ผู้เขียน หัวข้อ: บทที่ 437 หนึ่งในโครงการภาพยนตร์ไทยคงเหลือ คมแสนคม (2507 ลือชัย - วัลย์ลดา)  (อ่าน 573 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ มนัส กิ่งจันทร์

  • มนัส กิ่งจันทร์ ภาคสอง ชุมทางหนังไทยในอดีต
  • Moderator
  • พี่น้อง thaicine Gold member
  • ***
  • กระทู้: 2815
  • พลังใจที่มี 35
  • เพศ: ชาย
    • มนัส ชุมทางหนังไทยในอดีต


บทที่ 437
ชุมทางหนังไทยในอดีต เสนอฉาย
หนึ่งในโครงการภาพยนตร์ไทยคงเหลือ
คมแสนคม (2507 ลือชัย-วัลย์ลดา)
โดย มนัส กิ่งจันทร์

(facebook 28 ตุลาคม 2556)


             สวัสดีครับทุกท่าน วันนี้ โครงการภาพยนตร์ไทยคงเหลือ ขอเสนอฉายหนัง 16 มม. พากย์สดๆ จากกากฟิล์มของอาจารย์มนูญ สุภาพ คนฉายหนังพากย์ย้อนยุค อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี ซึ่งก่อนหน้านี้ ผมกับคุณนุหรือประเดิม สง่าแสง ก็เคยพาทุกท่านไปเยี่ยม ไปพูดคุยกับสองท่านนี้แล้ว ดูได้จาก บทที่ 399 คนฉายหนังพากย์ย้อนยุค เป๋ สวนป่าน-มนูญ สุภาพ 8 ก.ย.2556

             ส่วนกากฟิล์มที่อาจารย์มนูญฯ ให้ผมยืมมาฉายนั้น ผมฉายไปแล้วเรื่องหนึ่งคือ เกล็ดแก้ว หนังปี 2501 วันนี้ก็เหลืออีกเรื่องหนึ่งคือ คมแสนคม นำแสดงโดย ลือชัย-วัลย์ลดา รุ้งวิไล-เมตตา-พันคำ-อดุลย์-รุจน์-เชาว์-เยาวเรศ-ชาลี-ชุมพร.. สร้างโดย สหการภาพยนตร์ไทย กำกับการแสดงโดย คุณาวุฒิ ฉายครั้งแรกวันที่ 14 สิงหาคม 2507 ที่โรงหนังศาลาเฉลิมกรุง.. แล้วหนังก็หายเงียบไป ปัจจุบันก็ยังหาหนังเต็มๆ เรื่องดูไม่ได้..

             ส่วนกากฟิล์มชุดนี้มีเพียงสั้นๆ ตัวละครก็ยังออกมาไม่ครบด้วย แต่เนื่องจากหนังที่ลือชัยแสดงไว้ในช่วงแรกๆ นั้น มีน้อย เมื่อพิจารณาประกอบกับใบปิดหนังลือชัยหลายๆ เรื่องแล้ว ก็คิดว่า น่าจะเป็นเรื่อง คมแสนคม นี่แหละครับ.. ส่วนเพลงที่ใช้บรรเลงประกอบนั้นเป็นเพลงเอกของหนัง ได้มาจากน้องเจ ธนภัทร บัวเบา ผมใส่เสียงบรรยายไว้บ้างแล้ว

แหละนี่ก็คือ หนึ่งในโครงการภาพยนตร์ไทยคงเหลือ คมแสนคม (2507 ลือชัย-วัลย์ลดา)


คลิ๊กดูที่นี่


............

<iframe width="560" height="315" src="//www.youtube.com/embed/3UVMwSP-Q84?fs=1&start=" frameborder="0" allowfullscreen></iframe>


             วันก่อนโน้น วันที่ 23 ตุลาคม 2556 ผมไปราชบุรี ผมนำฟิล์มหนัง 16 มม.ไปคืนอาจารย์มนูญ สุภาพ ผู้ใหญ่เป๋ สวนป่านและคุณฉัตรชัย ไทยซีเน..ก็พาคุณนุ ประเดิม สง่าแสง ไปด้วยครับ..วันนั้น พวกเราทั้งหมดก็เลยนั่งกินอะไรกันไป คุยกันไป..สิ่งที่ฟังแล้ว น่าหดหู่ใจอย่างหนึ่ง ก็คือ ผู้ใหญ่เป๋บอกว่า ถ้าหมดรุ่นคนอย่างเราๆ แล้ว ใครจะมาสานต่อ ใครจะทำอย่างเราบ้างหนอ..ซึ่งก็เป็นคำถามเปรยๆ ที่ยังหาคำตอบไม่ได้.. อาจารย์มนูญก็บอกว่า ฟิล์มหนังที่ให้ผมยืมไปฉายนั้น ผมทำได้ดี ได้ชัดกว่า แถมยังมีข้อมูลอีกเยอะแยะ ก็อยากจะให้ฟิล์ม 35 มม.ให้ผมมาทำบ้าง ผมก็เลยบอกว่า ช่วยๆ กันนะครับอาจารย์ ใครทำได้แค่ไหน ก็ทำไปก่อน ทำตามที่ใจตัวเองถนัดก่อน..มีอะไรก็ช่วยๆ กัน อย่าให้เป็นภาระของใครคนใดคนหนึ่งเลยครับ...

             คุณฉัตรชัยเองก็รู้ว่า ผมมีโครงการที่จะช่วยหนังไทย 35 มม.เก่าๆ อยู่แล้ว เพียงแต่ยังหาเครื่องฉาย 35 มม.ที่เดินเงียบๆ และฉายฟิล์มธรรมดาเก่าๆ ไม่ได้.. ก็เลยรีรออยู่ พอคุยกันไปคุยกันมา..ก็มีคนถามว่า ก็หนัง 35 มม.นั้น ส่วนใหญ่ผมมีเทปบ้าง มีวีซีดีหรือดีวีดีบ้าง แล้วทำไมจะต้องไปทำอีกล่ะ.. ผมก็เลยบอกว่า ไม่ได้ทำทุกเรื่องหรอก กะว่าจะทำเพียงเรื่องที่ไปเจอกากฟิล์มที่อุตส่าห์เหลือมา..แล้วที่อยากทำมากๆ ก็คือ หนังที่เขาทำวีดีโอไว้แบบ ภาพเต็มจอ..เพราะดูแล้วอึดอัดครับ ภาพไม่ครบสัดส่วน หนัง 35 มม.ต้องสโคปครับ ถ้าผมเจอกากฟิล์ม ผมทำแน่ๆ ครับ แต่ว่า รอเครื่องฉายก่อน..

             คุณฉัตรชัยก็เลยบอกว่า ถ้าขืนรอเครื่องฉายดีๆ ก็มีหวังฟิล์มหนังตายไปหมดก่อนแน่ๆ..ถ้าจะทำ ก็ทำไปก่อนเลย เครื่องในกลุ่มเราก็มีหลายคน ช่วยๆ กันทำไปก่อนดีกว่า เดี๋ยวฟิล์มตายหมด จะฉายไม่ได้ จะยิ่งเสียใจไปใหญ่..คุณนุก็เห็นด้วย..ทุกคนที่พูดคุยกันวันนั้น ก็เห็นดีด้วยและเริ่มพูดถึงแหล่งเก็บกากฟิล์มเก่าๆ ที่ีจะไปหามาทำแล้วครับ..ก็เลยแจ้งให้เพื่อนๆ ทราบครับ

พอดีว่าเมื่อวานนี้ผมได้ดูหนังเก่า ถ่ายที่ลำปาง ไม่ทราบปีที่ถ่าย นำมาเทเลซีนโดยคุณ Nantawat Kittiwarakul ที่หัวม้วนก็มีรูเจาะพรุน ๆ แบบนี้เช่นกันครับ
<iframe width="560" height="315" src="//www.youtube.com/embed/hHBi2ZxlmqM?fs=1&start=" frameborder="0" allowfullscreen></iframe>

             ที่เจาะๆ กันไว้ ส่วนใหญ่เขาจะเจาะกันกับฟิล์ม 35 มม.ครับ เพื่อจะบอกว่า เป็นฟิล์มม้วนที่เท่าไร เช่น เจาะ 1 รู ก็คือ ฟิล์มม้วนที่ 1 ถ้าเจาะ 2 รู ก็คือ ม้วนที่ 2 อย่างนี้ไปเรื่อยๆ ครับ.. มันเป็นภูมิปัญญาของคนฉายหนังบ้านนอกนะครับ แต่ผิดหลักพวกอนุรักษ์ฟิล์ม สมัยนั้น กระเป๋าฟิล์มใบหนึ่งจะใส่ฟิล์มได้ 3 ม้วน แต่ก่อนเขาก็ใช้วิธีเรียงฟิล์มในกระเป๋า ให้ดูว่า ถ้าเรียงจากซ้ายไปขวา..ก็จะเป็นม้วน 1 2 3 แต่หลักการนี้ก็ไม่แน่เสมอไปเพราะบางทีเด็กกรอหนังนั้นเด็กเกินไป ก็เรียงผิดม้วนได้ คนฉายก็พาซื่อ เชื่อแต่ว่า ซ้ายไปขวา พอหยิบม้วนแรกมาฉาย ก็กลายเป็นม้วน 3 บ้าง ม้วน 2 บ้าง เขาก็เลยแก้ปัญหาว่า ให้เจาะรูไว้ที่ฟิล์มหัวม้วนดีกว่า จะได้ไม่หลง...

             แต่ถ้าเป็นหนัง 16 มม.นั้น ไม่ค่อยนิยมเจาะเพราะฟิล์มมีไม่มาก แค่ 3-5 ม้วนและอยู่กระเป๋าเดียวกัน ประกอบกับคนฉายๆ บ่อยก็คุ้นๆ กับหัวม้วนดี ก็เลยไม่ค่อยจะเจาะ แต่ถ้าเจาะก็ใช้หลักการเดียวกันครับ ส่วนที่คุณพุทธพร ส่องศรี เห็นหนังที่ผมหรือที่คุณโหน่ง Nantawat ทำไว้นั้น ฟิล์มจริงๆ จะไม่มีใครเจาะไว้ครับ แต่เป็นการเจาะมาจากบริษัทตั้งแต่เปิดกระป๋องฟิล์ม คือ มันเป็นฟิล์มหัวม้วนครับ ซึ่งตามปกติเวลาใส่ฟิล์ม เราจะต้องสาวฟิล์มให้เลยผ่านจุดๆ นี้ไปก่อนนะครับ แต่คนไทยเราใส่ฟิล์มเก่ง ก็เลยยังไม่ผ่านจุดนี้ไปครับ..พอถ่ายออกมาก็เลยเป็นรูๆๆ นะครับ..

             พูดถึงคุณโหน่ง คนนี้แล้ว เขาเป็นมือเทเลซีนแบบบ้านๆ ที่ดัดแปลงเครื่องฉายหนังมาเป็นเครื่องเทเลซีนได้เก่งมากๆ เขาสามารถช่วยหนังไทยเก่าๆ ฟิล์มแย่ๆ ได้มาหลายเรื่อง..แต่ก่อนหนังบางเรื่อง คุณจุ๊บคลาสิกมูฟวี่ก็เคยช่วยผมหุ้นกันแล้วไปจ้างให้คุณโหน่งช่วยทำเทเลซีนให้ ผลงานออกมาดีมากๆ ขนาดคุณโต๊ะพันธมิตรยังชมว่า รู้จักกันช้าไป..ไม่งั้นคุณโต๊ะจะประหยัดเงินได้อีกเยอะ ทำหนังเก่าๆ ได้อีกเยอะ ตอนนั้นคุณโหน่งเขาคิดเรื่องละ 3 พันบาทเองครับ แต่เพราะว่าเขาทำงานละเีอียด จะต้องเช็คฟิล์ม ค่อยๆ ทำเพื่อให้ภาพออกมาสวยทั้งหนัง 16 และ 35 มม.ก็เลยต้องใ้้ช้เวลานานเป็นเดือนๆ ผมเองถ้าไปยืมฟิล์มคนอื่นๆ มาก็เกรงใจเจ้าของ บางครั้งก็ยังต้องออกไปทำฟิล์มนอกสถานที่ด้วย จึงต้องมาลงมือทำเอง..ครับ

             ตอนนี้ มีเพื่อนๆ ในกลุ่มช่วยกันมากขึ้น แบบว่า กันเองนะครับ คุณนุก็ไปซื้อกล้อง Full HD1080p มาไว้ใช้งานแล้ว ส่วนเครื่องฉาย 35 มม.คุณฉัตรชัยก็รับจะดูแลให้ครับ..งานนี้ ถ้าสำเร็จ คงได้เห็นหนังไทยเก่าๆ จากที่เคยเต็มจอ มาเป็นภาพสโคปสวยๆ มากขึ้นนะครับ..

             เรื่องคำย่อหรือตัวย่อในบทพากย์หนังนั้น ตอนผมฉายหนังกลางแปลงและจะลองฝึกพากย์หนัง ก็เคยสงสัยเหมือนกันเพราะนักพากย์คนก่อนๆ ที่พากย์มา เขาจะมีการเขียนเตือน เขียนบอกไว้ อย่างตัว "ส" ก็เคยเห็น ตัว "น" ก็เคยเห็นครับ..

             ส่วนใหญ่ หนังพากย์ที่ปล่อยขาดไปต่างจังหวัดนั้น บทพากย์ก็มักจะขาดๆ ด้วย บางเรื่องเราต้องนำกระดาษฟุตสแก๊ปมาแปะแล้วเขียนต่อ..แล้วตอนเขาซ้อมหนัง ก็จะเริ่มขีดฆ่าประโยคคำพูดบางคำที่ไม่ใช้เนื่องจากเนื้อฟิล์มมีไม่พอออกไป..บางครั้งก็ต้องแต่งประโยคคำพูดใหม่ใส่ไปแทนก็มีครับ..


             แต่ถ้าเป็นฟิล์มหนังใหม่ๆ ที่ฉายโรงชั้นหนึ่งนั้น เขาจะยังไม่เจาะรูนะครับ หมายถึงสมัยที่ยังฉายกัน 2 เรื่องเป็นม้วนๆ นะครับเพราะเขามีฟิล์มหัวม้วนนำไว้และตรงฟิล์มหัวม้วนเขาจะทำเครื่องหมายไว้หรือบางทีก็เขียนทับฟิล์มไว้เลยว่าเป็นม้วนที่เท่าไร ก็เลยไม่ต้องเจาะรู.. ส่วนใหญ่ที่ต้องเจาะรูไว้ก็เวลาไปฉายหนังกลางแปลงที่ต้องสาวฟิล์มเพื่อต่อม้วนนะครับ เขาจะตัดฟิล์มหัวม้วนออกไปเพราะเขาจะฉายหนังต่อเป็นม้วนเดียวกันคือไม่ให้เห็นฟิล์มหัวม้วนครับ..

             พรุ่งนี้กะว่า เวลา 8 โมงครึ่งถึงที่นัดหมายสายใต้ใหม่..แล้วก็นั่งรถไปราชบุรี รอคุณฉัตรชัยมารับต่อ..เข้าใจว่า พรุ่งนี้ คงง่วนๆ อยู่กับการเซ็ทระบบก่อนนะครับ แต่ถ้าเสร็จเร็ว ก็อาจได้จะหนังคุณแตง โปสเตอร์ มา้ฝากด้วย แต่ถ้าไม่ทัน ก็ต้องรองวดหน้าครับ..


             เมื่อคืนนี้ หลังกลับจากราชบุรี ผมก็นั่งตัดต่อหนังที่ไปลองทำมา กว่าจะได้นอนก็ตีสองกว่า แต่ก็ยังตัดต่อไม่เสร็จ คุณนุก็โทรมาแซวว่า ยังไม่นอนอีกหรือ ใจร้อนจริงๆ ผมก็เลยบอกคร่าวๆ ภาพและเสียงที่เราไปลองทำมานั้น ใช้ได้ โอเคเลย..เดี๋ยวตัดเสร็จจะโพสตัวอย่างให้ดู..แต่พอเช้านี้ คุณนุก็ใจร้อนกว่าผมอีก.. ภาพที่ท่านเห็นข้างบนนี้ คุณนุอธิบายไว้บ้างแล้ว เ็ป็นภาพเมื่อวานนี้ที่พวกเราซึ่งมี ผมและคุณนุ และสมาชิกแห่งเว็บไทยซีเนดอทคอม..

             ซึ่งมีคุณฉัตรชัย ไทยซีเน คุณบีและอาจารย์มนูญ สุภาพ นักพากย์ย้อนยุค นัดไปเจอกันเพื่อลงมือทดลองคิดแบบบ้านๆ ว่ากากฟิล์มหนัง 35 มม.ที่กำลังจะตาย แต่ถ้ายังพอฉายได้บ้าง เราจะทำอย่างไรให้ภาพจากฟิล์มเหล่านั้น ซึ่งอาจจะเป็นภาพสีแดงๆ มีเส้นฝน ได้ถูกถ่ายทอดออกมาไว้ในรูปแบบไฟล์วีดีโอก่อนที่กากฟิล์มจะฉายไม่ได้แล้ว.. ซึ่งเรื่องนี้ คนฉายหนังเขารู้ดีกว่า ถ้ากากฟิล์มสภาพไม่ค่อยดี เขาจะไม่นำเข้าเครื่องฉายเพราะเกรงว่า เครื่องฉายจะพังไปด้วยนะครับ..

             แต่เพราะความต้องการให้มีภาพเคลื่อนไหวจากกากฟิล์มหนังยังคงอยู่ต่อไปเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ความคิดที่คิดเล่นๆ กันว่า ทำอย่างไรจะผ่อนเครื่องฉาย 35 มม.ที่เดินหนักๆ เดินแรงๆ ให้เดินนิ่มๆ เดินเบาๆ เสียงชัดๆ ดีๆ เพื่อรองรับกากฟิล์มเก่าๆ ให้เดินผ่านเครื่องฉายไปได้ จึงเกิดขึ้น..ไอเดียนี้ คุณฉัตรชัยก็คิดตอบรับไว้เสร็จสรรพ แล้วก็เริ่มปรับปรุงเครื่องฉาย ดัดแปลงเครื่องฉายไว้ แล้วเราก็นัดกันไปลองดู..ถ้าดูตามภาพนิ่งที่คุณนุโพสแล้ว จะเห็นว่า ดูวุ่นๆ ยังไงชอบกล..

             นั่นก็เพราะว่า เป็นการลงสนามครั้งแรก ทุกอย่างยังไม่เข้าที่เข้าทางเหมือนมีปัญหา กว่าจะลงตัวได้ ก็ต้องถอดอะไรออกไปบ้าง แต่งเติมอะไรเข้ามาบ้าง แล้วก็ลองฉายทำภาพดู ทำเสียงดูทันที..ตอนที่ปรับแต่ง ปรับตั้้งเครื่องฉายเสร็จสรรพ คุณฉัตรชัยก็บอกว่า คราวต่อไป เดี๋ยวจะคิดวางมุม วางเครื่องให้สวยๆ กว่านี้ ให้ใช้ง่ายกว่านี้อีก..ผมก็ได้แต่ยิ้มๆ เพราะเชื่อมือเชื่อหัวฉัตรชัยอยู่แล้วว่า ทำได้ ผมก็เลยบอกว่า ฉัตรชัยเป็นช่าง มีหัวคิดอยู่แล้ว แถมยังคิดเร็ว ทำเร็วอีกด้วย..

             ผลงานการดัดแปลงที่สำเร็จครั้งนี้ ยกให้ฉัตรชัยเลย ถ้ามีใครสนใจจะทำเครื่องอย่างฉัตรชัยทำ ก็ให้ฉัตรชัยทำไปได้เลย เราจะได้มีเพื่อนๆ มาช่วยกันมากขึ้นอีก..อ้อ ลืมบอกไป ผมไม่ได้เดินเครื่องฉายหนัง ใส่ฟิล์มเครื่องแบบนี้มาประมาณ 34 ปีแ้ล้วครับ วันนั้น ตอนฉัตรชัยไม่อยู่ พอหนังจบม้วน ผมก็เลยลองใส่ฟิล์มเอง โดยมีอ.มนูญยืนดูเป็นกำลังใจ..ผมก็ถามว่า อาจารย์ไหวไหมนี่ อาจารย์ก็บอกว่า ลองหมุนมอเตอร์ดู ถ้าฟิล์มเลื่อน ก็ใช้ได้.. แล้วผมก็เดินเครื่องฉาย....ผ่านครับ...พอคุณฉัตรชัยกลับมา เห็นหนังเปลี่ยนม้วนฉาย ก็เลยแซวว่า อ้าว..ฉายหนังเป็นด้วย..เดี๋ยวหนังตัวอย่างที่พวกเราไปทำมา จะฉายให้ดู ที่นี่ เร็วๆ นี้





 ;) ;) ;) ;) ;) ;) ;) ;) ;) ;)






« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 07 มีนาคม 2014, 10:16:30 โดย นายเค »


"มนัส กิ่งจันทร์ ภาคสอง ชุมทางหนังไทยในอดีต" โดยเติมคำว่า "ภาคสอง" คั่นกลางไว้..
อดีตจากฟิล์มภาพยนตร์ ไม่มีวันตาย..