บทความนี้ ผมเขียนไว้ในหนังสืออินไซด์บันเทิง ของคุณทินกร ตันติอำไพวงศ์ ฉบับที่ 18 เดือนกรกฎาคม 2557 ครับ
โรงหนังเฉลิมเอก ร้อยเอ็ด (2509-2535) ถ้านับถึงวันนี้ ก็เป็นเวลา 48 ปีมาแล้วที่โรงหนังเฉลิมเอก ร้อยเอ็ด ถือกำเนิดมา..และก็เป็นเวลา 22 ปีแล้วที่โรงหนังแห่งนี้ได้ปิดตัวลง..
22 ปีมาแล้วที่เรื่องราวของโรงหนังเฉลิมเอกค่อยๆ เงียบหายไปกับตัวอาคารที่ถูกรื้อทิ้งและสร้างเป็นส่วนหนึ่งของที่ทำการมูลนิธิร้อยเอ็ด อิกลักเซียงตึ้ง ถนนเปรมประชาราษฎร์..
แต่เพราะความรักและมองไกลของนายเอี่ยวเซีย แซ่เซีย เจ้าของโรงหนังเฉลิมเอกที่แม้กิจการโรงหนังจะปิดไปแล้ว แต่นายเอี่ยวเซียก็ยังคงเก็บอุปกรณ์เครื่องฉายหนังและกากฟิล์มเก่าๆ ไว้จำนวนมาก เก็บไว้เพราะเห็นคุณค่าของอดีต เก็บไว้เพื่อเป็นเตือนความทรงจำ..แม้ต่อมานายเอี่ยวเซียจะเสียชีวิตแล้ว แต่อาจารย์ประนอม แซ่เซีย บุตรสาวคนที่ 3 ซึ่งปัจจุบันอายุ 70 ปีแล้ว ก็ยังคงยึดเจตนาเดิมของบิดา ยังคงเก็บของเหล่านี้ไว้เรื่อยมา..
วันเวลาผ่านไป..จนกระทั่งเมื่อ 10 กว่าปีที่แล้ว ผมเดินทางไปจังหวัดร้อยเอ็ดเพื่อตามหากากฟิล์มหนังไทย 16 มม.ก็มีโอกาสได้รู้จักกับอาจารย์ประนอม แซ่เซีย นี้โดยบังเอิญ ตอนนั้นรู้แค่เพียงว่า ท่านมีฟิล์มหนังเก่าๆ เก็บไว้ แต่ไม่มีรายละเอียดว่า เป็นหนังอะไร สภาพฟิล์มจะยังฉายได้หรือไม่เพราะตามปกติอาจารย์ประนอมจะไม่ค่อยสุงสิงกับใครๆ อยู่แล้ว..วันนั้นผมได้แต่เพียงจดบ้านเลขที่และหมายเลขโทรศัพท์อาจารย์ไว้เท่านั้น
ต่อมาเมื่อผมและเพื่อนๆ เริ่มช่วยกันตามหากากฟิล์มหนังไทย 35 มม. ก็นึกถึงอาจารย์ประนอมขึ้นมา จำได้แต่ว่า ท่านมีฟิล์ม ก็เลยพยายามโทรศัพท์ติดต่อหลายครั้งหลายหน แต่ก็ไม่มีใครรับสายจนเพื่อนบอกว่า อย่างนี้เราต้องลงไปดูเองแล้วล่ะ..
วันที่ 11 พฤษภาคม 2557 ผมและเพื่อนๆ จึงเดินทางไปจังหวัดร้อยเอ็ด ไปทั้งๆ ที่ตัวเองก็ยังจำทางเข้าบ้านอาจารย์ประนอมไม่ได้ จำได้แต่เลาๆ ว่า มีสถานที่ใกล้เคียงอะไรบ้าง เช่น อยู่ใกล้ๆ บึงพลาญชัย..ในซอยนั้นจะมีศาลเจ้าจีน (มูลินิธิฯ)..มีบริการหนังรุ่งสุริยาภาพยนตร์อยู่แถวๆ นั้น วันนั้นพวกเราเดินเท้าเพื่อหาบ้านอาจารย์ประนอมจนพบและได้พูดคุยกัน
สิ่งหนึ่งที่ผมเพิ่งรู้ในวันนั้น ก็คือ อาจารย์ประนอมเป็นบุตรสาวของเจ้าของโรงหนังเฉลิมเอกและกากฟิล์มทั้งหมดก็คือ กรุฟิล์มของโรงหนังเฉลิมเอกในยุคที่เปิดบริการรับฉายหนังกลางแปลง..จากวันนั้น พวกเราหลายคนก็กลายเป็นลูกเป็นหลานอาจารย์ประนอม พวกเราได้รู้จักคุณมานะ หวายทิพย์ มือฉายหนังคนแรกของโรงหนังเฉลิมเอก..ได้รู้จักคุณสุจิตรา อิทธสมบัติ พี่สาวคุณมานะซึ่งเป็นคนขายตั๋วโรงหนังเฉลิมเอก แล้วเราก็นัดกันว่า วันที่ 7 มิถุนายน 2557 พวกเราจะเดินทางไปร้อยเอ็ดเพื่อนำฟิล์มที่ยืมมา ไปคืนอาจารย์และไปขอบคุณอาจารย์พร้อมกับขอฟังเรื่องราวในอดีตของโรงหนังเฉลิมเอก
คุณมานะ คุณสุจิตราและอาจารย์ประนอม เล่าให้ฟังว่า..
ก่อนที่จะมีโรงหนังเฉลิมเอกนั้น ประมาณปี 2501 คุณพ่อของคุณมานะและคุณสุจิตรา ก็ทำธุรกิจโรงหนังอยู่แล้วชื่อ เสรีภาพยนตร์ ร้อยเอ็ด ต่อมาโรงหนังเสรีภาพยนตร์ก็เปลี่ยนมือ เปลี่ยนชื่อเป็น โรงหนังหลักเมือง..ระหว่างนั้นประมาณปี 2509 นายเอี่ยวเซีย แซ่เซีย บิดาอาจารย์ประนอม จึงสร้างโรงหนังเฉลิมเอกขึ้นมา..แต่เพราะนายเอี่ยวเซียเป็นคนหัวทันสมัย จึงไม่ได้คิดสร้างโรงหนังให้เหมือนกับโรงหนังทั่วไปในยุคนั้น
โรงหนังทั่วไปในสมัยนั้นมักจะสร้างแบบสแตนอะโลนหรือเป็นโรงหนังลักษณะอาคารเดี่ยว แต่นายเอี่ยวเซียได้สร้างโรงหนังเฉลิมเอกให้ดูเหมือนๆ กับศูนย์การค้าในปัจจุบันคือ นอกจากตัวอาคาร 3 ชั้น จะมีโรงหนังแล้ว อาคารชั้นบนก็สร้างเป็นโรงแรม สถานบันเทิง บาร์ ไนต์คลับ อาบอบนวด ชั้นล่างเปิดเป็นร้านอาหาร ส่วนที่ใกล้เคียงก็ยังมีสนามมวยอีกด้วย คุณมานะบอกว่า โรงหนังเฉลิมเอกมีเสาเยอะที่สุดเพราะนายเอี่ยวเซียได้เผื่อไว้สร้างต่อเติมเป็นศูนย์บันเทิงอื่นๆ อีก
โรงหนังเฉลิมเอกเปิดกิจการมาประมาณปี 2509 ฉายหนังระบบ 16 มม. เก้าอี้ที่นั่งจะเป็นเก้าอี้ไม้ พอลุกขึ้น แผ่นไม้จะกะดกขึ้นเอง ซึ่งคุณมานะบอกว่า เก้าอี้แบบนี้ง่ายต่อการทำความสะอาด ที่นั่งดูหนังจะแบ่งเป็น 2 ชั้นคือ ชั้นล่างและชั้นลอยรวมแล้วประมาณ 500 ที่นั่ง ใช้พัดลมขนาดใหญ่ระบายอากาศ แรกๆ ก็จะฉายหนังในระบบ 16 มม.จุดความสว่างจากเตาอ๊าค ตามปกติจะฉายวันละ 2 รอบ รอบเช้า 10.00 นาฬิกา รอบค่ำ 20.00 นาฬิกา แต่ถ้าเป็นหนังดีๆ หรือมีรายการพิเศษ ก็จะเพิ่มรอบฉายอีก
ส่วนการโฆษณาหนัง ก็จะใช้วิธีวาดรูปขนาดใหญ่ปิดโฆษณาไว้ที่หน้าโรงหนังหรือสถานที่ใกล้เคียง ก่อนฉายหนังก็จะเปิดเพลงเรียกคน มีรถแห่หนังออกวิ่งโฆษณารอบๆ เมือง เพลงสุดท้ายที่จะเปิดก่อนฉายหนังก็คือ เพลงมาร์ชสามัคคีสี่เหล่า เพื่อเตือนว่า จบเพลงนี้แล้ว หนังจะฉายทันทีและเมื่อหนังจบ ก็จะเปิดเพลงข่าววรฯหรือสรรเสริญพระบารมี
สมัยนั้น ภายในโรงหนังไม่ห้ามสูบบุหรี่ ไม่ห้ามกินอาหาร คนดูก็นิยมซื้อขนมเข้าไปกินในโรงหนัง เช่น ถั่วคั่ว ถั่วต้ม เม็ดมะขาม เม็ดแตงโม ปลาหมึกย่าง กินแล้วก็ทิ้งเศษอาหารลงพื้น ทำให้เกิดมีมด แมลงและตัวเลือดตามมา แต่คุณมานะบอกว่า โรงหนังเฉลิมเอกจะมีวิธีแก้ปัญหาเรื่อง มด แมลงต่างๆ ด้วยการเก็บกวาด ทำความสะอาดทันทีเมื่อหนังเลิกฉายเพราะถ้าทิ้งข้ามคืน จะแก้ปัญหาได้ยาก
โรงหนังเฉลิมเอก ฉายหนังระบบ 16 มม.ไปจนสิ้นสุดยุคการสร้าง จึงได้เปลี่ยนไปฉายหนังระบบ 35 มม. ซึ่งช่วงนี้จะเริ่มฉายหนังไทย จีน ฝรั่ง อินเดีย โดยรับหนังจากสายหนังไกรลาศฟิล์ม กรุงเทพฯ ด้วยเหตุนี้เอง ทำให้คุณมานะเริ่มสนิทชิดชอบกับสายหนังไกรลาศฟิล์ม ต่อมาคุณมานะก็พลิกผันตัวไปเป็นเช็คเกอร์คุมบัญชีการเดินสายและพากย์หนัง ก่อนที่ปี 2520 คุณมานะจะกลับไปเปิดบริการหนังกลางแปลงชื่อ รัชวัฒน์ภาพยนตร์ อยู่ที่นครราชสีมา แต่ก็ยังคงไปมาหาสู่กับนายเอี่ยวเซีย เจ้าของโรงหนังเฉลิมเอกที่นับถือเสมือนเป็นบิดา ส่วนคุณสุจิตรานั้น ภายหลังก็ได้สามีเป็นนักพากย์ชื่อ ใจเพชร จึงออกเดินสายเป็นเช็คเกอร์ไปกับนักพากย์ ขณะนั้นอาจารย์ประนอม ซึ่งเรียนจบเป็นครูแล้ว ก็มาช่วยบิดาทำหน้าที่เป็นคนขายตั๋วหนังแทน
ทั้งสามเล่าให้ฟังว่า ความที่นายเอี่ยวเซียและลูกๆหลานๆ เป็นคนใจดี เวลาเห็นเด็กๆ มายืนดูโปรแกรมหนัง (แผ่นโชว์การ์ด) หรือมานั่งเล่นๆ ที่โรงหนัง ก็รู้ๆ ว่า เด็กๆ เหล่านั้น อยากดูหนัง แต่ไม่มีเงินซื้อตั๋ว ก็เลยให้เด็กๆ เข้าดูฟรีบ่อยๆ แถมบางครั้งอาจารย์เองก็ใจดี ให้ขนมเด็กๆ กินด้วย เด็กๆ เหล่านั้นก็เลยกลายเป็นแรงงานช่วยปัดกวาดทำความสะอาดโรงหนังไปโดยปริยาย
ในช่วงที่หนังกลางแปลงรุ่งเรืองนั้น โรงหนังเฉลิมเอกก็เปิดบริการจัดฉายหนังกลางแปลง ให้เช่าหนัง จึงทำให้มีฟิล์มหนังเข้ามาหมุนเวียนเพิ่มขึ้น เมื่อวีดีโอเทปเข้ามาตีตลาดเมืองไทย โรงหนังต่างๆ ก็ได้รับผลกระทบจากตลาดวีดีโอเทป คนไปดูหนังในโรงลดลง หนังกลางแปลงก็ค่อยๆ ลดความนิยมลง โรงหนังเฉลิมเอกก็เจอปัญหานี้เช่นกัน จึงค่อยๆ เลิกจัดจำหน่ายหนังโดยฟิล์มหนังปี 2524 เป็นปีท้ายๆ ที่สั่งเข้ามาจำหน่าย จากนั้นก็ปิดตัวเองลงและปิดสนิทจริงๆ ในปี 2535
อย่างที่บอกไว้ว่า เมื่อปิดกิจการแล้ว เรื่องราวของโรงหนังเฉลิมเอกก็ค่อยๆ เงียบหายไป หายไปนานถึง 22 ปี แต่วันนี้ โรงหนังเฉลิมเอก กลับมาแล้ว กลับมาเพราะกากฟิล์มที่อุตส่าห์เก็บสั่งสมไว้กว่า 30-40 เรื่อง ณ วันนี้ได้กลายเป็นข้อมูลประวัติศาสตร์ให้พวกเราได้ศึกษา ได้ค้นคว้า กรุฟิล์มนี้ช่วยให้หนังไทยเก่าๆ ที่สูญพันธุ์ไปแล้ว ฟื้นกลับคืนมาอีกหลายสิบเรื่อง หนังบางเรื่อง ถ้านายเอี่ยวเซียไม่เก็บฟิล์มไว้ ชาตินี้ก็คงไม่ได้ดู แม้บางเรื่องจะมีไม่ครบ ไม่จบเรื่องบ้าง แต่อย่างน้อยๆ ก็ยังทำให้เราได้เห็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์หนังไทย..