ผู้เขียน หัวข้อ: บทที่ 19 ชุมทางหนังไทยในอดีต เสนอฉาย หลังกล้อง..โทน (2513 ไชยา-อรัญญา)  (อ่าน 777 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ ฉัตรชัยฟิล์มshop

  • Thaicine Movie Team
  • Moderator
  • พี่น้อง thaicine Gold member
  • ***
  • กระทู้: 11590
  • พลังใจที่มี 441
  • เพศ: ชาย
  • รักการฉายด้วยฟิล์ม

บทที่ 19
ชุมทางหนังไทยในอดีต เสนอฉาย
หนึ่งในโครงการภาพยนตร์ไทยคงเหลือ
หลังกล้อง..โทน (2513 ไชยา-อรัญญา)
โดย มนัส กิ่งจันทร์

(facebook 24 เมษายน 2556)

           สวัสดีครับ.. ผมเคยเขียนถึงหนังเรื่อง โทน ไว้ในนิตยสารฟิล์มแอนด์สตาร์ ฉบับเดือนสิงหาคม 2546 ตอนนั้นตั้งชื่อว่า โทน…วันนี้ไม่มี “นายเปิ่น” เขียนไว้แบบนี้ครับ...คงเป็นเพราะแรงจูงใจสามอย่างที่ทำให้ถึงเย็นวันพฤหัสบดี-วันศุกร์ ผู้เขียนต้องมานั่งเฝ้าหน้าจอทีวีเพื่อดูละครเรื่อง โทน แรงจูงใจที่ว่าก็คือ โทนเคยเป็นหนังในอดีตเรื่องหนึ่งที่ชอบมาก ซึ่งเป็นงานกำกับของ เปี๊ยก โปสเตอร์ เมื่อมีการนำกลับมาทำเป็นละครทีวี ก็ยังได้ผู้กำกับที่มีฝีมืออย่างรุจน์ รณภพ มากำกับการแสดงอีก ก็เลยต้องตามดูกันสักหน่อย..


           ถ้าย้อนกลับไปเมื่อ 33 ปีที่แล้ว (ตอนนี้ 43 ปีแล้ว) โทนเป็นหนังเรื่องแรกที่สร้างโดยกลุ่มผู้ทำนิตยสาร ดาราภาพ (Starpics) ซึ่งต้องการสร้างหนังในระบบ 35 มม. สโคป เสียงในฟิล์ม เพื่อเปิดทางเลือกใหม่ให้คนดูหนังไม่ต้องจำเจอยู่กับหนัง 16 มม. พากย์สด ๆ คนกลุ่มนั้นใช้ชื่อว่า สุวรรณฟิล์ม มี ชวนไชย เตชศรีสุธี เป็นผู้อำนวยการสร้าง แต่คนที่รับหน้าที่หนักที่สุดก็คือ เปี๊ยก โปสเตอร์ (สมบูรณ์สุข นิยมศิริ) ที่ต้องทำหน้าที่ผู้กำกับการแสดง ทั้งๆ ที่ยังไม่มีประสบการณ์ เปี๊ยกจึงต้องไปศึกษาดูงานเกี่ยวกับการสร้างหนังที่โรงถ่ายหนังไดเอะประเทศญี่ปุ่นก่อนและเปี๊ยกยังเป็นผู้เขียนเรื่องโทน เขียนบทหนังเองโดยเปี๊ยกอาศัยความถนัดด้านการวาดภาพมาประยุกต์ใช้ในการเขียนภาพประกอบบทหนังทุกคัดทุกตอน

           นอกจากนี้ เปี๊ยกยังเป็นผู้คัดเลือกดารานำแสดงต่างๆ ด้วยตนเอง แม้จะถูกติงเกี่ยวกับการเลือก ไชยา สุริยัน พระเอกสามตุ๊กตาทอง ซึ่งคนมองว่าขณะนั้นตกกระแสไปแล้วให้กลับมาเป็นพระเอกอีกครั้ง แต่เปี๊ยกก็มั่นใจว่าไชยาเป็นผู้ที่เหมาะสมที่สุดที่จะรับบทเป็นโทนพระเอกของเรื่อง เมื่อโทนเป็นหนังที่สร้างและกำกับโดยกลุ่มคนหน้าใหม่ ทั้งยังไม่เลือกใช้ดาราแม่เหล็กเหมือนอย่างที่ผู้สร้างอื่นๆ นิยมทำตามใจสายหนัง จึงทำให้โทนเป็นหนังนอกสายตาไป แต่สุวรรณฟิล์มก็ฝ่าฟันอุปสรรคต่างๆ จนโทนสร้างเสร็จและ เริ่มนำออกฉายในวันที่ 1 สิงหาคม 2513 ที่โรงภาพยนตร์เฉลิมไทย กระแสที่บอกกันปากต่อปาก ก็ทำให้มาคนมาดูหนังเพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ จนสามารถทำรายได้สูงถึง 6 ล้านบาท เป็นอันดับ 2 รองจากหนังของ รังสี ทัศนพยัคฆ์ เรื่อง มนต์รักลูกทุ่ง


           ถ้าถามว่า "โทน" ดีอย่างไร ทำไมคนในสมัยนั้นถึงได้ชอบและยังกล่าวถึงทุกวันนี้ เหตุผลที่บอกถึงความสำเร็จของหนังเรื่องนี้ ก็มักจะอยู่ที่

           1. เป็นหนัง 35 ม.ม.สโคป เสียงในฟิล์ม ถ้าเป็นสมัยนี้ก็คงไม่น่าตื่นเต้นอะไรเพราะเห็นกันจนชินตาแล้ว แต่สมัยก่อนถือว่าเป็นอะไรที่แปลกน่าทึ่งมาก ๆ แต่ถึงกระนั้น กว่าที่ผู้สร้างหนัง 35 ม.ม.จะทลายกำแพงหนัง 16 ม.ม. ที่ฝังรากลึกยาวนานเพื่อให้คนหันมาดูหนัง 35 ม.ม. ตามมาตรฐานโลกได้สำเร็จก็ต้องเรียกว่า ยากเต็มทีเพราะผู้สร้างบางคนต้องการประหยัดต้นทุนในการทำหนัง จึงสร้างแต่หนัง 16 ม.ม.

           สุวรรณฟิล์มจึงถือว่า เป็นคนรุ่นใหม่ที่กล้าประกาศสร้างและนำเสนอหนังแบบมาตรฐานโลก แม้ว่าจะต้องลงทุนมากกว่าหนัง 16 ม.ม.อีกหลายเท่าตัวก็ตาม เมื่อโทนออกฉาย เราจึงได้เห็นความแปลกใหม่ของการถ่ายภาพที่มีมุมมองได้กว้างมากกว่าเดิม ยิ่งเมื่อมีการนำเสียงพากย์ไปบันทึกลงในฟิล์มหนังด้วย ก็ทำให้ได้เสียงพากย์เป็นแบบเดียวกันทั้งเรื่องทุกรอบที่เข้าดู ต่างจากหนัง 16 ม.ม.ที่ใช้การพากย์และวางเสียงแบ็คกราวน์ประกอบสด ๆ กันทุกรอบ ซึ่งอาจมีการผิดเพี้ยนไปได้


           2. มีเพลงประกอบหนังที่ไพเราะ หนังไทยในอดีตแม้ไม่ใช่หนังเพลง แต่ก็มักจะมีเพลงประกอบแทบทุกเรื่อง อย่างน้อยก็ต้องมีเพลงนำเรื่อง ซึ่งมีส่วนช่วยให้คนดูจดจำชื่อหนังได้โดยปริยาย แม้โทนจะไม่ใช่หนังเพลง แต่เพลงประกอบหนังทั้ง 7 เพลง ก็เป็นที่ชื่นชอบของคนดูเรียกได้ว่า เพลงมีส่วนสนับสนุนเนื้อหาของหนังให้ดูดีขึ้น เหตุที่เปี๊ยกนำเพลงมาประกอบหนังก็เพราะว่าเปี๊ยกเป็นคนที่ชอบฟังเพลงอยู่แล้ว นอกจากนี้ยังนำนักร้องลูกทุ่ง สังข์ทอง สีใส ให้รับมาบทเป็นเพื่อนคู่หูของโทนและโชว์ลีลาร้องเพลง โทน กับ อย่าบอน จนเป็นที่ถูกอกถูกใจคอเพลงลูกทุ่งมาแล้วและยังได้เห็นการปรากฏตัวของวงดนตรี THE IMPOSSIBLES (เศรษฐา-วินัย-พิชัย-อนุสรณ์-สิทธิพร-ปราจีน) ซึ่งนำเพลง ชื่นรัก เริงรถไฟ ปิดเทอม มาร่วมขับร้องก่อนที่จะไปเปิดตัวแบบเต็มรูปแบบในปี 2515 จากหนังเรื่อง ระเริงชล ของ ฉลอง ภักดีวิจิตร

           3. เป็นหนังที่เปี๊ยกเขียนเรื่องได้อย่างสมเหตุสมผล แม้จะเป็นหนังชีวิตธรรมดา แต่เปี๊ยกก็กล้าที่จะฉีกธรรมเนียมหนังไทยสมัยนั้นให้นางเอกของเรื่องคือ อรัญญา นามวงศ์ ถูกดาวร้ายอย่าง สอาด เปี่ยมพงษ์สานต์ ข่มขืนได้สำเร็จตอนหนังใกล้จบ (หลังจากครั้งแรกพระเอกมาช่วยได้ทัน) แต่เปี๊ยกก็ไม่ได้ทำภาพให้โจ่งแจ้งเหมือนหนังสมัยนี้เพราะเกรงจะเป็นการทำลายจิตใจคนดูมากเกินไป ฉากดังกล่าวเปี๊ยกเริ่มจากให้นางเอกวิ่งหนีดาวร้ายเข้าไปในป่า ขณะที่พระเอกถูกจับมัดติดกับต้นไม้ตามไปช่วยไม่ได้

           ส่วนดาวร้ายก็วิ่งตามนางเอกไป ภาพจะแช่อยู่ที่พระเอก สักพักก็มีแต่เสียงร้องขอความช่วยเหลือจากนางเอกแล้วเงียบไป ภาพตัดกลับมาเห็นดาวร้ายเดินติดกระดุมเสื้อออกจากป่าตรงมาหาพระเอกที่ทำท่าคอตก แต่ตอนนั้นคนดูก็ยังไม่แน่ใจว่านางเอกจะถูกข่มขืนหรือไม่ จนเมื่อมีฉากพระเอกต่อสู้กับดาวร้าย นางเอกซึ่งในสภาพอิดโรย (แต่เสื้อผ้ายังเหมือนเดิม) ก็คลานเข้ามาหยิบปืนขึ้นยิงใส่ดาวร้ายทั้งน้ำตาด้วยความเคียดแค้น

           แล้วภาพก็ไปจบที่เตียงคนไข้ในโรงพยาบาลซึ่งพระเอกนอนเจ็บอยู่และมีนางเอกเฝ้าไข้ น้ำตาซึม ตอนนี้เองหนังจึงเฉลยด้วยคำพูดปลอบใจของพระเอกที่ให้นางเอกลืมทุกสิ่งทุกอย่างและเริ่มต้นชีวิตใหม่ด้วยกัน คนดูจึงรู้ว่า นางเอกเสียความบริสุทธิ์ให้ดาวร้ายไปแล้ว ซึ่งเห็นว่าเปี๊ยกเลือกที่จะใช้กิริยาท่าทางแวดล้อมตลอดจนใช้คำพูดสื่อความหมายบอกให้คนดูเข้าใจแทนโดยไม่จำเป็นต้องมีการแสดงภาพประกอบแบบท่าทางเหมือนจริงอย่างที่หนังสมัยนี้นิยมทำ...


           "โทน" แม้จะเป็นหนังเรื่องแรก แต่ก็ทำให้ เปี๊ยก โปสเตอร์ ประสบความสำเร็จอย่างมาก จึงต้องตัดสินใจทิ้งพู่กันหันมาเอาดีทางการกำกับหนังและมีผลงานระดับคุณภาพที่รู้จักกันอีกหลายเรื่องเช่น ดวง (2514) ชู้ (2515) เขาสมิง (2516) คู่หู (2517) มีนัดไว้กับหัวใจ (2518) ข้าวนอกนา (2518) ประสาท (2518) วัยอลวน (2519) เงาราหู (2519 ) รักอุตลุด (2520) ชื่นชุลมุน (2521)แก้ว (2523) เงาะป่า (2523) ไข่ลูกเขย (2524) คุณปู่ซู่ซ่า (2524) คุณย่าเซ็กซี่ (2525) วัยระเริง (2527) ข้างหลังภาพ (2528) เกมส์มหาโชค (2529) ดวงใจกระซิบรัก (2529) สะพานรักสารสิน (2530) กลิ่นสีและกาวแป้ง (2531) เป็นต้น

           สำหรับ รุจน์ รณภพ ซึ่งเป็นผู้กำกับการแสดงละครเรื่องโทน ก็ผ่านประสบการณ์ในวงการแสดงมาก่อน โดยเริ่มจากการแสดงหนังเมื่อประมาณปี 2503 แล้วพอประมาณปี 2512 รุจน์จึงเข้ามาทำหน้าที่ผู้กำกับการแสดงและมีผลงานเป็นที่รู้จักกันหลายเรื่องเช่น ชาติเหมราช (2512) แสงเดือน (2512) ไอ้ยอดทอง (2513) โฉมตรูภูธร (2514) บุหงาหน้าฝน (2515) ภูกระดึง (2516) ทองประกายแสด (2518) แด่คุณครูด้วยคมแฝก (2518) แบ๊งค์ (2519) ลุย (2520) ชาติผยอง (2521) อีหนูเขี้ยวเสน่ห์ (2521) บ้านทรายทอง (2523) เมียแต่ง (2529) คู่กรรม (2531) เป็นต้น



           แต่ดูเหมือนว่าแรงจูงใจสามอย่างดังกล่าว ก็ไม่อาจทำให้ผู้เขียนตามดูละครเรื่องโทนได้ตลอดเพราะหลังจากดูไปไม่กี่ตอน ก็เริ่มรู้สึกว่า เนื้อเรื่องออกจะแปลก ๆ จากหนังต้นฉบับ ความไม่แน่ใจก็เลยต้องพิสูจน์ด้วยการไปหยิบเอาวีซีดีหนังต้นฉบับเดิมที่โครงการคิดถึงหนังไทย เขาจัดทำขึ้นออกมาดูอีกครั้งเพื่อรื้อฟื้นความหลัง จากนั้นก็ไปอ่านเรื่องย่อจากบทโทรทัศน์ตั้งแต่ต้นจนจบอีก ก็เลยเห็นถึงความแตกต่างชัดขึ้นเรื่อย ๆ อุปนิสัยใจคอของตัวละครบางคนก็เปลี่ยนไป โทน….

           วันนี้จึงแตกต่างกันอย่างมาก มีเพียงชื่อละครที่ตั้งให้ตรงกับชื่อหนังเท่านั้น ส่วนชื่อตัวละครหลัก ๆ ก็ถูกเปลี่ยนชื่อออกไปหมดแทบทุกคน (ยกเว้นชื่อของโทน, สังข์ทอง, รุจน์) แม้ชื่อโทนจะยังไม่เปลี่ยน แต่เมื่อโทนเข้าไปอยู่กรุงเทพฯ นางเอกในหนังจะเรียกโทนว่า เปิ่น แต่ในละครกลับถูกเรียกว่า นายทึ่ม แทน..


           โทน เป็นเด็กวัดที่เข้ากรุงเทพฯ ตามคำชักชวนเพราะต้องการเรียนต่อหวังสร้างอนาคตเพื่อหญิงที่โทนรัก แต่โทนในละคร กลับต้องเข้ากรุงเทพฯ เพราะถ้าอยู่วัดจะถูกนักเลงหัวไม้ฆ่าโดยหนีบเอาตัวสังข์ทองเพื่อนคู่หูติดตามไปด้วย ทั้ง ๆ ที่ในหนังสังข์ทองไม่ได้ตามไปอยู่กรุงเทพฯกับโทนเลยและสังข์ทองแสดงอีกไม่กี่ฉาก ก็ถูกคนร้ายยิงตกเขาตาย ส่วนในละคร สังข์ทองมีบทเล่นแบบยืดยาวจนท้ายเรื่องจึงถูกคนร้ายฆ่าตาย โทน เข้ากรุงเทพฯไปก็ได้เรียนหนังสือที่มหาวิทยาลัยศิลปากร แต่ในละครกลับให้โทนเข้าไปทำงานเป็นช่างซ่อมรถยนต์ข้อสำคัญฉากจบของละครไม่เหมือนกับหนัง นางเอกก็ยังคงเป็นนางเอกที่บริสุทธิ์ผุดผ่อง คนที่ลั่นไกฆ่าดาวร้าย ก็มิใช่นางเอก แต่เป็น แจน เมียลับของดาวร้าย ซึ่งเป็นตัวละครที่เขียนขึ้นมาใหม่

           ก็เข้าใจว่า เป็นเรื่องธรรมดาเมื่อเอาหนังที่มีความยาวเพียง 2 ชั่วโมงเศษมาทำเป็นละครทีวี ก็ย่อมต้องมีการยืดเรื่องหรือเพิ่มเติมตัวละครใหม่ ๆ ลงไปหรือปรับปรุงเนื้อเรื่องให้เข้ากับยุคสมัย ถ้าจะสร้างแบบต้นฉบับเดิม คนรุ่นใหม่อาจไม่ยอมรับ แต่ก็ไม่ควรเปลี่ยนจนมากเกินไป ถ้าจะเปลี่ยนอะไรมาก ๆ ขนาดนั้น ก็ควรที่จะตั้งชื่อเรื่องใหม่เลยเสียดีกว่า แต่ถ้าเราไม่ยึดติดกับชื่อเรื่องเดิมโดยทำทีลืมไปเลยว่า นี่ไม่ใช่เรื่องโทนและพิจารณาจากเนื้อเรื่องของบทละคร ก็เรียกได้ว่า เป็นละครที่น่าสนใจอีกเรื่องหนึ่ง แต่ถ้าให้เลือกแล้ว ผู้เขียนก็ขอกลับไปดู โทน ต้นฉบับเดิมดีกว่า..

           วันนี้ ก็เลยจะนำฟิล์มหนังที่ผมยืมมาจากคุณสุรินทร์ฯ มาฉายนะครับ..เป็นเบื้องหลังการถ่ายทำหนัง ถ่ายด้วยฟิล์ม 16 มม.ขาวดำ เรื่อง โทน.. ผลงานการกำกับเรื่องแรกของ เปี๊ยก โปสเตอร์ ซึ่งสมัยนั้นเรียกว่า เป็นผู้กำกับรุ่นใหม่ของวงการ.. ฟิล์มชุดนี้ไม่มีเสียง ยาวประมาณ 17 นาที..เป็นบันทึกประวัติศาสตร์ของวงการหนังไทยก็ว่าได้ ผมจึงนำมาเป็นอีก หนึ่งในโครงการภาพยนตร์ไทยคงเหลือ หลังกล้อง โทน ปี 2513 ที่ท่านจะได้รับชมพร้อมกัน ณ บัดนี้..

คลิ๊กดูหนังได้เลยครับ

หนึ่งในโครงการภาพยนตร์ไทยคงเหลือ หลังกล้อง โทน ปี 2513

<iframe width="560" height="315" src="//www.youtube.com/embed/C6-rbcHjwxU?fs=1&start=" frameborder="0" allowfullscreen></iframe>

 
 ;) ;) ;) ;) ;) ;) ;) ;) ;) ;) ;)









« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 14 กุมภาพันธ์ 2014, 22:57:20 โดย นายเค »


ฉัตรชัย สุวรรณโสภา 
88/1 ม.4 ต.บางโตนด อ.โพธาราม จ.ราชบุรี 70120   
E-mail chatchai_suw@hotmail.com    โทร 081-7636195 
ต่อพงศ์ภาพยนต์ ระบบ 35 ม.ม.  ฉัตรชัยภาพยนตร์ กลางแปลงย้อนยุค 16 ม.ม.
ธ.ไทยพาณิชย์  สาขาบิ๊กซีราชบุรี ชื่อบัญชี ฉัตรชัย สุวรรณโสภา  หมายเลขบัญชี  940-202235-1