ผู้เขียน หัวข้อ: บทที่ 619 ชุมทางหนังไทยในอดีต เสนอ สุพรรณ พราหมณ์พันธุ์ ผู้สร้างตำนาน เล็บครุฑ  (อ่าน 4945 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ นายเค

  • Thaicine Movie Team
  • Moderator
  • พี่น้อง thaicine Gold member
  • ***
  • กระทู้: 3814
  • พลังใจที่มี 616
  • เพศ: ชาย

บทที่ 619
ชุมทางหนังไทยในอดีต เสนอ
สุพรรณ พราหมณ์พันธุ์ ผู้สร้างตำนาน เล็บครุฑ
โดย มนัส กิ่งจันทร์

(facebook 22 พฤศจิกายน 2557)


   


          สวัสดีครับทุกท่าน.. เมื่อปี 2500 เล็บครุฑ เป็นหนัง 16 มม.  เรื่องเดียวที่ทำรายได้สูงสุดถึงหนึ่งล้านเก้าแสนบาท..  เล็บครุฑ เป็นเรื่องราวขององค์กรนอกกฎหมายที่ใช้ เล็บครุฑ เป็นสัญลักษณ์ สร้างจากบทประพันธ์ของ พนมเทียน โดยคุณสุพรรณ พราหมณ์พันธุ์ แห่งบริการ ภาพยนตร์สหะนาวีไทย ซึ่งลงมือกำกับการแสดงเป็นเรื่องแรก นำแสดงโดย ลือชัย นฤนาท-อมรา อัศวนนท์ ฉายครั้งแรกเมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2500 ที่โรงหนังศาลาเฉลิมกรุง และเฉลิมบุรี สร้างชื่อเสียงให้กับสุพรรณ พราหมณ์พันธุ์ อย่างมากและ ลือชัย นฤนาท พระเอกใหม่ของเรื่องก็ยังได้รับรางวัลตุ๊กตาทองดารานำฝ่ายชายยอดเยี่ยมคนแรกของประเทศไทยจากหนังเรื่องนี้ด้วยเช่นกัน


          ชื่อของ สุพรรณ พราหมณ์พันธุ์ จึงติดอยู่ในใจคอหนังบู๊แต่นั้นมา เมื่อเปลี่ยนมาสร้างหนังชีวิตรัก เศร้า สะเทือนใจ เพื่อต้อนรับนางเอกใหม่ พิศมัย วิไลศักดิ์ นาฏศิลป์สาวลูกกำพร้า ในเรื่อง การะเกด ออกฉายครั้งแรกวันที่ 5 ธันวาคม 2501 ที่โรงหนังศาลาเฉลิมกรุงและเฉลิมบุรี ก็เป็นหนังทำเงินล้านอีกเรื่องหนึ่ง คราวนี้ชื่อของสุพรรณ พราหมณ์พันธุ์ จึงมิได้จำกัดอยู่แต่หนังบู๊อีกต่อไป ส่วน พิศมัย วิไลศักดิ์ ก็เป็นนางเอกผูกขาดทั้งในจอและนอกจอให้สุพรรณ พราหมณ์พันธุ์ ตลอดมา




          ในยุคทองของหนัง 16 มม. สุพรรณ พราหมณ์พันธุ์ มีผลงานที่สร้างชื่อเสียงไว้หลายเรื่องเช่น

เล็บครุฑ (2500 ลือชัย-อมรา) มังกรแดง (2501 ลือชัย-อมรา) การะเกด(2501 ลือชัย-พิศมัย-ชนะ) ภูตเหลือง (2502 ลือชัย-วิไลวรรณ) ดรรชนีนาง (2504 พิศมัย-แสน) เล็บอินทรีย์ (2507 สมบัติ-พิศมัย) ครุฑเพชร (2508 มิตร-พิศมัย) เกียรติศักดิ์ทหารเสือ (2508ไชยา-สมบัติ-ทักษิณ-พิศมัย) ศึกบางระจัน (2509 สมบัติ-พิศมัย) ละอองดาว (2510 สมบัติ-พิศมัย) เป็นต้น

           น่าเสียดายที่หนังเหล่านี้ถ่ายด้วยฟิล์ม 16 มม.จึงไม่มีฟิล์มเนกาตีฟที่จะนำกลับมาทำซ้ำฉายได้อีก แต่ยังโชคดีที่มีการพบฟิล์มเรื่อง ศึกบางระจัน หนังที่ทำให้ สมบัติ เมทะนี ได้รับรางวัลตุ๊กตาทองดารานำฝ่ายชายยอดเยี่ยมประจำปี 2509 และนำมาบันทึกเสียงพากษ์ วางเสียงแบ็คกราวน์ใหม่ แต่เมื่อออกเป็นวีซีดีกลับถูกหั่นความยาวเหลือเพียง 73 นาทีเท่านั้น


 

          ยุคที่หนัง 35 มม.  พากย์เสียงในฟิล์มกลับมาครองตลาดอีกครั้ง สุพรรณ พราหมณ์พันธุ์ ก็นำเล็บครุฑกลับมาประเดิมสร้างเอาฤกษ์เอาชัยอีกครั้ง แต่เป็นภาค 2 ชื่อตอน เล็บครุฑ ประกาศิตจางซูเหลียง โดยวางเรื่องต่อไปว่า ที่เห็นจางซูเหลียงพร้อมด้วยอินทรีกายสิทธิ์หกชิ้นตกไปในเตาหลอมมอดไหม้จนเหลือแต่โครงกระดูกนั้น แท้จริงเป็นกลลวงเพราะจางซูเหลียงตัวจริงได้หนีไปแล้ว แต่ชิ้นส่วนหางอินทรีที่ได้ไปเป็นของปลอม จางซูเหลียงไม่อาจใช้อินทรีกายสิทธิ์อ่านสูตรมหาประลัยตามต้องการได้ จึงกลับมาตามหาชิ้นส่วนหางอินทรีที่หายไปอีกครั้ง

          แต่ครั้งนี้ จางซูเหลียง ซึ่งแสดงโดย อบ บุญติด ก็ต้องพบกับศึกหนักเมื่อเจอกับมือปราบทรชนอย่าง เคลียว บางคล้า ซึ่งแสดงโดย สมบัติ เมทะนี แต่จางซูเหลียง ก็ได้ เกชา เปลี่ยนวิถี นักฆ่าที่ยึดอุดมการณ์ไล่ล่า ฆ่าลูกเดียว มาเป็นสมุนรับใช้ ความมันจึงเกิดขึ้นไม่ว่าจะเป็นฉากที่ใช้รถแท็กเตอร์คันใหญ่ไล่บดขยี้รถยนต์หรือฉากที่ใช้เครื่องบินติดปืนกลบินฉวัดเฉวียนยิงใส่รถยนต์ ส่วนดาราฝ่ายหญิงก็มี พิศมัย วิไลศักดิ์-ปรียา รุ่งเรือง แต่ที่ฮือฮามากก็คือ ผุสดี อนัคฆมนตรี นักร้องสาวสวยหุ่นสเลนเดอร์ ฉายาตั๊กแตนตำใจ ที่มาโชว์เรือนร่างในบทรักและบทบู๊ได้อย่างถึงใจ หนังถ่ายภาพโดย ฉลอง ภักดีวิจิตร ตากล้องตุ๊กตาทอง หนังเข้าฉายครั้งแรกวันที่ 29 มีนาคม 2511 ที่โรงหนังเพชรรามา ก็ประสบความสำเร็จไม่แพ้เมื่อครั้งที่เป็นหนัง 16 มม.




          หนัง 35 มม. พากย์เสียงในฟิล์มของสุพรรณ พราหมณ์พันธุ์ ยังมีหลายเรื่อง อย่าง นางฟ้าชาตรี นั้น เมื่อเปิดกล้องก็วางตัวพระเอก มิตร ชัยบัญชา ไว้ แต่ถ่ายทำไม่จบเพราะมิตรเสียชีวิตกะทันหัน จึงให้ ไชยา สุริยัน มาแสดงแทน ในช่วงหลังๆ สุพรรณ พราหมณ์พันธุ์ ก็ปั้น เผ่าพันธุ์ พงษ์นที (จำรัส มุกดาเสถียร) มาเป็นพระเอกนักบู๊คนใหม่ให้แสดงประกบกับ พิศมัย วิไลศักดิ์ ในเรื่อง ตะบันไฟ ตะไลเพลิง และ เก้ายอด แม้จะเป็นพระเอกใหม่ แต่เพราะเป็นหนังบู๊ภายใต้ชื่อ สุพรรณ พราหมณ์พันธุ์ จึงช่วยให้หนังประสบความสำเร็จได้ระดับหนึ่ง


          นอกจากนี้ สุพรรณ พราหมณ์พันธุ์ ยังปัดฝุ่นเอาหนังที่เคยสร้างชื่อเสียงให้ภาพยนตร์สหะนาวีไทยมาแล้วในอดีตกลับมาสร้างอีก 2 เรื่องคือ เล็บครุฑ และ เกียรติศักดิ์ทหารเสือ  เล็บครุฑ.. สร้างครั้งนี้เป็นครั้งที่สาม ตั้งชื่อว่า เล็บครุฑ 78 แต่เนื้อหาเป็นตอนเดียวกับ เล็บครุฑ ที่ลือชัย นฤนาท แสดงไว้ในปี 2500โดย สุพรรณ พราหมณ์พันธุ์ ทุ่มเทกับงานนี้มากด้วยหวังจะให้ยิ่งใหญ่กว่าเดิม กรุง ศรีวิไล รับบทเป็น ชีพ ชูชัย เผ่าพันธุ์ พงษ์นที เป็น กริช กำจร อรัญญา นามวงศ์ เป็น ปรีดาฮะนัม พิศมัย วิไลศักดิ์ เป็น มรกต กำจร และจุมพล กาญจนินทุ เป็น จางซูเหลียง เข้าฉายครั้งแรกวันที่ 14 สิงหาคม 2525 ที่โรงหนังเพชรรามา

          แต่รายได้ไม่ดีเท่าที่หวังไว้ หากดูเนื้อหนังโดยรวมแล้วถือว่าฝีมือ สุพรรณ พราหมณ์พันธุ์ ยังไม่ตก อาจจะดูดีขึ้นเพราะมีการพัฒนาการสร้างมากกว่าเดิมด้วยซ้ำเพียงแต่จังหวะและเวลาที่นำออกฉายอยู่ในช่วงปลายของกระแสหนังบู๊ ซึ่งพอๆ กับเรื่อง เกียรติศักดิ์ทหารเสือ ซึ่งก็ตั้งใจนำกลับมาสร้างใหม่ให้ยิ่งใหญ่กว่าเดิม แต่เมื่อออกฉายก็ไม่ประสบความสำเร็จอีกเช่นกัน


          เมื่อเดือนสิงหาคม 2545 ผมไปดูการลองเสี่ยงเปิดกล่องฟิล์มต้นฉบับหนังเรื่อง ส้มตำ (SOMTAM) ที่คุณโต๊ะพันธมิตร จะนำมาทำเป็นแผ่นวีซีดี แต่พอเปิดกล่องสังกะสีออก ก็แทบลมจับเพราะในกล่องมีทั้งขี้สนิม มีกลิ่นเหม็นเปรี้ยวเหมือนน้ำส้มสายชูเน่าๆ เรียกว่า เหม็นจนติดมือ ติดจมูก เนื้อฟิล์มก็เกาะติดกันเป็นยางเหนียวหนึบเหมือนตังเม ใช้การไม่ได้เลยสักเฟรมเดียว สุดปัญญาที่จะเยียวยาแก้ไขได้ซึ่งหมายถึงว่า เราจะไม่มีโอกาสได้ดูหนังเรื่องนี้ของสุพรรณ พราหมณ์พันธุ์ จากฟิล์มต้นฉบับอีกแล้ว




รายชื่อหนังที่สุพรรณ พราหมณ์พันธุ์หรือค่ายสหะนาวไทยสร้างไว้  มีดังนี้

1) สุภาพบุรุษเสือผา นำโดย สุรสิทธิ์ สัตยวงศ์ ยังไม่ทราบปีฉาย
2) ลี่หลิน นำโดย วิไลวรรณ วัฒนพานิช-สมศวร กระจ่างศาสตร์ ฉายวันที่ 16 เมษายน 2498
3) ฟ้าธรรมาธิเบศร์ นำโดย วิไลวรรณ-พันคำ ฉายวันที่ 8 มีนาคม 2499
4) สี่สิงห์นาวี นำโดย วิไลวรรณ-พันคำ-สุรสิทธิ์ ฉายวันที่ 29 ธันวาคม 2499
5) เล็บครุฑ นำโดย อมรา อัศวนนท์-ลือชัย นฤนาท ฉายวันที่ 12 พฤษภาคม 2500
6) มังกรแดง นำโดย ลือชัย-อมรา ฉายวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2501
7) การะเกด นำโดย ลือชัย-พิศมัย-ชนะ ฉายวันที่ 5 ธันวาคม 2501
8 ) ภูตเหลือง นำโดย ลือชัย-วิไลวรรณ ฉายวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2502
9) สองฝั่งฟ้า นำโดย ชนะ ศรีอุบล-พิศมัย วิไลศักดิ์ ฉายวันที่ 22 มกราคม 2503
10) ดรรชนีนาง นำโดย แสน-พิศมัย ฉายวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2504
11) ยอดรัก นำโดย ขวัญชัย นาวิน-พิศมัย ฉายวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2505
12) เสือเก่า นำโดย ชนะ-พิศมัย ฉายวันที่ 2 เมษายน 2506
13) เล็บอินทรีย์ นำโดย สมบัติ-พิศมัย ฉายวันที่ 13 มีนาคม 2507
14) ละอองดาว นำโดย สมบัติ-พิศมัย ฉายวันที่ 11 พฤศจิกายน 2507
15) ครุฑเพชร นำโดย มิตร-พิศมัย ฉายวันที่ 21 พฤษภาคม 2508
16) เกียรติศักดิ์ทหารเสือ นำโดย ไชยา-สมบัติ-พิศมัย-ทักษิณ ฉายวันที่ 8 กรกฎาคม 2508
17) ศึกบางระจัน นำโดย สมบัติ-พิศมัย ฉายวันที่ 19 มกราคม 2509
18) ประกาศิตจางซูเหลียง นำโดย สมบัติ-พิศมัย ฉายวันที่ 29 มีนาคม 2511
19) นางฟ้าชาตรี นำโดย ไชยา-พิศมัย ฉายวันที่ 29 มิถุนายน 2515
20) ส้มตำ นำโดย สมบัติ-พิศมัย ฉายวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2516
21) ตะบันไฟ ตะไลเพลิง นำโดย เผ่าพันธุ์-พิศมัย ฉายวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2518
22) เก้ายอด นำโดย เผ่าพันธุ์-พิศมัย ฉายวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2520
23) ดอกฟ้าและโดมผู้จองหอง นำโดย ไกรสร-อาภาพร ฉายวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2524
24) เล็บครุฑ 78 นำโดย กรุง-เผ่าพันธุ์ ฉายวันที่ 14 สิงหาคม 2525
25) เกียรติศักดิ์ทหารเสือ นำโดย ทูน-สุดารัตน์ ฉายวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2526


--------------------------


ครับ ฟ้าธรรมาธิเบศร์ ไม่มีหนังแล้วครับ..

         ส่วนหนังเรื่อง เล็บครุฑ นั้น ยังหาหนังไม่ได้เช่นกัน ไม่รู้ว่า จะได้เห็นหรือไม่ แต่ว่า ผมเห็นในอินเตอร์เน็ตมีคนนำรูปนิ่งจากปกหนังสือนิยายมาโพสไว้หลายแผ่นมากๆ ผมก็เลยนำมาให้ดูต่อนะครับ เริ่มเลย...

























สรพงษ์ ลิ้มทองคำ
5 หมู่ 7 ต.คลองตาคต อ.โพธาราม ราชบุรี 70120    E-Mail soraphol@hotmail.com
ธ.กรุงเทพ ออมทรัพย์ สาขา อาคารยาคูลท์ สนามเป้า   หมายเลขบัญชี  210-036236-3
ธ.ไทยพาณิชย์  ออมทรัพย์ สาขา บางเขน   หมายเลขบัญชี  041-273435-0
ติดต่อ 0909040355

ชมรมรักหนังกางแปลง โพธาราม ราชบุรี เรามาคุยกันได