ผู้เขียน หัวข้อ: บทที่ 191 ชุมทางหนังไทยในอดีต เสนอฉาย 35 ปี มิตร ชัยบัญชา  (อ่าน 234 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ ฉัตรชัยฟิล์มshop

  • Thaicine Movie Team
  • Moderator
  • พี่น้อง thaicine Gold member
  • ***
  • กระทู้: 11662
  • พลังใจที่มี 441
  • เพศ: ชาย
  • รักการฉายด้วยฟิล์ม

บทที่ 191
ชุมทางหนังไทยในอดีต เสนอฉาย
35 ปี มิตร ชัยบัญชา
โดย มนัส กิ่งจันทร์

(facebook 27 พฤษภาคม 2556)


35 ปี มิตร ชัยบัญชา (ตุลาคม 2548)



             บทความนี้ ผมเขียนลงในหนังสือ film and stars ฉบับเดือนตุลาคม 2548 กลับมาให้อ่านอีกครับ... ถ้าจำได้..พอถึงเดือนตุลาคมทีไร คอลัมน์นี้จะต้องเป็นเรื่องเกี่ยวกับมิตร ชัยบัญชา อดีตพระเอกหนังไทยขวัญใจชาวบ้านทุกครั้งไป..  มาปีนี้ ตอนแรกก็คิดว่าจะลองงดเขียนดูสักปี (เพราะเขียนติดต่อกันมาทุกปีแล้ว) แต่พอเห็นสถานีโทรทัศน์ช่อง 7 สีนำหนังไทยเก่า ๆ ออกมาฉายอีกและในช่วงเดือนกันยายนถึงตุลาคมปีนี้ ช่อง 7 สี เขายกรายการหนังไทยรอบเช้าให้กับ มิตร ชัยบัญชา ตลอด 2 เดือนเต็ม เพื่อเป็นการร่วมรำลึก 35 ปีแห่งการจากไปของมิตร ชัยบัญชา พระเอกตลอดกาล ผมก็เลยอดไม่ได้ที่จะผสมโรงไปกับเขาด้วย พูดถึงช่อง 7 สีแล้ว ผมคิดว่า คงจะเป็นช่องเดียวที่มีหนังไทยเก่า ๆ มากที่สุด ซึ่งเคยเห็นเอามาฉายให้ดูบ่อย ๆ เพิ่งระยะหลัง ๆ นี้เองที่ช่อง 7 สีเขางดรายการหนังไทยเก่า ๆ ทำให้บรรดาคอหนังเก่าได้แต่เฝ้ารอคอยว่า เมื่อไรช่อง 7 สีจะนำหนังไทยเก่า ๆ กลับมาฉายอีก...

             ช่วงที่เงียบหายไปนั้น ก็มีข่าวซุบซิบกันว่า การฉายหนังไทยเก่า ๆ ทำให้เกรดของสถานีลดลง...ไม่รู้ว่าเท็จจริงจะเป็นอย่างไร แต่ในฐานะคนชอบดูหนังไทยเก่า ๆ แล้ว พอได้ยินได้ฟัง ก็ไม่สบายใจ ผมไม่รู้เหมือนกันว่า การที่เราจะพูดหรือเขียนถึงหนังไทยเก่า ๆ หรือการที่ช่อง 7 สีนำหนังไทยเก่า ๆ กลับมาฉายทางโทรทัศน์อีกนั้น มันทำให้ความเป็นสถานีโทรทัศน์ของคนไทยเสียหายตรงไหน ผมว่ามันน่าจะเป็นเรื่องแปลกมากกว่า ถ้าสถานีโทรทัศน์ของไทยจะไม่ฉายหนังไทยนะครับ ฉบับที่แล้วผมเคยกล่าวถึงการมาตามหาหนังเขมรของคนกัมพูชาที่ตั้งความหวังว่าจะได้นำกลับไปฉายเผยแพร่อีก ไม่รู้ว่าพอจะมองเห็นเจตนาของคนกัมพูชาหรือไม่.. ผิดกับหนังไทยเก่า ๆ ของเราที่ไม่ค่อยจะมีใครสนใจจะนำออกมาเผยแพร่...

             ว่าไปแล้ว หนังไทยเก่า ๆ ถือได้ว่าเป็นงานประวัติศาสตร์อย่างหนึ่งที่มีค่าควรแก่การศึกษา ฉะนั้น การที่ช่อง 7 สีทำหน้าที่เผยแพร่หนังไทยเก่า ๆ เพียงเดือนละ 4 เรื่องอย่างที่เคยทำมาแล้วและกำลังกลับมาทำอยู่ในขณะนี้นั้น ผมเห็นว่า เป็นประโยชน์อย่างสูงแก่คนไทยโดยรวมแล้วเพราะอย่างน้อย ๆ ก็ทำคนไทยได้มีโอกาสทบทวนถึงความหลังของหนังไทยและดาราเก่า ๆ กันอีกครั้ง ส่วนคนรุ่นใหม่ก็จะได้ถือโอกาสนี้เรียนรู้ถึงพัฒนาการของหนังไทยในอดีตว่าแตกต่างกับปัจจุบันอย่างไรเพราะอย่าลืมว่า ภาพยนตร์ทำให้เกิดปัญญา...หนังไทยเก่า ๆ ที่ช่อง 7 สีเปิดกรุคัดสรรออกมาฉายให้เราดูนั้นนับวันจะหาดูได้ยากยิ่ง ณ ที่นี้ จึงต้องแสดงความขอบคุณสถานีโทรทัศน์ช่อง 7 สีที่ไม่ลืมหนังไทยและร่วมสนับสนุนหนังไทย (รวมถึงหนังไทยเก่า ๆ ) ด้วยครับ

             เช่นเดียวกับเรื่องราวของ มิตร ชัยบัญชา ซึ่งถึงวันนี้อาจเรียกได้ว่า มิตรกลายเป็นสัญลักษณ์ของหนังไทยเก่า ๆ ไปแล้วเพราะการรำลึกนึกถึงหนังไทยเก่า ๆ จะต้องมีหนังมิตร ชัยบัญชา ปะปนมาอยู่แถวหน้าเสมอ ซึ่งเป็นเหตุสนับสนุนอย่างหนึ่งว่า คนไทยไม่เคยลืมมิตร ชัยบัญชา แม้เวลาจะผ่านมานานถึง 35 ปีแล้ว แต่คนไทยก็ยังระลึกนึกถึงผลงานของ มิตร ชัยบัญชา อยู่เสมอ…

             มิตร ชัยบัญชา เกิดเมื่อปี พ.ศ. 2477 ที่อำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี เป็นเด็กกำพร้าเพราะพ่อแม่แยกทางกัน ตอนเป็นเด็กก็อาศัยวัดอยู่กับหลวงอา แต่พออายุได้ 8 ขวบ แม่ก็มารับไปอยู่แถววัดแค นางเลิ้ง กรุงเทพฯ มิตรจึงได้เรียนหนังสือและเมื่อจบออกมา ก็ได้รับราชการเป็นทหารโดยเปลี่ยนชื่อใหม่ว่า จ่าอากาศโทพิเชษฐ์ พุ่มเหม มิตรเริ่มเข้าสู่วงการหนังในยุคหนัง 16 มม.พากย์สด ๆ กำลังรุ่งเรือง โดยครั้งแรกที่เข้าวงการ ก็ได้รับเลือกให้เป็นพระเอกทันทีจากเรื่อง ชาติเสือ สร้างโดยทัศไนยภาพยนตร์ ออกฉายเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2501 ที่โรงหนังเฉลิมกรุง-เฉลิมบุรี


             แม้ว่ามิตรจะเป็นพระเอกหน้าใหม่ แต่หนังเรื่องชาติเสือ ก็ทำเงินได้ไม่แพ้หนังเรื่องอื่น ๆ ที่พระเอกรุ่นพี่แสดงไว้ จากนั้น มิตร ชัยบัญชา ก็ได้รับบทเป็นพระเอกเรื่อยมาและเริ่มมีชื่อเสียงโด่งดังจากหนังชุดหน้ากากอินทรีแดงที่เศก ดุสิต เป็นผู้ประพันธ์เรื่องไว้ ต่อในมาปี 2505 ก็เกิดนางเอกใหม่ขึ้นมาอีกคนคือ เพชรา เชาวราษฎร์ ซึ่งได้เปิดตัวแสดงหนังเรื่องแรกคู่กับมิตร ชัยบัญชา เรื่อง บันทึกรักของพิมพ์ฉวี ออกฉายเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2505 ที่โรงหนังเฉลิมกรุง ก็ได้รับการต้อนรับอย่างดีจากแฟนหนังไทยและถือเป็นจุดเริ่มต้นของตำนานดาราคู่ขวัญ มิตร ชัยบัญชา-เพชรา เชาวราษฎร์ สืบมา มิตร ชัยบัญชา เรียกได้ว่า เป็นพระเอกขวัญใจชาวบ้านโดยแท้เพราะ ตลอดเวลา 13 ปีมิตรแสดงหนังไว้มากมาย (เฉพาะที่ออกฉายนับได้ 266 เรื่อง) มิตรจึงเป็นดาราที่ประชาชนรักและศรัทธาในผลงานตลอดมา แม้จะไม่เคยได้รับตุ๊กตาทองเลย แต่มิตรก็ได้รับรางวัลดาราทองพระราชทานและโล่เกียรติคุณในฐานะดาราคู่ขวัญจากหนังทำเงินได้สูงสุดปี 2508 เรื่อง เงิน เงิน เงิน

             เมื่อใดที่  มิตร-เพชรา จับคู่แสดงหนังด้วยกัน ก็จะเป็นที่ชื่นชอบแก่ประชาชนอย่างมาก หนังเรื่อง มนต์รักลูกทุ่ง (2513) ของรังสี ทัศนพยัคฆ์ มีส่วนช่วยทำให้ชื่อเสียงของมิตร-เพชรา ทวีความโด่งดังมากยิ่งขึ้นจนหนังต้องปักหลักฉายที่โรงหนังโคลีเซี่ยมยาวนานกว่า 6 เดือนและสามารถทำเงินรายได้สูงสุดเป็นประวัติการณ์ของหนังไทยในยุคนั้นพร้อม ๆ กับก่อให้เกิดกระแสเปลี่ยนแปลงไปสู่หนังมาตรฐานในระบบ 35 มม.เสียงในฟิล์มเพิ่มมากขึ้น

             ในช่วงเวลานั้นเอง มิตร ชัยบัญชา ซึ่งสั่งสมประสบการณ์ไว้นานแล้ว ก็ประกาศก้าวขึ้นสู่เก้าอี้ผู้กำกับการแสดง หนังเรื่องอินทรีทอง จึงเป็นหนังที่ มิตร ชัยบัญชา ขอให้เศก ดุสิต ช่วยประพันธ์เรื่องขึ้นใหม่ เพื่อที่จะใช้เปิดตัวงานกำกับหนังครั้งแรกของเขา จากนั้นก็เดินกล้องถ่ายทำเรื่อยมา แต่แล้ว มิตร ชัยบัญชาก็มาจบชีวิตเมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2513 ขณะที่กำลังถ่ายทำหนังเรื่อง อินทรีทอง โดยมือมิตรหลุดจากบันไดเชือกของเฮลิคอปเตอร์ที่กำลังบินขึ้นสู่ท้องฟ้า ณ บริเวณอ่าวดงตาล พัทยาใต้ จังหวัดชลบุรี ซึ่งขณะนั้น มิตรมีอายุเพียง 36 ปีเท่านั้น อินทรีทอง จึงเป็นหนังเรื่องแรกและเรื่องเดียวในชีวิตที่มิตรต้องเป็นทั้งพระเอกและผู้กำกับการแสดง

             การเสียชีวิตของ มิตร ชัยบัญชา อย่างกะทันหันนำมาซึ่งความโศกเศร้าเสียใจแก่คนไทยทั้งประเทศและเป็นข่าวช็อคไปทั่วทุกวงการ จนทำให้เกิดปรากฏฝูงชนหลั่งไหลไปขอดูศพมิตรและร่วมรดน้ำศพกันอย่างมืดฟ้ามัวดินที่วัดแค นางเลิ้ง จนทางวัดต้องใช้วิธีแบกศพมิตรยกชูขึ้นให้ชาวบ้านดูแทนการขึ้นไปรดน้ำศพบนศาลา แม้ว่า มิตร ชัยบัญชา จะเสียชีวิตไป 35 ปีแล้ว แต่ถึงวันนี้ กลับเกิดปฏิกิริยาย้อนกลับเพราะยังมีคนคิดถึงมิตร อยากจะดูหนังที่มิตรแสดงอีก มีการบอกกล่าวเล่าขานถึงตำนานพระเอกมิตร ชัยบัญชา สืบทอดติดต่อกันมาทุกปี ไม่ว่าจะเป็นทางสื่อโทรทัศน์หรือสิ่งพิมพ์ต่าง ๆ

             ในกลุ่มคนรักมิตรจะเป็นอันรู้กันโดยปริยายว่า เมื่อถึงวันที่ 8 ตุลาคมของทุกปี จะต้องมีงานรำลึกถึงมิตร ชัยบัญชา ซึ่งระยะ 4–5 ปีหลังนี้จะจัดที่โรงหนังเฉลิมกรุง แต่สำหรับงานในปีนี้นั้น หอภาพยนตร์แห่งชาติ เจ้าเก่าผู้ซึ่งบุกเบิกจัดงานวันมิตรในยุคแรก ๆ ได้กลับมาจัดงานอีกครั้ง โดยจะเริ่มงานในวันเสาร์ที่ 8 ตุลาคม 2548 เวลาเที่ยงวันเป็นต้นไป ใช้โรงหนังของหอจดหมายเหตุฯ ซึ่งอยู่ด้านหลังตึกหอสมุดแห่งชาติ ท่าวาสุกรี เทเวศร์ เป็นสถานที่จัดงาน โดยจะมีการพูดคุยเสวนาเกี่ยวกับเรื่องราวของมิตร ชัยบัญชา จากกลุ่มคนรักมิตรและวิทยากรพิเศษรับเชิญ มีการนำเศษฟิล์มหนังมิตรหลายเรื่องมาเรียงร้อยรวมกันฉายให้ดูเป็นกรณีพิเศษและปิดท้ายด้วยการนำหนัง 16 ม.ม.เรื่อง เกิดเป็นหงส์ (ปี 2509) ที่มิตร-เพชราแสดงไว้กลับมาฉายอีกซึ่งทีมพากย์พันธมิตรจะเป็นผู้ให้เสียงภาษาไทย งานวันมิตรปีนี้ จะมีเพียงแค่วันเดียวและรอบเดียวเท่านั้น ใครที่เป็นแฟนมิตร ชัยบัญชา ไม่ควรพลาดนะครับ...

หมายเหตุ เขียนเมื่อปี 2548 ข้อมูลบางอย่างจึงอาจเปลี่ยนแปลงไป

             คลิปนี้  จะเป็นคลิปแรกที่ผมตัดต่อเพื่อฉายใน งาน 35 ปีมิตร ชัยบัญชาในวันที่ 8 ตุลาคม 2548 ที่หอภาพยนตร์ฯ เทเวศร์ ที่ผ่านมา..  เหตุที่บอกว่า เป็นคลิปแรกที่ตัดต่อนั้นก็เพราะว่างานรำลึกมิตร ชัยบัญชา ที่จัดขึ้นก่อนหน้าปี พ.ศ.2548 นั้น ผมกับเพื่อนๆ จะเป็นเพียงผู้ชมเท่านั้น..  ก็เรียกว่า ชมไป ดูไป ก็เลยได้เข้าไปร่วมจัดงานกับเขาด้วย..  ปีแรกๆ ที่ผมและเพื่อนๆ ไปร่วมจัดงานก็เป็นปี 2541 ซึ่งตอนนั้นครบ 28 ปีที่มิตร ชัยบัญชา เสียชีวิต งานจัดที่โรงหนังศาลาเฉลิมกรุง..

             กระทั่งปี 2548 ศาลาเฉลิมกรุงก็งดจัดงานมิตร ก็เลยมาขอจัดที่หอภาพยนตร์ฯ เทเวศร์ แทน..ก่อนหน้านี้ ผมเคยเขียนข้อมูลข่าวสารงานมิตรด้วย ก็แปลกใจว่า ทำไม ก่อนเริ่มงานมิตร ไม่มีการฉายคลิปหรือช็อตเด็ดผลงานการแสดงของมิตรให้ดูบ้าง เผื่อว่า คนที่เกิดไม่ทัน คนที่เพิ่งมาดูงานครั้งแรก หรือคนที่คิดถึงจะได้เห็นภาพเก่าๆ ในอดีตของมิตร ชัยบัญชา บ้าง..  ดังนั้น พอมีโอกาสได้ร่วมจัดงาน ผมก็เลยพยายามตามหาข่าวสารต่าง ๆ ที่เป็นวีดีโอหรือหนังมาตัดต่อให้ดูกันครับ..
 




เชิญชมได้เลยครับ

 

<iframe width="560" height="315" src="//www.youtube.com/embed/S3ecXDqEfVs?fs=1&start=" frameborder="0" allowfullscreen></iframe>

...............................









« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 18 มีนาคม 2014, 19:39:25 โดย นายเค »


ฉัตรชัย สุวรรณโสภา 
88/1 ม.4 ต.บางโตนด อ.โพธาราม จ.ราชบุรี 70120   
E-mail chatchai_suw@hotmail.com    โทร 081-7636195 
ต่อพงศ์ภาพยนต์ ระบบ 35 ม.ม.  ฉัตรชัยภาพยนตร์ กลางแปลงย้อนยุค 16 ม.ม.
ธ.ไทยพาณิชย์  สาขาบิ๊กซีราชบุรี ชื่อบัญชี ฉัตรชัย สุวรรณโสภา  หมายเลขบัญชี  940-202235-1