ผู้เขียน หัวข้อ: มาแล้วครับ ชีวิตนักพากย์ของพี่ชาติ เจ้าของนามพากย์ว่า "อธิษฐาน"  (อ่าน 1894 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ มนัส กิ่งจันทร์

  • มนัส กิ่งจันทร์ ภาคสอง ชุมทางหนังไทยในอดีต
  • Moderator
  • พี่น้อง thaicine Gold member
  • ***
  • กระทู้: 2814
  • พลังใจที่มี 35
  • เพศ: ชาย
    • มนัส ชุมทางหนังไทยในอดีต
       มาแล้วครับ ชีวิตนักพากย์ของพี่ชาติ Chatchai Cheunkham เจ้าของนามพากย์ว่า "อธิษฐาน" ซึ่งโด่งดังในอดีต วันนี้ พี่ชาติ เริ่มเขียนตอนที่ 1 แล้วครับ...

คุณ มนัส กิ่งจันทร์...ที่รัก
ตามที่เคยรับปากว่าจะเขียนเรื่องชีวิตนักพากย์
ผมหาโอกาสมานาน เพิ่งมาตัดสินใจเขียนวันนี้ ตามที่
คุณ พรชัย ธีรปัญญา อยากได้เร็วๆ
และ...ไม่รู้จะลงตรงไหนดี ผมไม่เก่งเรื่องคอมพ์
เลยตัดสินใจ ก๊อป โลโก้ของคุณมนัสมาลงพร้อมรูปผม
เพื่อให้ทุกคนที่เป็นแฟนคุณมนัสได้มาอ่านเจอ ผิดถูกอย่างไร
ขออภัยไว้ตรงนี้ด้วยนะครับ...
+++++++++++++++++++++++++++++++++++

เรื่อง...
ชีวิตนักพากย์ ของ อธิษฐาน
มันเริ่มเมื่อตอนผมอายุ 17 ปี กำลังเป็นหนุ่ม
ตอนนั้น มีสองสาวพี่น้องชาวอำเภอมโนรมย์มาอยู่บ้านใกล้ๆ
คนน้อง อายุอ่อนกว่าผม 1 ปี เธอชื่อ "ก้อ" แต่ผมชอบเรียกเธอว่า อีก้อ เพราะช่วงนั้น มีชาวเขาเผ่าอีก้อมาขายของกระจุกกระจิกและสมุนไพรที่ตลาดตะพานหินบ่อยๆ
ก้อเป็นผู้หญิงน่ารัก ใบหน้ากลมๆ ผมสั้น ตัวเล็กๆ
แม้จะเป็นวัยรุ่นคราวเดียวกัน แต่ผมไม่เคยชอบอีก้อเลย
คนที่ผมชอบกลับเป็น พี่สาวของอีก้อ
เธอชื่อ "ตี่" รูปร่างสูง เปรียว ผมยาว ใบหน้าสวย มีลักยิ้ม
แต่ ตี่อายุมากกว่าผมสองปี
ผมหลงรักตี่อยู่พักใหญ่ก็ตัดสินใจเขียนจดหมายรักฉบับแรกในชีวิต ฝากให้ก้อเป็นแม่สื่อช่วยไปส่งให้
ก้อรับจดหมายและคำฝากฝังจากผมอย่างงงๆ ทำหน้าชอบกล
แต่ก็ไม่พุดอะไร ลุกสะบัดก้นเดินจากไปเหมือนคนขี้งอน
รุ่งขึ้นวันต่อมา
ก้อก็เอาจดหมายฉบับนั้นมาคืน แล้วบอกว่า
"ตี่สั่งให้มาบอกว่า ทีหลังอย่าเขียนมาอีกนะ ถ้าเขียนมาอีกจะด่าให้..."
เธอมองหน้าผม แล้วพูดต่อว่า
"ตี่เขามีคู่หมั้นแล้ว อีกสามวันก็จะผูกข้อมมือกันที่บ้าน..."
ผมมึนตึ้บ...
แล้วก็ได้แต่นั่งซึม...
ก้อพูดปลอบใจสองสามคำก็จากไป
จนถึงวันที่ตี่กับคู่หมั้นเขาผูกข้อมือกัน
ไม่ได้จัดงานใหญ่โต เพียงเลี้ยงกันพอเป็นพิธี
วันต่อมา...ตี่มาหาผมที่บ้าน ยื่นจดหมายให้กับผม แล้วว่า
"อีก้อมันเขียนถึงแก ลองอ่านดู"
ผมรับมาอย่างมึนๆงงๆ ขณะตี่พูดเสริมว่า
"อีก้อหนีกลับไปบ้านแล้ว มันบอกทนไม่ได้ ที่หลงรักคนที่เขาไม่รักตัว เลยหนีกลับบ้าน..."
ผมได้แต่จ้องหน้าตี่ จนตี่พูดต่อว่า
"ถ้าอยากเป็นน้องเขยฉันก็ตามไปมโนรมย์โน่น ไม่มีค่ารถเดี๋ยวออกให้"
พูดจบตี่ก็เดินจากไป...ทิ้งให้ผมเซ่ออยู่คนเดียว
ทำไมชีวิตผมมันเป็นแบบนี้ ไปหลงรักคนที่เขาไม่รักเรา
ส่วนคนที่รักเรา กลับไม่สนใจเขา
และนั่น...
เป็นเหตุให้ผมไม่อยากอยู่บ้านอีกต่อไป
วันนั้น จำได้ว่า ช่วงบ่าย เดินไปที่ตลาด พบเพื่อนชื่อประเสริฐ
ก็เลยชวนมันไปนั่งรถเล่นกัน เพราะไม่มีอะไรทำ ไอ้เสริฐก็ดูเหมือนจะเซ่อๆ ไปไหนก็ไปกัน ผมเลยพามันมาขึ้นรถเมล์สองแถว สายตะพานหิน-ทุ่งโพธิ์
รถออกจากตะพานหินเย็นมากแล้ว วิ่งไปตามถนนสายตะพานหิน-หล่มสัก มาได้สักสิบกว่ากิโลเมตรก็ถึงทางแยกขวามือ ไปตลาดทุ่งโพธิ์ เป็นถนนท้องนา ขลุขละโครงเครงตลอดเส้นทาง
รถมาหมดระยะที่ตลาดทุ่งโพธิ์ เราสองคนก็ออกเดินเตร็ดเตร่อย่างคนไม่มีจุดหมาย สักพักก็กลับมาที่ท่ารถ เพื่อนั่งรถกลับตลาดตะพานหิน
แต่...อนิจจา
รถไม่มีแล้ว รถที่นี่เขาวิ่งวันละสองเที่ยว เช้าไป เย็นกลับ
อ้าว แล้วจะกินจะนอนที่ไหนดีล่ะหว่า
มีเงินติดกระเป๋ากันคนละสองสามบาทเท่านนั้น
ค่าข้าวมื้อเย็นก็หาทางรอดลำบาก เพราะที่นี่ไม่มีร้านข้าวแกง
มีแต่อาหารตามสั่ง จานละบาทสองบาทคงไม่มีแน่
แต่ที่แย่ที่สุดก็คือ...คืนนี้จะนอนที่ไหน???


"มนัส กิ่งจันทร์ ภาคสอง ชุมทางหนังไทยในอดีต" โดยเติมคำว่า "ภาคสอง" คั่นกลางไว้..
อดีตจากฟิล์มภาพยนตร์ ไม่มีวันตาย..

ออฟไลน์ มนัส กิ่งจันทร์

  • มนัส กิ่งจันทร์ ภาคสอง ชุมทางหนังไทยในอดีต
  • Moderator
  • พี่น้อง thaicine Gold member
  • ***
  • กระทู้: 2814
  • พลังใจที่มี 35
  • เพศ: ชาย
    • มนัส ชุมทางหนังไทยในอดีต
"ชีวิตนักพากย์ ตอน 2....."
+++++++++++++++++++
ช่วงนั้น...เป็นเวลาราวห้าโมงเย็นกว่าๆ
ผมกับประเสริฐยืนหันรีหันขวาง ไปทางไหนไม่ถูก
เพราะตลาดตำบลทุ่งโพธิ์ แม้จะอยู่ในจังหวัดพิจิตรบ้านเกิดผม แต่ผมก็เพิ่งเคยมาครั้งแรกในชีวิต ไม่มีใครที่เราสองคนรู้จักอยู่ที่นี่เลย
อะไรไม่สำคัญ เราสองคนมีเงินติดกระเป๋าคนละสามสี่บาทเท่านั้น ยุคนั้น แม้จะถือว่ามาก เพราะค่ารถเมล์มาจากตะพานหินก็แค่ 50 ตังค์เท่านั้น แต่ที่สำคัญ เราไม่รู้จะไปซื้อข้าวกินที่ตรงไหน ???
นึกแล้วก็สมน้ำหน้าตัวเอง
หลงรักสาวตี่ ทั้งที่เขาไม่ได้รักเราเลย
พลาดหวังจากตี่ ก็มามีปัญหาเรื่องก้อ ที่ผมก็โง่จนไม่รู้ว่าก้อหลงรักผมอยู่ เมื่อผมไม่สนใจเธอ เธอก็ผิดหวัง น้อยใจ แล้วหนีกลับบ้านเกิดที่มโนรมย์ไปเลย ที่สุด แก้ปัญหาอะไรให้ตัวไม่ได้ก็คิดเนรเทศตัวเองออกมา แล้วก็มาสิ้นท่าอยู่ที่ทุ่งโพธิ์
ผมปรึกษากับประเสริฐว่า มีทางเดียว
วัด...
เราต้องหาวัดให้เจอ แล้วขออาศัยพระ
แต่...ยังไม่ทันขยับตัวทำอะไร ทันใดนั้น
ก็มีเสียงเพลงจากลำโพงเครื่องขยายเสียงดังมา
"เสียงเพลงจากโรงหนัง!!!"
ผมโพล่งออกไป
แล้วเราก็คิดได้ จึงพากันเดินมุ่งหน้าไปตามเสียงเพลง จนถึงโรงหนัง ไปยกมือไหว้ผู้จัดการ ขออาศัยข้าวกินและที่นอน โดยยินดีจะทำงานโรงหนังรับใช้ทุกอย่าง
ผู้จัดการก็ใจดีมาก รับเราสองคนไว้ทั้งที่ไม่รู้หัวนอนปลายเท้า
ทราบว่า ท่านผู้จัดการชื่อ
"สมบุญ จันทร์ศรีเผือก"
"ชื่อเหมือนพ่อผมเลย"
ผมเอ่ยกับท่านยิ้มๆ
"แต่มีอีกชื่อ เป็นชื่อดั้งเดิมของพ่อ ชื่อ ยวง..."
ผมกับประเสริฐทำงานโรงหนังด้วยความขยันขันแข็ง
ตอนสายๆ เดินแจกใบปลิวไปตามตลาด เที่ยงกลับมาก็ช่วยกันกวาดโรง ทำความสะอาด เอาผ้าชุบน้ำหมาดๆมาเช็ดถูตามม้านั่งทุกตัว...
บางครั้งเขาซ่อมเครื่องไฟ ยี่ห้อ "โอแนน" ผมก็ไปเป็นลูกมือช่วยเขาหยิบโน่นหยิบนี่
ช่วงกลางคืนเปิดเพลงโหมโรง ผมเป็นคนจัดการเอง พอผู้จัดการมาพูดโฆษณา ผมก็ตะแคงหูฟัง พอผู้จัดการไปแล้วผมก็เรียนแบบทันที เอาใบปลิวมาดู อ่านออกเสียงไป พอจบแผ่นก็เปิดเพลงสลับ ผู้จัดการเองก็พอใจ ชมว่าผมพูดใช้ได้เลย ซึ่งก็ช่วยผ่อนแรงท่านไปอีกอย่าง
ตกกลางคืน ฉายหนัง...
ผมปล่อยให้ประเสริฐเฝ้าประตูคนเดียว ขึ้นมานั่งดูคนฉาย (ที่ติดมากับหนัง) เขาฉายหนัง แล้วก็อ้อนขอเขาหัดฉาย
"ผมฉายเป็นแล้ว ผมจะทำแทนพี่ พี่จะได้สบายไง..."
คนฉายก็เออออ ให้ผม
ผ่านไปครั้งแล้วครั้งเล่า
และคนแล้วคนเล่าที่หัดให้ผม
จนผมสามารถฉายเครื่อง "แอมโปร" 16 ม.ม. ได้อย่างสบาย
ส่วนประเสริฐ...เพื่อนตาย
ดูมันไม่ค่อยอยากได้ใคร่ดีอะไรนัก
ทำงานได้สองสามเดือนมันก็ขอกลับไปบ้าน
ส่วนผม กำลังสนุกกับการเป็นโฆษกหน้าวิก และเด็กฉายหนัง
จึงอยู่ต่อไป
เกือบปี หรือปีกว่า ผมไม่ได้นับวันเวลา
จนวันหนึ่งผู้จัดการชวนผมเดินทางไปที่บ้านท่าน ซึ่งอยู่ที่
ตำบล วังน้ำเต้า ผมก็ตามท่านไป
และ...ที่บ้านของผู้จัดการนี่เอง
มุมหักเหของชีวิตก็เริ่มขึ้นอีก
ผมเข้าไปกราบมารดาของท่าน
แล้วแนะนำตัวว่าผมเป็นลูกของนายสมบุญ ชื่นขำ หรืออีกชื่อหนึ่งของพ่อก็คือ "ยวง" บ้านอยู่คลองข่อย ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำน่าน เยื้องๆกับบ้านวังน้ำเต้านี่แหละ...
แล้วก็ขอตัวลงมานั่งเล่นที่ใต้ถุนบ้านของท่าน ซึ่งเป็นเรือน
ใต้ถุนสูงแบบโบราณ
แล้วเรื่องก็เกิดขึ้น
เมื่อตอนหนึ่ง เสียงมารดาผู้จัดการถามลูกชายของท่านอยู่บนบ้าน แต่ได้ยินชัดเจนมาถึงผมข้างล่าง
"ไปเอาลูกเสือลูกตะเข้มาเลี้ยงทำไม พ่อมันเป็นไอ้เสือเชียวนะ "เสือยวง" ดังจากตะพานหินไปโพทะเล บางคลาน ถึงอำเภอเมืองโน่น เดี๋ยวได้ชิบหายกันใหญ่หรอก...."
ผมตกใจ
นี่ผมเป็นลูกเสือลูกตะเข้เหรอ พ่อผมเป็นเสือเหรอ
เสือยวง...
แล้วนี่ไม่รู้ว่าพ่อผมเคยมาปล้นบ้านนี้ หรือทำอะไรไว้หรือเปล่า
แล้วถ้าเป็นแบบนั้น เขาจะคิดแก้แค้นเอากับผมไหมนี่???
หนี่!!!
อย่าอยู่เลย!!!
เท้าไวเท่าความคิด
ผมรีบมุดรั้วออกมาจากบ้านมารดาผู้จัดการ
เดินออกไปที่ถนน หันหน้าขึ้นสู่ทิศเหนือ ตะพานหิน
บ้านของผม พ่อและแม่ผมอยู่ที่นั้น ผมต้องรีบกลับไปเดี๋ยวนี้่
ผมเดินบ้างวิ่งบ้าง ด้วยระยะทางประมาณ 12 กิโลเมตร
แล้วผมก็กลับมาถึงบ้านโดยปลอดภัย
พอแม่เห็นหน้าผมเท่านั้น แม่ร้องไห้ใหญ่เลย แม่ต่อว่าผมว่าออกจากบ้านไปไหนทำไมไม่บอก ไปอยู่ที่ไหนมา เป็นอย่างไรบ้าง
ผมเล่าให้แม่ฟังอย่างละเอียด จนแม่เริ่มสงบ
ผมก็ถามปัญญาหาสำคัญที่ได้ยินมา เขาว่าผมเป็นลูกเสือลูกตะเข้ เขาว่าพ่อผมเป็นเสือ ชื่อเสือยวง เรื่องมันเป็นยังไง??พ่อผมเคยปล้นเขากินด้วยเหรอ???
แม่ก็บอกว่า
ไม่ใช่หรอก พ่อไม่ได้เป็นเสือปล้น แต่พ่อเป็นนักเลงจริง นิสัยพ่อดุ และมือหนัก มีเรื่องกับใครพ่อจะต่อยเขาลงไปนอนชักนับรายไม่ถ้วน ใครมีปัญหาอะไรที่ตกลงกันไม่ได้ก็จะมาตามพ่อไปช่วยเคลียร์หรือตัดสินให้ จึงเป็นที่ยุติ เพราะพ่อมีนิสัยดุ
ทุกคนจึงเรียกพ่อว่า "เสือยวง" พ่อไม่ได้เป็นเสือปล้นอะไรหรอก แล้วแม่ก็เล่าว่า ที่แม่ต้องมาเป็นเมียของพ่อ นี่ก็เพราะความเป็นเสือของพ่อนั่นเอง
แม่เล่าว่า
สมัยรัชกาลที่ 5
ครอบครัวของยายมีรกรากอยู่ที่ วังตะวันออก นครหลวงพระบาง ประเทศลาว พ่อของยายเป็นช่างทำทองประจำรัชกาล
ช่วงนั้น ประเทศลาวอยู่ภายใต้การปกครองของสยาม
บังเอิญมีโจรฮ่อโพกผ้าเหลืองอาละวาด ปล้นฆ่าชาวบ้านที่อยู่รอบๆนครหลวงพระบาง ทางเจ้ามหาชีวิตจึงมีใบบอกมาขอให้ไทยส่งทหารไปช่วย
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ให้ "เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี" (เจิม แสงชูโต) นำทัพไทยขึ้นไปช่วย
แล้วอพยพครอบครัวเจ้ามหาชีวิตหลบภัยมากรุงเทพฯ โดยครอบครัวของยายคือมียาย ซึ่งตอนนั้นยังเล็กอยู่ กับพ่อของยาย ได้เดินทางร่วมมาด้วย
เจ้ามหาชีวิตเดินทางมาถึงแคว้นจำปาสักก็ไม่มาต่อ เกรงว่าราษฎรจะกล่าวหาว่ามีภัยแล้วหนีเอาตัวรอด
ครอบครัวของยายจึงลงมากรุงเทพฯ
แล้วพระเจ้าอยู่หัวก็พระราชทานที่ดินที่ "บ้านโพธิ์" อำเภอบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ให้เป็นที่อยู่และทำมาหากิน
จนยายโตเป็นสาว ก็ได้แต่งงานกับมหาดเล็กหลวง ชื่อ นายทอง พรหมยอด
นายทองมีหน้าที่ดูแลพระที่นั่งเวหาสน์จำรูญ ซึ่งสร้างเป็นเก๋งจีน อยู่ในวังบางปะอิน คอยต้อนรับ ร. ซึ่งจะเสด็จมาจัดงานตรุษจีนให้แก่เชื้อพระวงศ์ที่เป็นคนจีน (ชายาของพระเจ้าลูกเธอ) ยายเริ่มครอบครัวอยู่ที่นี่ แล้วเปลี่ยนชื่อจาก "รัศมีคำ" ที่ได้รับพระราชทานชื่อจากเจ้ามหาชีวิต มาเป็น "นางบุญมี"
ยายมีลูก 4 คน ผู้ชาย 2 ผู้หญิง 2 แม่เป็นลูกคนสุดท้อง
แล้วเรื่องร้ายก็เกิดขึ้น คุณตาทองเสียชีวิต
ยายต้องพาลูกๆทั้ง 4 คนออกมาจากพระที่นั่งเวหาสน์จำรูญ.....
เอ...
เขียนเพลินมาจนป่านนี้
ไม่รู้เครื่องจะมีปัญหาอะไรหรือเปล่า
ผมเคยพิมพ์มากๆคำ แล้วเครื่องมันลบออกเอง
มันจะเป็นอย่างนั้นอีกหรือเปล่าเนี่ย
เอาเป็นว่า วันนี้ เล่าแค่นี้ก่อน
พรุ่งนี้มาต่อใหม่ดีกว่านะ
++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++
"มนัส กิ่งจันทร์ ภาคสอง ชุมทางหนังไทยในอดีต" โดยเติมคำว่า "ภาคสอง" คั่นกลางไว้..
อดีตจากฟิล์มภาพยนตร์ ไม่มีวันตาย..

ออฟไลน์ มนัส กิ่งจันทร์

  • มนัส กิ่งจันทร์ ภาคสอง ชุมทางหนังไทยในอดีต
  • Moderator
  • พี่น้อง thaicine Gold member
  • ***
  • กระทู้: 2814
  • พลังใจที่มี 35
  • เพศ: ชาย
    • มนัส ชุมทางหนังไทยในอดีต
ชีวิตนักพากย์ ตอนที่ 3
คุณ มนัส กิ่งจันทร์...ที่รัก
เมื่อวานผมลงข้อความ ชีวิตนักพากย์ ตอน 2
แต่ปรากฏว่าหลายคนหาอ่านไม่เจอ พวกเขารออ่าน
ในเพจของคุณมนัส ซึ่งผมก็ไม่รู้วิธีการที่จะนำไปลง
จึงลงในเพจส่วนตัวของผม คือ Chatchai Cheunkham จึงอยากฝากคุณมนัสช่วยบอกต่อเพื่อนๆด้วยว่า ให้ลองค้นหาเพจของผมดูก็จะเจอข้อเขียน...
หรือคุณมนัสมีข้อแนะนำอย่างไรก็บอกกันบ้างครับ เพราะผมไม่ค่อยรู้อะไรเกี่ยวกับคอมพ์มากนัก...
ขอบคุณนะครับ...
++++++++++++++++++++++++++++
ชีวิตนักพากย์ ตอนที่ 3
เมื่อคุณตาตาย...
คุณยายก็ต้องออกจากวัง...
ครับ...พูดเล่นๆก็เป็นแบบนั้น
แต่เรื่องจริงก็คือ ยายไม่มีหน้าที่อะไรในพระที่นั่งเวหาสน์จำรูญ จึงต้องพาลูกๆออกมา
พร้อมสิ่งหนึ่ง สำคัญสุดยอด
ตราครุฑพระราชทาน ที่สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงพระราชทานให้คุณตา เป็นเครื่องหมายว่า นายทอง พรหมยอด เป็นหมอยา (สมุนไพร) รับรักษาคนได้ทั่วไป และตำรายาทั้งหมด
อพยพออกมา...
แล้วยายก็พาลูกๆทั้งสี่ มาอยู่ที่บ้านโพธิ์แดน อำเภอบางมูลนาก จังหวัดพิจิตร
ให้ลูกๆทุกคนออกทำมาหากินช่วยตัวเอง ส่วนยาย ทำหน้าที่สืบทอดตำรายาของตา รับรักษาคนทั่วไป
แม่ผม...ซึ่งตอนนั้นกำลังเป็นสาวรุ่น และสวยด้วย
ออกไปรับจ้างเกี่ยวข้าว แล้วก็มีข่าวไปถึง เสือยวง พ่อผม ได้ข่าวจากสมุนว่ามีสาวสวยมารับจ้างเกี่ยวข้าวอยู้โพธิ์แดน ซึ่งเป็นตำบลใกล้เคียงกัน
แม่เล่าว่า ตอนนั้นพ่อมาจีบ แต่แม่ไม่ชอบก็เลยว่าให้แรงๆ
แทนที่จะโกรธ พ่อกลับส่งผู้ใหญ่มาสู่ขอ บังเอิญมีคนมาเล่าให้ยายฟังถึงสรรพคุณของเสือยวง ว่ามีเมียอยู่แล้วที่พิจิตร ลูกสองคน คนโตเป็นชาย คนเล็กเป็นหญิง ยายก็เลยตะเพิดกลับไป
แล้วเรื่องร้ายก็เกิดขึ้น
เมื่อวันหนึ่ง กลางวันแสกๆ
เสือยวงพาพวกเกือบสิบคนมาล้อมแม่ไว้ แล้วก็ฉุดแม่ให้เดินตามไป แม่ไม่ยอม ร้องด่าโขมงโฉงเฉง
แม่เล่าว่าตอนนั้นโมโหมาก จึงด่าไปแรงๆ แต่พ่อก็ไม่ย่อท้อ
พ่ออุ้มแม่ แล้วพาเดินฝ่าพวกเพื่อนที่มาเกี่ยวข้าวแล้วยืนงงดูอยู่ พ่อตะโกนว่า
"กูเสือยวงนะโว้ย จะเอาผู้หญิงคนนี้ไปเป็นเมีย พวกมึงไม่อยากเจ็บตัวก็อย่าตามไป อีกสามสี่วันจะส่งผู้ใหญ่มาขอขมา"
แล้วพ่อก็อุ้มแม่เดินจากไป โดยมีสมุนล้อมหน้าล้อมหลังกันไปเป็นพรวน ท่ามกลางเสียงด่าโวยวายของแม่ไปตลอดทาง
จนสมุนคนสนิทของพ่อถึงกับออกปาก
"พี่ยวง ผู้หญิงคนนี้ขอให้ข้าเถอะ ฟันปากมันทิ้งเสียให้สิ้นเรื่อง"
แต่พ่อรักแม่มาก อุตส่าห์พามาจนถึงบ้าน
หลังจากพิธีขอขมาแล้ว
แม่ก็จำใจอยู่กับพ่อมา...จนตายจากกันไป
จบเรื่องที่แม่เล่าให้ฟังแล้ว ผมก็สบายใจได้ว่า พ่อเราไม่ใช่ไอ้เสือปล้น
แต่...ผมก็ไม่คิดจะกลับไปอยู่ทุ่งโพธิ์อีกแล้ว
แล้วจะทำยังไง จะอยู่โดยไม่มีงานทำ แบมือขอเงินพ่อแม่ใช้ไปตลอดเหรอ คงไม่ได้แน่
แล้วผมก็นึกขึ้นได้ ที่ตลาดตะพานหินมีโรงหนังอยู่หนึ่งโรง เป็นอาคารไม้ ชื่อ โรงภาพยนตร์สิทธิกรณ์ เจ้าของชื่อ มานิตย์ สิทธิกรณ์ (คนเดียวกับ มานิตย์ สิทธิกรณ์ ที่มาตั้งบริการหนังอยู่อีสาน)
ผมมุ่งหน้าไปหาน้านิตย์ทันที
ขอสมัครทำงานเป็นเด็กโฆษณาหนัง ตามความรู้ที่ได้มาจากทุ่งโพธิ์ น้านิตย์บอกว่า ก็อยากได้คนโฆษณาใหม่อยู่เหมือนกัน แต่ไม่รู้ว่าแกจะโฆษณาเก่งแค่ไหน?
"ผมจะโฆษณาให้ก่อนฟรี เอาโปรแกรมนี้เลย ถ้าไม่ดีก็ไม่ต้องรับผมไว้...นะครับ"
แน่ะ พูดท้าทายเสียด้วย
ตกลงน้านิตย์ให้ผมลองโฆษณาโปรแกรมนั้นเลย
โปรแกรมแรก โปรแกรมทดลอง หรือ โปรแกรมวัดดวง
เป็นหนังฝรั่งจากรัสเซีย ดินแดนคอมมูนิสต์ ชื่อเรื่อง
"ทหารเอกพระเจ้าซาร์"
ปัญญาไวเท่าความคิด
ผมเริ่มโฆษณาด้วยลีลาว่า
"เชิญมาดูหนังรัสเซีย ทหารเอกพระเจ้าซาร์ หนังคอมมูนิสต์
ท่านที่ชอบถกเถียงกันตามร้านกาแฟ ว่าคอมมูนิสต์มันร้ายกาจมากมาย มันร้ายยังไง ดุเดือดเพียงใด อย่าลืมมาดู ทหารเอกพระเจ้าซาร์..."
ช่วงนั้น ช่วงที่ผมอายุ 18 ปี ช่วงที่คอมมูนิสต์กำลังระบาดไปทั่วโลก และสงครามเกาหลีเหนือ-เกาหลีใต้กำลังดุเดือด ผู้คนจึงสนใจหนังเรื่องนี้กัน คนมาแน่นหน้าโรง จนน้านิตย์ต้องเปิดฉายรอบพิเศษตอนกลางวัน ทั้งที่โรงหนังนี้ไม่เคยฉายหนังกลางวันมาก่อน
แล้วฟ้าก็ผ่าลงมากลางหัว!!!
เมื่อหนังจบ คนดูเดินออกมาจากโรงหนัง
หลายคนตะโกนหาไอ้คนโฆษณา แม่งไปอยู่ไหน
หนังคอมมูนิสต์ คอมมูนิสต์พ่องมึงสิ ขีม้าฟันดาบกันอุตลุด
ทหารเอกพระเจ้าซาร์ เป็นเรื่องของกองทหาร "คอสแสก"
ทหารม้าที่ยอดเยี่ยมของพระเจ้าซาร์ ซึ่งรบรันฟันดาบกันบนหลังม้ากับพวกกบถ
ผมเองเป็นคนอ่านหนังสือมาก พอมีความรู้อยุ่บ้างจึงเถียงไปว่า
"หนังนี้เป็นหนังรัสเซีย รัสเซียก็คือประเทศคอมมูนิสต์ แล้วมันจะผิดตรงไหนล่ะพี่..."
หลายคนที่รุมฟังอยู่ร้องเอออา เจ้าหมอนั่นก็เลยเดินจากไปอย่างหงุดหงิด
แต่สำหรับน้านิด แกดีใจมากเป็นพิเศษ
"เออ คนโฆษณามันต้องให้ได้อย่างนี้สิวะ กูหามานานแล้ว"
ตกลง...ผมได้รับการบรรจุ ได้เงินเดืน 150 บาท
ถือว่ามากที่สุดในสมัยนั้น มากกว่าพนักงานฉายเสียอีก
ผมกลับมาบอกแม่ แม่ดีใจมากๆ ที่เราเริ่มทำงานมีเงินเดือนแล้ว...
แต่ว่า...
ดวงผมมันไม่ได้อยู่แค่การเป็นคนโฆษณาโรงหนังเท่านั้น
ปรากฏว่า ที่ตลาดตะพานหิน มีโรงหนังสร้างใหม่ ครึึ่งตึกครึ่งไม้ ใหญ่กว่าโรงหนังสิทธิกรณ์มาก แถมเป็นโรงแรกที่ติดพัดลมเสียด้วย ชื่อ "สังวาลวัฒนา"
ในฐานะโรงใหม่ โรงใหญ่ โรงติดพัดลม เจ้าของหนังก็เลยเอาหนังไปเข้าโรงสังวาลวัฒนาหมด สิทธิกรณ์ภาพยนตร์จึงได้แต่หนังแย่ๆ หรือหนังรอบสองเท่านั้น
ไม่ช้า สิทธิกรณ์ภาพยนตร์ก็ต้องปิดตัวลง
เอาละซี...
ความฝันสลายแล้วซี...
แล้วทีนี้จะไปทำมาหากินอะไรดีล่ะ???
แล้วพระพรหม...ก็แหวกฟ้าลงมาขีดเส้นให้ผมเดิน
วันหนึ่ง น้านิตย์ให้คนมาตามผมไปหา แล้วเล่าให้ฟังว่า
น้านิตย์จะขายเครื่องสำอางค์ โดยตอนนี้ กำลังผลิตอยู่
จำนวนมาก ชื่อยี่ห้อ "ไบรเล่ยะ" เพื่อเป็นคู่แข่งกับ "มองเล่ยะ" ซึ่งกำลังดังอยู่สมัยนั้น ด้วยวิธีการเลียนแบบหนังขายยา โดยเราจะเอาหนังไปฉายกลางแปลง แล้วก็ขายเครื่องสำอางค์
"น้ามีอุปกรณ์การฉายและเรือเร่ครบแล้ว มีหนังไว้ฉายแล้ว
ขาดก็แต่นักพากย์....."
น้านิตย์หยุดพูด แล้วมองหน้าผม ก่อนจะพูดว่า
"แกต้องมาพากย์หนังให้น้า..."
"หา..."
ผมร้องอย่างตกใจ
"เกิดมาท้องพ่อท้องแม่ผมยังไม่เคยพากย์หนังเลย เดี๋ยวจะทำให้งานน้านิตย์เสียเอานะ"
"เออน่า น้าเชื่อความสามารถและพรสวรรค์แก แกเป็นนักพูดโฆษณาอยู่แล้ว เขยิบอีกนิดเดียวก็เป็นนักพากย์แล้ว น้าเชื่อว่าแกทำได้..."
น้านิตย์มองหน้าผมก่อนจะทิ้งท้ายว่า
"เย็นนี้มาหาน้า น้าจะให้แกหัดพากย์หนัง!!!"
++++++++++++++++++++++++++++++
"มนัส กิ่งจันทร์ ภาคสอง ชุมทางหนังไทยในอดีต" โดยเติมคำว่า "ภาคสอง" คั่นกลางไว้..
อดีตจากฟิล์มภาพยนตร์ ไม่มีวันตาย..

ออฟไลน์ มนัส กิ่งจันทร์

  • มนัส กิ่งจันทร์ ภาคสอง ชุมทางหนังไทยในอดีต
  • Moderator
  • พี่น้อง thaicine Gold member
  • ***
  • กระทู้: 2814
  • พลังใจที่มี 35
  • เพศ: ชาย
    • มนัส ชุมทางหนังไทยในอดีต
ชีวิตนักพากย์ ตอนที่ 4 โดย พี่ชาติ อธิษฐาน...
คุณ มนัส กิ่งจันทร์ ที่รัก...
เมื่อวาน ผมเขียน ชีวิตนักพากย์ ตอนที่ 4 ลงในเพจของคุณ
แต่มันหายไป ไม่มีใครได้อ่านเลย ผมก็ไม่รู้ว่าหายไปได้ยังไง
วันนี้ ผมจึงกลับมาเขียนในเพจของผม ยังไงก็รบกวนเวลาคุณมนัส ช่วยกรุณาแชร์ให้หน่อยนะครับ...
+++++++++++++++++++++++
เมื่อวาน...ผมเขียนถึงตอนที่
ผมได้มาพบกับน้านิตย์ คุณมานิตย์ สิทธิกรณ์ อดีเจ้าของโรงหนังสิทธิกรณ์ภาพยนตร์ ซึ่งเจ๊งไป และกำลังจะหันมาเอาดีทางขายเครื่องสำอางค์ โดยมีหนังกลางแปลงเป็นเครื่องล่อใจให้คนมาดูกันมากๆ แล้วก็ขายของไปเลย...
น้านิตย์เตรียมพร้อมสำหรับงานนี้ไว้แล้ว เครื่องสำอางค์กำลังบรรจุ หนังและเครื่องฉาย-เครื่องปั่นไฟมีพร้อม รอแต่เพียงเรือ ที่จะใช้บรรทุกตระเวนไปตามท้องน้ำแม่น้ำน่าน ซึ่งอีกสองสามวันผู้ขายจะนำเรือมามอบให้น้านิตย์ตามที่ตกลงกัน
ค่ำวันนั้น...
น้านิดเรียกผมเข้าไปหลังบ้านซึ่งเป็นห้องแถวของแก
จัดการขึงจอขนาดเล็ก เอาเครื่องฉายมาตั้ง แล้วเริ่มฉาย
หนังที่จะฉายเป็นหนังฝรั่งขาวดำ ม้วนเดียวจบ แต่ยาวหน่อย
เป็นหนังเก่า ไม่มีบทพากย์ โดยน้านิตย์จะฉายไป แล้วก็เล่าเรื่องไป ว่าตอนนั้นๆตัวละครพูดว่าอย่างไร ซึ่งผมจะต้องจำไว้
เพื่อพากย์ตอนเอาจริง
เอาละซี...
ใจเต้นตึ้กๆที่จะได้เป็นนักพากย์ ยังไม่เท่าไหร่
นี่ยังมาใจเต้นโครมๆเข้าไปอีก เพราะหนังไม่มีบทพากย์!!!
เอาวะ...
ผมนึกในใจ...
อะไรที่ไม่เคย เราต้องหัดให้เป็น
หัดเดินแจกใบปลิว, เก็บตั๋วโรงหนัง,
ซ่อมเครื่องไฟ, หัดฉายหนัง, หัดโฆษณา,
ก็หัดและทำจนเป็นมาแล้ว เรื่องพากย์หนัง
คิดว่าคงไม่ยากเกินไปจนเราทำไม่ได้...
หนังเรื่องนี้ชื่อ "บุกถ้ำสิงห์"
เนื้อเรื่องของหนัง เกิดขึ้นในยุคคาวบอยตะวันตกของอเมริกา
เป็นเรื่องของโจรก๊กหนึ่ง บุกเข้ามาปล้นหมู่บ้าน แล้วจับเอาตัวนางเอกไปด้วย เมื่อพระเอกกลับมา ทุกคนก็ขอให้เขาไปช่วยนางเอก
พระเอกของเราจึงขี่ม้าบุกเดี่ยวเข้าถ้ำสิงห์ร้ายตามชื่อเรื่อง
ดวลปืนฆ่าผู้ร้าย ปัง! ปัง !! ปัง !!!
3 นัดในพริบตาเดียว หัวหน้าผู้ร้ายกับลูกน้องตายเกลี้ยง
ช่วยนางเอกออกมาได้...
หนังจบ น้านิตย์สั่งให้หยุดพัก กินข้าวต้ม
เสร็จแล้วก็เริ่มฉายอีกครั้ง และครั้งนี้ ผมจะต้องพากย์จริงละ
น้านิดเอาเครื่องขยายเสียงขนาดเล็กที่ใช้กับรถแห่โฆษณามาติดตั้ง แล้วเอาไมโครโฟนยี่ห้อ Shur แบบหอยโข่ง คือรูปร่างกลมๆเหมือนหอยโข่ง สีเขียวแบบทหารอเมริกัน ตัวที่ผมใช้พูดโฆษณาหนังเป็นประจำนั่นแหละ
แล้วกการฉายก็เริ่มขึ้น
พอเริ่มภาพตราบริษัท ผมก็เริ่มให้เสียงทันที
"สิทธิกรณ์ภาพยนตร์...ภูมิใจเสนอ"
"อุบ๊ะ เยี่ยมเว้ย..."
เสียงน้านิดร้องออกมาด้วยความชอบใจ
ผมก็พากย์ไปเรื่อยๆ ตามเนื้อหาของหนัง ในการทำเสียงตัวละคร ผมพยายามนึกและจดจำลีลาของนักพากย์ดังๆหลายคนที่ผมเคยได้ดูเขาพากย์ พอเสียงผู้ร้ายก็ต้องทำเสียงห้าวๆใหญ่ๆ พอเสียงพระเอกก็ต้องพูดนิ่มๆ คล้ายๆลิเกทำนองนั้น
แต่พอมาถึงเสียงลูกน้องผู้ร้าย ก็พยายามทำเสียงกวนๆมั่ง
แหบๆมั่ง บางคนก็พูดติดอ่าง จนน้านิตย์นั่งหัวร่อก๊ากๆตลอดเวลา...
แต่...
พอมาถึงเสียงนางเอก!!!
พระเจ้าช่วยผมด้วยเถิด!!!
ก็คงจะเป็นอย่างนั้นจริงกระมัง!!!
พระเจ้า หรือพระพรหม หรือพระอะไรก็แล้วแต่
ท่านคงช่วยผม
พอเห็นหน้านางเอก ผมนึกถึงนักพากย์ท่านหนึ่งขึ้นมาทันที
"กอบกุล"
นักพากย์ชายหัวใจสีชมพูของยุคนั้น เสียงผู้หญิงเขาเยี่ยมจริงๆ
พอนางเอกพูด...ผมก็ใส่เสียงลงไปทันที
พระเจ้าช่วยผมจริงๆ ผมเค้นเสียงผู้หญิงออกมาได้
"เฮ้ย... หวานโว้ย..."
เสียงน้านิตย์พึมพำอยู่ข้างเครื่องฉาย...
หนังจบลง...ท่ามกลางความโล่งใจของผมและน้านิตย์
"เอ็งทำได้.. ทำได้สวยมาก ไอ้ชาติ"
น้านิตย์ชมเปาะ แล้วกำชับว่า ตอนพระเอกกับผู้ร้ายถกเถียงกัน
อย่าด่าคำว่า "ไอ้ชิบผาย" บ่อยนัก พูดคำสองคำมันก็ตลกดี แต่ถ้ามากไปมันจะกลายเป็นหยาบคาย
คำว่า "ไอ้ชิบผาย" นี้ ที่จริงผมจำมาจากนักพากย์ดังของสายเหนือเฉลิมชาติภาพยนตร์ คือ "รุจิกร" ฉายา "มนุษย์สารพัดเสียง" ที่ผมชอบเขามากเป็นพิเศษ พี่ชัย รุจิกร พากย์หนังเรื่องไหนจะฮาตลอดเรื่อง มุขประจำของแกก็คือ "ไอ้ชิบผาย" ที่ผมจำมาใช้นั่นแหละ
จากนั้นน้านิตย์ก็ให้ผมกลับบ้าน
และรอเวลาว่า เมื่อเรือยนต์มา และเครื่องสำอางค์บรรจุได้มากพอ ก็จะออกเดินทางไปเร่กันเลย
ที่จริงเครื่องสำอางค์ก็มีบรรจุเสร็จอยู่บ้างแล้ว แต่น้านิตย์บอกว่า ต้องให้มากๆ เพราะมั่นใจว่า เครื่องสำอางค์ชุด "ไบร์ไล่ยะ"ของแก จะต้องขายดีไม่แพ้เครื่องสำองค์ยี่ห้อ "มองเล่ยะ" ซึ่งกำลังติดตลาดอยู่ในเวลานั้น โดยเฉพาะ แป้งน้ำหอม "กุหลาบเจ็ดราตรี" เชื่อว่าผู้หญิงต้องอุดหนุนกันมากมาย
ผมเดินเอามือล้วงกระเป๋ากางเกงเดินกลับบ้าน
ท่ามกลางลมหนาวของกลางเดือนพฤศจิกายนที่เริ่มโชยมาแผ่วๆ
ตอนนี้ ผมผ่านก้าวแรกของการฝึกเป็นนักพากย์แล้ว
จากคนที่เรียนหนังสือแค่ ป.3 ความรู้น้อย ทำงานราชการไม่ได้ตามที่แม่เคยฝัน และบอกว่า ลุงผม ซึ่งเป็นผู้แทนจังหวัดพิจิตร สั่งมาว่า ให้เรียนให้จบ แล้วจะฝากงานให้ ทำงานราชการ อนาคตจะได้สบาย แต่ผมก็ไปไม่ถึงฝันของลุง
ผมจึงต้องสร้างฝันเอาเอง...
และ...ฝันของผมจะเป็นจริงหรือไม่ พรุ่งนี้มาอ่านต่อครับ...
++++++++++++++++++++++++++++++++
"มนัส กิ่งจันทร์ ภาคสอง ชุมทางหนังไทยในอดีต" โดยเติมคำว่า "ภาคสอง" คั่นกลางไว้..
อดีตจากฟิล์มภาพยนตร์ ไม่มีวันตาย..

ออฟไลน์ มนัส กิ่งจันทร์

  • มนัส กิ่งจันทร์ ภาคสอง ชุมทางหนังไทยในอดีต
  • Moderator
  • พี่น้อง thaicine Gold member
  • ***
  • กระทู้: 2814
  • พลังใจที่มี 35
  • เพศ: ชาย
    • มนัส ชุมทางหนังไทยในอดีต
ชีวิตนักพากย์ ตอนที่ 5 โดยพี่ชาติ อธิษฐาน
...................................
คุณ มนัส กิ่งจันทร์ ที่รัก
เมื่อวาน 21 พ.ย. ผมเขียน ชีวิตนักพากย์ตอนที่ 4 ซ้ำ
แทนที่เขียนไปคราวที่แล้ว แล้วมันหายไป เพราะคิดว่า
อาจมีบางคนไม่ได้อ่านตอนที่ 4 เกรงจะไม่ปะติดปะต่อ
เลยเขียนซ้ำไป
วันนี้...ผมจะเล่าต่อนะครับ...
++++++++++++++++++++++++
ชีวิตนักพากย์ ตอนที่ 5
ผมกลับมาถึงบ้าน ตกประมาณ 5 ทุ่ม
เสียงแม่ถามมาว่า ไปไหนมา กลับจนดึกๆดื่นๆ แม่เป็นห่วงนะ
ผมก็บอกแม่ว่า ผมไปหาน้านิตย์มา น้านิตย์สิทธิกรณ์ เขาหัด
ให้ผมพากย์หนัง จะชวนผมไปอยู่เรือขายเครื่องสำอาง เร่ไป
ตามที่ต่างๆ เหมือนรถหรือเรือขายยาแหละแม่...
แม่ก็พลอยดีอกดีใจไปด้วย ที่ลูกชายคนโตจะได้มีอาชีพเลี้ยงตัวและเลี้ยงพ่อแม่ได้
(ที่จริงผมเป็นลูกคนที่ 4 ของแม่ พี่ชายคนโต ถูกหมาบ้ากัดตายตั้งแต่ตอนสี่ขวบ พี่ชายอีกสองคนเป็นฝาแฝด ก็ตายตั้งแต่ยังเล็ก ผมเป็นคนที่ 4 เป็นคนที่เหลือรอดอยู่ จึงนับเป็นลูกคนโต)
คืนนั้น...ผมนอนหลับสนิท และฝันหวานอะไรบ้างก็ลืมไปแล้ว
เช้าวันต่อมา...
ผมอาบน้ำแต่งตัวออกจากบ้าน มุ่งหน้าสู่ร้านสิทธิกรณ์พานิช
โดยคิดว่าถึงอย่างไร น้านิตย์ก็คงจะมีงานอะไรให้ผมทำบ้าง
เพราะถึงแม้โรงหนังจะปิดไปแล้ว แต่น้านิตย์ก็ยังจ่ายเงินเดือนให้ผมสม่ำเสมอ ผมจึงไม่อาจดูดายที่จะช่วยงานต่างๆในร้านสิทธิกรณ์พานิชของน้านิตย์
พอผมโผล่เข้าไปในร้าน
ก็เห็นผู้ชายแต่งตัวไว้ทุกข์ 4 นั่งนั่งคุยกับน้านิตย์ ผมขยับตัวจะถอยกลับ ด้วยมารยาทว่า ผู้ใหญ่เขาจะคุยกัน แต่แล้วก็ต้องชะงัก เมื่อเสียงน้านิตย์พูดขึ้นว่า
"นี่ไง นักพากย์ของผม ที่จะให้ไปพากย์คืนนี้ละ"
ผมตกใจแกมงงๆ เมื่อท่านทั้ง 4 นั้นยกมือไหว้ผม เล่นเอาไอ้เด็กเมื่อหัวฝนอย่างผมเงอะๆงะๆไปเลย
น้านิตย์อธิบายว่า ท่านทั้ง 4 เป็นญาติๆและลูกหลานของเถ้าแก่โรงสีที่หนองบัว อำเภอบางมูลนาก ซึ่งอยู่ใต้ตะพานหินลงไป เนื่องจากเถ้าแก่เสียชีวิตลง จะมีการฉายหนังกลางแปลงในงานศพ จึงมาหาหนังที่ร้านสิทธิกรณ์พานิช ตกลงไปฉายคืนนี้ โดยให้ผมไปประเดิมเริ่มการพากย์...
โอย ตายๆๆๆๆๆๆ
เพิ่งหัดพากย์มาเมื่อคืน วันนี้ต้องออกสนามจริงแล้วเหรอ???
ผมเริ่มใจเต้นตึ้กตั้กๆ แต่ก็สงบลงได้ ด้วยคำว่า
สิ่งใดไม่เคย จงหัดให้เคย ชำนาญแล้วก็สบาย
คืนนั้น...
เป็นคืนที่สนุกที่สุดในชีวิตการเป็นนักพากย์ของผม
คนดูไม่รู้มาจากไหน นั่งกันเต็มลานที่ฉายหนังเต็มไปหมด
เมื่อคนมาก ผมก็ยิ่งคึกคัก ใส่ลูกเล่นลงในหนังแบบไม่ยั้งมือ
ซึ่งก็แปลกเหมือนกัน ไม่รู้กำลังใจมาจากไหน
เรื่องนี้...ผมเคยเล่าให้พวกคณะลิเกเขาฟัง เขาบอกมันเป็นวิญญาณศิลปิน เมื่อเห็นคนดูมากๆมันก็มีกำลังใจขึ้นมาเอง
เหมือนพวกลิเก ถ้าคืนไหนคนดูน้อยๆก็จะร้องจะรำไม่ค่อยออก เออ...ก็น่าจะจริง
เอ๊ะ...งั้นผมก็เป็นศิลปินไปแล้วสิ
เพราะมีวิญญาณศิลปินเหมือนกันนี่นา
งานคืนนั้นผ่านไปด้วยดี
เช้าวันรุ่งขึ้น เจ้าภาพได้ยกขบวนมาส่งผมถึงร้านน้านิตย์
ออกปากชมเชยเสียผมงี้ตัวลอยเลยละ
แล้วงานเร่เรือขายเครื่องสำอางก็เริ่มขึ้น
น้านิตย์ให้ผมหาคนมาช่วยอีกสองคน ผมก็เลยไปตาม ไอ้เสริฐ เพื่อนที่ไปตกยากที่ทุ่งโพธิ์ กับไอ้เปี๊ยก เพื่อนร่วมชั้นเรียน ให้มาอยู่ด้วยกัน น้านิตย์ให้ไอ้เสริฐหัดฉายหนัง บอกว่า ไอ้เสริฐมันตัวดำ ให้อยู่หลังเงา ส่วนไอ้เปี๊ยก ลูกชายอดีตนายอำเภอหล่มสัก ผิวขาว หน้าตาดี ให้เป็นคนหยิบของขาย ส่วนน้านิตย์ คอยควบคุมอยู่ห่างๆ
การทำงานเป็นทีมของพวกเรา...ผ่านไปด้วยดี
แต่...ก็มีอุปสรรคจนได้
ไอ้เปี๊ยก...อยากหัดพากย์หนังเหมือนผม ไม่กล้าบอกน้านิตย์ จึงขอร้องให้ผมช่วยหัดให้
เอ๊า...ข้าเอ็งก็เพิ่งเป็นยังไม่กี่เดือนเลย จะเก่งถึงขนาดหัดให้เอ็งเชียวเรอะ
แต่ผมก็รักเพื่อน และตามใจเพื่อน
ผมใช้วิธีแนะนำมันว่า ให้ดูลีลาการพากย์ของผม แล้วคอยจดจำไว้ ขณะพากย์ๆไป ผมจะแอบสะกิดไอ้เปี๊ยก แล้วส่งไมค์ใส่มือให้มันพากย์ต่อ โดยหวังว่า ที่อยู่กันมาสี่ห้าเดือนนี้ มันคงจำอะไรได้แน่นอน
แต่ผิดคาด!!!
ไอ้เปี๊ยกเป็นคนบ้าจี้
ชอบพูดไปหัวเราะไปเหมือนคนเส้นตื้น
พอมันพากย์ไปได้สองสามคำก็หัวร่อกี๊กๆขึ้นมาโดยไม่มีเหตุผล น้านิตย์ซึ่งนอนดูอยู่บนเก้าอี้ผ้าใบ เห็นเข้า ก็ร้องห้ามทันที
"เฮ้ย กูทำมาหากินนะเว้ย ไม่ใช่ให้พวกมึงมาเล่นสนุกกัน ไอ้ชาติ ทำงานอย่าทิ้งหน้าทีซีวะ"
ผมก็ต้องรีบคว้าไมค์มาจากไอ้เปี๊ยก แล้วพากย์ต่อไปจนจบ
นั่นเป็นเหตุให้ชีวิตผมเบี่ยงเบน
แล้วก็เป็นเรื่อง เมื่อไอ้เปี๊ยกแอบไปพูดกับไอ้เสริฐว่า
"ถ้าไอ้ชาติยังแย่งไมค์กลับไปพากย์เองแบบนี้ กูไม่มีวันเป็นนักพากย์กะเขาหรอก"
ผมคิดหนัก
ระหว่างหน้าที่กับเพื่อนรัก จะทำยังไง
ทุกครั้งที่ผมยื่นไมค์ให้ไอ้เปี๊ยกพากย์
พูดไปได้สามสี่คำไอ้เปี๊ยกก็ปล่อยกี๊กออกมาโดยไม่มีเหตุผล
แล้วน้านิตย์ก็จะหันมาตวาดผมทุกที
ผมตัดสินใจทันที
โดยเลือกเอาวันสำคัญ
หนังมาฉายที่หน้าเสาปั้นจั่น ซึ่งอยู่ห่างจากร้านน้านิตย์ไม่ถึง 100 เมตร
เสาปั้นจั่น...ก็คือ
เสาไม้สูงๆสำหรับใช้กว้านยกสินค้าขึ้นหรือลงเรือริมท่าน้ำ
ไอ้เสาสูงๆที่ยกของตามท่าเรือนั่นแหละ บ้านผมเรียกเสาปั้นจั่น
เย็นนั้น...หลังจากวิ่งเรือโฆษณาไปตามริมน้ำทั้งเหนือตลาดและใต้ตลาดแล้ว เราก็มาเตรียมงานกัน
คืนนั้น...คนบ้านใกล้เรือนเคียงมานั่งดูกันข้างเครื่องฉายเต็มไปหมด หลายคนยังไม่รู้ ว่าผมมีหน้าที่พากย์หนังคืนนี้
จนถึงเวลาฉาย...
เอาละซี ดูหนังกันไม่สนุกเสียแล้ว พวกเพื่อนบ้านหลายคนหันมาเห็นว่าผมเป็นคนพากย์ นั่งส่งเสียงแจ้วๆ ก็ชี้ไม้ชี้มือ ร้องบอกกันเอะอะไปหมด
"เฮ้ย ไอ้ชาติพากย์หนังว่ะ..."
"ไอ้ชาติเป็นนักพากย์???"
"ไอ้ชาติเป็นนักพากย์แต่เมื่อไร่วะ???"
ผมต้องใช้ความพยายามควบคุมสมาธิอย่างสูงสุด
ปากย์ก็พากย์ไป ตาก็ดูหนังไป มือก็คอยโบกให้คนโน้นคนนี้
โอยยยยย ยังกะดาราซูเปอร์สตาร์เลยแหละ
เพราะทุกคนเคยเห็นแต่ผมเดินแกว่งไปแกว่งมา ไม่มีงานทำ
แล้วอยู่ๆก็มาเป็นนักพากย์เสียแล้ว
คืนนั้น...
ตอนหนังจบ...
ผมทิ้งท้ายให้คนดูฮากันสนั่น
ด้วยคำพูดว่า...
"สิทธิกรณ์ภาพยนตร์เป็นผู้นำเสนอ ลูกเขยสัปเหร่อพากย์ไทย"
เท่านั้นแหละ เสียงฮาเสียงโห่ดังสนั่นไปหมด
ลามมาถึงรุ่งเช้า ผู้คนแถวบ้านที่ไปดูหนังมาเมื่อคืน ต่างพูดถึงกันวุ่นวาย แล้วเลยถามไปว่า ผมมีเมียแล้วหรือ เมียผมเป็นลูกสาวสัปเหร่อ หรือ สัปเหร่อวัดไหนล่ะ???
เล่นเอาพ่อกับแม่ผมวุ่นวายอยู่กับการตอบคำถาม
"มันพูดเล่นหรอก มันพากย์เล่นๆ มันยังไม่มีเมียหรอก..."
จากนั้น...
ผมก็ต้องทำตามความตั้งใจ
"เพื่อนต้องมาก่อน"
ผมแอบเขียนจดหมายลาออก โดยบอกน้านิตย์ว่า
ให้ยกหน้าที่พากย์ให้ไอ้เปี๊ยก ส่วนผม บอกไม่ได้หรอกว่า
จะไปไหน ไปทำอะไร บอกได้เพียงว่า ไม่ว่าผมจะไปอยู่ที่ไหนหรือทำอะไร ผมจะไม่ลืมบุญคุณของน้านิตย์เลย
ให้เพื่อนคนหนึ่งไปส่งจดหมายให้ แล้วผมก็ออกจากบ้าน
ไปไหนดีล่ะ???
ผมยังไม่มีโปรแกรม
และยังไม่มีแผน ไม่มีงานรองรับเลย
เมื่อตัดสินใจลาออก ก็ออกจากงานโดยไม่ปรึกษาพ่อแม่ด้วย
แล้วผมก็หลบไปอยู่ที่ บ้านคลองข่อย บ้านเดิมของปู่และย่าผม รอเวลาว่า จะทำอะไรต่อไป แต่ต้องให้เรื่องมันสงบเสียก่อน ผมถึงจะกลับบ้าน
ซึ่งก็ยังไม่รู้เหมือนกันว่า
ถ้าผมไม่พากย์หนังกับน้านิตย์ แล้วผมจะไปพากย์กับใคร ผมไม่รู้จักใครทั้งนั้น โลกของผมมันยังเล็กและแคบเกินกว่าที่ผมจะดิ้นรนหาทางไป
แต่เมื่อผมตั้งใจไว้อย่างนี้แล้ว ก็ต้องทำต่อไป
ส่วนอนาคต ก็แล้วแต่พระเจ้าจะนำทางให้ผมเดิน...
พรุ่งนี้อ่านต่อนะครับ...
+++++++++++++++++++++++++++
"มนัส กิ่งจันทร์ ภาคสอง ชุมทางหนังไทยในอดีต" โดยเติมคำว่า "ภาคสอง" คั่นกลางไว้..
อดีตจากฟิล์มภาพยนตร์ ไม่มีวันตาย..

ออฟไลน์ มนัส กิ่งจันทร์

  • มนัส กิ่งจันทร์ ภาคสอง ชุมทางหนังไทยในอดีต
  • Moderator
  • พี่น้อง thaicine Gold member
  • ***
  • กระทู้: 2814
  • พลังใจที่มี 35
  • เพศ: ชาย
    • มนัส ชุมทางหนังไทยในอดีต
คุณ มนัส กิ่งจันทร์...ที่รัก
วันนี้ ผมยังเขียนลงในเพจของผมตามเดิม
เพราะกลัวจะเกิดการผิดพลาดบางอย่างขึ้นมา
........................................

ชีวิตนักพากย์ ตอนที่ 6

ผมเขียนจดหมายลาออกแล้วฝากเพื่อนไปส่งให้น้านิตย์
เพราะผมไม่อยากเผชิญหน้ากับน้านิตย์ ซึ่งเป็นผู้มีพระคุณ
ฝึกสอนให้ผมเป็นนักพากย์ขึ้นมา แล้วผมก็หลบอยู่ที่บ้านปู่กับย่า ซึ่งตอนนี้ ปู่ไม่อยู่แล้ว พาเมียน้อยชาวเขาเผ่าอีก้อไปเป็นนายท้ายเรือเมล์แดงอยู่แถวโพธิ์พระยา สุพรรณบุรี ที่บ้าน จึงเหลือแต่ย่า กับหลานๆบางคนที่ไปๆมาๆคอยช่วยเหลือย่า

ตรงนี้...ก็ขอนอกเรื่องสักนิด
ที่ว่าปู่ผมไม่อยู่ที่บ้านนี้นานแล้ว ก็เพราะ
สมัยนั้น ยังมีพวกชาวเขาเผ่าฮ่อลงมาปล้นสดมภ์ชาวบ้านอยู่บ่อยๆ ทางแถบภาคเหนือ ทางการจึงส่งกำลังทหารไปปราบ
ปู่ผมท่านก็อาสาไปรบด้วย ที่สมรภูมิ "สบแอบเชียงค้อ" เลยไปถึง "เมืองหัวพันทั้งห้าทั้งหก" ซึ่งอยู่ในเขตแดนลาว
เรื่องนี้ย่าเล่าให้ฟังว่า ปู่หายหน้าไปสงครามปีกว่า ก็กลับมาพร้อมด้วยเมียน้อยชาวเขาเผ่าอีก้อติดมาด้วย...

ย่าโกรธมาก
ไม่ได้โกรธที่ปู่มีเมียน้อย แต่โกรธที่ปู่ "ติดยาฝิ่น" มาจากพวกชาวดอย กลายเป็นสิงห์อมควัน ซึ่งย่าบอกว่า
"มึงมีเมียน้อย กูทนได้ แต่มึงขี้ยา กูทนไม่ได้ มึงไปเลิกยาให้ได้ก่อน แล้วจึงกลับเข้าบ้านกู ส่วนเมียมึง ถ้าเลี้ยงไม่ไหวก็ทิ้งไว้นี่แหละ กูเลี้ยงให้เอง..."
นั่นเป็นเหตุให้ปู่ฮึดฮัดพาเมียชาวเผ่าอีก้อหายไปจากบ้าน จนต่อมามีคนมาส่งข่าวว่า ปู่ไปเป็นนายท้ายเรือเมล์แดงอยู่ที่โพธิ์พระยา จังหวัดสุพรรณบุรี
และ...หายไป ไม่กลับมาอีกเลย...

ผมอยู่ที่บ้านย่าแค่สองสามวันก็กลับตะพานหิน และรู้จากเพื่อนว่าน้านิตย์อ่านจดหมายแล้วโกรธมาก ด่าโวยวายอยู่เป็นวัน เพื่อนเล่าว่า น้านิตย์บอกว่ารักมันมาก เพราะเป็นเด็กที่สอนอะไรง่าย สนองตอบคำสั่งได้ทันใจ จึงเสียดาย
แต่ในที่สุดน้านิตย์ก็สั่งออกเรือไปเร่ขายเครื่องสำอางต่อไป เพราะได้ออกปากจองสถานที่เขาไว้หลายแห่ง จึงต้องไปตามกำหนดนัดกันไว้

ผมอยู่บ้านไม่มีอะไรทำ แม่ก็บ่นแต่ว่า อยู่ดีไม่ว่าดี เห็นแก่เพื่อน ตัวเองจะอดตาย
ผมไม่อยากฟังแม่บ่นก็เลยออกจากบ้าน เตร็ดเตร่ไปตามตลาดอย่างไร้จุดหมาย พลางคิดในใจว่า
ชีวิตเพิ่งเริ่มต้น พระเจ้าส่งความสามารถใส่สมองมาให้แล้ว ไม่ช้า ท่านจะส่งสนามประลองมาให้เรา...

ให้ตายเถอะ...
เหมือนพระเจ้าทรงทราบ
แล้วผมก็เจอเข้ากับนักเร่หนังสองคนผัวเมีย
เขาเอาหนังมาเร่ฉายปิดวิก แต่ยังขาดนักพากย์ ผมเลยได้งาน
ตกลงค่าจ้างกันคืนละ 30 บาท โอ้โฮ นี่ถ้าผมทำงานได้ 10 คืน ผมก็จะได้ค่าตัวถึง 300 บาท เท่ากับพนักงานเสมียนอำเภอที่ต้องทำเป็นเดือนเชียวนะ

แต่...งานพากย์ของผมก็ลุ่มๆดอนๆ
บางครั้งได้พากย์หนังไทย (สมัยนั้นยังเป็นหนังขาวดำ)
แล้วก็มาถึงหนังฝรั่ง หนังที่ทำให้ผมเขยิบความสามารถของการเป็นนักพากย์ เป็นหนังขาวดำเหมือนกัน คือหนังฝรั่งเรื่อง
"ทาร์ซานน้อย"
ดูเหมือนจะนำแสดงโดน รอนนี่ ฟลินซ์ (ลูกชาย เออรอน ฟลินซ์ ดารานักดาบของฮอลลี่วู้ดสมัยนั้น)
หนังเรื่องนี้ "ไม่มีบทพากย์ มีแต่บทบรรยาย เจ้าของอธิบายว่า
บริษัทหนังฝรั่งในเมืองไทย เขาจะให้เช่าแต่ม้วนหนัง ถ้าอยากได้บทพากย์ด้วยต้องจ่ายอีก 50 บาท หรือจะเอาบทบรรยาย ก็จ่าย 30 บาท (ไอ้ห่า เท่าค่าตัวกูเลย)
ไม่พากย์ก็ไม่มีกิน ผมจึงตัดสินใจรับพากย์

ลักษณะของบทพากย์หนัง กับ บทบรรยายนั้น ต่างกัน คือ
ถ้าเป็นบทพากย์ จะมีชื่อตัวละครอยู่ด้านซ้ายมือสุดของหน้ากระดาษ แล้วเว้นว่างช่วงกลางนิดหน่อย ต่อมาก็เป็นคำพูดของตัวละคร ชนิดคำต่อคำ
แต่ถ้าเป็นบทบรรยาย เข้าจะพิมพ์ตัวเลขลำดับไว้ด้ายซ้ายสุดของหน้ากระดาษ ต่อมาก็เว้นเวรรค แล้วเป็นคำอธิบาย (ไม่ใช่บทพูด) บอกว่า...
"จอห์นมาหาแฟรงค์ เพื่อขอร้องให้ไปช่วยปราบโจร"
"แฟรงค์ปฏิเสธ"
"จอห์นว่า เขาไม่มีเพื่อนคนไหนอีกแล้ว ถ้าแฟรงค์ไม่ช่วย ก็จะไปคนเดียว"
ลักษณะนี้...ซึ่งหนังก็จะถกเถียงกันไปมา ที่ผมจะต้องพูดให้พอดีกับปาก ต้องให้ลงตัว ต้องให้ได้ความหมายตามเนื้อเรื่อง
"เอาซีวะ...สู้ซีวะ"
ผมบอกตัวเอง
"นี่คือวิถีของการเป็นนักพากย์ ไม่ใช่นั่งแกะปากจากบทพากย์ไปวันๆ"

แล้วการพากย์ก็เริ่มขึ้น...
ในฉาก...จอห์นเดินเข้ามาหาแฟรงค์ พอยกมือผมก็เริ่มพากย์
โดยพยายามให้ตรงปากหนัง และพอดีกับปาก ไม่มากไม่น้อย

"หวัดดีโว้ยแฟรงค์"
"เออ หวัดดี ไปไหนมาล่ะ?"
"มาหาแกซี มาขอความช่วยเหลือหน่อย"
"เรื่องไรวะ?"
"ไอ้โจรร้ายมันปล้น แล้วหนีไป ทางการให้รางวัลนำจับ ฉันจะไปคนเดียวก็นึกหวั่น จึงมาชวนแกไปด้วย ช่วยกัน"
"เฮ้ย โทษทีเพื่อน ตอนนี้ฉันมีเมียแล้ว ไม่อยากไปเสี่ยง"
"แล้วแกจะปล่อยให้เพื่อนไปเสี่ยงตายคนเดียวเรอะ?"
"อ้าว.. พูดงี้ก็ดูถูกใจเพื่อนซีวะ เอา ตายไหนตายกัน เพื่อนกันอยู่แล้ว..."

นี่คือบทเจรจาที่ผมด้นเดาเอาตามแนวทางของบท
ซึ่งก็รู้สึกอัศจรรย์ใจตัวเองเหมือนกัน
มันลงตัว ลงปากหนัง
ได้อย่างใจ
จนผมอดคิดไม่ได้ว่า ตอนผมนั่งพากย์ พระเจ้าคงมาแอบนั่งคอยช่วยดลใจอยู่ข้างหลังผมแน่นอน...

เจ้าของหนังคงเห็นความสามารถของผม เลยจองตัวว่า คราวหน้าจะมาเอาตัวผมไปพากย์อีก

แล้วก็มีเจ้าของหนังอีกรายหนึ่ง ที่ผมต้องบันทึกชื่อไว้ ที่จริงเขาเป็นนักพากย์รุ่นพี่ผม ชื่อจริงคือ
สนอง สังข์ทอง
นามพากย์คือ "สังข์ทอง กับ สุดาพร"
เขาเช่าหนังไปเดินสายเร่แถวๆบ้านผม แล้วก็มาจ้างผมไปพากย์ โดยที่ตัวเขาต้องไปนั่งคุมการขายตั๋ว จึงให้ผมพากย์กับคุณ สุดาพร เมียเขา แต่บางวันคุณสุดาพรขี้เกียจก็ปล่อยให้ผมพากย์เดี่ยว

รับจ้างพากย์หนัง
อยู่ดีกินดีมาไม่นาน
แล้วพระพรหมท่านก็หักมุมชีวิตของผม

วันนั้น...
ผมไปพากย์งานกลางแปลงที่ตลาด ดงขุย อำเภอชนอดน ในเขตของจังหวัดเพชรบูรณ์
และคืนนั้น ที่วิกดงขุยก็มีหนังฉายด้วย หนังไทย 2 เรื่องควบ เรื่อง "ขุนโจรใจเพชร" กับ "เลือดทรยศ"
(เห็นไหม หนังฉาย 2 เรื่องควบ มีมาตั้งแต่ พ.ศ. 2498 โน่นแล้ว)
คืนนั้น...ผมก็พากย์หนังกลางแปลงของผมไป
แต่...ช่วงท้ายๆใกล้หนังจะจบ รู้สึกว่า มีผู้หญิงกับผู้ชายสองคน มายืนประกบอยู่ข้างหลังผม ผมออกจะระแวงอยู่เหมือนกัน แต่ก็ทำใจดี คิดว่าคงไม่มีใครมาปองร้าย นั่งพากย์ไปจนหนังจบ
แล้วผู้หญิงกับผู้ชายสองคนนั้นก็เข้ามาทักทายผม พรางชมว่า
"พากย์ได้เก่งมาก น้องชาย..."
"เสียงผู้หญิงดีด้วย ฟังเพราะเหมือนผู้หญิงจริงๆเลย"
ผู้หญิงคนนั้นช่วยพูดเสริม
ผมยกมือไหว้ขอบคุณ แล้วถามว่า
"พี่สองคนเป็นใครครับ?"
"พี่สองคนเป็นนักพากย์ ชื่อ ฟ้าฟื้น กับ รัศมี"
โฮๆๆๆ ผมร้องในใจ ฟ้าฟื้นกับรัศมี นักพากย์ดังของสายเหนือเชียวนะนี่ บุญวาสนาของผมที่ได้มาเจอ
"พี่สองคนมาไงครับนี่?"
"พี่มาพากย์หนังที่โรง แต่คนดูไม่มี เพราะเป็นหนังรอบสอง เคยมาฉายแล้ว ทางโรงเลยงดไป พี่อยู่ว่างๆก็มาดูน้องพากย์ น้องชายเก่งมาก พากย์หนังมานานหรือยัง?"
"ห้าหกเดือนแล้วครับ...."

พี่ฟ้าฟื้นแนะนำตัวเองว่า ชื่อจริงชื่อ
ฟ้อน กิตติขจร พ่อของพี่ชื่อ ฟื้น เป็นพี่ชายของ พล.เอก ถนอม กิตติขจร นายทหารมือขวาของจอมพลสฤษดิ์ ในยุคนั้น แล้วพี่เขาก็ลงท้ายว่า

"ไปพากย์หนังอยู่บริษัทเดียวกับพี่ไหม ได้พากย์หนังโรง ได้เดินสาย รายได้เป็นเดือน มั่นคงกว่ารับจ้างพากย์กลางแปลง มีงานมั่งไม่มีมั่ง พอหน้าฝนก็ต้องนอนว่างไปสามเดือน ไปพากย์หนังสายกับพี่ พากย์เก่งๆเสียงผู้หญิงดีๆอย่างนี้ ไม่ช้าก็ดัง ไปโรงไหนคนก็แห่มารับ อาหารการกินที่หลับที่นอน ทางโรงจัดการให้เราเสร็จ...
พี่เห็นน้องแล้วนึกเอ็นดูเป็นพิเศษ อยากชวนไปอยู่ด้วย
ไปนะ..."
++++++++++++++++++++++++++++

"มนัส กิ่งจันทร์ ภาคสอง ชุมทางหนังไทยในอดีต" โดยเติมคำว่า "ภาคสอง" คั่นกลางไว้..
อดีตจากฟิล์มภาพยนตร์ ไม่มีวันตาย..

ออฟไลน์ มนัส กิ่งจันทร์

  • มนัส กิ่งจันทร์ ภาคสอง ชุมทางหนังไทยในอดีต
  • Moderator
  • พี่น้อง thaicine Gold member
  • ***
  • กระทู้: 2814
  • พลังใจที่มี 35
  • เพศ: ชาย
    • มนัส ชุมทางหนังไทยในอดีต
ชีวิตนักพากย์ ตอนที่ 7 โดย พี่ชาติ อธิษฐาน
..
24 พ.ย. 60
คุณ มนัส กิ่งจันทร์ ที่รัก
ผมยังคงเขียน ชีวิตนักพากย์ อยู่ที่เดิมนะครับ
+++++++++++++++++
ชีวิตนักพากย์ ตอนที่ 7
แล้วผมก็ตัดสินใจ
ติดตาม ฟ้าฟื้น - รัศมี
หรือ พี่ฟ้อน กิตติขจร ไปโดยไม่ลังเล
ก็...โชคใหญ่มาถึงตัวแล้ว ไม่รีบรับไว้ก็ดูจะโง่ไปหน่อย
ทุกคนแหละครับ เมื่อเริ่มอาชีพ ก็อยากอยู่ในอุปการะของผู้มีบารมีในสายงานนั้นๆ เพื่อเป็น "บันไดทอง" ไต่เต้าขึ้นสู่ที่สูง
สังเกตดู
ชีวิตผมมักมีโชคเข้ามาโดยไม่รู้ตัวบ่อยที่สุด
ซึ่งผมมักจะคิดเสมอว่า โชคที่เข้ามาหาผมแต่ละครั้ง
บันดาลให้โดย "พระพรหม" ซึ่งผมนับถือเป็นสรณะเลย
พูดถึงพระพรหม...ขอนอกเรื่องสักนิดนะครับ
แม่เล่าว่า ตอนที่แม่ตั้งท้องผม แม่แพ้ทองแปลกมาก คือ
อยากกินดิน!!!
แม่มักจะไปขุดเอาดินเหนียวมาปั้นเป็นก้อนๆ แล้วตากแดดให้พอหมาดๆ จากนั้นนั้นก็เอามากัดกิน และกินได้ทีละมากๆ
วันไหนแม่หาดินเหนียวไม่ได้ แม่ก็จะไปเอา "ลูกกระสุน" ที่พ่อปั้นตากแดดไว้สำหรับยิงไล่นกที่มาลงกินข้าวในนา แม่จะเอามาทุบๆ ให้แตกเป็นชิ้นเล็กๆ แล้วก็กัดกิน...
พ่อเห็นผิดสังเกต เพราะคนแพ้ท้องส่วนมากจะอยากกินของเปรี้ยวๆเผ้ดๆ แต่แม่กลับอยากกินดิน พ่อจึงพาแม่ไปหาหมอดู
หมอดูคนนี้ชื่อ "หมอผัง" พ่อพาแม่มาปรึกษา แล้วให้หมอช่วยทำนาย หมอผังรับฟังเรื่องแล้วก็ออกมายืนนอกบ้าน เงยหน้ามองฟ้า เพ่งแสงตะวันอยู่พักใหญ่ก็กลับเข้ามา แล้วบอกว่า
"ไอ้เด็กในท้องนั่นน่ะ ลูกพระพรหมมาเกิด พระพรหมเป็นผู้สร้างโลก สร้างแผ่นดิน ท่านจึงชอบกินดิน..."
แล้วแม่ก็ถามว่า
"แล้วเมื่อโตขึ้น ชะตาชีวิตจะเป็นอย่างไร?"
หมอผังก็อธิบายไปตามตำราของท่านว่า ชะตาคนเกิดในแบบนี้ คือลุกพระพรหมมาเกิด เขาจะเป็นที่พึ่งของพ่อแม่ พี่น้อง ชีวิตของเขา ไม่ว่าจะทำอะไร จะไม่มีอุปสรรค ชื่อเสียงจะโด่งดังพอสมควร
ไม่ว่าจะหาเงินหาทองได้เท่าไหร่ มันจะหมดไปกับการช่วยพี่น้อง ช่วยลูกเมีย ช่วยคนอื่น เขาจะไม่มีโอกาสรวย จะไม่มีโอกาสนั่งกินนอนกิน แต่จะลำบากจนแก่เฒ่า
หาได้เท่าไหร่ มันจะหมดไปด้วยการช่วยคนอื่น
แต่เมื่อยามเขายากจนหรือลำบาก ลูกเมีย พี่น้อง จะทอดทิ้งเขาไปหมด!!!
แม่เล่าว่า ฟังมาถึงตรงนี้ แม่ถึงกับน้ำตาซึมด้วยความสงสารเรา ทั้งที่เรายังไม่เกิด...
และนั่น...
เป็นเหตุให้ผมนับถือ พระพรหม มั่นคงต่อท่านเสมอมา
ผมติดตามพี่ฟ้อนกับพี่ม่วย หรือ ฟ้าฟื้น กับ รัศมี มากับหนัง
เรื่อง ขุนโจรใจเพชร กับ เลือดทรยศ
วันแรก...พี่ฟ้อนให้ผมนั่งดูหนั่งไปก่อน ตามภาษานักพากย์เขาเรียกว่า "ซ้อมหน้าหนัง" สั่งให้ผมคอยจดจำทุกอย่างที่พี่ฟ้อนพากย์ เพราะบางคำ บางตอน มันจะไม่มีในบทพากย์ แต่เป็นการ "ใส่ลูกเล่น" ลงไป ซึ่งผมก็ทำตามแต่โดยดี
วันต่อมา...
พี่ฟ้อนปล่อยให้ผมพากย์กับพี่ม่วย 2 คน โดยตัวพี่ฟ้อนลงไปนั่งดูอยู่ชั้นล่าง ซึ่งวิธีนี้ พี่ฟ้อนเล่าให้ฟังตอนหลังว่า เพื่อให้เราช่วยตัวเอง หากติดขัดอะไรก็ต้องใช้ความสามารถเฉพาะตัว เอาตัวรอดให้ได้ เพราะหากอยู่ใกล้ และคอยช่วย จะทำให้เคยตัว ไม่เติบโต...ซึ่งผมก็จำเอาไว้ และเคยเอามาใช้กับลูกศิษย์หลายคน
ขุนโจรใจเพชร กับ เลือดทรยศ เป็นหนังไทย 16 ม.ม. ใครเป็นผู้สร้างจำไม่ได้แล้ว จำได้แต่ นำแสดงโดย คำรณ สัมปุณณานนท์ พระเอกนักร้องรูปหล่อที่โด่งดังสมัยนั้น เขาหล่อจนมีปัญหากับผู้หยิงคนหนึ่ง ที่ผิดหวังในความรักจากเขา จนถึงกับไปดักข้างเวที พอคำรณลงมาก็เอา "น้ำกรด" สาดหน้าจนเสียโฉม แต่กระนั้น ความดังของเขาก็ทำให้เขายังมีหนังเล่นต่อมาอีกหลายเรื่อง
ขุนโจรใจเพชร กับ เลือดทรยศ เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับลูกทุ่ง พระเอกถูกทรยศจากหญิงคนรัก จนถึงกับไปเป็นโจร ใครเป็นนางเอกผมก็ลืมไป มีจำได้แม่นอยู่คนเดียว ดาราที่แสดงบทพ่อกำนัน คือ "หลวงภรต กรรมโกศล" จำได้ติดตา เพราะตอนพากย์ ผมต้องทำเสียงแกให้เหน่อๆแบบคนบ้านนอก ซึ่งก็ได้รับคำชมจากพี่ฟ้อนว่า
"ไอ้นี่หัวดี"
พี่ฟ้อนปล่อยให้ผมพากย์กับพี่ม่วยอยู่สองสามวัน แกก็ขอตัวกลับไปบริษัทที่นครสวรรค์...
อยู่มาคืนหนึ่ง พี่ม่วยเป็นไข้หวัด กินยาแล้วไปนอนรอบนห้องพากย์ พอฤทธิ์ยาแก้หวัดออก พี่ม่วยก็หลับไม่ได้สติ ผมจึงพากย์เดี่ยว ใช้เสียงผู้หญิงของตนเองพากย์ไปจนจบเรื่อง โดยคนดูไม่รู้เลยว่าคืนนั้น พากย์เดี่ยว ไม่ใช่พากย์คู่อย่างเคย
จนหนังจบ ผมเก็บบทพากย์ พอหันมา...
อ้าว..
พี่ม่วยตื่นตั้งแต่เมื่อไหร่ ทำไมไม่ช่วยผม
พี่ม่วยก็บอกว่า เห็นชาติเสียงผู้หญิงดีและฟังเพราะ พี่ก็เลยฟังเพลิน....เออ ดีเหมือนกัน
และ...เพราะเหตุเสียงผู้หญิงดีเกินไปมั้ง วันรุ่งขึ้นพี่ม่วยก็กลับบริษัท ตามพี่ฟ้อนไปอีกคน บอกว่าตอนนี้ยังไม่หายหวัดดี อยากไปพักผ่อน ชาติพากย์คนเดียวได้สบายแล้ว พี่ม่วยไม่ต้องช่วยก็ได้...
สิบกว่าวันต่อมา...หนังหมดบุ๊ก...ผมกลับปากน้ำโพ
มาพบพี่ฟ้อน พี่ฟ้อนก็พาขึ้นแนะนำตัวกับนาย คือ
นาย ย่องแชน สุยสว่าง
เป็นเจ้าของบริษัท "บริการชาวเหนือ เฉลิมชาติภาพยนตร์"
และเป็นเจ้าของกิจการโรงหนัง "เฉลิมชาติ"
พี่ฟ้อนพรรณนาสรรพคุณผมเสียยืดยาว นายก็เลยรับไว้เป็นนักพากย์ของบริษัท โดยตั้งเงินเดือนให้ผม 900 บาท
แม้มันจะเฉลี่ยออกมา วันละ 30 บาทอย่างที่ผมเคยได้ แต่นี่มันเป็นเงินเดือน รับเต็มๆทุกเดือน ไม่เหมือนรายวัน บางวันก็ได้ บางวันไม่มีงานพากย์ก็อด จึงนับว่าดีมากๆสำหรับผม
เพราะสมัยนั้น งานหน้าที่เสมียนอำเภอได้เดือนละ 300 ถึง 350 บาทเท่านั้น นับว่าผมเริ่มต้นได้สวยมากๆ ด้วยบุญคุณของพี่ฟ้อน ฟ้าฟื้น กับ รัศมี...
ผมได้ที่พักของบริษัท ซึ่งจัดไว้ให้นักพากย์บางคนที่หมดบุ๊ก
กลับมา ได้พักผ่อนอย่างสบาย
ผมสบายอยู่ที่บริษัท ว่างก็นั่งดูหนังในโรงเฉลิมชาติ ฟังนักพากย์รุ่นพี่ จดจำลีลาและแนวทางการพากย์ของแต่ละคนไว้ เพื่อพัฒนาตนเอง ผมถือว่า ตัวเองยังเล็กมาก เพิ่งพ้นจากกลางแปลงมาหาหนังโรง ยังต้องเรียนรู้อีกเยอะ
สี่ห้าวันต่อมา ผมก็ได้รับคำสั่งให้ไปพากย์หนังเดินสาย
เป็นหนังอินเดีย ขาวดำ เรื่อง "เจ้าหญิงรัตนาวดี" นำแสดงโดยเจ้าหญิงแห่งวงการหนังอินเดีย
"นีรู ปารอย"
ซึ่งดังสุดขีดไปทั่วโลกสมัยนั้น
ส่วนใครแสดงเป็นพระเอก ยอมรับว่าจำไม่ได้ ไม่ค่อยได้สนใจ
เพราะมัวแต่ดีใจ ได้พากย์หนังนีรู ปารอย มันโก้มากนะ สมัยนั้น...
ผมพากย์ เจ้าหญิงรัตนาวดี ได้ไม่กี่วัน
พระพรหม ก็นำพาผมไปพบกับผู้หญิงคนที่สองในชีวิตของผม!!!
ผมพากย์เดินสายมาจนถึง จังหวัดอุทัยธานี
พอมาถึงวันแรก ก็มีไอ้หนุ่มคนหนึ่งเข้ามาทำความรู้จัก
เขาชื่อ สมโภช หรือที่ต่อมา คนหลังเฉลิมกรุงรู้จักกันในนาม
"สมโภช หูกาง" ผู้สร้างหนังไทย "ใครใหญ่ใครอยู่" นั่นแหละ
สมโภชเป็นเด็กฉายประจำโรงหนังอุทัยธานี เข้ามารู้จักกับผม
แล้วบ่ายนั้นก็อาสาพาผมไปเที่ยวทุ่งอุทัยธานี ไปกินของอร่อยกัน มันคือ "น้ำตาลโตนด"
ผมยังไม่เคยรู้จักว่าไอ้น้ำตาลโตนดนี่มันคืออะไร ลองชิมดูเห็นหวานดีก็ดื่มเอาดื่มเอา
ดื่มกันไป คุยกันไป สักพักใหญ่ๆก็เริ่มเวียนหัว พรรคพวกสี่ห้าคนก็ประคองกลับมาส่งโรงหนัง
ต่อจากนั้นผมก็ไม่รู้สึกตัว...
มารู้เอาทีหลัง สมโภชเล่าให้ฟังว่า
น้ำตาลที่พาไปกินนั้น มันคือ "น้ำตาลเมา" ที่พวกลูกทุ่งเขาชอบกินกัน เมื่อผมเมากลับมา นอนแผ่อยู่ที่ห้อง แถมอ้วกออกมาเลอะเทอะไปหมด
แล้วผู้หยิงคนที่สองในชีวิตผมก็เข้ามามีบทบาทกับผม
เธอมาเห็นผมเมาอ้วกเลอะเทอะ ก็เข้ามาช่วยโดยไม่นึกรังเกียจ เอาผ้าชุบน้ำมาเช็ดหน้า เช็ดตัวให้ จับให้ผมนอนหงาย เอาผ้าห่มมาห่ม และพันเท้า เพื่อให้ร้อนและเหงื่อออก จะได้หายเมาเร็วๆ
ชลอนั่งเฝ้าคอยเอาพัดมาพัดวีให้ผม จนค่ำ ผมก็ตื่นขึ้นมา
ทีแรกก็ตกใจ ว่าเรามานอนอยู่ยังไง แล้วนี่ผู้หญิงที่ไหน มานั่งคอยพัดวีให้เรา
เธอแนะนำตัวเองว่า ชื่อ
"ชลอ"
เป็นหลานสาวรองผู้ว่าราชการจังหวัด ซึ่งเป็นเพื่อนสนิทกับเจ้าของโรงหนัง เธอจึงมาเที่ยวที่นี่บ่อย และวันนี้ บังเอิญมาเจอเอาผมเข้า เห็นอาการเมาแล้วก็สงสาร ยิ่งรู้ว่าเป็นนักพากย์ด้วยก็ยิ่งเป็นห่วง เธอด่าตะเพิดเจ้าพวกเด็กโรงหนังที่พาผมไปกินน้ำตาลเมา ซึ่งพวกนั้นก็ต่างเกรงกลัวเธอ จึงพากันเลี่ยงกลับไปหมด เหลืออยู่กันสองคน จึงตกเป็นหน้าที่เธอต้องช่วยผม กลัวว่าคืนนี้จะไม่มีคนพากย์หนัง เดี๋ยวจะยุ่ง
นั่นเป็นก้าวแรกที่ ชลอ เข้ามามีบทบาทในชีวิตความเป็นหนุ่มของผม
ชลอเป็นเด็กสาววัยรุ่นที่อายุยังน้อย รูปร่างสมส่วน ผมยาว ใบหน้าคมคาย แม้จะไม่ถึงกับสวยแต่ก็น่ารัก
ชลอดีกับผมมากๆ ทุกครั้งที่ผมมาพากย์หนังที่อุทัยธานี เธอจะคอยป้องกันไม่ให้ผมไปเที่ยวกับสมโภชและเพื่อนๆ โดยที่เธอมักจะชวนผมไปหาก๋วยเตี๋ยวเจ้าอร่อยในตลาด นั่งกินกันไปคุยกันไป...
ผมไม่รู้หรอกว่า...ชลอแอบชอบผม และรักผม
ส่วนผม กลับคิดว่า ชลอเป็นเด็กน่ารัก ช่างพูดช่างคุย ช่างเอาอกเอาใจ เป็นเหมือนน้องสาวผม...
และความคิดนี่แหละที่ทำให้ผม "สร้างบาปกับชลอ" อย่างไม่น่าให้อภัย...
เรื่องมันเป็นอย่างไร...พรุ่งนี้มาเล่าต่อครับ
+++++++++++++++++++++++++++
"มนัส กิ่งจันทร์ ภาคสอง ชุมทางหนังไทยในอดีต" โดยเติมคำว่า "ภาคสอง" คั่นกลางไว้..
อดีตจากฟิล์มภาพยนตร์ ไม่มีวันตาย..

ออฟไลน์ มนัส กิ่งจันทร์

  • มนัส กิ่งจันทร์ ภาคสอง ชุมทางหนังไทยในอดีต
  • Moderator
  • พี่น้อง thaicine Gold member
  • ***
  • กระทู้: 2814
  • พลังใจที่มี 35
  • เพศ: ชาย
    • มนัส ชุมทางหนังไทยในอดีต
ชีวิตนักพากย์ ตอนที่ 8 โดย พี่ชาติ อธิษฐาน
25 พ.ย. 60
คุณ มนัส กิ่งจันทร์...ที่รัก
วันนี้ ผมยังเขียนที่เดิม รอให้คุณมนัสมาช่วยแชร์ครับ
++++++++++++++++++++++
ชีวิตนักพากย์ ตอนที่ 8
หลังจากหมดบุ๊กที่จังหวัดอุทัยธานีแล้ว
หนังมีวันว่างอยู่ 4 วัน ผมจึงกลับมาพักที่ปากน้ำโพ
ที่นี่ มีห้องพักไว้ให้นักพากย์ที่นอนรอหนัง หรือบุ๊กว่าง
แถมมีอาหารให้ 3 มื้อ โดยไม่ต้องออกไปเสียเงินซื้อกินเอง
บางช่วง มีนักพากย์หลายคนหมดบุ๊กพร้อมๆกัน ก็ได้มาพูดคุย
แลกเปลี่ยนประสบการณ์ และแนะนำชื่อพากย์ของตนเองให้เพื่อนร่วมบริษัทได้รู้จักกันไว้
มีหลายคนถามผม ว่ามีชื่อพากย์ว่าอย่างไร ผมก็ตอบไปว่า
"คีรีบูนน้อย"
หมายถึงนกคีรีบูนตัวน้อยๆที่ส่งเสียงกล่อมธรรมชาติ
บริการชาวเหนือ เฉลิมชาติภาพยนตร์
มีอาคารสำนักงานตั้งอยู่ด้านทิศตะวันตกของโรงหนังเฉลิมชาติ ปากน้ำโพ หรือ นครสวรรค์
นับเป็นบริษัทแรกที่จัดตั้งขึ้นเพื่อจำหน่ายภาพยนตร์ ทั้งไทย - จีน - ฝรั่ง - อินเดีย ตลอดในภาคเหนือ ขึ้นไปจนถึงเชียงใหม่
เชียงราย แม่สาย...
ส่วนด้านใต้นครสวรรค์ลงมา ผมไม่รู้ว่าสิ้นสุดจังหวัดไหน แต่
ผมเคยมาพากย์หนังสายถึงดอนเมือง ซึ่งเป็นโรงหนังในการบริหารของ "จ่าชำนาญ" นายทหารอากาศ แล้วยังมีการพาไปเร่ถึงคลอง 8 และคลอง 10 เกือบๆจะถึงจังหวัดฉะเชิงเทรา...
บริการชาวเหนือ เฉลิมชาติภาพยนตร์
มีนักพากย์ดังๆในยุคนั้นอยู่มากมายหลายคนและหลายคู่ เท่าที่จำได้ก็มี
"ศุภลักษณ์ - นิภา"
"ฟ้าฟื้น - รัศมี"
"ดาราพันธ์ - วันทนีย์"
"พันธ์ลพ - นพรัตน์"
"อารมณ์ - ละม่อม"
"ราชา - วิไลลักษณ์"
ส่วนนักพากย์เดี่ยวก็มี
รุจิกร, นันทวัน, อรทัย, กอบกุล, และ กาหลง,
ผมมาพักอยู่ที่บ้านพักข้างโรงหนังเฉลิมชาติได้วันเดียว
รุ่งขึ้นเจ้านายก็ใช้ให้ไปพากย์กลางแปลงที่อำเภอ ทัพทัน จังหวัดอุทัยธานี...
เออ เพิ่งกลับมาจากอุทัยธานี ก็ต้องกลับไปอุทัยอีกแล้ว
จังหวัดอุทัยธานี เป็นจังหวัดที่สองรองจากเชียงใหม่ ที่ผมไปพากย์หนังบ่อยที่สุด
แต่มาคราวนี้ ผมไม่ได้แวะหาชลอ ผมเลยไปอำเภอทัพทันเลย ที่นั่นเขามีงานประจำปี มีลิเก รำวง และหนังกลางแปลง
ตกกลางคืน...หนังยังไม่ฉาย ทางวัดสั่งให้รอไว้ก่อน ให้คณะรำวงได้เริ่มก่อน เพื่อหาเงินเข้าวัด
รำวงตามงานวัดสมัยนั้น แต่ละวงจะมีนางรำไม่ต่ำกว่าวงละ 10 คนขึ้นไป ทุกคนจะนุ่งกระโปรงสั้นเหนือหัวเข่า ขึ้นมานั่งบนม้านั่งที่เขาจัดไว้ให้ ข้างล่างเป็นที่ขายตั๋ว หนุ่มๆก็มาซื้อตั๋ว แล้วรีบแย่งกันขึ้นไปจองตัวนางรำที่ตนเองหมายตาไว้ แล้วส่งตั๋วให้นางรำ
พอเสียงนกหวีดปรี๊ด...เสียงกลองเสียงฉิ่งเริ่ม นักร้องเพลงเชียร์รำวงก็ร้องเพลงซึ่งส่วนมากเป็นเพลงฮิตในสมัยนั้น และ
งานร้องเพลงเชียร์รำวง ก็ทำให้หลายคนกลายมาเป็นนักร้องดังประจำยุคไป เช่น ยอดรัก สลักใจ หรือ นิพนธ์ คนหาดแตงโม อำเภอตะพานหิน บ้านเขาอยู่เลยบ้านผมไปประมาณ 3-4 กิโลเมตร
เมื่อเพลงจบ การรำก็หยุด นางรำกลับเข้านั่งที่ ส่วนพวกหนุ่มๆก็ต้องลงจากเวทีไป เปิดโอกาสให้พวกที่จองตั๋วรอบต่อไปได้ขึ้นมารำ...
คืนหนึ่งๆ รำวงสามารถทำเงินให้ทางวัดได้เป็นกอบเป็นกำ...
ผมยืนดูรำวงสักพัก...ก็เดินเรื่อยเปื่อยไปตามร้านค้าที่มาตั้งเรียงราย...จนกระทั่ง
พระพรหม...อีกแหละ
ที่นำให้ผมมาพบผู้หญิงอีกคนหนึ่ง
เธอเป็นแม้ค้าขายอ้อยขวั้น ตั้งกระจาดวางอยู่ริมทาง ข้างตัวเธอมีเสื่อกกผืนขนาดกลางปูวางไว้สองผืน เผื่อลูกค้ามานั่งกินอ้อยไปแล้วก็ขายขนมจีบให้แม่ค้าไป
ผมเดินมาถึงหาบอ้อยของเธอก็สะดุดกึก
แม่ค้าคนนี้สวยยยย
ไว้ผมยาว หน้ารูปไข่ ผิวพรรณดีทีเดียว
พอเห็นผมเดินผ่านมาเธอก็ร้องเชิญชวนให้ซื้ออ้อยขวั้น
โอ... ไม่ต้องเชิญหรอก
ผมสะดุดความสวยของเธอเข้าแล้วอย่างจัง
ผมยืนมองเธอ แล้วยิ้มให้
เธอยิ้มหวาน แล้วชี้มือไปที่เสื่อ
"เชิญนั่งก่อนค่ะ..."
ผมลงนั่งตามคำเชิญ แล้วสั่งอ้อยมากิน นั่งกินไปคุยไป
เธอชื่อ สุนีย์ นามสกุล พิลึก
นามสกุลนี้ดังมากในเขตจังหวัดอุทัยธานี และนครสวรรค์
เพราะมีผู้แทนท่านหนึ่ง นามสกุลพิลึก
สุนีย์บอกว่า เป็นลุงของเธอเอง
คุยกันไม่ทันไร หัวใจผมก็หล่นไปอยู่แทบตักเธอเสียแล้ว
สุนีย์เป็นคนที่สอง ที่ผมรู้สึกรัก อยากได้เป็นคู่ครอง รองมาจาก ตี่ หรือดวงใจ คนที่ผมเคยเล่าไปแล้ว
ผมนั่งอยู่จนได้เวลาหนังฉาย ก็กลับไปพากย์หนัง
หนังเลิกแล้ว ทางเจ้าของจอรีบพาผมขึ้นรถมาส่งที่โรงแรมในจังหวัดอุทัยธานี โดยไม่มีโอกาสร่ำลาสุนีย์เลย
รุ่งขึ้นก็กลับปากน้ำโพทันที
มานอนคิดนั่งคิด คิดถึงแต่หน้าหวานๆของสุนีย์
นั่งบ่นบานศาลกล่าว ให้ผมได้กลับไปทัพทันอีกครั้ง คราวนี้ผมจะไม่รีรอที่จะกล่าวสารภาพรักกับสุนีย์...เป็นไรเป็นกัน...
ให้ตายเถอะ พระเจ้ามีจริง แล้วก็บันดาลให้ผมจริงๆ
รุ่งขึ้นอีกวันต่อมา เจ้านายก็สั่งให้ผมไปพากย์หนังอีกเรื่องหนึ่ง
ที่ทัพทัน...ที่เก่านั่นแหละ
ผมดีใจสุดๆ รีบเดินทางไปทันที...
คืนนั้น...ผมรีบมานั่งจองเสื่อไว้แต่หัวค่ำ
ชวนสุนีย์คุยโน่นคุยนี่ รอเวลาให้ใจกล้าๆ จะได้สารภาพรักกับเธอ สุนีย์เองก็ดูเหมือนจะมีใจให้ผมไม่น้อย เธอพูดถึงแม่ว่า หลังจากพ่อตายแล้ว แม่ต้องทำงานลำบากหาเลี้ยงลุก แม่สั่งสอนเธอว่า คบผู้ชายให้ดูด้วยนะ ถ้าเป็นพวกขี้ยา หรือพวกนักพนัน อย่าคบ ให้คบแต่คนดีๆ ขยันทำมาหากิน แม้จะยากจนแม่ก็ไม่ว่า...
ผมได้จังหวะ อ้าปากจะสารภาพ
แต่...ให้ตายเถอะ!!!
ดันมีไอ้หนุ่มลูกทุ่งสองสามคนเข้ามานั่งข้างๆผม แล้วสั่งอ้อยขวั้นมากิน ทำให้ผมหมดโอกาสไปทันที
โธ่... ไอ้มาร... ผมนึกด่าในใจ พร้อมกับลุกขึ้นยืน บอกลาสุนีย์ เพราะอยู่ต่อไปก็ไม่เกิดประโยชน์แล้ว
คืนนั้น...ผมพากย์หนังได้แย่ที่สุด ตั้งแต่พากย์หนังมา
ใจคอมันพะวงถึงแต่สุนีย์ ป่านนี้ ไอ้พวกนั้นคงขายขนมจีบให้เธอกันจ้าละหวั่น สุนีย์จะเป็นไงบ้างไม่รู้ แล้วก็ไม่รู้ด้วยว่า จะมี
ไอ้หนุ่มคนไหนมาชนะใจสุนีย์ แย่งชิงเธอไปจากใจของผม
หนังจบแล้ว ผมขอเวลาเจ้าของจอเพื่อไปร่ำลาสุนีย์
แต่...
สุนีย์กลับไปแล้ว
ถามร้านข้างๆ เขาบอกว่าคืนนี้เธอขายดี อ้อยหมด เลยกลับไปก่อน โดยไม่ได้สั่งอะไรไว้เลย
โอ... มันโหวงเหวงยังไงพิกล เดินไปคิดไป ทำไมดวงเราถึงเป็นอย่างนี้นะ รักผู้หยิงคนไหน ไม่เคยสมใจหวังเลย
แล้วผมก็กลับมาด้วยหัวใจอันหดหู่พิกล
ในราวสักหนึ่งเดือนต่อมา ผมก็มีโอกาสกลับไปพากย์หนังที่อุทัยธานีอีก ได้พบกับชลออีก
แต่คราวนี้ มันไม่ค่อยรื่นเริงเหมือนเก่าแล้ว เพราะจิตใจคิดถึงแต่สุนีย์คนเดียว...
ชลอบอกว่า...คราวหน้าพี่มาจะไม่เจอชลอแล้ว เพราะต้องตามลุงไปอยู่อุตรดิตถ์ คุณลุงได้เลื่อนเป็นผู้ว่า ทางการส่งไปอยู่อุตรดิตถ์ ถ้าพี่ไปพากย์หนังที่นั่น ให้ทางโรงเขาประกาศชื่อพากย์ด้วยนะ ชลอรู้จะได้มาหาพี่
ก่อนจากกัน ชลอมอบแผ่นสไลด์ให้ผมมา 2 แผ่น เป็นรูปเธอ กำลังยืนอยู่ข้างดอกไม้...
แผ่นสไลด์...ก็คือกระจกฉายสำหรับโฆษณาสินค้าต่างๆของโรงหนัง ทำด้วยกระจกสองแผ่นผนึกติดกัน โดยมีรูปหรือข้อความที่จะโฆษณา
ก่อนหนังฉาย พนักงานจะฉายภาพในแผนสไลด์ไปที่จอ แล้วโฆษกประจำโรงหนังก็จะอ่านข้อความโฆษณานั้น ประชาสัมพันธ์กับคนดู ว่า ร้านค้าแห่งนั้นๆ กำลังลดราคาสินค้า... แผ่นกระจกหรือแผ่นสไลด์นี้ จะมีกันทุกโรงหนัง
ชลอสั่งว่า เก็บแผ่นนี้ไว้ คิดถึงน้องสาวคนนี้เมื่อไรก็เอามาให้คนฉาย ฉายให้ดู...
ผมกลับมาอยู่ปากน้ำโพได้สองสามวัน เจ้านายก็เรียกไปพบ
บอกว่า โปรแกรมต่อไปจะได้พากย์หนังไทยใหม่เอี่ยม เรื่อง
"สาวสมัยใหม่"
ให้หาเวลาซ้อมหนังก่อนออกสตาร์ท เพื่อจะได้ไม่มีอะไรผิดพลาด...
"ซ้อมหนัง" ก็คือเอาหนังเรื่องที่เราจะพากย์ มาฉายดูในห้องซ้อม หรือห้องเล็กที่บริษัทจัดไว้ให้โดยเฉพาะ อยู่บนชั้นสองบองบริษัท พร้อมกับบอกว่า ผลงานพากย์ที่ผ่านๆมา ได้รับคำชมจากทางเจ้าของโรงมากมาย เริ่มโปรแกรมใหม่ จะเพิ่มเงินเดือนให้เป็น 1,500 บาท
โอโฮ!!!
อะไรจะขนาดนั้นวะ ไอ้ชาติเอ๊ยยยย
นายอำเภอสมัยนั้นยังเงินเดือนแค่ 1,200 เท่านั้นเอง
ผมยกมือไหว้เจ้านายปลกๆด้วยความดีอกดีใจ
หนังมาเริ่มสตาร์ทที่โรงหนังสังวาลวัฒนา ตลาดตะพานหินบ้านผม ผมประเดิมเริ่มพากย์ สาวสมัยใหม่ที่บ้านเกิดนี่เอง
สาวสมัยใหม่ นำแสดงโดยดาราตลกยุคนั้น คือ สมพงษ์ พงษ์มิตร รับบทเป็นคนอนาถาที่ปลอมเป็นเศรษฐี เพื่อหวังแต่งงานกับเศรษฐินี เป็นหนูตกถังข้าวสาร
นาฎยา รัมภเวช รับบทเป็นเศรษฐินีตกยาก ที่พยายามหาทางแต่งงานกับเศรษฐีเพื่อยกฐานะกลับมา แล้วก็มี ชูศรี โรจนประดิษฐ์ เป็นตัวช่วยนางเอก
หนังเรื่องนี้ ต่อมาได้ดัดแปลงมาสร้างใหม่ในชื่อ "เศรษฐีอนาถา" นำแสดงโดย เจิม ปั้นอำไพ แสดงดีจนได้รางวัลตุ๊กตาทอง
แล้วพระพรหม...ก็นำให้ผมมาพบกับผู้หญิงอีกคนหนึ่ง
วันรุ่งขึ้นจากสตาร์ทหนัง ผมมาเดินเล่นที่ตลาด ซึ่งกำลังมีงานงิ้วประจำปี แล้วได้พบกับ
คุณ นงนุช ก็ได้ทักทาย จนได้ทราบว่า เธออยู่กับแม่บุญธรรม
และจะให้เธอแต่งงานกับชายสูงอายุคนหนึ่งที่เพชรบูรณ์ แต่เธอยังไม่พร้อม เพราะตอนนี้เพิ่งอายุ 15 ปีเท่านั้น
ผมก็ชวนเธอว่า
"ไปหัดพากย์หนังกับผมไหม?"
เท่านั้นแหละ ได้เรื่อง เธอรีบกลับไปเก็บเสื้อผ้าใส่กระเป๋า แล้วมาหาผม...พร้อมที่จะไปใช้ชีวิตกับผม...
จากนั้นผมก็พาเธอติดตามไปทุกโรงหนังที่ไปพากย์ พร้อมกับพยายามสอนให้เธอพากย์หนังไปด้วย โดยตอนแรก ให้ลองพากย์เสียงนางเอก ส่วนบทของชูศรี ผมรับพากย์เอง เนื่องจากชูศรีเป็นนางตลก บทบาทกระโดกกระเดก เธอยังทำเสียงไม่เป็น
แล้วก็ถึงวันโลกแตก!!!
หลายวันต่อมา ผมเดินทางมาพากย์ที่โรงหนังอุตรดิตถ์
ตอนนั้นผมยังใช้ชื่อพากย์ "คีรีบูนน้อย" ยังไม่เปลี่ยนชื่อ
คนโฆษณาก็ประกาศไปทั่วตลาด
ช่วงบ่าย ผมยังพักอยู่ที่โรงแรม เด็กโรงแรมขึ้นมาบอกว่า
มีคนอยากพบนักพากย์ ให้ลงไปหา
อ้ะ!!!
ชลอนั่นเอง...
เธอดีอกดีใจถึงขนาดโดดกอดผมโดยไม่อายใคร
บอกว่า ตอนนี้มาอยู่กับลุงที่เป็นผู้ว่าจังหวัดอุตรดิตถ์
ได้ยินเสียงโฆษณาว่าพี่มาพากย์ จึงรีบมาหาทันที คิดถึงมาก
แล้วก็ดีใจมากด้วย ความฝันของชลอใกล้ถึงวันจริงแล้ว พี่ได้พากย์หนังไทย ต่อไปคงต้องพากย์คู่ และคู่พากย์คนแรกของพี่ก็จะต้องเป็น...
เธอเว้นไว้แค่นั้นแล้วถามว่า พี่พักอยู่ห้องไหน
พอผมบอก ชลอก็รีบผลุนผลันขึ้นไปบนชั้นสองของโรงแรมที่
ผมพักอยู่ทันที ผมรีบตามขึ้นไปติดๆ
เสียงชลอดังแว่วๆว่า
"ดีใจจังเลย ชลอจะได้เป็นนักพากย์แล้ว ได้อยู่กับพี่ตลอดไปแล้ว...
จากนั้นเธอก็เปิดประตูผลั๊วะเข้าไปในห้อง
แล้วทันใดนั้น...
ชลอชะงักอยู่กับที่เหมือนถูกตรึง
เมื่อเธอมองไปเห็นคุณนงนุชนั่งอยูบนเตียงนอนในห้องนั้น
ชลอหันรีหันขวาง
มองกลับมาทางผม
แล้วก็หันไปมองคุณนงนุช
กลับไปกลับมาสักสองสามครั้ง
แล้วก็หัวเราะแค่นๆ พูดออกมาว่า
"อ้อ ชลอลืมไป ชลอยังมีงานค้างอยู่ ชลอกลับก่อนละ"
แล้วเธอก็ผลุนผลันออกจากห้องไป
ปล่อยให้ผมยืนเซ่ออยู่ตรงนั้น...
ไว้รออ่านต่อพรุ่งนี้ครับ...
++++++++++++++++++++++++

 :yoyocici11: :yoyocici11:
"มนัส กิ่งจันทร์ ภาคสอง ชุมทางหนังไทยในอดีต" โดยเติมคำว่า "ภาคสอง" คั่นกลางไว้..
อดีตจากฟิล์มภาพยนตร์ ไม่มีวันตาย..

ออฟไลน์ มนัส กิ่งจันทร์

  • มนัส กิ่งจันทร์ ภาคสอง ชุมทางหนังไทยในอดีต
  • Moderator
  • พี่น้อง thaicine Gold member
  • ***
  • กระทู้: 2814
  • พลังใจที่มี 35
  • เพศ: ชาย
    • มนัส ชุมทางหนังไทยในอดีต
ชีวิตนักพากย์ ตอนที่ 9 โดย พี่ชาติ อธิษฐาน
..
26 พ.ย. 60
คุณ มนัส กิ่งจันทร์ ที่รัก
วันนี้...ผมยังคงเขียนอยู่ที่เดิมนะครับ
+++++++++++++++
ชีวิตนักพากย์ ตอนที่ 9
ชลอจากไปแล้ว...
ผมยังคงยืนเซ่ออยู่ที่เดิม...
นึกไม่ออกว่าทำไมชลอถึงผลุนผลันจากไป ด้วยท่าทีออกจะงอนๆ หรือโกรธ ผมก็ไม่แน่ใจ เพราะเราเพิ่งพูดกันได้ไม่กี่คำ
แล้วผมก็แน่ใจได้ว่า ไม่ได้พูดอะไรที่จะเป็นสาเหตุให้เธอโกรธ
ผมหันไปมองคุณนงนุช ซึ่งก็กำลังมองมาทางผมอยู่แล้ว
"ผู้หญิงคนเมื่อกี้ใคร???"
ผมเริ่มหายงง ตอบคุณนงนุชไปว่า
"เธอชื่อชลอ เป็นหลานสาวผู้ว่าจังหวัดอุตรดิตถ์ รู้จักกันมาหลายเดือนแล้ว ตั้งแต่ครั้งเธอยังอยู่ที่อุทัยธานี..."
"เป็นแฟนเก่าพี่เหรอ?"
"ไม่ใช่ ผมรักเธอเหมือนน้องสาว"
"แต่เธอคงไม่คิดอย่างนั้นกับพี่ เธอคงจะรักพี่ และหวังในตัวพี่"
"รู้ได้ยังไง เราสองคนไม่เคยบอกรักกันเลย"
"นุชรู้ เห็นจากสายตาเธอ ตอนที่เข้ามาเจอนุชแล้วชะงัก นัยน์ตาเธอบอกอะไรบางอย่าง มีทั้งตกใจ และผิดหวัง เธอคงรักและหวังในตัวพี่ พอเข้ามาเจอนุชนั่งอยู่บนที่นอนนี้ เธอคงเดาออก นุชสังเกตเห็นนัยน์ตาเธอ ดูผิดหวังและร้าวราน มีน้ำตาซึมๆออกมา ก่อนที่เธอจะกลับไป..."
"ไม่น่าเป็นไปได้..."
"พี่เชื่อซี นุชเป็นผู้หญิงด้วยกัน นุชรู้ นุชมองออก..."
"เวรกรรมจริงๆ..."
ผมพึมพำ พร้อมกับนึกในใจว่า
ชลอเป็นผู้หญิงคนที่สองแล้ว ที่ต้องอกหักเพราะผม
คนแรกก็ "ก้อ" น้องสาวของตี่ ซึ่งคนนั้น ผมก็รักเหมือนน้องสาว มาถึงชลอ เป็นคนที่สอง ที่ผิดหวังไปจากผม ก็เพราะผมรักเธอเหมือนน้องสาวนั่นเอง...
แต่กับคนที่ผมรักและหวัง กลับพลาดไปหมด ทั้ง "ตี่" หรือดวงใจ แล้วก็ "สุนีย์ พิลึก" แม่ค้าอ้อยขวั้นที่ทัพทัน อุทัยธานี
"เฮ้อออ"
ผมถอนใจ พลางคิดว่า มันเป็นบาปอะไรของเรานะ???
แล้วผมก็เดินทางไปตามบุ๊กหนัง
ใช้ชีวิตคู่กับคุณนงนุชเช่นผัวเมียคู่หนึ่ง
ตระเวนพากย์ไปตามบุ๊กหนัง ขึ้นไปต่อจังหวัดแพร่, น่าน, แล้วก็ขึ้นไปลำปาง...
ที่ลำปาง ผมพานงนุชนั่งรถม้าในตอนค่ำ ไหนๆก็มาลำปางทั้งที ถ้าไม่ได้นั่งรถม้า เหมือนมาไม่ถึงลำปาง แต่การนั่งรถม้าคืนนี้ของเราสองคน "สาหัส" มาก เพราะเป็นช่วงหน้าหนาว ที่
ลำปางอากาศหนาวมากๆสำหรับเรา
ผมพานงนุชมาเที่ยวงานฤดูหนาวประจำจังหวัดลำปาง ดูการประกวดนางงามฤดูหนาว แล้วก็ดูละครเวที คืนนั้นแสดงละครเพลงเรื่องเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของชาวมอญ พระเอกชื่อ ฉางกาย (ผมลืมชื่อเรื่อง) มีฉากเจ้ามอญใช้ให้นางสนมฝานหมาก บังเอิญมีดบาดมือ นางเอกร้อง
"ฉางกายช่วยด้วย"
พระราชาจึงสั่งลงโทษนางสนม ข้อหาเอาใจฝักใฝ่ทหารมากจนลืมพระเจ้าอยู่หัว
คืนนั้น สุเทพ วงศ์กำแหง สวลี ผกาพันธ์ เพ็ญศรี พุ่มชูศรี ออกมาร้องเพลง มีตลกดังสมัยนั้น เช่น ล้อต๊อก สมพงษ์ ชูศรี มาเล่นตลกด้วย...
จากลำปาง เราไปพากย์ต่อที่ อำเภอ พะเยา (ตอนนั้นยังไม่ได้ยกขึ้นเป็นจังหวัด) ได้ไปเที่ยว ไปถ่ายรุปกันที่กว๊านพะเยา
จากพะเยา ต่อไปที่เชียงราย แล้วก็เลยขึ้นไปถึงเชียงแสน
แล้วก็แม่สาย ที่นี่ ทางโรงหนังได้กรุณาพาเราข้ามไปเที่ยวฝั่งท่าขี้เหล็กของพม่า คนที่พาไปบอกว่าให้ลองชิมขนมจีนน้ำเงี้ยวของพวกไทยใหญ่ดู อร่อยมาก ผมก็เลยออกปากสั่งไปว่า
"ขอขนมจีนน้ำเงี้ยว..."
แม่ค้าหัวเราะแล้วบอกว่า
"ทีหลังเรียก ขนมจีนไทยใหญ่นะ คำว่า เงี้ยว เป็นคำเรียกพวกเราที่ไม่ค่อยดี..."
ผมหัวเราะแล้วกล่าวคำขอโทษ พร้อมกับตักขนมจีนใส่ปาก
"เออ อร่อยดีมาก รสจัดจ้านกว่าน้ำยาไทยเสียอีก..."
จากนั้น ก็มีบุ๊กต่อไปที่ลำพูน บังเอิญเจอพี่ชายที่แสนดี คือ พี่ฟ้อนกับพี่ม่วย มาเดินสายเร่ และนักพากย์อีกคู่หนึ่ง คือ
พันธ์ลพ กับ นพรัตน์...
ที่นี่...ผมได้เปลี่ยนชื่อพากย์ใหม่ เป็น
"อธิษฐาน กับ ภาวนา"
พี่ฟ้อนแย้งว่า ทำไมไม่ชื่อ "อธิษฐาน กับ ดวงดาว" เพราะตอนนั้น หนังไทยเรื่อง "คำอธิษฐานของดวงดาว" กำลังดังในกรุงเทพฯ แต่ผมบอกว่า อยากให้เป็นคำพระเหมือนกันทั้งสองคำ จึงใช้ "อธิษฐาน กับ ภาวนา" แล้วก็เปลี่ยนชื่อคุณนงนุชเป็น "ภาวนา"ไปเลย เพราะผมไม่ค่อยชอบชื่อนงนุช เนื่องจากตอนนั้น มีข้อความโฆษณาอย่างหนึ่งของผู้หญิงชื่อนงนุช บริสุทธิ์ แล้วก็ตั้งชื่อเล่นๆให้คุณภาวนาว่า "น้อย" พอบอกไปเธอก็ยิ้มแบบขำๆ ไม่ว่า ไม่คัดค้าน จนมารู้ทีหลังว่า
ชื่อ "น้อย" เป็นชื่อของแม่เธอนั่นเอง
พอหมดบุ๊ก ผมก็กลับบ้านที่ตะพานหิน
คุณน้อยชวนผมให้ไปที่บ้านเธอที่ ดงป่าคำ อำเภอเมือง จังหวัดพิจิตร ที่นั้น เป็นบ้านแท้ๆของแม่บังเกิดเกล้าเธอ ซึ่งมีอาชีพทำไร่ แล้วก็มีที่นาอีกแห่งหนึ่ง ที่บ้านบางไผ่ อำเภอบางมูลนาก...
เราทั้งสองไปกราบขอขมาท่าน สารภาพผิดว่าเราตัดสินใจ
กันเร็วไปหน่อย เพราะตอนนั้น คุณภาวนาเพิ่งอายุ 15 ปีเท่านั้น แม่เธอ ซึ่งชื่อน้อยเหมือนกัน ไม่ว่าอะไร แต่ได้ถอดสร้อยคอทองคำหนัก 1 บาท เป็นการรับไหว้ลูกสาว...
ช่วงนี้...ยังไม่มีหนังใหม่เข้ามา ผมจึงกลับมารับงานพากย์หนังเร่เหมือนอย่างที่เคยทำ
จนถึงเวลาเกณฑ์ทหาร ตอนนั้นคุณน้อยท้องแก่มากแล้ว
ผมเข้าไปให้เจ้าหน้าที่วัดหน้าอก ปรากฏว่า ไม่ถึงเกณฑ์
เพราะตอนนั้นผมผอมมาก ก็เลยรอดจากการเป็นทหาร
จนกระทั่ง 17 สิงหาคม 2500 ลูกคนแรกก็เกิด เป็นผู้หญิง
ระยะนี้ ผมเจอนักพากย์รุ่นพี่ ได้คุยกับหลายคน พวกเขาบอกว่า ตอนนี้ นักพากย์รุ่นใหญ่ เข้ากรุงเทพฯกันหลายคน เพราะทุกคนคิดเหมือนกันว่า เป็นนักพากย์ ถ้าจะไปให้ถึงจุดสูงสุด ต้องเข้ากรุงเทพฯ หลายคนเดินทางไปแล้ว เช่น รุจิกร, นันทวัน, ดาราพันธ์-วันทนีย์, คนสุดท้ายเป็นเพื่อนพี่ฟ้อน ชื่อพากย์ว่า "กาหลง" ชื่อจริงคือ พี่บุญส่ง บอกว่าตอนนี้เขาลงไปอยู่กรุงเทพฯแล้ว สังกัด บริการกุหลาบทิพย์ภาพยนตร์ อยู่ที่ท่าพระจันทร์ ถ้าอยากไปอยู่ด้วยให้ไปหาพี่ที่นั่น พี่จะช่วย
คำว่ากรุงเทพฯ...เป็นคำศักดิ์สิทธิ์ ของเมืองศักดิ์สิทธิ์
หนุ่มบ้านนอกทุกคนแหละ ที่ใฝ่ฝันอยากเข้ามาเรียนต่อ มาหางานทำในกรุงเทพฯ เพราะถึงอย่างไร อยู่กรุงเทพฯมันก็ดีกว่าอยู่บ้านนอก...
ผมพ้นจากการเกณฑ์ทหารแล้ว คุณภาวนาก็คลอดลูกแล้ว
ผมจึงปรึกษาคุณภาวนา ว่าอยากเข้ากรุงเทพฯ ตามคำชักชวน
ของพี่บุญส่ง หรือ กาหลง คุณภาวนาก็บอกว่าตามใจ พี่ไปไหนน้อยก็ไปด้วย...
นั่นเอง ผมตัดสินใจทันที หอบลูกเล็กจากบ้านไร่ดงป่าคำ มาให้แม่ผมเลี้ยงที่ตะพานหิน โดยเอาสร้อยคอทองคำที่คุณภาวนาได้มาจากแม่ของเธอไปขาย ได้เงินมา 350 บาท เอาไปซื้อนมกระป๋องมาไว้ให้ลูกกิน หมดไป 100 บาท ให้แม่ไว้ 150 บาท เราสองคนมีติดตัวไปแค่ 100 บาทเท่านั้น แต่สมัยนั้น ถือว่ามากพอสมควร...
แล้ววันที่ 8 พฤศจิกายน 2500
ผมกับคุณน้อยก็ตัดสินใจเดินทางโดยรถไฟขบวน พิษณุโลก-กรุงเทพฯ ในช่วงเช้าวันนั้น
ในการขึ้นรถไฟ มีเพื่อนรุ่นพี่แนะนำวิธีไว้ เพื่อประหยัดค่าเดินทาง...โดย
ให้ผมเข้าไปหา "การ์ดรถไฟ" ประจำขบวน แล้วบอกความจริงว่า เราจะเดินทางเข้ากรุงเทพฯ ให้ช่วยเหลือหน่อย แล้วเขาจะพาเราไปนั่ง ในที่ที่เขาจะต้องเดินตรวจตั๋วผู้โดยสาร
ผมก็ทำตาม สองคนผัวเมียถูกพามานั่งบนชั้นสาม
รถแล่นมาถึงนครสวรรค์ ที่สถานีนี้ จะมี "สารวัตรเดินรถ" ขึ้นมาตรวจ การ์ดคนที่ผมไปขอให้เขาช่วย ได้เดินมาหา แล้วส่งตั๋วให้ผมคนละใบ ถ้าสารวัตรมาขอตรวจก็ยื่นให้เขา ผมก็ทำตาม...
จนเย็น...รถไฟใกล้จะถึงสถานีหัวลำโพง การ์ดคนนั้นเดินมา
ผมกระซิบถามว่า
"พี่จะเอาเท่าไหร่?"
"สองคนยี่สิบบาทก็พอ ไอ้น้อง"
ที่จริงค่ารถไฟจากตะพานหินมากรุงเทพฯสมัยนั้น คนละ 37 บาท นับว่าพี่การ์ดคนนี้ได้ช่วยเราเป็นอย่างมาก
เขียนมาถึงตรงนี้ ใครจะด่าว่าผมกับพี่การ์ดคนนั้นอย่างไรก็ไม่ว่า แต่อยากให้นึกถึง "คนจน" บ้าง เวลามันไม่มีน่ะ ไม่มีจริงๆ
ถ้าพี่เข้าไม่ช่วย ผมก็คงเหลือเงินกันแค่ 20 กว่าบาท ที่จะต้องกินต้องใช้ไปจนกว่าจะได้งานทำ ซึ่งก็ยังมองไม่เห็นจุดหมายเลย...
แล้วขบวนรถไฟ พิษณุโลก-กรุงเทพฯ ก็เข้าจอดในชานชาลาสถานีหัวลำโพง ก้าวลงจากรถ เห็นพี่การ์ดคนนั้นยืนอยู่ข้างๆทางลง เราสองคนยกมือไหว้พี่เขาอย่างนอบน้อม พูดว่า
"ขอบคุณพี่มากครับ..."
แล้วก็พากันเดินออกมาหน้าสถานีด้านทิศตะวันตก ซึ่งเป็นรถสามล้อและรถแท็กซี่จอดรอรับผู้โดยสาร แน่นจนเต็มไปหมด
เอ้อ...แล้วจะไปไหนต่อล่ะ ทีนี้
นี่เป็นการมากรุงเทพฯครั้งในชีวิต...
ไว้อ่านต่อพรุ่งนี้ครับ...
"มนัส กิ่งจันทร์ ภาคสอง ชุมทางหนังไทยในอดีต" โดยเติมคำว่า "ภาคสอง" คั่นกลางไว้..
อดีตจากฟิล์มภาพยนตร์ ไม่มีวันตาย..

ออฟไลน์ มนัส กิ่งจันทร์

  • มนัส กิ่งจันทร์ ภาคสอง ชุมทางหนังไทยในอดีต
  • Moderator
  • พี่น้อง thaicine Gold member
  • ***
  • กระทู้: 2814
  • พลังใจที่มี 35
  • เพศ: ชาย
    • มนัส ชุมทางหนังไทยในอดีต
ชีวิตนักพากย์ ตอนที่ 10 โดย พี่ชาติ อธิษฐาน
28 พ.ย. 60
คุณมนัส กิ่งจันทร์...ที่รัก
รูปถ่ายอีก 2 รูปที่เอามาลงนี้
คือคุณพ่อกับคุณแม่ของ ไกวัล วัฒนไกร
ท่านทั้งสองมีบุญคุณกับผมอย่างมากครับ...
+++++++++++++++++++
ชีวิตนักพากย์ ตอนที่ 10
ลงจากรถไฟ...
มายืนเก้ๆกังๆที่ข้างสถานีหัวลำโพงด้านตะวันตก
ซึ่งเป็นที่จอดรถสามล้อและแท็กซี่รับจ้าง เราสองคน
มาอย่างบ้านนอกเข้ากรุง ผมตัดสินใจเดินเข้าไปที่รถสามล้อคันหนึ่ง นั่งสามล้อนี่แหละ เพราะอยู่ตะพานหิน เคยเห็นแต่สามล้อ ไม่รู้จักแท็กซี่ บอกสามล้อว่า ให้ไปส่งที่ กุหลาบทิพย์ภาพยนตร ท่าพระจันทร์...
สามล้อพาเราตรงออกมาทางทิศใต้ เลี้ยวซ้ายผ่านป้อมอะไรก็ไม่รู้ ใหญ่ๆ อยู่กลางถนนหน้าสถานนีนั่นแหละ หันกลับไปดูตัวอาคารสถานีหัวลำโพง ซึ่งตอนหลังถึงมารู้ว่า เขาเรียก สถานีกรุงเทพฯ แลดูสูงใหญ่มากๆ มันช่างผิดกับสถานีรถไฟบ้านนอกอย่างตะพานหินเสียเหลือเกิน...
แล้วสามล้อก็พาเลี้ยวขวามาทางตะวันตก ข้ามสะพานเล็กๆ และผ่านอะไรต่อมิอะไรบ้างผมก็ไม่รู้จัก ไม่เคยเห็นมาก่อน นั่งมานานมากพอสมควร สามล้อก็พามาจอดที่ข้างกำแพงวัดมหาธาตุด้านตะวันตก เราสองคนลงจากสามล้อ จ่ายเงินให้ไป 5 บาทเป็นค่าโดยสาร...
มองไปทางทิศตะวันตก เป็นร้านค้าตึกแถว แล้วก็เห็นป้ายหน้าร้าน...
"กุหลาบทิพย์ภาพยนตร์"
อา... ถึงแล้ว กุหลาบทิพย์ภาพยนตร์ จุดหมายในฝันของนักพากย์บ้านนอก ผมพาคุณภาวนาเดินข้ามถนนเข้าไปที่ร้านนั้น
เข้าไปยกมือไหว้ผู้ชายกลางคน อ้วนๆ ตัดผมเกรียนติดหนังหัว ไม่ใส่เสื้อ นั่งอยู่ที่โต๊ะเขียนหนังสือขนาดใหญ่
"สวัสดีครับ ผมชื่อ อธิษฐาน กับ ภาวนา เป็นนักพากย์จากตะพานหิน พี่บุญส่ง นามพากย์ กาหลง แนะนำผมว่าให้มาสมัครงานกับ ลุงเล็ก กุหลาบทิพย์ภาพยนตร์ ไม่ทราบว่าท่านอยู่ไหมครับ?"
"ฮ่าฮ่าฮ่า..."
ผู้ชายคนนั้นหัวเราะเสียงดัง คนที่นั่งอยู่ข้างๆอีกสองสามคนก็หัวเราะตามไปด้วย
"ฉันนี่แหละ ลุงเล็ก กุหลาบทิพย์ ที่ว่านั่นละ"
ผมรีบยกมือไหว้ขอโทษท่านที่ผมไม่เคยรู้จักมาก่อน
ลุงเล็กสอบถามผมว่ามายังไง ผมก็บอกไปว่า พี่บุญส่งกาหลงชวนให้มาอยู่ด้วยที่กรุงเทพฯ ผมก็อยากดังในเมืองหลวง จึงมาตามคำชวน...
แล้วผมก็ใจหาย เมื่อลุงเล็กบอกว่า
"วันนี้บุญส่งกาหลงไม่อยู่ เขาไปพากย์หนังต่างจังหวัด พรุ่งนี้ถึงจะกลับมา"
"ตายละ แล้วผมจะพักที่ไหนดีล่ะครับ?"
แล้วลุงเล็กก็ช่วยจัดการให้ ท่านให้ผู้หญิงอ้วนๆที่ชื่อ "ซ้อ" จัดการพาผมไปที่ห้องเช่าของพี่กาหลง จัดการให้ผมพักอยู่ที่นั่น...
ผู้หญิงที่ลุงเล็กเรียกว่า "ซ้อ" ผมลืมชื่อจริงของท่านไปแล้ว ท่านเป็นภรรยาของ พี่"บรรจง เหมบุตร" และเป็นมารดาของคุณ อนุชา แสงผล ผู้สร้างหนังเรื่อง "อินทรีย์ทอง" นั่นเอง
เมื่อพี่บุญส่งกาหลงกลับมา ก็ช่วยเหลือผมเป็นอย่างดี เหมือนผมเป็นน้องชายของแกคนหนึ่ง พาไปที่ตลาดท่าพระจันทร์ มีข้าวแกงขาย สมัยนั้นจานละ 2 บาท ซึ่งแพงกว่าที่อื่นที่เขาขายกันจานละบาทเท่านั้น
ด้วยลักษณะของคนนิ่งๆ ไม่ค่อยพูดค่อยจากับใคร เพราะยังใหม่อยู่ และลุงเล็กก็ไม่เคยรู้ ว่าการพากย์หนังของผมเป็นอย่างไร ระยะแรกๆ จึงไม่ค่อยมีงานพากย์ เพราะตามกติกาของกุหลาบทิพย์ภาพยนตร์ จะจัดการให้นักพากย์ออกงานตามคิว มาถึงคิวผม ลุงเล็กจะให้ไปพากย์หนัง ถามว่า เรื่องนี้เคยดูมาก่อนหรือยัง เคยพากย์ไหม ซึ่งส่วนมากผมยังไม่เคย ก็ตอบไปว่า ไม่ครับ เขาก็เลยจัดให้คนอื่นไปพากย์
บ่อยๆเข้า พี่กาหลงแนะนำว่า ถ้าเขาถามให้ตอบว่าเคยแล้ว ไม่งั้นไม่ได้ออกงานเดี๋ยวอดแย่ และถ้ามีเวลาว่า ให้หาโอกาสไปซ้อมหนังที่บ้านตึก ซึ่งก็คือบ้านห้องแถวอยู่ถัดร้านกุหลาบทิพย์ลงมาทางด้านใต้ ที่นี่ เป็นทั้งโรงครัวให้กับพวกนักพากย์ และเป็นโกดังเก็บหนังนับร้อยๆเรื่องของกุหลาบทิพย์ภาพยนตร์
จนกระทั่ง
วันฟ้าสว่างมาถึง
เมื่อทางวัดมหาธาตุจัดงานฉลองยศให้พระเจ้าคุณรูปหนึ่ง
(ขออภัยผมลืมชื่อท่าน ท่านคือองค์ที่มีข่าวกับจอมพลสฤษดิ์นั่นแหละครับ ตอนนั้นท่านดังมาก)
ทางกุหลาบทิพย์ส่งจอและหนังเข้าไปฉายเฉลิมฉลองให้ท่าน
มีนักพากย์รุ่นดังเอาหนังที่เขาพากย์ประจำไปฉาย โชว์การพากย์ให้ทุกคนดู จนดึก พวกนั้นกลับไปหมดแล้ว แต่ยังมีหนังฝรั่งเหลืออีก 1 เรื่อง หาคนพากย์ไม่ได้ ผมนั่งอยู่ที่นั่นด้วย ก็เลยอาสาพากย์
"โป๊ะเชะ..."
หนังเรื่องนั้น คือ ทาร์ซานน้อย แต่ตอนนี้เป็นตอนอะไรผมก็ลืม จำได้แต่ว่า หนังมีแต่บทบรรยาย ใครมาเห็นก็ไม่อยากจับ เพราะพากย์ลำบาก ต้อง "ดำน้ำ" กันทั้งเรื่อง แต่สำหรับผมใส่วิญญาณนักพากย์ลงไปเต็มที่ และอาศัยที่เคยพากย์ ทาร์ซานน้อย ตอนอื่นๆมาหลายตอนจนชิน จึงสร้างความทึ่งให้กับหลายๆคนอย่างมาก จากการพากย์เรื่องนี้เอง ที่ข่าวไปเข้าหูลุงเล็ก ทำให้ท่านค่อยเรียกใช้งาน จนผมค่อยพอมีกินขึ้นมาบ้าง
ค่าพากย์สมัยนั้น ถ้าพากย์เดี่ยว ได้เรื่องละ 50 บาท พากย์คู่ได้เรื่อง 100 บาท ก็ถือว่าไม่น้อย สำหรับค่าครองชีพในยุคนั้น...
และ...
อีกสองท่าน ที่ผมไมพูดถึงคงไม่ได้
ครูจำริต วัฒนไกร และ ภรรยาของท่าน คุณน้ากิมเอ็ง
คุณพ่อและคุณแม่ของนักพากย์ผู้โด่งดังชองช่อง 9 ไกวัล วัฒนไกร กับ นักจัดรายการวิทยุ เบญจพล วัฒนไกร
ผมไปพากย์ที่โรงหนังของท่านที่ ตลาดสามชุก (ตลาด 100 ปี) พอวันรุ่งขึ้น น้ากิมเอ็งจะมาส่งถึงที่กุหลาบทิพย์ท่าพระจันทร์ พร้อมกล่าวชมเชยการพากย์ของผมกับคุณภาวนาให้ลุงเล็กฟัง แล้วทุกครั้งที่มีหนังไปฉายที่ตลาดสามชุก ท่านจะบุ๊กตัวผมไว้ตลอด ยิ่งทำให้ผมมีความสำคัญที่ลุงเล็กจะใช้งานผมมากขึ้น จึงมีความเป็นอยู่ดีขึ้น...
นักพากย์รุ่นใหญ่ๆของกุหลาบทิพย์ภาพยนตร์สมัยนั้น ก็มี
กาหลง - วารีทิพย์
อนุชา - จารีทิพย์
อุทัยวรรณ - วลีทิพย์
นักพากย์หัวแถว จะมีงานพากย์แทบไม่ว่าง เมื่อมีหนังใหม่เข้ามา ก็จะได้พากย์เดินสายตามโรงต่างจังหวัด ได้ค่าพากย์เป็นกอบเป็นกำ...
ส่วนหางแถวอย่างผม...ก็ได้แต่มองมองคนอื่นตาละห้อย
กระนั้น ลุงเล็กก็ไม่ลืม เมื่อมีหนังใหม่เข้ามา หากมีงานหนึ่งหรือสองวัน ลุงเล็กจะให้ผมไปพากย์ แต่พอจะออกเดินสาย
นักพากย์หัวแถวเอาไปกินทุกที หลายเรื่องเข้าผมก็ชักอึดอัด
จนมาถึงหนังเรื่องสุดท้าย เป็นหนังใหญ่หนังดังในยุคนั้น คือ
"สิบทหารเสือ"
นำแสดงโดย ทักษิณ แจ่มผล พันคำ และดาราดังๆอีกมาก
ผมได้พากย์เป็นคนแรก โดยไปสตาร์ทที่โรงหนังเกาะสีชังโน่น
ผมกับคุณภาวนาไม่เคยนั่งเรืออกทะเล ไปเมาเรือกันแทบแย่เลย
พอกลับมา...เพื่อนกระเซ้าว่า เรื่องสิบทหารเสือก็คงเหมือนเดิม คงไม่ได้เดินสายอีกเหมือนเดิม
ผมก็เลยปากเสียไปว่า
"ถ้าเรื่องนี้ไม่ได้เดินสาย กูลาออกจากกุหลาบทิพย์แน่ๆ..."
แล้วเรื่องก็เป็นจริงจนได้
เมื่อสิบทหารเสือออกเดินสาย คนที่ได้ไปพากย์คือ
"อุทัยวรรณ วลีทิพย์"
ไม่ใช่ผมจริงอย่างเพื่อนมันว่า
ผมตัดสินใจวันนั้น
บอกลาลุงเล็กต่อหน้าเพื่อนนักพากย์อีกหลายคนที่นั่งอยู่ในร้าน ว่า ผมเคยพูดกับเพื่อนไว้ ว่า ถ้าผมไม่ได้พากย์เดินสายเรื่องสิบทหารเสือ ผมจะลาออกจากกุหลาบทิพย์ภาพยนตร์
และเมื่อเรื่องมันเป็นจริงอย่างนี้ วันนี้ ผมก็ขอกราบลาลุงเล็ก
ออกจากกุหลาบทิพย์ละครับ และกราบขอบพระคุณที่ช่วยเลี้ยงผมไว้เป็นปี...
พูดจบผมรีบลุกขึ้น แล้วเดินออกมาทันที เสียงลุงเล็กพูดไล่หลังมาว่า
"เดี๋ยวก่อน อธิษฐาน ยังมีงานให้พากย์อีกเยอะนะ..."
ผมเดินออกจากร้านมาโดยไม่หันหลังไปฟังอะไรอีก
กลับมาถึงบ้าน บอกคุณภาวนาว่า ลาออกจากกุหลาบทิพย์แล้ว อย่างที่รู้ๆกันอยู่น่ะแหละว่าสาเหตุมาจากอะไร
คุณภาวนาหน้าสลดลงทันที...
"แล้วเราจะไปอยู่ที่ไหนกันล่ะ เงินที่มีอยู่ก็ไม่มากนัก คนอื่นเราก็ไม่รู้จักใคร เพราะมัวแต่ทำงาน ไม่ได้ออกไปสังสรรกับใครเลย แล้วเมื่อเราไม่อยู่กับกุหลาบทิพย์ บ้านเช่าริมน้ำแห่งนี้เราก็คงอยู่ไม่ได้ เพราะมันอยู่ติดๆกับร้านกุหลาบทิพย์
แล้วเราจะทำยังไงต่อไป???
นั่นซี...
ทิษฐิ...ทำให้ผมบอกลากับลุงเล็ก
และคนอย่างผม เมื่อพูดอะไรแล้วจะไม่กลับคำแน่นอน
แล้วต่อไป...เราจะไปอยู่ที่ไหน บริษัทใด จะไปเช่าบ้านอยู่ที่ไหน...
ผมยังมืดแปดด้าน...
พรุ่งนี้อ่านต่อครับ...
+++++++++++++++++++++++++++++
"มนัส กิ่งจันทร์ ภาคสอง ชุมทางหนังไทยในอดีต" โดยเติมคำว่า "ภาคสอง" คั่นกลางไว้..
อดีตจากฟิล์มภาพยนตร์ ไม่มีวันตาย..

ออฟไลน์ มนัส กิ่งจันทร์

  • มนัส กิ่งจันทร์ ภาคสอง ชุมทางหนังไทยในอดีต
  • Moderator
  • พี่น้อง thaicine Gold member
  • ***
  • กระทู้: 2814
  • พลังใจที่มี 35
  • เพศ: ชาย
    • มนัส ชุมทางหนังไทยในอดีต
ชีวิตนักพากย์ ตอนที่ 11 โดยพี่ชาติ อธิษฐาน
29 พ.ย. 60
คุณมนัส กิ่งจันทร์...ที่รัก
วันนี้มีรูปคุณ ศุภชัย โตสัมพันธ์ กับใบปิดหนัง พันท้ายนรสิงห์
จะเกี่ยวพันกันยังไง...จะเล่าให้ฟังครับ
++++++++++++++++++++++++
ชีวิตนักพากย์ ตอนที่ 11
เมื่อบอกลาจากลุงเล็ก กุหลาบทิพย์
และกลับมาห้องพัก เก็บข้าวเก็บของเตรียมย้าย
ทั้งที่ยังไม่รู้เลยว่าจะย้ายไปอยู่ที่ไหน ทำงานกับบริษัทใด
แต่เมื่อตัดสินใจและออกปากไปแล้ว ก็ต้องทำตามคำพูด
อันที่จริง มานั่งนึกๆดู
การมาอยู่กับกุหลาบทิพย์ภาพยนตร์ ก็ไม่ขี้เหร่อะไรนัก
ได้รับความไว้วางใจจากลุงเล็ก และ เฮียบรรจง เหมบุตร
(คุณพ่อของ บัญชา เหมบุตร หรืออ๊อด) เดือดร้อนเรื่องเงิน
เฮียจะให้ยืมทุกครั้ง มีงานพากย์เมื่อไหร่ก็มาใช้คืน ถามเรื่องดอกเบี้ย เฮียจะหัวเราะหึๆ แล้วว่า
"เฮียไม่ใช่นายทุนเงินกู้โว้ย"
ส่วนเรื่องหนัง มีที่น่าภูมิใจอยู่อย่างหนึ่ง
เมื่อหนังใหม่เข้ามา ลุงเล็กมักจะสั่งให้ผมประเดิมพากย์เป็นคนแรกทุกเรื่อง ไม่ว่าจะเป็น
1 ต่อ 7,
7 แหลก,
7 ประจัญบาน,
7 ตะลุมบอน,
นักเลงเดี่ยว, (ทักษิณ แจ่มผล เป็นพระเอกเรื่องแรก)
และ...อีกเรื่องหนึ่งที่การพากย์ของผมทำให้ลุงเล็กปลื้มมากๆ ก็คือ
"พันท้ายนรสิงห์"
หนังเรื่องนี้กลับมาฉายอีกครั้งหนึ่ง
เมื่อหนังถูกส่งมาให้กุหลาบทิพย์จัดจำหน่าย
ลุงเล็กสั่งให้ผมไปพากย์ โดยที่ยังไม่เคยดูหนังเรื่องนี้เลย
คืนนั้น...เป็นงานฉายกลางแปลงที่มหาชัย
เนื่องจากมีการขุดพบโขนเรือเอกชัยที่หักหล่นลงไปจมอยู่ในคลองโคกขาม (ตามที่หนังสร้าง) เขาได้เอาโขนเรือ (หัวเรือ) ขึ้นมาตั้งบูชาที่วักโคกขาม (ชื่อสมัยนั้น) แล้วเอาหนังเรื่องพันท้ายนรสิงห์มาฉายเฉลิมฉลอง
คืนนั้น...คนมากันแน่นลานวัดจนแทบจะเบียดกันทีเดียว
ก่อนฉาย เขามีการทำพิธีเซ่นไหว้วิญญาณท่านพันท้าย
ลุง "หรุ่น รองรัตน์" เจ้าของหนังที่เดินทางไปด้วย ได้พาผมไปเข้าร่วมพิธี ผมก็จุดธูปบอกวิญญาณท่านพันท้าย ว่า คืนนี้ ขอให้การพากย์ของผมเป็นที่ราบรื่น อย่ามีอุปสรรคใดๆ
หนังฉาย...
เดินเรื่องมาจนถึงฉากพันท้ายกำลังอำลานวล เพื่อจะไปถือท้ายเรือพระที่นั่งเอกชัย ส่งพระเจ้าเสือเสด็จไปปากน้ำมหาชัย
ชูชัย พระขรรค์ชัย รับบทเป็นพันท้ายนรสิงห์
สุพรรณ บูรณะพิมพ์ รับบทเป็น นวล เมียพันท้าย
ถนอม อัครเศรณี รับบทเป็นพระเจ้าเสือ
แต่...
หัวใจของเรื่องมาตรงที่
พันท้ายอำลานวลเมียรัก
เป็นฉากเพลง "น้ำตาแสงใต้"
พอเนื้อเพลงมาถึงตรง "น้ำตา แสงใต้ ดื่มใจพี่ร้าวระบม...."
กล้องจับภาพตรงใบหน้าของนวล แสงจากใต้ที่จุดไว้ข้างๆ
สะท้อนเกร็ดน้ำตาของนวลที่ไหลลงอาบแก้ม สะท้อนแสงวูบวาบตรงกับเนื้อเพลงพอดี...
พร้อมกับเสียงสะอื้นร่ำไห้จากการเค้นเสียงของคุณภาวนา
เจ้าประคุณเอ๋ย น้ำตาคนดูแทบจะท่วมลานวัดโคกขามเลยทีเดียว...
หนังจบ...คนดูเข้ามาล้อมวงดูหน้านักพากย์จนผมออกจะเขินๆ ต้องยกมือไหว้ขอบคุณกำลังใจจากพี่น้องทั้งหลาย
และ...ลุงหรุ่นเจ้าของหนัง ใจป้ำ ควักแบ็งค์ร้อยส่งให้ผมคนละใบ กล่าวคำชมไม่ขาดปาก
นั่นคือสิ่งดีๆที่ผมได้รับจากการเป็นนักพากย์ของกุหลาบทิพย์ภาพยนตร์
แต่สิ่งที่ผมทนไม่ได้ก็คือ
เมื่อผมได้ออกพากย์สตาร์ทแล้ว แต่พอหนังจะออกเดินสาย
กลับกลายเป็นคนอื่นได้พากย์ทุกเรื่อง จนมาถึงเรื่องสุดท้าย
"สิบทหารเสือ" ที่ผมออกปากไปว่า ถ้าไม่ได้เดินสายเรื่องนี้ผมจะลาออก
ซึ่งผมก็ไม่ได้ไปพากย์เดินสายจริงๆ แล้วผมก็ลาออกจริงๆ
เก็บข้าวของลงหีบห่อแล้ว
แล้วเราสองคนก็ได้แต่นั่งกอดเข่ามองหน้ากัน
เพราะจนป่านนี้ยังไม่รู้เลยว่า เราจะไปไหนกันต่อ
กำลังนั่งหงอเหงาอยู่
พลันก็มีผู้ชายคนหนึ่งโผล่หน้ามาที่ประตู
เขาเคาะที่ประตูก๊อกๆ ผมจึงหันไปมอง อ้าว
"ศุภชัย โตสัมพันธ์" นั่นเอง
ศุภชัยเคยทำงานที่โรงงานยาสูบมาก่อน แต่เกิดอุบัติเหตุตอนปลุกบ้าน ปีนขึ้นไปมุงหลังคา แล้วพลาดตกลงมาเอาหลังฟาดพื้นถึงสลบ รักษาตัวอยู่นาน แม้จะหายแล้ว แต่ปอดได้รับความกระทบกระเทือนมาก จนหมอแจ้งว่า "เป็นโรคปอด" นั่น
เป็นสาเหตุที่ทำให้ศุภชัยต้องออกจากงานที่โรงงานยาสูบ แต่
บังเอิญพี่เมียศุภชัย (บุญสม) ไปเรียนต่อที่อินเดีย ขากลับได้ซื้อเครื่องฉายหนัง 16 ม.ม. มา 1 เครื่อง ศุภชัยจึงไปขอเช่าจากพี่เขยมารับจ้างฉายหนังกลางแปลงทั่วไป
ผมกับคุณภาวนา เคยไปพากย์ให้เขาหลายครั้งจนคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี
มาวันนี้ ศุภชัยบอกว่าจะมาเอาตัวผมไปพากย์หนังที่วัดแห่งหนึ่งในคลองมอญ...
ผมบอกว่า ไม่ไปหรอก ผมลาออกจากกุหลาบทิพย์แล้ว แต่ศุภชัยกลับว่า หนังคืนนี้เป็นหนังเช่า ไม่เกี่ยวกัน ผมให้พี่ไปพากย์ให้ผม ไม่ใช่พากย์ให้กุหลาบทิพย์ (สมัยคบกันใหม่ๆ ศุภชัยเรียกผมว่าพี่)
เขาเร้าหรือผมอยู่นาน จนคุณภาวนาเอื้อมมือมาสะกิด
"เห็นใจคุณศุภชัยเถอะ เขาตั้งใจมาหาเราแล้ว"
ผมก็บอกว่า เราต้องหาบ้านเช่าก่อนนะ เราต้องไปจากที่นี่เลย
"งั้นพี่ไปอยู่บ้านผม???"
ผมชะงัก มองหน้าเขา เขาก็มองตาผม ความจริงใจของลูกผู้ชายมันบอกออกมาตรงๆ
"ไป พี่เก็บข้าวของเลย เดี๋ยวผมช่วย ไปกันเดี๋ยวนี้เลย ไปอยู่บ้านผม กินข้าวกับผม พากย์หนังให้ผม แล้วผมจะพัฒนาจอให้ยิ่งใหญ่ไม่แพ้คนอื่น ขอแต่ อธิษฐานกับภาวนา ต้องพากย์ให้ผมจอเดียวเท่านั้น...
ลูกผู้ชาย ใจถึงกัน...
ผมจึงอพยพไปอยู่บ้านศุภชัยตั้งแต่วันนั้น
บ้านของศุภชัย อยู่ริมคลองมอญ ตรงข้ามวัดบางเสาธง
สมัยนั้นต้องไปทางเรือ แต่ต่อมามีการตัดถนนผ่านข้างบ้าน
ศุภชัยออกไปทางตะวันตก ที่เราเรียกว่า "จรัญ ซอย 13 " หรือซอย ร.ร.พานิชย์นั่นแหละ
ไปถึงบ้านศุภชัย บุญสม เมียของศุภชัยรู้เรื่องเข้าก็ดีอกดีใจ
จัดห้องให้เราพักอย่างดี ซึ่งบังเอิญบ้านเขาเพิ่งปลูกได้ไม่นาน มีห้องว่างอยู่ 1 ห้องพอดี วางข้าวของเสร็จก็เตรียมไปพากย์หนังกันเลยทีเดียว...
เมื่อได้ผมมาอยู่พากย์ประจำจอ ศุภชัยก็เริ่มงานใหญ่ทันที
เขาวิ่งหาซื้ออุปกรณ์จนครบ แล้วออกหางานด้วยตัวเอง
ซึ่งก็เหมือนว่าเราถูกโฉลกกัน พอมาอยู่ไม่นาน งานก็วิ่งเข้ามา
อย่างน่าชื่นอกชื่นใจ
พอถึงหน้าฝน งานกลางแปลงไม่ค่อยมี เราก็จัดหาหนังออกไปเร่แถวนครปฐม ราชบุรี บ้านโป่ง เมืองกาญจน์ มีรายได้พอเลี้ยงปากเลี้ยงท้องกันได้อย่างสบายๆ ไม่เดือดร้อน
จอศุภชัยภาพยนตร์ดังขึ้นเรื่อยๆ จนแซงหน้า "อภิวันภาพยนตร์" และ "มะลิภาพยนตร์" ของพี่อภิวัน และพี่มะลิ ซึ่งตอนนั้น ทั้ง 2 จอนี้ดังมากๆอยู่แถวนครปฐม ราชบุรี เพชรบุรี เมืองกาญจน์ และสุพรรณบุรี...
ผมอยู่กับศุภชัยภาพยนตร์มานานเป็นปี
จนกระทั่งวันหนึ่ง มีนักพากย์หญิงคนหนึ่งดั้นด้นมาหาผม
ถึงที่บ้านของศุภชัย ซึ่งวันนั้น ศุภชัยไม่อยู่บ้าน เธอคนนั้นคือ
"พี่สมศรี" นักพากย์รุ่นพี่ของผมซึ่งพากย์ประจำอยู่บริษัท สหการภาพยนตร์ ของเสี่ยปิง หรือ ปริญญา ทัศนียกุล สำนักงานอยู่ที่โรงหนังศรีบางลำพู
มาบอกว่า ขอให้ผมไปพากย์คู่กับเขาที่เวียงจันทน์ ประเทศลาว เขาเจาะจงมาหาผมก็เพราะได้ข่าวว่า ผมพากย์หนังโดยไม่ต้องซ้อมได้เก่งมาก แล้วก็พากย์ได้สนุกทุกเรื่อง จึงอยากให้ผมไปพากย์คู่กับเขาที่เวียงจันทน์
ซึ่งตอนนั้น...โรงหนังที่เวียงจันทน์ยังนิยมนักพากย์เสียงไทย
ที่จริงพี่สมศรีมีแฟนเป็นนักพากย์ และก็พากย์คู่กันมาตลอด
แต่แฟนพี่สมศรีพากย์หนังโรงไม่ได้ คือหมายความว่า ซ้อมหนังรอบเดียวแล้วพากย์เลยเขาทำไม่ได้ เขาทำได้เฉพาะกับหนังเดินสาย ที่ต้องซ้อมกันถึงสามสี่วันจนคล่องปากจึงจะทำได้ แต่พี่สมศรีเสียดายงานนี้มาก เพราะถ้าผ่าน ก็จะได้ต่อสัญญากันเป็นปี และค่าพากย์ คิดเป็นเงินไทยแล้ว ได้วันละ 300 ร้อยบาทไทย แบ่งกันคนละ 150 บาท มันไม่ใช่น้อยเลยสมัยนั้น...
แต่ผมปฏิเสธ...
เพราะผมไปคนเดียว แล้วคุณภาวนาล่ะ???
ถ้าสมมติว่าคุณภาวนาได้งานที่นั่นด้วย ผมจึงจะไป
พี่สมศรีกลับไปด้วยความผิดหวัง...
แต่...
อีกสี่ห้าวันต่อมา พี่สมศรีก็กลับมาหาผมอีก
มาคราวนี้พร้อมกับข่าวดีว่า ที่เวียงจันทน์ มีโรงหนังชั้นสอง
ที่ฉายหนังควบ นักพากย์หญิงเขาต้องกลับมาคลอดที่บ้านเกิดโคราช คงต้องพักให้นมลูกไม่ต่ำกว่าสามเดือน ให้คุณภาวนาไปพากย์ เอาไหม?
คุณภาวนารีบสะกิดผม แล้วพูดยิ้มๆว่า
"ไปเหอะ พี่..."
ผมเลยตกลงทันที
ต่อมา พี่สมศรีได้พาผมกับคุณภาวนาไปที่ร้านบริการหนัง
"พยงค์ภาพยนตร์"
อยู่แถวๆแยกแม้นศรี เจ้าของกิจการดูเหมือนจะชื่อเฮียย้ง หรือเฮียจ่าง ผมไม่แน่ใจ เพราะชักลืมๆเสียแล้ว เป็นคนจีน และเป็นเพื่อนกับเจ้าของโรงหนังที่เวียงจันทน์ เป็นผู้รับภาระจัดหานักพากย์ส่งไป ซึ่งบางคู่ก็พากย์อยู่เป็นปี บางคู่ไม่ถึงเดือนก็มี แล้วแต่ฝีปากการพากย์เป็นสิ่งสำคัญ
เฮียย้งจัดการให้พวกเราทำพาสปอร์ต
แล้วก็เตรียมการเดินทาง
วันเดินทางออกจากบ้านศุภชัย
ทั้งศุภชัยและบุญสมทำสีหน้างงๆ
"นึกว่าพี่พูดเล่น ไม่คิดว่าจะทิ้งเราไปจริงๆ..."
ผมใจหายวาบ คำว่า "ทิ้ง" มันไม่น่าจะเกิดกับเพื่อนต่อเพื่อนแต่ความผิดมันก็ตกอยู่ที่ผมคนเดียว เพราะตลอดเวลา ผมไม่ได้พูดจาเรื่องนี้อย่างจริงจังกับสองคนนี้มากนัก เพิ่งจะมาจริงจังเอาตอนก่อนออกเดินทางนี่เอง
"จอของเรากำลังไปได้ดี จนใครๆอิจฉา คนดูส่วนมากติดการพากย์ของพี่ เราบอกตรงๆ พี่เป็นตัวชูโรงให้เรา ถ้าขาดพี่แล้ว..."
บุญสมพูดทำตาแดงๆ
แต่จะทำไงได้ งานที่เวียงจันทน์กำลังรอ อนาคตการพากย์ประจำโรงกำลังรอ ซึ่งยุคนั้น ใครๆก็อยากเป็นนักพากย์ประจำโรงกันทั้งนั้น ยิ่งได้ข้ามไปพากย์ถึงเวียงจันทน์ ประเทศลาว จะมีใครสักกี่คนที่ได้มีรวาสนาอย่างผม และ ผมก็ได้จัดการทุกอย่างไปหมดแล้วด้วย ถ้าจะบอกเลิกตอนนี้ พี่สมศรีกับเฮียย้ง
คงต้องไปเริ่มใหม่ อาจจะวุ่นวายมากพอดู และพาสปอร์ตก็ทำเสร็จแล้วด้วย
นึกถึงวันที่ศุภชัยโอบอุ้มผมออกมาจากกุหลาบทิพย์ นึกถึงความมีน้ำใจให้กันตลอดมา ผมก็สะเทือนใจไม่น้อย...
นี่เรากำลังจะทิ้งเพื่อนหรือ
นี่เราเป็นคนเลวที่ทิ้งเพื่อนเชียวหรือ
คำถามเหล่านี้อึงอลอยู่ในหัวสมองผมตลอดเวลา
แต่...จะทำไงได้ ทุกอย่างเกินจะแก้ไขเสียแล้ว เปลี่ยนแปลงอะไรไม่ได้แล้ว...
"ขอโทษด้วยนะ...."
ดูเหมือนผมจะพึมพำได้แค่นั้น
แล้วเราสองคนก็ก้าวออกมาจากบ้านศุภชัย
จุดหมายอยู่ที่ เวียงจันทน์ ประเทศลาว...
พรุ่งนี้อ่านต่อครับ...
++++++++++
"มนัส กิ่งจันทร์ ภาคสอง ชุมทางหนังไทยในอดีต" โดยเติมคำว่า "ภาคสอง" คั่นกลางไว้..
อดีตจากฟิล์มภาพยนตร์ ไม่มีวันตาย..

ออฟไลน์ มนัส กิ่งจันทร์

  • มนัส กิ่งจันทร์ ภาคสอง ชุมทางหนังไทยในอดีต
  • Moderator
  • พี่น้อง thaicine Gold member
  • ***
  • กระทู้: 2814
  • พลังใจที่มี 35
  • เพศ: ชาย
    • มนัส ชุมทางหนังไทยในอดีต
ชีวิตนักพากย์ ตอนที่ 12 โดย พี่ชาติ อธิษฐาน
30 พ.ย. 60
คุณมนัส กิ่งจันทร์...ที่รัก
รูปที่นำมาประกอบวันนี้คือ "ประตูชัย"
ที่จะผ่านเข้านครเวียงจันทน์ กับ "ธาตุหลวง"
สถานที่ศักดิ์สิทธิ์ซึ่งอยู่นอกเมืองออกไปเล็กน้อย
++++++++++++++++++++++++
ชีวิตนักพากย์ ตอนที่ 12
......................................
ที่สุด...
ผมกับคุณภาวนาและพี่สมศรี
ก็ออกเดินทางจากกรุงเทพฯมุ่งสู่เวียงจันทน์
โดยรถด่วนสาย กรุงเทพฯ - หนองคาย รถออกเดินทางตอนบ่ายสี่โมงกว่าๆ
จำได้ว่า วันเดินทางคือ วันที่ 13 เมษายน วันสงกรานต์ เพราะ
ตลอดสองข้างทางรถไฟ มีคนยืนสาดน้ำใส่คนบนโบกี้ จนต้องปิดหน้าต่างกันจ้าละหวั่น
พอรถเลยรังสิตมา สองข้างทางก็มีแต่ทุ่งนากว้างไกล
ท้องฟ้าเริ่มจะเป็นสีแสด มองแล้วรู้สึกใจละห้อยชอบกล
นี่เรากำลังจะจากบ้านเมืองของเรา เพื่อไปยังอีกบ้านเมืองหนึ่ง รูปร่างหน้าตาของเมืองนั้นจะเป็นอย่างไร ผู้คนจะมีอัธยาศัยเหมืองคนไทยในเมืองไทยของเราไหม
คิดแล้วก็ใจหาย...
และยิ่งใจหาย เมื่อนึกถึงสมกับศุภชัย
ผมทอดทิ้งเขาทั้งสองมา ทั้งที่เราร่วมกันก่อสร้าง ศุภชัยภาพยนตร์จนโด่งดังเหนือกว่าอีกหลายๆจอในยุคนั้น
คิดถึงวันที่เราไปฉายหนังกัน โดยเฉพาะงานกลางแปลง
ผมจะต้องช่วยเขาขึ้นจอทุกครั้ง ทั้งที่ศุภชัยไม่เคยขอร้อง
แต่ผมเห็นว่า เมื่อเรามาด้วยกัน ก็ต้องช่วยกัน งานขึ้นจอไม่ได้ลำบากหรือหนักหนาอะไรนัก
นึกถึงการขึ้นจอหนังกลางแปลง ผมมีเรื่องตลกๆมาเล่าให้ฟัง
วันนั้น จำได้ว่าเราไปฉายงานกลางแปลงที่ ร.ร.วัดดอนหวาย
ริมแม่น้ำท่าจีน อยู่เลยวัดไร่ขิงขึ้นไปเล็กน้อย
ช่วงนั้นเป็นหน้าฝน ขึ้นจอเสร็จ ยังไม่ทันฉายฝนก็เทลงมาห่าใหญ่ แถมลมพายุพัดกระหน่ำรุนแรง ยิ่งเป็นลมที่พัดมาตามแม่น้ำยิ่งไม่ต้องพูดถึง
เสาจอหัก...
จอพังพาบลงมากับพื้น...
ดีที่เครื่องฉายเราตั้งอยู่บนศาลาวัด
ฝนหาย...
แล้วผมก็ต้องลงไปช่วยเขาจัดการกับจอ
ผมเอาผ้าขาวม้ามาผลัด ลงไปจัดการกับจอ
เจ้ากรรม ยังไม่ทันเสร็จดีฝนก็พรำลงมาซ้ำอีก
แม้จะเบากว่าคราวแรก แต่ผมก็เปียกปอนและหนาวสุดๆ
พอทุกอย่างเสร็จ ผมก็เข้าไปที่เครื่องทำไฟ อาศัยไออุ่น
จากท่อไอเสียแก้หนาว
แต่!!!
ผมยืนอีท่าไรไม่รู้
ชายผ้าขาวม้าถูกลมพัดดูดเข้าไปที่มู่เล่ของเครื่องทำไฟ
ฟ้าวววว!!!!
พรืดดดดด!!!!
ผ้าขาวม้าไปพันมูเล่ เครื่องไฟดับลงทันที
แต่...ผมกลายเป็นไอ้ชีเปลือยยืนโด่อยู่ข้างเครื่องไฟมืดๆ
เพราะเครื่องมันดูดเอาผ้าขาวม้าผมไป
ผมตกใจเงอะงะ หันไปหันมา พอดีเสื้อผ้าที่ผมผลัดกองอยู่ข้างๆเครื่องไฟ ผมรีบโดดไปคว้าเอากางเกงมานุ่งก่อนเลย
แม่จ้าว...
พอนุ่งเสร็จช่างเครื่องไฟก็วิ่งหน้าตื่นมาพอดี...
เกือบโชว์เปลือยไปแล้วไหมล่ะ...
นั่นเป็นความทรงจำขำๆขันๆที่เกือบหน้าแตกของผม...
รถด่วนสายกรุงเทพฯ-หนองคาย พาผมกับผู้โดยสารทั้งหมดวิ่งฝ่าความมืดของคืนนั้น จนช่วงสายของวันรุ่งขึ้นก็มาถึงหนองคาย...
เราทั้งสามลงจากรถ...
ผมยืนมองป้ายสถานีหนองคาย พลันก็นึกถึงประวัติของเมืองหนองคายขึ้นมา แล้วก็หัวเราะหึๆอยู่คนเดียว จนคุณภาวนาถามว่า
"หัวเราะอะไร?"
ผมก็เลยเล่าให้คุณภาวนาฟัง ถึงเกร็ดเล็กๆของเมืองหนองคาย ที่ผมอ่านเจอจากหนังสือ เล่มใดก็ลืมแล้ว
เขาเล่าว่า
หนองคาย...ในอดีต
มีหนองน้ำขนาดใหญ่มากๆ
ที่ชาวบ้านชอบเอาควายมาลงกินน้ำและอาบน้ำ
นอกจากชาวบ้านก็ยังมีพวกนายฮ้อยที่พากองคาราวานควาย
มาพักกินน้ำกันที่นี่ จนเรียกกันติดปาก
ครั้นพอตั้งขึ้นเป็นจังหวัด ที่นี่ก็เลยได้ชื่อว่า
"หนองควาย"
แล้วอยู่มาวันหนึ่ง
สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงทรงเสด็จประพาสที่นี่
พระองค์ทรงถามว่าจังหวัดนี้ชื่ออะไร ชาวบ้านคนหนึ่งก็ตอบเป็นภาษาอีสานว่า
"หนองค้วย"
พระเจ้าอยู่หัวถึงกับตกพระทัย แล้วก็เห็นว่า ภาษาปากคนอีสานนี่ฟังหวาดเสียว จึงทรงให้เปลี่ยนชื่อเมืองเสียใหม่ โดย
ให้เอา ตัว ว.แหวนออกไปจากคำว่าหนองควาย นั่นเอง เมืองนี้จึงถูกเรียกว่า
"หนองคาย"
มาจนถึงปัจจุบัน
เมืองหนองคายนี้ ผมเคยเขียนเป็นกลอน 77 จังหวัดไว้ 1 บท
ความว่า
"หนองคายนี้ เดิมที มีควายมาก
ภาษาปากคนอีสานฟังพาลเสียว
ท่านจึงให้ไล่แหวนแล่นไปเชียว
ใครไปเที่ยวเดี๋ยวนี้ไม่มีควาย..."
เราทั้งสามคนเดินจากสถานีหนองคายมาลงเรือข้ามฟากมายังฝั่งตะวันตก ที่เป็นท่าเรือของฝั่งลาว ชื่อว่า
"ท่าเดื่อ"
สมัยนั้นยังไม่มีสะพานมิตรภาพไทย-ลาว ต้องข้ามเรือจ้าง
มาขึ้นบนฝั่งลาว แล้วก็มีชายร่างผอมเล็กคนหนึ่ง เข้ามาแสดงตัวว่าเขามาจากโรงหนัง มารับนักพากย์ที่จะเดินทางมาถึงวันนี้ แล้วก็พาเราไปที่ด่านตรวจคนเข้าเมือง แสดงหนังสือเดินทางเรียบร้อยแล้วเขาก็พาขึ้นรถ รถพาวิ่งมาตามถนนที่ทอดสายไปทางตะวันตก มุ่งหน้าสู่นครเวียงจันทน์
ระยะทาง...ผมคิดว่าคงสักประมาณ 10 กิโลเมตร มากหรือน้อยกว่านั้นก็ไม่เท่าไหร่ แล้วรถก็ผ่าน "ประตูเมือง" สูงใหญ่
ที่เรียกกันว่า "ประตูชัย" สักพักก็เข้าสู่ย่านร้านค้า แล้วก็มาจอดลงที่หน้าโรงหนังที่ผมจะต้องมาพากย์ คือ
"โรงหนังเวียงสมัย"
ซึ่งอยู่ติดกับโรงหนัง แสงลาว ที่เป็นโรงทันสมัยใหม่กว่า
ตอนนั้น ที่เวียงจันทน์มีโรงหนังรวม 4 โรงด้วยกัน คือ เวียงสมัย, แสงลาว, แล้วก็โรงชั้นสองอีก 1 โรงที่คุณภาวนาไปพากย์แต่ผมจำชื่อไม่ได้แล้ว ส่วนโรงที่สี่คือ "ล้านช้าง" ฉายแต่หนังเสียงในฟิล์ม ตั้งอยู่ที่โรงแรมล้านช้าง ซึ่งเป็นโรงแรมใหญ่ชั้นหนึ่งของเมือง ประมาณโรงแรมรัตนโกสินทร์ของไทยเราน่ะแหละ
คนที่มารับ ซึ่งก็คือ ผู้จัดการของโรงหนัง พาผมเข้าไปรู้จักและทำความเคารพเถ้าแก่เจ้าของโรงหนัง สนทนากันเล็กน้อย ผู้จัดการก็พาขึ้นไปบนที่ห้องพัก ซึ่งอยู่ที่ปีกของโรงหนังนั่นเอง...
วันแรก...ของโปรแกรมแรก ที่ได้เริ่มพากย์
จำไม่ได้แล้วว่าเป็นหนังอะไร จำได้เพียงเป็นหนังฝรั่ง
พอหนังเลิก ก็เกิดเซอร์ไพร้ซ์ขึ้นกับผมและพี่สมศรีทันที
เด็กบอกว่ามีคนมารอพบอยู่ข้างล่าง ผมกับพี่สมศรีและคุณภาวนา ซึ่งตอนนั้นยังไม่ได้เริ่มพากย์ พากันลงมา
ก็มีผู้ชายสามคนยืนรออยู่ คนแรกเข้ามาแนะนำตัวว่าชื่อ
"เถลิงชัย"
เป็นผู้ช่วยราชทูตไทยประจำนครเวียงจันทน์ กับเจ้าหน้าที่ทูตอีกสองคน...
แม่เจ้าโวย...
อะไรจะขนาดน้าน...
คุณเถลิงชัยบอกว่า พอรู้ข่าวว่ามีนักพากย์คนไทยคนใหม่มาพากย์หนังที่นี่ ก็รีบมานั่งดูจนจบ แล้วก็ขอเชิญผมไปเลี้ยงข้าวกันในบ่ายนั้นเลย เราคนไทยด้วยกัน มาอยู่ต่างบ้านต่างเมือง ต้องรู้จักกันไว้ เดือดร้อนอะไรจะได้ช่วยเหลือกัน เออ สุดวิเศษจริงๆ นี่แหละน้ำใจคนไทยละ
เราไปนั่งกินข้าวกัน คุยกัน ถ่ายรุปกัน เสียดายที่รูปพวกนั้นหายไปหมดแล้ว
มาอยู่เวียงจันทน์...ผมพยายามทำความรู้จักกับเวียงจันทน์ในทุกแง่มุม ครั้งแรก เข้าไปในร้านขายเครื่องดื่มแห่งหนึ่ง ก็สั่งเขาทันทีว่า
"ขอน้ำส้มแก้วนึง"
แล้วก็ไปนั่งรอ รอ แล้วก็รอ
นานแล้วไม่เห็นทำมาส่งให้สักทีก็เลยเดินไปถาม
แม่ค้าก็ตอบว่า
"ที่นี่ไม่ได้ขายน้ำส้มเป็นแก้ว เราขายเป็นจอก"
ผมงง!!!
มันยังไงกันล่ะหว่า
พอดีมีคนไทยนั่งอยู่ในร้านเห็นเข้า ก็มาอธิบายให้ผมฟังว่า
"คำว่า แก้ว ภาษาลาวหมายถึง ขวด ถ้าคุณอยากดื่มเป็นแก้วต้องสั่งว่า น้ำส้มหนึ่งจอก เพราะจอก แปลว่าแก้ว..."
ป้าดดด
เกือบอดกินแล้วไหมล่ะ
เรื่องไปสั่งอาหารกินในนครเวียงจันทน์ หรือประเทศลาวนี้ ผม
เซ่อไปหลายครั้งเพราะไม่รู้ภาษาพื้นเมืองของเขา แม้ภาษาไทยกับภาษาลาวจะเป็นเหมือนภาษาเดียวกัน แต่ก็มีชื่อของใช้ของกินหลายคำที่ไม่เหมือนกัน เช่น
ขนมจีน เรียก ข้าวเส้น
ก๋วยเตี๋ยว เรียก ข้าวซอย บางทีก็เรียก เฝอ เป็นภาษาเวียดนาม
ช่วงที่ผมไปพากย์หนังอยู่นั้น
ประเทศลาวเพิ่งผ่านวิกฤติมาหยกๆ
นายร้อยเอกทหารบกคนหนึ่ง ก่อการปฏิวัติ
แล้วตั้งตนเองเป็นนายพล เรียกชื่อเป็นที่โด่งดังว่า
"นายพลกองแล"
บ้านเมืองยังไม่ปกติ
ทางโรงหนังจึงปรับรอบฉายเป็น
กลางวัน มีรอบบ่ายโมง กลางคืนมีรอบสองทุ่ม รอบเดียว
กลางคืน เลยเวลาสองยามหรือเที่ยงคืนไปแล้ว ห้ามออกมาเดินเพ่นพาน เผลอๆอาจถูกจับเข้าคุก ข้อหา
"เดินกรายเกินสองยาม"
ซึ่งผมเจอมาแล้ว เข้าไปนอนในคุกมาแล้ว แล้วจะเล่าให้ฟังทีหลัง วันนี้จะเล่าเรื่องชมตลาดให้ฟังก่อน...
และช่วงหัวค่ำ ก่อนหนังฉาย มักจะมีทหาร 1 คนบ้าง 2 คนบ้าง มายืนเล่าเรื่องการสู้รบในสมรภูมิให้คนที่มารอดูหนังได้ฟังกัน ยืนกันเป็นกลุ่มๆเลยทีเดียว
ตลาดที่เวียงจันทน์มี 2 แห่ง คือ
"กาดเช้า" หรือ ตลาดเช้า กับ "กาดแลง" หรือตลาดเย็น
กาดแลง...เป็นตลาดที่ขายสินค้าทุกอย่าง อาหารการกินสารพัด และรวมทั้งเสื้อผ้า เครื่องสำอาง ของใช้ทุกชนิด
มีอยู่ชนิดหนึ่ง ที่คนไทยไปเจอแล้วอดซื้อไม่ได้ โดยเฉพาะพวกผู้หญิง นั่นก็คือ
"เกี๊ยะญวน"
รองเท้าไม้ที่ทำมาจากเวียดนามนั่นเอง เป็นรองเท้าไม่หุ้มส้น จึงเลยเรียกกันว่าเกี๊ยะ สวยมาก ผมเองเป็นผู้ชายเห็นแล้วยังชอบ สีสันสดใส ส้นสูงนิดๆ คุณภาวนาเองยังซื้อมาตั้งสี่ห้าคู่
แล้วก็อีกตลาดหนึ่ง คือ กาดเช้า หรือตลาดเช้า
จำได้ว่า ช่วงเช้าวันนั้น ผู้จัดการได้พาเราสามคนไปเที่ยวกัน
โดยเอารถสองล้อถีบมาให้เราขี่ตามกันไป...
อ้าว!!!
ยุ่งอีกแล้วซี
การจราจรที่เวียงจันทน์เขาใช้ขวาใครขวามัน
ไม่เหมือนกับเมืองไทย ที่ใช้เดินทางซ้าย ซ้ายใครซ้ายมัน
แต่ผมก็ขี่ตามเขาไปได้ แบบเก้ๆกังๆไปตลอดทาง เพราะมัน
ฝืนๆยังไงชอบกล จนกระทั่งเลย "โรงมโหสถ" หรือโรงพยาบาลมาเล็กน้อยก็ถึงสี่แยก ผมเก้ๆกังๆตามเขาไม่ทันเลยต้องลงจูงมันไปดื้อๆ
เลยสี่แยกขึ้นมาทางเหนือก็ถึงตลาดเช้า หรือ กาดเช้า ของชาวเวียงจันทน์
ตั้งอยู่บนลานที่กว้างขวางมากๆทีเดียว มีอาคารรูปร่างเหมือนศาลาวัดขนาดใหญ่ มีแม่ค้ามากมายเอาสินค้ามาวางขายริมทางเดิน ผมก็เดินดูไปเรื่อยๆ ส่วนมากก็เป็นพวกผักและปลาสด หมูสดเนื้อสด แต่ที่แปลกตาอย่างหนึ่งก็คือ
มีกาละมังขนาดใหญ่ ใส่ลูกกบหรือลูกอ๊อดอยู่ในราวครึ่งกาละมัง ว่ายกันยุบยิบๆ ผมถามเขาว่านี่เรียกอะไรครับ
"ลูกฮวก"
แม่ค้าตอบ
"เอาไปลวกกินก็ได้ ยำกินก็ได้ แกงก็ได้..."
ผมร้องอ้อๆแล้วก็เดินเลยไป พร้อมนึกในใจว่า มนุษย์เรานี่ ช่างสรรหาของกินกันเหลือเกิน...
แล้ววันหนึ่ง
ชะตาผมก็พลิกผัน
หนังเลิกราวสี่ทุ่มกว่าๆ
ยังไม่ง่วงนอน ชวนคุณภาวนาออกไปหาอะไรกินเธอก็บอกว่าไม่หิว ผมเลยชวนเด็กโรงหนังคนหนึ่งไปเป็นเพื่อน แล้วถามเด็กคนนั้นว่า แถวใกล้ๆนี้ มีอะไรอร่อยๆกินบ้าง เด็กหนุ่มคนนั้นก็เลยพาผมเดินเลาะริมถนนมาทางทิศใต้ ซึ่งเป็นถนนทอดไปสู่ลำโขง
เด็กบอกว่า
"มีร้านเฝอร้านหนึ่ง ร้านนี้มีคนมากินแน่นทุกคืน เขาพูดกันว่า เฝอ ของที่นี่อร่อยมาก แต่ผมว่า พวกที่มากินเฝอ คงไม่ได้ตั้งใจมากินหรอก มาจีบแม่ค้าเฝอมากกว่า เดี่ยวพี่จะได้เห็น เธอสวยมากๆทีเดียว..."
จากนั้นเราก็มาถึงร้านก๋วยเตี๋ยวหรือร้านเฝอที่ว่า
เออ คนแน่นจริงๆ ผมกวาดสายตามองไปทั่วร้าน สังเกตว่า
ลูกค้าส่วนมากเป็นคนหนุ่มๆทั้งนั้น ผู้หญิงมีน้อยมาก แล้วก็มองไปที่คนขายก๋วยเตี๋ยว ซึ่งก็ไม่ได้สวยอะไรนัก
แต่...
ที่อยู่ติดกันนั่นซี
โต๊ะขายน้ำแข็งไส
แม่จ้าว!!!
เธอสวยจริงๆ
แม้จะไม่ได้แต่งหน้าทาปาก
แต่ก็สวยไม่ธรรมดา หน้ากลมๆ ผมยาวๆ
เราสองคนรอจนได้ที่นั่ง แล้วก็สั่งเฝอมากินกันคนละชาม
ขณะนั่งรอ ก็ส่ายตามองไปทั่วๆร้าน ที่ออกจะกว้างขวาง
มีโต๊ะหลายโต๊ะ ที่แปลกก็คือ ทุกโต๊ะจะต้องสั่งน้ำแข็งไสมากินกันทุกคน กินไปก็นั่งมองแม่ค้าน้ำแข็งไสไป
เด็กเอาก๋วยเตี๋ยวมาส่ง เราสองคนก็กินกันไป สักพัก ก็มีผู้หญิงคนหนึ่งมายืนมองเราสองคนที่ข้างโต๊ะ ผมเงยหน้าขึ้นมอง
อ้าว...
แม่ค้าน้ำแข็งไสนั่นเอง
เธอยิ้มให้ผม แม่จ้าว ผู้หญิงคนนี้ยิ้มสวยมากๆ
"ไม่ทานน้ำแข็งไสบ้างหรือคะ อุดหนุนกันหน่อยนะคะ"
เธอกล่าวเสียงหวานๆน่ารัก ซึ่งผมก็คิดเพียงว่า เป็นปกติของแม่ค้าแม่ขายทั่วไป ไม่มีอะไรพิเศษหรอก ก็เลยสั่งไป 2 ที่
สักครู่ใหญ่ๆ แม่ค้าคนเดิมก็ถือถ้วยน้ำแข็งไส 2 ถ้วยมาวางลงที่โต๊ะผม ผมเงยหน้าขึ้นขอบคุณ เธอก็ยิ้มอีก ทำให้ผมชักใจป่วนๆพิกล แล้วก็ป่วนยิ่งขึ้นไปอีกเมื่อเธอกล่าวว่า
"ขอนั่งคุยด้วยคนได้ไหมคะ?"
ว้าวววว
แม่ค้ามาขอนั่งคุยกับลูกค้าด้วย
ผมหันไปมองรอบๆร้านอย่างระแวง
ระแวงว่าอาจมีไอ้หนุ่มเจ้าถิ่นมาหมั่นไส้ผมเข้าก็ได้
แล้วก็ชักรู้สึกชอบกลๆ หนุ่มๆหลายโต๊ะหันมามองเราผมก็เลยตอบไปว่า
"ถ้าไม่รังเกียจคนไทยพลัดถิ่นก็...ยินดีครับ"
เธอนั่งลงที่โต๊ะว่าง แล้วแนะนำตนเองว่า
"ฉันก็เป็นคนไทยค่ะ มาเป็นลูกจ้างที่ร้านนี้อยู่ปีกว่าแล้ว บ้านเดิมอยู่ที่อำเภอสว่างแดนดิน จังหวัดสกลนคร ดิฉันชื่อเล่นๆว่า แขก ส่วนชื่อจริงคือ พัชรี... พัชรี คุณวงศ์"
ส่วนมากก็เป็นธรรมดา
ที่ผู้ชายหนุ่มๆจะมีสาวๆมาสนใจพูดคุยด้วย
และทุกรายจะเกิดความดีอกดีใจ และภูมิใจที่สาวๆสนใจตัว
แต่กับผม...
รู้สึกสังหรณ์ใจ
ว่าน่าจะมีอะไรเกิดขึ้นกับผม
ในทางดี หรือว่าทางร้าย เอาไว้พรุ่งนี้มาเล่าต่อครับ...
++++++++++++++++++++++++++++++++++
"มนัส กิ่งจันทร์ ภาคสอง ชุมทางหนังไทยในอดีต" โดยเติมคำว่า "ภาคสอง" คั่นกลางไว้..
อดีตจากฟิล์มภาพยนตร์ ไม่มีวันตาย..

ออฟไลน์ มนัส กิ่งจันทร์

  • มนัส กิ่งจันทร์ ภาคสอง ชุมทางหนังไทยในอดีต
  • Moderator
  • พี่น้อง thaicine Gold member
  • ***
  • กระทู้: 2814
  • พลังใจที่มี 35
  • เพศ: ชาย
    • มนัส ชุมทางหนังไทยในอดีต
ชีวิตนักพากย์ ตอนที่ 13 โดย พี่ชาติ อธิษฐาน
1 ธ.ค. 60
คุณมนัส กิ่งจันทร์...ที่รัก
วันนี้ นอกจากรูปพระธาตุหลวง
ยังมีรูปพระเจ้าไชยเชษฐามหาราช
พระมหาราชองค์เดียวของราชอาณาจักรล้านช้าง
พระองค์ส่งพระธิดามาเป็นสนมของกษัตริย์ไทย และ
ทรงเป็นผู้เริ่มต้นสานสายสัมพันธ์ไทยลาวจนเป็นบ้านพี่เมืองน้อง ด้วยการสร้างพระธาตุศรีสองรัก...
++++++++++++++++++++
ชีวิตนักพากย์ ตอนที่ 13
ตลอดการสนทนากันในคืนนั้น
ดูท่าว่า พัชรี จะให้ความรู้สึกสนิทสนมกับผมอย่างดี
อาจเป็นเพราะผมเป็นคนไทยเหมือนกับเธอ ทำให้เราสนิทสนมกันอย่างรวดเร็ว...
แต่...
ผมก็ต้องระวังตัวไว้เหมือนกัน
ผมเป็นคนต่างถิ่นมา ส่วนเธอเป็นแม่ค้าที่สวยเอามากๆ
แน่นอน ย่อมมีพวกหนุ่มๆท้องถิ่นมาชอบพอหรือมาติดพันเธอ
ไม่มากก็น้อย
และคนเหล่านั้น อาจมีพวกนักเลง เจ้าพ่อ หรือคนมีสีอยู่ด้วยก็ได้ เมื่อผมมานั่งคุยกับเธอเช่นนี้ อาจมีพวกนั้นหมั่นไส้ ผมก็จะเจ็บตัวฟรีแน่ๆ เรื่องนี้ น้าชายผมเคยสั่งสอนไว้เมื่อสมัยเริ่มเป็นหนุ่มว่า หากไปต่างถิ่น แล้วเจอสาวๆ อย่าทะเล่อทะล่าเข้าไปจีบ เพราะอาจมีหนุ่มเจ้าถิ่นหึงหวง จะมีอันตราย
แล้ววันนี้...
ผมมาเจอเอาแม่ค้าที่สวย น่ารัก สะดุดตาเช่นนี้ ก็ต้องระวัง
เสียดายครับ ผมมีรูปที่ถ่ายกับเธอ และรูปที่เธอเป็นนางงามประจำอำเภอส่งมาให้ มันถูกคุณภาวนาแอบเอาไปฉีกทิ้งหมดแล้ว...เลยไม่มีรูปยืนยัน
ผมอำลามาจากเธอในคืนนั้น เพราะเกรงจะไปขวางหูขวางตาเจ้าถิ่นคนใดเข้า และที่สำคัญ ตอนนั้นมันห้าทุ่มกว่าแล้ว ช่วงนั้นเวียงจันทน์มีปัญหาบ้านเมืองไม่สงบ เขาประกาศเคอร์ฟิว ห้ามออกนอกบ้านหลังสองยามไปแล้ว ผมก็เลยต้องรีบกลับ
ผมใช้ชีวิตพากย์หนังอยู่เวียงจันทน์อย่างสบายๆ
เรื่องแฟนหนัง ก็ไม่มีปัญหาอะไร เพราะคนลาวสมัยนั้นชอบดูหนังพากย์ไทย เคยมีนักพากย์ลาวอยู่คู่หนึ่ง ที่ผู้จัดการเคยพาไปรู้จัก เสียดายที่ผมลืมชื่อไปแล้ว เดิมเขาเป็นคนอีสาน ไปตั้งรกรากอยู่เวียงจันทน์ แล้วก็หัดพากย์หนัง เขาพากย์เป็นภาษาลาว...
แต่แปลก!!!
คนลาวที่นั่นกลับไม่ชอบดู พากย์ได้ 2-3 โปรแกรมก็ต้องเลิกไป เพราะไม่มีคนดู แต่พอมาพากย์ไทย กลับมีคนดูมากกว่า
โรงหนังที่เวียงจันทน์ มีโรง เวียงสมัยที่ผมพากย์ แล้วก็โรงชั้นสอง ชื่ออะไรจำไม่ได้แล้ว ที่คุณภาวนาไปพากย์กับนักพากย์ประจำโรง คือ "พชร-พจี" ออกเสียงว่า พัดชะระ กับ พะจี ซึ่งคุณพจีต้องมาคลอดที่บ้านเขาที่โคราช เลยให้คุณภาวนาไปพากย์แทน แล้วก็มีโรง แสงลาว ซึ้งโรงนี้เล่นหนังที่ส่งไปจากกรุงเทพฯ โดยมีนักพากย์ประจำหนังติดไปด้วย...
ซึ่งครั้งหนึ่ง ผมเจอ "อนุชา กับ จารีทิพย์" ไปพากย์หนังเรื่องหนึ่ง อนุชา ก็คือ อนุชา แสงผล ผู้สร้างหนังเรื่อง อินทรีย์ทอง นั่นแหละ เขารู้จักกับผมตั้งแต่อยู่ที่กุหลาบทิพย์ภาพยนตร์โน่นแล้ว ส่วน "จารีทิพย์" ก็คือลูกสาวคนเล็กของ ลุงเล็ก กุหลาบทิพย์นั่นเอง คุณติ๋วหรือจารีทิพย์พากย์หนังเก่งมาก เสียงดี ส่วนความสวย ดูจะน้อยกว่าพี่สาวเธอ คือ "จินตนา กุหลาบทิพย์" หรือ พี่แจ่ม คนนี้สวยแจ่มจริงๆ คนรุ่นปี 2499 คงได้รู้จัก พี่แจ่มเป็นนางเอกหนังเรื่อง "มารหัวใจ" ที่นางเอกผิดหวัง ตอนจบต้องโกนหัวบวชชีนั่นแหละ...
พูดถึงเรื่องนี้ มีเกร็ดขำๆมาเล่าให้ฟัง
ผมเคยคุยกับพี่แจ่ม เล่าให้ฟังว่า ตอนหนังเรื่อง "มารหัวใจ" ออกฉายไปได้เกือบเดือน คนดูล้นหลามมาก เพราะเป็นเรื่องแรกที่นางเอกโกนหัวจริงๆ แล้วคนดูก็ลือกันไปว่า นางเอกเรื่องนี้ผูกคอตายจริงๆเพราะผิดหวังความรัก...
ก็...ได้ฮากันเล็กๆ...
ผมอยู่เวียงจันทน์...
พยายามทำความรู้จักกับเวียงจันทน์ทุกแง่มุม
ไปเที่ยวทุกแห่งที่มีเวลา แม้กระทั่งซ่องโสเภณีก็ไป
อาบอบนวด "White Ross" ก็ไป แต่สาบาลได้ ผมไม่ได้ไปเที่ยวอย่างว่า ไปเพื่อให้รู้จักชื่อสถานที่ แล้วก็เอามาใส่เป็นมุขตอนพากย์หนัง ซึ่งก็เรียกเสียงเฮฮาได้ไม่น้อยทีเดียว
แล้วก็เคยไปดูหนังที่โรงหนัง "ล้านช้าง" ซึ่งเป็นโรงที่ฉายหนังเสียงต่างประเทศ ส่วนมากเป็นหนังที่มาจากฝรั่งเศส ซึ่งครั้งหนึ่งเคยปกครองลาวต่อจากไทย แล้วก็นำวัฒนธรรมของฝรั่งเศสมาทิ้งไว้ในเมืองลาวมากมาย
จำได้ว่า ผมเคยไปเที่ยวดูหน้าโรงหนังล้านช้าง มีโปรแกรมกำงฉายเรื่อง "อีร์ม่า ลาดู๊ซ" เสียงคนที่นั่นเขาว่ายังงั้น ซึ่งมันก็คือเรื่อง "เออร์ม่าผู่น้ารัก"นั่งเอง
ชื่อ "ล้านช้าง" เป็นชื่อเดิมของราชอาณาจักร์ลาว คู่กับ "ล้านนา" ราชอาณาจักรโบราณของคนเหนือ ก่อนจะมารวมเป็นแผ่นดินเดียวกับไทย ซึ่งว่ากันว่า อาณาจักรล้านนา มีนานับล้านไร่ อาณาจักรล้านช้าง มีช้างนับล้านตัว
เขาเล่าว่ายังงั้นนะครับ
ผมพากย์หนังกับพี่สมศรีอยู่ที่โรงหนังเวียงสมัย ภายใต้ข้อตกลงพิเศษอย่างหนึ่งคือ ทุก 3 เดือน เขาจะให้ผมกลับมาพักผ่อนที่เมืองไทย 5 วัน และเพื่อเป็นการมาต่อวีซ่าด้วย
ใกล้จะถึงวันที่ผมจะกลับมาพักผ่อนที่เมืองไทย
ผมไปหาพัชรีในคืนหนึ่ง ซึ่งทุกครั้งที่ผมไปนั่งกินเฝอหรือก๋วยเตี๋ยวที่ร้าน ก็จะต้องสั่งน้ำแข็งไสมากิน แล้วพัชรีก็จะเป็นคนยกถ้วยน้ำแข็งไสมาเสิร์ฟด้วยตัวเอง แล้วก็ถือโอกาสนั่งคุยกับผม จนกว่าผมจะกลับ โดยเธอจะใช้ให้เด็กเป็นคนทำแทน ซึ่งเถ้าแก่ของเธอก็มักจะมองมาทางผมด้วยสายตาพระอินทร์ (เขียว) บ่อยๆ เพราะพัชรีเป็นตัวเรียกลูกค้าของร้าน เขาจึงไม่อยากให้เธอมานั่งโต๊ะใดโต๊ะหนึ่งนานๆ
คืนนั้น...
ผมออกปากชวนพัชรีไปเที่ยวข้างนอก
โดยบอกว่า อีกสองวัน ผมจะกลับไปพักผ่อนที่เมืองไทย
อยากไปถ่ายรูปสถานที่สำคัญๆ และสวยๆ เอาไว้เป็นที่ระลึก
พัชรีดีใจมาก แต่ก็มีข้อแม้ว่า เธอขอเอาเพื่อนผู้หญิงไปด้วยคนหนึ่งนะ ไม่ใช่กลัวพี่ทำร้ายหรอก แต่กลัวคนอื่นเห็นแล้วจะนินทา ผมก็บอกว่า...ได้เลย
วันรุ่งขึ้น ผมก็ไปรับเธอ ผมไปเพียงคนเดียว
ส่วนพัชรีมีเพื่อนสาวคนทำงานในร้านไปเป็นเพื่อน
เรานั่งรถไปนอกเมือง ไปถ่ายรูปกันที่พระธาตุหลวง สิ่งศักดิ์สิทธิ์และสวยงามที่สุดของนครเวียงจันทน์ รูปที่ถ่าย
ส่วนมากถ่ายคู่กับพัชรี ซึ่งทุกรูป จะออกมาแบบซึ้งๆ น่ารักๆ
จนเย็น...
ผมก็กลับมาส่งเธอที่ร้าน
แล้วบอกว่า รูปที่ถ่ายนี่ แล้วจะส่งมาให้
พร้อมกับจดที่อยู่ในกรุงเทพฯให้เธอไว้ แล้วบอกว่า
มีอะไรด่วนก็เขียนจดหมายไปตามนี้นะ
"พรุ่งนี้สายๆสักเก้าโมง ผมก็จะออกจากโรงหนัง กลับบ้าน"
วันรุ่งขึ้น ผมกับคุณภาวนาก็ขึ้นรถเตรียมตัวกลับ
ผมต้องคอยพยุงคุณภาวนาตลอดเวลา เพราะตอนนั้น
คุณภาวนากำลังตั้งท้องลูกสาวคนที่ 4 ท้องเริ่มโตจนมองเห็นได้ชัดแล้ว
แล้วรถก็พาเราออกจากหน้าโรงหนัง มุ่งสู่ท่าเดื่อ
โดยผมไม่ได้สนใจหรือมองซ้ายมองขวาอะไรเลย
และไม่รู้หรอกว่า มีสายตาของใครคู่หนึ่ง กำลังมองผมอยู่
อย่างปวดร้าว!!!
ผมกลับมากรุงเทพฯแล้ว
สิ่งแรกคือเอาฟิล์มไปล้าง
เตรียมไว้ว่า กลับไปเวียงจันทน์คราวหน้า จะได้มอบให้เธอ
แต่แล้ว วันหนึ่ง
ก็มีจดหมายฉบับหนึ่งส่งมาถึงผม
ผมแปลกใจ เพราะธรรมดาก็ไม่ค่อยมีใครเขียนจดหมายถึงผม
พอเปิดออกอ่าน
โอ้...พระเจ้าช่วยด้วยเถิด!!!
เป็นจดหมายจากพัชรีนั่นเอง
เธอขึ้นต้นจดหมายว่า โชคดีที่เธอได้รู้จักผม
แต่กลับเป็นโชคร้ายสำหรับชีวิตของเธอ เธอบอกว่า
ในวันที่ผมเดินทางกลับนั้น เธอเตรียมช่อดอกไม้ จะมาส่งให้ผม แต่พอมาเห็นผมกำลังประคองคุณภาวนาขึ้นรถ เธอถึงกับ
ชะงักอยู่กับที่ แล้วแอบยืนมองดูผมจนผมกับคุณภาวนาขึ้นรถไป...
จากนั้น วันรุ่งขึ้นเธอก็ลาออกจากร้านก๋วยเตี๋ยว แล้วกลับสกลนคร..
เธอบอกว่า เธออยู่ที่เวียงจันทน์ต่อไปไม่ได้ เธออายเพื่อน
ที่ไปด้วย และทนไม่ได้ ที่แอบไปหลงรักคนที่มีเจ้าของแล้ว
และขอฝากรูปที่เธอถ่ายตอนประกวดนางงามที่อำเภอสว่างแดนดินมาให้ดู เผื่อจะคิดถึงเธอ ส่วนเธอนั้น คงจะคิดถึงผมตลอดไป อาจลืมไม่ได้ชั่วชีวิต
คุณกลับไปเวียงจันทน์คราวหน้า ไม่ต้องไปหาที่ร้านอีกแล้ว แขกกลับมาบ้านแล้ว และจะไม่กลับไปอีกตลอดชีวิต...
โอ้...พระเจ้า!!!
อีกแล้วหรือ???
พัชรีเป็นอีกคนหนึ่งแล้วหรือ
จากน้องก้อ ก็มาน้องชลอ แล้วก็มาพัชรี
ที่แอบมาหลงรักผม ทั้งที่ผมไม่ได้คิดอะไรกับเธอเหล่านั้นเลย
สำหรับพัชรี ผมบอกตรงๆว่า ไม่ได้คิดอะไรไปในทางชู้สาวเลย เพราะกลัวจะไปเจออิทธพลของเจ้าถิ่น และโดยเฉพาะ ตอนนั้น
คุณภาวนาก็กำลังท้อง ผมต้องคอยดูแลเป็นพิเศษ ไม่อยากให้มีอะไรกระทบจิตใจ เดี๋ยวจะเป็นผลไปถึงลุกในท้อง
และตลอดเวลา ทุกครั้งที่ผมไปกินก๋วยเตี๋ยวที่ร้านของพัชรี
ผมก็ไม่เคยพูดจาแบบเกี้ยวพาราศีอะไรกับเธอ พูดก็แต่เรื่องธรรมดาทั่วไป
จะมีบ้างก็บางครั้ง ที่นึกไปว่า
ผู้หญิงคนนี้สวยน่ารัก และพูดจากับเราดีมาก
แต่ไม่เคยคิดเลยเถิดไปในเรื่องชู้สาวเลย
เออ...แล้วจะยังไงล่ะ ทีนี้...
ครบกำหนด...
ผมกับคุณภาวนาเดินทางกลับเวียงจันทน์
คราวนี้พี่สมศรีไม่ได้มาด้วย เพราะเธอได้งานใหม่ที่ทำร่วมกับสามี พอดีกับคุณภาวนาก็หมดสัญญากับทางโรงชั้นสองนั้น พี่สมศรีจึงให้คุณภาวนามาพากย์กับผม ซึ่งก็ดี เราจะได้ทำงานด้วยกันตามปกติ
มาถึงเวียงจันทน์
โปรแกรมหนังรอพากย์อยู่แล้ว
วันนั้น สตาร์ทหนังรอบกลางวันแล้ว
ก็มาถึงรอบกลางคืน พากย์เสร็จ หนังเลิก
จิตใจชักแกว่งๆชอบกล นึกถึงแต่พัชรีผู้น่าสงสาร
จนอดใจไม่ไหว ก้เลยชวนเด็กโรงหนังไปเป็นเพื่อน
มุ่งสู่ร้านก๋วยเตี๋ยวที่พัชรีเคยทำงานอยู่ แม้ในจดหมายเธอจะบอกว่า ได้ลาออกและกลับมาเมืองไทยแล้ว แต่ผมก็อยากไปพิสูจน์ความจริงว่า เธอพูดจริงหรือเปล่า
ผมเข้าไปในร้าน
พุ่งสายตาไปที่โต๊ะน้ำแข็งไส
ไม่มีพัชรีอยู่ที่นั่น มีแต่ผู้หญิงพนักงานคนใหม่
ผมสั่งก๋วยเตี๋ยวแล้วก็มานั่งรอที่โต๊ะ จนเถ้าแก่เดินมา
ผมก็ทักทาย แล้วแกล้งถามไปว่า พัชรีไปไหน เถ้าแก่ทำหน้าดุๆ พูดเสียงดุๆว่า
"ลื้อพาเขาไปแล้ว ยังมาแกล้งถามอีกเรอะ?"
ผมตกใจ บอกว่าไม่ได้พาเธอไปนะ เธอเขียนจดหมายไปบอกว่า เธอกลับไปอยู่สกลนครแล้ว...
เถ้าแก่ร้องฮึ แล้วก็เดินออกไปจากร้าน กางร่มกันฝนไปด้วย เพราะตอนนั้นฝนตกพรำๆพอดี ผมมองตาม เห็นเถ้าแก่เข้าไปที่ป้อมตำรวจซึ่งตั้งอยู่ฝั่งตรงข้ามกับร้านก๋วยเตี๋ยว
ผมไม่ได้สนใจอะไรมากนัก กินก๋วยเตี๋ยวจนอิ่ม และขณะกำลังสั่งน้ำแข็งไสมากิน ก็มีตำรวจนายหนึ่งเข้ามาหา แล้วสั่งให้ผมเดินตามเขาไปที่ป้อม
ตำรวจนายนั้นพูดโทรศัพท์อยู่สักครู่ก็มานั่ง ผมถามว่า เรียกผมมาทำไม เขาตอบว่า
"ไม่ได้เรียก แต่คุณถูกจับแล้ว"
"เอ๊ะ จับเรื่องอะไร ผมผิดเรื่องอะไร?"
"เดินกรายเกินสองยาม"
"เฮ้ย.. นี่ยังไม่ถึงสองยาม เพิ่งห้าทุ่มกว่าๆเท่านั้น"
ตำรวจนายนั้นไม่พูดอะไร จนกระทั่งมีรถสายตรวจคันหนึ่งแล่นมาจอด ตำรวจนายนั้นก็พาผมกับเด็กโรงหนังไปขึ้นรถ
แล้วรถก็วิ่งฝ่าสายฝนออกไป...
รถวิ่งวนไปวนมาอยู่นาน จนผมอึดอัด
แล้วก็มาจอดที่หน้าโรงพักแห่งหนึ่ง ซึ่งมารู้ทีหลังว่าคือ
"สถานีตำรวจธาตุหลวง"
อยู่นอกตัวเมืองออกมาไม่มากนัก
ผมถามเจ้าหน้าที่ที่พาผมมาว่า จับผมข้อหาอะไร?
เขาก็ตอบเหมือนที่ตำรวจที่ป้อมพูดว่า
"เดินกรายเกินสองยาม"
ผมพยายามอธิบายว่า ตอนที่ตำรวจคนนั้นเข้าไปจับผมน่ะ ผมกำลังกินก๋วยเตี๋ยว ไม่ได้เกินกราย แล้วตอนนั้นก็เพิ่งห้าทุ่มกว่าๆ ยังไม่ถึงสองยามตามเคอร์ฟิว ตำรวจทำเฉย ไม่พูดไม่จาอะไร ผมจะขอโทรศัพท์ไปแจ้งที่โรงหนัง เขาก็บอกว่า โทรศัพท์เป็นของทางราชการ มีไว้ใช้ในราชการเท่านั้น แล้วก็พาเราสองคนเข้าห้องขัง!!!
เอาละซี...
เวรกรรมแล้วไหมล่ะ
อยู่เมืองไทยไม่เคยเข้าคุกเข้าตะราง
แต่มาเวียงจันทน์ กลับถูกจับเข้าคุกเสียแล้ว
โดยที่ทางโรงหนังไม่รู้เรื่องเลย คุณภาวนาก็ไม่รู้เรื่อง
แล้วจะยังไงต่อไป...
พรุ่งนี้เล่าต่อครับ...
"มนัส กิ่งจันทร์ ภาคสอง ชุมทางหนังไทยในอดีต" โดยเติมคำว่า "ภาคสอง" คั่นกลางไว้..
อดีตจากฟิล์มภาพยนตร์ ไม่มีวันตาย..

ออฟไลน์ มนัส กิ่งจันทร์

  • มนัส กิ่งจันทร์ ภาคสอง ชุมทางหนังไทยในอดีต
  • Moderator
  • พี่น้อง thaicine Gold member
  • ***
  • กระทู้: 2814
  • พลังใจที่มี 35
  • เพศ: ชาย
    • มนัส ชุมทางหนังไทยในอดีต
ชีวิตนักพากย์ ตอนที่ 14 โดยพี่ชาติ อธิษฐาน
2 ธ.ค. 60
คุณมนัส กิ่งจันทร์...ที่รัก
วันนี้จะเล่าต่อจากเหตุการณ์เมื่อวานนี้นะครับ
++++++++++++++++++++++
ชีวิตนักพากย์ ตอนที่ 14
......................................
ผมนั่งจับเจ่าอยู่ในคุก
มันกระวนกระวายใจ และทรมานใจอย่างบอกไม่ถูก
อยู่เมืองไทย ผมไม่เคยทำผิดถึงติดคุกติดตะราง แต่มาอยู่ที่นี่
กลับมีเรื่องต้องถูกตำรวจจับขัง ข้อหาเดินกรายเกินสองยาม จะติดต่อหาทางโรงหนังก็ไม่ได้ เพราะตำรวจเขาไม่อนุญาตให้ใช้โทรศัพท์ของทางราชการ ก็เลยต้องนั่งจ๋องอยู่ในห้องขัง ทอดอาลัยกับชีวิต ยังไม่รู้ว่า พระเจ้าองค์ไหนจะลงมาช่วยผมได้...
จนดึก...
เจ้าเด็กที่ติดร่างแหมากับผมนอนขดและหลับไปแล้ว
ผู้ร่วมขังอีกสองสามคนก็พากันหลับไปหมด มีผมเพียงคนเดียวที่นั่งเกาะลูกกรง มองออกไปทางหน้าโรงพัก แสงไฟ
ส่องสลัวๆ สาดใส่สายฝนที่ยังพรำๆอยู่ตลอดเวลาเป็นสายพลิ้วๆ...
จากห้าทุ่มกว่าๆ
บางครั้งผมก็นั่งงีบพิงลุกกรง
พออากาศเย็นมากๆเข้าก็รู้สึกตัว กระชับเสื้อและกอดอก
เวลาผ่านไปอย่างเชื่องช้า สุดแสนทรมาน
จนกระทั่ง...
ตอนสายๆ ตำรวจเอาข้าวคลุกอะไรก็ไม่รู้มาให้กิน ด้วยความหิว ผมตักใส่ปากลองเคี้ยวๆดู ไม่มีเนื้อสัตว์อะไร มีแต่ข้าวเปล่าๆ ราดด้วยน้ำอะไรไม่รู้ กลิ่นเหมือนปลาร้า...
ตอนสายๆ มีคนมาประกันตัวชายสองสามคนที่ถูกขังอยู่ก่อนผม พวกเขาออกไปแล้ว ตอนนี้ก็เลยเหลือผมกับเจ้าเด็กนั่นเท่านั้น...
มื้อกลางวัน...ก็เหมือนเดิม
ผมกินไปได้สองสามคำก็กลืนไม่ลง ผิดกับเจ้าเด็กนั้น มันกินเสียจนหมดจาน
อิ่มแล้วก็นั่งทรมาน รอ และรอความหวังลมๆแล้ง ว่าพระเจ้าจะดลให้มีคนมาช่วย บางครั้งก็นั่งหลับไปด้วยความทรมาน
จนกระทั่ง
ผมมองไปที่ข้างฝา
นาฬิกาบอกเวลา 17.30 น.แล้ว
แสงอาทิตย์จากภายนอกเริ่มรุบหรู่ลงทีละน้อย
แสดงว่า วันนี้กำลังจะผ่านไปอีกวันหนึ่งแล้ว
และแล้ว...
ทันใดนั้นเอง...
พระพรหมทรงช่วย...
"ผู้จัดการ...."
ผมร้องเสียงดัง จนเจ้าเด็กที่นั่งหลับสะดุ้งตื่น
ผู้จัดการโรงหนังเดินขึ้นมาบนโรงพัก หันมาเห็นผมเข้า
เขาเดินเข้ามาหาผม ยิ้มให้ แล้วว่า
"โอยยย เพิ่งเจอ เดี๋ยวๆๆๆ..."
แล้วผู้จัดการก็เข้าไปหาร้อยเวร พูดอะไรกันไม่รู้ เสียงผู้จัดการค่อนข้างดังและมีอารมณ์นิดๆ แล้วก็มีการจ่ายเงินอะไรกันก็ไม่รู้ ตำรวจจึงมาไขกุญแจปล่อยผมกับเด็กออกมา...
นั่งรถกลับมา ผู้จัดการก็เล่าให้ฟังว่า เมื่อรอบบ่ายหนังไม่ได้ฉาย เพราะตามหาตัวนักพากย์ไม่เจอ นักพากย์ผู้หญิงก็เอาแต่ร้องไห้ ยิ่งเถ้าแก่ยิ่งงุ่นง่านโมโหตลอดเวลา สั่งให้ทุกคนออกตามหา แต่ก็ไม่มีร่องรอย จนเย็น จึงกลับมาถามเด็กที่โรงหนัง
เด็กบอกว่าเมื่อคืนนี้ เห็นมากับเด็กโรงหนังอีกคน เดินไปทาง
ถนนริมโขง คงไปกินก๋วยเตี๋ยวกัน จึงไปถามที่ร้านก๋วยเตี๋ยว คนที่ร้านบอกว่าตำรวจเอาตัวผมกับเด็กขึ้นรถไป ไปไหนไม่รู้
ผู้จัดการไปถามที่ป้อม จึงรู้ว่าผมถูกจับมาโรงพักที่ธาตุหลวง
จึงได้ตามมา แล้วก็ได้พบ ถามตำรวจว่าจับข้อหาอะไร เขาก็บอกว่า เดินกรายเกินสองยาม จึงเสียค่าปรับไป 400 กีบ
(สมัยนั้น เงินลาว 100 กีบ เท่ากับเงินไทย 4 บาท 50 สตางค์)
ผู้จัดการพาผมกลับมาโรงหนัง คุณภาวนาเห็นเข้าก็ร้องห่มร้องไห้เป็นการใหญ่...
แล้วคืนนั้น หนังก็กลับมาฉายตามปกติ
วันรุ่งขึ้น...
เถ้าแก่เรียกผมไปคุย
ท่านจะจ่ายค่าทำขวัญให้ผม แต่ผมไม่รับ
ท่านบอกว่า ไอ้โรงหนังแสงลาวมันคงอิจฉา หาทางกลั่นแกล้ง เพราะโรงมันไม่ค่อยมีคนดู คนดูแห่มาดูของเราเต็มทุกรอบ...
ขณะคุยกัน เจ้าเด็กคนที่ไปติดคุกกับผมเมื่อคืนมาขอเข้าพบเถ้าแก่ บอกมีเรื่องสำคัญเกี่ยวกับผม เถ้าแก่ก็ให้เข้ามานั่งคุยด้วย...
เจ้าเด็กนั่นบอกว่า...
เขากลับไปที่ร้านก๋วยเตี๋ยว ไปถามหาสาเหตุของเรื่องที่ตำรวจจับผมกับเขาทำไม เพราะตอนนั้นเพิ่งแค่ห้าทุ่มกว่าๆ พวกสาวๆที่เป็นพนักงานมนร้านซึ่งเป็นเพื่อนบ้าง รุ่นน้องบ้างของพัชรี ต่างเล่าให้ฟังว่า
ตัวเถ้าแก่ร้านก๋วยเตี๋ยวเข้าใจว่าผมพาพัชรีหนีมาด้วย ทำให้เขาโกรธผมมาก เพราะพัชรีเป็นตัวดึงดูดลูกค้าของเขา เมื่อพัชรีไม่อยู่ที่ร้าน ลูกค้าก็ตกลงไปมาก...
และที่สำคัญ...
ตำรวจนายที่มาเชิญตัวผมไปนั้น เขาจะมาอยู่ที่ป้อมแห่งนี้ประจำ ตั้งแต่สองทุ่มถึงเที่ยงคืน ตำรวจหนุ่มคนนี้มาจีบพัชรี
ตลอด แต่พัชรีไม่ชอบเขา พยายามปฏิเสธที่จะมานั่งคุยด้วย
ซึ่งตลอดเวลาปีกว่า พัชรีไม่เคยออกมานั่งคุยกับลุกค้าคนใดเลย เพิ่งมีนักพากย์นี่แหละ ที่ออกมานั่งคุยด้วยทุกครั้ง จึงทำให้ตำรวจนายนั้นเกลียดขี้หน้าผม หาเรื่องเอาผมเข้าคุก คุกโรงพักไหนก็ไม่ส่งไป ดันส่งไปที่โรงพักธาตุหลวง ซึ่งอยู่นอกเมืองออกไป จนทำให้ต้องตามหากันวุ่น...
เมื่อเรื่องมันกระจ่างออกมาอย่างนี้
ผมก็เลยตัดสินใจทันที ขอลาออกจากโรงหนัง
ขอกลับเมืองไทยดีกว่า เพราะไม่แน่ใจว่า ต่อไปจะเจออะไรเข้าอีก เถ้าแก่พยายามตื๊อจะให้ผมอยู่ต่อไป โดยสัญญาว่า จะหาคนมาเป็นบอดี้การ์ด เวลาไปไหนจะได้ปลอดภัย และจะหารถเล็กๆให้สักคัน เพื่อใช้เวลาที่ผมจะไปข้างนอก ท่านไม่อยากให้ผมออก ท่านบอกว่า ตั้งแต่ผมมาพากย์อยู่ที่นี่ ยอดการจำหน่ายตั๋วเพิ่มขึ้นอย่างมาก อยากให้ผมอยู่นานๆ
แต่ผมปฏิเสธ เพราะคิดว่า ถึงยังไงก็ไม่ปลอดภัยเสียแล้ว
ที่สุด..เถ้าแก่ก็ยอมตามใจผม
พอหมดโปรแกรมนั้น ผมกับคุณภาวนาก็เดินทางกลับเมืองไทยทันทีเลย...
กลับมาถึงเมืองไทย...
คิดว่ากลับมาพากย์กลางแปลงให้ศุภชัยตามเดิมดีกว่า
แต่...ก็เจอปัญหา...ใหญ่เสียด้วย
สม หรือ สมบุญ ภรรยาของศุภชัย เธอโกรธที่ผมทิ้งเธอไปอยู่เวียงจันทน์ ทำให้เธอต้องไปหานักพากย์ใหม่ ซึ่งก็ไม่ดีเท่าที่ควร คนที่เคยมาหาหนังศุภชัย เมื่อรู้ว่าผมไม่ได้พากย์อยู่ด้วยแล้ว ก็ไปหาจออื่นกันหมด ทำให้งานตกต่ำลงมาก
ผมก็ขอโทษ ที่ทอดทิ้งพวกเขาไป
สมบอกว่าไม่เป็นไร เรื่องนักพากย์ หาเอาใหม่ก็ได้ เรามีจอมีหนังให้เขาพากย์ นักพากย์ หาเอาใหม่เมื่อไหร่ก็ได้...
ผมจึงแน่ใจในทันทีว่า
สายใยเราขาดเสียแล้ว...
ผมเลยตัดสินใจออกมาเป็นอิสระ
เตร็ดเตร่หางานพากย์แถวหลังเฉลิมกรุง
แล้วแต่ใคร จอไหน จะจ้างไปพากย์ ผมไปทุกงาน
เรื่องฝีปากการพากย์ของผม เป็นที่รู้ๆกันอยู่ จึงไม่ยากในการที่ผมจะหางานพากย์...
แต่ที่ยากก็คือ ทางบริการหนังทุกแห่ง เขามีนักพากย์ประจำกันทั้งนั้น จะมีงานเหลือมาถึงผมก็เฉพาะวันศุกร์-เสาร์-และอาทิตย์ ซึ่งมักจะมีงานกลางแปลงมากกว่าปกติ
แน่นอน...
ทำงานสามวัน กินไปเจ็ดวัน
ยังไงมันก็ลุ่มๆดอนๆ ไม่เหมือนงานพากย์ประจำโรง
หรือการเป็นนักพากย์ประจำอยู่กับบริการ ซึ่งจะมีงานพากย์อยู่แทบทุกวัน กลางแปลงบ้าง เร่ปิดวิกบ้าง หรือไปตามโรงต่างจังหวัดบ้าง
เอ...
ถ้าเป็นอยู่อย่างนี้
คงไม่ดีสักเท่าไหร่แน่
แล้วจะทำอย่างไรถึงจะมีงานประจำ ที่มีรายได้ประจำ
เพราะเราต้องกินต้องใช้ทุกวัน บ้านก็เช่าเขาอยู่ ต้องจ่ายทุกเดือน...
แล้วพระพรหมก็ช่วยผมอีกครั้ง...
เมื่อวันหนึ่ง ขณะผมเดินเกร่อยู่แถวหลังเฉลิมกรุง
ก็มีเสียงทักดังมาจากข้างหลัง
"เฮ้ย ไอ้ชาติ..."
ผมสะดุ้ง หันกลับไปมอง
"อ้าว ไอ้บูลย์..."
วิบูลย์พันธ์ เพื่อนนักพากย์จากสายเหนือเฉลิมชาติภาพยนตร์ ปากน้ำโพ ซึ่งลงมาอยู่กรุงเทพฯตามหลังผมไม่เท่าไหร่ ร้องเรียกมา
เรื่องเพื่อนจากปากน้ำโพ คือ วิบูลย์พันธ์นี้ ผมลืมเล่าให้ฟังไป
ตอนอยู่กุหลาบทิพย์ภาพยนตร์มาได้สักครึ้งปี ก็มีเพื่อน 3 คนจากเฉลิมชาติปากน้ำโพลงมาอยู่ที่กุหลาบทิพย์ด้วยกัน สองคนแรก เป็นนักพากย์คู่ผัวเมียกัน คือ เจ้าด้ง กับ บุญยืน นามพากย์ว่า "กามนิต - วาสิษฐี" แล้วก็วิบูลย์พันธ์คนนี้
ไอ้บูลย์หรือวิบูลย์พันธ์ชวนผมเข้าไปนั่งในร้านกาแฟ
แล้วเล่าให้ฟังว่า ตามหาผมมานานแล้ว แต่ไม่เจอ ได้ข่าวว่าไปอยู่เวียงจันทน์...
ตอนนี้เจอตัวก็ดีแล้ว อยากชวนไปร่วมงานด้วย
เขาทำงานอยู่กับคนจีนคนหนึ่ง ที่มีหนังไทยอยู่สองสามเรื่อง
วันไหนถ้ามีงานออกเขาก็จะไปพากย์ แต่บางวัน เช่นเสาร์อาทิตย์ มีงานออกสองหรือสามแห่งก็ไม่มีคนพากย์ อยากให้ผมไปอยู่ด้วย เพราะเห็นว่าผมเก่งทางหนังสือ เนื่องจากคนจีนที่เขาไปอยู่ด้วยไม่รู้หนังสือไทย
"ถ้าได้มึงไป มึงจะได้เป็นหูเป็นตาเรื่องทำสัญญาหนังให้เฮียกู...ไปนะ ไปอยู่กับกู เรามาจากที่เดียวกัน ควรจะไปอยู่ด้วยกัน มีอะไรจะได้ช่วยเหลือกัน..."
"ตกลงว่ะ..."
ผมตอบโดยไม่ต้องคิด เพราะชีวิตผมไม่เคยอยู่ที่ไหนได้นานๆเลย จากที่หนึ่ง ไปยังอีกที่หนึ่ง ซึ่งส่วนมาก ก็มักเจอประสบการณ์แปลกๆอยู่เสมอ
และ...
การมีบริการอยู่ประจำ ยังไงมันก็ดีกว่าเป็นสัมภเวสีผีเร่ร่อน เอาแน่เอานอนอะไรไม่ได้...
เรื่องจะเป็นไงต่อไป ผมจะไปอยู่กับใคร
ไว้พรุ่งนี้เล่าต่อครับ
++++++++++++++++++++++++++
"มนัส กิ่งจันทร์ ภาคสอง ชุมทางหนังไทยในอดีต" โดยเติมคำว่า "ภาคสอง" คั่นกลางไว้..
อดีตจากฟิล์มภาพยนตร์ ไม่มีวันตาย..

ออฟไลน์ มนัส กิ่งจันทร์

  • มนัส กิ่งจันทร์ ภาคสอง ชุมทางหนังไทยในอดีต
  • Moderator
  • พี่น้อง thaicine Gold member
  • ***
  • กระทู้: 2814
  • พลังใจที่มี 35
  • เพศ: ชาย
    • มนัส ชุมทางหนังไทยในอดีต
ชีวิตนักพากย์ ตอนที่ 15 โดยพี่ชาติ อธิษฐาน

คุณมนัส กิ่งจันทร์...ที่รัก
วันนี้ นอกจากรูปผมก็มี รูปคุณ อเล็กซ์ ดิตถกร
และใบปิดหนังเรื่อง กำไลหยก จะเกี่ยวพันกันอย่างไร
จะเล่าให้ฟังครับ
++++++++++++++++++++
ชีวิตนักพากย์ ตอนที่ 15
.....................................
ในที่สุด...
ผมก็ตามวิบูลย์พันธ์เพื่อนเก่า
ไปพบ เฮีย นายทุนหนังคนที่ว่า เขาคือ
"เฮียตี๋"
ตั้งฮั่งเอ็ง หรือนายฮั่งเอ็ง แซ่ตั้ง
เฮียตี๋เป็นเจ้าของร้านข้าวต้มอยู่ที่หน้าโรงหนังเฉลิมบุรี
ซึ่งมีหนังไทยมาเข้าฉายประจำ เจ้าของหนังมาคุมรายได้ของหนังที่โรงเฉลิมบุรี เวลาหิว ก็มาสั่งอาหารที่ร้านข้าวต้มเฮียตี๋กิน แล้วก็รู้จักมักคุ้นกัน จนถึงขนาดยืมเงินเฮียตี๋ไปสร้างหนัง
พอไม่มีเงินมาใช้คืน ก็เอากากหนัง คือหนังที่ฉายตามโรงแล้วมาให้เฮียตี๋ยึดไว้ เฮียตี๋ก็เอาหนัง ซึ่งมีอยู่สามสี่เรื่อง ที่ยึดไว้มาให้เช่าเพื่อเอาเงินทุนคืน โดยให้วิบูลย์พันธ์เพื่อนผมเป็นคนจัดการ แต่วิบูลย์พันธ์คนเดียวไม่ไหว จึงเรียกผมมาช่วย...
ที่สุด...
ผมก็เข้ามาอยู่กับเฮียตี๋
เฮียตี๋อยู่บ้านเป็นห้องแถว เลขที่ 101 ตรอกมะขาม 1
ปากตรอกด้านตะวันตกมาโผล่ข้างโรงหนังบรอดเวย์ สามแยกหมอมี ส่วนด้านตะวันออก ไปโผล่เชื่อมถนนไปวงเวียน 22 กรกฎา...
ผมมาอยู่ด้วยไม่นาน ก็มีเด็กหนุ่มมาช่วยพากย์อีก 1 คน คือ
ประทุม ทิมประทุม หรือที่ใครๆแถวหลังเฉลิมกรุงรู้จักกันในนามว่า "ทุม ยอดชัย" นั่นเอง
ช่วงนั้น...
ผมกับวิบูลย์พันได้มาเช่าบ้านหลังหนึ่งอยู่ที่ตรอกวัดสังกัจจายน์ เจริญพาส เช้าก็มาทำงานที่ร้านเฮียตี๋ มีงานก็ไปพากย์ ไม่มีงาน เย็นก็กลับบ้าน...
ต่อมา...เฮียตี๋ได้ขอร้องให้ผมย้ายมาอยู่กับแกที่บ้านตรอกมะขาม ผมก็ตามใจ เพื่อประหยัดค่าเช่าบ้าน...
วันไหนว่าง ไม่มีงานพากย์ ผมก็ช่วยเฮียตี๋ตรวจฟิล์มหนัง ถ้ามีขาดมีเสียก็จัดการซ่อม ตัดต่อ ให้เรียบร้อย โดยเฮียตี๋บอกว่า
ไม่ต้องออกไปกินข้าวข้างนอก ให้กินร่วมกับแกในบ้าน เรื่อง
กับข้าวไม่ต้องห่วง แกมีร้านข้าวต้มเป็นของตนเองอยู่แล้ว...
ชีวิตผมตอนนี้ รู้สึกสบายมากขึ้น มีหนังเข้ามาในร้านเฮียตี๋มากขึ้น จนคับแคบ และลูกค้าก็บ่นว่ามาหาลำบาก เฮียตี๋จึงเริ่มขัยบขยาย โดย...
มาเซ้งตึกแถว 2 ห้องที่ด้านหลังของร้านธานินทร์วิทยุ ด้านตะวันตกของโรงหนังเฉลิมกรุง ตรอกร้านอาหารอิสลาม "นุรูลอิสลาม" ใกล้กับกองจราจรนั่นแหละ
มาอยู่ที่เฉลิมกรุง เพราะเป็นย่านของพวกบริการหนัง...
มาอยู่ที่ใหม่ เป็นตึกสองคูหา หรือสองห้อง ห้องด้านตะวันตกเป็นที่อยู่ของเฮีย ส่วนผมกับวิบูลย์พันธ์อยู่ห้องด้านตะวันออก
ช่วงนี้ กิจการของเฮียตี๋เริ่มคึกคักมากขึ้น จนใครๆแถวหลังเฉลิมกรุงทึ่งไปตามๆกัน
เมื่อมีหนังมากขึ้น เฮียตี๋ก็ต้องรับนักพากย์เพิ่มขึ้น นักพากย์คู่ก็มี เด่นชัย กับ ชบาไพร หรือ แดงกับสาหร่าย นักพากย์เดี่ยวก็มี
พี่เตี้ย ทิพย์สุนทร และ ถาวร...กับอีกหลายคนที่ผมลืมชื่อไปแล้ว
ช่วงนี้ กิจการจำหน่ายหนังดีขึ้นมาก แล้วก็ยังมีการให้สปอนเซอร์หนังอีกหลายเรื่อง โดยทั้งหมด ผมต้องคอยช่วยเหลือเฮียตี๋อย่างชนิด สุดลิ่มทิ่มประตู...
ผมต้องทำทุกอย่าง โดยพาลูกๆแกไปสมัครเรียน พอลูกสาวคนเล็กของเฮียตี๋เกิด แกก็ให้ผมเป็นคนตั้งชื่อ พอดีแม่หนูคนนี้เกิดตอนรุ่งเช้า ผมจึงให้ชื่อว่า "อุษา"
แล้วก็เริ่มจดทะเบียนตั้งเป็นบริการหนัง ก็ให้ผมอีกแหละที่เป็นคนตั้งชื่อ ผมก็เลยบอกว่า อุษา ลูกคนเล็กของเฮียมาเกิดแล้วทำให้เฮียรวยขึ้น จึงขอให้ชื่อ "บริการ อุษาฟิล์ม" แกก็ชอบอกชอบใจ แล้วให้ผมเปลี่ยนชื่อเป็นไทยให้แก
เฮียชื่อ "ฮั่งเอ็ง" แปลเป็นไทยว่า เก่ง ห้าวหาญ ผมก็บอกว่า งั้นชื่อ "กำแหง" ละกัน ส่วนนามสกุล เฮียแซ่ตั้ง ใช้คำว่าตั้งไม่ดี เอาเป็น ตัน ละกัน "ตันติวงศากิจ" เฮียก็โอเค...
ระยะนี้ เฮียตี๋ให้สปอนเซอร์หนังหลายเรื่อง โดยวิธี จ่ายเงินล่วงหน้า เมื่อหนังฉายโรงใหญ่แล้วต้องมอบฟิล์มหนังเรื่องนั้นๆให้เฮียตี๋ 1 ชุด โดยมีผมเป็นคนดูแลเรื่องสัญญาทุกอย่าง เพราะเฮียแกไม่รู้ภาษาไทย
แล้วการกำหนดสถานที่ฉายก็เริ่มขึ้น ที่แรกก็เรียก "สายนครปฐม" บ้าง "สายสุพรรณบุรี" บ้าง หรือ "สายตะวันตก" บ้าง แต่เมื่อมีการกำหนดสถานที่ฉาย ก้เรียงลำดับมาว่า
จังหวัดสมุทรสาคร, นครปฐม, สุพรรณบุรี, กาญจนบุรี, ราชบุรี, เพชรบุรี, สมุทรสงคราม, และ ประจวบคีรีขันธ์, รวมทั้งหมดเป็น 8 จังหวัด...นั่นเอง คำว่า
"สายแปดจังหวัด" จึงได้เริ่มขึ้น
เพราะความที่ผมต้องดูและอ่านข้อความในสัญญาทุกฉบับให้เฮียฟัง ผมจึงต้องติดสอยห้อยตามเฮียไปทำสัญญาหนังกับใครต่อใครหลายคน ไม่ว่าเป็น คุณสนาน วรรณภา คราประยูร หรือไปทำสัญญากับดารา ไม่ว่าจะเป็น เพชรา เชาวราษฎร์, สมบัติ เมทนี, ภาวนา ชนะจิต, กับอีกหลายคนที่ผมจำไม่ได้แล้ว...
ตอนนี้เอง...
วงการหนังไทยก็กระเพื่อมขึ้นมาเพราะเฮียตี๋
โดยเฮียตี๋ได้ร่วมลงทุนผลิตเครื่องก็อปปี้หนัง 16 ม.ม. เครื่องแรกของเมืองไทยขึ้นมา ด้วยฝีมือของช่างภาพถ่ายภาพยนตร์ฝีมือดี
"ประวิทย์ เกศีรคุปต์" ถ้าพิมพ์นามสกุลผิดก็ขอโทษด้วย
คุณประวิทย์เข้ามาทำงานที่อุษาฟิล์ม โดยมีเด็กหนุ่มชาวสุราษฎร์ธานีเป็นลูกมือติดมาด้วย เขาคือ คนที่ต่อมาวงการหนังไทยรู้จักกันในนาม
"อเล็กซ์" เจ้าของแลปพากย์หนัง และอีกหลายกิจการเกี่ยวกับหนัง แถมยังเคยกำกับหนังอีกด้วย เรื่องอะไรผมลืมชื่อ ไว้เจ้าตัวมาอ่านเจอก็บอกกันด้วยนะ
อเล็กซ์...มีเวลาว่างก็ออกไปช่วยฉายหนังบ่อยๆจนคุ้นเคยกับผมดี และเนื่องจากอเล็กซ์เป็นคนใต้ จึงมีนักพากย์ชาวใต้อีกคนหนึ่งตามอเล้กซ์มาอยู่ด้วย เขาคือ
"ชัยฉลอง"
ไอ้หลองเพื่อนรักของผมเอง หมอนี่เป็นคนใจถึง เคยไปพากย์จอเดียวกับผมที่โพธาราม แล้วเกิดมีเรื่องกับเจ้าถิ่นที่มาแซวการพากย์หนังของคุณภาวนา ชัยฉลองโดดออกหน้าช่วยผม
โดยที่เพิ่งพบกันครั้งแรก ตามนิสัย "คนใต้ไม่ทิ้งเพื่อน"
พูดถึงคุณ ประวิทย์ เกศีรคุปต์ นอกจากอเล็กซ์ที่เป็นผู้ช่วย ยังมี บุญส่ง น้องชายของคุณประวิทย์มาคอยเป็นลูกมือ และพี่สาวอีกคนหนึ่งมาเป็นนักพากย์คู่กับวิบูลย์พันธ์ แกชื่อสร้อย ชื่อพากย์ว่า "สร้อยศิรินทิพย์" สนิทกับผมมาก...
และวันหนึ่ง
พี่ชายของคุณประวิทย์ก็มาหาที่บริการอุษาฟิล์ม
ผมเห็นหน้าก็จำได้ จึงเข้าไปทักทายอย่างสนิทสมนม เขาคือ
"จิ๋ว พิจิตร"
นักแต่งเพลงคู่บุญของ ไวพจน์ เพชรสุพรรณ และ แต่งเพลง "กับข้าวเพชรฆาต" ให้แม่ขวัญจิตร ศรีประจันต์ร้องจนโด่งดัง
ผมเคยรู้จักพี่จิ๋วตั้งแต่ครั้งยังอยู่ที่ตะพานหิน ตอนนั้นพี่จิ๋วยังไม่ดัง แกเป็นหัวหน้าคณะลิเก "จิ๋ว ลูกพิจิตร" มาปิดวิกที่โรงหนังสิทธิกรณ์อยู่นานหลายเดือน โดยแกเล่นเป็นตัวตลกประจำคณะ ลิเกของพี่จิ๋วจะมี การร้องเพลงหน้าเวที 1 เพลงทุกคืน เพลงแรกที่ผมจำได้ก็คือ "คนแบกกระดาน" บรรยายชีวิตของกรรมกรแบกกระดาน ที่ต่อมา กระดานที่แบกนั่นแหละมาเป็นโรงศพของตัว เพลงนี้ กรรมกรแบกกระดานที่ตะพานหินฮือฮากันมาก นั่นคงจะเป็นเหตุให้พี่จิ๋วกลายเป็นนักแต่งเพลงมือทองในยุคต่อมา แต่เพลงที่ดังมากๆในยุคต่อมาของพี่จิ๋วก็คือ เพลง...
"ชีวิตนักพากย์" โดยการขับร้องของ ยอดรัก สลักใจ
พูดถึงยอดรัก สลักใจ ขออกนอกเรื่องสักนิด...
ยอดรัก สลักใจ หรือ นิพนธ์ เป็นตำบลหาดแตงโม ซึ่งอยู่เลยอำเภอตะพานหินลงไป แล้วต่อไปก็เป็น ตำบลไทรโรงโขน
ซึ่งเป็นตำบลบ้านเกิดของผม
ยอดรัก...เป็นหนึ่งในหลายๆคนที่เป็นชาวพิจิตรแล้วมาโด่งดังในกรุงเทพฯ เท่าที่จำได้ คนแรก ดูเหมือนจะเป็น
"อโณทัย บุศมชาติ"
บ้านอยู่ฝั่งตะวันตกของตลาดตะพานหิน แม่ของอโณทัย ป้าอำไพ ขายข้าวต้มมัดลื่อชื่อของตลาดตะพานหิน ข้าวต้มมัดของป้าอำไพมัดใหญ่กว่าใคร จนเป็นที่ลือชื่อ...
อีกคนหนึ่ง เป็นคนที่ตำบลทับคล้อ อำเภอตะพานหิน (เดี๋ยวนี้ทับคล้อถูกยกเป็นอำเภอแล้ว) เธอชื่อ บุษบา อธิษฐาน เป็นนักร้องรุ่นน้องของยอดรัก
บุศบา หรือ บุษบา ถูกนำตัวสู่วงการโดย นักเขียนคอลัมน์บันเทิงของ นสพ.ไทยรัฐ ซึ่งใช้ชื่อว่า อธิษฐาน เหมือนชื่อพากย์ผม เขาเป็นคนอำเภอบางมูลนาก นำตัวเธอมาเป็นนักร้อง แล้วต่อนามสกุลให้เป็น อธิษฐาน ตามนามปากกาของเขา...
คุณประวิทย์...ต่อมาได้แยกกิจการกับเฮียตี๋ แล้วมาก่อตั้งแลปของตัวเองรับก็อปปี้หนังไทย ในชื่อ "ประวิทย์ คัลเลอร์แลป"
แล้วก็ได้อเล้กซ์นี่แหละ เป็นหัวแรงช่วยตั้งห้องพากย์มาตรฐานขึ้นมารับงานพากย์ และประสบความสำเร็จโด่งดังมาก เพราะต่อมา หนังไทยก็ไม่ต้องส่งไปก็อปปี้ที่ฮ่องกงให้เปลืองค่าใช้จ่ายอีกแล้ว
ต่อมา...
มีคนเอาหนังมาขายให้เฮียตี๋
เป็นหนังไทยที่ถูกเซนเซอร์ชื่อ ไม่ให้ออกฉาย คือ
"แผ่นดินฉกรรจ"
เป็นเรื่องเกี่ยวพันกับเขมร เฮียก็ซื้อไว้
พอดีช่วงนั้น เกิดกรณีเขาพระวิหาร จอมพลสฤษดิ์ออกแคมเปญ เรี่ยไรเงินจากประชาชนเพื่อเป็นทุนสู้คดีเขาพระวิหาร ในชื่อ "คนละบาท ช่วยชาติพ้นภัย" ผู้คนฮือฮาชนิดแทบบ้ากันทั้งประเทศ
เฮียได้โอกาสจึงเอาหนังเรื่องนี้เข้าฉายที่โรงหนังบรอดเวย์ สามแยกหมอมี แแล้วมีการเปลี่ยนชื่อเป็น
"แผ่นดินของใคร"
นำแสดงโดย แมน ธีรพล ปรียา รุ่งเรือง และทักษิณ แจ่มผล เป็นดาวร้าย
ก็หนังเรื่องนี้แหละ ที่ปรียา รุ่งเรืองได้ฉายาว่า "ดาราอกเขาพระวิหาร"
หนังเรื่องนี้...
ตอนเข้าฉายที่บรอดเวย์
ผมได้ขึ้นพากย์โรงชั้นหนึ่งเป็นครั้งแรก
และเป็นครั้งแรกที่ผมทำให้โรงแทบถล่มทลาย
เรื่องมันคือ...
ก่อนหนังเรื่องฉาย มีหนังข่าวที่ถ่ายทำมุมต่างๆของเขาพระวิหาร บังเอิญผมอ่านคอลัมน์จากหนังสือพิมพ์อะไรจำไม่ได้แล้ว ผมได้คัดลอกข้อความนั้นมาบรรยายลงในหนัง
ข้อความว่า...
"ที่แผ่นดินเขมรปัจจุบันนี้
เมื่อครั้งพุทธกาล พระพุทธเจ้าเคยเสด็จมาพักปักกรดที่ใต้ร่มโพธิ์ต้นหนึ่งที่อยู่ริมหนองน้ำ
หลังจากพระพุทธเจ้าบิณฑบาตได้อาหารมา ก็มานั่งหลับตาสวดมนต์ก่อนฉันอาหาร แล้วก็มีเหี้ยตัวหนึ่งโผล่ขึ้นมาขโมยข้าวในบาตรกินจนหมด พระพุทธเจ้าลืมตาขึ้นมาเห็นข้าวในบาตรหายไปจึงทรงถามเจ้าเหี้ยนั้้นว่า เจ้าขโมยกินข้าวของข้าไปใช่ไหม เจ้าเหี้ยนั้นโกหกว่าไม่ได้ขโมย พระพุทธเจ้าก็สาปว่า ต่อไปที่แห่งนี้จะก่อตั้งเป็นประเทศหนึ่ง และลูกหลานของเจ้าจะกลายเป็นคนในประเทศนี้ คือ ประเทศเขมร และคนในประเทศนี้มีนิสัยขี้โกหกและขี้โกง ก็เพราะคนชาตินี้สืบเชื้อสายมาจากเหี้ยนั่นเอง..."
พอจบคำบรรยาย โรงก็แทบแตกเลย...
หนังจบ...มีกลุ่มคนมายืนออรอดูหน้านักพากย์ แต่ผมไม่กล้าแสดงตัว กลัวเจอลูกหลงจากคนเขมร...
ต่อจากนั้นเฮียก็รับซื้อหนังมาอีกเรื่องหนึ่ง คือ "นางเสือดาว"
เข้าฉายที่บรอดเวย์ ให้ผมเป็นคนพากย์อีกครั้ง โดยที่หน้าโรงเขียนไว้ว่า
"พากย์โดยนักพากย์ที่พากย์เรื่องแผ่นดินของใคร"
แล้วก็มีหนังอีกเรื่องหนึ่ง "รักสลักใจ" ของคุณ สนาน วรรณภา คราประยูร ที่เฮียซื้อมา แล้วก็ส่งขึ้นฉายประกวดตุ๊กตาทอง ที่ห้องเล็กของเฉลิมกรุง คุณสนานบอกว่าให้ผมตั้งใจพากย์ให้ดี
เผื่อโชคดีได้รางวัลตุ๊กตาทอง วันนั้น มีหนังส่งฉายประกวด 2 เรื่อง คือ "รักสลักใจ" ที่ผมพากย์ แล้วเรื่องต่อมาก็เป็น "ธนูทอง" พี่เหน่ เสน่ห์ โกมารชุนยกทีมใหญ่มาพากย์
จบงานประกวด ผมไม่ได้รางวัลอะไรเลย แต่ตัวหนังเรื่อง "รักสลักใจ" ได้รางวัลเครื่องแต่งกายยอดเยี่ยม ฝีมืออกแบบโดย คุณ วรรณภา นั่นเอง
แล้วก็มาถึงจุดสำคัญอีกจุดหนึ่ง
เมื่อเฮียตี๋รับเป็นผู้อำนวยการสร้าง
"กำไลหยก"
เขียนเรื่องและกำกับการแสดงโดย สนาน คราประยูร
เป็นเรื่องของ หยก (ภาวนา ชนะจิต) สูกสาวคนจีนสวนผัก
รักกับหนุ่มไทย สมบัติ เมทนี...
แล้วก็เป็นวันที่ ภาวนา นักพากย์ ได้เจอกับ ภาวนา นักแสดง
แล้วผมก็มีโอกาสเข้าฉากกะเขานิดหนึ่ง...
เรื่องจะเป็นยังไงต่อไป...
ไว้พรุ่งนี้ มาเล่าต่อดีกว่า เพราะที่เขียนมา ชักจะยาวมากไปแล้ว...
+++++++++++++++++++++++++++
"มนัส กิ่งจันทร์ ภาคสอง ชุมทางหนังไทยในอดีต" โดยเติมคำว่า "ภาคสอง" คั่นกลางไว้..
อดีตจากฟิล์มภาพยนตร์ ไม่มีวันตาย..