที่ไม่ยอมล้าหลังใคร และแม้จะมีใครออกก้าวนำหน้าไปก่อน เขาก็ไม่ลังเลที่จะก้าวเข้าตามไปด้วยความตั้งใจ ที่จะก้าวให้ขึ้นหน้า

          บริษัท ชอว์ บราเดอร์ ของเขาจึงมิได้สร้างแต่ภาพยนตร์ประเภทเดียวออกสู่ตลาดอย่างซ้ำๆ ซากๆ หากเป็นผู้บุกเบิกสร้างภาพยนตร์มากมายหลายประเภท ทั้งภาพยนตร์รักโศก บู๊ ตลก เพลง ชีวิต คลาสสิค และทั้งการต่อสู้ในแบบของจีน และสากล


          เมื่อปี 1975 ชอว์ฯ ได้คิดสร้างภาพยนตร์อีกประเภทหนึ่ง ที่เขาหวังว่าจะทำให้ชื่อเสียงของชอว์ บราเดอร์ ขจรขจายออกไปในอีกทิศทางหนึ่ง

          ความคิดของชอว์ฯ แม้จะรวดเร็ว และตามสมัย แต่ชอว์ฯ ก็ยังเป็นชอว์ฯ อยู่นั่นเอง คือ เมื่อลงมือทำงานใหม่แล้ว เขาจะไม่เร่งรีบฉกฉวยโอกาสเงิน โอกาสทองที่มองเห็นประตูเปิดอยู่ หากเขาจะพยายามปรับปรุงพัฒนาแนวใหม่ขึ้นมาโดยเฉพาะ

          ดังนั้นความคิดของชอว์ฯ ในปี 1975 จึงใช้เวลาหนึ่งปีกว่าจะพัฒนามาเป็นการผลิตในปี 1976 และจากนั้นเขาใช้เวลาอีกหนึ่งปีสำหรับการสร้าง นี่คือเบื้องหลังที่มาของ “อิทธิฤทธิ์พญางู” (The Snake Prince) 蛇王子 อัศจรรย์ภาพยนตร์มโหฬารพันลึกของชอว์ฯ ที่จะเป็นผู้นำทางภาพยนตร์อีกแนวหนึ่ง มาสู่คอหนังแห่งโลกบันเทิงใน ปี 1977




          ทำไมถึงว่า “อิทธิฤทธิ์พญางู” เป็นอัศจรรย์ ภาพยนตร์มโหฬารของชอว์ฯ ที่จะบุกเบิกแนว ทางใหม่ในปี 1977

          พูดก็พูดเถอะ การสร้างหนังเกี่ยวกับงู หรืออภินิหารของงูนั้น ใครๆ ก็สร้างได้ และสร้างกันมาแล้ว แต่เมื่อเป็นชอว์ฯ สร้าง ก็ต้องเป็นงู และอภินิหารของงู ที่ไม่เหมือนใคร ไม่ว่าจะเป็น งูฝรั่ง งูอินเดีย หรืองูเขมร ชอว์ฯ ทุ่มทุนเฉพาะการสร้างฉากใน "อิทธิฤทธิ์พญางู” นี้ถึง 1,000,000 เหรียญฮ่องกง(หรือราวสี่ล้านสี่แสนบาท) เพื่อให้ “อิทธิฤทธิ์พญางู” เป็นภาพยนตร์ที่เหนือชั้นกว่าภาพยนตร์ยิ่งทั้งปวง

          เงินที่ทุ่มลงไปในฉากหนึ่งล้านเหรียญนี้ ทำให้ได้ฉากเพลงที่ประกอบไปด้วยการเริงระบำ ทั้งของมนุษย์ ทั้งของงูกว่าสิบฉาก ทำให้ได้วิมานรักของพญางู ที่สวยงามน่าตะลึงลาน นอกจากความมโหฬารของฉากแล้ว ชอว์ฯ ยังจัดสรรเงินงบพิเศษ สำหรับปั้นดาราหญิงขึ้นมาได้เป็นดาวรุ่งจำรัสแสงโดยเฉพาะ เช่นเดียวกับที่เคยได้ขึ้น เซียวเหยา ให้ดังเป็นพลุมาแล้วใน “ซูสีไทเฮา”

          เธอคือ หลินเจิ้นฉี(Lin Chen-Chi) 林珍奇 เด็กสาวหน้าหวาน บริสุทธิ์ไร้เดียงสาเหมือนนกคีรีบูน
“เด็กสาวสวยน่ารักเหมือนนกคีรีบูนอย่างนี้ ท่านลองคิดดูสิว่า เธอต้องถูกส่งตัวไปเป็นเมียพญา งู เพื่อแลกกับการที่ชาวบ้านจะได้ฝนมาทำไร่ ทำนา เธอจะทําอย่างไร" เธอจะทำอย่างไร? หลินเจิ้นฉีจะทำอย่างไร แน่นอนคนที่จะบอกได้ก็คือ หลอเฉิน(Lo Chen) 羅臻 ผู้กำกับการแสดงมือหนึ่งของชอว์ฯ เท่านั้น

          แล้วหลอเฉินก็จับคู่ที่เหมาะที่สุดให้แก่ หลินเจิ้นฉี เหมือนดังที่หลีฮั่นเสียงได้จับคู่ให้แก่ เซียวเหยา ใน “ซูสีไทเฮา”
นั่นคือ ตี้หลุง (Ti Lung) 狄龍 พระเอกเงินล้านรูปหล่อของชอว์ฯ เมื่อพระเอกก็หล่อ นางเอกก็สวย ตัวประกอบก็จำเป็นต้องเยี่ยมอีก ไม่อย่างนั้นพระเอกนางเอกก็เต้นไม่ได้ ก็น่าปรบมือให้สำหรับผู้กำกับหลอเฉิน ที่นำเอาดาราดังอย่าง หวังยี่(Wong Yu) 汪禹 แห่ง “ไอ้เณรจอมคา” “จอมเพชฌฆาตเจ้าสิงโต”), เฟนนี่(Fanny Fan Lei) 芬妮 ดาราสาวสวย และเก่อดีหัว(Helen Ko Ti-Hua) 葛荻華 ดาราสาวทรงงาม(มาก) มาร่วมขบวนการ “อิทธิฤทธิ์พญางู” ได้ อย่างเหมาะสมที่สุด


 The Snake Prince (1976) | HD Trailer

          แน่นอน สิ่งที่จำเป็นอย่างที่สุดสำหรับ ภาพยนตร์ประเภท “อิทธิฤทธิ์พญางู” นอกจากจะเป็นฉาก, เพลง และดาราแสดงแสนสวยแล้ว ก็จะต้องเป็นฉากอภินิหารยิ่งใหญ่ ในการนี้ ชอว์ฯ ลงทุนสั่งช่างเทคนิคฝีมือเยี่ยมจากญี่ปุ่นมาสร้างงูยักษ์ขึ้นสามตัว ให้สามารถพ่นได้ทั้งน้ำทั้งไฟ  และยังลงทุนสั่งซื้องูเป็นๆ อีกเป็นพันๆ ตัว ทั้งงูเหลือม, งูเห่า, งูสามเหลี่ยม, งูแมวเซา และงูสารพัดพิษทั้งปวง มาเข้าฉากอันน่าตื่นเต้นสยดสยอง

          เมื่อประกอบสิ่งของ อันล้วนพิเศษเข้ากันได้ดังนี้ จึงเชื่อหัวไอ้เรืองได้ว่า “อิทธิฤทธิ์พญางู” เป็นสุดยอดอัศจรรย์ภาพยนตร์ ที่มโหฬารพันลึกของชอว์ บราเดอร์ ที่จะมาสร้างความพอใจ ให้แก่ผู้ชมได้อย่างคุ้มค่าที่สุด


          ยูเนียนโอเดียน แม้จะต้องผจญกับค่าภาษีใหม่ของรัฐบาล ที่เรียกเก็บสูงลิบลิ่ว แต่ก็เห็นว่า “อิทธิฤทธิ์พญางู” เป็นภาพยนตร์ที่มีคุณค่า สมควรต่อการลงทุนสั่งเข้ามาฉาย ให้แฟนชอว์ บราเดอร์ในเมืองไทยได้ชม จึงได้สั่งด่วนเข้ามาเปิดโปรแกรมพิเศษรอบมิดไนท์ คืนส่งท้ายปีเก่ารับปีใหม่ 1977 และจากนั้นก็กำหนดเป็นโปรแกรมทอง ต่อจาก “ไอ้หนุ่มไซลีฟู” ของฟู่เซิง ที่ครองแชมป์หนังจีนประจำปีใหม่ในกรุงเทพฯ ไปได้อย่างง่ายดาย


=============================
***อิทธิฤทธิ์พญางู ลงโปรแกรมเข้าฉายเมืองไทย เมื่อวันที่ 14 มกราคม 2520(1977)
***บทความ ตีพิมพ์ในนิตยสารโลกดารา ปีที่ 7 ฉบับที่ 162 เดือนมกราคม 2520(1977)
32
ไอ้หนุ่มแต้จิ๋ว ภาค 2(Tornado of Chu-Chiang) 珠江大風暴 โดย ยอดนักเตะ ถันต้าเหลียน(Dorian Tan Tao-Liang) 譚道良

โปรแกรมทองต้อนรับตรุษจีน 10 กุมภาพันธ์ 2518(1975)

ฉลองโรงภาพยนตร์กรุงเกษม ครบรอบ 20 ปี

33
           ยุทธจักรชั้นยอดของจอมดาบหนุ่มเจ้าอารมณ์กับจอมยุทธมีดสั้น ที่จบลงด้วยความสะเทือนใจยิ่ง จากปลายพู่กันของโกวเล้ง นำโดยยอดดาราจอมยุทธของชอว์ บราเดอร์ล้วนๆ ตี้หลุง, เยี๊ยะหัว, เอ๋อตงเซิง, จิงลี่ และหวีอันอัน


           หนึ่งใน 5 เรื่องใหญ่ ที่ชอว์ บราเดอร์ ส่งเข้าประกวดภาพยนตร์เอเชียประจำปีนี้ ที่กรุงเทพฯ ซึ่งเพิ่งผ่านไปสดๆ ร้อนๆ คือเรื่อง “ศึกยุทธจักรหงส์บิน” (The Sentimental Swordsman) 多情劍客無情劍 ภาพยนตร์ยุทธจักรชุด “ศึก” ของโกวเล้ง และฉู่เอี๋ยน ถึงแม้ว่า "ศึกยุทธจักรหงส์บิน" จะพลาดรางวัลเอเซียไปอย่างน่าเสียดาย แต่ในด้านแสงสี และเทคนิคการถ่ายทำ ภาพยนตร์เรื่องนี้ก็ชนะใจคนดูอย่างล้นหลาม เมื่อปรากฏว่าเป็นภาพยนตร์เรื่องเดียวที่มีผู้ดูมากที่สุดเป็นประวัติการณ์

          “ศึกยุทธจักรหงส์บิน” เป็นหนังสือของโกวเล้งเล่มเดียวกับที่ ว.ณ.เมืองลุง ได้นำมาถอดความเป็นภาษาไทยสมบูรณ์ไปแล้วตั้งแต่ปีก่อน ในชื่อว่า “ฤทธิ์มีดสั้น” แต่ที่ทางบริษัท ยูเนียนโอเดียน มิได้นำชื่อเรื่องหนังสือของ ว.ณ.เมืองลุง มาตั้งเป็นชื่อภาพยนตร์ ก็คงจะเป็นเพราะว่าชื่อ “ฤทธิ์มีดสั้น” นั้น คล้ายคลึงกับชื่อภาพยนตร์ของชอว์ บราเดอร์ ยุคเดวิด เจียงกำลังโด่งดังเรื่องหนึ่ง ที่ได้นำออกฉายไปแล้วก็ได้


           เมื่อเป็นหนังสือนั้น "ฤทธิ์มีดสั้น” ของ ว.ณ.เมืองลุง ถอดความได้สะใจดีแท้ จึงครองความเป็นหนังสือขายดีประเภทกำลังภายในไปประจำปี 2519(1976) และยูเนียนโอเดียนก็ทราบความข้อนี้ดี จึงเชิญ ว.ณ.เมืองลุง มาสร้างบทบรรยายภาษาไทยอีกคำรบหนึ่ง
“ศึกยุทธจักรหงส์บิน” เป็นเรื่องที่มีเนื้อหาแปลกไปจากเรื่องของโกวเล้ง ที่ผ่านมาทุกเรื่อง โดยผู้เขียนได้จับเอาจุดอ่อนของนักดาบ มาเป็นเค้าโครงในการประพันธ์ แทนที่จะเป็นเรื่องคุณธรรมของนักดาบ หรือตัณหาความอยากเป็นเจ้ายุทธจักรของนักดาบ อย่างเช่นเรื่อง “ศึกชุมนุมเจ้ายุทธจักร” หรือ “ศึกล้างเจ้ายุทธจักร"

           โกวเล้งได้สร้างยอดนักดาบคนใหม่ขึ้นมา ในเรื่องนี้ให้ชื่อว่า หลี่ฉินฮวน (แสดงโดย ตี้หลุง) ยอดนักดาบผู้นี้ ไม่ถนัดในการใช้ดาบยาวแบบยอดนักดาบคนอื่นๆ หากมีดาบประจำตัวเป็น ดาบเล่มสั้นๆ สอดไส่ฝักไว้ในเสื้อด้านในเป็นตับ ดาบสั้นประจำตัวของหลี่ฉินฮวนนี้ สามารถใช้ ได้อย่างรวดเร็วประหนึ่งนกบินยามต้องการ จึงมีผู้ให้สมญานามดาบสั้นของหลีฉินฮวนว่า “หงส์บิน”


           หลี่ฉินฮวนแม้จะมีฝีมือยอดเยี่ยมในยุทธจักร แต่ก็เป็นคนใจดีและมีคุณธรรม ในชั้นต้นเขามีความรักอยู่กับสาวสวยผู้เป็นลูกพี่ลูกน้องชื่อ หลินซืออัน (แสดงโดย หวีอันอัน) แต่ปรากฏว่าสาวสวยผู้นี้มีผู้หมายมั่นอยู่เป็นอันมาก และหนึ่งในจำนวนนั้นคือ หลงเซียวหยุน (แสดงโดย เยี๊ยะหัว) ผู้มีบุญคุณต่อจอมดาบหงส์บิน หลีฉินฮวนจึงต้องสละรักของเขา ออกเดินทางร่อนเร่ไปเพื่อให้พ้นทางรักของหลงเซียวหยุน
ระหว่างทางของการสัญจรร่อนเร่ หลี่ฉินฮวนได้พบเหตุการณ์ที่จักกะแหล่น จะเอาชีวิตไม่รอดหลายครั้ง แต่เขาก็นับว่าโชคดีที่ได้พบมิตรแท้เข้าสองคน คนหนึ่งเป็นนักดาบพเนจรชื่อ อาเฟย (แสดงโดย เอ๋อตงเชิง) อีกคนหนึ่งเป็นนางสิงห์ยุทธจักรชื่อ หลินเซียนเอ๋อ (แสดงโดย จิงลี่)

           แต่มนุษย์ไม่ว่าจะเป็นนักดาบหรือไม่เป็น ก็หลีกหนีชะตากรรมของตนเองไปไม่พ้น หลงเซียวหยุนเมื่อชิงรักจากหลีฉินฮวนไปได้ ก็หาได้หยุดยั้งตัณหาของตนเองแต่เพียงนั้นไม่ มันยังต้องการทั้งเงิน ทั้งชื่อเสียง อันจะทำให้โลกนักดาบทั้งหมดต้องสยบอยู่แทบเท้ามัน
และก็เพราะตัณหาของมันนี่เอง ที่ทำให้ยุทธจักรนักดาบทั้งหลาย เริ่มรู้ถึงความร้ายกาจของมัน หลงเซียวหยุน ว่าเบื้องหลังหน้ากากอันสวยงามของมันนั้น ที่แท้ก็คือ โจรร้าย


           เพราะหลินซืออัน สาวสวยผู้อาภัพรัก เปิดเผยความลับของมัน นางจึงถูกมัน หลงเซียวหยุน สังหารเสียอย่างโหดเหี้ยม คนที่มันตามล่าต่อมาก็คือ หลี่ฉินฮวน และเพลงดาบของหลงเซียวหยุน มิใช่ชั่ว มันเคยช่วยหลี่ฉินฮวนให้พ้นคมดาบศัตรูมาก่อนแล้ว ทั้งมันยังล่วงรู้ความลับของดาบหงส์บินเสียอีก และทั้งมันยังเตรียมแผนลับแก้ฤทธิ์มีดสั้นของดาบหงส์บินไว้พร้อมแล้ว แน่นอน นี่ย่อมเป็นยุทธจักรครั้งเดือด เด็ดเผ็ดมันที่สุด เท่าที่นักดาบชั้นยอดทั้งหลายเคยจับดาบกันมา และแน่นอนว่าเมื่อศึกยุทธจักรครั้งนี้ เป็นฝีมือของโกวเล้ง บวกฉู่เอี๋ยน และบวกยอดดาราชอว์ฯ (ตี้หลุง, เยี๊ยะหัว, เอ๋อตงเชิง, จิงลี่, หวีอันอัน) ด้วยแล้ว จึงเป็นศึกยุทธจักรที่ ใครหน้าไหนก็มาทาบไม่ได้ และถึงหาญจะมาทาบก็ทาบไม่ติด

           “ศึกยุทธจักรหงส์บิน” จะได้ฤกษ์ลงโรงในเครือบริษัท ยูเนียนโอเดียน เหมือนเช่นเคย ในเร็ววันนี้ ท่านที่พลาดชมจากเทศกาลภาพยนตร์เอเชียเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2520(1977) ก็โปรดได้จองบัตรล่วงหน้าเอาไว้เป็นๆ หนังดีๆ อย่างนี้ ใครๆ ก็อยากชมก่อนเป็นของธรรมดา


=============================
***บทความจากนิตยสารโลกดารา ปีที่ 8 ฉบับที่ 184 ปักษ์แรกเดือนธันวาคม, วันที่ 15 ธันวาคม 2520(1977)
***ภาพยนตร์ "ศึกยุทธจักรหงส์บิน" ปี 1977 เข้าฉายเมืองไทย ลงโปรแกรมทอง ต้อนรับตรุษจีน เมื่อวันที่ 04 กุมภาพันธ์ 2521(1978)
34

           ชอว์ บราเดอร์ และยูเนียนโอเดียน ร่วมกันตัดสินให้ “ไอ้หนุ่มไซลีฟู” (The New Shaolin Boxers) 蔡李佛小子 เป็นภาพยนตร์โปรแกรมเพชรเม็ดโป่ง เปิดศักราชใหม่ 2520(1977) แน่นอนในกรุงเทพฯ

เหตุผลก็คือ “ไอ้หนุ่มไซลีฟู” เป็นภาพยนตร์อร่อยเอร็จเผ็ดในอารมณ์ ที่ฟู่เซิงเชิดเดี่ยวคนเดียว ไม่มีชิกวนชุนมาประกบคู่ เหมือนเรื่องที่แล้วๆ มา


           ฟู่เซิง เมื่อประกบคู่กับชิกวนชุนเดือดเด็ดเผ็ดมันซ่าส์แค่ไหน เมื่อเขาหาญเชิดเดียวก็จะต้องยิ่งมันส์จนต้องเติม “เอส” เข้าไปข้างหลังหลายๆ ตัว

           นอกจากฟู่เซิงจะเชิดเดียวอย่างสาสมในอารมณ์คนดูแล้ว “ไอ้หนุ่มไซลีฟู” ยังมีลักษณะพิเศษอีกสองประการ


           ประการแรกก็อย่างที่กล่าวมาแล้วใน “โลกดารา” ฉบับก่อนว่า เพราะบรมครูจางเชอะได้มอบให้เฉินจือเหลียง ครูมวยชื่อดังเปิดตำราเพลงมวยสำนักเส้าหลินอันเรื่องนาม ค้นพบเพลงมวยใหม่ร้ายกาจชื่อ “ไซ” “ลี” และ “ฟู” อันเป็นเพลงมวยสามเพลง ที่ต้องเล่นสอดประสานกันไปทีเดียวทั้งสามเพลง

           ส่วนประการที่สองที่อุบเอาไว้ นำมาเล่ากันในฉบับนี้ก็คือ "ไอ้หนุ่มไซลีฟู” เป็นภาพยนตร์ที่คู่รักคู่ใคร่นำแสดงร่วมกันเป็นเรื่องแรก
ใช่ - เจนนี่(Jenny Tseng) 甄妮 คนที่ฟู่เซิงหลงไหลคลั่งใคล้เป็นอย่างมาก จนถึงกับประกาศหมั้น และเพิ่งจะฝ่าฟันอุปสรรค์แต่งงานกันไปได้เมื่อเดือนที่ผ่านมาน คือนางเอกใน “ไอ้หนุ่มไซลีฟู”

           เมื่อ “ไอ้หนุ่มไซลีฟู” มีลักษณะพิเศษอย่างนี้ ก็แน่นอนที่แฟนๆ ของฟู่เซิงจะพลาดไม่ได้ แล้วเนื้อเรื่องล่ะเป็นอย่างไร มวยใหม่ของเส้าหลินจะมีเนื้อเรื่องเป็นทำนองเก่า หรือทำนองใหม่ที่บรรเลงกันได้ระยับจับหัวใจ ก็ลองมาฟังกันดู เรื่องมีอยู่ว่าไอ้หนุ่มชื่อ จุเจี้ยน(นำแสดงโดย ฟู่เซิง) เป็นคนขับรถม้า แม้จะต่ำต้ออแต่ก็มีรูปงาม ทั้งจิตใจก็องอาจฉาดฉานนัก เมื่อมีวิชาวิทยายุทธฝึกปรือมาพอตัว ก็ไปเที่ยวแต่หาเรื่องคุ้มกะลาหัวให้คนอื่นอยู่ร่ำไป


           วันหนึ่งเกิดพลาดท่าไอ้พวกมิจฉาชีพเข้าจนได้เมื่อเขาขับรถไปยังที่เปลี่ยว เจอไอ้ชาติชั่วสองตัว กำลังจะรุมฉุดแม่สาวเนื้อนมไข่ไปข่มขืน ก็รีบเร่งลงไปช่วยด้วยความฮึกเหิม

           เพลงมวยที่เหนือกว่าไอ้มหาโจร ในไม่ช้าก็ทำให้ไอ้ชาติวายร้ายสองตัวนั้นต้องสยบจำนน แต่เมื่อจูงเจี้ยนเผลอตัว ยอมอภัยโทษให้ มันก็จ้วงแทงด้วยมีดเข้าที่ท้องแล้ววิ่งหนีไป สาวงามคนนั้นชื่อ ฮวงเม่ยฟัง(นำแสดงโดย เจนนี่) อกสั่นของเธอแม้จะยังสั่นบีบบับ ก็ช่วยประคริงจุนเจี้ยนขึ้นรถม้าแล้วพากลับไปรักษาตัวยังที่ ปลอดภัย

           ไอ้หนุ่มรูปงามเมื่อแผลใกล้จะหายสนิท ก็อดที่จะออกไปหาเรื่องช่วยเพื่อนมนุษย์ ที่ถูกอันธพาลข่มเหง และฉกชิงวิ่งราวต่อไปตามเดิมมิได้ แต่เพื่อนมนุษย์กับเพื่อนบ้านนั้น มันผิดกัน

           เพื่อนบ้านไม่ชอบใจเลย ที่ไอ้หนุ่มออกไปเที่ยวแต่หาเรื่อง เพราะพวกอันธพาลนั้น มันมีมือมีตีนอยู่มากมาก ทั้งยังระดมติดตามเข้ามาต่อยตีกันให้เพื่อนบ้าน และเพื่อนร่วมอาชีพรถม้าต้องเดือดร้อนอยู่ไม่เว้น ทั้งยังมีอยู่วันหนึ่งที่ไอ้หัวหน้าเหล่าร้าย มันมาเจอจูงเจี้ยนกำลังราวี ไล่ต่อยที่ลูกน้องของมันอย่างมันมือ มันก็เข้ามาขวาง แล้วสอนสวยให้จูงเจี้ยนเสียแทบกระอักเลือด


           เมื่อหอบสังขารไปหาครูมวยเก่า ที่สอนตัวมา ครูมวยก็ว่าวิชาครูก็ได้ถ่ายให้แก่เข้าจนหมดแล้ว สุดที่จะหาตำราที่ไหนมาเปิดให้อีกได้ ถ้าเจ้าอยากแก้แค้น ก็จงไปหาครูมวยที่ มีวิชาสูงกว่าอาจารย์เถิด

           จุงเจี้ยนได้ฟังก็กราบลาครูเก่าออกไปหา อาจารย์ใหม่ และได้ฝึกเพลงมวยกังฟูในสำนัก “ใซ” “ลี” “ฟู” อันเป็นเพลงมวยกังฟูภาคพิสดาร ด้วยความมีน้ำอดน้ำทน จนกระทั้งสำเร็จ จึงลาพระอาจารย์กลับบ้านกลับเมือง

           เมื่อกลับมาถึง ไอ้หนุ่มรถม้าก็ได้ข่าวร้ายทันที ครูมวยเก่าผู้น่าสงสารถูกหัวหน้าเหล่าร้ายถล่มเสียรากเลือดตายไปเสียแล้ว ชาวบ้านก็เดือดร้อนเพราะอันธพาลไปทุกหย่อมหญ้า เมื่อเลือดตกท้องช้างกันยังงี้ มันก็ต้องใช้หนี้เลือดกันไปตามระเบียบ ว่าแล้วไอ้หนุ่มรถม้าซึ่งได้วิชาดีมาจนกลายเป็น "ไอ้หนุ่มไซลีฟู” ก็เริ่มบรรเลงเพลงราวีกับเหล่าร้ายอย่างเดือดเด็ดเผ็ดมันยิ่ง กว่าเรื่องใด ตอนใด สมัยใด ที่มันได้เคยราวีมาแล้วทั้งสิ้น

           แน่นอน ความเดือดเด็ดเผ็ดมันหยั่งที่ว่านี้ มันบรรเลงให้เห็นเป็นตัวหนังสือในที่นี้กันมิได้ ก็ต้องไปสัมผัส และขบเคี้ยวมันเอาเอง
ก็เลือกเอาตามสบายพระเดชพระคุณ เพราะ “ไอ้หนุ่มไซลีฟู” จะเข้าสำแดงฤทธิ์อิทธิเดช พร้อมกัน 5 โรงดังกลางกรุงเทพฯ ที่ วอร์เนอร์ สีลม, นิวโอเดียน สามแยก, เทียนกัวเทียน เยาวราช, เซ็นจูรี่ พญาไท และ ศรีเยาวราช ที่เยาวราช ตั้งแต่รอบเที่ยงวัน พฤหัสบดีที่ 30 ธันวาคมนี้ เป็นต้นไป สำหรับ คืนวันที่ 31 เพิ่มรอบดึก 21.45 อีกหนึ่งรอบ

           ส่วนรอบพิเศษคืนส่งท้ายปีเก่ารับปีใหม่ ยูเนียนโอเดียนจะนำภาพยนตร์ใหม่เอี่ยมของ ตี้หลุง, หวังยี่ และหลินเจิ้นฉี ออกมาให้ชมในรอบ มิดไนท์เที่ยงคืน และรอบตีสอง


=============================

***บทความจากนิตยสารโลกดารา ปีที่ 7 ฉบับที่ 161 ปักษ์หลัง 30 ธันวาคม 2519(1976)
35

          ภาพยนตร์แนวกังฟูยุทธจักรของชอว์ฯ มาสู่โลกแห่งการทรงเจ้า และเสกมนต์ขลังหนังเหนี่ยว ทำเงินเป็นสถิติมิดไนท์ สองเสาร์ซ้อนในกรุงเทพฯ
นำโดย หวังยี่(Wong Yue) 汪禹 คู่แข่งของหวังหยู่ และตี้หลุง-เฉินกวนไถ้ มาสาธิตวิชาลงเลข ลงยันต์ฟันแทงไม่เข้าอย่างสวยอร่อย

          ในวงการบู๊ลิ้มของหนังจีน "ชอว์ บราเดอร์ " คือ ผู้บุกเบิกในทุกอิริยาบถ นับแต่หนังประวัติศาสตร์ลือชื่อ อย่าง “จอมใจจักรพรรดิ์” หนังยุทธจักรบันลือลั่นอย่าง “หงส์ทองคะนอง ศึก”, “ดาบไอ้หนุ่ม” และหนังกังฟูประลัยกัลป์อย่าง “ผู้ยิ่งใหญ่แห่งเขาเหลียงซาน”

          บัดนี้ชอว์ฯ เป็นผู้นำอีกแล้ว ในการนำเอาวิชาเชิญเจ้าเข้าทรงเสกมนต์ขลังเหนียว ที่จีนเคยมีมาแต่โบราณ ก่อนสมัยที่ฝรั่งจะยกโขยงเรือปืน เข้ามาทำสงครามฝิ่นกับจีน มาสร้างเป็นภาพยนตร์แนวใหม่ ที่กำลังวิ่งฉิวลิ่วลมเข้าสู่ความนิยมของคนดู

          ภาพยนตร์ประวัติศาสตร์ยิ่งใหญ่เรื่อง “ซูสีไทเฮา” ที่ได้รับความนิยมสูงสุดเมื่อปีที่แล้ว ถึงกับชอว์ฯ ต้องสร้างภาค 2 ต่อในปีนี้ ก็มีการสาธิตให้เห็นถึงความเชื่อถือของจีนโบราณ ในเรื่องการอยู่ยงคงกะพัน แต่เรื่องที่ชอว์ฯ เจาะจงสร้างโดยเฉพาะก็คือ เรื่อง “ไอ้เณรจอมคาถา" (The Spiritual Boxer) 神打 (1975)


          “ไอ้เณรจอมคาถา” เป็นเรื่องของนักมวยทรงเจ้าสมัยต้นศตวรรษของจีน ที่นายรันมี่ ชอว์ พี่ชายของรันรัน ชอว์ มอบหมายให้ ครูมวยชื่อดัง คือ หลิวเจียเหลียง(Liu Chia-Liang) 劉家良 ผู้สร้างฉากบู๊บันลือโลก ให้จางเชอะมาเป็นสิบๆ เรื่อง จุติมากำเนิดในโลกผู้กำกับการแสดงเป็นเรื่องแรก

          หลิวเจียเหลียง เมื่อได้อำนาจสิทธิขาด ในการบุกเบิกหนังเวทมนต์คาถา เขาก็เตรียมการยิ่งใหญ่ โดยให้ อี้กวง(เหง่ยคัง)-นักเขียนบทหลายรางวัล ผู้ป้อนผลงานให้จางเชอะ และชอร์ฯ มาตลอด เป็นผู้เขียนเรื่องและฉาก และดึงเอาตัว หวังยี่(Wong Yue) 汪禹 ดาราหนุ่มฉกรรจ์ ที่ชอว์ฯ ส่งเข้าแสดงชิมลางในหนังใหญ่มาแล้วหลายเรื่อง เช่น “รสสวาทถิ่นนางโลม” และ “แตกสาว” มารับบทพระเอกเป็นตัว “ไอ้เณรจอมคาถา” หรือไอ้เณรตัวแสบเลยทีเดียว ส่วนนางเอกเขาก็คัดเอากะทิสดรสใหม่ของชอว์ฯ มากินเสียทีเดียวกันเลย คือเอาตัวหลินเจิ้นฉี(Lin Chen-Chi) 林珍奇 เด็กสาวหน้าเข้มตาคม มารับบทเป็นอีหนูจอมแก่น

          เมื่อได้มือเอกๆ มาช่วยกันฉะนี้ “ไอ้เณรจอมคาถา” ในความฝันของหลิวเจียเหลียง ก็เป็นรูปเป็นร่างขึ้น แต่ยังก่อนเขาไม่ลืมคนสำคัญอีกคนหนึ่งในวงการสร้าง นั่นคือผู้กำกับฝ่ายศิลป์ ซึ่งมีความสำคัญเป็นอันมาก ในการเสริมฝีมือยอดเยี่ยมในด้านต่างๆ ให้มองดูเด่นชัดถนัดดา ในสายตาของคอหนัง ตำแหน่งนี้เห็นจะไม่มีใครเกิน จอห์นสัน เฉา(Johnson Tsao Chuang-Sheng) 曹莊生 ผู้มีฝีมือระบือในยุทธจักร จากนั้น “ไอ้เณรจอมคาถา” ก็เริ่มบุกตะลุยปานสายฟ้าแลป ตามเนื้อเรื่องที่พอสรุปได้ ดังนี้


          สมัยที่หอกดาบแหลนหลาวยังเป็นอาวุธสำคัญของจีนอยู่นั้น ก็เกิดมีอาจารย์ดีทางหนังเหนียวและเชิญเจ้าเข้าทรงเกิดขึ้นมาก รายทั้งรายของจริงและรายของปลอม จื้อเฉียง(นำแสดงโดย เจียงหยาง) ได้ชื่อว่าเป็นอาจารย์ชั้นดีคนหนึ่ง แต่ก็ขี้เมาไม่เอาไหน เขามีลูกศิษย์ไอ้เณรอยู่คนหนึ่งชื่อ เสี่ยวเซียน(นำแสดงโดย หวังยี่) วันหนึ่ง จื่อเฉียงเมาพับหลับไป มีชาวบ้านกลุ่มใหญ่ มาขอร้องให้ไปเชิญเจ้าเข้าทรงในหมู่บ้าน เพื่อให้พืชผลในไร่นาสมบูรณ์ดี เสี่ยวเซียนได้ท่า จึงอาสาไปทำพิธีเอง แล้วก็เชิญเห้งเจียมาเข้าทรง ได้แสดงอภินิหารเป็นจอมลิงยิงฟันไม่เข้า

          จนชาวบ้านเชื่อถือ แต่แล้วก็ถูกฝ่ายตรงข้าม จ้างนักเลงดีมาล้มพิธี ทำเอาเสี่ยวเซียนต้องหนีล้มลุกคลุกคลานออกนอกเมืองไป เมื่อเสี่ยวเซียนหนีไปจะหลบอยู่อีกเมืองหนึ่ง ก็เกิดไปมีเรื่องกับสมุนอันธพาลเจ้าถิ่นเข้าอีก อาศัยที่เสี่ยวเซียนมีฝีมือพอตัว เพราะฝึกฝนกับอาจารย์มาไม่น้อย จึงเอาตัวเข้าสู้ได้ไม่ถอย แต่ทว่าเจ้าถิ่นที่ชื่อ หลิวซื่อซุ่ย (นำแสดงโดย สือชงเถียน) นั้นฝีมือมันเหลือรับ เสี่ยวเซียนแทบจะวางวายอยู่แล้ว ก็พอดีได้อีหนูจอมแก่นชื่อ จินเหลียน(นำแสดงโดย หลินเจิ้นฉี) มาช่วยเอาไว้




          แต่ศึกเมื่อมันระเบิดขึ้นแล้ว มันจะยุติลงได้ทันทีทันควันนั้นอย่าหมาย เสี่ยวเซียนถูกติดตามกระหน่ำหนักจนสะบักสะบอม เพราะเหล่าร้ายฝีมือมันร้ายสมชื่อ ก็พอดีอาจารย์จื้อเฉียงติดตามมา พร้อมทั้งไหเหล้า และแนะนำกลเม็ดอาวุธลับที่จะเอาชนะพวกเหล่าร้ายให้ได้

          ฉากสำคัญของ “ไอ้เณรจอมคาถา” มีอยู่หลายตอนด้วยกัน ที่ทำเอาวงการบู๊ลิ้มต้องฮือลุกขึ้นยืนจากที่นั่งชม ที่มันย่องจนเซียนมวยต้องมองไม่กระพริบก็คือ ฉากไตเติ้ลหนัง ซึ่งหลิวเจียเหลียง-ครูมวยชื่อดังได้ขอแรงลูกศิษย์เอกในจอเงินสองคนคือ ตี้หลุง และเฉินกวนไถ้ มาสาธิตวิชาหนังเหนียวให้ชมกัน ฉากนี้ฉากเดียวก็คุ้มค่าเงินค่าดูสิบห้าบาทแล้ว

          คอหนังที่หลากเข้าชม “ไอ้เณรจอมคาถา" เพราะตัวหมดเมื่อรอบมิดไนท์ ซึ่งฉายกันสองครั้งสองครามาแล้ว กรุณาอดใจคอยชมรอบปกติ ซึ่งจะเปิดฉายในเครือยูเนียนโอเดียนเร็วๆ นี้

=============================
***"ไอ้เณรจอมคาถา" ลงโปรแกรมฉายในเมืองไทย เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2519(1976)
***บทความจากนิตยสารโลกดารา ปีที่ 6 ฉบีบที่ 146 ปักษ์หลังของเดือนกุมภาพันธ์, 29 กุมภาพันธ์ 2519(1976)
36

หลิวเจียเหลียง (1936 - 2013)

           คงไม่ช้าไปนัก หากจะขอไว้อาลัยแก่ยอดกังฟูผู้นี้ วัย 76 “หลิวเจียเหลียง” สิ้นลมอย่างสงบด้วยโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว หลังทนทุกข์และต่อสู้กับมันมายาวนาน ขอให้เขาไปสู่สุคติ นี่คือคำพูดของเหล่าแฟนภาพยนตร์ที่พร้อมใจกันเปล่งออกมาในพิธีศพที่จัดขึ้นอย่างสมเกียรติ ณ เกาะฮ่องกง บ้านเกิดของหลิวเจียเหลียง

           การจากไปของหลิวเจียเหลียง ไม่แพ้นำความโศกเศร้ามาสู่แฟนภาพยนตร์ ทว่ายังถือเป็นความสูญเสียบุคลากรวงการภาพยนตร์ฮ่องกงคนสำคัญอีกราย  แม้ตัวตาย แต่ผลงาน “เก่าเก็บ” ผลงาน “ขึ้นหิ้ง” ตลอดจนผลงาน “ต้องดู” ของหลิวเจียเหลียงยังคงอยู่ และจะอยู่คู่โลกภาพยนตร์ฮ่องกงไปตราบนานเท่านาน ยิ่งเฉพาะในหมู่มิตรรักกังฟู เขาคือเทพแห่งกังฟูโดยแท้

           จากสตันต์แมนเดนตาย ผันตัวมาเป็นผู้กำกับคิวบู๊ สู่ยอดผู้กำกับภาพยนตร์ระดับตำนาน เส้นทางชีวิตในวงการของหลิวเจียเหลียงที่น่าติดตาม


           ยุค 60 เป็นต้นมา เขาส่งผลงานทยอยออกฉาย แววดาวเจิดจรัสถูกฉาบไว้ภายใต้ดวงตาที่มุ่งมั่น สะท้อนความเป็นตัวตนได้ดี เบื้องหน้าภาพยนตร์บู๊หลายต่อหลายเรื่องล้วนมาจากความทุ่มเทแรงกายและหัวใจของหลิวเจียเหลียงทั้งสิ้น

          “ไอ้เณรจอมคาถา” กลายเป็นจุดเริ่มอาชีพผู้กำกับของหลิวเจียเหลียง แม้ภาพยนตร์จะไม่โดดเด้งอะไรมาก แต่ก็เป็นต้นแบบให้เกิดภาพยนตร์ชุด “ผีกัด” ตามมาอีกเป็นพรวน

           “ถล่มเจ้าระฆังทอง” ผลงานที่สร้างชื่อให้หลิวเจียเหลียงเปรี้ยงปร้าง ถือเป็นภาพยนตร์กังฟูสุดฮิตในยุคนั้น ด้วยเพราะภาพยนตร์เล่าถึงจอมยุทธ์ต้นกำเนิดมวยสายหงกวนอย่าง “หงซีกวน” ปรมาจารย์ด้านหมัดมวย


           อีกเรื่องก็ดังไม่แพ้กัน “ยอดมนุษย์ยุทธจักร” ที่นำวัดเส้าหลินมาเชื่อมโยงกับพล็อตเรื่อง บรรยากาศการต่อสู้และความเป็นเหตุผล ดูน่าเชื่อถือ ไม่ได้เน้นกำลังภายในมากไป นั่นจึงทำให้มีเสียงขานรับจากแฟนๆ อย่างล้นหลาม กระทั่งฮอลลีวูดซื้อไปฉายในชื่อ Master Killer ก็ยังกรี๊ดดดดดด

           ผลงานที่เรียกว่าน่าสนใจและควรค่าแก่การยกนิ้วให้ คงหนีไม่พ้น “จอมเพชฌฆาตเจ้าสิงโต” ที่เล่าเรื่องชีวิตในช่วงต้นของ “หวงเฟยหง” กับการฝึกฝนวิชามวยหงกวน ว่ากันว่าเป็นภาพยนตร์กังฟูเรียบง่าย ทว่าหนักแน่นและจริงใจ

           ยังไม่หมดแค่นี้ ผลงานเด็ดดวงของหลิวเจียเหลียงยังมีอีกเพียบ อาทิ “จอมเพชฌฆาตเจ้าสิงโต” “ถล่มสำนักสิงห์กวางตุ้ง” “คุณย่ายังสาว” “ไอ้หนุ่มมวยจีน” “18 เจ้าอาวุธมหาประลัย” รวมถึงผลงานในยุคหลังที่หลายคนยังจดจำไม่ลืม ซึ่งเขามีโอกาสร่วมงานกับนักแสดงชั้นนำของฮ่องกง เช่นว่า “โจวเหวินฟะ” ใน “โหดทะลุแดด” “เฉินหลง” ใน “ไอ้หนุ่มหมัดเมา 2”

           ด้วยปัญหาสุขภาพ หลิวเจียเหลียงแทบไม่ได้ทำภาพยนตร์อีกเลย ถือเป็นยุคโรยราตามสังขาร แต่เขาก็ยังมีผลงานส่งท้ายก่อนจะเสียชีวิต “ไอ้หนุ่มหมัดเมา ภาคหมัดวานร” และได้ร่วมแสดงนำ พร้อมนั่งแท่นผู้กำกับคิวบู๊ ในภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์ของผู้กำกับดัง “ฉีเคอะ” “เจ็ดกระบี่เทวดา”

           หากถามถึงความเด่นในภาพยนตร์ของหลิวเจียเหลียง แน่นอนว่าทุกๆ ผลงานของเขามักพูดถึงความสัมพันธ์ระหว่างศิษย์กับอาจารย์ การฝึกตัวเองอย่างหนักก่อนจะก้าวไปสู่ยอดจอมยุทธ์ ตัวละครที่หลิวเจียเหลียงปลุกปั้นขึ้นมา ไม่ใช่แค่ตัวละครบ้าคลั่งกังฟู แต่มันคือตัวละครที่เปี่ยมไปด้วยมุมมอง แง่คิด เรื่องความอุตสาหะ ความเพียร การเอาชนะใจตัวเอง



บทบาทผู้กำกับคิวบู๊

           สำคัญกว่านั้น กังฟูที่เขานำมาใส่ในภาพยนตร์ก็ไม่ได้มุ่งแต่จะห้ำหั่นกันอย่างเอาเป็นเอาตาย แต่เป็นการสะท้อนความคิดอันหลักแหลม ที่พยายามจะสอดแทรกความดีความเลวไว้ในภาพยนตร์โดยผ่านใช้กังฟูเป็นช่องทางการสื่อสารกับผู้ชม

           วันนี้แม้ไม่มีหลิวเจียเหลียง แต่เชื่อเหลือเกินว่า เขาไม่ได้จากไปไหนไกล เพราะผลงานระดับตำนานของเขายังอยู่ อีกทั้งความยิ่งใหญ่ในฐานะนักสู้ตัวพ่อ ยอดกังฟูขั้นเทพ หลิวเจียเหลียงแสดงให้คนรุ่นลูกรุ่นหลายได้ประจักษ์แล้วว่า เขาคือตัวจริง และเขายังจะอยู่ในใจแฟนๆ มิรู้คลาย

           เกิด 28 ก.ค. 1936 ที่กว่างโจว ก่อนจะย้ายมาพำนัก ณ เกาะฮ่องกง เป็นลูกชายของ “หลิวชาน” ครูมวยหงกวนผู้ช่ำชอง ที่รับสืบทอดวิชามวยมาจาก “หวงเฟยหง” จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่เขาเองจะได้หัดเรียนมวยตั้งแต่อายุแค่ 5 ขวบ แต่งงานกับเพื่อนนักแสดง “องชิ่งจิง” ซึ่งตอนนี้ผันตัวไปเป็นนักกฎหมาย มีลูกสาวด้วยกัน 2 คน

แม้จะเสียชีวิตไปแล้วแต่ "หลิวเจียเหลียง" ก็ฝากผลงานเอาไว้มากมาย ตั้งแต่งานสมัยเป็นผู้กำกับคิวบู๊อย่าง "เดชไอ้ด้วน" ที่ทุกคนรู้จักกันดี แต่หากจะพูดถึงงานประเภท "ต้องดู" แล้ว ก็ต้องกล่าวถึงงานที่เขากำกับเองเป็นหลัก ... เพราะเป็นหนังที่มีเนื้อหาลึกซึ้ง, กล่าวถึงศิลปะป้องกันตัวของจีนในหลากหลายแง่มุม และที่สำคัญหนังของเขายังสนุกมาก ๆ ด้วย


       โดยพื้นฐานหนังกังฟูมักจะว่าด้วยเรื่องราวของการต่อสู้ เหตุการณ์ในหนังวนเวียนอยู่กับการล้างแค้น ส่วนใหญ่มีความรุนแรงอยู่พอสมควร และมักจะลงเอยด้วยการฆ่าแกงกัน ... แต่งานหลาย ๆ เรื่องของปรมาจารย์อย่าง "หลิวเจียเหลียง" กลับให้มุมมองอีกอย่างของคำว่าศิลปะป้องกันตัว ด้วยการเล่าเรื่องราวกังฟูที่ไม่ได้เกี่ยวกับการเอาชีวิตกัน
       
       หลังทำงานตั้งแต่เป็นตัวประกอบ, สตั้นแมน และ ผกก. คิวบู๊ หลิวเจียเหลียง เริ่มต้นชีวิตเป็นผู้กำกับเต็มตัวในปี 1975 ตอนที่เขามีอายุได้ 31 ปี ด้วยหนังเรื่อง "ไอ้เณรจอมคาถา" ซึ่ง ก็ต้องยอมรับว่าไม่ได้โดดเด่นอะไรมาก แต่อย่างน้อยหนังที่ว่าด้วยกังฟูผสมไสยศาสตร์เรื่องนี้ ก็กลายเป็นต้นแบบให้กับหนังชุด "ผีกัด" รวมไปถึงหนังกังฟู ตลกที่ดังสุด ๆ ในยุคต่อมา นอกจากนั้นก็ยังเป็นงานที่เขาส่งให้ศิษย์น้องที่ชื่อว่า หลิวเจีย ฮุย ให้ดังขึ้นมา จนทั้งคู่กลายเป็น ผู้กำกับ-พระเอก คู่บุญกันไปอีกหลายปี


ตำนาน "เส้าหลิน" และ มวย "หงกวน"
       
       แต่หากจะพูดถึงงานที่ทำให้อาชีพผู้กำกับของ หลิวเจียเหลียง มั่นคงขึ้นมาทันที ก็คือ "ถล่มเจ้าระฆังทอง" (1977) หนังกังฟูสุดฮิต ที่เล่าถึงจอมยุทธต้นกำเนิดมวยสายหงกวน อย่าง "หงซีกวน"
       
       ถล่มเจ้าระฆังทอง จับเอาเหตุการณ์ในสมัยเฉียนหลง ที่เหล่าชาวฮั่นโดนกวาดล้างหนัก ฐานที่มั่นสำคัญอย่างเสาหลินโดนเผาจนราบ หงซีกวน (เฉินกวนไท้) ที่เอาชีวิตรอดมาได้ ต้องต่อสู้กับศัตรูตัวร้ายอย่างนักพรตคิ้วขาว "ไป๋เม่ย" (สวม บทอย่างยอดเยี่ยมโดย หลอลี่) ที่ฝึกฝนหนักแค่ก็ยังพ่ายแพ้ ถึงขั้นโดนสังหาร จนต้องให้ลูกชายคือ หงเหวินติง (หวังยี่) มารับหน้าที่สืบสานต่อหน้าที่แทน


บู๊กับ เฉินหลง ใน ไอ้หนุ่มหมัดเมา 2

       หลังจากนั้นเขายังดังสุด ๆ กับ "ยอดมนุษย์ยุทธจักร" (1978) หนังเกี่ยวกับวัดเส้าหลิน ที่ฝรั่งยังกรี๊ดเมื่อถูกซื้อลิขสิทธิ์ไปฉายในสหรัฐฯ ด้วยชื่อ Master Killer
       
       แต่งานในยุคแรกของ หลิวเจียเหลียง ที่ถือว่าน่าสนใจที่สุด และสมควรจะกล่าวถึงเป็นพิเศษก็คือ "จอมเพชฌฆาตเจ้าสิงโต" (1976) หนังที่เล่าเรื่องชีวิตในช่วงต้นของปรมาจารย์ หวงเฟยหง กับ การฝึกฝนวิชามวย "หงกวน" จากอาจารย์ของบิดาที่ชื่อว่า ลู่ อาไฉ (เฉินกวนไท้) เป็นหนังกังฟูเรียบง่ายแต่หนักแน่น และจริงจัง เนื้อหาพูดถึงการเติบโตของจอมยุทธ์ จากเด็กหนุ่มที่ไม่เคยฝึกมวยมาก่อน จนกลายเป็นจอมยุทธขึ้นมาได้ ด้วยการเล่าเรื่องที่น่าเชื่อถือและลึกซึ้ง กับเนื้อเรื่องที่คล้าย ๆ กับ "ไอ้หนุ่มหมัดเมา" แต่ตัด เรื่องการดื่มเหล้า และความตลกออกไป
       
       งานของ หลิวเจียเหลียง มักจะพูดถึงความสัมพันธ์ของศิษย์กับอาจารย์ และเรื่องราวการฝึกตนของตัวละคร ไม่ใช่แค่การเรียนรู้ฝึกฝนยอดวิชาอันไร้เทียมทาน แต่ยังรวมถึงการอุตสาหะเอาชนะความยากลำบาก แลพัฒนาจิตใจของตัวละครด้วย
       
       และที่สำคัญ จอมเพชฌฆาตเจ้าสิงโต ยังมีเนื้อหาที่ไม่ค่อยได้เห็นนักในหนังกังฟูทั่วไป คือ เนื้อเรื่องที่ว่าด้วยการให้อภัยกัน เมื่อในตอนท้ายของเรื่องตัวละครเอกที่เพียรฝึกวิชาเพื่อแก้แค้นแทนผู้มีพระ คุณ ที่ถูกสังหารอย่างโหดเหี้ยม กลับลงเอยด้วยการปล่อยวางความแค้น เป็นฉากที่แทบไม่ปรากฏอยู่ในหนังแนวนี้เลย
       
       หลิวเจียเหลียง เป็นนักบู๊ที่ฝึกมวยมาจริง ๆ เป็นเลือดเนื้อเชื้อไขของ หลิวชาน ศิษย์ของ หลิน ซื่อหยง ซึ่งเป็นลูกศิษย์ของหวงเฟยหงอีกต่อหนึ่ง จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่เขาจะทำหนังที่ว่าด้วยมวยตระกูลหงกวน และสายเส้าหลินได้ดีเป็นพิเศษ
       
       มวยตระกูลนี้แม้จะตั้งชื่อตาม หงซีกวน แต่ก็ไม่ได้มีบันทึกที่ชัดเจนเกี่ยวกับวีรบุรุษแห่งเส้าหลินผู้นี้อยู่สัก เท่าไหร่ ปรมาจารย์ต้นสายของ หงกวน ที่พอจะสืบค้นได้ก็เห็นจะเป็น ลู่อาไฉ ตัวละครเอกตัวหนึ่งใน จอมเพชฌฆาตเจ้าสิงโต ซึ่งถือว่าเป็นอาจารย์ของหวงเฟยหง และยังเป็นอาจารย์ปู่ทวดของ หลิวเจียเหลียง ด้วย
       
       ชีวประวัติเรื่องราวของ ลู่อาไฉ คือสิ่งที่ หลิวเจียเหลียง พยายามจะดัดแปลงเป็นภาพยนตร์ให้ได้ แต่เพราะในช่วงท้ายของชีวิตสุขภาพของเขาทรุดโทรมไปมา ความตั้งใจดังกล่าวจึงไม่สามารถทำให้บรรลุผลได้ แม้จะน่าเสียดาย แต่อย่างน้อย จอมเพชฌฆาตเจ้าสิงโตที่ หลิวเจียเหลียง ฝากเอาไว้ ก็ถือว่ายิ่งใหญ่เพียงพอแล้ว
       
กังฟูไม่ได้เอาไว้ฆ่ากัน
       
       และไม่ใช่เฉพาะ "จอมเพชฌฆาตเจ้าสิงโต" เท่านั้น หากจะย้อนกลับไปดูบรรดาหนังยุคคลาสสิกของผู้กำกับระดับตำนาน หลิวเจียเหลียง จะพบว่ามีอยู่หลายเรื่องที่มีเนื้อหาที่แตกต่างจากหนังกังฟูจำนวนมาก เพราะไม่ได้มุ่งไปถึงเรื่องฆ่าฟัน แม้บทบู๊จะยังโดดเด่นดูมันส์ สนุกตื่นเต้นเหมือนเดิมก็ตาม
       
       "ถล่มสำนักสิงห์กวางตุ้ง" (1978) เป็นหนังที่ หลิวเจียเหลียง เล่าถึงชีวิตวัยหนุ่มของ หวงเฟยหง อีกครั้ง ในท้องเรื่องที่ว่าด้วยความขัดแย้งของสองสำนักกังฟูประจำเมือง ซึ่งก่อเรื่องวิวาทกันอยู่เป็นประจำ และหนึ่งในนั้นก็คือสำนักของ หวงเฟยหง นั่นเอง
       
       ความบาดหมางระหว่างสำนักมวยทั้งสอง บานปลายถึงขั้นกลายเป็นเรื่องใหญ่โต และไม่มีทีท่าว่าจะหาข้อยุติได้ง่าย ๆ จนเมื่อสำนักคู่อริไปได้ยอดฝีมือจากทางเหนือมาเป็นกำลังสำคัญ ฝ่ายของ หวงเฟยหง ก็ดูจะลำบากขึ้นมาทันที
       
       นอกจากคิวบู๊มัน ๆ แล้ว ถล่มสำนักสิงห์กวางตุ้ง ยังพูดถึงความเป็นไม้เบื่อไม้เมากันระหว่างคนภาคเหนือแถบปักกิ่ง กับคนไต้ในกวางตุ้งได้น่าสนใจดี และมีบทสรุปจบท้ายในแง่บวก ที่ให้ตัวละครสามารถเอาชนะความแตกต่างเรื่องวัฒนธรรม จนสามารถปรองดองกันได้ในที่สุด
       
หลิวเจียเหลียง ยังมีงานที่เป็นหนังกังฟูประเภทที่ไม่มีบรรยากาศของการฆ่าฟันอะไรเลย แบบนี้อยู่อีกหลายเรื่อง


ผลงานเรื่องสุดท้ายในชีวิต

       "คุณย่ายังสาว" (1981) เล่าถึงสาวสวย (ฮุ่ยอิงหง) ที่แต่งเข้าตระกูลใหญ่ กลายเป็นภรรยาของเจ้าตระกูล แต่สามีสูงวัยกลับตายไปตั้งแต่ก่อนเธอจะเข้าบ้าน และได้พบหน้าเขาด้วยซ้ำ จนเธอต้องกลายเป็นม่ายทันทีที่เดินทางมาถึงบ้านของฝ่ายชาย แถมยังต้องใช้วิชากังฟูของตัวเอง มาช่วยแก้ปัญหาความขัดแย้งแย่งสมบัติในตระกูลอีก
       
       ส่วน "ไอ้หนุ่มมวยจีน" (1980) เป็นหนังที่ว่าด้วยความรักความเกลียดของ จีนกับญี่ปุ่น แต่นำเสนอในมุมมองเบา ๆ ไม่ได้จงเกลียดจงชังอยู่ร่วมโลกกันไม่ได้เหมือนหนังจีนบางเรื่อง หนังพูดถึงหนุ่มกังฟูที่ถูกจับแต่งงานกับสาวญี่ปุ่น และต้องไปพิสูจน์ฝีมือว่าตัวเองคู่ควรกับเธอ ด้วยการประลองกับยอดฝีมือของญี่ปุ่นถึง 7 คน เป็นหนังที่ต้องบอกว่าแทบไม่มีใครตายให้เห็นเลย

แต่ทั้งหมดทั้งมวลของหนังโดย หลิวเจียเหลียง ที่มีน้ำเสียงต่อต้านความรุนแรง, ให้มุมมองที่แตกต่าง ไม่ได้นำเสนอกังฟูในฐานะวิชาแห่งการฆ่ากันก็คือ "18 เจ้าอาวุธมหาประลัย"  (1981)
       
       หนังเล่าถึงเหตุการณ์ในช่วงสมัยซูสีไทเฮา เมื่อช่วงก่อนจะเกิดความโกลาหลในเหตุการณ์ "กบฏนักมวย" เล็ก น้อย ที่ราชสำนักชิงได้มีคำสั่งให้เหล่าสำนักมวยมาเป็นกำลังให้กับราชสำนักเพื่อ ต่อต้านชาวต่างชาติ แต่แล้วยอดฝีมือคนหนึ่งกลับเลือกยุบสำนักสาขาของตัวเองทิ้งแบบไร้สาเหตุ จนต้องมีการส่งคนเข้าไปสืบสาวราวเรื่อง
       
       หนังเฉลยว่ายอดฝีมือคนนี้ (หลิวเจียเหลียง สวมบทบาทเอง) ได้เกิดคำถามในใจว่าวิชามวยของตัวเอง กำลังจะตกเป็นเครื่องมือของราชสำนัก ในการมอมเมาประชาชน ด้วยคำลวงให้เชื่อว่าจีนจะสามารถต่อกรกับปืนไฟของต่างชาติได้ หากมีวิชาหมัดมวย และวิชาอยู่ยงคงกระพันธ์พวกนี้ แต่เขากลับมองเห็นว่านั่นเป็นเพียงเรื่องเป็นไปไม่ได้ และมีแต่จะทำให้คนจีนต้องตายไปอย่างไร้ค่าเท่านั้น
       
       แน่นอนว่าเนื้อหาส่วนใหญ่ของ 18 เจ้าอาวุธมหาประลัย ว่าด้วยการต่อสู้ระหว่างผู้ทรยศกับบรรดามือดีของสำนักต่าง ๆ ที่ทางการส่งมากำราบเขา แต่เนื้อหาใจความของหนังนั้นก็ชัดเจน ว่าเป็นการตั้งคำถามถึงการใช้ความรุนแรง ถือว่าเป็นคำถาม และบทเรียนที่ปรมาจารย์ หลิวเจียเหลียง ฝากเอาไว้แม้ตัวท่านจะไม่อยู่บนโลกแล้วก็ตาม


ทำงานกับ หลีเหลียนเจี๋ย


** The End **
----------------------------------------------------
ขอขอบคุณ บทความโดย...โจนาธาน
37
          ความลับสุดยอดที่คอหนังกำลังภายในตั้งตาคอยดู "จินจงเจ้า(ระฆังทองคุ้มร่าง)" วิทยายุทธ สุดยอดกำลังภายใน ผลิตผลระเบิดเวลาของ หลิวเจียเหลียง แห่ง “ไอ้เณรจอมคาถา"


          เจ้าระฆังทองคือใคร คืออะไร และทำไมถึงต้อง “ถล่มเจ้าระฆังทอง” 洪熙官 Executioners from Shaolin กังขานี้ คนที่จะตอบได้ดีที่สุดก็คือ หลิวเจียเหลียง ผู้กำกับการแสดงดาวรุ่งของ ชอว์ บราเดอร์ ในวันนี้
แต่หลิวเจียเหลียงก็อยู่ไกลเกินไป กว่าที่จะตามตัวเขามาคุยได้ทัน เราจึงต้องหมุนโทรศัพท์ไปถึง ว.ณ.เมืองลุง เจ้าพ่อแห่งการแปลนิยายกำลังภายใน


          ว.ณ.เมืองลุง เพิ่งเสร็จจากการทำบทบรรยายไทย “ถล่มเจ้าระฆังทอง” มาหมาดๆ จึงย่อมง่าย สำหรับเขาที่จะเล่าเรื่องนี้ให้เราฟัง เขาเล่าว่า เมื่อหงซีกวนหนีออกจากวัดเส้าหลินพร้อมกับกลุ่ม “5 พยัคฆ์เจ้าพญายม” เพื่อไปซ่อนตัวกลับมาล้างแค้นแทนอาจารย์นั้น เขาให้เฝ้าฝึกวิชาเพลงมวยเสือ เพื่อนำมาปราบเต้าหยินเคราขาว แต่ว่าวิชา "จินจงเจ้า" หรือ "ระฆังทอง" ครอบร่างของเต้าหยินเครายาวนั้น เหนือกว่าวิชามวยเสือมาก หงซีกวนจึงต้องหนีกลับไปฝึกวิชามวยเสียใหม่

          หงซีกวนเมื่อกลับถึงบ้าน ตั้งใจพิชิตเพลงมวยระฆังทองคุ้มร่างให้จงได้ เขาจึงสร้างหุ่นประจุเม็ดลมปราณ ตามหลักวิชาของเต้าหยินเคราขาวโดยครบถ้วน และฝึกจับลมปราณจากหุ่นเจ้าระฆังทองนี้จนช่ำของ จึงหวนกลับไปล้างแค้นใหม่

          อันวิชา "จินจงเจ้า" หรือ "ระฆังทองคุ้มร่าง" นี้ เป็นวิทยายุทธสุดยอดกำลังภายในวิชาหนึ่ง ผู้ใดฝึกสำเร็จ ร่างกายจะแข็งแกร่งทนทาน มือเท้าอาวุธปานอยู่ยงคงกะพัน




          กล่าวว่ามีเพียงจุดเดียว ที่ในชั่วชีวิตอันสั้นมิอาจฝึกถึง ซึ่งก็เป็นความลับสุดยอดของผู้ฝึก ด้วยหากความลับรั่วไหล ย่อมหมายถึงผู้นั้นต้องตาย  ศัตรูของผู้มีระฆังทองคุ้มร่าง จึงต้องศึกษาหาเวลาที่โลหิตจร ให้พบจุดอ่อนของฝ่ายตรงข้ามเพื่อสังหาร

          หงซีกวนจะถล่มเจ้าระฆังทองของเต้าหยินเคราขาว ล้างแค้นแทนอาจารย์ได้สำเร็จ หรือไม่ หรือว่าย่อมตกเป็นภาระของหงเหวินติง ลูกชายโทน คอหนังผู้ใจจดจ่อจะรู้ความลับสุดยอดของวิชาระฆังทองคุ้มร่าง ย่อมรู้ได้แน่นอนจากภาพ ยนตร์เรื่อง “ถล่มเจ้าระฆังทอง” ซึ่งผ่านรอบดึกเสาร์อาทิตย์ปลายเดือนมิถุนายนไปแล้ว 7 โรงใหญ่มหานคร ที่ วอเนอร์, นิวโอเดียน, เฉลิมบุรี, ศรีเยาวราช, เซ็นจูรี่, สามย่านรามา และออสการ์




=============================
***บทความจากนิตยสารโลกดารา ปีที่ 8 ฉบับที่ 173, มิถุนายน 2520(1977)
***ถล่มเจ้าระฆังทอง เข้าฉายเมืองไทย วันที่ 08 กรกฎาคม 2520(1977)
***เครดิตใบปิดไทย kung fu movie posters
38
          ที่เชียงไฮ้ วันที่ 8 พฤศจิกายน 1948(2491) แม่หนูน้อยหลีชิง ได้ลืมตาขึ้นมาชมโลกอันโสภา ท่ามกลางความรักของพ่อแม่ พี่ชาย 5 และพี่สาว 2 รวมทั้งครอบครัว 10 คน พอดิบพอดี เธอเป็นน้องนุชสุดท้องที่ทุกคนให้ความรัก ความเอ็นดูแก่เธอมากที่สุด


          เมื่อเธอยังเล็ก ๆ อายุ 6 ขวบ เธอไม่ได้ชื่อ “หลีชิง” เธอคือ “หลีกั๊วอิง” เป็นปีเดียวกับที่เธอเริ่มเข้าโรงเรียน แล้วก็เปลี่ยนโรงเรียนอยู่บ่อยๆ เธอเริ่มรู้จักตัวเอง รู้จักแม่ผู้มีพระคุณ รู้จักฮ่องกงที่เธออาศัยอยู่ นั่นหมายถึงว่า วันเวลาซึ่งหมุนเวียนไปอย่างรวดเร็วนั้น ได้สอนให้เธอรู้จักคิดและทำมากขึ้น ในปี 1964 เธอและเพื่อน ๆ ได้พากันไปสมัครแสดงภาพยนตร์ของบริษัทชอว์ บราเดอร์ซึ่งกำลังเปิดรับสมัครอยู่ ทางบ้านไม่มีโอกาสรู้เพราะเธอปิดบังไว้

          ด้วยความสามารถ อีกทั้งความสวยน่ารักของเธอเอง เธอสอบผ่านเข้าไปใน “โรงเรียนฝึกนักแสดง” ของบริษัท ชอว์ บราเดอร์ได้อย่างสบายในรุ่นที่ 2 นับจากนั้นมา หนังสือที่เธอต้องอ่านและท่องมิใช่หนังสือเรียนเสียแล้ว แต่เป็นหนังสือเกี่ยวกับนักแสดง และภาพยนตร์
ในที่สุด ความลับก็ไม่มีในโลก มารดาของเธอทราบเข้าจนได้และว่ากล่าวตักเตือน แต่เพราะ รักลูก ไม่อยากขัดใจลูก เลยใจอ่อน และคอยให้คำแนะนำอยู่เสมอ

          ตั้งแต่เธอจำความได้ เธอก็มีแม่อยู่ใกล้ชิดตลอดเวลา (อายุ 4 ขวบ อพยพเข้าฮ่องกงกับมารดาเพียง 2 คน) เธอรู้ว่า เธอควรตอบแทนพระคุณมารดาอย่างไร เธอพูดกับท่านเสมอว่า

          “แม่คะ ถ้าหนูโตขึ้น สามารถหาเงินได้ หนูจะตอบแทนคุณแม่ ให้คุณแม่มีความสุขใจ สุขกายมากที่สุด!" เธอติดใจบทบาทการแสดงของหลี่ลี่หัวมากที่สุด ทุกวัน ทุกสัปดาห์เธอจะต้องชมภาพยนตร์ให้ได้ และคิดที่จะเป็นดาราภาพยนตร์กับเขาบ้าง บัดนี้ความฝันที่กลายมาเป็นความจริงเริ่มแล้ว เธอจะเป็นดาราภาพยนตร์ที่โด่งดังบนจอเงินในอนาคตอันใกล้ ชั่วระยะเวลาครึ่งปี เธอก็จบหลักสูตรการฝึกนักแสดงของบริษัท ชอว์ฯ


          ชื่อของ “หลีกั๊วอิง” ใช้เป็นแห่งสุดท้าย กลายเป็นดาราภาพยนตร์สาวสวยของบริษัท ชอว์ บราเดอร์ นาม “หลีชิง” (Li Ching) 李菁 ขั้นแรกเธอแสดงในบทตัวประกอบเล็กน้อย เช่นในเรื่อง “เศรษฐินีเท้าไฟ”, “โคมวิเศษ” “สนมสาวเจ้าเล่ห์”, “คู่สร้างคู่สม”, “เจ้าชายจำแลง" ฯลฯ แต่ละเรื่อง....แต่ละบทบาท ที่เธอแสดงทำให้เห็นถึงความสามารถของเธอเด่นชัดขึ้น บริษัทฯ เริ่มหันมาสนใจเธอ เพราะเห็นว่าเป็นดาราภาพยนตร์ที่มีอนาคตการแสดงอีกไกล เป็นดาว อีกดวงที่จะมาแข่งรัศมีกับดารารุ่นพี่

          เธอมีโอกาสร่วมแสดงภาพยนตร์กับดารา ใหญ่ของเอเชียอย่าง หลินไต้, หลินปอ และ ดาราใหม่ ฉินผิง, ฟางหยิง ขณะที่ว่างจากการแสดง เธอก็เดินดูคนอื่นแสดง แล้วเอามาคิด และเก็บสะสมไว้เป็นประสพการณ์สอนตัวเธอเองด้วย

          การประกวดภาพยนตร์ชิงตุ๊กตาทองของเอเชียครั้งที่ 12 จัดขึ้นที่โตเกียวในปี 1965 ตรงกับปีที่หลีชิงมีอายุ 18 ปี จากผลงานที่เธอแสดงในภาพยนตร์เรื่อง “มัจฉาปาฏิหาริย์” 魚美人 (The Mermaid) คู่กับ หลินปอ บทบาทของเธอสามารถคว้ารางวัลแสดงยอดเยี่ยมฝ่ายหญิงได้อย่างง่ายดาย เธอดีใจ และตื่นเต้นมาก เพราะมันประกาศออกมาแล้วว่า เธอคือนักแสดงภาพยนตร์เต็มตัว และเป็นดาราหญิง ยอดเยี่ยมแห่งเอเชียคนแรกที่อายุน้อยที่สุด!

          เมื่อมีคนรัก ย่อมต้องมีคนชังเป็นของธรรมดา มีวัยรุ่นบางกลุ่มยังไม่เข้าใจเธอดีพอ เกิดความไม่พอใจที่เธอได้รับรางวัลนี้ บางคนก็ว่าเธออย่างเสียๆ หายๆ เมื่อเธอทราบเข้าเธอก็เสียใจ, น้อยใจ หมอนคือเพื่อนช่วยซับน้ำตา ชั่วอารมณ์วูบหนึ่ง เธอคิดจะตอบแทนการกระทำของคนกลุ่มนี้ให้สาสม

          แต่แล้ว วันรุ่งขึ้นเธอก็ได้ความคิดใหม่ เป็นความคิดที่เธอใช้สติปัญญาตรองมาแล้วอย่างรอบ ตฝครอบตลอดทั้งคืน เธอไม่เคยที่จะคิดก่อศัตรู เหตุไฉนจะมาก่อขึ้นในครั้งนี้เล่า ผูกมิตรกับทุกคนไว้มิดีกว่าหรือ? พยายามวางตัว และแสดงภาพยนตร์ให้ดี ทำความดี เพื่อลบล้างคำพูดของคนเหล่านั้นให้สิ้นไป


          จากวันนั้นถึงวันนี้ เธอก็คือคนที่ปวงชนให้การต้อนรับ และชื่นชมอยู่เสมอ รัน รัน ชอว์ รับขวัญหลีชิง ด้วยการมอบ คฤหาสน์หลังโอ่อ่า ให้เป็นกรรมสิทธิ์ของเธอพร้อมๆ กับเซ็นสัญญาต่ออีก 8 ปี หลีชิงเป็นดาวดวงเด่นที่ฉายแสงเจิดจ้า รวดเร็วเกินดาวดวงอื่น หน้าตาสดสวยแต่งกายน่ารัก พราวไปด้วยเสน่ห์ เป็นเจ้าของความสูง 5 ฟุต 4 นิ้ว น้ำหนัก 118 ปอนด์

=============================


          ก่อนหน้าที่งานประกวดภาพยนตร์เอเชียจะเริ่ม เธอก็ประสบอุบัติเหตุจากการเข้าฉากแสดง ในภาพยนตร์เรื่อง “5 พระกาฬ” 豪俠傳 (Killers Five) อันเป็นฉาก อันตราย ซึ่งควรใช้ตัวแทน แต่เธอต้องการให้สมจริง โดยแสดงเสียเอง ผลคือ เธอต้องพักการ แสดงถึง 3 เดือน เพราะขาเดาะในการพลาดตก จากที่สูง

          เป็นอุบัติเหตุครั้งแรกในชีวิตเธอที่น่าตกใจที่สุด ข่าวแพร่สะพัดไปทั่วว่า หลีชิงไม่สามารถแสดงภาพยนตร์ต่อไปได้แล้ว บริษัท ชอว์ บราเดอร์ ได้พยายามหานายแพทย์ที่เชี่ยวชาญมาทำการ รักษา ถ้าไม่หายก็จะส่งเธอไปรักษาที่สหรัฐทันที

          เวลานั้นเป็นเวลาที่หลีชิงวิตกทุกข์ทรมาน นั่งเหม่อลอยในเวลากลางวัน ตกค่ำก็จะร้องไห้ แต่คนที่ทุกข์มากกว่าหลีชิง ก็คือแม่ของเธอ ซึ่งได้ทำทุกอย่างเพื่อแบ่งเบาความเจ็บปวด เศร้าโศกของลูกมาบ้าง

          วันที่หลีชิงหายเศร้า คือ วันที่นายแพทย์ได้ให้คำรับรองว่า เธอจะหาย ให้พักผ่อนอีก 2 เดือน ก็จะเป็นปกติ ตลอดเวลาที่หลีชิงพักรักษาตัวอยู่นั้น เพื่อนนักแสดง ผู้กำกับทั่วๆ ไป ต่างได้แสดงความห่วงใย เยี่ยมเยียนเธออยู่เสมอ ที่ไกลออกไปก็ใช้จดหมาย และโทรศัพท์ทางไกลสอบถามทุก ระยะ รวมทั้งแฟนๆ ภาพยนตร์ของเธอด้วย หลีชิงได้รู้ซึ้งถึงความรัก ความห่วงใยของทุกคน อย่างแจ่มแจ้งในวาระนี้เอง

          ในขณะเดียวกัน บริษัทให้ส่งภาพยนตร์ เรื่อง “น้ำตานาง” เข้าประกวดชิงตุ๊กตาทองเอเชีย ครั้งที่ 14 ที่ญี่ปุ่น ปรากฏว่าได้รับรางวัล ภาพยนตร์ยอดเยี่ยมประจำปี

          หลีชิงได้พยายามหาโอกาสไปท่องเที่ยวสหรัฐอยู่ทุกลมหายใจ แต่ก็พลาดหวังที่จะไปแล้วถึง 3 ครั้ง ครั้งแรกเมื่อปี 1968 ครั้งที่ 2 ต้นปี 1969 ครั้งสุดท้ายปลายปีเดียวกัน เธอเตรียมทุกอย่างเรียบร้อยแล้ว พร้อมทั้งมารดาเธอด้วย..
และแล้ว ทุกอย่างที่เธอเตรียมไว้ ก็เสียเวลาเปล่า!

          เพราะคำสั่งของ รัน รัน ชอว์ ให้เธองดเดินทาง เพื่อเข้าแสดงภาพยนตร์เรื่อง "คมพยัคฆ์นางพญา" (Vengeance of A Snow girl) 冰天俠女 หลีชิง ยอมรับว่า เธอโกรธและน้อยใจมาก ครั้นเธอได้รับฟังเหตุผลของ รันรันชอว์ ว่า ภาพยนตร์เรื่องนี้ เป็นเรื่องเดิมประจำปี เป็นผล งานชิ้นโบว์แดงของ บริษัท ชอว์ บราเดอร์ ในปี 1970 เธอเห็นว่าเรื่องของบริษัทฯ สำคัญกว่า เธอจึงงดไปสหรัฐอีกครั้ง

          เดิมที่ภาพยนตร์เรื่องนี้ จะมอบบทให้ราชินีนักดาบ “เจิ้งเพ่ยเพ่ย” แต่เห็นว่า เธอกำลังจะแต่งงาน และอำลาจากบริษัท ชอว์ฯ จึงเปลี่ยนมาเป็น “เจียวเจียว” มานั่งตรึกตรองอีกที ผลสุด ท้าย ก่อนที่ภาพยนตร์เรื่องนี้จะเปิดกล้องเพียง 18 ชั่วโมง จึงสั่งออกมาว่าให้เปลี่ยนเป็นหลีชิง ด้วยเหตุผลที่ว่า ดาราภาพยนตร์ที่แสดงหนังกำลังภายในฝ่ายหญิง เหลือเพียงไม่กี่คน “เจิ้ง เพ่ยเพ่ย” “ฉินผิง” ก็กำลังจะจากไปแต่งงาน ในเวลาไล่เลี่ยกัน เหลือเพียง “เจียวเจียว” ชอว์ฯ เกรงว่าต่อไปต้องประสบปัญหาขาดแคลนดาราหญิง ที่จะแสดงภาพยนตร์กำลังภายใน จึงคิดจะให้หลีชิง มาดังทางนี้อีกคน ภาพยนตร์เรื่องนี้มีพระเอกเงินล้าน “เยี๊ยะหัว” นำแสดง ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้นำเข้าประกวดภาพยนตร์เอเซียครั้งที่ 16 นี้ด้วย เป็นที่น่าเสียดาย ที่ไม่มีรางวัลอะไรติดมือกลับมาสำหรับเรื่องนี้เลย

          ดาราดัง ดาราเล่น ผู้คนย่อมต้องการรู้ค่าตัวการแสดงของแต่ละคนด้วย หลีชิงเซ็นสัญญาครั้งสุดท้ายต่ออีก 3 ปี ในเวลาหนึ่งปีแสดงภาพ ยนตร์ 4 เรื่อง ค่าตัวแสดงเรื่องละสามหมื่น เหรียญฮ่องกง เดือนหนึ่งเบิกเงินล่วงหน้าได้ หนึ่งหมื่นห้าพันเหรียญ ค่าเครื่องแต่งตัวเดือนละ สองพันเหรียญ ค่าแรงเลขาทำหน้าที่ตอบจดหมายแฟนๆ ทั่วโลก เดือนละสามร้อยเหรียญ

          หลีชิงตั้งใจจะสะสมเงินให้มาก แล้วจะไปลงทุนทำการค้าอะไรสักอย่าง ส่วนงานแสดงนั้น ตราบใดที่ประชาชนยังให้การต้อนรับเธอก็จะอยู่ ฉะนั้นกำหนดเลิกแสดงของเธอจึงยังไม่มี อาจ จะเป็นเมื่อเธอเข้าวิวาห์กับใครคนนั้น? ก็ได้ ใครจะรู้?

          อีก 4 ปี หลีชิงจึงจะคิดแต่งงาน นี่เป็นแผนการณ์อนาคตที่มารดาของเธอวาง ไว้ให้อย่างเรียบร้อย! หลีชิงเชื่อถือศาสนาพุทธ และเชื่อเรื่องโชคชะตา วาสนา และการพยากรณ์ตามวัน เดือน ปีเกิด และลายมือ
สำหรับเรื่องการคบเพื่อนชายนั้นเธอว่า เธออายุยังน้อย และได้พยายามทำตัวให้ดี เสมอต้น เสมอปลาย เธอเบื่อข่าวซุบซิบต่างๆ เธอจึง ระมัดระวังที่จะให้ความสนิทสนมกับใครเป็นพิเศษ

          มีข่าวว่าเธอมีเพื่อนที่สนิทกันมาก ขณะนี้กำลังทำปริญญาที่สหรัฐ อาจจะเป็นไปได้ที่เธอพยายามไปสหรัฐนั้น เมื่อพบปะกับ “เขา” คนนี้ จนกระทั่งถึงงานเอ็กซ์โป 70 ที่ญี่ปุ่น บริษัทให้ เธอลาหยุดพักได้ 10 วัน เธอใช้เวลาดังกล่าวไป

=============================

       ***บทความโดย คุณ"ศ.ศรีรัตน์" คอลัมม์ "เจ้าจอมเนื้อหอม หลีชิง" ตีพิมพ์ใน นิตยสารโลกดารา ฉบับที่ 14, วันที่ 15 พฤศจิกายน 2513(1970)
39
         แฟนหนังจีนในไทย มีใครที่ไม่รู้จักเครื่องหมาย เอ็ส.บี. SB หรือ ชอว์ บราเดอร์ บ้าง แทบทุกคนชื่นชอบ และมีความมั่นใจต่อผลงาน ที่สร้างขึ้นภายใต้เครื่องหมายนี้


         สำหรับประวัติการก่อร่างสร้างตัวของชอว์ฯ ได้มีจุดเริ่มต้นขึ้นที่ "มหานครเซียงไฮ้" ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 จะได้เกิดขึ้น ต่อมาภายหลังสงคราม ชอว์ฯ ได้บุกเบิกมาสร้างอาณาจักรขึ้นที่สิงคโปร์ จนมีรากฐานมั่นคง พร้อมกับอิทธิพลมากมาย จึงได้หวนกลับไปเสริมสร้างอาณาจักรที่ฮ่องกง จนกลายมาเป็นอาณาจักรชอว์ฯ ที่แผ่กิ่งก้านสาขา ครอบครองไปทั่วเอเชียอาคเนย์ในด้านบันเทิงภาพยนตร์ มีอิทธิพล มีเงินตรา จนสามารถที่จะบีบบังคับบริษัทสร้างหนังเล็กๆ ต้องชอกช้ำ และเจ็บแค้นน้ำตาตกใน มามากต่อมาก!

         ขณะเดียวกัน ผลงานสร้างหนังได้เป็นที่เชื่อถือ จนกระทั่งสามารถฝังหัวเข้าสู่สมองของแฟนหนัง ที่เชื่อมั่นต่อหนังที่สร้างขึ้นภายใต้เครื่องหมาย เอ็ส.บี. SB ย่อมจะต้องมีความดีเด่น สนุกสนานตื่นเต้น และความมาตรฐาน

         ประมาณปี 1969 ในอาณาจักรชอว์ ฯ ได้เริ่มก่อเกิดความปั่นป่วน อย่างที่ไม่เคยมีเหตุการณ์เช่นนี้มาก่อน ประการแรกคือ การที่นายรันรัน ชอว์ (ส้าว ยี่ ฟู Sir Run Run Shaw) 邵逸夫 ได้ชักนำบุคคลหนึ่งเข้ามาบริหารงานในอาณาจักรชอว์ฯ คือ นักร้องสาวมีชื่อของฮ่องกง โมน่า ฟ่ง (ฟัง ยี่ ฮว๋า Mona Fong Yat-Wah) 方逸華 (หรือที่แท้จากวงภายในได้ทราบกันเป็นอย่างดีว่า เธอเป็นภรรยาน้อยคนหนึ่งของนายรันรัน ชอว์) เนื่องจากชอว์ฯ ต้องประสบต่อปัญหาเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายสูงเกินควรโดยมิจำเป็น ฉะนั้นจึงได้มอบหน้าที่ควบคุมการเงินให้เธอเป็นผู้จัดการ

         ภายหลังที่เธอเข้ารับตำแหน่งนี้ เธอรีบจัดการต่อค่าใช้จ่ายต่างๆ อย่างเฉียบขาด ไม่มีการจ่ายเกิน หรือปล่อยปละละหลวมกินนอกกินใน ซึ่งย่อมเป็นสิ่งที่แน่นอน ที่ทำให้บุคคลพวกหนึ่งเกิดความไม่พอใจขึ้น

         ผลสุดท้าย เธอได้จัดการขั้นเด็ดขาดด้วยการรยื่นซองขาวต่อพนักงาน คนงานอีกมากมาย จนเกิดความปั่นป่วนเป็นข่าวอื้อฉาวอยู่ระยะหนึ่ง แม้แต่ดาราใหม่ที่ได้รับสมัครคัดเลือกมาจากไต้หวัน หลายคนที่ได้ถูกยื่นซองขาวเช่นเดียวกัน เธอได้ให้เหตุผลว่า พนักงาน คนงานของชอว์ฯ มีมากเกินความจำเป็น ทำให้ค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นเสียไปโดยใช่เหตุ ส่วนดาราใหม่ที่มาจากไต้หวัน บางคนแทบจะมิได้แสดงหนังแม้แต่เรื่องเดียว หรือบ้างก็ไม่มีความสามารถเพียงพอ ให้อยู่ต่อไปก็มีผลเสียทั้งสองฝ่าย คือ ชอว์ฯ เสียค่าใช้จ่ายไปโดยมิจำเป็น ส่วนดาราใหม่จากไต้หวันถูกผูกมัดอยู่แต่ในชอว์ฯ มิมีโอกาสที่จะก้าวไปข้างหน้า จึงมีสู้ปล่อยให้เป็นอิสระเสียยังจะดีกว่า!


         อำนาจหน้าที่การควบคุมการเงินของชอว์ฯที่ เธอได้รับคงจะยังไม่เพียงพอ เธอเริ่มแผ่อิทธิพล เข้าควบคุมแผนกอื่นอย่างรวดเร็ว (ซึ่งอาจเป็นคำสั่งลับจาก นายรันรัน ชอว์ ก็เป็นได้ ใครจะรู้) บางคนถูกยื่นซองขาวโดยมีรู้สึกตัว จึงพลอยทำให้คนอื่นๆ ที่ร่วมงาน มีความหวาดสะดุ้งตลอดเวลาว่า อันดับต่อไปจะเป็นตัวเองหรือเปล่า ความไม่ไว้วางใจเริ่มเพาะตัวขึ้นในหมู่คนงาน พนักงาน ขณะเดียวกัน เธอก็ได้ทิ้งพรรคพวกของเธอเข้าไปรับตำแหน่งที่ว่างลงแทน

         การกระทำดังกล่าวของเธอ ได้ทำความไม่พอใจต่อคนงาน, พนักงาน, ดารา และตลอดจนเจ้าหน้าที่ชั้นผู้ใหญ่ โดยเฉพาะนายเรย์มอนด์ เชาว์(Raymond Chow Man-Wai) 鄒文懷 ซึ่งขณะนั้น ดำรงตำแหน่งเป็นรองผู้อำนวยการของชอว์ฯ แต่การกระทำของเธอดุจรองผู้อำนวยการไม่มีความหมายใดๆ ทั้งสิ้น หรือเห็นว่าตำแหน่งรองผู้อำนวยการเป็นเพียงหุ่นเชิดเล่นในบริษัทเท่านั้น!

         เหตุการณ์ในปี 1969 ได้ทำให้อาณาจักรชอว์ฯ เกิดความหวาดระแวงในระหว่างคนงาน พนักงาน ดาราตลอดจนเจ้าหน้าที่ต่างๆ ต่างฝ่ายต่างไม่ยอมไว้วางใจซึ่งกันและกัน ทำให้สถานการณ์ตึงเครียดอยู่ตลอดเวลา

         ใครจะคาดฝัน หรือคาดคิดมาก่อนว่า พอย่าง เข้าปี 1970 วิกฤติกาลได้กระพือปีกครอบงำลงบนอาณาจักรชอว์ฯ แล้ว เริ่มต้นด้วยพระเอกอันดับหนึ่งของชอว์-หวังอยู่ (Jimmy Wang Yu) 王羽 ประกาศผละจากไปอย่างกะทันหัน โดยมิมีเค้ามาก่อนแม้แต่น้อย การผละจากของหวังอยู่ ทำให้ชอว์ฯ ต้องสูญเสียพระเอกยอดนิยม ตลอดจนรายได้ที่เก็งไว้อย่างน่าเสียดายที่สุด!


         หวังอยู่ ประกาศความเป็นอิสระของเขายังมิทันจางหายไป เจ้าหน้าที่ชั้นมันสมองที่ร่วมทุกข์ร่วมสุขกันมา เป็นเวลา 10 กว่าปีอีกชุดหนึ่ง ได้ยกขบวนตบเท้าเดินออกจากประตูชอว์ฯ ไปอย่างไม่ยี่หระ ทําให้นายรันรัน ชอว์ ต้องสะทกสะท้านรุ่มร้อนอยู่ภายในใจ!
เจ้าหน้าที่ชั้นมันสมองที่ร่วมทุกข์ร่วมสุขกันมาเป็นเวลา 10 กว่าปี ชุดนี้ได้แก่ รองผู้อำนวยการ นายเรย์มอนด์ เชาว์, นายเหอก้วนชั้ง, และนาย เหลียงฟง เป็นต้น ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นคู่แข่งขันอันน่าสะพรึงกลัวที่สุดของชอว์ฯ จนถึงขั้นมีการฟ้องร้องกันถึงโรงถึงศาลกันมาแล้ว นั่นคือบริษัทโกลเด้นท์ ฮาร์เวสต์ หรือภายใต้เครื่องหมาย จี.เฮ็ช. GH นั่นเอง!!

         เหตุการณ์ที่ให้เกิดขึ้นครั้งนั้น แม้นายรันรัน ชอว์ จะคาดไม่ถึง แต่หัวสมองอันปราดเปรื่องของเขาก็มิได้ย่อท้อ เร่งรีบเล็งหาบุคคลที่มีความสามารถมาเสริม เข้าเป็นมันสมองชุดใหม่ต่อการบริหารงานทันที และเพื่อเป็นการรักษาอิทธิพลของตนเองเช่นเดียวกัน นอกจากโมน่า ฟ่ง ที่มีอยู่แล้ว ได้คัดเลือก นายหยวนชิวฟ่ง(อดีตเคยเป็นผู้กำกับสังกัดชอว์ฯ มาก่อน และมีประสพการณ์มาอย่างช่ำชองในวงการบันเทิง) เข้ารับตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายสร้าง นอกนั้นยังมี อี้เหวิน, หวังจื้อหมิง, ตุ่งเชียนหลี, เฉินถุงเหวิน เป็นต้น (สำหรับบุคคลหลัง 2 คน อยู่ร่วมงานกับชอว์ฯ ได้ไม่นานก็เกิดความไม่พอใจลาออกทันที)

         ซึ่งแน่ล่ะ! ในช่วงระหว่างที่เก่าไปใหม่มานี้ ย่อมจะต้องเกิดความปั่นป่วนต่อการงาน หรือไม่ย่อมจะมีความวุ่นวายเกิดขึ้นในระหว่างคนงาน พนักงาน และดาราเสมอๆ เหตุการณ์เหล่านี้ มี หรือที่สมองอันเฉลียวฉลาดของนายรันรัน ชอว์ จะคาดไม่ถึง แต่นายรันรัน ชอว์ กลับสามารถ ทำใจให้สงบไม่ไหวหวั่นต่อวิกฤติกาลที่เกิดขึ้น คงทำตัวเสมือนหนึ่งมิได้มีสิ่งใดเกิดขึ้นรุนแรงหนักหนา คงอยู่ในสภาพปกติ บินเดียวไปๆ มาๆ ระหว่างฮ่องกง - ไต้หวัน - สิงคโปร์ - มาเลเซีย อยู่เสมอ ทว่าสมองของเขามิได้อยู่นิ่งนอนใจแม้แต่น้อย ตระเตรียมแผนการโครงงานอยู่ตลอดเวลามิหยุดยั้ง

         การสูญเสียพระเอกผู้ยิ่งใหญ่หวังอยู่ไป เป็นการสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ของชอว์ฯ อีกครั้งหนึ่ง และสามารถกล่าวได้ว่า เป็นการสูญเสียที่ทำให้ ชอว์ฯ ต้องมีความอับอายขายหน้ายิ่งต่อเกียรติยศกว่าครั้งใดๆ ตั้งแต่อดีตมา แต่จะทำประการใดได้ ในเมื่อเหตุการณ์เช่นนี้ได้เกิดขึ้นแล้ว จึงมีวิถีทางเดียวที่จะกู้เกียรติยศนี้กลับคืนมาให้ได้ด้วย การปั้นพระเอกใหม่ขึ้นมาแทน และจะต้องให้โด่งดังยิ่งกว่า หวังอยู่


         นั่นคือการปั้นพระเอก เดวิด เจียง (David Chiang Da-Wei) 姜大衛 และตี้หลุง(Ti Lung) 狄龍 !!!
ในขณะเดียวกันก็ยื่นฟ้องศาลทั้งฮ่องกง และไต้หวัน ข้อหาหวังอยู่ผิดสัญญาในการเป็นดาราในสังกัดชอว์ฯ จุดประสงค์ก็เพื่อที่จะดึงตัวกลับมาในอาณาจักรขอว์ฯ อีกประการหนึ่งก็เพื่อที่จะมิให้หวังอยู่สามารถแสดงหนังให้กับผู้อื่นในฮ่องกง และไต้หวัน

         ผลสุดท้ายชอว์ฯ ก็สามารถชนะคดีในฮ่องกงได้ แต่ที่ไต้หวันชอว์ฯ กลับแพ้คดี ไม่สามารถที่จะควบคุมเขาได้ ซึ่งหวังอยู่ไม่มีความหวั่นเกรงประการใดแม้แต่น้อย

         เราหันมาในการที่ชอว์ฯ ปลุกปั้นพระเอก เดวิด เจียง และตี้หลุง จนสามารถติดอยู่ในความเพ้อฝันของแฟนหนังแล้ว ขั้นต่อไปในระหว่างความเงียบสงบต่อการบินไปๆ มาๆ ระหว่างฮ่องกง - ไต้หวัน - สิงคโปร์ - มาเลเซียนี้เอง ในที่สุดชอว์ฯ ก็สามารถคว้ารางวัลรวงข้าวทองคำ ในฐานะผู้กำกับยอดเยี่ยมแห่งเอเชียคือ ผู้กำกับเงินล้าน จางเชอะ (Chang Cheh) 張徹 และดาราแสดงยอดเยี่ยมฝ่ายชาย ตกอยู่ในมือของเดวิด เจียง จากหนังเรื่อง “แค้นไอ้หนุ่ม" (Vengeance!) 報仇

         รางวัลอันยิ่งใหญ่ที่สามารถคว้ามานี้ เป็นการกู้เกียรติยศที่สูญเสียหวังอยู่ไป เพื่อทำให้ชื่อเสียงของเอ็ส.บี. โด่งดังยิ่งขึ้น ทั้งในทางที่ดี และในทางที่เสียเห็นจะมีมากกว่า(บุคคลในวงการ บันเทิงทั่วไป ได้กล่าวว่ารางวัลทั้งสองชิ้นที่ได้รับ ได้มาด้วยการขยับเท้าใต้โต๊ะของนายรันรัน ชอว์ กับคณะกรรมการเป็นส่วนใหญ่!!)

         เมื่อก้าวย่างเข้าปี 1971 ชอว์ฯ มีสิ่งใดใหม่? มีการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีบ้าง? มีผลดีเกิดขึ้น ประการใด สำหรับผู้คนภายในอาณาจักรนี้? ซึ่ง เป็นของแน่ล่ะ ที่ปัญหาปวดสมองต่างๆ ที่เกิดขึ้น นายรันรัน ชอว์ จะแก้ไขด้วยตนเอง ในขณะ เดียวกัน บทบาทความวุ่นวายของโมน่า ฟ่ง ในปีนี้ แทบจะหายไปจากความรู้สึกของแฟนหนัง วิธี การแก้ไขจะเป็นประการใด ดีขึ้น หรือเลวลง ย่อมกำหนดภายในสมองของนายรันรัน ชอว์!

         ในช่วงปี 1971 วิกฤติกาลที่เกิดขึ้นภายในอาณาจักรซอว์ฯ มีสิ่งใดบ้าง? ผมจะค่อยๆ สืบสาวเรื่องราวนำมาเสนอให้แฟน “โลกดารา” ได้ทราบบ้างเพียงบางส่วนเท่าที่จะสามารถค้นคว้ามาได้ จากแหล่งข่าวของฮ่องกง
สำหรับฉบับนี้ “เค้าวิกฤติกาลในอาณาจักรชอว์ ฯ " ผมจะขอยุติไว้เพียงนี้ก่อน ฉบับหน้าจะหาท่านไปพบกับ “ผู้กำกับล้นในอาณาจักรชอว์ฯ"

=============================

      ***บทความโดย "คุณธวัชชัย ชรินทราวุฒิ" คอลัมม์ "เค้าวิกฤติกาล ใน อาณาจักรชอว์ฯ" ตีพิมพ์ในนิตยสารโลกดารา ปีที่ 2 ฉบับที่ 46 วันที่ 15 มีนาคม 2515(1972)
40
Bullet in the Head กระสุนเจาะกระโหลก เพื่อนทรยศกลางไฟฝัน

      หนังเรื่องนี้ไม่ใช่แค่แอ็กชั่น มันคือกระสุนปืนใหญ่ที่จอห์น วูยิงใส่คำว่า “มิตรภาพ” ให้กระจายออกมาเป็นชิ้น ๆ
...ไม่ต่างจากหัวใจที่เพื่อนรักหักหลังกัน

---
      ปี 1990 จอห์น วูหอบเอาความผิดหวังในใจ และภาพของอดีตเพื่อนสนิท
มาถักทอกลายเป็นหนังชื่อ Bullet in the Head  มันเป็นหนังว่าด้วยสงครามเวียดนาม เต็มไปด้วยกระสุน ความบ้า ความสูญเสีย
แต่เหนือสิ่งอื่นใด มันคือ “เรื่องของเพื่อน”

      จอห์น วู ให้สัมภาษณ์ไว้ชัดเจนว่าเขาทำหนังเรื่องนี้เพราะคิดถึงฉีเคอะมากที่สุดในชีวิต
เคยเป็นเพื่อน เคยร่วมฝัน เคยจับมือกันสร้างฮ่องกงให้ลุกเป็นไฟด้วยศิลปะการเล่าเรื่อง
แต่แล้ววันหนึ่ง ฉีเคอะกลับก้าวข้ามเขาไป
เลือกกำกับ A Better Tomorrow III หนังที่วูมองว่าควรจะจบไปตั้งแต่ภาคสอง
ไม่เพียงแค่นั้น มันคือจักรวาลที่วูเป็นคนปลุกปั้นด้วยมือ แต่กลับถูกอีกคนที่เคยเรียกว่า “พี่น้อง” แย่งไปหั่นต่อหน้า
Bullet in the Head คือจดหมายล่องหนที่เขาส่งถึงฉีเคอะ ด้วยเลือด
---
      ในหนัง เราเห็นสามเพื่อนรักจากฮ่องกงเดินทางเข้าสู่นรกเวียดนาม จากเพื่อนสนิท กลายเป็นคนแปลกหน้าในสงคราม
จากรอยยิ้มวัยเด็ก กลายเป็นเสียงปืนที่ยิงเข้าขมับกันเอง หนึ่งคือชายหนุ่มที่เชื่อในมิตรภาพจนถึงวินาทีสุดท้าย
อีกคนคือผู้หักหลังได้แม้แต่เพื่อน คนสุดท้ายต้องทนทรมานกับความทรงจำอันเน่าเฟะ
สามเส้นทางที่เหมือนกับจอห์น วูตะโกนออกมาใส่ผู้ชมว่าเพื่อนร่วมฝัน กลับกลายเป็นคนลั่นไกใส่กันเอง
---
      หนังมีฉากในสงคราม แต่สงครามที่แท้จริงไม่ได้อยู่ที่ปืน แต่อยู่ที่ใจคน มันคือสงครามระหว่างความทรงจำ กับความจริง
ระหว่างอดีตอันสวยงาม กับปัจจุบันที่โหดร้าย และในความจริงของวู มันคือการสื่อถึงฉีเคอะแบบไม่ต้องพูดชื่อ
แต่คนในวงการรู้ดีว่า Bullet in the Head คือสงครามส่วนตัวของชายสองคน
ที่เคยเป็นเพื่อน ที่ตอนนี้ต่างคนต่างอยู่กันคนละมุม และไม่มีเส้นทางใดให้เดินกลับมาเจอกัน
---
      หนังเรื่องนี้ไม่ได้มีแค่ปืน มันเต็มไปด้วยเลือด น้ำตา และความเจ็บลึก
จอห์น วูถ่ายทอดโลกที่มิตรภาพถูกแลกด้วยเงิน ความซื่อสัตย์กลายเป็นเหยื่อของความทะเยอทะยาน
และสุดท้าย...ความหวังตายไปแล้ว
---
      ฉากจบของหนัง ไม่ต่างอะไรกับมิตรภาพที่จบลง ไม่ต้องมีเสียงบรรยาย
ไม่ต้องมีคำว่า “ลาก่อน” แค่สายตาของตัวละคร ก็แทนเสียงตะโกนในใจของวูว่า
"ทำไมนายถึงหันกระบอกปืนมายิงใส่ฉัน"
หน้า: 1 2 3 [4] 5 6 ... 10