ผู้เขียน หัวข้อ: บทที่ 602 ชุมทางหนังไทยในอดีต เสนอ ผีหัวขาด (2523 สรพงศ์-วาสนา)  (อ่าน 7250 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ นายเค

  • Thaicine Movie Team
  • Moderator
  • พี่น้อง thaicine Gold member
  • ***
  • กระทู้: 3814
  • พลังใจที่มี 616
  • เพศ: ชาย

บทที่ 602
ชุมทางหนังไทยในอดีต เสนอ
ผีหัวขาด (2523 สรพงศ์-วาสนา)
โดย มนัส กิ่งจันทร์

(facebook 17 ตุลาคม 2557)


         สวัสดีครับทุกท่าน วันนี้ก็ยังคงอยู่กับกรุฟิล์มหนังของจิตตภาวันวิทยาลัยอีกนะครับ.. เห็นกระเป๋าฟิล์มหนังแล้วก็อดไม่ได้ที่จะต้องพูดถึงครับ.. เป็นหนังเป้าหมายที่ตามหามาช้านาน.. นั่นคือเรื่อง ผีหัวขาด.. ผมเคยเขียนลงพิมพ์ในหนังสือ film Star ฉบับวันที่ 9 เมษายน 2546 แล้ว ตอนนั้น กำลังมีกานหนังเรื่อง ผีหัวขาด มาสร้างฉายใหม่.. ผมตั้งชื่อบทความว่า ผีหัวขาด ขาดหัว.. แต่ไม่ขาดเงิน ลองอ่านดูนะครับ

         การนำหนังเก่าที่โด่งดังในอดีตกลับมาสร้างใหม่โดยเชื่อว่า จะช่วยลดความเสี่ยงของการขาดทุนได้ระดับหนึ่ง เป็นเรื่องธรรมดาที่มีมานานแล้วเพราะการจะสร้างหนังสักเรื่องออกมาให้ถูกใจคนดูนั้น ไม่มีรูปแบบหรือสูตรสำเร็จตายตัวอะไร ผู้สร้างแต่ละคนจึงพยายามหาวิธีที่จะทำให้หนังที่ตนสร้างถูกใจคนดูเป็นที่สุด แต่ก็ใช่ว่า หนังเก่าที่เคยทำเงินล้านในอดีต เมื่อนำกลับมาสร้างใหม่แล้วจะประสบความสำเร็จเสมอไป บางเรื่องก็ยังขาดทุน บางเรื่องรายได้ก็ไม่ดีเท่าหนังต้นฉบับเดิมด้วย ผู้สร้างบางคนเห็นหนังแนวไหนกำลังทำเงิน ก็แห่สร้างหนังไปตามแนวนั้น เรียกกันว่า ตามกระแส โดยลืมคิดไปว่า รสนิยมการดูหนังของคนไทยไม่สามารถจะเอามาเป็นเครื่องวัดเพื่อกำหนดทิศทางการสร้างหนังได้

         ดูอย่างในปี 2544 ก็จะเห็นว่า สุริโยไท ของ ม.จ.ชาตรีเฉลิม ยุคล เป็นหนังทำเงินได้สูงสุด แต่พอปี 2545 ก็ปรากฏว่า หนังที่ทำเงินได้สูงสุดกลับเป็น ผีหัวขาด หนังผีเบาสมองของพระนครฟิล์มที่ยกขบวนดาวตลกทั่วฟ้าเมืองไทยมาชุมนุมจนแน่นจอ เข้ามาคว้าแชมป์รายได้สูงสุดไปครองแทน ครั้นขึ้นปีใหม่ 2546 ได้ไม่นาน ทิศทางการดูหนังก็เปลี่ยนไปอีกเพราะรายได้ของ องค์บาก หนังแอ็คชั่น ฝีมือหมัดมวยล้วน ๆ อย่างคำโฆษณาว่า ไม่ใช้สตั้นท์ ไม่ใช้สลิง ของสหมงคลฟิล์ม ก็กวาดรายได้นำลิ่วเข้าสู่ร้อยล้านไปก่อนหนังเรื่องอื่นๆ นี่เป็นตัวอย่างที่ชี้ให้เห็นว่า หนังที่จะทำเงินนั้นไม่จำเป็นต้องเดินตามแนวทางเดิมเสมอไป ข้อสำคัญอยู่ที่ว่า จะสร้างหนังอย่างไรให้คนโดนใจคนดูมากที่สุดเท่านั้น ซึ่งเป็นโจทย์ที่ผู้สร้างหลายรายยังแก้ไม่ตก

         ในสมัยก่อน เมื่อแก้ปัญหานี้ไม่ได้ ก็มีบรรดาผู้สร้างที่เล็งเห็นว่า มีทางที่จะช่วยเพิ่มรายได้ให้กับหนังของตนอีกวิธีหนึ่งคือ การกำหนดวันฉายให้ตรงกับเทศกาลสำคัญเพราะจะมีผู้คนออกมาเที่ยวเตร่จับจ่ายใช้สอยและดูหนัง ผู้สร้างจึงมักจะเอาหนังออกมาฉายในช่วงเทศกาลนั้นๆ เรียกว่า เป็นการฉายต้อนรับเทศกาลต่าง ๆ เช่น ส่งท้ายปีเก่า ต้อนรับปีใหม่ ตรุษจีน สาร์ทจีน สงกรานต์ วันแรงงาน วันลอยกระทงหรือถ้าเป็นหนังสำหรับเด็กๆ ก็ฉายให้ตรงกับวันเด็กหรือช่วงปิดเทอม ก็พอจะมีทางได้เงินเพิ่มขึ้นบ้างเหมือนกัน

         ย้อนกลับไปสำรวจดูหนังที่ออกฉายในปี 2545 ก็จะพบว่า มีการนำหนังเก่ากลับมาดัดแปลงและสร้างใหม่หลายเรื่อง เช่น

7 ประจัญบาน (เดิมฉายปี 2506 รุ่นมิตร-คริสตินเหลียงและปี 2520 รุ่นกรุง-สรพงษ์-เนาวรัตน์)
โรงแรมผี (เดิมฉายปี 2518 รุ่นนาท-ปิยะมาศ)
ขุนแผน (เดิมฉายปี 2509 รุ่นมิตร-พิศมัย ในชื่อ พิมพิลาไล)
ผีหัวขาด (เดิมฉายปี 2523 รุ่นสรพงษ์-วาสนา)
ตำนานกระสือ (เดิมฉายปี 2516 รุ่นสมบัติ-พิศมัย ในชื่อ กระสือสาว)
ขังแปด (เดิมฉายปี 2517 รุ่นปิยะมาศ-กรุง-สรพงษ์)
ตะลุมพุก (เดิมฉายปี 2513 รุ่นสมบัติ-เพชรา ในชื่อ ลำพู)
พระอภัยมณี (เดิมฉายปี 2509 รุ่นมิตร-เพชรา)


          แต่ละเรื่อง เราก็ทราบแล้วว่า ผลตอบรับจากคนดูเป็นอย่างไรบ้าง หากเอาจำนวนเงินเป็นเครื่องวัดแล้ว ก็ต้องยกให้ ผีหัวขาด ของพระนครฟิล์มเพราะประสบความสำเร็จอย่างดีจนได้รับรางวัลตุ๊กตาทองภาพยนตร์ยอดนิยมทำรายได้สูงสุดประจำปี 2545 ไปครอง

         ต้นฉบับเดิมของ ผีหัวขาด นั้น สร้างเป็นหนัง 35 ม.ม.เสียงในฟิล์ม โดย ศรีสยามโปรดักชั่น โดยเป็นหนังผีเรื่องที่สองหลังจากประสบความสำเร็จจากหนังผีเรื่อง กระสือสาว มาแล้ว

         ศรีสยามโปรดักชั่น เริ่มเข้าสู่วงการสร้างหนังโดยใช้ชื่อว่า ศรีสยามภาพยนตร์และสร้าง หนึ่งนุช เป็นหนังเรื่องแรกซึ่งเป็นแนวชีวิตรัก แต่ก็นำวงดนตรีสามศักดิ์และดิอิมพอสสิเบิ้ล มาร่วมแสดงและร้องเพลงถึง 10 เพลงตามกระแสในยุคนั้นที่หนังไทยนิยมนำนักร้องมาร่วมแสดง หนึ่งนุช เป็นบทประพันธ์ของ บุษยมาส นำแสดงโดย สมบัติ เมทะนี พิศมัย วิไลศักดิ์ ภาวนา ชนะจิต อำนวยการสร้างโดย บันลือ อุตสาหจิต และกำกับการแสดงโดย ส.เนาวราช นักเขียนนิยายชื่อดัง นำออกฉายครั้งแรกในปี 2514 ที่โรงภาพยนตร์เฉลิมไทย ก็ได้รับการต้อนรับอย่างดีจากแฟนหนังไทย จากนั้นวงการสร้างหนัง ก็ปรากฏชื่อของศรีสยามโปรดักชั่นขึ้นมาแทนศรีสยามภาพยนตร์และมีการสร้างหนังติดต่อกันมาอีกหลายเรื่อง เช่น

จันทร์เพ็ญ (2515 สมบัติ-อรัญญา-เนาวรัตน์ วัชรา) นี่แหละรัก (2515 ไชยา-พิศมัย-ภาวนา) กระสือสาว (2516 สมบัติ-พิศมัย) อีสาน (2517สมบัติ-เพชรา-สุคนธ์ทิพย์ ) ด้วยปีกของรัก (2518 ยอดชาย-ภาวนา ) กามเทพเล่นกล (2519 ยอดชาย-นัยนา ) รักเต็มเปา (2521สมบัติ-พิศมัย-นัยนา) ผีหัวขาด (2523 สรพงษ์-วาสนา) อาจารย์โกย (ร่วมสร้างกับพีดีโปรโมชั่น-สาธิตโปรโมชั่น ปี 2524 ทูน-จารุณี) มหาเฮง (ร่วมสร้างกับพีดีโปรโมชั่น ปี 2526 ทูน-จารุณี ) เป็นต้น

         หนังภายใต้การสร้างของ ศรีสยามโปรดักชั่น นั้น ขณะออกฉายเรียกได้ว่า เป็นหนังที่อยู่ในความสนใจของคนรักหนังไทยแทบทุกเรื่อง ครั้นมาถึงยุคที่หนังกลายเป็นวีดีโอ วีซีดีบุกเข้าถึงห้องนอน การตามหาหนังที่คนไทยคิดถึงเพื่อนำกลับมาทำเป็นวีดีโอวีซีดี ก็มักจะมีชื่อหนังของศรีสยามโปรดักชั่นปะปนอยู่ด้วยเสมอ แต่ก็ไม่เคยเห็นหนังเหล่านี้วางจำหน่ายเลย ถึงวันนี้ ใครที่คิดถึงและรอคอยหนังของศรีสยามโปรดักชั่นคงต้องปลงได้แล้วเพราะแหล่งข่าวยืนยันว่า ศรีสยามโปรดักชั่นไม่มีฟิล์มต้นฉบับ (เนกาตีฟฟิล์ม)

         หนังทุกเรื่องเก็บไว้เลย ความหวังที่เราจะได้เห็นหนังของศรีสยามโปรดักชั่นในภาพคมชัด สีสวยสดจึงต้องเป็นหมัน แต่ผู้เขียนก็ยังคิดว่า น่าจะมีใครเก็บกากฟิล์มหนังเหล่านั้นไว้และมีการทำเป็นวีดีโอเทปไว้บ้างเพราะหนังของศรีสยามโปรดักชั่น เป็นหนังที่อยู่ในความต้องการของตลาดหนังไทยเก่า จึงพยายามสืบหาเล่นๆ ก็พบโดยบังเอิญเพียงเรื่องเดียวคือ อาจารย์โกย ที่ทำเป็นวีดีโอเทปไว้ แต่เทปที่ได้มาก็เก่ามากจนภาพไม่สวยแล้ว แถมหนังก็เป็นเส้นฝนด้วย ถ้าจะดูเอาเป็นเนื้อเรื่องเพื่อคลายความคิดถึง ก็ถือว่าพอได้ ส่วนเรื่องอื่นๆ นั้น ยังไม่เคยพบเห็นอีกเลย สิ่งที่ทำได้ขณะนี้ยามที่คิดถึงหนังเหล่านั้น มีแต่เพียงดูภาพถ่ายใบปิดที่ยังพอเหลืออยู่ไว้เป็นอนุสรณ์เท่านั้น

         หนังผีที่สร้างชื่อเสียงสร้างรายได้ให้กับศรีสยามโปรดักชั่นก็คือ กระสือสาว ผีหัวขาด และอาจารย์โกย ซึ่งวันนี้จะกล่าวถึง ผีหัวขาดเพราะถือได้ว่า รุ่นแรกก็เป็นหนังทำเงิน พอนำกลับมาสร้างใหม่ ก็ยังเป็นหนังทำเงินอีก

         ผีหัวขาด เป็นบทประพันธ์ของ ทวี วิษณุกร (ทวี เย็นฉ่ำ) เจ้าของนิยายภาพเรื่อง กระสือสาว ที่ตีพิมพ์ลงในหนังสือการ์ตูนหนูจ๋าเมื่อกว่า 30 ปีมาแล้ว ผีหัวขาดสร้างขึ้นในยุคที่ สาธิต คล่องเวสสะ เป็นผู้อำนวยการสร้าง นำแสดงโดย สรพงษ์ ชาตรี พระเอกคนแรกที่ยอมแสดงหนังแบบไม่มีหัวและสองนางเอกสาว วาสนา สิทธิเวช รุ่งนภา กลมกล่อม กำกับการแสดงโดย วิธิต อุตสาหจิต นำออกฉายครั้งแรกต้อนรับเทศกาลสงกรานต์เดือนเมษายนปี 2523 ที่โรงภาพยนตร์เอเธนส์

         ผีหัวขาด เป็นเรื่องราวของ ไอ้แก้ว (สรพงษ์ ชาตรี) ซึ่งเคราะห์ร้ายถูกลูกน้องของเสี่ยม๊อ (ศิริพงษ์ อิศรางกูรฯ) เสี่ยใหญ่หน้าฉากทำเป็นใจบุญ แต่หลังฉากกลับเป็นพวกโจรขโมยตัดเศียรพระพุทธรูปขาย ใช้ดาบฟันคอไอ้แก้วขาดขณะเข้าขัดขวาง แต่ความตาย ก็หยุดไอ้แก้วไม่ได้ มันจึงหิ้วหัวออกอาละวาดตามล่าพวกโจรมารศาสนาทั้งหลาย แม้ว่าหนังจะเน้นถึงกฎแห่งกรรมและความน่ากลัวของภาพที่สรพงษ์เดินหิ้วหัวไปมาตลอดจนวิธีการฆ่าโจรใจบาปของผีหัวขาดในรูปแบบต่าง ๆ กัน แต่ก็ยังมีมุขตลกที่ให้ ล้อต๊อก มารับบท อาจารย์โกย หมอผีกำมะลอที่มาสร้างเสียงหัวเราะมากกว่าจะมาปราบผีจริง ๆ

         ซึ่งก็เป็นที่ถูกใจคนดูหนังอย่างมากจนต้องนำเอาบุคลิกของอาจารย์โกยมาสร้างเป็นหนังเรื่องใหม่อีกเรื่องหนึ่งคือ อาจารย์โกย นั่นเอง ส่วนหมอผีตัวจริงมีอยู่สองคน ที่อยู่ฝ่ายพระเอกก็คือ ลงบุญ (จุมพล กาญจนมาศ) ส่วนอยู่ฝ่ายผู้ร้ายก็คือ อาจารย์ขอม (พันคำ) หมอผีทั้งสองต่างอวดศักดาวิชาเวทย์มนต์กันอย่างสุดเหวี่ยง ฉากปล่อยควายธนูออกมาต่อสู้กัน ก็เป็นฉากหนึ่งที่น่าตื่นเต้น ส่วนฉากสุดท้ายสรพงษ์ ไม่เพียงแต่หัวขาด ยังถูกอาจารย์ขอมใช้มีดหมอฟันแขนขาด ฟันลำตัวขาดด้วย ซึ่งนับเป็นหนังผีเรื่องแรก ๆ ที่ใช้เทคนิคในการถ่ายทำตลอดทั้งเรื่อง จึงได้ภาพออกมาดูสมจริง

         แต่ ผีหัวขาด ที่ พระนครฟิล์ม สร้างมี ธนพล เป็นคนเขียนเรื่อง ซึ่งโดยรวมก็ยังอยู่ในเค้าโครงเดิม เพียงแต่เปลี่ยนชื่อตัวละครทั้งหมด จากไอ้แก้วและน้ำฝน ที่สรพงษ์กับวาสนา เคยแสดง เปลี่ยนมาเป็น ไอ้เดี่ยว กับ ทับทิม ส่วนรายละเอียดการดำเนินเรื่อง ก็ปรับเปลี่ยนออกไปโดยจะเน้นไปในทางตลกสนุกสนานมากกว่าจะทำให้ดูน่ากลัวเหมือนผีหัวขาดยุคแรก แต่ที่เหมือนกันก็คือชื่อหนังและบทที่พระเอกจะต้องถูกฟันคอขาดขณะขัดขวางพวกโจรตัดเศียรพระพุทธรูป จนพระเอกต้องกลายเป็นผีหัวขาดและเมื่อนำออกฉายแล้ว ก็ยังมีจุดที่เกิดขึ้นเหมือนกันอีกคือ ต่างเป็นหนังที่โดนใจคนดูและเป็นหนังที่ทำเงิน เรียกได้ว่า ยิ่งหิ้วหัวออกอาละวาดมากเท่าไร ก็ยิ่งได้สตางค์มากขึ้นเท่านั้น นี่แหละที่ว่า ผีหัวขาด ขาดหัว ..แต่ไม่ขาดเงิน


แหละนี่ก็คือ กระเป๋าฟิล์มหนัง ผีหัวขาด ที่เราเพิ่งค้นพบว่า เสียหายหมดแล้วครับ


VCD ผีหัวขาด



คลิกชม...

ผีหัวขาด - เต็มเรื่อง (Full Movie)

-------

         ก็อยากจะคิดเหมือนเพื่อนๆที่ว่า ถ้ากรุนี้ฟิล์มเสียแล้ว กรุอื่นๆ อาจจะยังมีก็ได้ แต่ก็นั่นแหละ..แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่า กรุฟิล์มอื่นๆ อยู่ที่ไหนกันบ้างเพราะทุกวันนี้ก็หากันเลือดตาแทบกระเด็นอยู่ครับ..

Tuu-sRi Five-aNgels ผมเคยดูตอนสมัยเด็กๆหนังกลางแปลง เปนอารัยที่บรรยากาศน่าชวนขนลุกอยถ่แร้ว เพราะว่า มันมืด มันดึก กลางลานกว้างๆ ประมานเที่ยงคืนแร้วมั้ง หนังเรื่อง ผีหัวขาด ที่ผมดูสมัยนั้น ลรรยากาศ น่าสะพรึงกลัวมากๆ สมัยนั้น เรื่องนี้ ทำเอาผมกลัว จนไม่อยากจะกลับบ้านเรยทีเดียว ผีหัวขาดสมัยนั้น เท่าที่มีความรุ้สึก คือ ทำได้เนียน น่ากลัวมาก แร้วอาเอก สรพงษ์ ชาตรี เล่นได้ถึงใจจิงๆคับ น่ากลัวจิงๆ ตอนฉากที่โผล่มา แว๊ปๆ สะดุ้งเรยคับผม!!

Mana Mokaeo ไม่แน่ใจว่าผมจำสับกับเรื่องอื่นหรือเปล่า ตอนผีหัวขาดมาล้างแค้น ผู้ร้ายก็หัวขาดตายเพราะโดนสังกะสีปลิวตัดคอขาด เป็นฉากที่ตอนเด็กดูแล้วเสียวคอตาม...ตอนนั้นดูหนังล้อมผ้า น่ากลัวมาก





ต้นฉบับเดิมของ ผีหัวขาด

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 25 ตุลาคม 2014, 02:29:16 โดย นายเค »


สรพงษ์ ลิ้มทองคำ
5 หมู่ 7 ต.คลองตาคต อ.โพธาราม ราชบุรี 70120    E-Mail soraphol@hotmail.com
ธ.กรุงเทพ ออมทรัพย์ สาขา อาคารยาคูลท์ สนามเป้า   หมายเลขบัญชี  210-036236-3
ธ.ไทยพาณิชย์  ออมทรัพย์ สาขา บางเขน   หมายเลขบัญชี  041-273435-0
ติดต่อ 0909040355

ชมรมรักหนังกางแปลง โพธาราม ราชบุรี เรามาคุยกันได