ร่วมไว้อาลัยพระเอก สรพงศ์ ชาตรี..
(ภาพขวามือ.. เมื่อครั้งพระเอก สรพงศ์ ชาตรี มาประทับรอยพิมพ์-เท้า ณ ลานดารา หอภาพยนตร์ฯ ศาลายา วันที่ 26 พฤศจิกายน 2552)
ภาพจาก “มันมากับความมืด" (2514) ผลงานภาพยนตร์เรื่องแรกที่ทำให้แฟนหนังไทยได้รู้จักกับ "สรพงศ์ ชาตรี" ก่อนที่เขาจะกลายเป็นพระเอกที่ครองใจประชาชนไทยมายาวนานหลายสิบปีจากบทบาทการแสดงที่สำคัญมากมายอย่างนับไม่ถ้วน
หอภาพยนตร์ขอร่วมไว้อาลัยต่อการจากไปของนักแสดงผู้ยิ่งใหญ่ และขอร่วมแสดงความเสียใจต่อครอบครัวของคุณสรพงศ์ มา ณ ที่นี้
-------------
ประวัติสรพงศ์ ชาตรี
สรพงศ์ ชาตรี มีชื่อเล่นว่า เอก ชื่อจริงว่า กรีพงศ์ เทียมเศวต เดิมชื่อ พิทยา เทียมเศวต เกิดที่อำเภอมหาราช จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เรียนจบ ป.4 ที่โรงเรียนมหาราชประชานิมิต เข้ามาบวชเรียนที่วัดดาวดึงษ์ ฝั่งธนบุรี สอบได้นักธรรมเอกและสอบเทียบได้ชั้น ม.ศ.3 จึงสึกออกมาต่อสู้ชีวิตแถวหลังเฉลิมกรุง เป็นเด็กยกรีเฟล็กซ์ เสริ์ฟน้ำและเป็นตัวประกอบแสดงภาพยนตร์ในปี 2511-2512 ยุคที่ มิตร-สมบัติ-ไชยา เป็นพระเอก ได้ค่าตัววันละ 30-40 บาท เช่นเรื่อง สอยดาวสาวเดือน รอยพราน ดาวพระเสาร์ ต้อยติ่ง 7 สิงห์คืนถิ่น ฟ้าคะนอง กระทั่ง สุรพงศ์ โปร่งมณี พามาฝากกับวังละโว้และ ม.จ.ชาตรีเฉลิม ยุคล ให้แสดงภาพยนตร์โทรทัศน์ เช่นเรื่อง ห้องสีชมพู (เป็นผู้ร้าย) และเป็นพระรองในเรื่อง ป่าสังคม หมอผี ต่อมาเมื่อ ม.จ.ชาตรีเฉลิม ยุคล สร้างภาพยนตร์เรื่อง มันมากับความมืด จึงให้ สรพงศ์ ชาตรี เป็นพระเอกเรื่องแรกคู่กับ นัยนา ชีวานันท์
ส่วนชื่อ สรพงศ์ ชาตรี นั้น คำว่า สร มาจาก “อนุสรมงคลการ” พระนามของพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอนุสรมงคลการ ผู้ก่อตั้งละโว้ภาพยนตร์เสด็จพ่อของ ม.จ.ชาตรีเฉลิม ยุคล ส่วนคำว่า พงศ์ มาจาก “สุรพงศ์ โปร่งมณี” ผู้ชักนำให้สรพงศ์มาพบกับ ม.จ.ชาตรีเฉลิม ยุคล และคำว่า ชาตรี มาจากพระนามของ มจ.ชาตรีเฉลิม ยุคล แต่ที่เห็นเขียนว่า “สรพงษ์” นั้นก็เพราะคนเขียนใบปิดเข้าใจผิด จึงมีการเขียนทั้งชื่อ สรพงศ์และสรพงษ์ ตลอดมา
จากนั้นสรพงศ์ได้แสดงเป็นพระเอกเรื่อง เขาชื่อกานต์ (2516) ไอ้แกละเพื่อนรัก (2517) เทพธิดาโรงแรม (2517) ความรักครั้งสุดท้าย (2518) เทวดาเดินดิน (2519) และเริ่มรับงานนอกสังกัดโดยแสดงภาพยนตร์เรื่อง สัตว์มนุษย์ ของวินิจ ภักดีวิจิตร แต่ก็ยังไม่ได้เป็นพระเอกเต็มตัว กระทั่งได้แสดงเรื่อง วีรบุรุษกองขยะ (2519) ของ ชุติมา สุวรรณรัตน์ จึงเริ่มมีชื่อเสียงมากขึ้น แต่ที่นับว่าประสบความสำเร็จสูงสุด ก็คือเรื่อง แผลเก่า (2520) ของ เชิด ทรงศรี
สรพงศ์แสดงภาพยนตร์ไว้มากกว่า 550 เรื่อง เช่น ขัง 8 (2517) ปี 2519 เช่น 3 นักสู้ผู้ยิ่งใหญ่ นางแบบมหาภัย ไอ้แมงดา ป่ากามเทพ สิงห์สลัม แดงอังคาร เสาร์ 5 ปี 2520 เช่น ทางชีวิต ไอ้ควายเหล็ก รักคุณเข้าแล้ว เจ้าพ่อ 7 คุก ทีใครทีมัน กูซิใหญ่ 1 ต่อ 7 ลุย เหยียบหัวสิงห์ 7 ประจัญบาน ลุยแหลก คู่ทรหด เก้าล้านหยดน้ำตา ชีวิตบัดซบ แม่ปลาช่อน ผู้ยิ่งใหญ่ชายแดน รุกฆาต ไอ้คุณเฉิ่ม ตามฆ่า 20,000 ไมล์ ปี 2521 เช่น รักแล้วรอหน่อย ดวงเพชฌฆาต รักระแวง ไอ้ขุนทอง ตะวันอ้อมข้าว เมืองในหมอก ลูกทุ่งเพลงสวรรค์ แตกหนุ่มแตกสาว ขโมยที่รัก เกวียนหัก น้องเมีย แผ่นดินวิปโยค ขุนกระทิง คนมีคาว ไอ้ 8 นิ้ว เขาใหญ่ ปี 2522 เช่น ไผ่สีทอง วิมานไฟ รอยไถ รักประหาร สุดห้ามใจรัก เสือภูเขา ไผ่แดง สวรรค์ปิด น้ำใต้ศอก อยู่อย่างเสือ ลูกทาส แม่ค้าขายผัก บ้านไร่นาเรา อยู่กับก๋ง แม่เขียวหวาน ปี 2523 เช่น ดอกแก้ว จับกังกรรมกรเต็มขั้น ช่างเขาเถอะ ไฟนรกขุมโลกันต์ เสือน้อย กากี พ่อจ๋า เจ้าพายุ ไอ้ย่ามแดง ผีหัวขาด ย.ยอดยุ่ง จุฬาตรีคูณ ไกรทอง ปี 2524 เช่น รักข้ามคลอง เสือมังกร ถ้าเธอยังมีรัก เจ้าพ่อภูเขียว ยางโทน กามนิตวาสิฏฐี นกน้อย ไอ้ค่อม สามเสือสุพรรณ ดำอำมหิต ปี 2525 เช่น เพลิงภูหลวง ไอ้ผาง ร.ฟ.ท. ครูดอย เพชรตัดหยก ดาวพระเสาร์ เฮงสองร้อยปี ปี 2526 เช่น มือปืน เพื่อน-แพง ไอ้ขี้เมา ไอ้ ป.4 ไม่มีเส้น มรกตดำ พยัคฆ์ยี่เก ผู้แทนนอกสภา ปี 2527 เช่น ข้ามากับพระ อิสรภาพของทองพูน โคกโพ เพชรตัดเพชร ปี 2528 เช่น จับตาย ผู้การเรือเร่ ปล้นลอยฟ้า ตะวันยิ้มแฉ่ง ปี 2529 เช่น แหม่มกะปิ ลูกทุ่งฮอลิเดย์ ปี 2530 เช่น บ้าน เพชรเสี้ยนทอง พลอยทะเล ปี 2531 นักรบดำ (2532) คนเลี้ยงช้าง (2533)
สรพงศ์ ได้รับรางวัลทางการแสดงจากหลายสถาบัน เช่น รางวัลตุ๊กตาทองพระสุรัสวดี ดารานำชายยอดเยี่ยม จากเรื่อง สัตว์มนุษย์ ชีวิตบัดซบ มือปืน มือปืน 2 สาละวิน เสียดาย 2 รางวัลสุพรรณหงส์ ดารานำชายยอดเยี่ยม จากภาพยนตร์เรื่อง ถ้าเธอยังมีรัก มือปืน และนักแสดงประกอบชายจากเรื่อง องค์บาก 2 ส่วนรางวัลชมรมวิจารณ์บันเทิง นักแสดงชายยอดเยี่ยม จากเรื่อง มือปืน 2 สาละวิน
สรพงศ์ ชาตรี มาประทับรอยมือรอยเท้าเป็นดาวดวงที่ 98 ณ ลานดารา หน้าโรงภาพยนตร์ศรีศาลายา หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552
ในวันที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2565 เวลา 15.51 น. สรพงศ์ได้เสียชีวิตลงอย่างสงบด้วยโรคมะเร็งปอดหลังจากเข้ารับการรักษาตัว ณ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ตั้งแต่วันที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565 สิริอายุ 72 ปี 3 เดือน